มรดกทางธรรมชาติ
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
สนสองใบ
จังหวัดสุรินทร์มีป่าสนสองใบที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวสุรินทร์นิยมเรียกป่าสนนี้ว่า
ป่าพนาสน
ต้นสนสองใบที่จังหวัดสุรินทร์ เกิดบนพื้นที่ราบ อยู่ที่บ้านหนองคู ในเขตสองอำเภอคือ อำเภอจอมพระ และอำเภอสิงขะ
นับเป็นพันธุ์ไม้ไทยที่เก่าแก่ของโลกตั้งแต่ดึกดำบรรพ์
โดยทั่วไปป่าสนมักจะอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๗๐๐ เมตรขึ้นไปโดยประมาณ
ต้นสนมักจะขึ้นอยู่ในดินที่ไม่สู้อุดมสมบูรณ์นัก สภาพของดินมักเป็นกรด มีสัดส่วนของอินทรียวัตถุสูง
มีความสามารถในการอุ้มน้ำสูง แต่ไม้สนสองใบขึ้นได้ในระดับต่ำ ตั้งแต่ความสูง
๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปโดยประมาณ
สภาพป่าธรรมชาติพนาสนแห่งนี้ จัดว่าเป็นป่าที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับป่าสนโดยทั่วไปคือ
เป็นป่าสนที่ขึ้นอยู่กับป่าเบญจพรรณ ปะปนอยู่กับไม้ยางนา กะบาก เหียง ตาด
นนทรีป่า ประดู่ สะเดา ลำดวน มะค่าแต้ ฯลฯ ไม้พื้นล่างเป็นพวกหญ้าเพ็กสาบเสือ
และหวาย มีต้นสนที่เกิดตามธรรมชาติอยู่ประมาณ ๑,๔๐๐ ต้น
ลักษณะทั่วไปของสนสองใบ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง ๑๐ - ๓๐ เมตร
เป็นไม้ผลัดใบ ลำต้นตรง เรือนยอดสมบูรณ์เป็นพุ่มกลม เปลือกมีสีค่อนข้างดำ
หรือน้ำตาลปนดำ แตกเป็นร่องลึกและเป็นเกล็ดหนาแข็ง มักมียางสีเหลืองอ่อนใส
ๆ ขึ้นออกมาตามร่องแตก กระพี้สีเหลืองอ่อน มียางซึมออกทั่วไป ใบยาวเรียวเป็นรูปแข็ง
ออกเป็นกระจุก ๆ ละสองใบ ยาว ๑๕ - ๒๕ เซนติเมตร โคนใบอัดแน่นอยู่ในกาบหุ้ม
ดอกตัวผู้จะออกเป็นช่อสีเหลืองแบบหางกระรอก อยู่ติดกันเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่ง
ยาว ๒ - ๔ เซนติเมตร ดอกตัวเมียออกชิดติดกิ่งเข้ามา มักออกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่
เมื่อผสมพันธุ์แล้วจะเจริญเติบโตเป็นผลอ่อน รูปค่อนข้างยาว ๕ - ๘ เซนติเมตร
คล้ายดอกยอ เมื่อผลแก่จัดจะแตกเป็นเกล็ด หรือกลีบแข็งซ้อนติดกัน แกนกลางของผล
คล้ายดอกรักเร่
มีปีกบางติดอยู่ด้านในของกลีบ ๆ ละสองเมล็ด เมล็ดรูปรีสีน้ำตาลอ่อน ชอบขึ้นเป็นหมู่ตามภูเขาที่แห้งแล้ง
และขึ้นผสมในป่าเต็งรังทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นได้ตั้งแต่ความสูงระดับน้ำทะเลจนถึงความสูง
๑,๘๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล
ไม้สน
แปรรูปแล้วใช้ทำฟืน ฝา รอด ตง และสิ่งก่อสร้างในร่ม เช่น เครื่องเรือน ลังใส่ของ
เสากระโดงเรือ เครื่องดนตรี และยังเหมาะแก่การทำเยื่อกระดาษ มีเส้นใย (fiber)
ยาวประมาณ ๕ มิลลิเมตร
ยางสน
ได้จากการเจาะลำต้น นำไปกลั่นเป็นน้ำมันได้
น้ำมันสน
ใช้ผสมยา ทำกระบูนเทียม สบู่
ชัง
ใช้ในกิจการอุตสาหกรรมทำกระดาษ ผ้าสี ผ้าดอก น้ำมันวานิช กาว และยางสังเคราะห์
ใช้ถูคันชักของเครื่องดนตรีบางชนิด เช่น ไวโอลิน ซออู้ ซอด้วง เป็นต้น
เนื้อไม้มีน้ำยาง จึงมักนำมาใช้แทนขึ้ไต้จุดไฟ
ช้าง
นับเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสุรินทร์ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนามสุรินทร์เมืองช้าง
- การจับช้างที่เมืองสุรินทร์
ไม่มีหลักฐานว่ามีการวังช้าง หรือการจับช้างในเพนียดที่สุรินทร์ การจับช้างที่สุรินทร์มีเพียงวิธีเดียวคือ
การกูบเทวดา
การกูบเทวดาคือการคล้องช้างหรือการจับช้างด้วยเชือกปะกำ เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนโพนช้างคือการออกป่าจับช้าง
กูบเทวดา หมายความเฉพาะ การนำช้างต่อเข้าประชิด แล้วทิ้งบ่วงที่ปลายหนังปะกำคล้องที่เท้าช้างป่า
การจัดกำลังออกจับช้าง ที่จังหวัดสุรินทร์
แบ่งออกเป็นสองระดับคือระดับหมอและระดับควาญ ระดับหมอแบ่งออกเป็น
สามระดับคือระดับครูบา
ระดับหมอสะดำและระดับหมอเสดียง สำหรับควาญแบ่งออกเป็นสองระดับคือ ควาญจา และควาญมะ
หน้าที่ความรับผิดชอบของบุคลากรทั้งห้าระดับ มีดังนี้
- ควาญมะ
เป็นผู้คอยรับใช้งานแบกหาม หุงหาอาหาร และงานทั่วไป มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากการจับช้าง
- ควาญจา หรือจ่า
คือ ผู้ที่อยู่ท้ายช้างต่อหรือตำแหน่งท้ายช้าง มีหน้าที่คอยช่วยเหลือหมอช้างขณะเข้าคล้องช้างป่า
ช่วงที่เรียกว่ากูบเทวดา จะเป็นผู้คอยหยิบยื่นเครื่องมือต่าง ๆ ให้หมอ
- หมอเสดียง คือ
ควาญช้าง เคยเป็นจ่าช่วยหมอจับช้างป่ามาแล้วจนชำนาญพอสมควร และผ่านพิธีแต่งตั้งหรือประสิทธิ์ประสาท
โดยหมอใหญ่หรือครูบามาแล้ว ขณะทำการคล้อง หรือกูบ จะได้รับมอบหมายให้เป็นหมอซ้ายของครูบา
หมอเสดียงที่จับช้างป่าเชือกสำคัญได้เพียงเชือกเดียวก็สามารถขอรับแต่งตั้งเป็นหมอสดำได้
- หมอสดำ
ตรงกับตำแหน่งควาญขวาของตำนานการจับช้างของพระนครศรีอยุธยา เคยออกจับช้างในฐานะหมอเสดียง
จนจับช้างป่าได้ตั้งแต่ห้าเชือกขึ้นไป
เป็นมือรองลงไปจากหมอใหญ่หรือครูบา
- ครูบา หรือครูปะกำหลวง
คือ หมอเฒ่าที่มีความรู้ความชำนาญทั้งด้านคชลักษณ์คชกรรมทั้งปวง เคยเป็นหมอสดำ
และออกจับช้างป่าได้ไม่น้อยกว่า ๒๐ เชือกขึ้นไป และได้รับการปะชิเลื่อนขึ้นเป็นครูบา
เป็นหัวหน้าควบคุมสูงสุด มีอำนาจระงับข้อพิพาทชำระความผิด และควบคุมการจัดการผลประโยชน์
ที่ได้รับจากการจับช้างแต่ละครั้ง
เครื่องมือจับช้าง
มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน ดังนี้
- หนังปะกำ
เป็นเชือกหนังที่ปลายข้างหนึ่งแทงเป็นบ่วงบาศ เพื่อคล้องที่เท้าช้างป่า ปลายเชือกอีกข้างหนึ่งผูกไว้ที่คอช้างต่อ
ทำด้วยหนังควายเกลียวฟั่น มีความยาวตั้งแต่ ๒๐ ศอกขึ้นไป
- ไม้คันจาม
เป็นคันบ่วงบาศ ทำด้วยไม้เนื้ออ่อนแข็ง ล่อนเปลือกหรือเหลาให้กลมยาวประมาณ
๓ - ๔ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางตรงมือจับประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ปลายทำเป็นเงี่ยง
หรือแฉก เพื่อยึดบ่วงบาศขณะหมอช้างยื่นลงไปดักเท้าช้างป่า
- ทามคอ
เป็นเชือกหนังขนาดใหญ่ มีความยาวพอเหมาะกับคอช้าง ทำหน้าที่บ่วงเส้นที่สองใช้ผูกคอช้างเชลย
ที่คล้องติดแล้วเป็นเงื่อนรูด ทำด้วยหนัง หรือหวายฟั่น ๖ - ๘ เกลียว ผูกต่อด้วยเชือกหนังเพื่อโยงไปล่ามติดกับต้นไม้ใหญ่
จาหรือท้ายช้างจะนำทามไปผูกที่คอช้างเชลย ล่ามติดกับต้นไม้ ก่อนจะปลดบ่วงปะกำออกจากเท้า
- ชนัก
ส่วนใหญ่ทำด้วยเหล็กเส้นบิดเป็นเกลียว ร้อยเข้าด้วยกันเป็นห่วงสามห่วง สองท่อน
ลักษณะเหมือนบังเหียนร้อยด้วยเชือกป่าน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ - ๒ เซนติเมตร
ยาว ๒ - ๔ เซนติเมตร ต่อท่อนเกลียวเหล็กกับบ่วงรับเชือก ข้างละห่วงทั้งสองชายผูกบรรจบกับคอช้างต่อ
โดยทิ้งห่วงย้อยไว้ทั้งสองชาย ใช้สำหรับสอดนิ้วหัวแม่เท้า เพื่อยึดกันพลัดตกขณะกำลังทำการคล้องช้าง
- ห่วงที่ปลายชนัก
มีสองชนิดคือ ที่ทำด้วยเหล็ก และทำด้วยทองเหลือง ขณะที่ไม่ได้ทำการคล้องช้าง
หมอจะคล้องชนักไว้ที่คอของตนเอง ถือเป็นของสูง
- สลก ลักษณะคล้ายทามคอ
แต่เป็นปลายด้านผูกติดกัวบคอช้างต่อโยงกับหนังปะกำ ทำจากหนังฟั่นสามเกลียว
- โยว หรือลำโยง
เป็นลวดสังกะสี หรือเชือกหนัง ใช้โยงจากทามคอเพื่อล่ามติดกัยต้นไม้ หรือกับคอช้างต่อ
เพื่อลากจูงช้างป่ากลับค่ายพัก
- สนามุก หรือสนับมุก
เป็นถุงหรือไถ้ ทำด้วยหนังโคทั้งผืน เย็บติดกันแน่นหนา ใช้เก็บข้าวของขณะเดินป่า
โดยมากใช้เก็บข้าวสาร
- ไม้งก
ลักษณะเหมือนค้อน ทำด้วยไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ ๑ ฟุต มีด้ามจับ
ปลายงองุ้มมีปุ่มที่หัว ใช้เป็นปฎักตีช้างต่อเพื่อเร่งความเร็ว
- กระหรั่น
หรือกระเดื่อง เป็นห่วงเหล็กหลายขนาดร้อยติดกัน มีเดือยที่ห่วงตัวเล็ก
สอดไว้ที่รูขอบห่วงตัวใหญ่ ใช้เกี่ยวยึดระหว่างทามคอกับโซ่ เพื่อป้องกันมิให้ทามรัดคอช้างแน่น
หรือหลวมเกินไป
- ชังหรือสแนงเกล
ทำจากเขาควายป่า มีลิ้นใช้เป่าให้เสียงทั้งเป่าออก และสูดเข้า เป็นเครื่องเป่า
ที่ใช้ในพิธีกรรมและให้สัญญาณ ท่วงทำนองที่เป่าคล้ายกับทำนองเป่าสังข์ ในพระราชพิธี
|