ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพุทธศาสนา


    วัดพระแท่นดงรัง


            วัดพระแท่นดงรังอยู่ในเขตตำบลพระแท่นดงรัง อำเภอท่ามะกา เดิมเป็นวัดราษฎร ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จากนิราศพระแท่นดงรัง ที่แต่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๗๖  แสดงว่าได้มีวัดแห่งนี้มาแต่ครั้งนั้นแล้ว  พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์หลายพระองค์ได้เสด็จมานมัสการพระแท่นดงรัง
            วัดพระแท่นดงรังได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕
            พระแท่นและวิหารครอบพระแท่น  พระแท่นดงรังเป็นพระแท่นที่เป็นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวประมาณ ๕ เมตร กว้างประมาณ ๒ เมตร สูงประมาณ ๑ เมตร  ด้านขวาพระแท่นมีรอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุก วิหารครอบพระแท่น ก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศใต เครื่องบนและเสาเป็นไม้ เพดานไม้เขียนเป็นลายดาว ภายในวิหารมีเสากลมปักรอบพระแท่น รอบวิหารเป็นลานทักษิณและกำแพงแก้ว  มีเจดีย์ขนาดเล็กอยู่หลายองค์ จากหลักฐานในหนังสือประชุมพงศาวดาร แสดงว่าวิหารหลังนี้ สร้างขึ้นก่อนสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมาสำเร็จในรัชสมัยของพระองค์
            วิหารพระอานนท์  ตั้งอยู่บนลานประทักษิณบริเวณด้านหลังเยื้องไปทางขวาของวิหารครอบพระแท่น ก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางด้านทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับวิหารครอบพระแท่น
            วิหารพระทรมานกาย  ตั้งอยู่ทางซ้ายของวิหารพระอานนท์ เป็นวิหารขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางทุกขกิริยา เบื้องหน้าเป็นแท่นหินบดยา  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวิหารครอบพระแท่น
            เจดีย์ใกล้วิหารครอบพระแท่น  เป็นเจดีย์ขนาดเล็กก่ออิฐถือปูนมีหลายองค์ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นพร้อมกับวิหารครอบพระแท่น
            พระอุโบสถเก่า  เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ภายในมีเสาไม้รับเพดาน ๖ ด้าน  สันนิษฐานว่าสร้างในเวลาใกล้เคียงกับวิหารครอบพระแท่น
            รอยพระพุทธบาทจำลองและมณฑปครอบบนเขาถวายพระเพลิง  อยู่ห่างจากวิหารครอบพระแท่นไปทางตะวันตกประมาณ ๔๐๐ เมตร ก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้สิบสอง  พระพุทธบาทจำลองทำด้วยหิน
            รอยพระพุทธบาทไม้ประดับมุก  กว้างประมาณ ๘๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๘๕ เมตร  ประดับมุกเป็นภาพมงคล ๑๐๘ ประการ
    วัดไชยชุมพลชนะสงคราม


            วัดไชยชุมพลชนะสงครามอยู่ในเขตตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดที่มีสิ่งที่สำคัญ ดังนี้
            ซุ้มประตู  มีอยู่สองซุ้ม ตั้งอยู่ในแนวเดียวกัน ห่างกันประมาณ ๑๐ เมตร ก่ออิฐถือปูน เป็นซุ้มประตูเดี่ยว  ไม่มีซากอาคารเหลืออยู่เลย ที่ซุ้มประตูมีลายปูนปั้นคล้ายยักษ์หรือหนุมานประดับอยู่ด้วย  ช่องประตูโค้งแหลมสูงประมาณ ๒.๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๒.๕๐ เมตร สันนิษฐานว่า เป็นซุ้มประตูเก่า
            ฐานวิหาร  ก่ออิฐถือปูนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
            เจดีย์  ก่ออิฐถือปูน มีจำนวน ๖ องค์ ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสฐานสิงห์ ย่อมุมซ้อนกันเป็นชั้นจนถึงองค์ระฆัง ส่วนยอดหักหายไปหมดทุกองค์ บางองค์เหลือแต่ฐาน เป็นเจดีย์ศิลปอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
            มณฑป  ก่ออิฐถือปูน ทรงจตุรมุขบนฐานค่อนข้างสูง มีประตูและบันไดขึ้นลงทังสี่ด้าน  ที่หน้าบันมีลวดลายปูนปั้นประดับ
    วัดบ้านทวน


            วัดบ้านทวนอยู่ที่บ้านทวน ตำบลพนมทวน อำเภอพนมทวน มีสิ่งสำคัญภายในวัดคือ
            พระอุโบสถ  ก่ออิฐฉาบปูน มีพาไลด้านหน้าประตู อยู่ด้านทิศตะวันออกสองช่อง หน้าบันด้านทิศตะวันตกมีลวดลายปูนปั้น ประกอบด้วยเครื่องถ้วยจีนมีลายเครือเถา ช้างเอราวัณ ตรี สิงห์ยืนคาบเครือเถา ช่องพาไลทั้งสองข้างมีภาพเขียนสีประกอบปูนปั้นรูปค้างคาวและปลา หน้าปันด้านทิศตะวันตกมีลวดลายปูนปั้น รูปเครือเถา ประกอบด้วยเครื่องถ้วยจีน ด้านล่างมีรูปนกยูง ๒ ตัว ประกอบกับเครื่องเถาและลายจีน ช่องพาไลทั้งสองข้างนี้ลวดลายแต่งเลื่อมมาก หลังคาสองชั้นมุงด้วยกระเบื้องหน้าวัว มีช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ฉลุ มีหน้าต่างสองด้าน ด้านละสามช่อง เหนือวงกบหน้าต่างมีลวดลายดอกไม้ ประตูด้านทิศตะวันออก เสา กรอบประตู มีลายเขียนสีดอกไม้และรูปสัตว์ เช่น นก ปลา ซุ้มทำเป็นนนาคสะดุ้ง หน้าบันเป็นรูปครุฑหยุดนาค ประตูไม้เกลี้ยงไม่มีลวดลาย
            ศาลาการเปรียญ  เป็นอาคารชั้นเดียวสร้างด้วยไม้และปูน ด้านทิศเหนือมีอาสนะสงฆ์และพระพุทธรูปปูนปั้น หลังคามุงกระเบื้องหย้าวัวสามชั้น มีนาคสะดุ้งใบระกา  ช่อฟ้า หางหงส์รูปพยานาค กว้างประมาณ ๑๖ เมตร ยาว ๒๑.๕๐ เมตร
            มณฑป  ทรงจตุรมุข ยอดทรงเจดีย์สี่เหลี่ยม ฐานกว้าง ๑๒ เมตร มีประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน มีลานประทักษิณ ก่ออิฐฉาบปูน มีลวดลายปูนปั้น ทาสี  หน้าบันทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เป็นรูปครุฑและลายเครือเถา
            เจดีย์  ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ ก่ออิฐฉาบปูน เป็นเจดีย์ทรงกลม องค์ระฆังรูปโอคว่ำ บัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ปล้องไฉนกลม ปลียอดหักพังลงมาหมดแล้ว ฐานเจดีย์กว้าง ๙ เมตร
            ซุ้มประตู  เหลือเฉพาะซุ้มประตูด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ ก่ออิฐฉาบปูน เสารูปสี่เหลี่ยมไม่มีลวดลาย หลังคาทรงจั่ว หน้าบันของซุ้มประตูด้านทิศใต้มีนาคสะดุ้ง ใบระกาและหน้าบันมีลวดลายบัวสี่เหล่า  ส่วนด้านทิศตะวันออกหลังคาคล้ายรูปฐานเจดีย์
            สิงห์ปูนปั้น  คงเหลือแต่ส่วนหัว เป็นสิงห์ไทยตามแบบสมัยอยุธยา
    วัดพังตรุ


            วัดพังตรุอยู่ที่บ้านพังตรุ ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน มีเรื่องเล่าสืบมาว่า เดิมวัดนี้สร้างเมื่อครั้งไทยรบพม่า มีอยู่สองวัดเรียกว่าวัดเหนือ และวัดใต้ ได้ถูกทิ้งร้างมาเป็นเวลานาน วัดใต้มีสิ่งสำคัญดังนี้
            เจดีย์รายหมายเลข ๑  ก่ออิฐฉาบปูน ฐานทรงสี่เหลี่ยม กว้าง ๓.๓๐ เมตร สูงประมาณ ๕ เมตร ย่อมุมไม้สิบสอง มีแข็งสิงห์บัวหงาย องค์ระฆังรูปทรงกลม คอระฆังและบัวกลม ปลียอดหักพังลงมาหมด
            เจดีย์รายหมายเลข ๒  ก่ออิฐฉาบปูน ฐานทรงสี่เหลี่ยม กว้าง ๓.๓๐ เมตร  สูงประมาณ ๕ เมตร เป็นเจดีย์กลมมีบัวหงาย องค์ระฆัง คอระฆัง ปล้องไฉน ส่วนที่เป็นปลียอดหักพังลงมาหมด
            เจดีย์รายหมายเลข ๓  ก่ออิฐฉาบปูน ฐานทรงสี่เหลี่ยม กว้าง ๒.๒๐ เมตร สูงประมาณ ๓.๓๐ เมตร ฐานส่วนบนย่อมุมไม้สิบสอง มีแข้งสิงห์ องค์ระฆังมีบัวปากระฆัง ปล้องไฉนหักพัง และฐานชำรุด
            ส่วนวัดพังตรุเหนือ มีเจดีย์ก่ออิฐฉาบปูน มีลักษณะรูปแบบเหมือนที่วัดพังตรุใต้ มีทั้งเจดีย์ทรงกลมและย่อมุมไม้สิบสอง แต่อยู่ในสภาพชำรุดหนักมาก
    พระธาตุโบอ่อง


            พระธาตุโบอ่องอยู่ที่บ้านปิล๊อก ตำบลปิล๊อก อำเภอทองผาภูมิ ตั้งอยู่กลางสระน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ ๒ ไร่ เป็นพระธาตุศิลปะแบบมอญพม่า ทาสีทองไม่ทราบว่าสร้างมาแต่สมัยใด ข้างองค์พระธาตุมีหอระฆังใหญ่ มีระฆังแขวนอยู่ ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่าเป็นระฆังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานไว้ให้แขวนคู่กับพระธาตุโบอ่อง
            พระธาตุโบอ่อง เป็นพระธาตุเก่าแก่มาแต่โบราณ เป็นที่นับถือของชาวบ้านที่เป็นชาวกะเหรี่ยงตลอดมา และมีความเชื่อว่าถ้าผู้หญิงขึ้นไปบริเวณพระธาตุจะทำให้น้ำในสระแห้ง ดังนั้น ผู้หญิงจะไหว้พระธาตุบริเวณขอบสระเท่านั้น
    วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ)


            วัดเทวสังฆารามเป็นวัดที่เก่าแก่ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์วัดหนึ่ง อยู่ในเขตตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างมาแล้วกว่าร้อยปี ตามเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาว่าสมภารเปรื่อง เป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ในครั้งนั้น พม่ายกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สอง ได้กวาดต้อนผู้คน และเก็บทรัพย์สมบัติของคนไทยไปพม่า สมภารเปรื่องซึ่งบรรพชาเป็นสามเณรถูกกวาดต้อนไปพม่าด้วย ต่อมาท่านได้อุปสมบทในพม่า และได้กลับมาเมืองไทยพร้อมพรรคพวก ๕ - ๖ คน โดยปลอมเป็นพระมอญ เข้ามาพบว่าทางการไทยได้ย้ายเมืองกาญจนบุรี ไปตั้งใหม่ที่ตำบลปากแพรก ท่านจึงได้มาสร้างวัดใกล้กับเมืองใหม่
            วัดเทวสังฆารามได้รับพระบรมราชานุเคราะห์มาโดยลำดับ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๗๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สร้างวัดและปฏิสังขรณ์พระอารามในเมืองกาญจนบุรีห้าแห่ง สันนิษฐานว่า วัดเทวสังฆารามเป็นหนึ่งในห้าพระอาราม ดังกล่าว
            ในปี พ.ศ. ๒๔๒๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแวะทอดพระเนตรวัดเทวสังฆาราม ทรงเห็นว่าโบสถ์ชำรุดมาก จึงได้มีพระราชดำรัสให้พระยากาญจนบุรี นำเงินส่วยในเมืองกาญจนบุรีไปซ่อมแซมพระอุโบสถนั้น ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระองค์ได้เสด็จวัดเทวสังฆารามในเวลาที่รื้อโบสถ์เพื่อสร้างใหม่ จึงได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ๑๐ ชั่ง ช่วยในการก่อสร้าง
            พระอุโบสถหลังปัจจุบัน เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้สร้างศาลาการเปรียญแทนหลังเก่าที่ชำรุด เป็นแบบศาลาทรงไทย และเพื่อใช้เป็นศาลารับเสด็จ ฯ ในคราวเสด็จถวายผ้าพระกฐินต้นในปีนั้น
            วัดเทวสังฆาราม ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕
    วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้)


            วัดพังตรุวัดไชยชุมพลชนะสงคราม เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองกาญจนบุรีอีกวัดหนึ่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตำบลบ้านใต้ อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยอยุธยา
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๘ หลังจากรบชนะพม่าที่ทุ่งลาดหญ้าแล้ว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายเมืองกาญจนบุรี จากที่อยู่เดิมข้างเขาชนไก่ ตำบลลาดหญ้า มาตั้งอยู่ที่ตำบลปากแพรก ตรงบริเวณที่แม่น้ำแควน้อย และแม่น้ำแควใหญ่ไหลมาบรรจบกัน วัดและหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณตัวเมืองที่อยู่ด้านเหนือ ชาวบ้านจะเรียกว่าวัดเหนือ บ้านเหนือ ที่อยู่ทางด้านใต้ก็เรียกว่าวัดใต้ บ้านใต้
            วัดพังตรุวัดไชยชุมพลชนะสงคราม เคยมีพระเจดีย์เก่าอยู่องค์หนึ่ง อยู่ใกล้กับพระอุโบสถหลังเก่า ริมตลิ่งชื่อว่าเจดีย์ไชยชุมพลชนะสงคราม ตามประวัติศาสตร์ไทยรบพม่า ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กองทัพใต้ได้ประชุมพลก่อนออกไปทำการรบ ณ บริเวณพระเจดีย์องค์นี้ได้ชัยชนะกลับมา จึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้
            ในปี พ.ศ. ๒๔๗๙ คณะกรรมการจังหวัดกาญจนบุรีได้ขออนุญาตกรมศิลปากร ขุดเอาของที่บรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาเก็บรักษาไว้ ของที่บรรจุไว้มีพระพิมพ์ชิน พระพิมพ์ดินเผา แม่พิมพ์พระพุทธรูปทำด้วยดินเผา เงินพดด้วง แหวนทอง แหวนนาค และเล็บมือละคร ของเหล่านี้ล้วนสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙ กระแสน้ำพัดตลิ่งพังเข้ามาจนถึงองค์เจดีย์ จึงได้มีการรื้อถอนพระเจดีย์ได้พบอัฐิบรรจุอยู่เป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นอัฐิของวีระชนไทยที่ได้สละชีวิตต่อสู้ศัตรูของชาติไทยในครั้งกระนั้น
    วัดถาวรวราราม (วัดคั้นถ่อตื้อ)


            วัดถาวรวราราม หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า วัดญวน ตั้งอยู่ติดกับวัดเทวสังฆาราม ทางด้านทิศเหนือ ตำบลบ้านเหนือ อำเภอเมือง ฯ สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
            วัดถาวรวราราม เป็นวัดอันนัมนิกายที่ใหญ่วัดหนึ่งในประเทศไทย ภายในโบสถ์และวิหารมีพระพุทธรูปแบบทรงไทย และทรงญวนอยู่เป็นจำนวนมาก กุฏิส่วนมากเป็นอาคารตึกและสะอาดเรียบร้อย วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ก็เรียบร้อย ชาวจังหวัดกาญจนบุรีให้ความเคารพนับถือ พระสงฆ์ญวนเช่นเดียวกับพระสงฆ์ไทย และพระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายก็มีความติดต่อสัมพันธ์กันเป็นอันดี ทุกเช้าจะมีพระญวนออกบิณฑบาตเป็นทิวแถว เป็นภาพที่หาดูไม่ได้ในที่อื่นนอกจากที่เมืองกาญจนบุรีเท่านั้น
    วัดบ้านถ้ำ


            วัดบ้านถ้ำตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตำบลเขาน้อย อำเภอท่าม่วง เนื่องจากวัดแห่งนี้มีถ้ำเป็นสัญลักษณ์จึงได้ชื่อว่า วัดบ้านถ้ำ มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า ในสมัยสุโขทัย มีเศรษฐีคนหนึ่งเห็นว่าถ้ำแห่งนี้ใหญ่โตสวยงามน่าอยู่อาศัย ภายในถ้ำมีปล่องให้แสงสว่างสาดส่องเข้าไปในถ้ำ จึงได้นิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งให้มาจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้ เศรษฐีได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่องค์หนึ่งไว้ในถ้ำมีรูปแบบเหมือนพระพุทธชินราช สูง ๑๑ ศอกเศษ ภายนอกฉาบปูนลงรักปิดทอง
            ประวัติอีกส่วนหนึ่งมีที่มาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน กล่าวไว้ว่าบริเวณบ้านถ้ำนี้เป็นที่อยู่ของหมื่นหาญ มีลูกสาวชื่อบัวคลี่ เป็นภรรยาคนหนึ่งของขุนแผน
            จากพระพุทธรูปใหญ่ในถ้ำใบพัทธสีมาศิลาแลงในพระอุโบสถเก่า ล้วนเป็นฝีมือช่างสมัยสุโขทัย ต่อมาได้มีการบูรณะในสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
            เมื่อประมาณ ๕๐ ปีเศษมาแล้ว ได้มีผู้ขุดพบกรุพระพุทธรูป พบพระพุทธรูปขนาดใหญ่เกือบเท่าพระพุทธรูปที่อยู่ในถ้ำ เป็นพระบูชาและพระเครื่องเป็นจำนวนมาก พระบูชาเป็นพระพุทธรูปขนาดกลาง ในห้วงระยะเวลาเดียวกัน ได้มีพระจีนมาปกครองถ้ำนี้สองรูป ได้ทำการซ่อมแซมตกแต่งพระพุทธรูปใหญ่ที่ฐาน สร้างบันไดก่ออิฐถือปูนขึ้นไปยังปากถ้ำจำนวน ประมาณ ๓๐๐ ขั้น แล้วทำป้ายชื่อถ้ำนี้ใหม่ว่า ถ้ำคูหาสวรรค์ บริเวณหน้าถ้ำมีบ่อน้ำ และศาลาพักร้อน บริเวณปากถ้ำจะแลเห็นทิวทัศน์เบื้องล่าง เช่นแม่น้ำแม่กลอง ทุ่งนา หมู่บ้าน สวยงาม ตัวถ้ำเป็นห้องโถงใหญ่ ทางซ้ายมือมีปล่องแสงสว่างลอดผ่านเข้าไปในถ้ำ อากาศภายในถ้ำเย็นสบาย
            ในพิธีตักบาตรเทโวในงานออกพรรษาประจำปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมา ได้มีประชาชนในหมู่บ้านและที่อยู่ใกล้เคียงมาร่วมพิธีเป็นประจำทุกปี
    วัดมโนธรรมาราม


            วัดมโนธรรมารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแม่กลอง ในเขตตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง ชาวบ้านทั่วไปเรียกวัดนางโน สันนิษฐานว่า สร้างมาหลายร้อยปีแล้ว จากศาสนสถาน และศาสนวัตถุที่ปรากฏอยู่ เช่น พระพุทธไสยาสน์ พระปรางค์ และปูชนียวัตถุอื่น ๆ ที่เก่าแก่ในบริเวณวัดล้วนเป็นฝีมือและศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น
            วัดมโนธรรมารามเคยเจริญรุ่งเรืองมาแล้วในอดีต แต่ได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปในบางสมัยจนกลายเป็นวัดร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ได้มีประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียงได้ดำเนินการขอตั้งวัดต่อทางราชการ จึงได้ประกาศตั้งวัดมีพระสงฆ์ตามกฏกระทรวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ต่อมาได้ขอเปลี่ยนชื่อจากวัดนางโน เป็นวัดมโนธรรมาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ปัจจุบันเป็นสำนักวิปัสนากรรมฐานแห่งหนึ่งของจังหวัดกาญจนบุรี
            ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่เก่าแก่ของวัดมีดังนี้
            พระพุทธไสยาสน์ มีขนาดความยาว ๑๔ เมตร สูง ๖ เมตร สร้างด้วยปูนปั้น ผิวนอกขัดปูน เคยปิดทองมาหลายสมัย ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว จากประวัติที่เล่าสืบกันมาสันนิษฐานว่า สร้างมาประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารพระนอนของวัด
            พระปรางค์  สูงประมาณ ๒๐ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ ๑๒ เมตร สร้างด้วยอิฐถือปูน ตั้งอยู่บริเวณวิหารพระนอน ปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติแล้ว สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น
            พระอุโบสถหลังเก่า  มีขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ก่ออิฐถือปูนใช้กระเบื้องดินเผาชนิดเป็นราวครอบกันอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม คงเหลืออยู่แต่กำแพงเก่าและใบเสมา พอให้รู้ว่าเป็นอุโบสถเท่านั้น
            พระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลงขนาดต่าง ๆ กัน
    วัดขุนแผน


            วัดขุนแผนตั้งอยู่ในเขตเมืองกาญจนบุรีเก่า ห่างจากวัดป่าเลไลยก์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๕๐๐ เมตร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระครูจวนได้มาจำพรรษาที่วัดนี้ ได้ชักชวนชาวบ้านให้สำรวจวัดโบราณ และเป็นผู้เรียกวัดโบราณเหล่านี้ว่าวัดขุนแผน วัดนางพิม วัดแม่หม้าย วัดขุนไกร ฯลฯ กรมศิลปากรได้เข้าทำการขุดแต่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ โบราณสถานที่ยังคงเหลืออยู่มีดังนี้
            ปรางค์เดี่ยวขนาดเล็ก  ก่ออิฐฉาบปูน ลักษณะเป็นปรางค์สมัยอยุธยา ฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๙ เมตร สูง ๖๕ เซนติเมตร ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานชุดลายบัว ย่อมุมไม้สิบสองย่อมุมถัดขึ้นไปเป็นซุ้มจระนำกลีบขนุนเรียงตัวอย่างมีระเบียบ ส่วนยอดนภศูลหัก ลักษณะส่วนยอดคล้ายฝักข้าวโพด
            ฐานโบราณสถาน  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐสอดินฉาบปูน กว้าง ๔.๗๐ เมตร ยาว ๕.๐๐ เมตร สูง ๙๐ เซนติเมตร เป็นฐานหน้ากระดานมีบันไดขึ้นทางด้านทิศตะวันออก กว้าง ๑.๕๐ เมตร สันนิษฐานว่า เป็นส่วนฐานของเจดีย์ราย ในการขุดแต่งได้พบหอยเบี้ยเป็นจำนวนมาก
            เจดีย์มุมทรงกลม  ก่ออิฐสอดินฉาบปูนมีอยู่ที่องค์ติดกัน ตั้งอยู่บนฐานเขียงรูปสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ ๗ เมตร และ ๔ เมตร ตามลำดับ สูงประมาณ ๑ เมตร เหนือขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม เจดีย์ทั้งสี่องค์ยอดหักพังลงหมด ใกล้กับฐานเจดีย์องค์ใหญ่ ทางด้านทิศใต้มีฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๓.๓๐ เมตร ยาว ๓.๗๐ เมตร บริเวณฐานเจดีย์พบว่า มีการฝังภาชนะบรรจุกระดูกคน ที่เผาไฟแล้วจำนวนหลายสิบใบ
            ฐานพระอุโบสถ  ก่ออิฐสอดินฉาบปูน รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๗.๒๐ เมตร ยาว ๑๗.๘๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก กว้างประมาณ ๑.๖๕ เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบกระเบื้องกาบู ที่ชายคามีกระเบื้องเชิงชายประดับเป็นรูปบันแถลง มีลายตกแต่งเช่นลายเทพนม ลายครุฑยุดนาค ลายกระจังตาอ้อยและลายกนก ภายในอุโบสถด้านตะวันตกมีฐานชุกชี ติดผนังอุโบสถด้านทิศเหนือพบแท่นฉาบปูนขาเป็นแข้งสิงห์ มีร่องรอยการประดับกระจกสี สันนิษฐานว่าใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป นอกจากนี้ยังพบพระพิมพ์จำนวนหลายองค์
            ภายนอกอุโบสถด้านหน้าปูอิฐเป็นลาน กว้าง ๑.๘๐ เมตร ยาว ๑๙.๖๐ เมตร บริเวณรอบฐานอุโบสถ พบฐานใบเสมา รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง ๑.๔๐ เมตร ประจำอยู่ทั้งแปดทิศ ใบเสมามีลักษณะแบบสมัยอยุธยานตอนปลาย
            กำแพงแก้ว  ก่ออิฐสอดินฉาบปูน กว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๙๐ เมตร สูง ๒๐-๙๐ เซนติเมตร หนา ๑.๔๐ เมตร ประตูกว้าง ๑.๘๐ เมตร และ ๑.๑๐ เมตร ประตูมีการย่อมุม จากการขุดแต่งพบว่าที่ฐานเจดีย์รายมีกระดูกคนบรรจุอยู่ และมีการฝังภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกไว้รอบๆ ฐานเจดีย์รายด้วย
            ฐานเจดีย์รอบกำแพงแก้ว  มีอยู่สามองค์ ก่ออิฐสอดินฉาบปูนเป็นฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้าง ๓.๗๐ เมตร สูง ๔๐ เซนติเมตร รอบฐานด้านทิศเหนือ และทิศตะวันตก พบภาชนะดินเผาบรรจุกระดูกคนหลายใบ
    วัดนางพิมพ์


            วัดนางพิมพ์ตั้งอยู่ห่างจากวัดขุนแผนไปทางทิศใต้ ประมาณ ๕๐๐ เมตร มีชื่อเป็นทางการว่าวัดกาญจนบุรีเก่า
            อุโบสถ  สร้างขึ้นบนฐานอุโบสถเดิม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องเสารับหลังคาเป็นเสาย่อมุม หัวเสาเป็นบัว รอบอุโบสถเป็นซุ้มใบเสมาแปดซุ้ม ใบเสมาทำด้วยหินทรายแดง มีลวดลายแต่ละด้านไม่เหมือนกัน
            เจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ สร้างขึ้นบนฐานเจดีย์ที่ชำรุดหักพัง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒
            นอกจากนั้นบริเวณวัดยังเคยปรากฏซากกำแพงเก่า แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปหมดแล้ว
    วัดป่าเลไลยก์


            วัดป่าเลไลยก์อยู่ห่างจากวัดขุนแผนไปทางทิศเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร ภายในวัดประกอบด้วย
            มณฑป  ก่ออิฐถือปูน ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๗.๖๐ เมตร สูง ๖.๖๐ เมตร ฐานประกอบด้วยชุดบัวคว่ำ มีซุ้มพระยืน ทางด้านทิศเหนือทิศใต้ และทิศตะวันตก ประตูเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก ภายในมณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางป่าเลไลยก์ขนาดใหญ่มีลิง และช้างหมอบอยู่ทั้งสองข้าง
            วิหาร  ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๐ เมตร สูง ๓ เมตร มีประตูทางเข้าอยู่ทางด้านทิศตะวันออกสองประตู ตัววิหารตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สูง ๑.๔๐ เมตร ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้มีบันไดขึ้นสู่วิหาร กว้าง ๑.๒๐ เมตร
            เจดีย์  นอกกำแพงแก้วเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๕ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร
            เจดีย์  เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่ออิฐสอดินฉาบปูน ส่วยยอดหักพัง ความสูงที่เหลืออยู่ประมาณ ๗.๕๐ เมตร องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียวรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๘ เมตร ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์มีฐานโบราณสถานรูปแปดเหลี่ยม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๘ เมตร สูง ๔๐ เซนติเมตร
            กำแพงแก้ว  ก่อด้วยอิฐ กว้าง ๒๗ เมตร ยาว ๕๕ เมตร หนาประมาณ ๑ เมตร มีประตูทางเข้าทางด้านทิศตะวันออก และทิศเหนือ ประตูกว้าง ๑ เมตร บริเวณด้านทิศใต้ของกำแพงแก้วมีฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒ เมตร ยาว ๓ เมตร
    วัดแม่หม้าย


            วัดแม่หม้ายอยู่ห่างจากวัดขุนแผนไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓๐๐ เมตร มีโบราณสถานอยู่สองกลุ่มคือ กลุ่มด้านทิศเหนือ และกลุ่มด้านทิศใต้ โดยมีสระล้างกระดูกอยู่ระหว่างกลาง
            วัดแม่หม้าย (เหนือ)  มีเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส มีฐานประทักษิณก่ออิฐสอดินฉาบปูน ส่วนยอดหักพังลงมาหมด พบชิ้นส่วนปล้องไฉนตกอยู่ทางด้านทิศตะวันออก องค์เจดีย์มีเส้นผาศูนย์กลาง ประมาณ ๕ เมตร บางช่วงของเจดีย์มีการก่อหินแทรกแทนอิฐด้วย มีบันไดขึ้นทางด้านทิศตะวันตก มีวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ ก่อด้วยอิฐสอดินฉาบปูน ที่ฐานวิหารมีการก่อทับกันสองชั้น ชั้นแรกเป็นฐานเขียง กว้าง ๘.๔๐ เมตร ยาว ๑๖.๖๐ เมตร สูง ๐.๔๐ เมตร ส่วนชั้นสองสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยหลังทับอยู่บนชั้นแรกเยื้องไปทางทิศตะวันออก ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๙.๒๐ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร จากการขุดแต่ง พบเหล็กยึดไม้และกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา
            วัดแม่หม้าย (ใต้)  มีเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๕ เมตร จำนวนสององค์ ตั้งอยู่ห่างกันสองเมตร ภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก มีวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐฉาบปูน กว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๐ เมตร มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก ฐานอาคารนี้สร้างทับกันสองชั้น บริเวณภายในทางทิศตะวันตกเป็นฐานชุกชี จากการขุดแต่งพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทราย

| ย้อนกลับ | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์