จังหวัดเพชรบุรี
จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในภาคกลางด้านตะวันตกของประเทศไทย มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และอำเภอเมือง ฯ
และอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ทิศตะวันออก ติอต่อกับอ่าวไทย ตั้งแต่ปากอ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม
ถึงสนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเทือกเขาตะนาวศรี อันเป็นพรมแดนไทยกับประเทศพม่า
จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๖,๒๒๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๘๙๐,๐๐๐
ไร่ มี ๘ อำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอเขาย้อย อำเภอบ้านแหลม อำเภอบ้านลาด
อำเภอท่ายาง อำเภอชะอำ อำเภอหนองหญ้าปล้อง และอำเภอแก่งกระจาน
ลักษณะภูมิประเทศ พื้นที่ประมาณสองในสามส่วนมีลักษณะเป็นลูกคลื่นลอนลาด
ลูกคลื่นลอนชัน และพื้นที่ภูเขา พื้นที่ราบมีอยู่ประมาณหนึ่งในสามส่วน ลักษณะพื้นที่ดังกล่าววางตัวอยู่ในแนวเหนือ
- ใต้ มีพิ้นที่ราบอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก พื้นที่ลูกคลื่นลอนลาดอยู่ตอนกลาง
และพื้นที่ลอนชัน และพื้นที่ภูเขาทางด้านทิศตะวันตก มีความสูงตั้งแต่ ๓๐๐
เมตรขึ้นไป โดยมียอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาพะเนินทุ่ง
สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๒๑๐ เมตร
ที่ราบลุ่มแม่น้ำ
ที่ราบลุ่มแม่น้ำตอนกลาง
เป็นที่ราบลุ่มเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำเพชรบุรี เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์
มีประชากรอยู่หนาแน่น
แม่น้ำเพชรบุรี
ต้นกำเนิดจากทิวเขาตะนาวศรี ในเขตอำเภอแก่งกระจาน แล้วไหลมาทางด้านทิศตะวันออก
จากนั้นไหลวกขึ้นไปทางเหนือถึงฝั่งแม่น้ำบางกลอย แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกถึงห้วยแม่ประโคน
เข้าสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสาขาจากห้วยแม่ประจันต์ไหลมาบรรจบที่เขื่อนเพชร
แล้วไหลผ่านอำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง ฯ แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านแหลม
ก่อนที่แม่น้ำเพชรบุรีจะไหลออกทะเล ลำน้ำจะแยกออกเป็นสองสาย ที่บ้านปากคลอง
ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม สายแรกไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ออกสู่ทะเลที่ตำบลบ้านแหลม
อีกสายหนึ่งแยกไปทางทิศเหนือ ไปรวมกับลำน้ำจากอำเภอบ้านลาด ซึ่งไหลผ่านตำบลหัวสะพาน
และตำบลบางจาก อำเภอเมือง ฯ ผ่านเขาสมอระยัง มาบรรจบกับคลองบ้านน้อย อำเภอเขาย้อย
ที่บ้านสามแพรก อำเภอบ้านแหลม โดยมีลำน้ำจากอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามไหลมาบรรจบ
ที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรี เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดกลาง มีพื้นที่ประมาณ
๕,๖๐๐ ตารางกิโลเมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ที่ราบชายฝั่งทะเลตะวันออก
มีความยาวประมาณ ๙๐ กิโเมตร เป็นพื้นที่ติดต่อกับอ่าวไทย ทางด้านตะวันออกของจังหวัด
พื้นที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลเล็กน้อยจนถึงประมาณ ๑ เมตร ตอนในเข้ามาเป็นที่ราบซึ่งน้ำทะเลท่วมถึงในฤดูฝน
ชายฝั่งตอนเหนือประกอบด้วยหาดเลน และมีป่าชายเลนขึ้นปกคลุม ตามแนวชายฝั่ง
ตั้งแต่อ่าวบางตะบูน
และอ่าวบ้านแหลมจนถึงแหลมผักเบี้ย
ยาวประมาณ ๔๔ กิโลเมตร ใต้แหลมหลวง ซึ่งเป็นสันดอนทรายงอกยื่นลงไปในทะเล
ปรากฎเป็นหาดทรายต่อเนื่องไปตั้งแต่หาดเจ้าสำราญ
ถึงหาดชะอำ ทางตอนใต้
ยาวประมาณ ๔๗ กิโลเมตร ชายฝั่งบางตอนจะมีการทับถมของเปลือกหอยขนานไปกับชายฝั่ง
เช่น ที่บ้านบางแก้ว และบ้านปากทะเล ชาวบ้านเรียกเนินที่มีเปลือกหอยกองทับถมนี้ว่า
กะซ้า
แหลมหลวง จัดเป็นสันดอนจงอย ด้านหนึ่งจะงอเป็นรูปโค้งเข้าหาแผ่นดิน
มีความยาวยื่นลงไปในทะเลประมาณสองกิโลเมตร กระแสน้ำไหลขนานกับชายฝั่งเป็นตัวนำตะกอนทรายมาสะสม
และการซัดพาของคลื่นทะเลทำให้เกิดรูปร่างเป็นจงอย
แนวสันดอนของแหลมหลวง เป็นแนวแบ่งเขตระหว่างหาดเลนกับหาดทราย จากชายฝั่งแหลมหลวงขึ้นไปทางทิศเหนือจดสุดเขตจังหวัด
ที่ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม ชายหาดมีตะกอนและโคลนที่แม่น้ำเพชรบุรไหลนำมาทับถมจนเกิดเป็นสันดอนแผ่ขยายปกคลุมพื้นที่ชายฝั่งตอนเหนือ
ทำให้เกิดป่าไม้ชายเลนปกคลุมชายฝั่งดังกล่าว เป็นแหล่งประมงที่สำคัญ มีสัตว์น้ำชุกชุม
และเป็นแหล่งกำเนิดหอยแครงตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
บริเวณที่ถัดจากสันดอนแหลมหลวงลงไปทางทิศใต้เริ่มปรากฎเป็นหาดทรายอย่างชัดเจน
นับตั้งแต่หาดเจ้าสำราญ หาดปึกเตียน หาดโตนดน้อย หาดบ้านทา หาดคลองเทียน และหาดชะอำ
จนสุดเขตชายฝั่งทะเลที่ต่อเนื่องกับหาดหัวหินของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
น้ำทะเลบริเวณชายฝั่งยังมีความลึกเฉลี่ย ๑๕ - ๒๐ เมตร น้ำทะเลทางฝั่งตอนเหนือจะตื้น
เนื่องจากมีตะกอนจากแม่น้ำเพชรบุรีไหลลงมาทับถมมาก น้ำทะเลจะมีสีเขียว และค่อนข้างขุ่น
บริเวณใต้แหลมหลวงลงมาทางใต้น้ำทะเลมีความลึกและมีความเค็มมากขึ้น มีสีฟ้าใสกว่าตอนบน
|