|
|
|
|
|
|
|
|
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เขตพื้นที่ จังหวัดสุโขทัยมีผู้คนมาพักอาศัยและตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัย สมัยทวาราวดี
สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยธนบุรีและสมัยรัตนโกสินทร์ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
บริเวณที่ราบตอนล่างของภาคเหนือของไทย เคยเป็นดินแดนที่มีมนุษย์มาตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์
จากหลักฐานทางโบราณคดีพบเครื่องมือหินที่เขาขน
เขากา ในเขตตำบลนครดิฐ อำเภอศรีนคร แหล่งโบราณคดีบ้านวังหาด
ตำบลตลิ่งชัน อำเภอบ้านด่านลานหอย บ้านบึงหญ้า
ตำบลหนองจิก อำเภอคีรีมาศ ฯลฯ ชุมชนเหล่านี้อยู่ต่อเนื่องกัน และตั้งเป็นบ้านเมืองขึ้นในเวลาต่อมา
จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ได้มีการติดต่อกับดินแดนอื่นในแถบบริเวณภาคกลาง
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบทวาราวดี โดยได้พบโบราณวัตถุที่มีลักษณะคล้ายกัน
ได้แก่ลูกปัด เครื่องมือสำริด เหล็ก เงินเหรียญที่มีรูปพระอาทิตย์ รวมทั้งโครงกระดูกมนุษย์
ที่แหล่งโบราณคดีวัดชมชื่นในเขตเมืองเชลียง ซึ่งมีแท่งดินเผามีลวดลาย
จากการพบโบราณสถานในศิลปะขอมที่บ้านนาเชิงคีรี อำเภอคีรีมาศ ชาวบ้านเรียกว่า
ปรางค์เขาปู่จ่า
และศาลาตาผาแดง
ในเขตเมืองเก่าสุโขทัย แสดงว่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ มีการติดต่อกับอาณาจักรขอมแล้ว
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ปรากฏเรื่องการตั้งตนเป็นอิสระเพื่อปกครองสุโขทัยของกลุ่มชน
ซึ่งต่อมาเป็นบรรพชนของคนไทยในปัจจุบัน
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรสุโขทัย
เส้นทางคมนาคมและการค้าให้กำเนิดแคว้นสุโขทัย มีเส้นทางสำคัญสองเส้นทางคือเส้นทางข้ามหุบเขา
ในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ - ตะวันตกเฉียงใต้ และทิศทางตะวันออก - ตะวันตก
เป็นเส้นทางเก่าแก่ใช้เดินทางกันมาแต่ครั้งโบราณ ระหว่างกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขง
กับกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำน่าน และภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน
มีกลุ่มชนลุ่มแม่น้ำโขงเคลื่อนย้ายไปตั้งถิ่นฐานบนเส้นทางสายเป็นหย่อม ๆ แล้วค่อย
ๆ ทะยอยเข้าสู่ลุ่มแม่น้ำน่าน บริเวณเขตจังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอุตรดิตถ์
ต่อมาได้เกิดเป็นบ้านเมือง และได้กลายเป็นประชากรส่วนหนึ่งของแคว้นสุโขทัย
เส้นทางแรกเชื่อมโยงผู้คนจากเขตเมืองหลวงพระบาง เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ลงใต้สู่ปากลาย
ทุ่งยั้ง เชลียง และสุโขทัย อีกสายหนึ่งคือเส้นทางจากหลวงพระบาง ปัว น่าน
แพร่ สุโขทัย ตาก ไปสุดทางที่ริมฝั่งทะเลอันดามันที่มะละแหม่ง
เส้นทางข้ามหุบเขาสายตะวันออก - ตะวันตก เริ่มจากลุ่มแม่น้ำโขงในภาคอิสานตอนบน
รวมทั้งกลุ่มเมืองเวียงจันทน์ผ่านเทือกเขาภูพาน ในเขตจังหวัดอุดรธานี เข้าไปในเขตจังหวัดเลย
ผ่านหุบเขาแถบอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ไปทางลำน้ำแควน้อย ซึ่งเป็นสาขาของลำน้ำน่าน
ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึงลำน้ำน่านแล้ว ก็ล่องไปตามลำน้ำน่าน
ผ่านเข้าเขตจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ เข้าสู่บ้านเมืองเก่าสมัยทวาราวดี
และลพบุรี บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
ชาวไทยในภาคเหนือตอนล่างได้รวมตัวกันเป็นรัฐอิสระ มีความเจริญคู่เคียงกันมากับอาณาจักรล้านนา
และอาณาจักรอยุธยา มีศูนย์กลางการปกครองที่กรุงสุโขทัย ซึ่งไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง
มีหลักฐานว่าพ่อขุนศรีนาวนำถุม ได้เป็นกษัตริย์ครองสองนคร คือทั้งเมืองสุโขทัย
และเมืองศรีสัชนาลัย มีหลักฐานพอเชื่อได้ว่าเจ้านายในตระกูลศรีนาวนำถุม มีความสัมพันธ์กับตระกูลศรีโคตรบูรณ์ในลุ่มแม่น้ำโขงของภาคอีสานตอนบน
ที่มีเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำเป็นเมืองสำคัญ นอกจากนั้นก็มีหลักฐานพอเชื่อได้ว่า
ตระกูลของพ่อขุนบางกลางหาวมีเชื้อสายตระกูลเมืองน่าน และเมืองหลวงพระบาง และเชื่อมโยงไปถึงตระกูลสุพรรณบุรี
ที่ครองแคว้นสุพรรณภูมิ ทางตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
อาณาจักรสุโขทัย มีหลักฐานตั้งแต่สมัยพ่อขุนนาวนำถุม และชัดเจนขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
(พ่อขุนบางกลางหาว) ระหว่างปี พ.ศ.๑๗๘๑ - ๑๘๒๒ ราชวงศ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
(ราชวงศ์พระร่วง) ได้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยสืบต่อมาเป็นเวลา ๒๐๐ ปี จึงถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยา
อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
(พ.ศ.๑๘๒๒ - ๑๘๔๑) ได้แผ่อาณาเขตออกไปโดยรอบ วัฒนธรรมไทยเจริญขึ้นทุกสาขา
ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งได้บ่งถึงความเจริญด้านประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์
การทหาร กฎหมาย การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม พระพุทธศาสนา การประดิษฐ์อักษรไทย
และอื่น ๆ
ประวัติศาสตร์ชุมชนเมืองเชลียง
ชะเลียง ภาษาขอมแปลว่ายืน ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ วัดศรีชุม ได้บันทึกเหตุการณ์ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
กล่าวถึงพ่อขุนนาวนำถุม เจ้าเมืองเชลียงว่า เป็นขุนในเมืองเชลียง
ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหง ได้บันทึกถึงพระราชกรณียกิจของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า
ทรงสถาปนาศิลาจารึกไว้ที่วัด พระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงอีกหลักหนึ่งว่า จารึกอันหนึ่งมีในเมืองเชลียง
เอกสารจดหมายเหตุอยุธยาได้กล่าวถึง เมือง เชลียง
สุโขทัย ทุ่งย้าง บางยม สองแคว สระหลวง ชากังราว กำแพงเพชร
ทางด้านตะวันตกของเมืองเชลียงเป็นเทือกเขาพระศรี มีวัดโบราณสร้างด้วยศิลาอยู่บนยอดเขาเทือกเขาพระศรีนี้
พระศิริมังคลาจารย์ผู้แต่งชินกาลมาลีปรณ์เมื่อ พ.ศ.๒๐๕๙ เรียกนามภูเขานี้เป็นภาษาบาลีว่า
สิริบรรพต
เมืองเชลียงมีวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองดังนี้
- ณ หมู่ที่ ๖ ตำบลศรีสัชนาลัย เมื่อปี พ.ศ.๑๕๐๓ - ๑๖๗๐ เป็นที่ตั้งของเมืองเชลียง
- สมัยสุโขทัย เรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า เมืองศรีสัชนาลัย
- เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๑๗ อาณาจักรล้านนา สมัยพระเจ้าติโลกราชเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า
เมืองเชียงยืน
- พ.ศ.๒๐๑๗ - ๒๓๒๔ กรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรีเรียกเมืองโบราณแห่งนี้ว่า
เมืองสวรรคโลก
- พ.ศ.๒๓๒๕ - ๒๓๗๘ กรุงรัตนโกสินทร์เรียกที่ตั้งจวนเจ้าเมืองโบราณ
บริเวณวัดเชิงคีรี และตำบลท่าชัยว่า เมืองสวรรคโลก ปัจจุบันชาวบ้านคงเรียกว่า
บ้านเมืองเก่า
- พ.ศ.๒๓๗๙ - ปัจจุบันเรียกที่ตั้งจวนเจ้าเมืองบริเวณหมู่บ้านวังไม้ขอนว่า
เมืองสวรรคโลก ปัจจุบันคือตำบลสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
- พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๓๕ เรียกพื้นที่ตำบลสารจิตร ตำบลบ้านแก่ง ตำบลศรีสัชนาลัย
และตำบลท่าชัยว่า เมืองวิเศษชัยสัตย์
- พ.ศ.๒๔๓๕ - ๒๔๗๐ พื้นที่ตำบลศรีสัชนาลัย และตำบลท่าชัย อยู่ในความปกครองของอำเภอสวรรคโลก
- พ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๔๖๓ กระทรวงมหาดไทยได้เปลี่ยนชื่อตำบลเมืองเก่า
เป็นตำบลศรีสัชนาลัย
- พ.ศ.๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนชื่ออำเภอหาดเสี้ยว เป็นอำเภอศรีสัชนาลัย
- พ.ศ.๒๕๒๖ กรมศิลปากร ประกาศจัดตั้งกลุ่มโบราณสถาน ตำบลท่าชัย
ตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสวนจิตร ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย
ชุมชนอำเภอศรีสัชนาลัย
- พ.ศ.๒๔๒๘ - ๒๔๓๗ เรียกบริเวณบ้านปลายนา ตำบลบ้านตึกว่า เมืองด้ง
- พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๔๐ ปากห้วยแม่รากเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอเรียกว่า
อำเภอด้ง
- พ.ศ.๒๔๔๐ - ๒๔๖๐ ตำบลหาดเสี้ยวเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอ
แต่ยังคงเรียกว่า อำเภอด้ง
- พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๘๒ เรียกนามอำเภอตามตำบลที่ตั้งอำเภอว่า อำเภอหาดเสี้ยว
- พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๕๑๐ ใช้นามอำเภอว่าศรีสัชนาลัย และอยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัยเก่า
ประมาณ ๑๑ กิโลเมตร ต่อมาใช้นามอำเภอว่าศรีสัชนาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐
โบราณสถาน และสถานที่สำคัญของอำเภอศรีสัชนาลัย
โบราณสถานก่อนที่ชุมชนไทยญวน ตำบลหาดเสี้ยว อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่กันหนาแน่น
คนได้สร้างอุโบสถวัดหาดเสี้ยว
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ มีดังนี้
- วัดร้างสมัยสุโขทัย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ ได้สถาปนาเป็นวัดที่มีพระภิกษุจำพรรษาตั้งชื่อวัดว่า
วัดโบสถ์มณีราม
มีอุโบสถเก่ากับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย มีจารึกอยู่ที่ฐานพระพุทธรูป
- วัดร้างสมัยสุโขทัยอีกสองวัด
ปัจจุบันไม่เหลือซาก
- วัดร้างสมัยสุโขทัยอยู่บนเขา ที่บ้านหาดสูง ปัจจุบันเป็นสำนักสงฆ์ชื่อว่า วัดภูธาตุเจดีย์
- วัดน้อย
อยู่ที่บ้านหาดสูง ชาวไทยพวนได้สร้างวิหารก่ออิฐถือปูนทับไปบนฐานวัดร้าง เป็นโบราณสถานสมัยสุโขทัย
- วัดโพธิทอง
อยู่ที่บ้านหาดสูง ชาวไทยพวนสถาปนาขึ้นเป็นวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๖ ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหาดสูง
- วัดโพธิชัย
หรือวัดโพธิไทร ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดหาดเสี้ยว
จากศิลาจารึกที่ติดไว้ที่ฝาผนังอุโบสถ พบว่าอุโบสถสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๘๗
นับเป็นโบราณสถานสกุลช่างไทยพวน ที่เก่าแก่ที่สุดที่อยู่มาถึงปัจจุบัน กรมศิลปากรได้สำรวจและขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
มีอาคาร อุโบสถ หอไตร เจดีย์ด้านทิศตะวันออก รวมสามรายการ ประตูโขงของวัด ๘ ประตู ถูกรื้อออกไปหมด ตามประเพณีไทยพวนเรียกชื่อประตูทั้งแปดทิศ และมีความหมายดังนี้
ประตูซ้ำโกรน ทิศพายัพ หมายถึงหนู ประตูโงนงก ทิศอุดร หมายถึงช้าง ประตูชกเกวียน
ทิศอิสาน หมายถึงวัว ประตูเหียนแอ่น ทิศบูรพา หมายถึงครุฑ ประตูแว่นโต ทิศอาคเนย์
หมายถึงสิงห์โต ประตูโสภาค ทิศทักษิณ ประตูลาภฟาน ทิศหรดี หมายถึงเสือ และประตูหารน้ำ
ทิศประจิม หมายถึง พญานาค
- วัดบ้านใหม่
ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยมตรงกันข้ามกับวัดโบสถ์มณีราม แต่เนื่องจากกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง
ต้องย้ายวัดลึกเข้าไปจากฝั่ง
- วัดเวียงชัย
ได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดแม่ราก
ตามชื่อหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
- หมู่บ้านข่า
ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านเกาะระเบียง
อยู่ในเขตตำบลแม่สำ อำเภอศรีสัชนาลัย
ชุมชนเมืองด้ง
เมืองด้งอยู่ในเขตตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เมืองด้งได้ชื่อมาจาก
เจ้าหมื่นด้ง โอรสเจ้าหมื่นโลกสามล้าน เจ้านครลำปาง ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๑๙๓๓ มีนามว่าเจ้าหาญแต่ท้อง
เมื่อเจริญชันษาแล้วได้เป็นแม่ทัพของอาณาจักรล้านนาในสมัยพระเจ้าติโลกราช
ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าหมื่นด้ง เจ้าเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ.๑๙๘๖ และได้รักษาการเจ้าเมืองเชียงชื่น
ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๑๒ อีกด้วย ในห้วงเวลานี้ คงจะได้มาตั้งกองกำลังควบคุมเมืองเชลียง
หรือศรีสัชนาลัย หรือเชียงชื่น ที่ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย บริเวณวัดต้นสนโพธาราม
คำว่าเมืองด้ง ปรากฏในเอกสารจดหมายเหตุ พ.ศ.๒๔๒๘ ใบบอกเมืองสวรรคโลก จ.ศ.๑๒๔๗
แสดงว่าเมืองด้งคง จะได้รับการยกฐานะชุมชนบริเวณบ้านตึกขึ้นเป็นเมือง ตำแหน่งเจ้าเมืองมียศเป็นที่พระเมืองด้ง
ขึ้นอยู่ในความปกครองของเมืองสวรรคโลก ชื่อเมืองด้งมีความเป็นมา ดังนี้
- พ.ศ.๒๐๐๓ - ๒๐๑๗ เป็นที่ตั้งกองกำลังควบคุมเมืองเชลียง หรือศรีสัชนาลัย
หรือเชียงชื่นของเจ้าหมื่นด้งเจ้าเมืองนครลำปาง
- พ.ศ.๒๔๓๗ - ๒๔๔๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอด้ง
- พ.ศ.๒๔๔๑ - ๒๔๕๖ ตำบลบ้านตึก เป็นที่ตั้งสาขาของที่ว่าการอำเภอด้ง
ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย
ชุมชนอำเภอสวรรคโลก ชุมชนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยม ล้อมรอบด้วยวัดสว่างอารมณ์วรวิหาร
หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัดจวน ประวัติศาสตร์ชุมชนแห่งนี้เกี่ยวข้องกับเมืองเชลียง
เมืองศรีสัชนาลัย เมืองเชียงชื่น และเมืองสวรรคโลกเก่า เป็น
เมืองลูกหลวงในสมัยสุโขทัย เป็นเมืองพระยามหานคร มีศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ เท่ากับเมืองสุโขทัย เมืองพิษณุโลก เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครศรีธรรมราช ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยกรุงธนบุรีเจ้าเมืองสวรรคโลกเป็นเจ้าพญาสวรรคโลก ศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๔ เจ้าเมืองสวรรคโลกเป็นที่พระสวรรคโลก
หลังจาก ปี พ.ศ.๒๔๓๕ ทางกรุงเทพ ฯ ได้เริ่มส่งข้าราชการมาบริหารการปกครองควบคู่กับตำแหน่งขุนนางสืบตระกูล
ทายาทตระกูลวิชิตนาค นามเดิมชื่อมั่งเป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก ลำดับที่สี่ เรียงกันดังนี้
- พญาสวรรคโลก (นาค - ต้นตระกูลวิชิตนาค) พ.ศ.๒๓๗๘ - ๒๓๘๕
- พญาสวรรคโลก (นก ) ลูกพญาสวรรคโลก (นาค) พ.ศ.๒๓๘๕ - ๒๔๑๑
- พระยาสวรรคโลก (ด้วง) ลูกพระยาสวรรคโลก (นก) พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๓๓
- พระยาสวรรคโลก (มั่ง วิชิตนาค) ลูกพระยาสวรรคโลก (ด้วง) พ.ศ.๒๔๓๓
- ๒๔๔๕
เมืองสวรรคโลกใหม่ย้ายจากเมืองสวรรคโลกเก่ามาอยู่ที่บ้านวังไม่ขอน
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ เมืองสวรรคโลกได้ย้ายไปสามครั้งแล้ว ตัวเมืองเดิมเป็นอย่างเมืองจริง
ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำยม หรือแม่น้ำธานี มีกำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงอย่างแน่หนา
เมืองสวรรคโลกที่ว่ามาธรรมราชสร้าง เป็นเมืองเดิมทิ้งร้างแล้ว เมืองได้ลงมาตั้งใหม่ที่บ้านท่าชัย
ซึ่งบัดนี้เรียกว่าเมืองเก่า อยู่ใต้เมืองเดิมลงมาคุ้งหนึ่ง ต่อมาก็ทิ้งอีก
แล้วมาตั้งที่บ้านวังไม้ขอน อยู่ใต้เมืองเก่าลงไปมาก
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗ ยังมิได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ แต่ตั้งเจ้าเมือง
มีแต่หลวงยกบัตรรักษาการแทนเจ้าเมืองสวรรคโลก เมืองสวรรคโลกมีเมืองขึ้นสามเมืองคือ
เมืองบางขลัง
ปัจจุบันเป็นตำบลเมืองบางขลัง อำเภอสวรรคโลก ชื่อเมืองนี้ปรากฏตั้งแต่สมัยเชลียงแล้ว
โบราณสถานสำคัญของเมืองนี้ได้แก่วัดโบสถ์เมืองบางขลัง วัดใหญ่ชัยมงคล และหอรบทุ่งเสลี่ยม
เป็นต้น หลังจากปี พ.ศ.๒๕๐๑ ได้แยกพื้นที่ของเมืองบางขลังตั้งเป็นอำเภอทุ่งเสลี่ยม
เมืองทุ่งยั้ง
อยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นที่ตั้งของวัดพระแท่นศิลาอาสน์
และวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองทางบางโพเป็นเมืองอุตรดิตถ์
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕ ยกฐานะเมืองพิชัยจากเมืองตรีเป็นเมืองโท ตัดพื้นที่เมืองทุ่งยั้งในความปกครองของเมืองสวรรคโลก
ให้อยู่ในความปกครองของเมืองพิชัยเช่นเดียวกับเมืองอุตรดิตถ์ หลังจาก ปี พ.ศ.๒๔๕๙
ได้ยกเมืองอุตรดิตถ์ขึ้นเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ พื้นที่เมืองทุ่งยั้งจึงอยู่ในเขตจังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งแต่นั้นมา
เมืองบางยม
ปัจจุบันเป็นตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก ปรากฏชื่อเมืองนี้ครั้งแรกในเอกสารจดหมายเหตุ
พ.ศ.๒๓๘๗ ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๑๑ - ๒๔๓๕ เมืองสวรรคโลกมีเมืองในปกครองหกเมืองคือ
เมืองด้ง เมืองวิเศษชัยสัตย์ เมืองบางยม เมืองศรีนพมาศ เมืองพิรามรง และเมืองบางขลัง
ชุมชนเมืองสุโขทัยเก่า
ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง ฯ ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เจ้าเมืองสุโขทัย
ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ เท่ากับตำแหน่งสำคัญ ๘ ตำแหน่งในครั้งนั้นคือ พระมหาอุปราช
เจ้าพระยามหาเสนาสมุหพระกลาโหม เจ้าพญาจักรีสมุหนายก เจ้าพญาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก
เจ้าพญาศรีธรรมราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เจ้าเมืองกำแพงเพชร เจ้าเมืองสวรรคโลก
และเจ้าเมืองสุโขทัย
ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระเชียงเงินเจ้าเมืองเชียงเงิน
(ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอเมืองตาก) เป็นผู้รั้งตำแหน่งพญาสุโขทัย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้พระวิเชียรบุรี (ปัจจุบันเป็นชื่ออำเภอในจังหวัดเพชรบูรณ์) ดำรงตำแหน่งพญาสุโขทัย
พ.ศ.๒๓๗๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้หลวงณรงอาสา
กองส่วยไม้ขอนสัก บุตรพญาสุโขทัยคนเก่าเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย
พระยาศรีสัชนาลัย (เลี้ยง ศิริปาละ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยคนแรก
เมืองสุโขทัยย้ายจากเมืองเก่ามาอยู่ธานีตั้งแต่เมื่อใด ยังไม่พบหลักฐานที่ชัดเจน
การอนุรักษ์เมืองสุโขทัยเก่าให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖
จอมพล. ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ไปตรวจราชการถึงเมืองสุโขทัยเก่า
พบโบราณสถานอันสำคัญอยู่ในสภาพปรักหักพัง สมควรที่จะฟื้นฟูบูรณะให้เป็นเมืองประวัติศาสตร์
และวัฒนธรรมของประเทศ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัยเก่าขึ้นมาในปีเดียวกันนั้น
ต่อมาได้มีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชรได้รับงบประมาณขุดแต่งบูรณะในช่วงปี
พ.ศ.๒๕๐๘ - ๒๕๑๒ เป็นส่วนใหญ่
ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ มีการใช้คำว่า อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เป็นครั้งแรก รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาให้จังหวัดสุโขทัยมากเป็นพิเศษกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
ชุมชนเมืองราชธานี
ตั้งอยู่ที่ตำบลราชธานี อำเภอเมือง ฯ ชาวบ้านเรียกกันเป็นสามัญว่า ธานี
คำว่าธานีซึ่งเป็นชื่อตำบลอยู่ปัจจุบัน เข้าใจว่ามาจากคำว่า ทะเลหลวง ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่
๑ จารึกพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวว่า ด้านตะวันออกของตัวเมืองสุโขทัย เป็นที่ตั้งของทะเลหลวง
ซึ่งเป็นบริเวณที่แม่น้ำลำพัน แม่น้ำฝากระดาน คลองสามพวง ไหลมารวมกันเป็นทะเลหลวง
แล้วไหลออกไปรวมกับแม่น้ำยมเก่าที่อำเภอกงไกรลาศ
คำว่าธานี เป็นชื่อแม่น้ำท่าแพเดิมหรือแม่น้ำยมในปัจจุบัน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกแม่น้ำด้านตะวันออกกำแพงเมืองสุโขทัย
เมื่อปี พ.ศ.๒๐๐๒ ว่า แม่น้ำราชธานี
ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๗๕ - ๒๓๗๘ ปรากฏชื่อเมืองราชธานีเป็นชื่อเมืองขึ้นของเมืองสุโขทัย
ชื่ออำเภอเมือง ฯ มีลำดับความเป็นมาคือ ระหว่าง ปี พ.ศ.๒๔๔๒ - ๒๔๕๙ เรียกว่าอำเภอในเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ - ๒๔๗๔ เรียกอำเภอธานี ตามชื่อตำบลธานี พ.ศ.๒๔๗๔ - ๒๔๘๒
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อำเภอธานีใช้ชื่ออำเภอว่า
อำเภอสุโขทัยธานี จังหวัดสวรรคโลก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒ กระทรวงมหาดไทยยุบ
จังหวัดสวรรคโลก และอำเภอเมืองสวรรคโลก เป็นอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
อำเภอเมืองสุโขทัยธานีจึงเปลี่ยนเป็น อำเภอเมืองสุโขทัย จนถึงปัจจุบัน
ชุมชนอำเภอศรีสำโรง
พื้นที่ของอำเภอศรีสำโรงมีชุมชนโบราณสามแห่งด้วยกัน คือ บ้านสระบัว ตำบลวังใหญ่
บ้านวังมีด (๑) ตำบลนาขุนไกร และบ้านวังมีด (๒) ตำบลขุนไกร นอกจากนี้วัดโรงฆ้อง
และวัดป่าขมิ้น ตำบลเกาะตาเลี้ยง เป็นวัดโบราณอยู่ริมลำน้ำยมสายเก่า แสดงถึงการมีชุมชนในอดีตอยู่
ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณนี้ด้วย
โบราณสถานเมืองศรีสำโรง ได้แก่ วัดสำโรงทอง อยู่ที่บ้านท่ามักกะสัง
ตำบลราวต้นจันทน์ วัดโรงฆ้อง ปัจจุบันชื่อวัดวงฆ้อง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมเก่า
ตำบลเกาะตาเลี้ยง เป็นวัดที่มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุ
อันได้แก่ พระพุทธรูปโบราณสี่องค์เดิมอยู่ที่วัดโบสถ์ เมืองบางขลัง ชาวบ้านได้อาราธนามาประดิษฐานที่วัดบ้านซ่าน
ตำบลบ้านซ่าน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ ระฆังโบราณของถ้ำระฆัง ตำบลนาขุนไกร และได้นำมาถวายไว้ที่วัดบ้านซ่าน
พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อยู่ที่วัดคลองโป่ง ตำบลคลองตาล
ชุมชนอำเภอกงไกรลาศ
อยู่ที่ตำบลบ้านกร่าง อำเภอกงไกรลาศ เดิมคงจะเป็นเมืองกงครามในความปกครองของเมืองสุโขทัย
และปรากฏชื่อเมืองกงไกรลาศ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ว่าการอำเภอกงไกรลาศหลังแรกตั้งอยู่บนเกาะกง ในเขตตำบลกงในปัจจุบัน พื้นที่อำเภอกงไกรลาศมีวัดร้างมากเกือบ
๗๐ วัด เช่น วัดทุ่งเนินพยอม หรือวัดป่าแฝก
อยู่ในเขตตำบลป่าแฝก มีโบราณสถานคือ ฐานวิหาร ฐานอุโบสถ กำแพงแก้ว หอไตร เตาเผาสังคโลกที่ระบายความร้อนแนวนอน
ชุมชนอำเภอคีรีมาศ
อยู่ในเขตตำบลทุ่งหลวง หนึ่งแห่งและตำบลศรีคีรีมาศอีกแห่งหนึ่ง ชื่อเมืองคีรีมาศมีปรากฏอยู่ในบันทึกวัดพระเชตุพน
ตอนทำเนียบหัวเมือง ที่จัดทำขึ้นระหว่าง ปี พ.ศ.๒๓๗๕ - ๒๓๗๘ เป็นเมืองในความปกครองของเมืองสุโขทัย
เจ้าเมืองเป็นที่พระคีรีมาศ
ชุมชนอำเภอบ้านด่านลานหอย
จากหลักฐานทางโบราณคดี พบคันดินและคูน้ำซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ อยู่ในเขตตำบลวังน้ำขาวสองแห่ง
จากจำนวน ๑๖ แห่งในเขตจังหวัดสุโขทัย เขาค่ายและบ้านด่าน
สันนิษฐานว่า เดิมคงเป็นด่านโบราณ ระฆังโบราณที่เก็บรักษาอยู่ที่วัดสังฆาราม
หรือวัดบ้านด่าน ตำบลบ้านด่าน นำมาจากถ้ำระฆังตำบลนาขุนไกร อำเภอศรีสำโรง
ชื่อเดิมของชุมชนนี้ชื่อ บ้านด่านกับบ้านลานคอย
เมื่อมีการแบ่งพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย ตั้งเป็นกิ่งอำเภอ จึงนำเอาชื่อหมู่บ้านเก่าแก่ที่สุดมารวมกันเป็นชื่ออำเภอ
แต่ชื่อลานคอยได้กลายไปเป็นลานหอย
เขาค่าย บ้านด่าน และบ้านคอย อยู่ระหว่างเมืองสุโขทัย และเมืองตาก เมื่อเกิดศึกพม่าที่ยกมาทางด่านแม่ละเมา
ผ่านเมืองตาก เป็นหน้าที่ของเจ้าเมืองตาก จะต้องรายงานให้หมู่บ้านลานคอยทราบ
แล้วหมู่บ้านลานคอยจะต้องรับส่งม้าเร็วไปรายงานบ้านด่าน บ้านด่านต้องรับส่งม้าเร็วไปส่งข่าวศึกกับเมืองสุโขทัย
ให้เตรียมป้องกันเมือง สันนิษฐานว่า ถ้าทัพพม่ายกผ่านเข้ามาถึงเมืองตาก ราษฎรบ้านลานคอย
และบ้านด่าน จะต้องรีบอพยพครัวเรือน และข้าวเปลือก เข้าไปอยู่ในกำแพงเมืองสุโขทัย
ส่วนไพร่ชายซึ่งมีหน้าที่ต้องเป็นทหารทุกคน คงต้องเตรียมอาวุธประจำกายมาป้องกันข้าศึกอยู่บริเวณเขาค่าย
ปัจจุบันบนเขาค่าย ยังคงมีกองหินก่อเป็นเชิงเทินเหลืออยู่เป็นแนวยาวตลอดภูเขา
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|
|