จังหวัดร้อยเอ็ด
จังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ
120-160 เมตร มีภูเขาทางตอนเหนือซึ่งติดต่อจากเทือกเขาภูพาน
บริเวณตอนกลางของจังหวัด มีลักษณะเป็นที่ราบลูกคลื่น บริเวณตอนล่างมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำมูลและสาขา
ได้แก่ ได้แก่ลำน้ำชี ลำน้ำพลับพลา ลำน้ำเตา เป็นต้น
บริเวณที่ราบต่ำอันกว้างขวาง เรียกว่าทุ่งกุลาร้องไห้
มีพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ มีลักษณะเป็นที่ราบแอ่งกระทะ
แหล่งน้ำตามธรรมชาติได้แก่ ลำน้ำสายต่าง ๆ ได้แก่ลำน้ำชี
ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัด มีปริมาณน้ำไหลตลอดปี แม่น้ำมูลไหลผ่าทางตอนใต้ของจังหวัด
เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดร้อยเอ็ดกับจังหวัดสุรินทร์ นอกจากนั้นก็มี ลำน้ำเสียวใหญ่
ลำน้ำเสียวน้อย ลำน้ำเตา ลำน้ำพลับพลา และลำน้ำห้วยแกวใหญ่
ป่าไม้ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนเหนือ แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ ป่าเต็งรังหรือป่าโคกหรือป่าแดง
ป่าเบญจพรรณหรือป่าผสมผลัดใบ ป่าดงดิบแล้งหรือป่าดิบแล้ง ป่าพรุน้ำจืด
หรือป่าบุ่งป่าทาม ป่าสงวนในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดได้แก่ ป่าเป็ดก่า
ป่าดงแม่แผด ป่าดงหนองกล้า ป่าดงขี้เหล็ก ป่าดงหันและป่าโคกสูง
ป่าอุโมง และป่าหนองแวง ป่าดงภูเงิน และป่าหนองฟ้า ป่าดำใหญ่
และป่าดำขวาง ป่าดงมะอี่ ป่าไม้ล้ม และป่าโคกหนองปัว
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
บริเวณภาคอีสานได้พบหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์กระจายอยู่ทั่วไป ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด
ได้ขุดพบแหล่งโบราณคดี บ้านเมืองบัว
พบหลักฐานซึ่งสันนิษฐานว่า ชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบ
มีอายุประมาณ 1800-2500 ปีมาแล้ว และมักมีถิ่นฐานอยู่บริเวณลุ่มน้ำกับใกล้แหล่งเกลือสินเธาว์
อิทธิพลของพุทธศาสนาภายใต้วัฒนธรรมทวาราวดี ได้เข้ามาเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่
12-15 มีหลักฐานสมัยทวาราวดีที่สำคัญ
เช่น คูเมืองร้อยเอ็ด เจดีย์เมืองหงส์ ในเขตอำเภอจตุรพักตรพิมาน
กลุ่มใบเสมาบริเวณหนองศิลาเลข ในเขตอำเภอพนมไพร และพระพิมพ์ดินเผาปางนาคปรกที่เมืองไพร
ในเขตอำเภอเสลภูมิ
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 วัฒนธรรมจากอาณาจักรขอมได้แพร่เข้ามา ปรากฎหลักฐานอยู่มาก
เช่น สถาปัตยกรรมในรูปแบบของปราสาทหิน เช่น กู่กาสิงห์ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย
ปรางค์กู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี กู่พระโกนาในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ
ประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพทางศาสนา ที่เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ที่ทำจากหินทรายและโลหะเป็นจำนวนมาก
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
(ประมาณ 1800-2500 ปี)
ได้พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ อยู่บริเวณแม่น้ำมูล
ลำน้ำเสียว และลำน้ำพลับพลา ส่วนใหญ่อยู่บนเนินดินสูงใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ
และใกล้แหล่งเกลือสินเธาว์ พบมากในตอนกลางและตอนใต้ของจังหวัด
โดยเฉพาะในเขตทุ่งกุลาร้องไห้
เท่าที่สำรวจพบแล้วมีดังนี้
แหล่งโบราณคดี โนนกระต้อง และบ้านเมืองบัว อำเภอเกษตรวิสัย
แหล่งโบราณคดี ดงเมืองจอก อำเภอจักรพรรดิพิมาน
แหล่งโบราณคด ีบ้านจาน (จานเตย) บ้านตาหยวก บ้านสังข์ บ้านดอนตาพัน
บ้านบ่อพันขันและบ้านโนนเดื่อ อำเภอสุวรรณภูมิ
แหล่งโบราณคดี บ้านนายเต็ง (คุ้มวัดเหนือ) และบ้านสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด
แหล่งโบราณคดี บ้านดอกล้ำ อำเภอปทุมรัตน์ แหล่งโบราณคดีวัดโนนม่วง
อำเภอสรอง
แหล่งโบราณคดี บ้านโนนม่วง อำเภอพนมไพร และแหล่งโบราณคดี บ้านสำโรง-หว่านไฟ
อำเภออาจสามารถ
โบราณวัตถุที่พบบางชนิดมีลักษณะเฉพาะ เช่น ภาชนะเนื้อดินหยาบ มีความแกร่งน้อย
ผิวนอกสีขาวนวล มีการทำลวดลายโดยใช้เชือกทาบ มีชื่อเรียกเฉพาะว่า
ภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ด
สมัยทวาราวดี
(ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-15)
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ได้ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวาราวดี
ซึ่งเป็นวัฒนธรรมในศาสนาพุทธ เมืองที่สร้างขึ้นมีรูปร่างและที่ตั้งไม่แน่นอน
แต่มีลักษณะที่สำคัญคือ มีคูน้ำ และคันดินล้อมรอบชุมชน ร่องรอยที่ยังเห็นอยู่ของคูเมืองและคันดินได้แก่บริเวณด้านตะวันออกของจังหวัดบูรพาราม
ด้านใต้ของเมืองบริเวณโรงเรียนสตรีศึกษา นอกจากนี้ยังพบอยู่ในอำเภอต่าง
ๆ ของร้อยเอ็ด ได้แก่บ้านเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ บ้านเมืองหงส์ อำเภอจตุรพักตรพิมาน
บ้านสีแก้ว อำเภอเมืองร้อยเอ็ด หนองศิลเลข และบ้านชะโด อำเภอพนมไพร
บ้านดงสิงห์ อำเภอจังหาร
สมัยลพบุรี
หรือวัฒนธรรมขอม
(ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-18)
ได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นที่รู้จักดี ได้แก่ปราสาทหินกู่กาสิงห์
ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย กู่พระโกนา ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ
ปรางค์กู่
ในเขตอำเภอธวัชบุรี กู่โพนระฆัง กู่โพนวิท
กู่บ้านเมืองบัว ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย
กู่คันทนามในเขตอำเภอโพนทราย
สำหรับโบราณวัตถุ ได้แก่รูปเคารพและเครื่องมือเครื่องใช้ในศาสนา เช่นพระพุทธรูป
เทวรูป ศิวลึงค์ ภาชนะดินเผา คันฉ่องสำริด กำไลสำริด
เป็นต้น
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในพุทธศตวรรษที่
19
ได้ปรากฎชื่อเมืองร้อยเอ็ดในเอกสารของลาวว่า พระเจ้าฟ้างุ้ม เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นบุตรเขยเมืองขอม
ได้นำไพร่พลมารวมกำลังกันอยู่ที่เมืองร้อยเอ็ด ก่อนยกกำลังไปตีเมืองหลวงพระบางได้สำเร็จแล้วจึงได้สถาปนา
อาณาจักรล้านช้าง
การตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนไทย-ลาวในพุทธศตวรรษที่
23
หลักฐานเกี่ยวกับเมืองร้อยเอ็ดขาดหายไปประมาณ 400 ปี จนถึงประมาณปี
พ.ศ. 2231 เมืองเวียงจันทน์เกิดความไม่สงบ พระครูโพนสะเม็ดพร้อมผู้คนประมาณ
3,000 คน ได้เชิญเจ้าหน่อกษัตริย์
อพยพลงมาตามลำแม่น้ำโขง
แล้วมาตั้งมั่นอยู่ที่บริเวณเมืองจำปาศักดิ์ ผู้ปกครองเมืองจำปาศักดิ์
มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระครูโพนสะเม็ด จึงได้นิมนต์ให้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
และปกครองเมืองจำปาศักดิ์ ต่อมาเจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์
พระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร
ได้ขยายอิทธิพลไปในดินแดนต่าง ๆ เหนือสองฝั่งแม่น้ำโขง ได้ตั้งเมืองใหม่ขึ้นหลายแห่ง
และส่งบริวารไปปกครอง เช่นเมืองเชียงแตง เมืองสีทันดร เมืองรัตนบุรี
เมืองคำทอง เมืองสาละวัน และเมืองอัตปือ เป็นต้น
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2256 เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูรได้มอบหมายให้จารย์แก้ว
ควบคุมไพร่พลประมาณ 3,000 คน มาสร้างเมืองขึ้นใหม่ในดินแดนอิสานตอนล่าง
เรียกว่าเมืองท่ง
ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ มีเจ้าเมืองต่อมาคือ ท้าวมืด
ท้าวทน ท้าวเชียง และท้าวสูน เมืองท่งจึงตกอยู่ในอำนาจของกรุงธนบุรี
ขาดจากอำนาจของนครจำปาศักดิ์
สมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
พระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยากรมท่าและพระยาพรหม เดินทางมาดูแลหัวเมืองในภาคอิสาน
ท้าวทนได้เข้ามาขออ่อนน้อม
พระยาทั้งสองจึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรีขอตั้งท้าวทนเป็นเจ้าเมือง โดยยกบ้านกุ่มฮ้างขึ้นเป็นเมืองร้อยเอ็ดตามนามเดิม
ท้าวทนได้รับแต่งตั้งเป็นพระขัติยะวงษา
นับว่าเป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนแรก
พระขัติยะวงษา (ทน) ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2326 ท้าวสีลัง
บุตรคนโตได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นพระขัติยะวงษา เจ้าเมืองร้อยเอ็ดสืบแทน ในปี พ.ศ. 2369
เกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์
เวียงจันทน์ เมื่อกองทัพกบฎถูกตีแตกถอยร่นกลับมา กำลังทหารจากเมืองร้อยเอ็ดได้เข้าโจมตีซ้ำเติมจนพวกกบฎแตกพ่าย
พระขัติยะวงษา (สีลัง) ได้มีความดีความชอบ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาขัติยะวงษา
ในปี พ.ศ. 2418 เกิดกบฎฮ่อที่เวียงจันทน์
และหนองคาย เจ้าเมืองอุบลได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้ายกกำลังไปปราบ
โดยเกณฑ์กำลังพลจากหัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือ ไปช่วยปราบกบฎ เมื่อกองทัพยกมาถึงเมืองร้อยเอ็ด
พระขัติยะวงษา (สาร) และราชวงศ์ (เสือ) ได้สมทบกำลังไปปราบฮ่อด้วย
เมื่อเสร็จศึก ราชวงศ์ (เสือ) ได้รับแต่งตั้งเป็น พระขัติยะวงษา
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงปฏิรูปการปกครองในระบบมณฑลเทศาภิบาล
จึงให้รวมหัวเมืองอีสานเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งออกเป็น 4 กองใหญ่
แต่ละกองมีข้าหลวงกำกับการปกครองกองละ 1 คน และมีข้าหลวงใหญ่ กำกับราชการอีกชั้นหนึ่ง
อยู่ที่เมืองจำปาศักดิ์ กองใหญ่ทั้ง 4 กอง ได้แก่ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก
หัวเมืองลายฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ และหัวเมืองฝ่ายกลาง
เมืองร้อยเอ็ดเป็นหัวเมืองเอกใน จำนวน 12 เมือง ของหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ
มีศูนย์การบริหารหัวเมืองอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2437
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตราระบบการปกครองเทศาภิบาล
ขึ้นใช้ปกครองส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ หัวเมืองลาวกาวจึงเปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลลาวกาว
ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ
และมณฑลอีสานตามลำดับ
ในปี พ.ศ. 2450 เมืองร้อยเอ็ด ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นบริเวณร้อยเอ็ด
โดยแบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น 5 เมือง คือเมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ
เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาไสย และเมืองกาฬสินธุ์
ในปี พ.ศ. 2453 สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
ทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอของเทศาภิบาลข้าหลวงมณฑลอีสานว่า ควรแยกมณฑลอีสานออกเป็น
2 มณฑล คือ มณฑลอุบลราชธานี
และมณฑลร้อยเอ็ด
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นไปตามที่เสนอ
มณฑลร้อยเอ็ดจึงมีเขตปกครอง 3 จังหวัดคือ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม
และจังหวัดกาฬสินธุ์
พ.ศ. 2465 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมมณฑลร้อยเอ็ด
มณฑลอุบล และมณฑลอุดร เป็นภาคเรียกว่าภาคอีสาน
มีอุปราชประจำภาคอยู่ที่เมืองอุดรธานี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2468
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกเลิกภาคอีสาน แล้วปรับเปลี่ยนเป็นการปกครองระบบมณฑลตามเดิม
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2469 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยุบมณฑลร้อยเอ็ด
มณฑลอุบล และมณฑลอุดร แล้วให้เปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัด ขึ้นต่อมณฑลนครราชสีมา
ระหว่างปี พ.ศ. 2445-2455 ได้เกิดกบฎผีบุญขึ้นในจังหวัดร้อยเอ็ด
อันมีสาเหตุมาจากการยกเลิกการปกครองแบบดั้งเดิม โดยยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง
แล้วแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปปกครอง ทำให้เกิดการต่อต้านจากกลุ่มเจ้าเมืองเดิมและทายาท
กบฎผีบุญเกิดขึ้นจากจะมีผู้อ้างตัวเป็นผู้วิเศษตามท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคอีสาน
ในที่สุดก็ถูกทางราชการปราบได้ราบคาบ
ในปี พ.ศ. 2469 อำมาตย์เอกพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ)
ข้าหลวงจังหวัดร้อยเอ็ดเห็นว่าบึงพลาญชัย (เดิมใช้ว่าบึงพระลานชัย)
ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองร้อยเอ็ดตื้นเขิน ถ้าปล่อยทิ้งไว้บึงก็จะหมดสภาพไป
จึงได้ชักชวนชาวบ้านจากทุกอำเภอมาขุดลอกบึง เพื่อให้มีน้ำขังอยู่ได้ตลอดปี
ได้ดำเนินการขุดลอกบึงทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ 2 ปี มีชาวบ้านมาร่วมขุดลอกบึงถึง
40,000 คน นับว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ที่ควรจารึกไว้เป็นตัวอย่างที่ดี
แก่ลูกหลานไทยต่อไปชั่วกาลนาน ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
จนเป็นมรดกที่สำคัญของจังหวัดร้อยเอ็ดมาตราบเท่าทุกวันนี้
มรดกทางธรรมชาติ
ประกอบด้วยพื้นที่ป่า พืชพรรณ ต้นน้ำลำธาร ป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดมีอยู่
10 ป่าด้วยกัน ดังที่ได้กล่าวแล้วแต่ตอนต้น นอกจากนี้ยังมีทุ่งทาบซึ่งเป็นป่าริมแม่น้ำที่ท่วมถึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำจืด
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสัตว์บก และนก
แม่น้ำชี
มีต้นกำเนิดจากจังหวัดชัยภูมิ ไหลผ่านทางด้านเหนือ และวกมาทางทิศตะวันออกของตัวจังหวัด
ที่อำเภอจังหาร ผ่านอำเภอเมือง อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพธิชัย
อำเภอเสลภูมิ อำเภออาจสามารถ และอำเภอพนมไพร เข้าสู่เขตจังหวัดยโสธร
ลำน้ำยัง
ไหลจากเทือกเขาภูพานทางตอนเหนือ ผ่านอำเภอโพนทอง แล้วไหลลงสู่แม่น้ำชีในเขตอำเภอเสลภูมิ
แม่น้ำมูล
มีต้นกำเนิดจากจังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านทางด้านใต้ของจังหวัด เป็นแนวแบ่งเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดร้อยเอ็ด
ลำน้ำเสียว
ไหลผ่านพื้นที่ส่วนกลางของจังหวัด ผ่านอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย
และอำเภอสุวรรณภูมิ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูล ในเขตอำเภอโพนทราย
ลำน้ำพลับพลา
มีต้นกำเนิดจากจังหวัดนครราชสีมา ไหลผ่านอำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอสุวรรณภูมิ
ทางตอนใต้ของจังหวัด เป็นแนวแบ่งเขตพื้นที่จังหวัดสุรินทร์กับจังหวัดร้อยเอ็ด
ลำน้ำเตา
ไหลผ่านอำเภอปทุมรัตน์และอำเภอเกษตรวิสัย
บึงเกลือ
อยู่ในพื้นที่อำเภอเสลภูมิ เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 75,000
ไร่ ริมบึงมีหาดทรายสะอาด มีบรรยากาศคล้ายชายทะเล
บึงพลาญชัย
เป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่อยู่กลางตัวเมือง มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่
เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด มีการปรับปรุงให้สวยงาม มีสวนสุขภาพ
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาหลายชนิด และมีสถานที่สำคัญอยู่ที่เกาะกลางบึงคือ
ศาลหลักเมืองร้อยเอ็ด
ทุ่งกุลาร้องไห้
เป็นที่ราบขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ อยู่ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ดประมาณ
7 แสนไร่ บริเวณอำเภอโพนทราย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเกษตรวิสัย
และอำเภอปทุมรัตน์ การที่ได้ชื่อว่าทุ่งกุลาร้องไห้ มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า
ชนเผ่ากุลาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยจากเมืองเมาะตะมะ
ประเทศพม่า ได้เดินทางมาค้าขายผ่านทุ่งแห่งนี้ ต้องใช้เวลาเดินทางหลายวัน
ไม่พบหมู่บ้านใด ๆ เลย น้ำก็ไม่มีดื่ม ต้นไม้ก็ไม่มีที่จะให้ร่มเงา
มีแต่ทุ่งหญ้าเต็มไปหมด พื้นดินก็เป็นทราย เดินทางยากลำบากเหมือนอยู่กลางทะเลทราย
ทำให้คนพวกนี้ถึงกับร้องไห้
ในอดีต ทุ่งกุลาร้องไห้ในฤดูแล้ง พื้นที่ส่วนใหญ่จะแห้งแล้งมาก ส่วนในฤดูฝนน้ำจะท่วมทุกปี
ใต้พื้นดินลงไปเป็นน้ำเค็ม ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หลังจากที่ได้มีการพัฒนาที่ดินแล้ว
ทุ่งกุลาร้องไห้ได้กลายเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญของประเทศ และกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีชื่อเสียงของไทย
มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งโบราณคดี
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เท่าที่ค้นพบกว่าสิบแห่งที่กล่าวมาแล้วแต่ต้น
พบว่าเป็นชุมชนแบบเกษตรกรรมที่รู้จักการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ผลิตภาชนะดินเผา
และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยสำริดและเหล็ก นอกจากนั้นยังพบความเชื่อในเรื่องพิธีฝังศพครั้งที่
2 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ใกล้เคียง
โบราณสถานสมัยทวาราวดี
โบราณสถานสมัยทวาราวดีเท่าที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ คูเมืองร้อยเอ็ด
และเจดีย์เมืองหงส์ ที่อำเภอเมือง หนองศิลาเลข อยู่ที่ตำบลพนมไพร
บ้านดงสิงข์ อยู่ในเขตอำเภอจังหาร และบ้านเมืองไพร อยู่ในอำเภอเสลภูมิ
โบราณสถานสมัยลพบุรี
กู่กาสิงห์
อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย เป็นปราสาทก่อด้วยอิฐปูนหิน มีอยู่ 3 หลัง
ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง
ขนาดใหญ่กว่า และมีมณฑปลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยื่นออกมาด้านหน้า
ด้านข้างของกลุ่มปราสาท มีอาคารก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่สองหลังเรียกว่า
บรรณาลัย สิ่งก่อสร้างทั้งหมดล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลงสี่เหลี่ยมมีซุ้มประตู
(โคปุระ) อยู่ทั้งสี่ด้าน นอกเขตกำแพงมีคูน้ำรูปเกือกม้าล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง
ภายในกู่กาสิงห์เคยมีศิวลึงค์ตั้งอยู่ จากรูปแบบของสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบอื่น
ๆ สันนิษฐานว่ากู่กาสิงห์ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมแบบบาปวน สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
16-17
กู่โพนระฆัง
อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ห่างจากกู่กาสิงห์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ
500 เมตร ปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลง ล้อมรอบด้วยกำแพงสี่เหลี่ยมซึ่งมีซุ้มประตู
หรือโคปุระอยู่ด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีบรรณาลัยอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสกรุด้วยศิลาแลง อยู่นอกกำแพงทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่หนึ่งสระ
กู่โพนวิท
อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ห่างจากกู่กาสิงห์ไปทางเหนือประมาณ 500 เมตร
สภาพปัจจุบันเป็นเนินดินขนาดใหญ่ ตัวกู่อยู่ในสภาพปรักหักพัง
คงเหลือแต่ฐานศิลาแลงเป็นบางส่วน และแท่งหินทรายขนาดใหญ่ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ฐานรูปเคารพขนาดต่าง
ๆ ที่สลักจากหินทราย และมีรูปทวารบาล ประติมากรรมของกู่โพนวิท
เป็นศิลปะขอมแบบเกรียง ซึ่งพบไม่มากนักในประเทศไทย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่
16
กู่กระโดน
อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย มีรูปร่างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีทางเข้าเพียงทางเดียว มีทับหลังที่เป็นภาพเล่าเรื่องอยู่
2 ชิ้น น่าจะมีที่มาจากวรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์ จากรูปแบบของทับหลัง
ทำให้กำหนดได้ว่าเป็นศิลปะขอมแบบบาปวนตอนปลาย หรือนครวัดตอนต้น มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
16-17 กู่กระโดนได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478
กู่พระโกนา
อยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ เป็นปราสาทอิฐ 3 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ มีซุ้มประตูหรือโคปุระอยู่ทั้งสี่ทิศ
ตัวโบราณสถานถูกดัดแปลงสภาพไปมาก จากรูปแบบของสถาปัตยกรรรมที่ปรากฎอยู่ที่ทับหลังและหน้าบัน
จัดอยู่ในศิลปะขอมแบบบาปวน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17
ร่วมสมัยกับกู่กาสิงห์ กู่พระโกนาสร้างเป็นกลุ่มปราสาทขนาดใหญ่
จึงน่าจะมีความสำคัญในอดีต
กู่เมืองบัว
อยู่ในเขตอำเภอเกษตรวิสัย ก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ตั้งอยู่บนเนินดินมีแนวคูน้ำล้อมรอบ ทับหลังที่พบเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
เป็นศิลปะขอมแบบบาปวน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ได้พบเทวรูปพระคเณศจึงสันนิษฐานว่า
กู่เมืองบัวคงสร้างขึ้นในลัทธิไศวนิกาย
พระธาตุบ่อพันขัน
อยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ เป็นปราสาททรงสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน
ตั้งอยู่บนฐานสูงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีทางเข้าทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว
โบราณวัตถุที่สำคัญที่คงจะได้ไปจากที่แห่งนี้คือ ประติมากรรมเอกมุขลึงค์
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานรูปแบบของวิวัฒนาการ ระหว่างศิวลึงค์รุ่นก่อนกับศิวลึงค์รุ่นหลัง
สันนิษฐานว่าพระธาตุองค์นี้ เดิมสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ต่อมาได้มีการซ่อมแซมองค์พระธาตุ
ทำให้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบธาตุอีสาน พระธาตุบ่อพันขันได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
เมื่อปี พ.ศ. 2525
ปรางค์กู่
อยู่ในเขตอำเภอธวัชบุรี สร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ปรางค์ประธานมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีกำแพงล้อมรอบแต่มีซุ้มประตูหรือโคปุระ
อยู่ด้านหน้าด้านเดียว ที่มุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า
บรรณาลัยอยู่หนึ่งหลัง ภายนอกมีสระน้ำกรุด้วยศิลาแลง จากการขุดแต่งบูรณะได้พบทับหลัง
เสากรอบประตู และศิวลึงค์ขนาดใหญ่ จึงสันนิษฐานว่า ปรางค์กู่เป็นสถาปัตยกรรมแบบบาปวนในลัทธิไศวนิกาย
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรางค์กู่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
เมื่อปี พ.ศ. 2478
กู่คันทนาม
อยู่ในเขตอำเภอโพนทราย สร้างด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ปรางค์ประธานตอนบนถูกดัดแปลงเป็นกุฎิพระสงฆ์ ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกู่มีบรรณาลัยอยู่หนึ่งหลัง
มีกำแพงล้อมรอบและมีซุ้มประตูหรือโคปุระอยู่ทางด้านหน้าเพียงด้านเดียว
นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสกรุด้วยศิลาแลงอยู่หนึ่งสระ
กู่แห่งนี้เป็นศาสนสถานของขอม มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 16-18
กู่คันทนามได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2478
ปราสาทหินกอง
อยู่ในเขตอำเภอสุวรรณภูมิ ปัจจุบันมีสภาพเป็นเนินดินที่มีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบ
ตัวปราสาทมีขนาดค่อนข้างเล็กก่อด้วยศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
จากทับหลังที่พบมีภาพสลักเรื่องกฤษณาวตาร จากรูปแบบของทับหลังทำให้ทราบว่า
เป็นศิลปะขอมแบบบาปวน
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปราสาทหินกองได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
เมื่อปี พ.ศ. 2478
มรดกทางพระพุทธศาสนา
ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาประเภทสิม หรืออุโบสถพื้นเมืองของอีสาน
มีทั้งที่มีจิตรกรรมฝาผนัง หรือ ฮูมแต้ม และที่ไม่มีจิตรกรรมฝาผนัง
สิมวัดจักรวาลภูมิพินิจ
อยู่ที่วัดหมื่นถ่าน อำเภออาจสามารถ เป็นสิมแบบพื้นเมืองประเภทสิมทึบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาทรงจั่วชั้นเดียว มีลายแกะไม้ที่หน้าบันและส่วนรังผึ้ง
เดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีจิตรกรรมฝาผนังประดับ ด้านนอกเป็นภาพพุทธประวัติ
ด้านในเป็นวรรณคดีพื้นบ้านเรื่องสังข์ศิลป์ชัย สิมแห่งนี้มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่
24
สิมวัดบ้านขอนแก่นเหนือ
อยู่ที่วัดบ้านขอนแก่น อำเภอเมือง เป็นสิมพื้นเมืองประเภทสิมทึบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ขนาดประมาณ 4 x 5 เมตร หันหน้าไปทางตะวันออก หลังคาเป็นทรงจั่วชั้นเดียว
มีลายแกะไม้ที่หน้าบันและส่วนรังผึ้ง เดิมหลังคามุงด้วยไม้แปนเกล็ด
มีจิตรกรรมฝาผนังประดับ ด้านนอกเป็นภาพพุทธประวัติตอนออกผนวช ตอนมารผจญ
และภาพนรกสวรรค์ มีอักษรไทยน้อยระบุปีที่สร้าง คือปี พ.ศ. 2428 (จ.ศ.
1247)
สิมวัดไตรภูมิคณาจารย์
(วัดบ้านตากแดด)
อยู่ที่วัดไตรภูมิคณาจารย์ อำเภอสุวรรณภูมิ เป็นสิมพื้นเมืองประเภทสิมทึบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ขนาดประมาณ 5 x 8 เมตร หันหน้าไปทางตะวันออก หลังคาเป็นทรงจั่วชั้นเดียว
มีลายแกะไม้ที่หน้าบันและรังผึ้ง รวมทั้งคันทวยที่แกะเป็นรูปพญานาค
เดิมหลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีจิตรกรรมฝาผนังประดับภายในตัวอาคาร
เป็นภาพพุทธประวัติตอนออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) และภาพเรื่องรามเกียรติ์
ด้านข้างของสิมมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ปางมารวิชัย ศิลปะแบบช่างพื้นเมือง
สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา
สิมวัดพุทธสีมา
(วัดบ้านเปลือยใหญ่)
อยู่ที่วัดพุทธสีมา อำเภอสุวรรณภูมิ เป็นสิมแบบพื้นเมือง ขนาดประมาณ
6 x 9 เมตร หลังคาทำเป็นชั้นลดซ้อนกัน มีภาพจิตรกรรมประดับที่ผนัง
ด้านในเป็นภาพชาดกเรื่องพระเวสสันดร และภาพเรื่องเกี่ยวกับนรกภูมิ
ลายปูนปั้นที่หน้าบันทั้งสองด้านเป็นรูปครุฑและนาค ซึ่งมีลักษณะคล้ายมังกรของจีน
สิมวัดประตูชัย
(บ้านคำไฮ)
อยู่ที่วัดประตูชัย อำเภอธวัชบุรี เป็นสิมแบบพื้นเมืองประเภทสิมทึบ
รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดประมาณ 3 x 9 เมตร หลังคาเป็นทรงจั่วชั้นเดียว
เดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด มีภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับเป็นภาพชาดก
เรื่องพระเวสสันดรอยู่ด้านนอกของตัวอาคาร จากประวัติทราบว่าสิมแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ. 2441
สิมวัดบ้านสีฐาน
อยู่ที่วัดบ้านสีฐาน กิ่งอำเภอทุ่งเขาหลวง เป็มสิมแบบพื้นเมืองประเภทสิมทึบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ขนาดประมาณ 4.5 x6.5 เมตร หลังคาเป็นทรงจั่วซ้อนลดหลั่นกัน เดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด
ความโดดเด่นของสิมแห่งนี้ อยู่ที่ลายแกะไม้ที่หน้าบันเป็นรูปดวงอาทิตย์
(ตาเวน) และลายแกะส่วนของรังผึ้งซึ่งแกะเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้าง ครุฑยุดนาคและนิทานพื้นบ้าน
รวมทั้งลายคันทวยรูปพญานาค นับว่าเป็นลายแกะไม้ของสิมที่สวยงามที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ด
หลวงพ่อสังกัจจายน์
เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดร้อยเอ็ด ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระสังกัจจายน์
วัดสระทอง สร้างด้วยอิฐหินปูนโบราณ นั่งขัดสมาธิสูง หน้าตักกว้าง 90
นิ้ว สูง 101 นิ้ว ไม่มีหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด ชาวร้อยเอ็ดจะจัดพิธีบายศรีสมโภชหลวงพ่อสังกัจจายน์
ในวันเพ็ญเดือน 4 เป็นประจำปี
สระโบราณ
จังหวัดร้อยเอ็ดมีสระโบราณอยู่ 5 สระด้วยกันคือ สระชัยมงคล สระแก้ว
สระทอง สระบริสุทธิ์ และสระประเสริฐ สระทั้ง 5 แห่งนี้ชาวร้อยเอ็ดถือว่าเป็นสระน้ำที่มีความสำคัญและศักสิทธิ์
เมื่อจะกระทำพิธีมงคลใด ๆ ก็จะใช้น้ำในสระทั้ง 5 นี้ ไปเข้าพิธีทุกครั้ง
สระชัยมงคล
เป็นสระโบราณเก่าแก่ มีมาคู่กับวัดบึงพระลานชัย มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า
พระลานแห่งนี้ เป็นที่ใช้ฉลองชัยชนะของกษัตริย์ในสมัยก่อน เมื่อไปทำศึกได้ชัยชนะ
จะมาล้างดาบและชำระร่างกายที่สระนี้ ก่อนที่จะทำการฉลองชัยชนะ นอกจากนั้น
น้ำในสระแห่งนี้ยังใช้เป็นน้ำดื่มในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ของผู้ครองเมืองและข้าราชการในสมัยก่อน
ในปัจจุบันทางราชการและประชาชนทั่วไป เมื่อจะทำพิธีสำคัญต่าง ๆ ก็จะใช้น้ำในสระนี้ไปทำพิธี
สระแก้ว
เป็นสระเก่าแก่โบราณมีน้ำขังอยู่ตลอดปี อยู่ในเขตอำเภอเมือง ต่อมาเมื่อได้สร้างวัดขึ้นมาข้างสระแก้ว
จึงให้ชื่อว่าวัดสระแก้วตามชื่อสระ
สระทอง
เป็นสระเก่าแก่อยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง เดิมมีวัดศรีมงคลตั้งอยู่
ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อวัดให้คล้องจองกับชื่อสระว่า วัดสระทอง
สระประเสริฐ
เป็นสระที่ขุดขึ้นเมื่อครั้งตั้งหน่วยทหารขึ้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี
พ.ศ. 2455 ในสมัยพระยาประเสริฐสงคราม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่
10 คนที่ 2 ค่ายทหารที่ตั้งนี้ได้ชื่อว่า ค่ายประเสริฐสงคราม
และเรียกสระน้ำในค่ายนี้ว่า สระประเสริฐ
สระบริสุทธิ์
เป็นสระน้ำที่ขุดขึ้นเมื่อครั้งที่อำมาตย์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง
จันทรางศุ) ให้ขุดลอกบึงพลาญชัย เมื่อปี พ.ศ. 2469 โดยสระที่ขุดขึ้นนี้อยู่ใจกลางบึงพลาญชัย
วัดกลางมิ่งเมือง
อยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2084 เดิมชื่อวัดกลาง
เนื่องจากตั้งอยู่ใจกลางเมือง สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่เมืองร้อยเอ็ดอยู่ในการปกครองของขอม
พระอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2090 กว้าง 12.50 เมตร ยาว 20 เมตร
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ.
2509 เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เขตวิสุงคามสีมากว้าง
20 เมตร ยาว 40 เมตร
วัดบูรพาภิราม
อยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี
พ.ศ. 2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2481 และได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี
พ.ศ. 2531 เดิมชื่อวัดหัวรอ เนื่องจากเป็นสถานที่สำหรับรวมแขก
เพราะประชาชนในสมัยนั้นนิยมการค้าขาย เมื่อเดินทางไปค้าขายตก ค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น
วัดหัวรอจึงเป็นจุดเริ่มที่จะต้องพักแรมคืนแรกของการเดินทาง เมื่อปี พ.ศ.
2456 ได้ขยายวัดเพิ่มให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่าวัดบูรพา
ด้วยเหตุที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของตัวเมือง ต่อมาจึงได้เพิ่มนามเป็นวัดบูรพาภิราม
วัดบึงพระลานชัย
อยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่โบราณ
ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่ามานานหลายร้อยปี มีสิ่งก่อสร้างเป็นศิลาแลงใบเสมาปรักหักพัง
เมื่อปี พ.ศ. 2430 หลวงสงกรานต์วิศิษฐ์ โดยการสนับสนุนของพระยาขัติยะวงษา
(เภา ธนสีลังกูร) ได้นำข้าราชการและประชาชนรวมทั้งผู้ต้องขัง
ช่วยกันถางป่าบุกเบิกฟื้นฟูบูรณะวัดโบราณแห่งนี้ ให้กลับมาเป็นวัดอีกครั้งหนึ่ง
และให้ชื่อว่าวัดบึงพระลานชัย
วัดสระทอง
อยู่ที่อำเภอเมือง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2337 เดิมชื่อว่าวัดศรีมงคล
แต่เนื่องจากรอบวัดเป็นสระน้ำที่เรียกว่าสระทอง จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็นวัดสระทอง
แต่ไม่มีหลักฐานว่าเปลี่ยนเป็นชื่อนี้แต่เมื่อใด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี
พ.ศ. 2508 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร
วัดเหนือ
อยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2348 เป็นวัดเก่าแก่ประจำเมืองร้อยเอ็ด
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2526 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง
20 เมตร ยาว 40 เมตร
|