ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

กลุ่มพื้นเมืองเดิมก่อนแคว้นหริภุญชัย
            บริเวณแอ่งที่ราบเชียงใหม่ - ลำพูน ได้มีการสำรวจพบร่องรอยของแหล่งโบราณคดี ในบริเวณที่ราบริมฝั่งแม่น้ำกวง ทางด้านทิศตะวันออก ตั้งแต่เขตอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแนวยาวมาถึงเขตอำเภอเมืองลำพูน มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนโบราณ สมัยก่อนวัฒนธรรมหริภุญชัย ได้แก่ แหล่งโบราณคดีบ้านวังไฮ ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง ฯ พบว่าเคยเป็นสถานที่ฝังศพ นอกจากโครงกระดูกแล้ว ตามชั้นดินต่าง ๆ ยังพบโบราณวัตถุที่ปะปนกันในหลายลักษณะทั้งรูปแบบ และวัสดุ กล่าวคือ
            ลึกลงไปตามชั้นดินประมาณชั้นที่ ๔ - ๕ พบขวานหินกะเทาะ เครื่องมือสะเก็ดหิน แวดินเผา ค้อนหิน ภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ สิ่งของดังกล่าวมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ที่อาศัยอยู่ในที่สูงตามถ้ำ หรือเพิงผา มีการดำรงชีพแบบล้าหลัง
            ตั้งแต่ชั้นดินที่ ๓ - ๑ พบวัสดุที่ผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีที่สูงกว่า ได้แก่ เครื่องมือเหล็ก เศษภาชนะดินเผาแบบหริภุญชัย กำไลแก้ว ลูกปัดแก้ว ลูกปัดแร่คาร์เนเลียน ลูกปัดแร่อาเกดและ กำไลสำริด เป็นต้น อันเป็นสิ่งของของสังคมที่เจริญกว่าในลักษณะชุมชนที่เชื่อมต่อกับยุคประวัติศาสตร์
            จากการสำรวจพบดังกล่าว ทำให้ได้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับลักษณะของกลุ่มชนดังเดิมในแถบนี้ว่า ชุมชนที่ตั้งหลักแหล่งบริเวณลุ่มแม่น้ำกวง อันได้แก่ชุมชนบ้านยางทองใต้ ชุมชนที่บ้านสันป่าคำ และชุมชนที่บ้านวังไฮ เป็นชุมชนร่วมสมัยเดียวกัน เดิมเป็นชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม จนกระทั่งประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีกลุ่มชนจากภาคกลางเป็นกลุ่มชนเมือง อพยพมาตั้งหลักฐานในบริเวณใกล้เคียงกัน มีการติดต่อกัน จากนั้นสังคมเมืองก็แผ่อิทธิพลมายังชุมชนเหล่านี้ ใช้เวลาหลายชั่วอายุคน
            กลุ่มชนที่บ้านวังไฮ มีลักษณะว่าได้รับเอารูปแบบวัฒนธรรมทวารวดี จากเมืองหริภุญชัยมากกว่ากลุ่มชนบ้านยางทองใต้ และบ้านสันป่าคำที่อยู่ห่างไกลออกไป
            จากการศึกษาจากเอกสารตำนานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ ที่เผยแผ่เข้ามายังดินแดนแถบนี้ พบว่ามีการกล่าวถึงกลุ่มสังคม ในลักษณะชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณลุ่มน้ำต่าง ๆ เช่น กลุ่มชนแถบลุ่มน้ำปิงตอนบน แถบจังหวัดลำพูนในปัจจุบัน และบริเวณลุ่มน้ำวัง จังหวัดลำปาง ที่มีความสัมพันธ์กับอารยธรรมทวารวดี และลพบุรีจากภาคกลาง
ความสัมพันธ์ระหว่างทวาราวดีละโว้ และหริภุญชัย
            ชื่อแคว้นทวารวดีมีปรากฏอยู่ในบันทึกของหลวงจีนที่เดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่อินเดีย คือ หลวงจีนยวนฉาง ในระหว่างปี พ.ศ.๑๑๗๒ - ๑๑๘๘ และหลวงจีนอี้จิง ระหว่างปี พ.ศ.๑๒๑๔ - ๑๒๓๖ ส่วนทางด้านโบราณคดีได้มีการพบซากโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่แสดงเครือข่ายทางวัฒนธรรมที่มีการนับถือ พระพุทธศาสนาในแบบแผนเดียวกัน เช่นที่เมืองโบราณนครปฐม จังหวัดนครปฐม เมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี เมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองพงตึก จังหวัดกาญจนบุรี เมืองละโว้ จังหวัดลพบุรี เมืองบน จังหวัดนครสวรรค์ เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น เมืองเหล่านี้เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ มีศาสนสถานขนาดใหญ่ ปรากฏอยู่มาก ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖
            เมืองละโว้  เป็นชื่อเมืองเก่าของเมืองลพบุรีมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี มีความเจริญเติบโต และคลี่คลายทางวัฒนธรรมแบบพื้นเมือง ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มารับวัฒนธรรมจากอินเดียเข้าผสมผสาน ดังจะเห็นได้จากซากโบราณสถาน และโบราณวัตถุในพระพุทธศาสนาในรูปแบบศิลปกรรมที่เรียกว่าทวาราวดีละโว้ มีความเจริญรุ่งเรืองในด้านต่าง ๆ ในระดับสูงเท่าเทียมกับเมืองใหญ่อื่น ๆ ในแว่นแคว้นทวาราวดีบนที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางของประเทศไทย
            เมืองหริภุญชัย  ชื่อเมืองเก่าของเมืองลำพูน ได้พบโบราณวัตถุที่เป็นรูปปั้นตุ๊กตาขนาดเล็ก รวมทั้งพระพุทธรูปรุ่นแรก ๆ มีรูปแบบคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุ และพระพุทธรูปที่พบตามเมืองโบราณขนาดใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง จากตำนานเรื่องจามเทวี ธิดากษัตริย์กรุงละโว้ขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัย เป็นเรื่องของอารยธรรมจากเมืองละโว้ ที่ขึ้นไปผสมผสานกับวัฒนธรรมพื้นเมืองของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่ลำพูน
กำเนิดเมืองหริภุญชัย

            จากประวัติศาสตร์ของเมืองหริภุญชัยตอนต้น เป็นเรื่องนิยายปรัมปรา สะท้อนให้เห็นว่าชาวพื้นเมืองในระยะแรก ๆ เป็นพวกเมงคบุตร หรือพวกละว้า ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบลุ่มเชียงใหม่ ใกล้ดอยสุเทพ มีหลายชุมชนในบริเวณใกล้เคียงกัน มีความสัมพันธ์ในทางเชื้อสายเดียวกัน ใช้ภาษาเดียวกัน และมีหัวหน้าปกครอง แต่แบ่งออกเป็นหลายหมู่เหล่า แต่ละหมู่จะมี แรด ช้าง วัว เนื้อ เป็นสัญลักษณ์ของตน ดังที่ในตำนานกล่าวว่า คนที่เกิดจากรอยเท้าช้าง รอยเท้าแรด และรอยเท้าวัว เป็นต้น
            จากตำนานมูลศาสนาได้กล่าวถึงพวกฤาษีกลุ่มหนึ่งที่ได้เคยบวชเรียนในพระพุทธศาสนามาก่อน แต่ไม่สามารถปฏิบัติตามสิกขาบทในพระธรรมวินัยได้ จึงได้ลาสิกขา แล้วมาบวชเป็นฤาษีมีอยู่ห้ารูปด้วยกันคือ สุเทโว สุกกทันโต อนุสิสสะ พุทธชฎิละ และสุพรหม
            ชุมชนในลุ่มน้ำพิงค์ (ปิง) เป็นชุมชนของพวกละว้า หรือเมงคบุตร ศูนย์กลางของชุมชนอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ที่ฤาษีวาสุเทพมาพำนักอยู่ และฤาษีวาสุเทพก็ได้เป็นผู้นำชาวพื้นเมืองเหล่านี้ในเวลาต่อมา ได้สร้างบ้านเมืองขึ้นให้ลูกหลานปกครอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากแบบเดิมมาเป็นสังคมแบบเมือง เกิดมีชนชั้น มีกษัตริย์ปกครอง แต่ยังไม่มีความสัมพันธ์กับแว่นแคว้นอื่นบ้านเมืองอื่นมากนัก
            ต่อมาได้เกิดน้ำท่วมใหญ่บริเวณเชิงดอยสุเทพ ฤาษีวาสุเทพจึงได้นำชาวลัวะกลุ่มหนึ่ง ล่องลงมาตามลำน้ำพิงค์ เห็นสถานที่แห่งหนึ่งมีชัยภูมิดี เคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า จึงให้สร้างขึ้น แล้วคิดหาผู้มีบุญญาธิการ และมีทศพิธราชธรรมมาเป็นท้าวพญา จึงคิดถึงสุกกทันตฤาษีผู้เป็นสหายที่อยู่สำนักเมืองละโว้ จึงได้ส่งข่าวให้มาช่วยเตรียมการสร้างเมือง
            ได้มีการสร้างเมืองตามรูปหอยสังข์ ตามคำแนะนำของอนุสสะฤาษี ที่อยู่ใกล้เมืองหลิททวัลลี (ศรีสัชนาลัย)  ด้านหนึ่งของกำแพงเมืองติดกับแม่น้ำพิงค์ เมื่อสร้างเสร็จสุกกทัตฤาษีได้ให้คำแนะนำว่า พญาจักรวัตติ เจ้าเมืองละโว้ ทรงทศพิธราชธรรม มีพระธิดานามว่า จามเทวี มีสติปัญญาสามารถฉลาดรอบรู้ สรรพกิจขัตติยประเพณี มีมรรยาท และอัธยาศัยเสงี่ยมงาม ตั้งอยู่ในศีลสัตย์สุจริต สมควรเป็นเจ้าเป็นใหญ่ปกครองเมืองได้ จึงตกลงให้แต่งตั้งนายคะวะยะ เป็นทูตไปกับสุกกทันตฤาษี ไปทูลเชิญพระนางจามเทวีมาครองเมือง
            การเดินทางขึ้นมาครองเมืองหริภุญชัยของพระนางจามเทวี ได้นำชาวละโว้มาด้วยคือ
            พระมหาเถระที่ทรงปิฎก ๕๐๐ รูป ปะขาวที่ตั้งอยู่ในศีลห้า ๕๐๐ คน บัณฑิต ๕๐๐ คน หมู่ช่างสลัก ช่างแก้วแหวน พ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หมู่หมอโหรา หมอยา ช่างเงิน ช่างทอง ช่างเหล็ก ช่างเขียน หมู่ช่างหลายต่าง ๆ หมู่พ่อเรียกทั้งหลาย อย่างละ ๕๐๐ คน
            ตลอดเส้นทางที่ขึ้นมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำพิงค์ ได้ประกาศศาสนาตลอดระยะเวลาเจ็ดเดือน ที่ประทับผ่าน เช่นเมืองปางปะบาง (ปากบาง) เมืองคันธิกะ (ชัยนาท) เมืองบุรีฐะ (นครสวรรค์) เมืองบุราณะ (เฉลียง) เมืองเทพบุรี บ้านโคนหรือวังพระธาตุ เมืองรากเสียด (เกาะรากเสียด) ถึงหาดแห่งหนึ่งน้ำเข้าเรือ จึงเรียกหาดนั้นว่า หาดเชียงเรือ (เชียงเงิน) ถึงที่แห่งหนึ่งให้ตากผ้า จึงเรียกว่า บ้านตาก จามเหงา (สามเงา) ผ่านผาอาบนาง ผาแต้ม ดอนเต่า (ดอยเต่า) บ้านโพคาม (ท่าข้าม - ฮอด) ทรงสร้างสถูปวิปะสิทธิเจดีย์ไว้ ท่าเชียงของ (จอมทอง)
            พระนางจามเทวีได้รับการราชาภิเษก เสวยราชย์ในเมืองหริภุญชัยแล้ว พระนางให้สร้างวัดถวายเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ ๕๐๐ รูป เมื่อมาถึงเมืองหริภุญชัยได้เจ็ดวัน พระนางก็ประสูติกุมารฝาแฝดสองคนให้ชื่อว่า มหันตยศกุมาร และอนันตยศกุมาร หรืออินทรวรกุมาร
            เมื่อพระนางจามเทวีได้ครองเมืองหริภุญชัยแล้ว ขุนหลวงวิลังคะหัวหน้าชาวลัวะที่อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ หลงใหลในพระนาง ได้ส่งฑูตมาเจรจาหลายครั้ง แต่พระนางได้ประวิงเวลาต่อมาได้ถึงเจ็ดปี ขุนหลวงวิลังคะจึงตัดสินใจทำสงคราม มหันตยศกุมารได้ขออาสาพระนางจามเทวีขี่คอช้างผู้ก่ำงาเขียว โดยมีอนันตยศนั่งกลางช้างเข้าต่อสู้ ขุนหลวงวิลังคะพ่ายแพ้ ชาวลัวะบางส่วนหนีไปอยู่ตามป่าเขา บางส่วนเข้ามาอยู่ในปกครองของพระนางจามเทวี โดยแต่งตั้งให้ขุนลัวะปกครองกันเอง แต่ต้องส่งส่วยให้เมืองหริภุญชัยเป็นประจำ
            ต่อมาพระนางจามเทวีได้มอบราชสมบัติให้มหันตยศ แล้วทรงบำเพ็ญแต่ในพระราชกุศล ทางด้านพระศาสนา ทรงสร้างวัดวาอารามเป็นอันมาก ทรงรักษาอุโบสถศีล และทรงธรรมเสมอมิได้ขาด ทรงบริจาคทรัพย์แจกจ่ายแก่ยาจก วณิพกทั่วไปมิได้ขาด บรรดาเสนาอำมาตย์ราชมนตรี และชาวพระนครก็พากันประพฤติปฏิบัติตามพระนาง เป็นที่พุทธปุปถัมภก ยกย่องพระศาสนารุ่งเรืองวัฒนาสืบต่อมา
            เมื่อเมืองหริภุญชัยเจริญมั่งคงแล้ว ก็ได้ขยายอำนาจออกไปสร้างเมืองเขลางค์นครในที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง โดยได้รับการสนับสนุนจากสุพรหมฤาษีแห่งเขลางค์บรรพต เพื่อให้อินทรวรกุมาร (อนันตยศ) โอรสองค์เล็กไปครอง เจ้าอนันตยศได้ขอคณะสงฆ์ และครูพราหมณ์ไปสืบศาสนาในเขลางค์นคร และได้สร้างเมืองขึ้นทางทิศใต้อีกเมืองหนึ่งชื่อ อลัมพางค์นคร
            พระนางจามเทวีเสด็จมาประทับอยู่ที่เขลางค์นครได้ ๖ พรรษา จึงเสด็จกลับไปเมืองหริภุญชัย และสวรรคตเมื่อ พระชนมายุได้ ๙๒ พรรษา
หลังการก่อตั้งแคว้นหริภุญชัย
            แคว้นหริภุญชัย มีกษัตริย์ปกครองมาตามลำดับ ดังนี้
                ๑.  พระนางจามเทวี เป็นปฐมกษัตริย์ ครองราชย์ ๑๘ ปี
                ๒.  เจ้ามหันตยศราชบุตรพระนางจามเทวี ครองราชย์ได้ ๘๐ พรรษา สิ้นพระชนม์อายุ ๘๗ พรรษา
                ๓.  พญาดูมัญราช ราชบุตรเจ้ามหันตยศ ครองราชย์ ๔๔ ปี
                ๔.  พญารุนธัยราช ราชบุตรพญาดูมัญราช ครองราชย์ ๒๗ ปี เป็นผู้ที่ไม่มีความเชื่อต่อกุศลกรรม ให้ทานบ้าง รักษาศีลบ้าง กระทำไปตามจารีตโบราณ
                ๕.  พญาสุวรรณมัญชนะ ราชบุตรพญาอรุโณทัย ครองราชย์ ๓๐ ปี สิ้นพระชนม์ เป็นผู้เลื่อมใสในศาสนา บำเพ็ญบุญกิริยา พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
                ๖.  พญาสังสาราช ราชบุตรพญาสุวรรณมัญชนะ ครองราชย์ ๑๐ ปี สิ้นพระชนม์ เป็นผู้ประพฤติผิดไม่ต้องตามราชประเพณี ไม่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม
                ๗.  พญาปทุมกุมาร ราชบุตรพญาสังสาราช ครองราชย์ ๓๐ ปี สิ้นพระชนม์ ได้ตั้งโรงทาน ๖ แห่ง สร้างอาวาสกุฎีวิหารถวายพระภิกษุสงฆ์ บำเพ็ญกุศลไม่ขาด
                ๘.  พญากุลเทวะ ราชบุตรพญาปทุมราช ครองราชย์ ๗ ปี มีกษัตริย์มิลักขะจากเมืองยศมาลา ยกทัพมาตีหริภุญชัยได้ พญากุลเทวะหนีไปอยู่ที่เมืองสมิงคนคร
                ๙.  พญามิลักขราช ครองราชย์ ๑ ปี
                ๑๐.  พญามิลักขโตราช ยกทัพมาตีเมืองหริภุญชัย พญามิลักขราชสิ้นพระชนม์ (ประมาณ พ.ศ.๑๕๐๐)
                ๑๑.  พญาโนกะราช ราชนัดดาพญากุลเทวะ ครองราชย์ ๔ ปี ๗ เดือน สิ้นพระชนม์
                ๑๒.  พญาพาลราช ครองราชย์สองเดือนครึ่ง สิ้นพระชนม์
                ๑๓.  พญาคุตราช หรือ พญากัลยา ณ ราช  ครองราชย์ ๓ ปี สิ้นพระชนม์
                ๑๔.  พญาสละราช ครองราชย์ ๓ ปี สิ้นพระชนม์
                ๑๕.  พญาพาลราช ครองราชย์ ๓ ปี สิ้นพระชนม์
                ๑๖.  พญาโยวราช ครองราชย์ ๖ เดือน สิ้นพระชนม์
                ๑๗.  พญาพรหมทัต ครองราชย์ ๓ ปี สิ้นพระชนม์
                ๑๘.  พญามุกขะราช ครองราชย์ ๒ ปี สิ้นพระชนม์
                ๑๙.  พระวัตรสัตกะราช ครองราชย์ ๒ ปี ๑๐ เดือน ได้รวบรวมกำลังยกออกจากเมืองหริภุญชัยโดยทางเรือ เพื่อที่จะไปตีเมืองละโว้ พญาอุจฉิตตจักวัตติ เจ้าเมืองละโว้ ยกทัพออกมาต้านทานนอกเขตพระนคร รบกันยังไม่แพ้ชนะกัน พอตีกองทัพศรีวิชัย จากเมืองศรีธรรมนคร ยกกำลังทางเรือและทางบกประมาณแสนเจ็ดหมื่นคน เข้าตีกรุงละโว้ได้ แล้วยกกำลังเข้าต่อสู้กับกองทัพละโว้ และกองทัพหริภุญชัยแตกพ่ายไป เจ้าเมืองละโว้ได้สั่งให้กองทหารรีบเดินทางโดยทางบก เพื่อเข้าตีเมืองหริภุญชัย ก่อนที่กองทัพหริภุญชัยจะเดินทางโดยทางเรือไปถึง เมื่อถึงแล้วได้ทำอุบายว่าเป็นกองทัพหริภุญชัยกลับมา ชาวเมืองเปิดประตูรับ กองทัพละโว้จึงเข้ายึดเมืองไว้ได้ เมื่อกองทัพหริภุญชัยยกกลับมาถึงได้สู้รบกันแต่ตีเมืองไม่ได้ เสียรี้พลไปเป็นอันมาก จึงลงเรือหนีไปอยู่ในป่าทางทิศใต้ ประมาณปี พ.ศ.(๕๕๐ - ๑๕๖๐)
                ๒๐.  พญาอุจฉิตตจักวัตติ ครองราชย์ได้ ๓ ปี พญากัมโพชราช ราชบุตรพระเจ้าศรีธรรมราช ได้ยกกำลังมาตีเมืองหริภุญชัย กองทัพหริภุญชัยยกกำลังออกไปต่อสู้จนกองทัพกัมโพชแตกพ่ายไป พญาอุจฉิตตจักวัตติ ครองราชย์ต่อมาอีก ๓ ปี สิ้นพระชนม์
                ๒๑.  พญากมลราช ครองราชย์ต่อมา เกิดโรคห่าระบาดในเมืองหริภุญชัย ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก จึงได้พาผู้คนหนีภัยไปอยู่ยังเมืองสุธรรมวดี (สะเทิม) และเมืองหงสาวดี ๖ ปี (ประมาณ ปี พ.ศ.๑๕๙๐) เมื่อผู้คนกลับคืนมาสู่เมืองหริภุญชัยแล้ว ยังระลึกถึงหมู่ญาติที่อาศัยอยู่ ณ เมืองหงสาวดี ครั้นถึงกำหนดปี เดือน (ข้าวใหม่) จึงได้แต่งเครื่องสักการะไปโดยทางน้ำ เรียกว่าลอยโขมด (ลอยไฟ) จึงเป็นประเพณีลอยประทีปต่อมา พญากมลราช ครองราชย์ได้ ๒๐ ปี ๗ เดือน สิ้นพระชนม์
                ๒๒.  พญาอุเลระราช ครองราชย์ ๖ ปี
                ๒๓.  พญาอังตรูจักรพรรดิราช ยกกำลังจากเมืองทุรฆะรัฐนคร มาตีเมืองหริภุญชัยได้ ครองราชย์ ๙ ปี (ประมาณปี พ.ศ.๑๖๓๐)
                ๒๔.  พญาสุเทวราช ครองราชย์ ๑ ปี ๒ เดือน สิ้นพระชนม์
                ๒๕.  พญาไชยะละราช ครองราชย์ ๑๐ ปี สิ้นพระชนม์
                ๒๖.  พญาราชะสุปละนคร ยกกำลังมาจากเมืองสักกะบาล มาชิงเอาเมืองหริภุญชัยแล้วครองราชย์ได้สองสามวันก็สิ้นพระชนม์
                ๒๗.  พญาเสละราช ครองราชย์ ๑๐ ปี สิ้นพระชนม์
                ๒๘.  พญาตาญะราช ครองราชย์ ๖ ปี สิ้นพระชนม์
                ๒๙.  พญาชิลักกิราช ครองราชย์ ๑๐ ปี สิ้นพระชนม์
                ๓๐.  พญาพินธุละราช ครองราชย์ ๒๐ ปี สิ้นพระชนม์
                ๓๑.  พญาอินทวราช ครองราชย์ ๓๐ ปี สิ้นพระชนม์
                ๓๒.  พญาอาทิตยราช ครองราชย์ประมาณปี พ.ศ.๑๖๐๖ เป็นเวลา ๔๐๒ ปี นับแต่นางจามเทวีครองราชย์ พญาอาทิตยราช เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ตามตำนานมูลศาสนา และทุกตำนานได้กล่าวถึง พระอาทิตยราชได้ยกกำลังไปตีเมืองละโว้ (ประมาณปี พ.ศ.๑๖๙๐) พญาละโว้ คือพญาลพราชเสนอให้ทำสงครามธรรมยุทธ์ โดยให้แข่งขันกันสร้างพระเจดีย์ สูง ๑๕ วา ให้เสร็จภายในหนึ่งวัน หนึ่งคืน ฝ่ายใดเสร็จก่อนถือว่าเป็นฝ่ายชนะ เมื่อตกลงกันแล้ว ฝ่ายหริภุญชัยซึ่งมีกำลังมากกว่าก็ถมมูลดิน และก่อองค์พระเจดีย์ขึ้นสูงกว่า ฝ่ายพญาลพราชเห็นว่าจะแพ้ จึงให้ช่างต่อโครงด้วยไม้เป็นรูปเจดีย์ แล้วหุ้มด้วยผ้าขาว ทำยอดสวมฐานก้อนกรวดแดงเสร็จภายในตอนกลางคืน แล้วโบกทาปูนดินทั่วองค์เจดีย์ ครั้นเวลาเช้าก็เปิดองค์เจดีย์ให้ฝ่ายหริภุญชัยได้เห็น แล้วประโคมดนตรี ชาวเมืองโห่ร้องว่าเจดีย์ของตนสร้างเสร็จก่อน ฝ่ายทางเมืองหริภุญชัยเห็นดังนั้น ก็รู้ว่ตนเป็นฝ่ายแพ้ พากันหนีกลับไปเมืองหริภุญชัย พญาลพราชยกกำลังออกตามตีได้เชลยช้างม้าอาวุธต่าง ๆ เป็นอันมาก
            ทางฝ่ายเมืองละโว้เห็นได้ที จึงให้ราชบุตรยกกำลังไปประชิดเมืองหริภุญชัย พญาอาทิตยราชเสนอให้ทำธรรมยุทธ์กันอีกครั้ง โดยให้ขุดสระสี่เหลี่ยมแห่งหนึ่ง กว้างยาวลึก เสมอกัน ด้วยด้ามหอก ในวันหนึ่งคืนหนึ่งฝ่ายใดใครขุดสระลึกกว่าให้เป็นฝ่ายชนะ พวกละโว้ขุดสระด้วยด้ามหอก แต่พวกหริภุญชัยขุดด้วยด้ามหอกเวลากลางวัน แต่ตอนกลางคืนขุดด้วยจอบเสียม และพลั่ว จึงขุดสระได้ลึกกว่า ฝ่ายละโว้แพ้จึงถอยทัพกลับไป
            สงครามหริภุญชัย-ละโว้ ครั้งที่สาม  พญาละโว้เลือกบุตรอำมาตย์ผู้หนึ่งมีสติปัญญาฉลาดรอบรู้ อาสาไปเป็นแม่ทัพ เมื่อยกกำลังเข้าเขตเมืองหริภุญชัย กองทัพเดินหลงทางไปทางเหนือ พญาอาทิตยราชยกกำลังไปล้อมไว้ ฝ่ายละโว้ต้องยอมสวามิภักดิ์ได้รับการชุบเลี้ยง ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศตะวันตก และได้ให้เชลยศึกสร้างมหาพลเจดีย์ขึ้น ณ วัดจามเทวี ต่อมาโรคระบาดเสียชีวิตกันมาก จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาพญาอาทิตยราชก็ได้อนุญาตให้ชาวละโว้กลับไปบ้านเมืองของตนโดยให้ดื่มน้ำสาบานก่อน
            สงครามหริภุญชัย-ละโว้ ครั้งที่สี่  บุตรอำมาตย์เมืองละโว้ชื่อ ศิริกุต อำมาตย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพมาตีเมืองหริภุญชัย พวกละโว้หลงทางอีกโดยได้อ้อมไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งสระโบกขรณีเมืองหริภุญชัย แล้วไปพักที่เมืองร้างแห่งหนึ่ง ถูกชาวหริภุญชัยฆ่าฟันล้มตายเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นั้นหริภุญชัยก็เกิดความสงบสุขสืบมา
            การขยายอำนาจของกัมพูชามาทางทิศตะวันตก สามารถยึดละโว้ไว้ได้ และได้ทำสงครามกับหริภุญชัยในสมัยพญาอาทิตยราช พระองค์สามารถป้องกันแคว้นหริภุญชัยไว้ได้ สันนิษฐานว่าตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ แห่งกรุงกัมพูชา (พ.ศ.๑๖๕๗ - ๑๖๙๓)
            พญาอาทิตยราชครองราชย์สืบต่อมาได้ ๕ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์
                ๓๓.  พญาธรรมิกราช โอรสพญาอาทิตยราช ครองราชย์ ๕ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์ ได้โปรดให้สร้างพระพุทธรูปสูงสิบแปดศอกถวายวัด
                ๓๔.  พญารัตนราช (รถราช) โอรสพญาธรรมิกราช ครองราชย์ ๕ พรรษา ก็สิ้นพระชนม์
                ๓๕.  พญาสัพพสิทธิ โอรสพญารัตนราช ทรงผนวชในพระพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างให้กษัตริย์องค์ต่อมาปฏิบัติสืบทอดเป็นราชประเพณี ทรงปฏิสังขรณ์วัดมหาวัน ถวายข้าพระและวัตถุสิ่งของ โปรดให้สร้างวัดเชตุวัน สร้างพระเจดีย์สามองค์ที่หน้าวัด ทรงก่อเสริมพระธาตุทรงปราสาทที่พญาอาทิตยราชสร้างไว้เดิมให้สูงขึ้น เป็นยี่สิบสี่ศอก ทรงปฏิสังขรณ์รัตนเจดีย์กู่กุด ที่หักพังลงมาเนื่องจากแผ่นดินไหว ทรงครองราชย์ได้ ๔๔ พรรษา จึงสิ้นพระชนม์
                ๓๖.  พระเชษฐา ครองราชย์ ๑๕ ปี ก็สิ้นพระชนม์
                ๓๗.  พญาจักรกายะกราช ครองราชย์ ๒๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
                ๓๘.  พญาตันวาญญะ ครองราชย์ ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
                ๓๙.  พญากากยะราช ครองราชย์ ๑๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
                ๔๐.  พญาสิริปุญญะ ครองราชย์ ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
                ๔๑.  พญาเวทนราชหรืออุเทน ครองราชย์ ๑ ปี ก็สิ้นพระชนม์
                ๔๒.  พญาพันโตญญะ หรือทาตัญญราช ครองราชย์ ๓๐ ปี ก็สิ้นพระชนม์
                ๔๓.  ไทยอำมาตย์ยกกำลังจากเขลางค์นคร มาปลงพระชนมแล้ว ครองราชย์ต่อได้อีก ๓ ปี
                ๔๔.  อำมาตย์ปะนะ ครองราชย์ ๑๐ ปี
                ๔๕.  อำมาตย์ทาวนะ ครองราชย์ ๑๐ ปี
                ๔๖.  พญาตาราชละราช ครองราชย์ ๑๐ ปี
                ๔๗.  พญาโยทราช ครองราชย์ ๑ ปี
                ๔๘.  พญาอ้าย ครองราชย์ ๑๐ ปี
                ๔๙.  พญาเสต ครองราชย์ ๑ ปี
                ๕๐.  พญาญีบา ครองราชย์ เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๑๘๒๕ ให้พญาเบิกราชบุตรไปครองเมืองเขลางค์นครได้ ๑๐ ปี ก็เสียเมืองให้กับพญามังรายเจ้าเมืองเชียงราย และเมืองไชยปราการ
เสียเมืองหริภุญชัยแก่พญาเม็งราย
            พญามังรายแห่งแคว้นโยนก เป็นโอรสพญาลาวเม็ง ประสูติเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๑๗๘๒ ได้ครองราชย์สืบต่อจากพญาลาวเม็ง ในหิรัญนครเงินยาง (เชียงแสน) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๔ ได้สร้างเมืองเชียงรายเมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๕ ยึดครองเมืองเชียงของเมื่อปี พ.ศ.๑๘๑๒ สร้างเมืองฝางเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๑๘๑๖ ได้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับพญางำเมือง และพ่อขุนรามคำแหงในปี พ.ศ.๑๘๓๐
            สาเหตุที่พญามังรายย้ายเมืองมาทางใต้ก็เนื่องจากกุบไลข่าน และกองทัพมองโกลที่ปราบปรามยึดครองน่านเจ้าได้ใน ปี พ.ศ.๑๗๙๖ ยึดครองฮานอยใน ปี พ.ศ.๑๘๐๐ ยึดครองยูนนานใน ปี พ.ศ.๑๘๐๓ และได้ดำเนินการปราบปรามกลุ่มชนต่าง ๆ ที่มีพรมแดนติดต่อกับยูนนาน โดยตีพุกามแตกใน ปี พ.ศ.๑๘๓๐ ซึ่งพญามังรายได้ให้ความช่วยเหลือกษัตริย์พุกามต่อต้านอำนาจมองโกลใน ปี พ.ศ.๑๘๓๒ ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๓๓ มองโกลได้ข่มขู่รัฐที่มิได้ยอมอ่อนน้อม
            ในปี พ.ศ.๑๘๓๕ กุบไลข่าน ให้แม่ทัพหมางหวู่ตูรูมิช ยกทัพมาตีปาไป่สีพู หรืออาณาจักรโยนก (เชียงราย) ของพญามังราย แต่ต้องเตรียมการนาน เพราะต้องปราบปรามรัฐต่าง ๆ ที่อยู่ตามเส้นทาง ต่อมาในปี พ.ศ.๑๘๓๗ กุบไลข่านสิ้นพระชนม์ ทำให้การรุกรานหยุดชะงัก
            การเตรียมการยึดแคว้นหริภุญชัยของพญามังราย ได้ส่งขุนฟ้ามาเป็นไส้ศึกโดยให้ขุนฟ้าไปพึ่งบารมีพญาญีบา เพื่อก่อความไม่สงบในเมืองหริภุญชัย เมื่อเห็นสถานการณ์คับขันก็ส่งข่าวให้พญามังรายยกกำลังไปตีเมืองหริภุญชัย
            พญามังรายยกกำลังจากเมืองเชียงรายไปตีเมืองหริภุญชัย ขุนฟ้ากราบทูลว่าควรแต่งกองทัพไปสู้รบหน่วงไว้แต่กลางทาง ให้พญาญีบาย้ายครอบครัวไปอยู่กับพญาเบิกราชโอรสที่เมืองเขลางค์เพื่อความปลอดภัย ส่วนขุนฟ้าขออาสารักษาเมืองหริภุญชัยเอง
            เมื่อพญาญีบาหนีออกจากเมืองไป ชาวเมืองก็พากันแตกตื่นคุมกันไม่ติด กองทัพพญามังรายก็เข้าเมืองหริภุญชัยได้โดยง่าย แล้วได้ไฟเผาบ้านเมือง ยกเว้นหอพระแก้วขาว (พระเสตังคมณี) ที่อยู่ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัยเพลิงไม่ไหม้
            พญามังรายยึดครองเมืองหริภุญชัยได้ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๕ ได้ประทับอยู่ที่เมืองนี้สองปี จึงมอบเมืองให้ขุนฟ้าปกครอง ส่วนพญาเม็งรายไปสร้างเวียงกุมกาม เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๗ เพื่อใช้เป็นฐานในการสร้างเมืองเชียงใหม่ เพื่อดูท่าทีของมองโกล จากนั้นได้ไปสร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๙ เป็นศูนย์กลางอาณาจักรล้านนา โดยการผนวกแคว้นโยนก และแคว้นหริภุญชัยเข้าด้วยกัน
            นับตั้งแต่พระนางจามเทวีสืบต่อมาถึงพญาญีบา ตามตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่ามีกษัตริย์ ๕๐ พระองค์ เป็นระยะเวลา ๖๓๑ ปี แต่พงศาวดารโยนกกล่าวว่ามี ๔๗ พระองค์ เป็นระยะเวลา ๖๑๘ ปี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์