ครกไม้ หรือครกซ้อมมือ
หรือครกตำข้าว ใช้สำหรับตำข้าวเปลือก ตำงา ตำถั่ว ตำแป้ง ตำข้าวเม่า
ส่วนใหญ่ใช้ตำข้าวเปลือก
ครกให้จะใช้ท่อนไม้ใหญ่ทั้งลำต้น มักเป็นไม้เนื้อแข็ง โดยตัดท่อนไม้ยาวประมาณ
๑ เมตร ตัดหัวท้ายให้ผิวราบเรียบเสมอกัน เจาะส่วนตรงกลางด้านบนของท่อนไม้ให้เว้าลึกลงไปเหมือนครกหิน
ให้ปากครกกว้าง ก้นครกลึกสอบเข้าเป็นหลุมลึกประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
สากมีการทำได้สองวิธีด้วยกันคือ สากมือชนิดไม้ท่อนเดียวกลม ๆ ยาวประมาณ ๒
เมตร เหลาให้คอดกิ่วตรงกลาง เพื่อเป็นมือจับเวลาตำ ปลายสากสองข้างมน อีกชนิดหนึ่งเป็นไม้สองท่อน
ท่อนหนึ่งสำหรับตำ อีกท่อนหนึ่งเป็นมือจับเรียกว่า สากโยน หรือสากมือ
การตำ ถ้าตำหลายคนต้องตำสลับกัน เมื่อตำสิ่งของละเอียด จะมีคนคอยใช้มือกลับไปกลับมา
ให้ตำได้ทั่วถึงกัน
ครุโพง
เป็นภาชนะสำหรับโพงน้ำ และใช้มือหิ้วน้ำได้มากกว่าการหาบโดยใช้ไม้คาน ครุโพง
มีหลายรูปแบบ เช่น สานเป็นครุเล็ก ๆ เรียกว่า น้ำทุ่ง
คล้ายตะกร้าหิ้ว และสานเป็นรูปแบบใช้โพงน้ำอย่างเดียว
ครุโพงแบบตะกร้าหิ้ว สานขนาดครุก้นเป็นมุมสี่เหลี่ยม ตรงกลางป่องปากงุ้มเข้า
ช่วงก้นครุจนเกือบถึงขอบปากสานเป็นลายสอง ที่ขอบปากสานสลับเยื้องกันไปมา ชาวบ้านเรียกว่า
ไพรยักคิ้ว ใช้หวายถักเก็บขอบ เหลาซี่ไม้ไผ่โค้งทำเป็นที่จับคล้ายหูตะกร้า
ครุโพงแบบนี้จะใช้หิ้วน้ำจากแม่น้ำลำคลอง หรือสระน้ำที่ไม่ลึกนัก ครุโพงต้องยาชันป้องกันน้ำรั่วออก
ครุโพงแบบใช้โพงน้ำบ่อเล็ก ๆ สานด้วยหวายหรือตอก และยาชันโพงน้ำได้ ๑๕ - ๒๐
ลิตร เมื่อโพงลงไปในบ่อน้ำแล้ว ครุโพงจะล้นตักน้ำได้สะดวก ครุโพงทรงแบนจะมัดติดสายคันโพงไว้ตายตัว
คันสุน
หรือคันกระสุน เป็นเครื่องมือยิงสัตว์ มีคันใช้สายโก่งยิงด้วยลูกดินปั้นกลม
คันสุน คันธนูและคันหน้าไม้ มีลักษณะการทำคล้าย ๆ กัน คือ มีคันสาย และลูกยิง คันจะทำด้วยซอไม้ไผ่ที่แก่จัด โดยตัดลำไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑ เมตร เหลาให้เรียวด้านปลายไม้ทั้งสองข้าง
ควั่นหัวท้ายที่ปลายไม้ไว้เพื่อเป็นบ่ารับสาย ตรงช่วงกึ่งกลางคันสุนใช้ไม้เหลามัดด้วยหวายประกบแน่นเรียกว่า กบ
เพื่อให้คันไม่หักง่าย ๆ เวลาดึงสายและเพื่อให้จับได้ถนัด ส่วนสายใช้ส่วนผิวไม้ไผ่เหลาเป็นเส้น
ตรงกลางสายผ่าเป็นสองเส้น ทำรังวางลูกกระสุนถักเป็นหวายรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็ก
ๆ มีร่องลึกสำหรับวางลูกกระสุนเรียกว่า รังกระสุน ซึ่งมีอยู่สองลักษณะคือ
รังกระจาดกับรังหอยโข่ง ทาบลายสายทั้งสองข้างคล้ายกัน รอยควั่นหัวท้ายของปลายคัน
เมื่อคล้องหูกับปลายคันแล้วสายจะดึงคันให้โก่งงอ
เวลายิงต้องปั้นลูกกระสุนกลม ๆ จากดินเหนียวผึ่งแดดให้แห้ง ลูกกระสุนต้องมีขนาดพอเหมาะกับรังกระสุน
ตอนยิงกะใส่ลูกกระสุนไว้ในรังกระสุน มือข้างหนึ่งจับคันตรงกลางไว้ มืออีกข้างหนึ่งจับลูกกระสุนและรังกระสุน
ดึงสายให้ยืดออกจนคันโก่งมาก ๆ การปล่อยลูกกระสุนต้องบิดคันให้เฉียงเล็กน้อย
คันกระสุนโดยทั่วไปมักใช้ยิงนกทุกชนิดและยิงสัตว์เล็ก ๆ เช่นกระรอก กระแต
กระต่าย และปลาเป็นต้น
เครื่องสีข้าว
เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับสีข้าวเปลือกให้ร่อนออกจากเมล็ดซึ่งเรียกว่าข้าวกล้อง
แล้วนำไปใส่ครกตำทำให้ข้าวขาวเป็นข้าวสาร วิธีใส่ครกตำเรียกว่า ซ้อมข้าว
การสีข้าวมีวิธีการคล้ายโม่แป้ง
เครื่องสีข้าวสานด้วยผิวไม้ไผ่เป็นรูปทรงกระบอกมีขอบสูงทำเป็นถาดรองข้าวกล้อง
ส่วนประกอบสำคัญมีห้าส่วนคือท่อนฟันบน ท่อนฟันล่าง แกนหมุน ไม้คาน และคันโยก
ท่อนฟันบนสานด้วยผิวตอกไม่ไผ่เป็นรูปทรงกลม สูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ใช้ไม้เนื้อแข็งขนาดไม้แปร ขวางเป็นคานไม้
ให้ปลายไม้ทะลุผิวไม้ไผ่ที่สานท่อนฟันบนออกมาช้างละ ๒๕ เซนติเมตร ไม้คานที่โผล่จะเจาะรูให้ทะลุ
เพื่อให้สลักคันโยก ซึ่งมีเดือยสอดไว้สำหรับโยกให้หมุนไปโดยรอบ ใช้ดินเหนียวอัดให้แน่น
ตรงแบบกลางท่อนฟันบนทำเป็นรูกลวงไว้ เมื่อเทข้าวเปลือกลงไปในท่อนฟัน บนเวลาท่อนฟันบนหมุนข้าวเปลือก
จะไหลลงไประหว่างท่อนฟันบนกับท่อนฟันล่าง ซึ่งทำขบกันอยู่ ฟันบนและฟันล่างที่ใช้เสียดสีเปลือกข้าวให้แตกออกจากเมล็ด
จะทำด้วยแผ่นไม้บาง ๆ สลับกับดินเหนียวคลุกแกลบอัดจนแน่นหลาย ๆ ซี่จนรอบท่อนฟันบนและท่อนฟันล่าง
ท่อนฟันล่างสานด้วยผิวตอกไม้ไผ่ ทำเป็นถาดขอบสูงรองรับข้าวกล้องที่สีแล้ว
เจาะรูให้ไหลลงมาที่กระบุงหรือถังรองรับตรงกลางท่อนฟันล่างอัดดินเหนียวเช่นกัน
ทำฐานรองรับท่อนฟันล่าง ทำไม้แกนหมุนไว้ตรงศูนย์กลางขอบท่อนฟันล่าง อัดดินให้แน่นแกนหมุนจะเป็นเดือยสอดรูทะลุถึงไม้คานที่ขวางไว้
ไม้คานทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดไม้แปร ยาวประมาณ ๒ เมตร ขวางท่อนฟันบน เจาะรูปลายไม้เพื่อสอดสลักคันโยก
คันโยกใช้ละไม้ไผ่โต ๆ ทำเป็นคันโยกมีมือจับเจาะรู ปลายคันโยกทำสลักเดือย
สอดกับรูไม้คาน
การสีข้าว จะใส่ข้าวเปลือกลงไปในส่วนลึกเว้าของท่อนฟันบน ใช้มือโยกหมุนตามนาฬิกาจนได้ข้าวกล้อง
เคียว
เป็นเครื่องมือสำหรับเกี่ยวข้าว เกี่ยวถั่ว และเกี่ยวหญ้าต่าง ๆ แต่ใช้เกี่ยวข้าวเป็นหลัก
เคียวกระสา
รูปเคียวโค้งเป็นวงกว้างเหมือนคอนกกระสา เหมาะสำหรับใช้เกี่ยวข้าวซึ่งปลูกโดยวิธีปักดำ
เพราะต้นข้าวจะเป็นกอใหญ่
เคียวกระยาง
รูปเคียวโค้งเป็นวงแคบกว่าเคียวกระสา เหมือนคอนกกระยาง ใช้เกี่ยวข้าวนาดำและนาหว่าน
ซึ่งกอข้าวไม่ใหญ่นัก จะทำด้ามจับยาวและนิยมใช้กันมากที่สุด
เคียวงู
ปลายเคียวเหมือนหัวงู วงเคียวแคบกว่าเคียวกระยาง มีคอคอดตรงคอ เหมาะสำหรับเกี่ยวข้าวฟ่างและรวงข้าวที่พันกันยุ่งไม่เป็นระเบียบ
จำเป็นต้องเกี่ยวข้าวทีละรวงเป็นบางครั้ง ด้ามจะงอเพื่อให้จับได้ถนัดแรงดึงมาก
ปกติมักใช้เกี่ยวข้าวฟ่างเพราะค่อนข้างเหนียว
เคียวขอ
บางทีเรียกว่ากรูด จะใช้กิ่งไม้เนื้อแข็งถากและเหลาให้เรียบ ให้ส่วนที่เป็นขอมีความโค้งเป็นวงกว้างมาก
เสี้ยมปลายให้แหลม ส่วนที่เป็นขอให้สำหรับกวาดต้นข้าวให้มารวมกัน เมื่อจับรวงข้าวได้แล้วจะพลิกเคียวซึ่งอยู่ตรงข้ามกับขอมาเกี่ยวรวงข้าว
แล้วใช้ขอด้านล่างกองรวม
ชนัก
เป็นเครื่องแทงจระเข้ ทำด้วยเหล็กปลายแหลมเป็นรูปลูกศร มีด้ามเป็นไม้ไผ่ยาวใช้เชือกมัด
เวลาพุ่งไปปักเป้าหมายแล้วก็จะผ่อนเชือกไปเรื่อย จนจระเข้ดิ้นหมดแรงจึงดึงเข้ามาใกล้ฝั่ง
แล้วแทงให้ตาย
ชนักเป็นอาวุธที่ใช้แทงจระเข้โดยเฉพาะ พัฒนามาจากการทำหอกไม้เปลี่ยนเป็นหอกเหล็กใช้เหล็กขนาดสี่หุน
เผาไฟตีปลายให้แบนทำเป็นลูกศรแหลมคม ตัวชนักหรือหอกเหล็ก ยาวประมาณครึ่งเมตร
ส่วนโคนเหล็กทำรอยคอดไว้มัดเชือกพวนเส้นยาว ๆ สวมโคนเหล็กกับไม้เนื้อแข้งหรือลำไม้ไผ่ซึ่งเจาะรูไว้ทำเป็นด้ามจับ
ยาวประมาณ ๓ เมตร
การล่าจระเข้ต้องใช้เรือลำใหญ่เป็นพาหนะ ใช้คนพายหัวท้าย คนแทงอยู่ตรงกลาง
เมื่อพบจระเข้จะต้องพายเรือคู่ขนานกันไปกับจระเข้จะแทงได้สะดวก มักใช้ชนักแทงที่ปาก
ลำตัว ด้ามชนักจะหลุดออก ผ่อนเชือกพวนมัดกับเหล็กไปเรื่อย ๆ แล้วรีบพายเรือเข้าฝั่ง
มิฉะนั้นจระเข้อาจจะหมุนเรือคว่ำ เมื่อดึงจระเข้ขึ้นฝั่งได้แล้ว จะมีอันตรายน้อยกว่าอยู่ในน้ำมาก
ท่อปลา
เป็นเครื่องมือสำหรับดักปลาทุกชนิด ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปทรงกระบอก คล้ายเชลเลงของภาคใต้
แตกต่างกันตรงที่ปากท่อกว้างผายออกเหมือนปากแตร
การใช้ท่อดักปลา จะใช้ดักปลาในบริเวณที่น้ำไหลแรง ๆ เช่นดักปลาที่ทำนบ
ฝายกั้นคลอง ที่ระบายน้ำเข้านา เป็นต้น ชาวบ้านจะทำท่อไม้ภายในกลวงระบายน้ำ
ได้ทำที่ปิดเปิดน้ำ เวลาดักท่อให้ปลายท่อสวมท่อไว้ก้นท่อ มีหลักไม้กั้นที่ส่วนปลาย
อาจใช้เชือกมัดไว้กับหลัก การกู้ท่ออาจกู้ปลาวันละครั้ง ชาวบ้านส่วนใหญ่จะดักปลาตอนเย็น
แล้วไปกู้ตอนเช้าตรู่
ท่อดักปลา สามารถดักสัตว์น้ำได้ทุกประเภท ท่อแต่ละท่อจะมีขนาดสูงท่วมหัว
สว่านโยน
เป็นสว่านเจาะเหล็ก สมัยก่อนการเจาะเหล็กมีความยากลำบากมาก ต้องใช้เหล็กเผาไฟให้ร้อนแดง
แล้วใช้เหล็กสกัดเจาะโดยการใช้ค้อนทุบ พอเหล็กเย็นลงก็จะเผาให้ร้อนแดงใหม่
ใช้เหล็กสกัดไปเรื่อย ๆ จนทะลุ ซึ่งต้องใช่เวลานานมาก จึงมีการใช้สว่านโยนเจาะเหล็กขึ้น
สว่านโยน มีหลักการทำให้คันไม้ที่เสียบเหล็กเจาะหมุน ทำให้ปลายเหล็กแหลมคมหมุนตาม
ประกอบกับแรงกดและแรงเหวี่ยงของลูกตุ้มถ่วง จึงทำให้เหล็กทะลุได้เร็วขึ้น
นาฎศิลป์และดนตรี
หอน้ำเต้า
ชาวลีซอ นำน้ำเต้าที่แห้งแล้วมาทำซอน้ำเต้า เพื่อใช้เล่นในงานพิธีต่าง ๆ
ปรบไม้ไผ่
เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะของชาวกะเหรี่ยง โดย่นำไม้ไผ่หนึ่งลำ ยาวประมาณ
๑ เมตร มาผ่าซีกด้านหนึ่ง แต่ไม่ให้ขาดจากกันให้อีกด้านหนึ่งติดกันอยู่ และเหลาทั้งสองซีกเป็นที่จับ
เมื่อจะใช้ประกอบจังหวะ จะใช้มือดึงแยกไม้ไผ่ออกจากกันแล้วปล่อยให้กระทบกัน
จะเกิดเสียงดัง ใช้เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ในการแสดงนาฎศิลป์ทุกประเภท
ซึง
ชาวพบพระ ทำซึงโดยทำเป็นกล่องแบบกีตาร์ แต่เล็กกว่ามาก และนำลวด จากสายห้ามล้อรถจักรยานจำนวนสามเส้น
ทำตัวปรับที่ขาซึงสามตัว บริเวณกล่องไม้ตรงกลางซึงจะเจาะรูเล็ก ๆ เพื่อให้เกิดเสียงทุ้ม
วิธีเล่นจะจับปลายประคองและดีดด้วยนิ้ว ไม่ต้องอาศัยโน๊ตดนตรี ใช้ความจำใส่เสียงเอง
ซึงใช้เล่นประกอบด้วย ซออู้ และซอด้วง
แคนชาวม้ง
ทำจากไม้ไผ่ ลักษณะคล้ายแคนของชาวอีสาน แต่ด้านปากที่เป่าจะยาวมาก ตามความสูงของผู้เล่น
กลองหนังวัว
เป็นเครื่องดนตรีของชาวม้ง ทำจากท่อนไม้ใหญ่เจาะลำต้นออก นำหนังวัวแห้ง มาขึงเป็นหน้ากลอง
เป็นกลองหน้าเดียว ใช้ในพิธีศพ
แตรเขาวัว และเขาควาย
ทำจากเขาวัว เขาควาย เจาะรูตรงปากด้านที่เล็กและทำเป็นลิ้น ใช้ในโอกาสที่ส่งรหัสต่าง
ๆ ให้ทราบตามจังหวะ และความหมายที่ได้นัดแนะกันในกลุ่ม เปรียบเสมือนการพูดคุยกันในระยะไกล
โดยจะมีการเป่าโต้ตอบกันเป็นจังหวะ และเข้าใจความหมายเฉพาะของพวกตนเอง
เครื่องตีกะโหลก
ทำด้วยไม้ไผ่ลำใหญ่ ๆ หรือจากต้นไม้ โดยนำมาขุดแต่งให้ได้ขนาดพอดี ทำหูหิ้วมัดแขวนไว้
เพื่อเคาะเป็นเสียงเรียกสัตว์ ให้กลับที่อยู่เพื่อมากินอาหาร ซึ่งชาวม้ง ชาวกะเหรี่ยง
มักจะปล่อยสัตว์เลี้ยงให้ออกหากินอาหารกินเองในหมู่บ้าน และในป่า เมื่อถึงเวลาเย็นจะตีกะโหลกให้สัตว์เลี้ยงได้ยิน
ด้วยความเคยชินก็จำได้จึงวิ่งกลับมาที่อยู่ เพื่อกินอาหารและเข้าคอก
บุคคลสำคัญในท้องถิ่น
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๒๗๗ ที่กรุงศรีอยุธยา พระราชบิดาเป็นขุนพิพัฒน์
นายอากรบ่อนเบี้ย เจ้าพระยาจักรีได้ขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ให้ชื่อว่า
สิน เมื่ออายุได้เก้าขวบ ได้เรียนหนังสือในสำนักพระอาจารย์ทองดีมหาเถระ ณ
วัดโกษาวาศน์ (วัดคลัง) ครั้นเรียนหนังสือขอมไทยได้จบบริบูรณ์แล้ว
ก็เรียนพระไตรปิฎก จนอายุได้สิบสามขวบ เจ้าพระยาจักรีจึงนำเข้าถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก
ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ระหว่างนั้นได้ไปศึกษาในสำนักอาจารย์จีน ญวน
แขก ได้เรียนวิชาการทุกภาษา สามารถพูดได้ทั้งสามภาษา เมื่ออายุได้ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทในสำนักพระอาจารย์ทองดี
ณ วัดโกษาวาศน์ เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและสืบพระบวรพุทธศาสนา ได้อุปสมบทสามพรรษา
ก็ลาสิกขากลับมารับราชการดังเดิม
ท่านได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นมหาดเล็กรายงานข้อราชการทั้งหลายในกรมมหาดไทย
และกรมวังศาลหลวง ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นหลวงยกกระบัตร เมืองตาก เมื่อพระยาตากถึงแก่กรรม
จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาตากแทนคนเก่า ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์
พระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร ถึงแก่กรรม จึงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระยาวชิรปราการ
เจ้าเมืองกำแพงเพชรแทน
ในปี พ.ศ.๒๓๐๘ พม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา และทำศึกอยู่นานเกือบสองปี พระยาตากสินเข้ามาช่วยรักษากรุงศรีอยุธยา
ต่อสู้พม่ามีความชอบหลายครั้ง ครั้งหนึ่งถูกพิจารณาโทษเรื่องปืนใหญ่จนเกือบถูกประหารชีวิต
แต่มีความดีความชอบจึงถูกภาคทัณฑ์ไว้ พระยาตากสินเห็นว่าไม่มีทางที่จะรักษาเมืองไว้ได้
จึงพาพรรคพวกตีฝ่าพม่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยา ไปรวมกำลังที่จันทบุรีแล้ว ยกมาสู้พม่าใหม่
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าแล้ว พระยาตากสินได้ยกกำลังทางเรือจากจันทบุรีมาทางอ่าวไทย
เข้าตีค่ายโพธิสามต้นที่เมืองธนบุรี ขับไล่พม่าออกไปจากราชอาณาจักรไทย แล้วตั้งราชธานีใหม่ที่ธนบุรี
หลังจากนั้นได้ปราบปรามชุมนุมต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่รวมรวมราชอาณาจักรไทย
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ครองราชย์ได้ ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕
|