ศิลปกรรม
สถาปัตยกรรมและศิลปกรรม จะปรากฎอยู่ตามวัดวาอารามโดยเฉพาะในเขตอำเภอบางพลี
เรือนไทยแบบเรือนหมู่ที่วัดหนามแดง
เป็นสวถาปัตยกรรมที่มีความเด่นในการใช้ภูมิปัญญา โดยนำเอาเรือนไทยมาปรุงแต่ง
จัดให้เข้าเป็นหมวดหมู่เพื่อการใช้ประโยชน์ มีการสร้างเรือนบริวารขึ้นมาใกล้กับเรือนประธาน
เมื่อมีเรือนบริวารหลายเรือน และมีชานเรือนแล่นถึงกัน ตรงกลางสร้างหลังคาขึ้นมาเหมือนห้องโถงเรียกว่า
หอกลาง ใช้พบปะคุยกัน ผู้เฒ่าใช้ตรงนี้อบรมลูกหลาน หากมีครัวใหญ่ และทำอาหารครัวเดียวกัน
หอกลางนี้ก็ใช้เป็นที่บริโภคอาหารร่วมกันเป็นวงใหญ่ รวมถึงการใช้ประโยชน์ในการรับแขก
สำหรับที่วัดหนามแดง ใช้หออกลางเป็นหอฉัน
สถาปัตยกรรม บ้านเรือนไทยซอยพระแม่น
เป็นของพระแม่นศรแผลง อยู่ในซอยพระแม่น ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ฯ เป็นบ้านเรือนไทยเรือนคู่ที่รัก
รูปลักษณ์ไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทรงคุณค่าความเป็นบ้านเรือนไทย
นอกจากบ้านพระแม่นแล้ว ในซอยพระแม่นยังมีเรือนไทยอีกหลายหลัง ทั้งเรือนหมู่
และเรือนเดี่ยว
นาฎดุริยางค์ศิลป์
ละครชาตรี
ที่บ้านบางปลา มีศิลปะการแดสงด้านละครชาตรีมาเป็นระยะเวลากว่าสี่ชั่วอายุคน
มีชื่อเสียงไปทั่วแถบภาคตะวันออก
ละครชาตรีที่บางปลา มีการร่ายรำแบบเดิมที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าโนรา หรือชาตรีอยู่บ่อยครั้ง
โดยเฉพาะในโอกาสที่เป็นพิธีรีตองต่อหน้าศาลเพียงตา หรือศาลเจ้าพ่อที่เรียกว่า
การรำหน้าซัด
หรือซัดชาตรี
ละครชาตรีที่ศิลปินชาวบางปลานิยมนำมาแสดงเป็นประจำ ถือเป็นต้นแบบของละครชาตรีที่บางปลาคือ
สังข์ทอง สิงหไกรภพ แก้วหน้าม้า นางสิบสอง พระรถเมรี พระสุธนมโนราห์ ไกรทอง
พระลักษณวงส์ และเรื่องอื่น ๆ ส่วนวงปี่พาทย์ที่ใช้บรรเลงประกอบการเล่นละครชาตรีมีเครื่องเล่นที่ใช้อยู่เป็นประจำเช่นกองทัด
กลองแขก ตะโพน โทนชาตรี ฆ้องวง ระนาดเอก ระนาดทุ้ม กรับยคู่ (ไม้ไผ่) ฉิ่ง
ฉาบ โหม่ง ปี่นอก ปี่ไน
การครอบครูและการไหว้ครู
คณะละครชาตรีเคารพเศียรพ่อแก่ทุกคณะ
จะมีเศียรพ่อแก่ประจำคณะ ประจำบ้าน ศิษย์ทุกคนจะเคารพบูชากราบไหว้ ส่วนใหญ่แล้วเศียรพ่อแก่จะสวมไว้บนแท่น
เช่นเดียวกับชฎาหน้าพระ หน้านาง หัวยักษ์ หัวลิง หน้าม้า และหัวละครที่ต้องมีลักษณะเฉพาะอื่น
ๆ เศียรเหล่านี้จัดไว้เป็นหมวดหมู่ เวลาบูชาก็บูชาเศียรพ่อแก่ ส่วนเศียรอื่น
ๆ ทุก ๆ ครั้งที่แสดงจะสวมออกแสดงหน้าฉากก็จะยกเศียรนั้น ๆ ขึ้นทูนไว้เหนือหัว
บูชาเหมือนกัน
การฝึกปี่พาทย์
ครูฝึกปี่พาทย์รับสมัครลูกศิษย์ด้วยการไหว้ครู ฝากตัวเป็นศิษย์ด้วยสิ่งของสำหรับไหว้ครูครบถ้วน
เมื่อเริ่มฝึกซ้อมก็จะใช้วิธีต่อเพลง เช่น เริ่มต้นตรงเพลงสาธุการ หรือเพลงหน้าพาทย์ชนิดหนึ่งในจะพวกเคารพครู
บูชาชุมนุมเทวดา อันเป็นเพลงในอันดับแรกของชุดโหมโรง ฆ้องวงมักมีการตีที่คู่สี่คู่แปด
ไล่เสียงได้เหมือนกับกุญแจดนตรีสากล แต่ด้วยเหตุที่ครูยุคก่อน ๆ ท่านคต่อเพลงกันมาโดยไม่ได้ศึกษาโน้ต
จึงสอนต่อสู่ศิษย์ด้วยการต่อเพลงเช่นกัน ศิษย์ต้องหมั่นเข้าวงฝึกซ้อมอยู่เสมอ
พอแม่นยำท่อนหนึ่งแล้วก็ต่อเพลงท่อนอื่น ๆ ต่อไปอีก เมื่อเก่งแล้วจึงจะมีการเล่นทาง
ที่ชอบนำมากล่าวกันว่าทางใครทางมัน
ที่จริงทางเพลงของแต่ละคนมีลูกเล่นต่างกัน
เมื่อฝึกฝนพอปรับเปลี่ยนเครื่องเล่นได้ ครูก็มักจะอนุญาตให้ต่อเพลงด้วยเครื่องชนิดอื่นได้
หลังจากแยกกันเรียนรู้จนเป็นศิลปินได้แล้วก็มีการซ้อมร่วมกันระหว่างวงปี่พาทย์กับคณะละคร
ในแต่ละปีคณะละครจะมีงานไหว้ครูประจำปี ซึ่งจะต้องเอาเศียรพ่อแก่มาบูชาด้วยเสมอ
เศียรอื่นก็นำมาวางเรียงรายในพิธีด้วย พิธีบูชาครูเริ่มที่การบูชาพระพุทธ
มีพิธีสงฆ์ พิธีบูชาครู ครูรับศิษย์ เป็นการสร้างความสมานสามัคคีของบศิษย์รุ่นต่าง
ๆ ที่มาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่ง
ทะแยมอญ
ชาวรามัญปากลัดสมัยโบราณนิยมเล่นทะแยมอญในทุกโอกาส ทั้งงานขึ้นบ้านใหม่ งานเทศกาล
ตรุษสงกรานต์ งานกฐิน และงานศพ เป็นการร้องเพลงมอญหรือร้องประกอบการรำ เนื้อหาเพลงมีทั้งการโต้ตอบ
การเกี้ยวพาราสี ใช้ดนตรีประกอบคือซอ จะเข้มอญ กลอง ฉิ่ง เป็นต้น เครื่องดนตรีจะใช้กับการขับลำนำแบบพื้นบ้าน
เนื้อเพลงกล่าวถึงการชมธรรมชาติ ชมความงามของหญิงสาว ลักษณะของเพลงเป็นแบบร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน
มีการร่ายรำประกอบ ร้องเพลงทำนองอ่อนหวาน ใช้ภาษามอญเป็นคำร้อง
ฟ้อนมอญสิบสองภาษา
เป็นศิลปะชั้นสูง ใช้วงปี่พาทประกอบการรำ ชาวรามัญปากลัดได้ต้นแบบการรำมาจากชาวมอญปากเกร็ด
จังหวัดนนทบุรี
การฟ้อนดังกล่าวไม่ทราบว่าต้นแบบมาจากที่ใด แต่ผู้ที่นำมาเผยแพร่คือ ครูปี่พาทย์มอญ
ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้คิดประดิษฐท่ารำเพิ่มขึ้น ประกอบกับเพลงมอญที่มีท่าทำนองช้า
การจัดท่ารำ กำหนดขึ้นสิบสองท่า
ภาษาและวรรณกรรม
ไตรปิฎกพระร่วง มหาช่วยวัดปากน้ำ
(วัดกลางเมืองสมุทรปราการ) ได้มีการจารขึ้นไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน
ฯ เมื่อปี จ.ศ.๑๑๔๐ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ต้นฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ
ได้มาจากเมืองเพชรบุรี เป็นหนังสือ ๑๐ ผูก
วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตโบราณคดีและศาสนา
เป็นภาษามอญ ที่พระประแดง ภาษาถิ่นที่สาขลา บันทึกในสมุดข่อย ส่วนใหญ่เป็นตำรายา
จารในใบลานได้แก่ พระไตรปิฎก อักขระบนผิวหนัง ได้แก่ การสักยันต์ เพลงกล่อมลูก
การทำขวัญนาค
ศาสนาและประเพณี
ชาวสมุทรปราการส่วนใหญ่นับถือศาสนาตามที่บรรพบุรุษนับถืออยู่ คุ้นเคยกับหลักธรรมคำสอนในศาสนาพิธีที่เคยปฎิบัติ
มีผู้นับถือสาสนามากตามลำดับคือ พุทธศาสนา ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และศาสนาฮินดู
สงกรานต์
เมื่อดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่
เวลากลางวันและกลางคืนเท่ากัน เรียกในภาษาโหรว่า มัธยมกาล
สงกรานต์ที่บ้านบางปลา
มีการแห่เจว็ด ซึ่งเป็นรูปเทพารักษ์ที่นำมาไว้ในศาลพระภูมิ หรือศาลเจ้า มักทำเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์
เจว็ดที่บางปลาเป็นเจว็ดที่ประจำอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อพระราม พระลักษณ์ ศาลพ่อปู่
พ่อทุ่ง ศาลพ่อปิ่นเกล้า ฯลฯ ตัวเจว็ดทำจากแท่งแก่นไม้เนื้อแข็ง ยาวประมาณเท่าตัวคนมีความเก่าแก่
จนเนื้อไม้กร่อน มีสีดำเข้ม มักใช้ผ้าแพรหลากสีผูกติดไว้
ชาวบ้านที่อยู่ในเกาะบางปลา ตำบลบางปลา แห่เจ็ดในวันมหาสงกรานต์ของทุกปี ในวันที่
๑๕ เมษายน โดยเริ่มจากการเชิญเจว็ดจากศาลเจ้าพ่อพระราม พระลักษณ์
ศาลพ่อปู่ ซึ่งอยู่บริเวณใกล้หน้าวัดบางปลา และจากศาลอื่น ๆ มารวมกัน
เพื่อเตรียมแห่เจว็ดไปรอบเกาะบางปลา
หลังจากทำบุญตักบาตรเช้า พระสงฆ์ทำสังฆกรรมในอุโบสถ เนื่องในวันมหาสงกรานต์แล้ว
ในช่วงบ่ายผู้นำชาวบ้านก็จะนำอาหารเครื่องเซ่นไหว้ มาเซ่นไหว้เจ้าพ่อพระราม
พระลักษณ์ และเจ้าพ่อ อื่น ๆ แล้วช่วยกันแห่เจว็ด โดยการแบกเจว็ดแห่ไปรอบเกาะบางปลา
เมื่อขบวนแห่ไปที่หลังบ้านผู้ใด ชาวบ้านก็จะตั้งน้ำดื่มกินที่สะอาด
มาตั้งบูชา และยังมีน้ำจัณฑ์ สำหรับเสนาของเจ้าพ่อให้ได้ดื่มกินกัน เสร็จแล้วรดน้ำเจว็ด
แล้วรองน้ำจากเจว็ดเอาไปบูชา หรือนำไปดื่มเป็นน้ำมนต์ เครื่องบูชาที่ตั้งไว้บูชาเจ้าพ่อ
ก็นำไปเป็นอาหารที่เรียกว่า เป็นยา
เวลาบ่ายแก่ ๆ หรือเวลาเย็น ที่วัดจะจัดพิธีสรงน้ำพระสงฆ์
และผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ ตลอดจนผู้อาวุโสทั้งหลายแล้ว จึงค่อยเล่นน้ำสาดน้ำ
นอกจากบางปลาแล้ว ที่บ้านใกล้กันเช่น บางโฉลง ก็มีการแห่เจว็ดเช่นกัน
สำหรับแห่งอื่น ๆ ก็มีที่บางบ่อ เป็นต้น
ประเพณีรดน้ำของชาวพระประแดง (ปากลัด)
มีประเพณีรดน้ำระหว่างสงกรานต์สามวัน และวันสรงน้ำพระแต่ละวัด ชายหนุ่มต้องเข้าไปขออนุญาตหญิงสาวรดน้ำ
โดยรดน้ำเพียงเล็กน้อยที่มือหรือไหล่ และถือโอกาสนั้นสนทนากันจนน้ำหมดขัน
น้ำที่ใช้เป็นน้ำสะอาดลอยดอกมะลิ หรือผสมน้ำอบ ภาชนะที่ใส่น้ำก็มีคุณค่าทางจิตใจเช่น
ขันเงิน ขันลงหิน ซึ่งขัดจนมีเงางาม เครื่องแต่งกายเลือกเสื้อผ้าที่ดีที่สุด
ประเพณีการส่งข้าวสงกรานต์
ตามเค้าเรื่องเดิมเป็นตอนที่เศรษฐีนำเครื่องสังเวยไปบวงสรวงเทวดา ที่ต้นไทรเพื่อขอบุตร
ใส่ข้าวในหม้อดิน ส่วนกับข้าวต่าง ๆ ใส่กระทงทำด้วยใบตองคล้ายการเซ่นเจ้า
หรือบูชาเทวดา ชาวพระประแดงส่งข้าวสงกรานต์ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕
เมษายน
ในแต่ละหมู่บ้าน จะมีบ้านใดบ้านหนึ่งเป็นผู้รับหน้าที่หุงข้าวสงกรานต์ ต้องปลูกศาลเพียงตา
เรียกว่า ฮอยสงกรานต์ แปลว่า บ้านสงกรานต์ การหุงข้าวต้องทำตั้งแต่ตีสาม ถึงตีสี่
พอถึงตีห้า พวกหญิงสาวในหมู่บ้านนั้นจะออกมารับข้าวสงกรานต์ไปส่ง ตามวัดที่ตนตั้งใจไว้
ไปกันเป็นกลุ่ม ๆ มักไปวัดที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อให้มีโอกาสพบหนุ่มต่างตำบล
เมื่อส่งข้าวเสร็จตอนขากลับ จะมีพวกชายหนุ่มมาคอยรดน้ำ
ประเพณีการค้ำต้นโพธิ์
ถือว่าเป็นการค้ำพระศาสนา เพราะต้นโพธิ์เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา หลักมีอยู่ว่า
ในวันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันอะไร ผู้ที่เกิดตรงกับวันนั้นเป็นผู้ที่ต้องนำไม้ไปค้ำต้นโพธิ์
ในการค้ำให้หาไม้ที่มีง่ามตรงปลาย ยาวประมาณ ๑ เมตร ปอกเปลือกทาขมิ้นให้สวยงาม
แล้วนำไปค้ำไว้ที่โคนต้นโพธิ์ในวัด
ประเพณีการแห่ธงตะขาบ
สืบเนื่องมาแต่เรื่องเล่า ครั้งเกิดแผ่นดินรามัญเมื่อร้อยปี หลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน
หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้แปดปี พระพุทธองค์ได้เสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ในแคว้นต่าง
ๆ วันหนึ่งได้เสด็จมาถึงภูเขาสุทัศนบรังสิต ทางเหนือของเมืองสะเทิม
ทรงผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทอดพระเนตรเห็นแผ่นดินกลางทะเล เมื่อน้ำทะเลงวด
สูง ๒๓ วา น้ำเปี่ยมฝั่งพอกระเพื่อมเนินดินนั้น มีหงส์ทองอยู่สองตัว เล่นน้ำอยู่
ตัวเมียเกาะอยู่บนหลังตัวผู้ เพราะเนินดินเล็ก หงส์ยืนได้เพียงตัวเดียว กาลต่อไปภายหน้าจะกลายเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่
เป็นมหานคร มีพระเจ้าแผ่นดินและศาสนาของพระองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว
๑๐๐ ปี เนินดินกลางทะเลนั้นก็ตื้นเขิน จนกลายเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่ มีการตั้งเมืองขึ้นเป็นเมืองหงสาวดี
ชาวมอญในเมืองหงสาวดีจึงใช้หงส์เป็นสัญลักษณ์ และได้มีการสร้างเสาหงส์อยู่หน้าวัด
เป็นเครื่องแสดงว่าเป็นวัดมอญ
สำหรับธงตะขาบนั้น ตำนานมอญเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา
และเทพทั้งหลายบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครบไตรมาสแล้ว ได้เสด็จกลับมายังมนุษย์โลก
เมื่อวันแรม หนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ด ครั้งนั้น พระอินทร พระพรหม ได้เนรมิตบันไดเงิน
บันไดทอง และบันไดแก้ว รองรับ มีเครื่องราชวัตรฉัตรธง และเครื่องดนตรีประโคม
ส่วนมนุษย์นำอาหารมาใส่บาตร แต่คนมีมากเข้าใส่บาตรไม่ถึง จึงทำข้าวต้มมัดเล็ก
ๆ โยนใส่บาตร จึงเป็นประเพณีใส่บาตรข้าวต้มลูกโยน นอกจากนี้ยังปักธงต่าง
ๆ เป็นทิวแถว
ชนชาติมอญทำธงตะขาบ ซึ่งมีความหมายทั้งทางโลกและทางธรรม ในทางโลก
ตะขาบลำตัวยาวมาก มีเท้ามาก มีเขี้ยวที่เป็นพิษ รักษาตัวเองได้เปรียบเสมือนคนมอญ
สามารถปกป้องตนเองได้ ตะขาบมีลูกมาก แม่ตะขาบดูแลปกป้องลูกเอาไว้ในอ้อมอก
เปรียบว่า หากรามัญปกครองดูแลประชาราษฎร์ได้เหมือนตะขาบ ประเทศรามัญจะเจริญรุ่งเรืองยาวนาน
อยู่เย็นเป็นสุข สวนในทางธรรม
บรรดาอวัยวะต่าง ๆ ของตะขาบ ล้วนเป็นปริศนาธรรมทั้งสิ้น คือ มีหนวดสองเส้น
หมายถึง สติ สัมปชัญญะ มีหางสองหาง หมายถึง ขันติโสรัจจะ มีเขี้ยวสองเขี้ยว
หมายถึง หิริโอตัปปะ มีตาสองข้าง หมายถึง บุพการี กตัญญู กตเวที
มีลำตัว ๒๒ ปล้อง หมายถึง สติปัฎฐานสี่ สัมมัปปฐานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า
พละห้า มีขาเป็นคู่รวมสี่สิบขา หมายถึง กุศลกรรมบทสิบ บุญกิริยาวัตถุสิบ นารถกรณธรรมสิบ
อนุสติสิบ ชาวรามัญเมื่อทำธงตะขาบแล้วนำขึ้นเสาหงส์เป็นการบูชาพระพุทธเจ้า
ในการแห่ธงตะขาบ ชาวรามัญสิบหมู่บ้านในพระประแดงแบ่งภาระการจัดงาน โดยหมุนเวียนการเป็นประธานจัดงานปีละหมู่บ้านจากเดิมที่ทำทุกหมู่บ้าน
กระทำในวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี บ้านทรงคะนองเป็นหมู่บ้านต้นแบบ วัดประจำหมู่บ้านคือ
วัดคันลัด วัดนี้มีเสาหงส์เป็นแห่งแรกในบรรดาวัดมอญ
ประเพณีแห่ปลาของชาวพระประแดง
ประเพณีมีมาแต่ตำนานของมอญ ในเรื่องของการนำปลาที่ตกคลักไปปล่อยในลำน้ำให้รอดตาย
เมื่อประมาณห้าสิบปีก่อน ได้มีชาวมอญตำบลทรงคะนอง อำเภอพระประแดง ได้ริเริ่มให้จัดงานทำบุญเลี้ยงพระแล้วปล่อยปลาจำนวนมาก
ๆ จากการปล่อยตามปกติและเชิญหญิงสาวในหมู่บ้านมาเข้าขบวนถือโหลปลา นำด้วยวงดุริยางค์แล้วนำไปปล่อยที่วัดทรงธรรมวรวิหาร
ต่อมาได้เชิญหญิงสาวจากหมู่บ้านมอญสิบสี่หมู่บ้านมาร่วมขบวนแห่ ปีต่อมาหญิงสาวมอญจากบางกระดี่
ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพ ฯ จากบางขันหมาก จังหวัดลพบุรี
จากปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มาร่วมขบวนด้วย สาวมอญแต่ละแห่งจะแต่งกายตามประเพณีท้องถิ่นของตน
การแห่นกได้ผนวกเข้ามาภายหลัง การจัดงานจะจัดหลังจากงานสงกรานต์ ประมาณหนึ่งสัปดาห์
ประเพณีห่มผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์
ในวันแรมสองค่ำ เดือนสิบเอ็ด จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชายหญิง พร้อมใจกันไปช่วยเย็บผ้าแดงผืนใหญ่
สำหรับห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ ใช้เวลาประมาณสองวัน วิธีการเย็บเริ่มต้นวัดด้วยการใช้ศอกวัด
หรือใช้ไม้วัด พับผ้าและตอกตาไก่ไปตามลำดับ แล้วเย็บผ้าห่มทั้งผืนด้วยมือ
ประเพณีนมัสการหลวงพ่อปาน
เป็นงานประจำปีของชาวอำเภอบางบ่อ ที่วัดมงคลโคธาวาส (วัดบางเหี้ย)
ตำบลคลองด่าน เดิมการจัดงานจะจัดที่วัดมงคลโคธาวาสก่อนหนึ่งหรือสองวัน
แล้วเชิญรูปเหมือนของหลวงพ่อปานลงเรือไปตามคลองด่าน ในเวลาเช้ามีขบวนเรือตกแต่งอย่างสวยงาม
ไปที่หน้าอำเภอบางบ่อ เวลากลางคืนจะมีมหรสพสมโภชน์กันจนถึงสว่าง เดิมใช้เวลาจัดงานหนึ่งวัน
หนึ่งคืน ในวันขึ้นแปดค่ำ เดือนสิบสอง ของทุกปี
ปัจจุบันใช้เวลาจัดสอง - สามวัน เริ่มจากวันขึ้นแปดค่ำ เดือนสิบสอง
ในงานมีการแข่งเรือยาว ประกวดหนุ่ม - สาวพายเรือ และมีมหรสพต่าง ๆ
นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน
ประเพณีรับบัว
เดิมในแถบอำเภอบางพลี มีประชากรอาศัยอยู่สามพวกคือ ไทย รามัญ
และลาว โดยไทยอยู่ทางคลองชวดลากข้าว ลาวอยู่ทางคลองสลุด
และรามัญอยู่ทางคลองลาดกระบัง พวกรามัญทำมาหากินไม่ได้ เพราะนกหนูชุกชุม
รบกวนพืชผลเสียหายจึงอพยพกลับถิ่นเดิมที่ปากลัด โดยเริ่มอพยพเมื่อตอนเช้ามืดของวันขึ้นสิบสี่ค่ำ
เดือนสิบเอ็ด ก่อนไปได้ไปเก็บดอกบัวที่มีอยู่ในบึง บริเวณนี้มากมายเพื่อเอาไปบูชาพระคาถาพัน
(เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียกับคนไทยให้ช่วยเก็บดอกบัว
รวมรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตด้วย พวกตนจะมารับในวันขึ้นสิบสี่ค่ำ เดือนสิบเอ็ด
ปีต่อมาพอถึงวันและเดือนดังกล่าว คนไทยที่บางพลีก็ได้รวบรวมดอกบัวไว้ที่วัดบางพลีใหญ่
ตามคำขอร้องของชาวรามัญ พวกชาวรามัญก็จะมารับดอกบัว ทุกปี
|