|
จังหวัดนครนายก
จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ
ประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑,๓๒๖,๐๐๐ไร่
ประมาณร้อยละ ๐.๔๓ ของพื้นที่ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง
จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองปราจีนบุรี และอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทรา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอธัญบุรี อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี และอำเภอวิหารแดงจังหวัดสระบุรี
ภูมิประเทศ
ภูมิประเทศประกอบด้วยพื้นที่ภูเขา พื้นที่ลาดเขาและพื้นที่ราบ
พื้นที่ภูเขา
ครอบคลุมพื้นที่บริเวณตอนเหนือของจังหวัด มีพื้นที่ประมาณหนึ่งในสามของพื้นที่จังหวัด ลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาดงพญาเย็น
พื้นที่ภูเขาส่วนใหญ่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีระดับความสูงตั้งแต่
๑,๐๐๐ - ๔๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล มียอดเขาเขียวเป็นยอดเขาสูงสุดประมาณ๑,๓๕๑
เมตร ยอดเขาเหล่านั้นจัดเป็นสันปันน้ำ และเส้นแบ่งเขตจังหวัดนครนายกกับจังหวัดปราจีนบุรีจังหวัดนครราชสีมา
และจังหวัดสระบุรี ระหว่างเทือกเขามีพื้นที่หุบเขาแคบ ๆขนานไปกับแนวภูเขา
และมีทางน้ำไหลผ่าน
พื้นที่ลาดเขา
เป็นพื้นที่บริเวณแคบ ๆ อยู่ทางด้านหน้าของพื้นที่ภูเขาในแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้มีความลาดเอียงประมาณ
๕ - ๑๐ องศา มีความสูงประมาณ ๔๐ - ๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล
พื้นที่ราบ
เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด มีลักษณะราบเรียบแผ่เป็นบริเวณกว้างอยู่ทางตอนใต้ และตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด
เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง หรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูง
๕ - ๒ เมตร จากระดับน้ำทะเล
ทรัพยากร
ทรัพยากรดิน
จำแนกลักษณะของดินตามความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ ห้าประเภทคือ
ดินนาข้าวในเขตชลประทาน
เป็นดินที่ราบน้ำทะเลเคยท่วม เกิดจากตะกอนน้ำกร่อย ดินลึก ดินเหนียว การระบายน้ำค่อนข้างเลวความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
พบทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นพื้นที่ประมาณ ๑,๐๗๐ตารางกิโลเมตร ดินบริเวณนี้มีปฏิกิริยาเป็นกรดแก่
หรือกรดจัดมาก ประมาณ ๙๗๐ตารางกิโลเมตร
ดินนาข้าวในเขตน้ำฝน
เป็นดินบนที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ดินบนลานตะพักลำน้ำ ระดับสูงจนถึงดินเชิงเขาดินลึกดินเหนียวถึงดินร่วน
การระบายน้ำดีถึงปานกลางความอุดมสมบูรณ์ต่ำจนถึงปานกลาง พบบริเวณตอนกลางของจังหวัด
เป็นพื้นที่ประมาณ๓๓๕ ตารางกิโลเมตร
ดินพืชไร่ไม้ผลยืนต้น
ประกอบด้วยดินบนที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ดินบนลานตะพักลำน้ำ ระดับสูงจนถึงดินเชิงเขาดินลึก
ดินเหนียวถึงดินร่วน การระบายน้ำได้ดีหรือปานกลาง ความอุดมสมบูรณ์ต่ำถึงปานกลางพบในที่สูงขึ้นไปถัดจากดินนาข้าวในเขตน้ำฝน
เป็นบริเวณเล็ก ๆ มีพื้นที่ประมาณ๗๐ ตารางกิโลเมตร
ดินภูเขา ได้แก่บริเวณภูเขา
มีความลาดชันสูงมาก ส่วนใหญ่เป็นดินชื้นหรือลึกปานกลาง ไม่เหมาะแก่การเกษตรกรรมมีพื้นที่ประมาณ
๖๔๐ ตารางกิโลเมตร
ดินผิวน้ำ
ได้แก่ บริเวณที่เป็นทางน้ำ อ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่ประมาณ ๖ ตารางกิโลเมตร
จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ๘๓๗,๐๐๐
ไร่ จำแนกเป็นพื้นที่ทำนาข้าวประมาณ ๖๘๙,๐๐๐ไร่ พื้นที่ทำสวนผลไม้ประมาณ๙๘,๐๐๐
ไร่ พื้นที่การเกษตรอื่น ๆ ประมาณ ๔๙,๐๐๐ ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นป่าไม้ประมาณ๔๒๓,๐๐๐
ไร่ นอกจากนั้นเป็นพื้นที่ชุมชน และใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ประมาณ๖๖,๐๐๐ ไร่
ทรัพยากรน้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติของจังหวัด แบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ
แหล่งน้ำผิวดิน
มีแม่น้ำที่สำคัญอยู่สายเดียวคือ แม่น้ำนครนายก นอกนั้นเป็นแม่น้ำสายเล็กๆ
แม่น้ำนครนายก
มีต้นกำเนิดจากยอดเขาใหญ่ ไหลผ่านตัวเมืองนครนายก ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเขตอำเภอบ้านนา
และอำเภอองครักษ์ ไปบรรจบกับแม่น้ำบางปะกง ที่อำเภอบ้านสร้างจังหวัดปราจีนบุรี
มีความยาวประมาณ ๑๓๐ กิโลเมตร
แม่น้ำบางปลากด
เกิดจากลำน้ำเล็ก ๆ สองสายคือ ลำน้ำนอก และลำน้ำใน บริเวณอำเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรีไหลผ่านตำบลบางปลากด
ไปบรรจบแม่น้ำนครนายก ในเขตอำเภอองครักษ์ ในฤดูแล้งมีปริมาณน้ำน้อย
คลองบ้านนา มีต้นกำเนิดจากภูเขาติดต่อกับเขาใหญ่
ในเขตอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ไหลจากทิศเหนือลงไปทิศใต้ไปบรรจบแม่น้ำนครนายก
ในเขตอำเภอบ้านนา มีความยาวประมาณ ๕๗ กิโลเมตร
คลองวังบอน คลองยาว คลองปากพลี
มีต้นกำเนิดจากเขาสมอปูน ไหลจากทิศเหนือลงใต้ ผ่านเขตอำเภอปากพลี แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำปราจีนบุรี
ลำน้ำสาขาของแม่น้ำนครนายก
มีต้นกำเนิดส่วนใหญ่อยู่ในเทือกเขาใหญ่ เป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำนครนายก ลำน้ำสาขาที่สำคัญได้แก่คลองนางรอง
คลองตะเคียน คลองท่าด่าน และคลองมะเดื่อ เป็นต้น
คลองอื่น ๆ มีคลองท่าแดง
คลองสมอปูน และคลองพรหมมณี เป็นคลองที่มีปริมาณน้ำไม่มาก และตื้นเขินในฤดูแล้ง
แหล่งน้ำชลประทาน
ประกอบด้วยโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำนครนายกซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ
แหล่งน้ำใต้ดิน
หรือแหล่งน้ำบาดาล มีคุณภาพของน้ำผันแปรไปตามลักษณะของชั้นหินอุ้มน้ำและการแทรกดันของน้ำเค็ม
เข้าไปตามแม่น้ำลำคลอง จำแนกคุณภาพน้ำบาดาลได้สามบริเวณคือ
บริเวณน้ำบาดาลที่สามารถบริโภคได้
พบทางตอนเหนือของอำเภอองครักษ์
บริเวณน้ำบาดาลที่อนุโลมให้บริโภคได้
พบตามพื้นที่รอยต่อระหว่างบริเวณน้ำบาดาล น้ำบาดาลที่บริโภคได้ กับบริเวณน้ำบาดาลที่บริโภคไม่ได้
บริเวณน้ำบาดาลที่ไม่เหมาะในการบริโภค
พบตามที่ราบลุ่มตอนใต้ของอำเภอเมือง ฯ และอำเภอปากพลี ยกเว้นในเขตดงละคร
ทรัพยากรป่าไม้
จังหวัดนครนายก มีพื้นที่ป่าไม้ตามนัยกฎหมายอยู่ประมาณ ๔๒๓,๐๐๐ ไร่ ประกอบด้วย ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประมาณ
๓๔๓,๐๐๐ ไร่ ป่าไม้ตามมติคณะรัฐมนตรีประมาณ ๑๘,๐๐๐ ไร่ ป่าไม้เป็นภูเขาหย่อมเล็กหย่อมน้อยประมาณ๑๑,๐๐๐
ไร่ และพื้นที่ป่าไม้บริเวณเขาชะโงก ที่ใช้ในราชการกระทรวงกลาโหม ประมาณ๕๒,๐๐๐
ไร่
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศประกอบด้วยป่าดงดิบเขา
ป่าดงดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด
ประชากร
กลุ่มชน
ส่วนมากเป็นคนเชื้อชาติไทย นอกนั้นเป็นคนเชื้อสาย ลาว มอญ ไทยอิสลาม และจีนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนกัน
คนไทย
เป็นคนไทยที่สืบเชื้อสายมาจากไพร่หลวงสังกัดกองข้าว เนื่องจากมีกองข้าวอยู่ที่จังหวัดนครนายกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
คนไทยเชื้อสายลาว
เป็นกลุ่มชนที่ถูกกวาดต้อนมาจากประเทศลาว ในสมัยกรุงธนบุรี เป็นพวกลาวเวียงและในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นพวกลาวพวน ตั้งหลักแหล่งอยู่ในตำบลหนองแสงตำบลเกาะหวาย ตำบลท่าเรือ และตำบลเกาะโพธิ์
อำเภอปากพลี และวัดใหญ่ทักขิณารามตำบลบ้านใหญ่ อำเภอเมือง ฯ
คนไทยเชื้อสายมอญ เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาในช่วงต้นของกรุงรัตนโกสินทร์
อยู่ในตำบลท่าทราย อำเภอเมืองฯ บางส่วนอยู่ในเขตอำเภอบ้านนา และตำบลชุมพล
อำเภอองครักษ์
คนไทยอิสาม
เป็นกลุ่มที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองปัตตานี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอยู่ในเขตอำเภอองครักษ์
และอำเภอบ้านนา
คนจีนอพยพ
เป็นกลุ่มชนที่เข้ามาประกอบอาชีพในสมัยกรุงธนบุรี และต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นคนจีนแต้จิ๋ว
ที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เป็นจำนวนมาก
|
|