วัดพระธาตุศรีปิงเมือง
ตั้งอยู่ในตำบลลอ อำเภอจุน ยังไม่พบหลักฐานว่า พระธาตุศรีปิงเมืองสร้างเมื่อใด
เมื่อพิจารณารูปแบบทางสถาปัตยกรรมแล้ว น่าจะสร้างเในช่วงพุทธศตรรษที่ ๒๑ ในช่วงนั้นเมืองพะเยา
เป็นเมืองที่มีความสัมพันธ์กับล้านนา พระธาตุตั้งอยู่ใกล้เมืองโบราณที่เรียกว่า
เวียงลอ
เป็นพระธาตุที่มีความสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเวียงลอ
องค์พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยมต่อด้วยฐานปัทม์ ย่อมุมขึ้นไปเป็นฐานลูกฟักทรงกลม
ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถาทรงกลม รองรับองค์ระฆังกลม เป็นศิลปะเชียงใหม่ตอนต้น
วัดพระธาตุดอยหยวก
ตั้งอยู่ในตำบลปง อำเภอปง ตั้งอยู่บนภูเขาเตี้ย ๆ ตามตำนานกล่าวว่าในครั้งพุทธกาล
พระพุทธองค์ได้เสด็จมาถึงดอยภูเติม
พญานาคที่รักษาดอยนี้อยู่แลเห็นพระพุทธเจ้า คิดว่าเป็นพญาครุฑก็แทรกกายหนี
ต่อมาได้ทราบและฟังธรรมจากพระพุทธองค์ จึงเกิดความเลื่อมใส พระพุทธองค์จึงมอบพระเกศาให้และตรัสกับพระอานนท์ว่า
เมื่อตถาคตนิพพานแล้ว ให้เอากระดูกริมตาขวามารวมไว้กับพระเกศา กาลข้างหน้าจะมีชื่อว่า
พระธาตุภูเติม
จึงได้บรรจุและสร้างพระธาตุขึ้น ณ ดอยแห่งนี้มีชื่อเรียกใหม่ว่า พระธาตุดอยหยวก
ภายในวัดมีวิหารพื้นเมืองทรงต่ำแบบพื้นเมืองล้านนา ส่วนพระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม
ต่อด้วยเรือนธาตุซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูง เป็นรูปสี่เหลี่ยมและมีซุ้มจระนำอยู่สี่ทิศ
ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถารองรับองค์ระฆังทรงกลม ขึ้นไปเป็นบัลลังก์ต่อด้วยปล้องไฉน
จนถึงปลียอดเป็นเจดีย์ทรงล้านนาที่สวยงาม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะพะเยา
วัดลี
ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณรูปน้ำเต้า จากศิลาจารึกกล่าวว่า
วัดลีสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๘ โดยพระเจ้าสี่หมื่นพะเยา
พระเจดีย์มีรูปทรงแบบสถาปัตยกรรมพื้นเมืองล้านนา เป็นเจดีย์ทรงสูงเอวคอด ฐานกว้าง
๑๖.๕๐ เมตร สูง ๓๕ เมตร ส่วนฐานประกอบด้วยหน้ากระดานสี่เหลี่ยม หนึ่งชั้น
ต่อขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมสามชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุซึ่งเป็นส่วนย่อมุมยืดสูง
เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีลวดลายปูนปั้นอยู่กลางเรือนธาตุ เป็นลายประจำยามประดับอยู่
และมีการประดับลวดลายปูนปั้น บริเวณมุมของเจดีย์จนถึงบัวหงาย ด้านบนของฐานปัทม์ต่อด้วยชั้นมาลัยเป็นฐานบัวแปดเหลี่ยม
ซ้อนกันขึ้นไปรองรับองค์ระฆังแปดเหลี่ยม แล้วเป็นชั้นบัลลังก์แปดเหลี่ยม ต่อด้วยคอระฆังกลมขึ้นไปเป็นปล้องไฉน
ที่ฐานและยอดปล้องไฉนมีปูนปั้นกลีบดอกบัว สองชั้น ต่อด้วยปลียอดรูปทรงกลม
เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะสวยงามอีกแห่งหนึ่งในพะเยา
วัดร้างประตูชัย หรือวัดพระเจ้ายั้งย่อง
ตั้งอยู่ใกล้สี่แยกประตูชัย ในตำบล อำเภอเมือง ฯ สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๐ เป็นวัดที่อยู่ปากทางเข้าเมือง ในสมัยก่อนเมื่อจะยกทัพออกจากเมือง ก็จะออกทางประตูชัยนี้
เพื่อถือเป็นเคล็ดให้รบชนะ โดยจะมีการทำพิธีกรรม และพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นกำลังใจในการสู้รบ
วัดนี้เดิมมีบริเวณกว้างขวางหลายสิบไร่ มีบ่อน้ำ คูเมืองมีน้ำไหลตลอดปี มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น
ต่อมาวัดนี้ได้ชื่อใหม่ ตามที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดยั้งย่อง
วัดนี้สันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นวัดหลวง ที่สำคัญวัดหนึ่งของเมืองพะเยา พระประธานเป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่
อยู่ในวิหาร มีเนินเจดีย์ เนินซากโบราณสถานสองเนิน
วัดรัตนคูหาวราราม
(วัดบ้านถ้ำ) ตั้งอยู่ในตำบลถ้ำ อำเภอดอกคำใต้ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด
ทราบแต่เพียงว่าวัดแห่งนี้มีมาก่อนหมู่บ้าน ซึ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ.๑๔๐๐ แล้วมีการบูรณะวัดบ้านถ้ำขึ้นในปี
พ.ศ.๑๔๖๐ และตั้งชื่อใหม่ว่า วัดช้างแก้ว
วัดนี้ได้ร้างไป ๕๐ ปี แล้วได้มีการบูรณะเจดีย์และเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดบ้านถ้ำ
ตามเดิม
พระเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงซ้อนกันสามชั้น ต่อขึ้นไปเป็นฐานปัทม์แปดเหลี่ยม
ถัดขึ้นไปเป็นมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไปสามชั้น รองรับองค์ระฆังทรงเหลี่ยมเป็นแบบจำปาแปดกลีบ
ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสกุลช่างพะเยา ด้านบนเป็นปูนปั้นกลีบบัวสองชั้นครอบลงมา
ต่อด้วยบัลลังก์แปดเหลี่ยม ปล้องไฉน มีปูนปั้นบัวหงาย รองรับปลียอด นับว่าเป็นเจดีย์ศิลปะปูนปั้นสกุลช่างพะเยา
ที่สวยงามแห่งหนึ่ง
วัดพระธาตุดอยคำ
ตั้งอยู่ในตำบลเจดีย์คำ อำเภอเชียงคำ มีตำนานว่า มีหญิงม่ายคนหนึ่งพบทองคำแท่งใหญ่
วางยาวอยู่ระหว่างภูเขาสองลูก หันท้ายจรดภูเขา จึงนำชาวบ้านไปดู ต่อมาเมื่อพญาผู้ครองเมืองได้ทราบข่าว
ก็มีความโลภ จึงสั่งให้ตัดแท่งทองคำนั้น เมื่อตัดแล้วทองคำก็แยกหายไปในดอย
แล้วปรากฎเป็นพระเจดีย์ซึ่งมีพระธาตุบรรจุอยู่ ภายใน ชาวบ้านจึงเรียกวา พระธาตุดอยคำ
แต่นั้น
วัดพระธาตุสบแวน
ตั้งอยู่ในตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ เป็นวัดเก่าแก่ ตามตำนานกล่าวว่า สร้างเมื่อประมาณปี
พ.ศ.๑๔๔๗ โดยชาวไทลื้อที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอำเภอเชียงคำ ได้มาสำรวจที่สร้างวัดและพบพระเจดีย์องค์หนึ่งสวยงามมาก
แต่ถูกทิ้งไว้รกร้าง จึงได้บูรณะขึ้นใหม่ และตั้งชื่อวัดว่า วัดพระธาตุสบแวน
ประจวบกับบริเวณดังกล่าว มีแม่น้ำแวนไหลมาบรรจบกับน้ำฮ่อง ณ ที่นั้น
วัดแสนเมืองมา
หรือวัดมาง ที่บ้านมาง ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ เป็นวัดเก่าแก่มีอุโบสถที่งดงาม
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน (อุโบสถไทลื้อ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ และได้สร้างพิพิธภัณฑ์
เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศิลปะของชาวไทยลื้อไว้
วัดพระธาตุเจดีย์จอมก๊อ
ตั้งอยู่ในตำบลเจริญราษฎร อำเภอแม่ใจ พระธาตุเจดีย์จอมก๊อ เป็นเจดีย์ทรงล้านนาที่สวยงามอีกองค์หนึ่ง
เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า
องค์พระธาตุเจดีย์ ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ในชั้นนี้มีเจดีย์รายตั้งอยู่ตรงมุมของฐานสี่องค์
ต่อขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปแปดเหลี่ยมสามชั้น จากนั้นเป็นเรือนธาตุรูปแปดเหลี่ยม
ต่อด้วยมาลัยเถารูปแปดเหลี่ยม รองรับองค์ระฆังทรงกลม ต่อด้วยคอระฆังกลม ปล้องไฉน
และปลียอด
วัดพระธาตุภูขวาง
ตั้งอยู่ในตำบลห้วยแก้ว กิ่งอำเภอภูกามยาว ตั้งอยู่กลางเมืองโบราณ เวียงพระธาตุภูขวาง
เชื่อกันว่าเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุข้อมือขวาของพระพุทธเจ้า
พระธาตุเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานกระดานสี่เหลี่ยมย่อมุมสี่ชั้น ต่อด้วยเรือนธาตุย่อมุม
ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงรูปทรงกลมสามชั้น รองรับองค์ระฆังกลม ไม่มีบัลลังก์
ต่อด้วยคอระฆังทรงกลม ปล้องไฉน ซึ่งมีรูปปั้นเป็นรูปกลีบบัวสองชั้น ถัดขึ้นไปเป็นปลียอด
วัดศรีสุพรรณ
ตั้งอยุ่ในตำบลแม่ใจ อำเภอแม่ใจ เป็นที่ประดิษฐาน พระเจ้าทองทิพย์ มีพุทธลักษณะงดงามมาก
เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นสาม หล่อด้วยสำริด มีพระพักตร์เป็นเนื้อทองสุกปลั่ง
พระศกละเอียด พระเกศเป็นเปลวสวยงาม หน้าตักกว้าง ๒๙ นิ้ว สูง ๒๔ นิ้ว
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านอำเภอแม่ใจ มีความว่า แต่เดิมนั้นบริเวณบ้านแม่ใจ โดยทั่วไปเต็มไปด้วยป่าไม้กอไผ่ขึ้นหนาทึบ
และได้เกิดไฟลุกไหม้บริเวณรอบ ๆ ดงไผ่ จึงได้พบพระเจ้าทองทิพย์อยู่ในดงไผ่นั้น
ต่อมาจึงได้สร้างอาคารชั่วคราวครอบไว้ ต่อมาชาวอำเภอแม่ใจได้ร่วมกันสร้างวิหารถาวรครอบไว้
ในบริเวณดงกอไผ่ โดยไม่โยกย้ายจากที่เดิมจนถึงปัจจุบัน
ความเชื่อถือความศักดิ์สิทธิ์และที่มาของชื่อพระเจ้าทองทิพย์นั้น เพราะว่าเมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล
บ้านเมืองแห้งแล้ง หรือชาวบ้านเกิดการเจ็บป่วย เกิดภัยพิบัติ ก็จะอัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์จากอาสนะ
ทำพิธีสักการะบูชา แห่สรงน้ำ ฝนก็จะตกลงมาทันที ผู้ประสบเคราะห์กรรมก็จะหมดเคราะห์
พระเจ้าทองทิพย์ จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาวพุทธตลอดมา
ในวันที่ ๑๗ เมษายนของทุกปี จะเป็นวันสรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ ประชาชนจะพากันมาร่วมพิธีในวันสำคัญนี้มากมาย
แล้วนำเอาน้ำที่สรงพระเจ้าทองทิพย์ แล้วใส่ภาชนะกลับไปบ้านเพื่อประพรมลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข
วัดศรีบุญเรือง
อยู่ในเขตอำเภอแม่ใจ เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์ดำ
พระพุทธรูปสำริดมีผิวสีดำ พบโดยพ่อหนานใจวรรณจักร ขณะที่เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธาราม
ตำบลศรีก้อย อำเภอแม่ใจ ท่านได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ที่บริเวณบ้านดงอินตา และบ้านดงบุนนาคปัจจุบัน
ซึ่งเป็นบริเวณหนองเล็งทรายทั้งหมด ท่านจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดโพธาราม
ต่อมาท่านได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง (วัดขัวตาด) ซึ่งเป็นวัดร้าง
พ่อหนานใจ และชาวบ้านได้ร่วมบูรณะซ่อมแซม และอัญเชิญพระเจ้าองค์ดำไปประดิษฐานที่วัดศรีบุญเรืองจนถึงปัจจุบัน
ในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนเจ็ด (เดือนเก้าเหนือ) ของทุกปี จะมีงานประเพณีสรงน้ำพระเจ้าองค์ดำ
มีประชาชนไปร่วมพิธีนี้เป็นจำนวนมาก เชื่อกันว่าในปีใดที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ชาวบ้านจะอัญเชิญพระเจ้าองค์ดำลงจากอาสนะเพื่อทำพิธีขอฝน
วัดดงบุนนาค
ตั้งอยู่ในตำบลบ้านเหล่า อำเภอแม่ใจ เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าหินทิพย์
พระพุทธรูปหินทราย ฝีมือช่างพะเยา หน้าตักกว้าง ๗๒ นิ้ว สูง ๙๙ นิ้ว ศิลปะเชียงแสนรุ่นที่สอง
จากประวัติที่ผู้รู้ให้ไว้มีว่า พระพุทธรูปองค์นี้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๑๐
แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดก๋อมก๊อ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านดงบุนนาค
ปัจจุบันสภาพที่พบเห็นก่อนนั้นมีแต่องค์พระตั้งอยู่บนแท่นกลางแจ้ง เพราะเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างหักพังสูญหายไปหมด
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๒ ทางวัดดงบุนนาค อำเภอและชาวบ้านได้อัญเชิญพระเจ้าหินทิพย์มาประดิษฐานที่วัดดงบุนนาค
พระเจ้านั่งดิน
อยู่ในอำเภอเชียงคำ ตามตำนานเล่าว่า พญาผู้ครองเมืองพุทธรสะได้ค้นพบประวัติเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๑๖ ว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จออกโปรดสัตว์ เมื่อพระองค์เสด็จมาถึงเวียงพุทธรสะ
(อำเภอเชียงคำ) พระพุทธองค์ได้เสด็จประทับอยู่บนยอดดอยสิงห์กุตตะ (พระธาตุดอยคำ)
พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งพญาคำแดง เจ้าเมืองพุทธรสะ ให้สร้างรูปเหมือนพระองค์ไว้
ณ เมืองพุทธรสะนี้ ปรากฏว่า พระอินทร์ พญานาค ฤาษีสองตน พระอรหันต์สี่รูป
ช่วยกันเนรมิตเอาดินศักดิ์สิทธิ์ จากเมืองลังกาทวีปมาสร้างรูปเหมือนพระพุทธองค์
ใช้เวลาสร้างหนึ่งเดือน เจ็ดวัน จึงแล้วเสร็จ
พระเจ้านั่งดินไม่ได้ประทับบนฐานชุกชีเหมือนกับพระพุทธรูปในอุโบสถวัดอื่น
ๆ มีผู้เล่าว่าเคยมีชาวบ้านสร้างฐานชุกชี แล้วอัญเชิญพระเจ้านั่งดินขึ้นประทับ
แต่มีเหตุปาฏิหาริย์ฟ้าผ่าลงมาที่อุโบสถถึงสามครั้ง พุทธบริษัททั้งหลายจึงอาราธนาลงมาประดิษฐานบนพื้นดินดังเดิมจนถึงทุกวันนี้
พระเจ้าหิน (พระเจ้าบุนนาค)
เป็นพระพุทธรูปหินทรายปางมารวิชัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุนนาค
ตำบลหย่วน อำเภอเชียงคำ หน้าตักกว้าง ๑.๖๒ เมตร สูง ๒.๖๔ เมตร องค์พระมีลักษณะสวยงามมาก
ได้มาจากวัดร้างในเวียงลอ อำเภอจุน
หลักฐานด้านโบราณคดีได้พบจารึกหมื่นลอมงคล ตรงกับปี พ.ศ.๒๐๔๓ ที่กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์และพระพุทธรูปจำนวนมากเพื่ออุทิศให้กับพระศาสนา
พระเจ้าหินเป็นพระพุทธรูปที่ชาวเชียงคำและใกล้เคียงเคารพนับถือเป็นอย่างมาก
ได้มีการจัดงานประเพณีนมัสการพระเจ้าหินเป็นประจำทุกปีในวันขึ้นสิบห้าค่ำ
เดือนสาม (เดือนห้าเหนือ) ตรงกับวันมาฆบูชา
พระเจ้ายั้งยอง
เป็นพระพุทธรูปหินทราย หน้าตักกว้าง ๒.๐๐ เมตร สูง ๓.๒๒ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดร้างประตูชัย
หรือวัดพระเจ้ายั้งยอง ตำบลเวียง อำเภอเมือง ฯ
พระเจ้ายั้งยองเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด ประทับนั่งขัดสมาธิราบแบบปัทมาสนะ
ปางมารวิชัย ศิลปะช่างสกุลพะเยา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่กับเมืองพะเยามาแต่โบราณ
ประดิษฐานอยู่ใกล้ประตูชัยสมัยก่อน เมื่อจะออกไปปราบข้าศึกศัตรู จะต้องยกกำลังออกทางประตูชัย
จะมีการตั้งเครื่องสักการะบูชาพระเจ้ายั้งยองเพื่อความเป็นสิริมงคล เมื่อเสร็จการรบแล้วก็จะมาสักการะพระเจ้ายั้งยองอีกครั้ง
เพราะก่อนเข้าเมืองจะต้องเข้าทางประตูชัย
พระพุทธรูปหินทราย ที่วัดร้างวิสุทธาราม
เป็นพระพุทธรูปหินปางมารวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในเมืองพะเยา สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๒
มีจารึกที่พบบริเวณวัด กล่าวถึงชื่อวัดวิสุทธาราม สร้างในปี พ.ศ.๒๐๔๒ สมเด็จมหาสวามีศรีวิมลโพธิญาณ
เจ้าอาวาสวัดป่าแดง ขออนุญาตพระมหาธรรมราชาธิราช ฝังจารึกไว้ในวัดวิสุทธาราม
เมืองพะเยา พระเจ้าทั้งสองพระองค์ (พระเมืองแก้วกับพระชนนี) อนุญาตและให้แสนญาณ
เจ้าเมืองพะเยาถวายคนเป็นข้า พระพุทธรูปองค์นี้มีขนาดใหญ่ ยากต่อการเคลื่อนย้ายและเป็นประธานของวัดมาแต่เดิม
วิหารไม้สักวัดอนันตาราม
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงคำ เริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๗ แทนวิหารหลังเก่าที่มุงด้วยหญ้าคา
สถาปัตยกรรมวิหารเป็นรูปทรงแบบไทยใหญ่ หลังคามุงจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงาม
มุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) เพดานภายในตกแต่งประดับด้วยกระจกสี
มีเสาไม้สักทองลงรักปิดทองทั้งสิ้น ๖๘ ต้น ค่าก่อสร้างประมาณ ๔๕,๐๐๐ บาท ผู้ออกแบบและทำการก่อสร้างคือสล่าตัน
ช่างชาวไทยใหญ่ โดยมีพ่อเฒ่านันตา (อู๋) เป็นเจ้าภาพในการสร้าง
วิหารไทลื้อ วัดท่าฟ้าใต้
ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเชียงม่วน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นสถาปัตยกรรมไทลื้อ
ก่ออิฐถือปูน หลังคามีสามชั้นมุงด้วยแป้นเกล็ด (กระเบื้องไม้) ชั้นที่หนึ่งเป็นแบบปั้นหญา
ครอบตัววิหารทั้งสี่ด้าน ชั้นที่สองและสามเป็นทรงแบบปราสาท มีหน้าปันทางทิศตะวันออก
และทิศตะวันตก มีหลังคากันสาดรับทั้งสองด้าน ตัววิหารทึบ บานประตูเป็นบานไม้สัก
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
|