จิตรกรรม
ผลงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาเก่าที่ค้นพบเหลืออยู่เพียง ๒ แห่ง ที่อำเภอนครชัยศรี
ได้แก่
จิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถที่วัดบางพระ
ฝาผนังด้านหน้าพระประธานเขียนภาพพุทธประวัติตอนผจญมาร
มีรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในปางมารวิชัย เบื้อล่างมีรูปแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม
ด้านข้างซ้ายขวามีกองทัพมารปรากฎอยู่ ฝาผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิ
มีรูปวิมานบนยอดเขา ภาพส่วนใหญ่เสียหายมาก ฝาผนังด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน พื้นที่ตอนล่างระหว่างช่องหน้าต่างในแต่ละช่อง
เขียนภาพเกี่ยวกับชาดกในทศชาติ
เหนือกรอบหน้าต่างขึ้นไป แบ่งพื้นที่ทั้งหมดออกเป็น ๓ แถว แถบบนสุดเป็นรูปบุคคลนั่งพนมมือ
นั่งอยู่ห่างกันพองาม หันหน้าไปทางผนังด้านหน้าพระประโทนทั้งสามแถว แถวที่
๒ เป็นรูปเทวดานั่งพนมมือ สลับกับคั่นด้วยพัดยศ และรูปยักษ์วางสลับไปโดยตลอด
แถวล่างสุดเป็นรูปพระสาวกนั่งพนมมือ หันหน้าเข้าหาอดีตพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับนั่งอยู่ตรงกลาง
อีกด้านหนึ่งก็มีพระสาวกหันหน้าเข้าหาเช่นเดียวกัน ถัดออกไปเป็นรูปพัดยศ หรือพุ่มวางสลับไว้ตลอดแถว
ภาพโดยรวมใช้สีแดง ดำ ขาว และเขียวใบไม้แก่เล็กน้อย พื้นฝาผนังส่วนใหญ่มีสีค่อนข้างอ่อน
เช่น สีชมพู พระพุทธรูปปางมารวิชัย มีพระหัตถ์ยาวมาก พระหัตถ์ขวาแตะพื้นธรณี
ซึ่งเป็นคติรุ่นเก่า จีวรสีแดงคล่ำ เป็นศิลปะสมัยอยุธยา แต่บางแห่งเป็นสมัยรัตนโกสินทร์
จิตรกรรมภาพในอุโบสถวัดศรีมหาโพธิ
อยู่ในเขตอำเภอนครชัยศรี เขียนรูปดาวบนเพดานโบสถ์ด้วยเส้นรงค์ (สีเหลือง)
บนพื้นสีแดง ดูงามมาก เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายช่วงต้น
จิตรกรรมอื่น ๆ
ได้แก่ จิตรกรรมตกแต่งด้วยลวดลายไทยปิดทอง รดน้ำ บนหีบพระธรรม หรือหีบใส่เสื้อผ้าขุนนางในสมัยก่อน
คติการเขียนภาพสัตว์หินพานต์ หันหน้าเข้าหากัน กรอบภาพและลวดลายเป็นฝีมือช่างพื้นบ้านสมัยอยุธยา
จิตรกรรมสมุดข่อย เป็นภาพเขียนสีพหุรงค์ (หลายสี) ภาพพุทธประวัติสมัยอยุธยาตอนปลาย
จิตรกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
จิตรกรรมด้านนอกของอุโบสถวัดไทร อำเภอนครชัยศรี มีภาพเขียนบนผนังปูนเปียก
เป็นรูปไก่ฟ้า ฝีมือช่างชาวจีน สันนิษฐานว่า เขียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
จิตรกรรมตกแต่งด้วยลวดลายไทยปิดทองรดน้ำบนตู้พระธรรม หรือตู้ไทยโบราณ ซึ่งใช้เก็บคัมภีร์
ฝีมือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พบเป็นจำนวนมากเช่น ที่พิพิธภัณฑ์วัดกลางบางแก้ว
วัดสรรเพชญ์ และวัดทรงคะนอง เป็นต้น
จิตรกรรมลายเส้นหมึกดำ ปรากฏอยู่บนสมุดข่อยโบราณ เป็นภาพยักษ์ พระพุทธเจ้า
พระสาวก เทวดา นางฟ้า และภาพร่างขนาดเล็ก เรื่องพุทธประวัติตอน เสด็จออกภิเนษกรม์
จิตรกรรมภาเขียนสีพหุรงค์ บนหนังสือสวดพระมาลัย และสมุดข่อยภาพสิบสองนักษัตร
ที่พิพิธภัณฑ์พุทธวิถีนายก (วัดกลางบางแก้ว) และบนหนังสือสวดพระมาลัย ที่วัดคะนอง
วาดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๕
ภาษาและวรรณกรรม
จารึกสมัยทวารวดี
จารึกเย ธมฺมา ฯ ๑
อยู่ที่ระเบียงด้านขวาขององค์พระปฐมเจดีย์ เป็นจารึกบนศิลาด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษาบาลี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ คำที่จารึกคือ
คำจารึก เย (ธมฺมา เหจุปภ) วา เตสํ
เหตุํ ตถาตโต อาห
เต (สญจุโย นิโรโธ จ เอ) วํ วาที มหาสมโณ
คำแปล ธรรมเหล่าใดมีเหตุแตนเกิน พระตถาคตตรัสเหตุ
และความดับแห่งธรรมเหล่านั้ พระมหาสมณมีปรกติตรัสอย่างนี้
จารึก เย ธมฺมา ๒
เป็นจารึกบนสถูปศิลาสีเขียว ทรงบาตรคว่ำ อักษรจารึกอยู่ที่หอระฆัง พบที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์
จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาบาลี จำนวนหนึ่งบรรทัด ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
จารึก เย ธมฺมา ๓
เป็นจารึกศิลาสี่เหลี่ยม พบที่ศาลเจ้าพระอุโบสถข้างองค์พระปฐมเจดีย์ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษาบาลี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒
จารึก เย ธมฺมา ๔
เป็นจารึบนแม่หินบด จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาบาลี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ
จารึก เย ธมฺมา ๕
เป็นจารึกบนแม่หินบด จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาบาลี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒
ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดวชิรญาณ หอสมุดแห่งชาติพระนคร
จารึก เย ธมฺมา
ที่ศาลเจ้า เป็นจารึกบนแผ่นศิลา ที่บริเวณสถูป ใกล้องค์พระปฐมเจดีย์
จารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาบาลี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒
จารึกธรรมจักร
เป็นจารึกบนศิลาธรรมจักร พบที่วัดเสน่หา (ร้าง) จารึกด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษาบาลี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่ทรงแสดงไว้สี่อย่าง คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค รวม ๒๔ บรรทัด ตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
จารึกบนฐานรองพระธรรมจักร
ศิลาฐานรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีช่องสำหรับสวมวงล้อธรรมจักร พบที่ตำบลทุ่งขวาง
อำเภอกำแพงแสน จารึกอักษรปัลลวะ เป็นภาบาลี ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
จารึกวัดโพธิร้าง
เป็นจารึกบนหินชนวน แตกออกเป็น ๒ ชิ้น พบที่วัดโพธิร้าง อำเภอเมือง ฯ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษามอญโบราณ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
จารึกบนเหรียญเงิน
เป็นจารึกบนเหรียญรูปกลมแบน ด้านหนึ่งมีอักษรจารึก อีกด้านเป็นรูปภาพ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษาสันสกฤต ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ปัจจุบันแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร
คำจารึก
ศฺรทฺวารวดี ศฺวรปุณฺยะ
คำแปล
พระเจ้าศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ
จารึกสมัยสุโขทัย
จารึกพ่อขุนรามพล จารึกบนเสาศิลา ๕ เหลี่ยม ด้วยตัวอักษรสมัยสุโขทัย
มีเนื้อหาเกี่บวกับเรื่องการทำบุญ ปัจจุบันแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์
จารึกสมัยอยุธยา
จารึกบนแผ่นอิฐมอญ จำนวน ๓ ชิ้น พบที่ฝาผนังอุโบสถวัดท่าพูด อำเภอสามพราน
จารึกด้วยอักษรไทย เป็นภาษาไทยสมัยอยุธยา
จารึกสมัยรัตนโกสินทร์
จารึกสมัยรัตนโกสินทร์ อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น จารึกบนระฆังในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่วัดท่าพูด เนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมกันหล่อระฆังใบนี้ สำหรับจารึกที่เป็นของหลวงได้แก่
จารึกที่ฝาผนังระเบียงคตทั้ง ๔ ด้าน
เป็นจารึกคาถาธรรม ซึ่งสันนิษฐานว่า เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๘ หรือก่อนหน้านั้น
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มาเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นจารึกด้วยอักษรขอมย่อ
จารึกนี้เริ่มตั้งแต่วิหารตะวันออก หรือวิหารหลวงไปวิหารใต้ จำนวน ๓๐ ห้อง
จากวิหารใต้ไปวิหารตะวันตกจำนวน ๓๐ ห้อง จากวิหารตะวันตกไปวิหารเหนือ หรือวิหารพระร่วงจำนวน
๓๐ ห้อง และจากวิหารเหนือถึงวิหารตะวันออกจำนวน ๓๐ ห้อง รวม ๑๒๐ ห้อง การจารึกเวียนขวาเช่นนี้เรียกว่า
จารึกเป็นแบบทักษิณาวรรต
เนื้อหาที่จารึก มีดังนี้ ห้องที่ ๑ บรรทัดที่ ๑ - ๖ เป็นคาถาสรรเสริญพระพุทธคุณ
และเหตุผลที่จารึกคาถาธรรมไว้ บันทัดที่ ๗ - ๑๒ เป็นคาถาธรรมบท
- ห้องที่ ๒ - ๖๖ เป็นคาถาธรรมบททั้งหมด
- ห้องที่ ๖๗ - ๙๖ เป็นอัฐวรรคคาถา
- ห้องที่ ๙๗ - ๑๑๕ เป็นปารายนวรรคคาถา
- ห้องที่ ๑๑๖ - ๑๒๐ เป็นปกิณกคาถา
อีกแห่งหนึ่งคือ จารึกบนแผ่นศิลาที่อยู่ใต้พระพุทธไสยาสน์ จารึกด้วยตัวอักษรไทย
คำใดที่เป็นภาษาบาลี ก็จารึกด้วยอักษรขอม เนื้อหาเป็นพระบรมราชาธิบายของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงอธิบายถึงคาถาแสดง พระอริยสัจสี่ที่ปรากฏอยู่เหนือพระพุทธไสยาสน์นั้น
จารึกที่หอระฆัง
ระหว่างวิหารทิศ ๔ ช่วง บริเวณรอบนอกองค์พระปฐมเจดีย์ มีหอระฆังรายรอบอยู่ทุกช่วง
ๆ ละ ๖ หอ มีแผ่นศิลาจารึกพระนาม และนามของผู้บริจาคเงินติดไว้บนซุ้มหอระฆังด้านหน้า
เสาหอระฆังด้านในทุกเสาทุกหอมีแผ่นศิลาจารึกอยู่หนึ่งแผ่น ทุกแผ่นจารึกข้อความไว้หกบรรทัด
สองบรรทัดแรกจารึกเป็นภาษาบาลี สี่บันทัดหลังจารึกคำแปลเป็นภาษาไทย หอระฆังทุกหอจารึกแผ่นศิลาสามแผ่น
ส่วนบนจารึกด้วยอักษรขอมเป็นภาษาบาลี ส่วนข้างล่างจารึกเป็นโคลงสี่สุภาพ แผ่นที่สี่เป็นอักษรมอญ
อักษรธรรมอีสาน ข้อความที่จารึกสามแผ่นแรก ไม่เหมือนกัน เนื้อหากล่าวถึงการขอบูชาพระพุทธเจ้าด้วยเสียงระฆัง
อันจะนำไปสู่พระนิพพาน
ตำนาน
ตานานที่ปรากฏในจังหวัดนครปฐม เป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาก่อน เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาพระปฐมเจดีย์
และพระประโทนเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์สำคัญคู่บ้านคู่เมือง และสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระปฐมเจดีย์
เช่น ดอนยายหอม ธรรมศาลา และสถานที่สำคัญอื่น ๆ เช่น กำแพงแสน และทัพหลวง
นอกจากนั้นยังมีตำนานพระพุทธรูปสำคัญคือ หลวงพ่อวัดไร่ขิง และความเป็นมาของอำเภอสามพราน
เป็นต้น
ตำนานพระปฐมเจดีย์เรื่องพระยากง พระยาพาน
ตำนานพระปฐมเจดีย์กล่าวไว้ว่า พระยากงได้ครองเมืองศรีวิชัย หรือนครชัยศรีต่อจากท้าวสิการาช
พระบิดาที่สวรรคต พระมเหสีประสูติกุมารองค์หนึ่ง โหรทำนายว่า กุมารมีบุญญาธิการมากแต่จะทำปิตุฆาต
พระยากงจึงให้นำกุมารไปทิ้งเสีย ราชบุรุษก็นำกุมารไปทิ้งไว้ในป่าไผ่ข้างบ้านยายพรหม
ยายพรหมพบเข้าก็นำกุมารไปเลี้ยงไว้ ต่อมามอบกุมารให้ครอบครัวยายหอม ซึ่งเป็นญาติแต่ไม่มีบุตรเป็นผู้เลี้ยงดู
จนกุมารเติบโตใหญ่ จึงได้ขอลายายหอม ขึ้นไปเมืองเหนือสุโขทัย ไปพบช้างพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยอาละวาดไล่ทำร้ายผู้คน
กุมารสามารถจับช้างไว้ได้ ความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัย จึงชุบเลี้ยงกุมารไว้เป็นบุตรบุญธรรม
จนกุมารเจริญวัย พอที่จะปกครองเมืองได้ จึงให้กุมารคุมพลไปตั้งที่บ้านเจ็ดเสมียน
เมื่อรวบรวมผู้คนได้มากแล้วจึงได้ยกกำลังมาตั้งที่บ้านท่าเสา รวบรวมผลได้ปริมาณสี่หมื่นคน
ก็ยกมาบ้านยายหอม ตั้งเมืองอยู่ที่ป่าแดง แล้วมีหนังสือไปถึงพระยากง ให้ออกมากระทำยุทธหัตถีกัน
พระยากงเสียทีถูกกุมารฟันด้วยของ้าวสิ้นพระชนม์
จากนั้นกุมารก็ยกกำลังเข้าไปตั้งในเมือง และต้องการได้พระมเหสีพระยากง ซึ่งเป็นมารดาของตนเป็นภรรยา
แต่ก็มีเหตุดลใจให้ทราบว่าเป็นมารดาเสียก่อน โดยเทวดามาแสดงนิมิตให้ทราบ
เมื่อแม่ลูกรู้จักกันแล้ว และทราบว่า พระยากงที่ตนฆ่าเป็นพระบิดา กุมารก็เสียใจ
และโกรธยายหอมที่ไม่บอกให้ตนทราบ จึงได้ไปฆ่ายายหอม
เมื่อฆ่าทั้งสองคนแล้ว ก็เกิดความรู้สึกสำนึกผิด จึงได้ทำบุญให้ทานมิได้ขาด
ต่อมาเมื่อพระมเหสีของพระองค์ประสูติราชโอรส พระยาพานจึงเกิดความรู้สึกถึงความรักที่พ่อมีต่อลูก
และสำนึกในสิ่งที่ได้กระทำไป จึงได้ถามถึงการแก้ไปเรื่องตนทำปิตุฆาต จากพระอรหันต์
พระอรหันต์ตอบว่า กรรมที่ทำไปเป็นกรรมหนักต้องตกนรกมหาอเวจี มีแต่ทางผ่อนหนักให้เป็นเบาเท่านั้น
คือสร้างพระเจดีย์สูงเท่ากับนกเขาเหิน กรมอาจจะลดลงได้สักหนึ่งในสิบส่วน พระยาพานจึงได้สร้างเจดีย์ดังกล่าวคือ
สร้างพระเบื้องสูงท่าประทม (บรรทม) ทำพระวิหารสี่ทิศไว้ ประตูแขวนฆ้องใหญ่
ปากกว้างสี่ศอกทั้งสี่ทิศ ทำพระระเบียงรอบพระวิหาร แล้วบรรจุพระบรมธาตุเขี้ยวแก้วไว้ในเจดีย์ใหญ่
ตำนานพระประโทนเจดีย์ เรื่องท้าวศรีสิทธิชัยพระพรหมเทพ
ตำนานเรื่องนี้กล่าวไว้ว่า บริเวณพระประโทนเคยเป็นที่อยู่ของพราหมณ์จากอินเดีย
ตระกูลโทณพราหมณ์ ซึ่งพราหมณ์ในตระกูลนี้ได้นำเอาทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุมาด้วย
โดยได้สร้างเรือนศิลาไว้สำหรับประดิษฐานทะนานทองนี้ ต่อมาพระเจ้าศรีสิทธิชัย
ผู้ปกครองดินแดนบริเวณเมืองนครปฐมโบราณ ได้มาขอทะนานทองจากพราหมณ์ตระกูลนี้
แต่พวกพราหมณ์ไม่ยอมให้ พระเจ้าสิทธิชัยจึงได้ใช้กำลังแย่งชิงเอา เพื่อนำไปแลกกับพระบรมสารีริกธาตุจากกษัตริย์ลังกา
เพื่อมาบรรลุไว้ที่พระปฐมเจดีย์ ต่อมาพระเจ้ากากะวรรณดิศ ซึ่งครองเมืองละโว้
ได้สร้างเจดีย์ครอบเรือนศิลาที่เคยประดิษฐานทะนานทองของตระกูลโทณพราหมณ์ ดังนั้น
เจดีย์ที่ก่อครอบเรือนศิลานี้จึงเรียกชื่อว่า โทณเจดีย์ หรือพระประโทนเจดีย์ในเวลาต่อมา
ตำนานดอนยายหอม
มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า พระยาพานหลังจากที่ทำปิตุฆาตแล้ว ก็เสียใจและโกรธยายหอมที่ไม่บอกให้ตนทราบตั้งแต่ต้นว่า
พระยากงเป็นบิดา จึงจับยายหอมฆ่าเสีย ก่อนจะตายยายหอมเสียใจมากขอรำเย้ยให้สะใจ
ศพยายหอมถูกทิ้งไว้ให้แร้งกิน คนทั้งปวงจึงเรียกสถานที่นั้นว่า อีรำท่าอีแร้ง
และบริเวณที่บ้านยายหอมตั้งอยู่ก็ได้ชื่อว่า ดอนยายหอม ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมือง
ฯ
ตำนานธรรมศาลา
ตำนานมีอยู่ว่า ภายหลังที่พระยาพานทำปิตุฆาตแล้วสำนึกบาป จึงได้นิมนต์พระสงฆ์จากวัดต่าง
ๆ และปลูกสร้างโรงธรรมขนาดใหญ่ ไว้ที่ตำบลรรมศาลาเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์บำเพ็ญกุศล
พระภิกษุสงฆ์ได้แนะนำให้พระยาพานสร้าง และสร้างมหาเจดีย์ แล้วอุทิศโรงธรรมนั้นเป็นที่สำหรับพระสงฆ์แสดงธรรมเรียกว่า
ธรรมศาลา ต่อมาได้สร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้นได้ชื่อว่า วัดธรรมศาลา
ตำนานกำแพงแสน
ตำนานมีอยู่ว่า ท้าวแสนปมเป็ผู้สร้างเมืองกำแพงแสน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสันนิษฐานว่า ท้าวแสนปมคือ พระเจ้าชินเสน ราชโอรสของพระเจ้าศิริชัย
หรือศรีวิชัย แห่งเมืองนครปฐม เมื่อขึ้นครองเมืองทรงพระนามว่า พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน
เมืองกำแพงแสนเดิมชื่อเมืองเทพนคร หรือเทพนครศิริชัย พระองค์ครองราชย์ได้
๒๕ ปี ก็สวรรคต ทำให้เมืองกำแพงแสนกลายเป็นเมืองร้าง
ตำนานทัพหลวง
ตำนานมีอยู่ว่า เมื่อพระเจ้าอู่ทองทรงย้ายไปจากกำแพงแสน เพื่อไปหาที่สร้างเมืองใหม่ที่เหมาะสมกว่า
ได้ยกทัพหลวงผ่านมา และตั้งทัพหลวง ณ ที่นี้ ปัจจุบันเป็นตำบลหนึ่งอยู่ในอำเภอเมือง
ฯ
ตำนานสามพราน
ในบิเวณลุ่มแม่น้ำนครชันศรี มีสัตว์ป่านานาชนิด และในหมู่สัตว์เหล่านั้นมีโขลงช้างอาศัยอยู่ด้วย
และจะพากันเดินไปกินน้ำทุกวัน พอนานเข้าฝนตกทางเดินของช้างก็กลายเป็นคลองเรียกกันว่า
คลองบางช้าง วัดที่ตั้งอยู่ทางเหนือเรียกว่า วัดบางช้างเหนือ วัดที่ตั้งอยู่ทางใต้เรียกว่า
วัดบางช้างใต้
ในกลุ่มช้างดังกล่าวมีช้างอยู่หนึ่งเชือก เป็นช้างเกเรชอบรังแกชาวบ้านด้วยการทำลายบ้านเรือน
และพืชไร่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงช่วยกันจับแต่ไม่สำเร็จ ต่อมามีพรานสามคนอาสาจับช้างได้สำเร็จ
ชาวบ้านจึงตั้งชื่อตำบลนั้นว่า สามพราน และได้กลายเป็นอำเภอสามพรานในปัจจุบัน
|