มรดกทางพระพุทธศาสนา
ความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในอดีต มีอิทธิพลต่อคนไทยในสมัยสุโขทัยเป็นอย่างมาก
ทำให้เกิดวิถีชีวิตไทยในครรลองของพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานีของไทย ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยนั้นมีศาสนาพราหมณ์
และพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และฝ่ายเถรวาทปนกันอยู่ มีวัดสำคัญเป็นหลักตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัยคือ
วัดมหาธาตุ
พระเจดีย์สำคัญของวัดมหาธาตุ ยังเหลืออยู่หลายองค์ในปัจจุบัน มีศิลปะแปลกกว่าเจดีย์อื่นในไทย
หรือในต่างประเทศ คือ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
หรือพุ่มเทียน ปัจจุบันเรียกว่า ทรงดอกบัวตูม พระเจดีย์รูปแบบดังกล่าวมีปรากฏอยู่ที่จังหวัดสุโขทัย
ตาก และกำแพงเพชร มากกว่าที่อื่น นอกจากนั้นเจดีย์แบบนี้ยังมีอยู่ที่ประเทศจีนถึงสององค์
นอกจากเมืองสุโขทัยแล้ว ที่เมืองศรีสัชนาลัย ยังมีโบราณวัตถุคล้ายกับสุโขทัย
เช่น วัดเจดีย์เจ็ดแถว พระสถูปทรงดอกบัว
มีหลักฐานแสดงว่า ในสมัยสุโขทัยไทยได้เลิกนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานอย่างขอม
ซึ่งรุ่งเรืองมากในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ในสมัยนั้นไทยได้รับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ จากเมืองนครศรีธรรมราช
และตั้งแต่นั้นมาก็ไม่เคยเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นอีกเลย การที่ไทยมีการปกครองในระบบพ่อปกครองลูกก็เป็นเพราะอิทธิพลของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
โดยเฉพาะเนื้อความในจักรวัตติสูตร และอัคคะสูตร ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อระบบการปกครองของไทยสมัยนั้น
ทำให้กษัตริย์ทรงทำหน้าที่ในการบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรต่อประชาชน
ด้านปูชนียสถาน มีการสร้างพระสถูปเจดีย์แบบไทย เช่นพระสถูปเจดีย์วัดช้างล้อม
และวัดเจดีย์เจ็ดแถวที่เมืองศรีสัชนาลัย
ด้านประติมากรรม พุทธศิลป ในสมัยสุโขทัย แบ่งออกเป็นสามระยะคือ ระยะที่รุ่งเรืองที่สุด
ระยะผสม และระยะเสื่อม กล่าวได้ว่าไทยเป็นชาติที่สร้างพระพุทธรูปมากที่สุดในโลก
และพุทธศิลปที่งามที่สุดคือสมัยสุโขทัย ในการหล่อพระพุทธรูป ปฏิมากรไทยในยุคนั้น
สามารถหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่มากได้เช่น พระศรีศากยมุนี
ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดสุทัศน์เทพวราราม มีขนาดหน้าตักกว้างสามวาเศษ
พระพุทธรูปที่สร้างนิยมสร้างเป็นสี่อิริยาบท คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน พระพุทธรูปยืนที่ทำด้วยสำริดมีน้อย
ส่วนใหญ่จะเป็นปูนปั้นได้แก่ พระอัฏฐารศที่วัดมหาธาตุ
จังหวัดสุโขทัย และพระอัฏฐารศที่วัดสระเกศ พระพุทธรูปปางลีลาที่นับว่าสง่างามที่สุด
ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดเบญจมบพิตร พระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ เช่น พระอจนะที่วัดศรีชุม
ส่วนพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่ เช่น พระพุทธชินราช
พระพุทธชินสีห์ พระศาสดา พระทองที่วัดไตรมิตร
ฯ กรุงเทพ ฯ และพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ที่ประดิษฐานในวิหารพระศรีศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร
ในสมัยสุโขทัย มีคณะสงฆ์ที่สืบมาจากสมัยทวาราวดีพวกหนึ่ง และคณะสงฆ์ที่มาจากสมัยลพบุรีพวกหนึ่ง
ซึ่งมีทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายาน ต่อมาในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ได้ทรงส่งฑูตไปนิมนต์คณะสงฆ์ลังกาวงศ์
จากเมืองนครศรีธรรมราชมาที่กรุงสุโขทัย
เมื่อพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์มาประดิษฐานที่กรุงสุโขทัยแล้วได้เกิดผล
ที่ตามมาในด้านการศึกษา การปกครองคณะสงฆ์ และศิลปกรรม ดังต่อไปนี้
ด้านการศึกษา
ไทยได้รับพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา จากลังกา เป็นเหตุให้การออกเสียง ภาษามคธของคณะสงฆ์ไทย
มีความชัดถ้อยชัดคำตามแบบลังกายิ่งกว่าชนชาติอื่น
คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในยุคแรก คงจะจารึกด้วยอักษรสิงหล ต่อมาจึงได้ถ่ายเป็นอักษรขอม
การที่ไม่ถ่ายเป็นอักษรไทย ตามที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐขึ้นก็อาจจะเนื่องจากอักษรไทยดังกล่าวมีอักษรไม่พอเขียนคำมคธ
การปกครองคณะสงฆ์
อิทธิพลของลัทธิลังกาวงศ์ ต่อการปกครองคณะสงฆ์ไทย ทำให้เกิดสมณศักดิ์ขึ้น
ซึ่งในอินเดียไม่มี ลังกาเป็นผู้คิดขึ้นมา ในชั้นเดิมมีสองตำแหน่งคือ ตำแหน่งสวามี
และตำแหน่งมหาสวามี เมื่อทางสุโขทัยรับมาจึงได้เกิดทำเนียบสมณศักดิ์ขึ้นครั้งแรกคือ
ครูบา เถร มหาเถร สังฆราช และสังฆาธินายกสิทธิ
การปกครองคณะสงฆ์แบ่งออกเป็นสองคณะคือ คณะคามวาสี และคณะอรัญวาสี คณะคามวาสี มีเจ้าคณะเป็นที่สังฆราชญาณรจีมหาเถระ คณะอรัญวาสี มีเจ้าคณะเป็นที่พระบรมครูติโลกดิลกติรัตนะศีลคันธวนวาสี ธรรมกิตติสังฆราชมหาสวามี
การปกครองคณะสงฆ์อย่างเป็นระบบดังกล่าวได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย
มีความสอดคล้องกับฝ่ายบ้านเมือง มีแบบแผนชัดเจน ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท
พระองค์ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ชาวลังกามีนามว่า พระมหาสามีจากเมืองนครพันมาตั้งสำนักเผยแผ่พระศาสนาที่วัดป่ามะม่วง
กรุงสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๔ และเนื่องจากพระภิกษุสงฆ์ในคณะลังกาวงศ์เป็นพระนักปฏิบัติกรรมฐาน
นิยมพำนักอยู่ในวัดที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมือง จึงมีชื่อเรียกในสมัยนั้นว่า
คณะอรัญวาสี หรือคณะฝ่ายขวา พระภิกษุสงฆ์ผู้พำนักอยู่ในวัดใกล้หมู่บ้านหรือตัวเมือง
เล่าเรียนพระปริยัติธรรม เรียกว่าคณะคามวาสี หรือคณะฝ่ายซ้าย พระสงฆ์ทั้งสองฝ่ายแยกการปกครองเป็นอิสระแก่กัน
แต่ละคณะมีผู้ปกครองสูงสุดเรียกว่า พระสังฆราช
การปกครองคณะ สังฆราชประจำแต่ละหัวเมืองที่สำคัญ นอกจากกรุงสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพระสังฆราชประจำแต่ละหัวเมือง
และขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันพระสังฆราชก็ปกครองพระสงฆ์ลงไปตามลำดับ
คือ พระครู และเจ้าอาวาส
ศิลปกรรม
พระพุทธสิหิงค์จากลังกา เป็นแม่แบบของพระพุทธรูปแบบสุโขทัย พระพุทธรูปในประเทศไทยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีเปลวรัศมีสูง
เพิ่งจะมีครั้งแรกในสมัยสุโขทัย สังฆาฏิก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปลายเป็นแฉกที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ
อย่างที่มีในสมัยสุโขทัย พระเจดีย์แบบลอมฟางถ่ายแบบมาจาก ริจิเจดีย์ในลังกาถูปารามแบบลังกา
ในสมัยสุโขทัยก็ได้สร้างไว้ที่วัดมหาธาตุวัดช้างล้อมเมืองเชลียง
ศาสนสถาน
สุโขทัยในอดีตจนถึงปัจจุบันมีวัดอยู่เป็นจำนวนมาก วัดที่สำคัญพอประมวลได้ดังนี้
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีสัชนาลัย เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก
ชนิดราชมหาวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญมาแต่โบราณกาล สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๗ - ๑๘ ได้โอนมาขึ้นในปกครองคณะสงฆ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ภายในวัดมีกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ประกอบด้วย
พระปรางค์ประธาน
ก่อด้วยศิลาแลงฉาบแล้วลงสีชาดทับ ลักษณะภายนอกเป็นปรางค์แบบอยุธยา ฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
กว้าง ๓๐ เมตร ฐานเขียงขั้นแรกย่อมุมไม้สิบสอง ฐานล่างสุดก่อผนังแบบทึบ เจาะช่องแสงกันอยู่ด้านในสามชั้น
(วิหารคด) เรือนธาตุทางด้านหน้าทำเป็นซุ้มโถง มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้มทางด้านหลังพระวิหาร
ภายในซุ้มโถงมีสถูปขนาดเล็กรูปดอกบัวตูมประดิษฐานอยู่ อาจเป็นที่บรรจุพระธาตุ
ตามผนังภายในองค์ปรางค์มีร่องรอยว่าแต่เดิมมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ส่วนบริเวณเรือนธาตุทางด้านหลัง
ทำเป็นบันไดขึ้นสู่องค์ปรางค์เช่นเดียวกัน แต่เป็นประตูหลอก ฐานชั้นล่างสุดมีพระสาวกเดินประณมมือประทักษิณ
พระวิหาร
ก่อด้วยศิลาแลง ฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๙.๒๐ เมตร ยาว ๒๕.๒๐ เมตร ฐานสูง
๑.๒๐ เมตร เป็นวิหารขนาดหกห้อง มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ผนังวิหารเป็นแบบผนังทึบเจาะช่องแสง
พระประธานเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ขนาบด้วยพระพุทธรูปยืนขนาดเล็กทั้งขวาและซ้าย
พระวิหารขนาดเล็ก
ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระวิหารประธานฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
กว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ด้านหลังตอนบนทำเป็นซุ้มพระ ทรงโค้งแหลมภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางนาคปรก
ฐานพระวิหารขนาดเล็ก
ก่อด้วยศิลาแลงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานขนาดห้าห้อง กว้าง ๗ เมตร
ยาว ๑๐ เมตร ด้านหลังทำเป็นซุ้มพระ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งซึ่งชำรุดหักพังเป็นส่วนใหญ่
พระเจดีย์ราย
เป็นเจดีย์ทรงกลม ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บริเวณมุมทั้งสี่ของพระปรางค์ประธาน
ขนาดโดยเฉลี่ย ๕ เมตร มีอยู่ห้าองค์
กำแพงวัด
เป็นศิลาแลงแท่งกลมขนาดใหญ่ปักเรียงชิดติดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง
๖๐ เมตร ยาว ๙๐ เมตร มีคานทับหลังกำแพง เป็นรูปหลังเจดีย์ตัด มีทางเข้าออกที่ด้านหน้าและด้านหลัง
เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอดแหลมเหมือนช่อฟ้า เหนือซุ้มขึ้นไปเป็นรูปปั้นรูปพรหมพักตร์
และรูปนางอัปสรฟ้อนรำอยู่ต่ำลงมา
พระธาตุมุเตา
อยู่ด้านหลังพระปรางค์ประธาน นอกกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปแปดเหลี่ยม
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๒ เมตร ซ้อนกันสี่ชั้น ต่อจากนั้นเป็นชั้นบัวสามชั้น
ส่วนที่อยู่เหนือขึ้นไปหักพังหมด บริเวณบัวถลาทำเป็นซุ้มหลอกเจ็ดส่วน ซุ้มทางด้านหน้ามีทางเข้าไปภายในแต่หักพังปิดทับหมด
มีบันไดขึ้นไปสู่ซุ้ม
มณฑปพระอัฏฐารศ
อยู่ทางด้านหลังพระธาตุมุเตา สันนิษฐานว่า เป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ เป็นพระพุทธรูปประทับยืนทางทิศเหนือ
ด้านทิศตะวันออกเหลือส่วนพระชงฆ์ของพระพุทธรูป ด้านหลัง (ทิศใต้) และทางด้านขวาหักพังเสียหายมาก
จากการสำรวจโดยรอบพระมณฑป พบเศษกระเบื้องมุงหลังคาดินเผา ตกกระจายอยู่ค่อนข้างหนาแน่น
สันนิษฐานว่า หลังคาพระมณฑปน่าจะเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผา
พระวิหารสองพี่น้อง
อยู่ทางด้านซ้ายของพระมณฑปพระอัฏฐารศ ก่อด้วยศิลาแลงฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๒๗ เมตร ขนาดเจ็ดห้อง ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสององค์
ด้านหลังมีขนาดใหญ่กว่าด้านหน้า
อาคารขนาดเล็ก
ก่อด้วยศิลาแลงเป็นแบบฐานปัทม์เพียงชั้นเดียว หักพังไปแล้วเป็นส่วนใหญ่
พระอุโบสถ
อยู่ถัดออกมาทางด้านหน้าพระปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้ว ได้รับการบูรณะซ่อมแซมขึ้นมาใหม่
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นโบสถ์ขนาดห้าห้อง มีมุขยื่นอีกหนึ่งห้อง หลังคาลดสามชั้นซ้อนสองตับ
ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก
กุฏิพระร่วงพระลือ
หรือที่เรียกกันว่าศาลพระร่วง-พระลือ ลักษณะเป็นพระมณฑปฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส
กว้าง ๗.๒๐ เมตร หลังคาคล้ายรูปชามคว่ำสี่ชั้น ภายในประดิษฐานรูปพระร่วง พระลือ
(จำลอง) วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
วัดสว่างอารมณ์วรวิหาร
วัดสว่างอารมณ์ ฯ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ในเขตตำบลเมืองสวรรคโลก อำเภอสวรรคโลก
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร ได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๓๘ โดยพระยาวิชิตภักดี (นาค) ผู้ครองเมืองสวรรคโลกครั้งนั้นได้บริจาคที่ดิน
จำนวน ๔๒ ไร่ เพื่อใช้เป็นที่สร้างวัดพร้อมทั้งบริจาคเรือนพัก หรือจวนให้เป็นเสนาสนะสงฆ์
ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดจวน
วัดสว่างอารมณ์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๓๐ และได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ สิ่งสำคัญภายในวัดมีดังนี้
พระอุโบสถ
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ เป็นอาคารทรงไทย กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๒ เมตร สูง ๑๖
เมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธเรืองฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดสุโขทัย
เป็นพระพุทธรูปสำริดขนาดใหญ่สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๒.๓๐ เมตร สูง ๒.๘๐
เมตร มีพุทธลักษณะสวยงามมาก เดิมประดิษฐานอยู่ที่พระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุเชลียง
(วัดพระปรางค์) เมืองสวรรคโลกเก่า หรืออำเภอศรีสัชนาลัยในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อพระยาวิชิตภักดี
(นาค) สร้างวัดสว่างอารมณ์เสร็จ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถแต่นั้นมา
พระวิหาร
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๐ เป็นอาคารทรงไทย กว้าง ๗.๕๐ เมตร ยาว ๑๔ เมตร สูง ๑๕
เมตร เป็นที่เก็บรักษาพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ของวัด
พระมณฑป
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ โดยตระกูลคันธนาค เป็นอาคารทรงไทยจตุรมุข กว้างยาวด้านละ
๑๑.๕๐ เมตร มีกำแพงล้อมรอบ พร้อมซุ้มประตูทั้งสี่มุขเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
วัดหนองโว้ง
วัดหนองโว้ง ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมในเขตตำบลเมืองบางยม อำเภอสวรรคโลก
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ มีพื้นที่ประมาณ ๗๗ ไร่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ วัดนี้สร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๒๔๒
พระอุโบสถ
สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๙๑ โดยเจ้าเมืองบางยมร่วมกับชาวบ้านช่วยกันสร้าง
ใช้เวลาถึงแปดปีสิ้นค่าก่อสร้าง ๔,๐๐๐ บาทเศษ ฝาผนังภายในโบสถ์เขียนภาพพระเจ้าสิบชาติ
และพุทธประวัติบางตอนประดับไว้อย่างสวยงาม เพดานบนแกะสลักไม้สักเป็นรูปดอกไม้ประดับลวดลายและปิดทองด้วย
พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘๙ นิ้ว รอบพระประธานทั้งสี่ทิศ
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๓๙ นิ้ว พระอุโบสถกว้าง ๖.๕๐
เมตร ยาว ๖๐ เมตร กำแพงก่ออิฐฉาบปูนแบบสมัยโบราณ ก้อนอิฐที่ใช้เป็นอิฐก้อนใหญ่เท่าขนาดที่ใช้ก่อสร้างสมัยสุโขทัย
กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๘ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร
พระมณฑป
สร้างหลังจากสร้างพระอุโบสถแล้วเสร็จ เป็นแบบทรงไทยจตุรมุขกว้างด้านละ ๙ เมตร
ภายในประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง รอบผนังด้านข้างพระมณฑป ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสี่มุม
ขนาดหน้าตักกว้าง ๕๙ นิ้ว กำแพงแบบสองชั้น ชั้นในกว้างยาวด้านละ ๑๒ เมตร ชั้นนอกกว้างยาวด้านละ
๒๒ เมตร
พระวิหาร
เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสองพี่น้อง ซึ่งเป็นที่นับถือกันอย่างมาก แท่นที่ประดิษฐานหลวงพ่อสองพี่น้องสร้างอย่างงดงาม
ประดับลวดลายต่าง ๆ ยากที่จะหาวัดใดเสมอเหมือน ในวันขึ้น ๑๒ - ๑๕ ค่ำ ถึงแรมค่ำเดือนสาม
จะมีงานฉลองนมัสการปิดทองหลวงพ่อสองพี่น้องเป็นประจำทุกปี
ศาลาการเปรียญ
สร้างหลังสร้างพระวิหารแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นศาลาทรงไทย กว้าง ๒๔ เมตร
ยาว ๔๒ เมตร ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาต่าง ๆ และเป็นสถานที่ทำบุญของพุทธศาสนิกชน
ภูเขาพระฉาย
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ โดยพวกมอญที่มาอาศัยพักหลับนอนในระหว่างที่ล่องเรือบรรทุกโอ่ง
อ่าง ไห จากใต้ไปจำหน่ายทางเหนือ พวกมอญเหล่านี้ได้ร่วมกันสร้างภูเขาพระฉาย
(ถ้ำไห) ขึ้น มีลักษณะเป็นถ้ำข้างล่าง ก่อด้วยไหเสริมคอนกรีต บนยอดก่อเป็นรูปเจดีย์
มีฉัตรบนยอด ข้างล่างมีทางเข้าทางด้านตะวันออก ทางด้านตะวันตกมีทางเข้าสองช่อง
ตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลาสูงประมาณ ๓.๔๐ เมตร ฉายพระรัศมีตรวจดูเวไนยสัตว์ก่อนจะเสด็จออกโปรด
ถ้ำมีลักษณะคล้ายอุโมงค์ ด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีความสำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองสุโขทัยในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง ฯ ห่างจากตัวอำเภอเมือง ฯ ไปทางทิศตะวันตก ๑๒ กิโลเมตร
สิ่งสำคัญในวัดคือ พระเจดีย์มหาธาตุทรงดอกบัวตูม มีเจดีย์รายล้อมทั้งสี่ทิศ
ฐานพระอุโบสถ ฐานพระวิหาร และซุ้มคูหาพระพุทธรูป
พระเจดีย์มหาธาตุ เป็นเจดีย์ประธาน ฐานชั้นล่างสุดมีพระสาวกเดินประณมมือประทักษิณ
บนฐานเดียวกันมีปรางค์สี่องค์ ตั้งอยู่ทั้งสี่ทิศ และบริเวณมุมทั้งสี่ทิศ
มีเจดีย์ทรงปราสาทแบบศรีวิชัยผสมลังกาสี่องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์บริวารของพระเจดีย์ประธาน
ภายในวัดมีเจดีย์ขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า เจดีย์ราย จำนวน ๒๐๐ องค์ วิหารที่สำคัญคือ
วิหาร พระศรีศากยมุนี
(วิหารหลวง) ตั้งอยู่ทางด้านหน้า หรือทางทิศตะวันออกของพระเจดีย์มหาธาตุ
ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึงสภาพใจกลางเมืองสุโขทัยว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร
มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม" พระพุทธรูปทองน่าจะหมายถึง
พระศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำริด ศิลปะสุโขทัย สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาที่
๑ (ลิไทย) ในปี พ.ศ.๑๙๐๔
ภายในวัดมหาธาตุพบศิลาจารึกสามหลัก หลักแรกคือ ศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ หรือที่เรียกว่า
จารึกปู่สบถหลาน
(จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด) พ.ศ.๑๙๓๕ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย ภาษาไทย พบบริเวณริมเสาด้านขวาหน้าวิหารหลวงซึ่งอยู่ด้านหลังวิหารสูง
หลักที่สองคือ ศิลาจารึกเจดีย์น้อย
พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ จารึกด้วยอักษรไทยสุโขทัย เป็นภาษาสันสกฤต พบที่เจดีย์น้อยด้านหน้าเจดีย์ห้ายอด
หลักที่สามคือ จารึกลานทอง
สมเด็จพระมหาเถรราชจุฬามุนี จารึกเมื่อปี พ.ศ.๑๙๑๙ ด้วยอักษรไทยสุโขทัย อักษรธรรมล้านนา
|