มรดกทางธรรมชาติ
จังหวัดเพชรบุรี มีแหล่งธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งป่าเขา ลำน้ำ และชายทะเล
ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามตามธรรมชาติ สถานที่ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากที่สุดคือ
หาดเจ้าสำราญ และเขื่อนแก่งกระจาน ตามลำดับ
ป่าไม้
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ จังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่ป่าอยู่ประมาณ ๔,๗๓๐ ตารางกิโลเมตร
ประมาณร้อยละ ๗๖ ของพื้นที่จังหวัด ป่าไม้ สำคัญได้แก่ ป่าดิบชื้น ซึ่งอยู่ในเขตภูเขาทางด้านตะวันตก
ป่าเบญจพรรณอยู่บริเวณเขาเตี้ย ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ที่พบมากที่สุดคือ ป่าดิบแล้ง
ซึ่งได้ประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติจำนวน ๑๕ แห่ง และอุทยานแห่งชาติอีกแห่งหนึ่งคือ
อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย
มีพื้นที่ประมาณ ๑,๘๒๒,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตตำบลสองพี่น้อง อำเภอแก่งกระจานประมาณ
๑,๕๔๙,๐๐๐ ไร่ เป็นที่ตั้งของเขื่อนแก่งกระจาน
ป่าสงวนแห่งชาติ มีอยู่ด้วยกัน ๑๔ แห่ง ดังนี้
ป่าบ้านแหลม เป็นป่าไม้โกงกางและไม้แสม
มีพื้นที่ประมาณ ๖๐๐ ไร่
ป่าปากทะเล
เป็นป่าไม้แสมขาวและแสมดำ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
ป่าดอนมะทราง เป็นป่าไม้สนทะเล สนประดิพัทธ์
และพยอม มีพื้นที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่
ป่าเขาถ้ำรงค์และป่าหนองช้างตาย เป็นป่าไม้ยาง
มีพื้นที่ประมาณ ๘๐๐ ไร่
ป่าหนองหญ้าปล้อง มีไม้มะค่าโมง ตะบก
แสมสาร เต็ง รัง และไผ่รวก มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๗,๐๐๐ ไร่
ป่ายางหักและป่าเขาปุ่ม มีไม้ยางนา
มะค่าโมง เต็ง รัง มะกอก ชิงชัง งิ้ว และตะบก มีพื้นที่ประมาณ ๘๒,๐๐๐ ไร่
ป่ายางสำหรับแม่ประจันต์
เป็นไม้ยาง มีพื้นที่ประมาณ ๑,๑๐๐ ไร่
ป่ายาง
มีพื้นที่ประมาณ ๓,๘๐๐ ไร่
ป่าชะอำและป่าบ้านโรง
มีไม้เต็ง รัง เหียง และพลวง มีพื้นที่ประมาณ ๘๑,๐๐๐ ไร่
ป่าห้วยโป่งงาน มีไม้เหียง พลวง งิ้วป่า
สะเดา และไผ่รวก มีพื้นที่ประมาณ ๑,๔๐๐ ไร่
ป่าหมายเลขแปดสิบเจ็ด
มีไม้เต็ง รัง พลวง มะกอก งิ้ว เกด และอ้อยช้าง มีพื้นที่ประมาณ ๕,๖๐๐ ไร่
ป่าเขาถ้ำเสือและโป่งแย้ มีไม้มะค่าโมง
ตะแบก ไม้แดงดำดง ตะเคียนทอง มีพื้นที่ประมาณ ๑๓,๔๐๐ ไร่
ป่ายางกลัดเหนือและใต้ มีไม้ยาง เต็ง
รัง ไม้แดง ประดู่ มะค่า ตะแบก มีพื้นที่ประมาณ ๒,๐๙๙,๐๐๐ ไร่
นอกจากนั้นยังมีป่าชายเลนที่มีแนวโน้มลดลงทุกปี ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ มีพื้นที่ป่าชายเลนเหลืออยู่เพียง
๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓,๑๐๐ ไร่ เนื่องจากการทำนากุ้ง และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
พืชพันธุ์ไม้
ต้นตาลเป็นพืชพันธุ์ไม้ที่มีมากที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี จากข้อมูล เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๔๑ มีต้นตาลอยู่ประมาณ ๑,๔๔๕,๐๐๐ ต้น มีมากในเขตอำเภอเมือง ฯ รองลงมาได้แก่
อำเภอบ้านลาด อำเภอชะอำ อำเภอเขาย้อย และอำเภอท่ายาง ตามลำดับ อำเภอที่มีต้นตาลน้อยที่สุดคือ
อำเภอหนองหญ้าปล้อง
จากการที่จังหวัดเพชรบุรีมีต้นตาลมากดังกล่าว จึงมีชื่อหมู่บ้านที่สัมพันธ์กับต้นตาลชนิดต่าง
ๆ เช่น บ้านโตนดหลาย บ้านโคกโตนด บ้านโตนดน้อย บ้านตาลเดี่ยว บ้านโตนดหลวง
บ้านถนนตาล บ้านตาลกง ฯลฯ
ลักษณะของต้นตาลเป็นพืชปาล์มเดียว ลำต้นตรงสูงชะลูด ใบคล้ายรูปพัด เป็นใบเดี่ยว
มีความกว้างกว่า ๕ ฟุต ก้านหรือทางเป็น่ขอบมีหนามเป็นหยักเรียงกันสองข้าง
ต้นหนึ่งมี ๓๐ - ๔๐ ใบ เรียกว่า ทางตาล
ดอกเรียกว่า ออกงวง หรืองวงตาล
ต้นตาลให้ผลและออกงวงให้น้ำตาลเมื่อมีอายุประมาณ ๑๕ - ๒๐ ปี ลูกตาลที่แก่หล่นบนพื้นดินจะงอกต้นมีลัษณะคล้ายราก
เรียกว่า งอกตาล
จากนั้นจะแทงยอดอ่อนขึ้น และเจริญเป็นต้นอ่อนของต้นตาลต่อไป
ต้นตาลแบ่งออกเป็นตัวผู้และตัวเมีย งวงที่มีเกษรตัวเมียเท่านั้นที่จะให้ผล
ต้นตาลตัวผู้จะมีงวงยาว ใบหนึ่งทางจะมี หนึ่งกระโปรง ในต้นหนึ่งอาจมี ๘ กระโปรง
ส่วนต้นตาลที่เป็นตัวเมียจะมีทะลายเป็นลูกอ่อนอยู่ใต้รอบต้น ทะลายหนึ่งจะมีประมาณ
๑๐ - ๒๐ ผล
ต้นตาลที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป เช่น ตามหัวไร่ปลายนา มีลักษณะอยู่เป็นกลุ่มไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียกว่า
ดงตาล
ส่วนต้นตาลที่อยู่บนหัวคันนาดูไกล ๆ จะเห็นเป็นแถวเป็นแนวมาบริเวณนั้น จะเรียกว่า
นาแถว หรือนาตาลเรียง
เป็นต้น
แหล่งน้ำ
แม่น้ำเพชรบุรี ต้นกำเนิดจากเทือกเขาสูงชันด้านทิศตะวันตกของจังหวัด
แล้วไหลผ่านอำเภอแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด และอำเภอเมือง ฯ แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอบ้านแหลมมีความยาวประมาณ
๒๑๐ กิโลเมตร เป็นแม่น้ำสายหลักที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แม่น้ำบางกลอย ต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอหนองหญ้าปล้อง
ไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตอำเภอแก่งกระจาน มีความยาวประมาณ ๔๕ กิโลเมตร
แม่น้ำปราณบุรี ต้นน้ำอยู่ในเขตตำบลป่าเต็ง
อำเภอแก่งกระจานไหลลงสู่ทะเลที่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีความยาวประมาณ
๑๖๐ กิโลเมตร
แม่น้ำบางตะบูน ส่วนหนึ่งเป็นคลองขุดแยก
จากแม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลย้อนขึ้นไปทางเหนือ ผ่านอำเภอบ้านแหลม นอกจากนี้ยังมีคลองจากอำเภออัมพวา
จังหวัดสมุทรสงครามไหลมาบรรจบ แล้วไหลลงสู่อ่าวไทย ที่อ่าวบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม
มีความยาว ๑๓ กิโลเมตร
ห้วยแม่ประโคน ต้นกำเนิดจากเทือกเขาบริเวณเขตติดต่อระหว่าง
อำเภอหนองหญ้าปล้องกับอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี มีสาขาสำคัญได้แก่ ห้วยมะเร็ง
ห้วยเสือกัดช้าง ห้วยสมุลแว้ง แล้วไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตอำเภอท่ายาง
มีความยาวประมาณ ๕๖ กิโลเมตร
ห้วยผาก ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาอ่างแก้ว
และภูเขาน้ำหยดในเขตอำเภอแก่งกระจาน แล้วไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรี บริเวณใต้เขื่อนแก่งกระจานในเขตอำเภอท่ายาง
มีความยาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร
ห้วยปม่ประจันต์ ต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตจังหวัดราชบุรี
ไหลผ่านอำเภอหนองหญ้าปล้อง แล้วไหลมาบรรจบแม่น้ำเพชรบุรี ในเขตอำเภอท่ายาง
มีความยาวประมาณ ๖๐ กิโลเมตร
เขื่อนเพชร
เป็นเขื่อนทดน้ำกันแม่น้ำเพชรบุรีในเขตตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๙๓ สามารถส่งน้ำสู่พื้นที่เกษตรกรรมในเขตอำเภอท่ายาง ประมาณ ๗๓,๕๐๐
ไร่
อ่างเก็นน้ำแก่งกระจาน มีความจุน้ำสูงสุดกถึง
๗๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่กักเก็บน้ำรวม ๓๑,๐๐๐ ไร่ เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีการระบายน้ำออก
และทดน้ำเข้าตลอดเวลา ตัวอ่างเก็บน้ำอยู่ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน
แหล่งท่องเที่ยว
ชายหาด จังหวัดเพชรบุรีมีชายทะเลที่เป็นหาดทรายตั้งแต่หาดเจ้าสำราญไปทางใต้ถึงหาดชะอำ มีความยาวประมาณ ๔๗ กิโลเมตร โดยมีแหลมหลวงเป็นแนวแบ่งเขต ระหว่างหาดเลนทางตอนเหนือ
กับหาดทรายทางตอนใต้ หาดทรายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญได้แก่ หาดเจ้าสำราญ
แหลมหลวง หาดปึกเตียน หาดทวีสุข หาดชะอำเหนือ และหาดชะอำ
ถ้ำ จังหวัดเพชรบุรีมีถ้ำขนาดใหญ่ที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามอยู่เป็นจำนวนมาก
ที่สำคัญและรู้จักกันดีคือ ถ้ำเขาย้อย ถ้ำเขาหลวง ถ้ำเขาบันไดอิฐ และถ้ำเขาเตาหม้อ
น้ำตก มีอยู่เป็นจำนวนมากในพื้นที่ที่เป็นภูเขาทางพื้นที่ด้านตะวันตก
ที่รู้จักกันดีคือ น้ำตกทอทิพย์ และน้ำตกห้าชั้น
น้ำพุร้อน มีอยู่แห่งเดียวคือ น้ำพุร้อนอำเภอหนองหญ้าปล้อง
|