ท่องเที่ยว || เพิ่มข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว|| ดูดวงตำราไทย|| อ่านบทละคร|| เกมส์คลายเครียด|| วิทยุออนไลน์ || ดูทีวี|| ท็อปเชียงใหม่ || รถตู้เชียงใหม่
  dooasia : ดูเอเซีย   รวมเว็บ   บอร์ด     เรื่องน่ารู้ของสยาม   สิ่งน่าสนใจ  
 
สำหรับนักท่องเที่ยว
ตรวจสอบระยะทาง
แผนที่ 77 จังหวัด
คู่มือ 77 จังหวัด(PDF)
จองโรงแรม
ข้อมูลโรงแรม
เส้นทางท่องเที่ยว(PDF)
ข้อมูลวีซ่า
จองตั๋วเครื่องบิน
จองตั๋วรถทัวร์
ทัวร์ต่างประเทศ
รถเช่า
197 ประเทศทั่วโลก
แลกเปลี่ยนเงินสากล
ซื้อหนังสือท่องเทียว
dooasia.com แนะนำ
  เที่ยวหลากสไตล์
  มหัศจรรย์ไทยเแลนด์
  เส้นทางความสุข
  ขับรถเที่ยวตลอน
  เที่ยวทั่วไทย 77 จังหวัด
  อุทยานแห่งชาติในไทย
  วันหยุดวันสำคัญไทย-เทศ
  ศิลปะแม่ไม้มวยไทย
  ไก่ชนไทย
  พระเครื่องเมืองไทย
 
 
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเกาหลี
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศลาว
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศกัมพูชา
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศเวียดนาม
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศพม่า
ข้อมูลท่องเที่ยวประเทศจีน
 
เที่ยวภาคเหนือ กำแพงเพชร : เชียงราย : เชียงใหม่ : ตาก : นครสวรรค์ : น่าน : พะเยา : พิจิตร : พิษณุโลก : เพชรบูรณ์ : แพร่ : แม่ฮ่องสอน : ลำปาง : ลำพูน : สุโขทัย : อุตรดิตถ์ : อุทัยธานี
  เที่ยวภาคอีสาน กาฬสินธุ์ : ขอนแก่น : ชัยภูมิ : นครพนม : นครราชสีมา(โคราช): บุรีรัมย์ : มหาสารคาม : มุกดาหาร : ยโสธร : ร้อยเอ็ด : เลย : ศรีสะเกษ : สกลนคร : สุรินทร์ : หนองคาย : หนองบัวลำภู : อำนาจเจริญ : อุดรธานี : อุบลราชธานี : บึงกาฬ(จังหวัดที่ 77)
  เที่ยวภาคกลาง กรุงเทพฯ : กาญจนบุรี : ฉะเชิงเทรา : ชัยนาท : นครนายก : นครปฐม : นนทบุรี : ปทุมธานี : ประจวบคีรีขันธ์ : ปราจีนบุรี : พระนครศรีอยุธยา : เพชรบุรี : ราชบุรี : ลพบุรี : สมุทรปราการ : สมุทรสาคร : สมุทรสงคราม : สระแก้ว : สระบุรี : สิงห์บุรี : สุพรรณบุรี : อ่างทอง
  เที่ยวภาคตะวันออก จันทบุรี : ชลบุรี : ตราด : ระยอง

  เที่ยวภาคใต้ กระบี่ : ชุมพร : ตรัง : นครศรีธรรมราช : นราธิวาส : ปัตตานี : พัทลุง : พังงา : ภูเก็ต : ยะลา : ระนอง : สงขลา : สตูล : สุราษฎร์ธานี



| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

การตั้งถิ่นฐาน

            การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในภาคเหนือได้รับอิทธิพลจากสภาพธรรมชาติเป็นสำคัญ ที่ราบขนาดใหญ่มีสองบริเวณคือ บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่ - ลำพูน กับบริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย - พะเยา โดยจะเลือกตั้งบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ รูปแบบของการตั้งถิ่นฐานจึงเป็นแนวยาวตามลำแม่น้ำ
            เมืองพะเยา มีกำเนิดขึ้นตามลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก ได้แก่ แอ่งเชียงราย เป็นที่ราบลุ่มค่อนข้างกว้างใหญ่ พื้นดินอุดสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรม เขตตอนมีเชียงรายเป็นศูนย์กลาง แบ่งเป็นตอนเหนือ มีเชียงราย - เชียงแสน และตอนใต้มีพะเยาอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิง
            ที่ราบลุ่มเชียงราย - พะเยา  เป็นดินแดนที่เรียกว่า โยนก สมัยโบราณเป็นถิ่นฐานของไทยวน อยู่บริเวณที่ราบลุ่มเขตจังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา และบริเวณใกล้เคียงโดยรอบ ต่อเนื่องเข้าไปถึงบางส่วนของพม่าและลาว โดยมีแม่น้ำกกเชื่อมแม่น้ำโขงเป็นแกน ที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา มีเทือกเขาขนานตามแนวเหนือ - ใต้ มีลำน้ำเกิดจากดอยต่าง ๆ ไหลจากทิศตะวันตกไปบรรจบแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือทั้งสิ้น ลำน้ำที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำกก ลำน้ำลาว และลำน้ำอิง ทำให้เกิดที่ราบลุ่มสำคัญ อันเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของกลุ่มโยนกโบราณ
            เมืองโบราณที่พบในเขตนี้มีเมืองเชียงแสน เป็นเมืองสำคัญ และมีเมืองเล็กเมืองน้อยที่เรียกว่า เวียง เช่น เวียงหนองลุ่ม เวียงมโนรา เวียงแก้ว และเวียงพาน เป็นต้น
            ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก มีเมืองเชียงรายเป็นเมืองสำคัญ และมีเวียงอีกไม่น้อยกว่า ๑๑ แห่ง ที่ราบลุ่มแม่น้ำลาวมีเมืองโบราณที่พบ เช่น เวียงกาหลง เวียงป่าเป้า เวียงแม่สรวย เวียงไชย เป็นต้น ส่วนที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง มีเวียงภูกามยาว เวียงต๋อม เวียงปู่ล่าม เวียงแก้ว เวียงลอ เวียงเทิง เป็นต้น
            เมืองในเลุ่มแม่น้ำอิง มีชุมชนกระจายอยู่บนภูเตี้ย ๆ มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มีหลักฐานที่สำคัญคือ แหล่งหินทรายที่ม่อนผาเกี๋ยง อำเภอเมือง ฯ แต่เดิมเป็นแหล่งทำเครื่องมือหินขัด ต่อมาเมื่อได้นับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็กลายเป็นแหล่งหินทราย เพื่อทำพระพุทธรูปและศาสนวัตถุอื่น ๆ บริเวณเทือกเขาหินทราย ด้านหนึ่งตัดเป็นผนังผา มีถ้ำหลายแห่งพบเครื่องมือหิน เช่น ขวานหินขัด (ยุคก่อนประวัติศาสตร์) หน้าผาบางแห่งมีภาพเขียนสีแดงปรากฎอยู่ มีร่องรอยของการสกัดหินไปใช้ พบอักษรไทย - ล้านนาปรากฎอยู่
            การตั้งถิ่นฐานของชาวพะเยา จะกระจายตามแอ่งหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำเป็นแนวยาวตามลำน้ำอิง ชุมชนที่เกิดขึ้นในระยะแรก ๆ เป็นชุมชนเล็ก ๆ แยกกันอยู่เป็นแห่ง ๆ มีผู้นำชุมชนในนามของเจ้าผู้ปกครอง การตั้งชุมชนบ้านและเมืองได้พัฒนาจากถิ่นฐานที่อยู่ของชนเผ่าพื้นเมืองที่มีวัฒนธรรมด้อยกว่า ผสมผสานกับวัฒนธรรมต่างถิ่นที่เจริญกว่า
            เมืองพะเยา ได้พัฒนาจากรับโบราณขนาดเล็ก มาเป็นรัฐที่มีขนาดใหญ่ และมีความซับซ้อนมากขึ้น ในลักษณะเดียวกันกับเมืองหริภุญไชย จากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า มีบริเวณที่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นร่องรอยเมืองโบราณขนาดเล็ก ปรากฎอยู่ทั่วไปประมาณ ๔๐ เมือง กระจายอยู่ตามที่ราบริมแม่น้ำอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของดินแดนในภาคเหนือที่เป็นหุบเขา ทำให้เมืองต่าง ๆ มีลักษณะเป็นเอกเทศ เมืองพะเยาในลุ่มน้ำอิง เป็นการแยกตัวของผู้นำเชื้อสายลาวจก จากเมืองเงินยวงในลุ่มน้ำกก เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นเมืองอิสระ ไม่ขึ้นแก่ศูนย์กลางเดิมแต่อย่างใด
            จากการค้นพบซากโบราณสถาน และพุทธศิลป์พบว่า มีความเก่าถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ นอกจากนี้ยังเห็นความสัมพันธ์กับอิทธิพลศิลปะขอม เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘

            การตั้งเมืองพะเยา ตามตำนานได้กล่าวถึง การเลือกที่ตั้งเวียง จากตำแหน่งที่ระบุว่า ทิศตะวันตกเป็นที่สูง ทิศตะวันออกลาดต่ำลง มีหนองน้ำอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในตำแหน่งดังกล่าวตรงกับเวียงน้ำเต้า ซึ่งมีผังเมืองเป็นรูปน้ำเต้า นอกจากนั้นตำนานเมืองพะเยา ยังได้อ้างถึงสภาพก่อนตั้งเมืองพะเยา ในบริเวณนี้มีเมืองมาก่อน แต่ได้ร้างไป
            เวียงน้ำเต้า  เป็นเวียงเก่า ต่อมาชุมชนได้ขยายตัวออกมาด้านริมกว๊านพะเยา เพราะใกล้แหล่งน้ำจึงสร้างเวียงทางทิศตะวันตกเป็นรูปสี่เหลี่ยมอยู่ติดชายกว๊าน เรียกว่า เวียงลูก - ตะวันตก  ตำนานพื้นเมืองพะเยากล่าวว่า เวียงลูกตะวันตกนี้สร้างในสมัยพญาสิงหราช โดยเจ้าราชบุตรบุญเมือง เป็นผู้สร้างในปี พ.ศ.๑๗๑๗ เวียงน้ำเต้าและเวียงลูกตะวันตก เป็นเวียงแฝด เวียงทั้งสองถือเป็นเวียงหลักของเมืองพะเยา นอกจากเวียงหลักแล้ว เมืองพะเยายังมีเวียงบริวาร ซึ่งสร้างขึ้นภายหลังเมื่อชุมชนเมืองขยายตัว เวียงบริวารได้แก่ เวียงพระธาตุจอมทอง เวียงปู่ล่าม เวียงหนองหวี และเวียงต๋อม
            เวียงพระธาตุจอมทองนั้น ตั้งอยู่บนเนินเขาด้านเหนือของเมือง มีคูเมืองล้อมรอบ ทำหน้าที่เป็นเวียงพระธาตุ ในล้านนาเวียงพระธาตุจะอยู่ใกล้เวียงหลัก เวียงปู่ล่าม และเวียงหนองหวี เป็นเวียงแฝดขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองพะเยา เวียงต๋อมอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของกว๊านพะเยา เวียงหลัก และเวียงบริวารดังกล่าว ตั้งอยู่ในลักษณะเป็นกลุ่มเมืองพะเยา
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
            สมัยเริ่มสร้างบ้านแปงเมือง  สู่นครรัฐอิสระ  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๓๙ พญาลาวเงิน ผู้ครองเมืองหิริญนครเงินยาง (เชียงแสน)  ได้ส่งราชบุตรองค์น้อยชื่อ ขุนจอมธรรม ไปครองเมืองฝ่ายใต้ ตั้งอยู่เชิงเขาชมภู หรือดอยด้วนใกล้แม่น้ำสายตา หรือแม่น้ำอิง เรียกเมืองนั้นว่า ภูกามยาว หรือเมืองพยาว เป็นนครเก่าสร้างมาแต่โบราณ มีเขื่อนค่าย ปราการ กำแพง คูเมือง มีประตูใหญ่แปดช่อง ทิศตะวันตกเป็นที่สูง ทิศตะวันออกเป็นที่ต่ำ มีสระหรือหนองใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศใต้ ตั้งอยู่สุดเชิงเขาชมพูอันเป็นเนินยาว พบภาชนะสิ่งของทำด้วยศิลา เช่น ครก หินบด เป็นต้น อยู่ตามป่าเชิงเขาเป็นอันมาก สันนิษฐานว่า เป็นบ้านเมืองมาตั้งแต่สมัยขอม
            เมื่อแรกเริ่มสร้างเมืองพะเยา ได้จัดระเบียบโครงสร้างของสังคมโดยจัดเป็นระบบพันนาไต้ ๓๖ พันนา โดยมีศูนย์กลางการปกครองคือตัวเวียงพะเยา ตั้งอยู่กลางหุบเขา ปลายสุดดอยด้วน ริมฝั่งตะวันออกของกว๊านพะเยา
            การแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓๖ พันนา มีจำนวนใกล้เคียงกับการแบ่งเขตตำบลต่าง ๆ ในปัจจุบันซึ่งมี ๓๐ ตำบล สมัยนั้นประชากรส่วนใหญ่ของพันนาต่าง ๆ มีอาชีพเกษตรกรรม ระบบพันนาเป็นหน่วยการปกครองในระดับที่เล็กกว่าเมือง การจัดแบบนี้เพื่อให้จำนวนไพร่มีความสมดุลกับปริมาณที่ดิน ขนาดของเมืองจะใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับจำนวนพันนาที่ขึ้นกับเมืองนั้น ๆ เช่นเมืองพะเยามี ๓๖ พันนา ผู้ปกครองพันนาจะมียศเป็นหมื่น ภายในพันนาจะมีขุนนางตำแหน่งต่าง ๆ เช่น หมื่นนา ล้านนา พันนาหลัก และแสนนา  หน่วยปกครองที่เล็กกว่าพันนาคือ ปาก - นา ผู้ปกครองมียศเป็นพัน  หน่วยปกครองที่เล็กกว่าปากนาคือ หมู่บ้าน มีแก่บ้านเป็นผู้ปกครอง
            เมืองพะเยามีเมืองอื่น ๆ อยู่ในอาณาเขตคือ เมืองลอง เมืองเท่ง เชียงแรง เมืองคอบจะลาว เมืองออย แจ่เสียง หนองขวาง แจ้หลวง แจ้ห่ม เมืองวัน  เมืองพะเยามีประตูแปดประตูคือ
                ประตูไชย  เป็นประตูที่ขุนจอมธรรมเข้าเมืองเป็นครั้งแรก
                ประตูหอกลอง  เมื่อผู้ใดมีเหตุการณ์ใดให้ตีกลองที่ประตูเข้าเมือง
                ประตูเหล็ก  คือ ประตูผังแผ่นเหล็กเครื่องตาดท้าวห้าประการลงในประตู
                ประตูท่านาง  คือ ประตูที่ฝ่ายหญิงลงไปอาบน้ำในกว๊าน
                ประตูท่าเหล้า  คือ ประตูที่ประชาชนทั้งหลายลงไปท่าเพื่อกินข้าวและเหล้าเวลาเย็น
                ประตูปราสาท  คือ ประตูที่ลงเลขยันต์รูปปราสาท
                ประตูท่าแป้น  คือ ประตูที่ลงเลขยันต์ลงไม้กระดานหรือเรียกแป้นกระดาน
                ประตูออมปอม  คือ ประตูที่ลงเลขยันต์ลงในขวดออมหรือกระปุก
            พ่อขุนจอมธรรมได้ให้สร้าง และบูรณะวัด ๑๘ วัด เมื่อครองเมืองพะเยาได้สามปี มีโอรส เมื่อปี พ.ศ.๑๖๔๒ มีชื่อว่า ขุนเจื๋อง ต่อมาอีกสามปีมีโอรสชื่อว่า ขุนชอง  ขุนจอมธรรมครองเมืองพะเยาได้ ๒๑ ปี มีอายุได้ ๕๙ ปี ก็ถึงแก่กรรม ขุนเจื๋องได้ขึ้นครองเมืองสืบแทนต่อมา

            เมื่อครองเมืองได้หกปี มีข้าศึกแก๋วยกกำลังมาประชิดเมืองเชียงแสน ทางขุนเจื๋องก็ได้รวบรวมกำลังจากเมืองต่าง ๆ เช่น เมืองลอ เมืองเท่ง เมืองเชียงแลง แจ้หลวง แจ้ห่ม เมืองลับ รวมกำลังได้ ๑๓๓,๐๐๐ คน แล้วยกกำลังไปปราบข้าศึกที่เมืองเชียงแสนได้ชัยชนะ ขุนชินเจ้าเมืองเชียงแสนยกธิดาชื่อนางอั้วคำคอน ให้เป็นชายา ยกเมืองเชียงแสนให้ขุนเจื๋องครอง ขุนเจื๋องจึงให้โอรสลาวเงินเรืองขึ้นครองเมืองพะเยาแทน ส่วนขุนเจื๋องก็ได้ปราบปรามบรรดาเมืองแถบล้านช้างทั้งหมด จนได้รับการยกย่องให้เป็นพระยาจักรวรรดิราช ชื่อ เจื๋องธรรมิกราช ครองเมืองแก๋ว ได้อภิเษกสมรสกับพระนางอู่แก้ว ธิดาพระยาแก๋ว มีโอรสสามคน
            ขุนเจื๋องได้ขยายอาณาเขตออกไปจนถึงเมืองแกว ภายหลังได้สิ้นพระชนม์ในสมรภูมิเมื่ออายุได้ ๖๗ พรรษา ครองล้านนา
ได้ ๒๔ ปี ปราบล้านช้างและครองเมืองแก้วได้ ๑๗ ปี

            พญางำเมือง  เป็นโอรสพ่อขุนมิ่ง ผู้ครองเมืองพะเยา  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๑๗๘๑  ได้ไปศึกษาต่อที่สำนักสุกทันตฤาษี ณ กรุงละโว้ เป็นเวลาสองปี เป็นศิษย์ร่วมรุ่นกับพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย พญางำเมืองได้ครองแคว้นพะเยา เมื่อปี พ.ศ.๑๘๐๑
            ฝ่ายเมืองเชียงแสนนั้นก็ได้สืบราชสมบัติต่อกันมาได้สี่ชั่วราชวงศ์มาถึงพญาลาวเมือง มีโอรสชื่อลาวเมง ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาเจ้าผู้ครองเมืองเชียงรุ้ง มีโอรสพระนามมังราย
            ความสัมพันธ์ระหว่างพญาร่วงกับพญามังรายนั้นเป็นพระญาติสืบสายมาแต่ต้นตระกูลเดียวกันคือ ลวะจักราช และประสูติร่วมปีเดียวกันคือ พ.ศ.๑๗๘๑
            ในปี พ.ศ.๑๘๑๙ พญามังรายครองราชย์อยู่เมืองเชียงรายได้ยกทัพมาตีเมืองพะเยา พญางำเมืองยอมยกแคว้นบวกน้ำจำนวน ๕๐๐ หลังคาเรือนให้แก่พญาเม็งราย แล้วได้เป็นไมตรีต่อกัน

            ได้มีการทำสัญญาสามกษัตริย์ เมื่อปี พ.ศ.๑๘๓๐ และในปี พ.ศ.๑๘๓๕ พญางำเมืองและพ่อขุนรามคำแหงได้เสด็จไปร่วมพิธีสร้างเมืองเชียงใหม่
            สมัยผนวกเมืองเข้าสู่อาณาจักรล้านนา  อาณาจักรล้านนาก่อตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๓๙ โดยพญามังราย เมืองพะเยาก่อนที่จะผนวกเข้าสู่อาณาจักรล้านนานั้น อยู่ในฐานะรัฐอิสระ หลังจากอาณาจักรล้านนาเป็นปึกแผ่นตั้งแต่สมัยพญามังรายจนถึงสมัยพญาคำฟู ประมาณปี พ.ศ.๑๘๗๗ - ๑๘๗๙ พญาคำฟูได้ขยายอาณาเขตไปทางตะวันออกโดยเริ่มทำสงครามกับเมืองพะเยา และยึดเมืองพะเยาไว้ได้ในสมัยพญาคำลือ แล้วถูกลดฐานะเป็นเมืองเล็ก ๆ ขึ้นกับเมืองเชียงราย

                ยุทธิษฐิระจากสุโขทัยครองเมืองพะเยา  พระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนาใช้เมืองพะเยาเป็นฐานอำนาจเข้าครอบครองเมืองแพร่ และเมืองน่าน รวมทั้งทำสงครามกับ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เพื่อชิงดินแดนแคว้นสุโขทัย
                ยุทธิษฐิระเป็นบุตรของพระยาราม มีเชื้อสายราชวงศ์พระร่วง เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์แล้วได้โปรดให้ตั้งยุทธิษฐิระเป็นพระยาสองแคว ครองเมืองพิษณุโลก ทำให้ยุษธิษฐิระไม่พอใจ ดังนั้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๔๔ ยุทธิษฐิระได้ลอบส่งสารไปทูลพระเจ้าติโลกราช ขอขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ และนัดหมายให้พระเจ้าติโลกราชยกทัพมาตีเมืองปากยม เมืองสุโขทัย และเมืองชากังราวได้สำเร็จ พระเจ้าติโลกราชจึงให้ยุทธิษฐิระไปครองเมืองภูคา ต่อมาให้ครองเมืองพะเยาและควบคุมเมืองแพร่กับเมืองน่าน อันเป็นเขตแดนประชิดแคว้นสุโขทัยทางแม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน
                เมื่อเป็นเจ้าเมืองพะเยาแล้ว ยุทธิษฐิระได้สร้างเมืองพะเยาแห่งใหม่ สร้างวัดป่าแดนหลวง สร้างพระพุทธรูปแก่นจันทน์ และยังเชื่อกันว่า ได้อัญเชิญรอยพระพุทธบาทมาจากแคว้นสุโขทัยด้วย
                สร้างเมื่อพะเยาแห่งใหม่  ยุทธิษฐิระได้บรรดาศักดิ์เป็นเจ้าหมื่นเมืองพะเยาและพระเจ้าติโลกราช ยกขึ้นเป็นลูก จากจารึกเมื่อปี พ.ศ.๒๐๑๗ กล่าวว่า ยุทธิษฐิระมาสร้างบ้านหนองเต่าให้เป็นที่อยู่ใหม่ อาจกล่าวได้ว่าขณะนั้นพระยายุทธิษฐิระมีอำนาจค่อนข้างมาก ทางฟากตะวันออกของแคว้นล้านนา ตั้งแต่ใต้เมืองเชียงรายลงมาตลอด ไปจนสุดแคว้นล้านนาตะวันออก ชนกับเขตแดนแคว้นสุโขทัย
                ยุครุ่งเรืองของเมืองพะเยาเริ่มที่ยุคพระยายุทธิษฐิระครองเมือง และสิ้นสุดก่อนที่แคว้นล้านนาจะถูกพม่ายึดครองเมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๑ รวมทั้งผู้ครองเมือง ๑๓ คน คนสุดท้ายคือ พระยาเมืองตู้
            สมัยพม่าปกครองล้านนา  ความเสื่อมของอาณาจักรล้านนาเกิดขึ้นในปลายราชวงศ์มังราย รวมไปถึงเมืองพะเยาด้วย เป็นการเสียเอกราชของล้านนาตลอดไป พม่าปกครองล้านนาถึงสองร้อยปี นับตั้งแต่พระเจ้าบุเรงนองครองอำนาจ (พ.ศ.๒๑๐๑ - ๒๓๑๗)
            ในสมัยราชวงศ์มังราย เมืองเชียงรายมีฐานะเป็นเมืองอุปราชและเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเมือง ในเขตตอนบนของล้านนา ในสมัยพม่าปกครองเชียงรายมีความสำคัญรองจากเชียงแสน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๔๔ เป็นต้นมา  พม่าให้เชียงแสนเป็นศูนย์กลางทางตอนบนของล้านนาขึ้นตรงต่อพม่า และในปี พ.ศ.๒๒๗๖  เมืองแพร่ น่าน ลำปาง ฝาง เมืองสาด เมืองเชียงของ และเมืองเทิง ทั้งหมดต่างขึ้นต่อเชียงแสน แต่เมืองเชียงรายไม่ได้ขึ้นกับแชียงแสน พม่าให้เมืองเชียงรายมีอำนาจครอบคลุมเมืองพยาว เมืองพาน เมืองเทิน เมืองชลาว และเมืองลอ
            ในปี พ.ศ.๒๓๑๗ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ยึดเชียงใหม่ได้ จึงโปรดให้เจ้ากาวิละเป็นเจ้าเมืองลำปาง ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของไทย เพื่อต่อต้านพม่าที่ยังยึดครองดินแดนล้านนาบางส่วน
            ในปี พ.ศ.๒๓๓๐  ครั้งนั้นเมืองเชียงแสนยังอยู่ในอำนาจพม่า ฝ่ายพม่าส่งกองทัพมาตีเมืองฝางได้แล้ว ให้ปราบปรามบ้านเล็กเมืองน้อยอื่น ๆ ทำให้เจ้าเมืองฝ่ายล้านนา ต่างพากันลี้ภัยไปอยู่เมืองลำปาง  มีชาวพะเยาก็หนีไปอยู่เมืองลำปางด้วย
            สมัยรัตนโกสินทร์  หลังจากพม่ายึดครองแล้วเมืองพะเยาก็เป็นเมืองร้าง เหมือนกับหลายเมืองในล้านนา การฟื้นฟูเมืองพะเยาได้กระทำหลังการฟื้นฟูเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้อย่างมั่นคงแล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ เมืองพะเยา เมืองงาว และเมืองเชียงราย ได้มีการตั้งเมืองขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.๒๓๘๖ เมืองพะเยากับเมืองงาวขึ้นกับเมืองลำปาง ส่วนเมืองเชียงรายขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ เจ้าเมืองลำปางได้ส่งเชื้อสายของตนมาปกครองพะเยา ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๘๗ เจ้าเมืองพะเยาคนแรก ในสมัยรัตนโกสินทร์คือ เจ้าพุทธวงศ์ เจ้าหลวงวงศ์ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ และเป็นตำแหน่งประจำของเจ้าหลวงเมืองพะเยา ในเวลาต่อมา
            ในสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองพะเยาที่อยู่ด้านตะวันออกติดกับกว๊านพะเยา มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นเมืองหน้าด่านซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับการสงครามอยู่เสมอ โดยเฉพาะสงครามเชียงตุง ทั้งสามครั้ง ในปี พ.ศ.๒๓๙๒ - ๒๓๙๕ และ๒๓๙๗  ชาวเมืองพะเยาถูกเกณฑ์ไปทำสงครามด้วยทุกครั้ง
            ในปี พ.ศ.๒๓๘๖  เจ้าหลวงวงศ์ เป็นผู้นำชาวเมืองพะเยามาจากเมืองลำปาง แล้วฟื้นฟูเมืองพะเยาขึ้นใหม่ จากสภาพป่ารกร้าง โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านสันเวียงใหม่
            ในปี พ.ศ.๒๔๔๘  เจ้าหลวงมหาชัย ผู้ครองเมืองพะเยาถึงแก่กรรม ในห้วงเวลาที่ครองเมืองอยู่เป็นช่วงเวลาที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ โปรดให้ปฎิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองพะเยาถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ มณฑลลาวเฉียง ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลพายัพ มีที่ว่าการมณฑลอยู่ที่เชียงใหม่
                เงี้ยวปล้นเมือง  เงี้ยวเป็นไทยใหญ่กลุ่มหนึ่งได้ก่อความไม่สงบ ในปี พ.ศ.๒๔๔๕  โดยพกาหม่อง ได้นำพรรคพวกเงี้ยวประมาณ ๓๐ - ๔๐ คน เข้าปล้นเมืองแพร่ แล้วลุกลามถึงเมืองน่านกับเมืองพะเยา เจ้าเมืองพะเยาได้ไปขอกำลังทหารจากเจ้าผู้ครองนครเมืองลำปางให้มาปราบเงี้ยว สามารถปราบได้ราบคาบ หลังจากนั้นก็ได้มีการนำเอาดินจี่ตามวัดร้าง ที่มีอยู่รอบเมืองไปก่อกำแพงเมือง
                จากเมืองพะเยาเป็นจังหวัดพะเยา  เมื่อกบฎเงี้ยวสงบลงแล้ว เมืองพะเยาได้เปลี่ยนเป็นจังหวัด เรียกว่า จังหวัดบริเวณพะเยา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๘  ให้เปลี่ยฐานะเป็นอำเภอเมืองพะเยา แล้วให้เจ้าอุปราชมหาชัย คีตสาร รักษาการในตำแหน่งเจ้าเมืองพะเยา
            ในปี พ.ศ.๒๔๕๗  เมืองพะเยา เมืองเชียงคำ แม่ใจ จุน อยู่ในการปกครองของเมืองเชียงราย ส่วนเมืองปง เชียงม่วน ขึ้นอยู่กับเมืองน่าน
            ในปี พ.ศ.๒๕๒๐  ได้มีประกาศจัดตั้งจังหวัดพะเยา โดยรวบรวมตำบลในอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผนวกกับตำบลในอำเภอเมืองพะเยา ตั้งเป็นอำเภอแม่ใจ ปัจจุบันจังหวัดพะเยา มี ๗ อำเภอและ ๒ กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอเชียงคำ อำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน อำเภอปง  อำเภอเชียงม่วน กิ่งอำเภอภูซาง และกิ่งอำเภอภูกามยาว

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |


 
 
dooasia.com
สงวนลิขสิทธิ์ © 2550 ดูเอเซีย    www.dooasia.com

เว็บท่องเที่ยว จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ข้อมูลท่องเที่ยว ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม แผนที่ การเดินทาง ที่พัก ร้านอาหาร จองที่พักและโรงแรมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ตทั่วโลก คลิปวีดีโอ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย ลาว เวียดนาม ขอขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การท่องเที่ยวลาว การท่องเที่ยวกัมพูชา การท่องเที่ยวเวียดนาม มรดกไทย กรมป่าไม้
dooasia(at)gmail.com ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย. สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์