มรดกทางวัฒนธรรม
จังหวัดนครนายก เป็นเมืองที่มีกลุ่มชนอาศัยสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุอยู่เป็นจำนวนมาก
โบราณสถานและโบราณวัตถุ
โบราณสถานที่ได้ศึกษา และขุดค้นแล้วมีดังนี้
โบราณสถานดงละคร
อยู่ในตำบลดงละคร อำเภอเมือง ฯ กรมศิลปากรได้ศึกษา และขุดค้นหลักฐาน เป็นกลุ่มโบราณสถานบนเกาะรอบนอกดงละคร
ทางทิศตะวันตก เป็นที่ประกอบพิธีกรรมศาสนาพุทธ มีหินทรายขนาด ๐.๕๐ ๑.๕๐
เมตร ปักเป็นเขตลักษณะใบเสมาพิธีการ เป็นเครื่องหมายของโบสถ์ในภายหลัง
กลุ่มใบเสมาที่เกาะทางทิศตะวันตกของดงละครเป็นหินทรายสีขาวขนาดใหญ่ตกแต่งขอบมุมเล็กน้อย
ที่น่าสนใจคือ การใช้หินทรายเป็นตัวกำหนดเขตพุทธาวาส ในการทำสังฆกรรม ซึ่งไม่ค่อยพบในกลุ่มเมืองโบราณในภาคกลางของประเทศไทย
สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ทำด้วยอิฐและศิลาแลง
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ต่อมาในปี
พ.ศ.๒๕๓๖ ได้ขุดค้นพบโบราณสถานอีกสามแห่งคือ
โบราณสถานด้านทิศใต้
ถูกทำลายไปจนหมดสภาพ
โบราณสถานด้านทิศตะวันออก (หมายเลข ๑ )
ตั้งอยู่นอกคันคูเมืองด้านทิศเหนือ ลักษณะเป็นกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบ พื้นที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
มีพื้นที่ประมาณ ๑,๓๘๐ ตารางเมตร ภายในมีร่องรอยแท่นตั้งรูปเคารพ สันนิษฐานว่า
กำแพงนี้เป็นกำแพงแก้วล้อมรอบศาสนสถาน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจสร้างด้วยไม้ หลักฐานที่แสดงว่าเป็นพุทธศาสนาคือ
เศียรพระพุทธรูปและแผ่นทองคำ อันอาจเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมในศาสนสถาน
โบราณสถานหมายเลข ๒
ตั้งอยู่ห่างจากโบราณสถานหมายเลข ๑ ด้านตะวันออกประมาณ ๑๕ เมตร ลักษณะเป็นกรอบศิลาทองรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ล้อมรอบเนื้อที่ประมาณ ๔ ตารางเมตร ลักษณะคล้ายฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
สันนิษฐานว่า เป็นศาสนสถานในสมัยแรก ๆ ได้แก่ พุทธศาสนสถานที่สระมรกต จังหวัดปราจีนบุรี
ตรงกลางของกรอบศิลาแลงพบแท่งศิลารูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ ข้างในกลวงภายในบรรจุตุ้มหู
แหวน หัวแหวน ตราประทับ และชิ้นส่วนกำไลสำริด รอบ ๆ แท่งศิลาแลงขุดพบลูกปัดหิน
และลูกปัดแก้วจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปดินเผา ตลอดจนเครื่องมือเหล็กจำนวนหนึ่ง
โบราณสถานวัดอัมพวัน
เดิมเป็นวัดร้างสมัยอยุธยา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีนโยบายขุดคลองรังสิต บริษัทขุดคลองแลคูนาสยาม ได้ทำสัญญากับรัฐบาล โดยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินสองฝั่งคลองรังสิต
จึงได้ขายให้แก่คหบดี และเชื้อพระวงศ์ หม่อมราชวงศ์จำรัส อิศรางกูร ได้ซื้อที่ดินแล้วสร้างวัดอัมพวันที่มีอุโบสถงดงาม
เป็นฝีมือช่างหลวง มีเจดีย์ราย หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ธรรมาสน์และกุฎิเรือนแพ
โบราณสถานวัดใหญ่ทักขิณาราม
เดิมชื่อวัดบ้านใหญ่ลาว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อตำบลบ้านใหญ่ลาว
เป็นตำบลบ้านใหญ่ จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดด้วย
บริเวณดังกล่าวเป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวลาวเวียงจันทน์ ที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนและสร้างวัดบ้านใหญ่ลาวขึ้น
ปัจจุบันเหลือแต่โบสถ์เท่านั้น ที่แสดงถึงชุมชนโบราณแห่งหนึ่ง
แหล่งโบราณคดี
จังหวัดนครนายก มีแหล่งโบราณคดีที่สำรวจพบจนถึงปี พ.ศ.๒๕๓๕ มีอยู่ ๓๗ แห่ง
และต่อมาได้สำรวจพบเพิ่มเติมอีกหนึ่งแห่งดังนี้
แหล่งโบราณคดีที่ตำบลสาริกา
อำเภอเมือง ฯ มีอยู่หกแห่งด้วยกันคือ
บ้านวังดอกไม้
พบเศษภาชนะดินเผา และพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
บ้านพราหมณี
พบเศษภาชนะดินเผา และพระพุทธรูปสมัยอยุธยา
บ้านโพธิงาม
พบกระดูกอยู่ในไหสมัยอยุธยา
บ้านดง
พบกระดูกคนโบราณ และซากวัดเก่าสมัยอยุธยาอยู่บนเขา
บ้านใหม่
พบเศษภาชนะดินเผาสมัยอยุธยา
บ้านกุครังใน
พบหม้อบรรจุกระดูกสมัยอยุธยา เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และพอชเลน
แหล่งโบราณคดีที่ตำบลดงละคร
อำเภอเมือง ฯ มีอยู่หกแห่งด้วยกันคือ
บ้านหินสามก้อน
พบภาชนะดินเผาพวกหม้อ กระปุก เศษภาชนะดินเผา แท่นบดยา ก้อนศิลาแลง และหินทรายสามก้อน
ลูกปัดแก้วสมัยทวารวดี
บ้านดงละคร
พบกระดิ่งสำริด สมัยทวารวดี
บ้านคลองโพธิ
พบหินบดยา กระปุก เบญจรงค์ลายเทพพนม สมัยทวารวดี และอยุธยา
บ้านหนองปรือ
พบแนวอิฐเป็นรูปวงกลมอยู่ทางเหนือของตัวเมืองดงละคร เศษภาชนะดินเผาจำนวนมาก
และเครื่องถ้วยจีนสมัยทวารวดี
บ้านใต้วัด
พบแท่นหินบดยา กระปุกจากเตาบ้านกรวดสมัยทวารวดี และไหปากกว้างสมัยอยุธยา
บ้านลำผักบุ้ง
พบเศษโบราณวัตถุประเภทไหสี่หูเคลือบสีน้ำตาล กระปุกเคลือบใส มีตัวอักษรจีนกำกับ
สมัยอยุธยา
แหล่งโบราณคดีที่ตำบลเขาพระ
อำเภอเมือง ฯ มีอยู่สองแห่งคือ
บ้านกุดตะเคียน
พบเศษภาชนะดินเผาลายขูดขีด สมัยอยุธยา
บ้านกระชาย
พบเศษหม้อแตกสมัยอยุธยา
แหล่งโบราณคดีที่ตำบลเขาหินตั้ง
อำเภอเมือง ฯ มีอยู่หนึ่งแห่งคือ
บ้านคลองสีเสียด
พบภาชนะดินเผาประเภทหม้อ และชามสมัยอยุธยา
แหล่งโบราณคดีในอำเภอปากพลี
มีอยู่ห้าแห่งด้วยกันคือ
บ้านขุนข้าว
ตำบลหนองแสง พบเนินดิน และโบราณวัตถุได้แก่ หินลับมีด กระปุกสีดำ เศษภาชนะดินเผาพร้อมกับกระดูกคน
บริเวณกุฎิวัดสมัยอยุธยา
บ้านเล่าทุ่ง
ตำบลโคกกรวด พบซากเจดีย์เก่าหนึ่งองค์ เป็นเจดีย์บัวคว่ำ และมีเนินดินรูปสี่เหลี่ยม
ขนาด ๑๐๐x๑๐๐ เมตร สมัยอยุธยา
วัดเกาะกา
ตำบลท่าเรือ พบเศษภาชนะดินเผาบนเนิน สมันรัตนโกสินทร์
วัดใหม่โคกสำโรงสามัคคีธรรม
บ้านโคกสำโรง ตำบลท่าเรือ พบหม้อทนไฟสมัยรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่าเป็นหม้อใส่รกเด็ก
บ้านโคกกระโดน
ตำบลปากพลี พบโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผา เช่น เศษเครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน
ตราประทับดินเผา เศษเครื่องถ้วยสีฟ้าเป็นเครื่องถ้วยเปอร์เซีย
แหล่งโบราณคดีในอำเภอบ้านนา
มีอยู่หกแห่งด้วยกันคือ
วัดหนองกันจาม
ตำบลบ้านพริก พบเสาหงส์ ซุ้มเรือนแก้วสำหรับครอบพระพุทธรูป ตู้พระธรรม หีบพระธรรม
พระพุทธรูป เครื่องถ้วยเบญจรงค์ เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยพม่า
วัดทองจรรยา
บ้านปากลาด ตำบลบ้านนา พบโบราณวัตถุอยู่เป็นกลุ่มในทุ่งนา เช่น ขวานหินขัด
และเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
วัดช้าง
ตำบลบ้านนา เมื่อรื้อโบสถ์เก่าพบพระพุทธรูปทรงเครื่อง ประมาณ ๑๐๐ องค์ มีทั้งทำจากไม้และทองเหลือง
สมัยอยุธยา - รัตนโกสินทร์
วัดทองย้อย
ตำบลบ้านนา เป็นวัดเก่าสมัยอยุธยาตอนกลาง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๒๗ ปัจจุบันสภาพโบสถ์ยังเป็นของเดิม
โบราณวัตถุคือ รอยพระพุทธบาทซ้อนกันสี่รอย
วัดป่า
บ้านสระโบสถ์ ตำบลอาษา สภาพปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐของวิหารและโบสถ์เก่า อยู่ห่างกันประมาณ
๒๐ เมตร บริเวณโบสถ์มีชิ้นส่วนหินทรายสีขาว (ชิ้นส่วนพระพุทธรูป) ชิ้นใหญ่มาก
๔ - ๕ ชิ้น อยู่กระจัดกระจาย มีซากอิฐปรากฎชัดเจน บริเวณที่เป็นวิหารมีซากอิฐปรากฎอบู่ชัดเจนเช่นกัน
วัดวิหารขาวเจติยาราม
ตำบลอาษา มีโบราณวัตถุสมัยรัตนโกสินทร์ที่เก็บไว้ได้แก่ แจกัน ขวดสีน้ำตาล
จานลายดอกไม้จากประเทศฮอลแลนด์ พาน โถ กาเคลือบสีเขียว ลูกกระพรวนเจาะรูตรงกลางสีดำ
กล้องยาสูบ และตะบันกรามช้าง
วัดพระโต
ตำบลอาษา เป็นวัดร้าง สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย พบซากอุโบสถเก่า ปรากฏร่องรอยพระพุทธรูปศิลาหักเกลื่อนบนแท่นพระประธาน
พบใบเสมาที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และชำรุด พบเศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ปัจจุบันมีการบรรจุพระพุทธรูปศิลาชำรุดไว้ที่พระประธาน
วัดกุฎีเตี้ย
บ้านสระโบสถ์ ตำบลอาษา พบพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยประทับบนฐานปัทม์รัศมีหายไป
จีวรตกแต่งลวดลาย ฐานเป็นบัวหงายซ้อนกัน
วัดเลขธรรมกิตต์
บ้านบางอ้อใหม่ ตำบลบางอ้อ พบโบสถ์เก่าและโบราณวัตถุในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เช่น ปิ่นโต โถเบญจรงค์ ชามเบญจรงค์ลายเทพนมพรรณพฤกษา เป็นต้น
วัดเกาะพิกุล
บ้านเกาะพิกุล ตำบลศรีกระอาง พบโครงกระดูกหนึ่งโครง บริเวณป่าช้าเก่าซึ่งเคยเป็นเพนียดช้างของกรมโขลงช้างกำแพงเพชร
สมัยรัตนโกสินทร์
วัดกระดาน
บ้านพิกุลแก้ว ตำบลพิกุลออก สร้างสมัยอยุธยา มีโบสถ์เก่าหนึ่งหลัง เดิมเป็นโบสถ์มหาอุด
ต่อมาดัดแปลงประตูทางเข้าทั้งหน้าและหลัง มีใบเสมาอยู่ด้านหน้า และด้านหลังของโบสถ์
ฐานโบสถ์แอ่นเป็นท้องเรือ พบไหจากแหล่งเตาบางปูหนึ่งใบในแม่น้ำบ้านนา
วัดบังบัว
บ้านดอนทราย ตำบลพิกุลออก มีพระประธานสมัยรัตนโกสินทร์ ศิลปะสุโขทัย ชื่อหลวงพ่อพระพุทธโรทัย
สร้างจากวัดสุทัศน์ ฯ นำมาประดิษฐานเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐
วัดบางอ้อใน
บ้านบางอ้อใน ตำบลบางอ้อ เป็นวัดเก่าสร้างมากว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันจึงมีการซ่อมแซมทั้งหลัง
มณฑปในวัดประดิษฐานรอยพระพุทธบาท
วัดแหลมไม้ย้อย
บ้านแหลมไม้ย้อย ตำบลพิกุลออก ไม่ทราบประวัติแน่นอน สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วกว่า
๑๐๐ ปี โบสถ์หลังเก่าสร้างหลังวัด ๒๐ ปี พระประธานสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕
บริเวณกรอบประตูตกแต่งลวดลายพรรณพฤกษา และลายหน้ากาล ด้านหน้าโบสถ์มีใบเสมาคู่อยู่ภายในซุ้ม
บ้านตะลุง
ตำบลพิกุลออก บริเวณบ้านเคยพบหม้อดินเผาสมัยอยุธยา สภาพเกือบสมบูรณ์ บรรจุกระดูก
และยังพบลูกแก้วสีขาว - แดง
บ้านห้วงสงคราม
ตำบลเขาเพิ่ม บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านเคยมีวัดร้าง พบเหรียญอัฐ ขันหิน เต่าทองแดง
ขณะขุดร่องสวน
บ่อทรายกุศลส่ง
บ้านไร่ ตำบลเขาเพิ่ม เคยพบขวานหินขัด บริเวณที่ดูดทรายระดับลึก ๑๐ เมตร ทั้งสองฝั่งคลองจากการสำรวจ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๘ พบโบราณวัตถุจากการดูดทรายที่คลองบ้านนาตั้งแต่บ้านเฮาเพิ่มถึงบ้านเนินสะอาด
หนองเคี่ยมพบขวานหินขัด ขวานสำริด ภาชนะเคลือบจีน อ่างเคลือบสีน้ำตาลด้านใน
ภาชนะดินเผาไม่คลือบพวกหม้อ ไห อ่าง แจกัน ไม่มีลวดลาย และเงินพดด้วงสองอันมีตรากงจักรประทับ
แหล่งโบราณคดีสำคัญ
คือ วัดหนองคันจาม เป็นวัดที่สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ เดิมเป็นเพียงสำนักสงฆ์
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ วิสุงคามสีมา
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในสมัยก่อน บริเวณดังกล่าวมีโขลงช้างป่าจำนวนมากเข้ามาอาศัยแหล่งน้ำบริเวณทุ่งหลังวัด
เนื่องจากมีหนองน้ำขนาดใหญ่ จึงมีการใช้บ่วงสำหรับดักช้างเรียกกันว่า คันจาม
เมื่อช้างลงกินน้ำที่หนองน้ำจะสะดุดคันจามที่ดักไว้ นอกจากนั้นยังมีพิธีคล้องช้างที่บริเวณหนองคันจาม
มีกรมโขลงช้างเป็นผู้ดูแล
แหล่งประวัติศาสตร์
นครนายกเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศตะวันออกในสมัยอยุธยาตอนต้น ในปี พ.ศ.๒๐๙๑
เมื่อไทยทำสงครามกับพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้รื้อกำแพงเมืองหน้าด่านออกทั้งสามเมืองคือ เมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี
และเมืองนครนายก เพื่อป้องกันพม่ามาใช้ประโยชน์
เมืองนครนายกมีความสำคัญในการป้องกันศึกทางด้านเขมร ในปี พ.ศ.๒๑๑๓ พระยาละแวกได้ยกทัพมาทางเมืองนครนายก
กรมการเมืองนครนายก ได้ส่งข่าวทัพเขมรมายังกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา
ทัพเขมรเข้ามาถึงชานพระนคร ได้ต่อสู้กับทัพชาวกรุงจนต้องล่าถอยกลับไป และได้กวาดต้อนครัวตำบลบ้านนาและนครนายกกลับไปเขมร
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๑๒๙ พระยาละแวกยกกำลังเข้ามาตีเมืองนครนายก แต่ทัพไทยได้ต่อต้านทัพเขมรแตกกลับไปทางด่านหนุมาน
ในปี พ.ศ.๒๑๓๕ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยานครนายก พระยาปราจีนบุรี
พระวิเศษ เมืองฉะเชิงเทรา และพระสระบุรี มีพระยานครนายกเป็นแม่กอง คุมพลหนึ่งหมื่นออกไปตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางถ่ายลำเลียงไว้ที่ตำบลทำนบ
(ตำบลท้ายน้ำ) เพื่อเป็นเสบียงในการเข้าตีเมืองละแวก และได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกทัพออกไปทางพระจารึก
ในปี พ.ศ.๒๓๐๙ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครั้งที่ยังเป็นพระยาวชิรปราการ
รวบรวมกำลังพลตีฝ่าวงล้อมพม่าที่กรุงศรีอยุธยาไปทางทิศตะวันออก ตามทางเมืองนครนายก
ไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไทยเริ่มมีสงครามทางด้านทิศตะวันออกของไทยคือ
ลาว เขมร และญวน โดยเฉพาะ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฎ
ฝ่ายไทยยกทัพไปปราบได้สำเร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๑ และได้โปรดเกล้าให้ครอบครัวเมืองเวียงจันทน์มาอยู่ที่เมืองลพบุรี
สระบุรี นครชัยศรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และนครนายก ในเขตอำเภอเมือง ฯ และอำเภอปากพลี
จึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีกลุ่มชาวเวียงจันทน์ และชาวพวนเป็นจำนวนมาก
ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๘๒ - ๒๓๙๐ เมืองนครนายกได้รับผลกระทบจากสงคราม เพราะเป็นเส้นทางผ่าน
เพื่อไปตีเขมรและญวน รวมทั้งการเกณฑ์กำลังพลเสบียงอาหาร และยุทธปัจจัยต่าง
ๆ ในสงคราม
บริเวณพื้นที่รอบเขาชะโงก
เขาฝาระมีและเขาทุเรียน อำเภอเมือง ฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในสงครามมหาอาเซียบูรพา
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งค่ายทหารคือทหารบกมาตั้งบริเวณเขาไม้รัง
เขาทุเรียน และเขาชะโงก ทหารเรือมาตั้งบริเวณเขาฝาระมี
ค่ายเชลยศึก
เป็นค่ายใหญ่อยู่บริเวณคลองสะท้อนใกล้เขาชะโงก มีเชลยศึกเป็นชาวอังกฤษ อเมริกัน
และฝรั่งเศส โดยมีหลุมฝังศพเชลยศึกอยู่บริเวณเขาฝาระมี
หลุมฝังศพทหารญี่ปุ่น
อยู่บริเวณบ้านโคกลำดวน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเขาชะโงก ประมาณ ๑ กิโลเมตร
ค่ายทหารญี่ปุ่น
บริเวณเขาชะโงก ได้มีการขุดบ่อน้ำไว้ใช้ มีจำนวนมากกว่าร้อยบ่อ เมื่อสงครามยุติ
ทหารญี่ปุ่นได้ฆ่าสัตว์พาหนะคือ ม้า ลา กับตัดอาวุธให้ใช้การไม่ได้ รวมทั้งยุทธปัจจัยต่าง
ๆ นำไปฝังไว้บริเวณเขาชะโงก
อนุสรณ์สถานทหารญี่ปุ่น
สร้างไว้บริเวณวัดพราหมณี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๒ ทุกปีบรรดาทหารญี่ปุ่นที่เคยมารบในครั้งนั้น
เดินทางมาคารวะอนุสรณ์สถานดังกล่าวเสมอ
ปัจจุบันญี่ปุ่นได้เข้ามาซื้อที่ดินบริเวณตำบลสาริกา ใกล้วังตะไคร้และนางรอง
เพื่อทำสนามกอล์ฟ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ และทำไร่กาแฟ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ และได้ทำหมู่บ้านคนชรา
บริเวณเขาคลองมะเดื่อ
เพนียดคล้องช้าง
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๕๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ได้มีเพนียดคล้องช้าง ในเขตอำเภอบ้านนา
อยู่ด้านหลังวัดไม้รวกในปัจจุบัน
ช้างนครนายกมีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตอำเภอบ้านนา มีเส้นทางการไล่ช้างป่าเข้าเพนียดคือ
องครักษ์ วัดอัมพวัน วัดทองหลาง คลอง ๓๐ - ๓๑ วัดวังบัว วัดหนองคันจาม วัดบ้านพริก
หนองกะเริง วัดช้าง บ้านนา (วัดทองย้อย) ป่าขะ (บ้านทุ่งกระโปรง) เขาเพนียด
การนำช้างเข้าเพนียด ต้องมีกลุ่มหัวหน้าโขลงช้าง เขตนครนายกได้แก่ พระกำแพง
หัวหน้าโขลงช้าง หมื่นสนิท บำรุงกิจ คชสาร หมื่นไอยรา หมื่นบริครุฑคชสาร ขุนคชเคนทร์
ขุนพิทักษ์คชยุทธ เป็นทหารประจำโขลงช้าง โดยเกณฑ์ชาวบ้าน
อายุ ๒๐ - ๒๕ ปี ถ้าไม่ไปเกณฑ์ต้องเสียเงิน ๖ บาทต่อปี ทหารจำนวน ๑๐๐ คน เมื่ออยู่ในกรมโขลงช้างแล้วลูกหลานต้องเป็นด้วย
เพนียด
ชาวบ้านเรียกว่า คอกช้าง
ทำด้วยเสาไม้ขนาดใหญ่อยู่บริเวณหลังวัดไม้รวก ตำบลป่าขะ นิยมไล่ช้างในเขตทุ่งดงละครและบ้านนา
ผ่านขึ้นไปตามเส้นทางดังกล่าวแล้ว ก่อนไล่ช้างจะบอกให้ชาวบ้านในบริเวณเส้นทางทราบล่วงหน้าเพื่อจะได้หลบขึ้นไปอยู่บนก่อไผ่
(ทำแคร่ไขว้) ช้างที่นำมาใช้ ไล่ช้างป่า บนหลังช้างจะมีควาญสามคนถือหอกคอยแทงไล่ช้างป่า
ช้างป่าที่มีลักษณะดีจะถูกไล่เข้าเพนียดแล้วเอาบ่วงคล้องเพื่อฝึกหัด โดยมัดงาและขา
เมื่อเชื่องแล้วจะนำเข้าตลุงกลางเพนียด โขลงช้างป่ามีทั้งช้างที่มีงา และไม่มีงาและช้างสีดอ
ส่วนใหญ่จะคล้องโขลงละสองเชือก ที่เหลือจะปล่อยกลับไปดงละคร
การฝึกช้างในยามสงคราม
ฝึกโดยใช้ผ้าชุบน้ำมันจุดไฟ จุดประทัดแล้วให้ช้างอมน้ำพ่นไฟ เพื่อเข้าสงคราม
เมื่อฝึกแล้วจึงนำไปอยุธยา โดยเดินทางผ่านอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรีและอำเภอวังน้อย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การฝึกช้างทำกันปีละสอง - สามเดือนในฤดูแล้ง และการไล่ช้างป่าทำกันประมาณสามปีต่อครั้ง
ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาวบ้านเริ่มอพยพเข้าไปอาศัยในบริเวณดังกล่าวมากขึ้นจึงให้เลิกไล่ช้างป่า
และต่อมาเมื่อมีการสร้างทางรถไฟผ่าน จึงได้ให้ไล่ช้างป่าเข้าไปอยู่ในเขตอุทยาน
ฯ เขาใหญ่
|