จังหวัดสกลนคร
จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดหนองคาย
และนครพนม ทิศใต้ติดต่อกับจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดนครพนม ทิศตะวันตกติดต่อกับ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย
สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปอยู่ในเขตอยู่ในเขตที่ราบสูงโคราช
มีลักษณะเป็นแอ่งก้นกระทะ พื้นแผ่นดินเป็นคลื่นลอนน้อย ๆ บริเวณตอนกลางค่อนไปทางเหนือมีทิวเขาเตี้ย
ๆ คือ เทือกเขาภูพาน ทอดตัวเป็นรูปโค้งพระจันทร์เสี้ยว
สกลนครอยู่ในเขตแอ่งตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโครงสร้างของแผ่นดินที่ประกอบด้วยหินทราย
ดินเป็นดินทราย น้ำซึมผ่านได้ง่ายจึงไม่เก็บน้ำ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วนดังนี้
ที่ราบลุ่มหนองหาน ได้แก่บริเวณรอบ
ๆ หนองหาน ซึ่งเป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ พื้นที่เป็นที่ราบสลับลูกคลื่นลอนลาดเขาจากทางด้านทิศใต้
ลาดเทไปทางด้านทิศเหนือ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ ๑๕๐
- ๑๖๐ เมตร อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอโพนนาแก้ว อำเภอกุสุมาลย์ และอำเภออากาศอำนวย
มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ ๑๕๐ - ๑๖๐ เมตร
ที่ราบสูงและเทือกเขาสูงทางด้านใต้
ได้แก่บริเวณที่ราบสูงระหว่างเทือกเขาต่าง ๆ ในเขตเทือกเขาภูพาน ซึ่งมีแนวเทือกเขาสองแนวได้แก่แนวเทือกเขาภูพานน้อย
และแนวเทือกเขาภูพานใหญ่
แนวเทือกเขาภูพานน้อย จดเขตจังหวัดมุกดาหาร อยู่ในเขต อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอเต่างอย
อำเภอเมือง ฯ อำเภอภูพาน อำเภอกุดบาก อำเภอพรรณานิคม อำเภอน้ำอูน อำเภอวาริชภูมิ
และอำเภอส่องดาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ ๒๐๐ - ๖๗๐ เมตร มีความยาวตลอดแนว
ประมาณ ๑๗๕ กิโลเมตร ส่วนแนวเทือกเขาภูพานใหญ่ จดเขตจังหวัดกาฬสินธุ์
อยู่ในเขตอำเภอกุดบาก อำเภอภูพาน อำเภอนิคมน้ำอูน แนวเทือกเขานี้แบ่งเขตระหว่าง
จังหวัดสกลนคร กับจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดอุดรธานี
ที่ราบตอนกลาง และตอนเหนือ ได้แก่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ
สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับลูกคลื่นลอนลาด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ประมาณ ๑๗๐ - ๒๐๐ เมตร อยู่ในเขตอำเภอกุดบาก อำเภอภูพาน อำเภอนิคมน้ำอูน
อำเภอส่องดาว
แหล่งน้ำธรรมชาติ
หนองหาน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่
มีน้ำตลอดปี บริเวณที่ตั้งหนองหานเป็นบริเวณที่ต่ำสุดของแอ่งสกลนคร
มีพื้นที่ผิวน้ำประมาณ ๑๕๐ ตารางกิโลเมตร มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
ประมาณ ๑๕๘ เมตร มีความลึกเฉลี่ย ประมาณ ๒.๕๐ เมตร มีลำน้ำพุงเป็นลำน้ำสายหลักที่ไหลลงสู่หนองหาน
มีน้ำไหลตลอดปี และยังมีลำน้ำที่เกิดจากเทือกเขาภูพานและเนินสูง รอบ ๆ หนองหาน
อีก ๑๓ สาย ไหลลงสู่หนองหาน แต่มีน้ำเฉพาะในฤดูน้ำหลาก
ลำน้ำสงคราม เป็นลำน้ำค่อนข้างใหญ่
มีประมาณน้ำมาก ต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูพานในเขต อำเภอส่องดาว ไหลผ่านอำเภอสว่างแดนดิน
อำเภออากาศอำนวย ไปบรรจบลำน้ำโขง ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีความยาวประมาณ
๑๗๕ กิโลเมตร
ลำน้ำพุง
ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูพาน ในเขตอำเภอกุดบาก ช่วงตอนต้นน้ำพื้นที่ค่อนข้างชัน
ทำให้มีน้ำตกอยู่หลายแห่ง ลำน้ำพุงไหลผ่าน เขตอำเภอกุดบาก อำเภอภูพาน
อำเภอเต่างอย อำเภอโคกศรีสุพรรณ แล้วไหลลงสู่หนองหานที่บ้านดอนยาง อำเภอเมือง
ฯ มีความยาว ประมาณ ๙๐ กิโลเมตร
ลำน้ำยาม
เป็นลำน้ำขนาดเล็ก ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูพานในเขตอำเภอวาริชภูมิ ไหลผ่านอำเภอส่องดาว
อำเภอสว่างแดนดิน อำเภอเจริญศิลป์ อำเภอวานรนิวาส อำเภอพรรณานิคม และอำเภออากาศอำนวย
แล้วไหลไปบรรจบลำน้ำสงคราม มีความยาว ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร
ลำน้ำห้วยปลาหาง
เป็นลำน้ำขนาดเล็ก ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภวาริชภูมิ ไหลผ่านอำเภอสว่างแดนดิน
อำเภอพังโคน และไปบรรจบลำน้ำอูน ในเขตอำเภอพรรณานิคม มีความยาวประมาณ
๖๕ กิโลเมตร
ลำน้ำอูน
เป็นลำน้ำขนาดกลาง ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูพาน ในเขตอำเภอกุดบาก และอำเภอลำน้ำอูน
ไหลลงสู่เขื่อนน้ำอูน ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัดสกลนคร
สามารถเก็บกักน้ำได้ ๕๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วไหลผ่าน อำเภอวาริชภูมิ
อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม อำเภอเมือง ฯ ไปบรรจบลำน้ำสงครามในเขตอำเภอกุสุมาลย์
และมีบางส่วนที่เป็นสาขาไหลลงสู่หนองหาน
ลำน้ำก่ำ
เป็นลำน้ำขนาดเล็ก ต้นน้ำเกิดจากหนองหาน ไหลไปทางด้านทิศตะวันออกของหนองหาน
ผ่านอำเภอโพนนาแก้ว อำเภอเมือง ฯ อำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอนาแก แล้วไปบรรจบลำน้ำโขง
ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม มีความยาวประมาณ ๘๐ กิโลเมตร
ประชากร
กลุ่มชนพื้นเมือง จังหวัดสกลนคร เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเมืองเก่า ๆ ทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง
มีภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไป มีกลุ่มที่สำคัญที่รวมกันและได้รับการยกขึ้นเป็นเมืองได้แก่
|
กลุ่มภูไท
(ผู้ไท) เมืองพรรณานิคม อพยพมาจากเมืองวังของลาว
มีท้าวโฮงกลางเป็นหัวหน้า อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านปะขาว บ้านพัฒนา ต่อมาได้ย้ายมาอยู่บ้านพันพร้าว
หรือพรรณานิคม ท้าวโฮงกลางได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมือง และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเสนาณรงค์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗
กลุ่มภูไทย เมืองวาริชภูมิ อพยพมาจากเมืองกะปองในเขตเมืองเซโปนของลาว
มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านหนองหอย มีท้าวราชนิกุลเป็นหัวหน้า ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองวาริชภูมิ
มีพระสุรินทร์บริรักษ์ บุตรท้าวราชนิกูลเป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐
กลุ่มภูไท เมืองจำปาชนบท เป็นกลุ่มที่มาจากเมืองกะปอง
มีท้าวคำแก้วบุตรท้าวไชยเชษฐ์เจ้าเมืองกะปองเป็นหัวหน้า อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านนางเหมือง
และบ้านพังโคน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็นพระบำรุงประชาราษฎร์
เจ้าเมืองจำปาชนบท เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ |
กลุ่มกะโซ่เมืองกุสุมาลย์
อพยพมาจากเมืองมหาชัย มีเพี้ยเมืองสูง และบุตรโคตรเป็นหัวหน้า เพี้ยสูงได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นที่หลวงอรัญอาสา เจ้าเมืองกุสุมาลย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๗
กลุ่มโย้ย เมืองอากาศอำนวย อพยพมาจากเมืองหอมท้าว
มีท้าวดิวซอยเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยท้าวศรีสุราช ท้าวจันทนาม ท้าวนามโคตร
มาตั้งถิ่นฐานอยู่บ้านม่วงริมยาม โดยมีท้าวศรีสุราช ซึ่งได้รับโปรดเกล้า ฯ
ให้เป็นที่หลวงผลานุกูลเป็นเจ้าเมือง เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๐
กลุ่มโย้ย เมืองวานรนิวาส เป็นกลุ่มที่ติดตามพระสุนทรราชวงศา
ไปอยู่ที่เมืองยโสธร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ มีจารย์โสมเป็นหัวหน้า ได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านกุดลิง
ในเขตอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านกุดลิงขึ้นเป็นเมือง ต่อมาพวกไทยโย้ยได้อพยพมาอยู่ที่บ้านกุดแฮ่ชุมภู
และได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านชุมแสงหัวนา ซึ่งเป็นที่ตั้ง อำเภอวานรนิวาสในปัจจุบัน
กลุ่มโย้ย เมืองสว่างแดนดิน อพยพมาจากเมืองภูวาใกล้เมืองมหาชัยกองแก้ว
มีท้าวเทพกัลยาเป็นหัวหน้า ได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองสกลนคร ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านโพธิสวาง
ริมห้วยปลาหาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๖ ท้าวเทพกัลยา ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระสิทธิ์ประสิทธิ์
เจ้าเมือง ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่เดื่อศรีชัย ริมลำน้ำยาม และย้ายไปอยู่ที่บ้านหัน
อำเภอสว่างแดนดินปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพวกกะเลิง ที่อพยพมาจากเมืองภูวา
พวกย้อ อพยพมาจากเมืองคำเกิด คำม่วน แล้วกระจายเข้าไปอยู่ปะปนกับกลุ่มอื่น
ๆ กลุ่มประชากรในจังหวัดสกลนคร อาจแบ่งกลุ่มชนพื้นเมืองออกเป็น
๖ เผ่า ตามลักษณะประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา ได้ดังนี้ คือ เผ่าภูไท
(ผู้ไท) เผ่าโย้ย เผ่าย้อ เผ่าโซ่ เผ่ากะเลิง และเผ่าไทอีสาน แยกกระจายกันอยู่ตามอำเภอต่าง
ๆ ทั้ง ๑๘ อำเภอ
การปกครองในอดีต
มีลักษณะการปกครองตามแบบลาว ตำแหน่งที่สำคัญ คือ อาญาสี่
มี ๔ ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถเลื่อนขึ้นไปสู่ตำแหน่งสูงสุดได้
และมักมีเชื้อสายเกี่ยวพันกับเมืองทางฝั่งซ้ายของลำน้ำโขง อาญาสี่ประกอบด้วย
ตำแหน่งเจ้าเมือง เป็นเจ้าเมืองใหญ่
มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยา เจ้าเมืองคนแรกของเมืองสกลนครคือ พระยาประเทศธานี
(คำ) เป็นเจ้าเมืองสกลนคร ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๑ - ๒๔๑๙ มีอำนาจสิทธิขาดในการสั่งราชการบ้านเมืองทั้งปวง
บังคับบัญชากรมการเมือง บำบัดทุกข์บำรุงสุข ราษฎรในเมืองของตน
ตำแหน่งอุปฮาด หรือตำแหน่งอุปราช
เป็นผู้ทำการแทนเจ้าเมือง เมื่อเจ้าเมืองไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ หน้าที่ประจำของอุปฮาด
คือให้คำปรึกษาหารือ เข้าตำแหน่งกรมการรองลงไป
ตำแหน่งราชวงศ์ มีฐานะเป็นญาติของเจ้าเมืองนั้น
มีหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีความ และร่วมกันตัดสินกับเจ้าเมือง
นอกจากนี้ยังต้องปฏิบัติตามคำสั่งของอุปฮาด เมื่ออุปฮาดขึ้นรักษาราชการเจ้าเมือง
ราชวงศ์ก็ขึ้นทำหน้าที่อุปฮาด
ตำแหน่งราชบุตร ราชบุตรหมายถึงลูกเจ้าเมือง
แต่การดำรงตำแหน่ง ราชวงศ์และราชบุตร ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหลานเจ้าเมืองเสมอไป
หากผู้ใดทำความดีความชอบในราชการมาก เจ้าเมืองอาจเสนอชื่อเพื่อให้โปรดเกล้า
ฯ แต่งตั้งเป็นราชบุตร และราชวงศ์ได้
สำหรับการปกครองในระดับหมู่บ้าน จะมีตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ ท้าวฝ่ายตาแสง พ่อบ้าน
จ่าบ้าน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานของหมู่บ้าน ให้สอดคล้องกับฝ่ายกรมการเมือง
|