ภูมิปัญญาชาวบ้าน
และเทคโนโลยีท้องถิ่น
การทำมาหากิน
ในอดีตร้อยละ ๙๐ ประกอบอาชีพทางการเกษตร ส่วนใหญ่จะทำไร่ และทำนา
การทำนา
ในอดีตจะใช้ควายไถนา อุปกรณ์ในการไถนาคือ จะมีไม้หรือกิ่งไม้ทำที่ไถนา มีเผือหรือคราด
และแอก สำหรับใส่คอควาย พื้นที่นาประมาณ ๑๕ ไร่ จะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือน
จึงเสร็จ ชาวบ้านจะมีการใช้แรงควายคือ ใครมีควายก็จะนำมาช่วยกันใช้งาน เวลาเก็บก็จะช่วยกัน
ผลผลิตส่วนใหญ่เก็บไว้กินเอง หรือแลกเปลี่ยนกับของอย่างอื่น ครอบครัวหนึ่ง
ๆ จะทำนาประมาณ ห้าไร่ หรือน้อยกว่านั้น
การทำไร่
ในอดีตไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง การกำจัดแมลงจะใช้วิธีแบบธรรมชาติ ซึ่งทำเป็นระบบนิเวศ
คือสัตว์ที่กินแมลง เช่น นก หรือแมลงด้วยกันเอง นอกจากนั้นก็มีการใช้ควันไฟรม
เป็นต้น การทำไร่ส่วนใหญ่จะทำเก็บไว้กินเอง หรือนำไปแลกเปลี่ยนกัน
การทอผ้า หรือการทอฮูก
(หูก) ในภาษาท้องถิ่น ชาวบ้านจะทำไร่ฝ้ายเอง ซึ่งจะทำประมาณเดือนพฤษภาคม และเก็บผลผลิตในเดือนมกราคม
หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เมื่อเก็บฝ้ายได้แล้วจะนำมาตากแดด และเอาเมล็ดออก
แล้วใช้ก๋อยิงฝ้ายให้ฟู นำมาปั่นเป็นแท่ง ยาวประมาณหนึ่งคืบ จากนั้นจะนำไปปั่นเพื่อเก็บร้อยไว้ในหลอด
แล้วนำมามัดรวมกัน ให้เส้นแช่น้ำประมาณสองคืน แล้วนำมาย้อมสีที่ได้จากธรรมชาติ
เช่น สีคราม ย้อมขี้โคลน เพื่อให้ผ้าเป็นสีดำ ลูกมะเกลือ นำมาขยำกับข้าวต้มที่ต้มจนเละ
และนำเส้นฝ้ายไปตากแห้ง ใส่เครื่องปั่น เพื่อให้ด้ายอยู่ในหลอด พร้อมที่จะนำไปทอเป็นผืน
นำไปตัดเย็บเป็นผ้าโสร่ง เสื้อ ฯลฯ สมัยก่อนมีเครื่องทอผ้าเกือบทุกหลังคาเรือน
เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน เป็นเครื่องมือพื้นบ้านที่ประดิษฐ
และนำมาใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ
กรบ
เป็นเครื่องมือที่ใช้แทงปลา ที่มีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายฉมวก บางทีเรียกว่า
กบ หรือตบ มีปลายเป็นเหล็กแหลม ขนาดใหญ่กว่าฉมวก มือถือเป็นด้ามไม้เนื้อแข็ง
มีขนาดสั้นกว่าด้ามฉมวก ที่ทำด้วยไม้ไผ่ เหล็กปลายแหลมที่ใช้แทงปลา อาจมี
สามแฉก ห้าแฉก หรือเจ็ดแฉก ปลายด้ามถือทำให้โค้งงอ เพื่อให้จับได้กระชับ บริเวณมือจับบางทีมีการแกะสลักลวดลาย
เป็นรูปหัวสัตว์ต่าง ๆ เช่น ลิง นก งู เป็นต้น ถัดจากมือจับจะใช้ไม้ไผ่รวกลำเล็ก
ๆ ข้อสั้น ๆ และแข็งแรง ทนทาน จำนวนลำไม้ไผ่เท่ากับจำนวนแฉกของกรบ เช่น ถ้ากรบมีสามแฉก
ก็ต้องใช้ไม้ไผ่ยาว ๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร สามท่อน ใช้หวายหรือลวดถักยึดให้แยกออกจากกันเป็นแฉก
ๆ ปลายไม้รวกผูกยึดติดกับด้ามไม้เนื้อแข็ง เหล็กที่สวมทับกับไม้รวก ใช้วิธีเผาเหล็กให้ร้อนแดงใส่ครั่งไว้ในรูไม้ไผ่
กดเหล็กเข้าไปในรู เมื่อครั่งละลายและเย็นลงแล้ว จะยึดเหล็กที่สวมได้แน่น
จากนั้นใช้วงแหวนเหล็กกว้าง ๓ เซนติเมตร สวมทับรัดให้แน่นหนาอีกครั้งหนึ่ง
ปลายกรบที่เป็นเหล็กสำหรับไว้แทงปลา จะแหลมคมมาก
กรบ มักใช้แทงปลาในบริเวณน้ำลึกไม่เกินหัวเข่า วิธีการแทงปลา อาจปักกิ่งไม้วางห่าง
ๆ บริเวณน้ำไหล หากปลาว่ายผ่านมาจะทำให้กิ่งไม้ที่ปักไว้สั่นไหว จะได้แทงปลาได้ถูก
กรบ มักใช้แทงปลาตัวใหญ่ ๆ เช่น ปลาค้าว ปลาสวาย ปลากะโห้ ปลาเทโพ เป็นต้น
นอกจากนั้น เช่น ปลาดุก ปลาช่อน มักใช้ฉมวกแทง
กระชอนรดน้ำ
เป็นภาชนะสานด้วยตอก ใช้สำหรับตักน้ำรดต้นไม้ พืชผักที่ปลูกยกร่อง บางทีเรียกว่า
ชงโลง รดน้ำหอม เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายชงโลง แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก ที่ตักน้ำสานด้วยตอกไม้ไผ่
เว้าลึกลงไปมีมุมเป็นสามเหลี่ยม สานตอกด้วยลายสอง หรือลายขัดก็ได้ ใช้ซีกไม้ไผ่เป็นขอบ
ถักหวายรัดให้แน่น ชาวบ้านเรียกว่า หัวแมลงวัน ขอบกระชอนด้านบนสานตอกหักเป็นมุมสามเหลี่ยม
ผูกมัดกับด้านไม้ไผ่ กระชอนกว้างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร
ด้ามทำด้วยไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ หรือไม้เสี้ยว ยาวประมาณ ๒ เมตร เหลาให้เรียบ ใช้เส้นหวายผ่าซีกสอดร้อยยึดด้ามไม้ไผ่จนแน่น
กระแตะ
เป็นเครื่องมือสำหรับดักนก สานด้วยไม้ไผ่ที่เหลาบาง ๆ มีโครงไม้ไผ่ให้ด้านปลายทั้งสองด้านเรียวอ่อน
เหมือนคันเบ็ด ไม้ทั้งสองอันนี้ควั่นหัวที่ปลาย เพื่อใช้สำหรับผูกเส้นเชือก
ไม่ให้หลุดได้ง่าย เส้นเชือกจะผูกไม้สองอันให้โค้งโก่ง ใช้ตอกไม้ไผ่สานเป็นลายขัดโดยสานยึดโครงไม้ทั้งสอง
กระแตะที่สานเสร็จแล้ว จะมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความกว้าง ๑๕ - ๒๐ เซนติเมตร
ยาว ๒๕ - ๓๐ เซนติเมตร ที่กึ่งกลางกระแตะเจาะเป็นรูเล็ก เพื่อใช้ร้อยเชือกไว้สำหรับ
ผูกจิ้งหรีด ลูกหนู และลูกกบ เป็นต้น เส้นเชือกที่ใช้มัดโครงไม้ทั้งสองด้าน
จะมีระยะห่างเท่า ๆ กับปีกนก เส้นเชือกจะทาด้วยตังที่เหนียวเกือบตลอดเส้นเชือก
การทำตังจะทำจากยางต้นโพ ยางไทร ยางข่อย ยางมะเดื่อ หรือยางจากต้นเลียบ ผสมน้ำมันยางลงไปในกระป๋อง
เคี่ยวไฟให้ร้อนจนเหนียว จากนั้นนำตังที่ยังเหลวอยู่ไปทาเส้นเชือกให้ทั่วตลอดเส้น
เมื่อปีกนกหรือขนนกไปติดจะไม่หลุด นกยิ่งดิ้นก็จะยิ่งทำให้ขนติดตัวมากขึ้น
การใช้กระแตะดักนก จะใช้เหยื่อล่อพวกจิ้งหรีด ลูกกบ ลูกหนู ฯลฯ เอาใส่ไปในกระบอกเก็บเหยื่อ
วางกระแตะดักนกในกลางทุ่งนา กลางไร่ ใช้เชือกยึดกระแตะไว้ มีดเหยื่อที่ใช้ล่อไว้กลางกระแตะ
เมื่อนกโฉบมาจิกเหยื่อ ปีกนกที่กางเวลาร่อนลงมาที่กระแตะ จะถูกตังที่ทาเส้นเชือกไว้
และติดจนบินไม่ได้
กระแตะมักใช้ดักนกตะขาบ นกกระเต็น และนกที่กินแมลงต่าง ๆ
กระบอกน้ำ
มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น น้ำบอก น้ำคอก กระพ้อ กระบอกน้ำใช้ใส่น้ำดื่ม
น้ำใช้ เมื่อเดินทางไปไกล ๆ ใช้กันมานานคาดว่าก่อนการสานชะลอมใส่น้ำ
ซึ่งหมายถึงครุ นั่นเอง
การทำกระบอกน้ำต้องเลือกลำไม้ไผ่ที่แก่จัด ลำโต ปล้องยาว มักใช้ไม้ไผ่สีสุก
ไผ่ป่า ไผ่ตง และไผ่หก ตัดลำไม้ไผ่ส่วนที่ทำเป็นกระบอก ยาวประมาณ ๑ เมตร ตัดก้นกระบอกให้เลือกข้อไว้
เพื่อใส่น้ำไม่รั่ว ปลายกระบอกตัดให้เลยข้อมาเกือบครึ่งปล้อง ปากปลายกระบอกเป็นรูปมนใช้ยกดื่ม
หรือเท ใส่ภาชนะรองรับได้สะดวก ข้อปล้องกระบอกภายในใช้ท่อนไม้ เหล็ก ด้ามมีด
หรือสิ่งทะลุข้อปล้องออกให้หมด เหลือเฉพาะส่วนก้นและปลายปากกระบอก ซึ่งเจาะรูเล็ก
ๆ ไว้ รูที่เจาะนี้จะใช้ท่อนไม้หรือใบไม้จุกปิดไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำกระฉอกหกได้
บางทีชาวบ้านจะเหลาผิวกระบอกด้านนอกออก เพื่อให้กระบอกเบาลง มีการเจาะรูที่ปากกระบอกและก้นกระบอก
เพื่อใช้ร้อยเชือกแขวนสะพายระหว่างเดินทาง
ปกติชาวบ้านจะใช้กระบอกน้ำเวลาไปทำนา ทำไร่ ตัดฟืน เลี้ยงสัตว์ หรือตอนใช้เกวียนไปลากไม้ในป่า
กะโห้
เป็นไม้สำหรับชักดึงเมล็ดข้าวเปลือกให้มากองรวมกัน เพื่อสะดวกในการตวงหรือขนใส่ยุ้งฉาง
ไม้กะโห้ มีลักษณะคล้ายคราดมือ แต่แตกต่างกันในส่วนที่เป็นซี่คราด คือ คราดมือจะเหลาไม้เป็นซี่
ๆ สำหรับคราดเศษฟางข้าว แต่กะโห้มีที่คราดเป็นแผ่นไม้หนาทึบ สูงประมาณ ๑๕
เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ใช้ไม้หนา ๑ - ๓ เซนติเมตร ใช้กบไสแผ่นไม้ให้เรียบ
ส่วนล่างของแผ่นไม้ซึ่งใช้คราดข้าวเปลือก จะไสให้บางแฉลบ ด้านบนจะหนากว่า
ใช้สิ่วเจาะแผ่นไม้ตรงกึ่งกลางแผ่น เจาะริมด้านบนให้มีขนาดเล็กกว่าด้ามไม้จับเล็กน้อย
ด้ามกะโห้ ทำด้วยไม้รวก ไม้เลี้ยง หรือไม้จริงก็ได้ ยาวประมาณ ๒ เมตร
ขด หรือคอม
ใช้สำหรับดักนกที่เดินหากินบนพื้นดิน เช่น นกยาง นกชิงชัน นกกระทา นกกวัก
ไก่นา ฯลฯ ขดทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้เป็นซี่บาง ๆ แล้วโน้มโค้งให้งอเป็นขด หรือโค้งงอเหมือนกับคอม
ที่วางไว้บนคอควาย สำหรับมัดเชือกค่างไถนา ขดหรือคอมมีสองชนิดคือ ชนิดขาเดียว
และชนิดสองขา
การดักนก จะเลือกบริเวณที่นกชอบออกหากิน แล้วปักกิ่งไม้ใบไม้เป็นแนว ถ้าเป็นป่ารกก็ทำช่องให้นกเดินเข้าไปหาขด
หรือคอมที่วางดักไว้ จะใช้บ่วงรูดให้เป็นวงกว้าง ๆ วางพาดกันเส้นเชือก ซึ่งมัดดึงให้ไม้ไผ่โค้งงอนั้น
บางทีชาวบ้านจะเป่าหลอดไม้เป็นเสียงนกชนิดต่าง ๆ เรียกนกเข้ามาหาขดที่ดักไว้
ข้อง
สานด้วยผิวไม้ไผ่ มีปากแคบอย่างคอหม้อดิน มีฝาปิดเปิดได้ ฝาข้องมีชนิดทำด้วยกะลามะพร้าว
และชนิดใช้ไม้ไผ่สานเป็นรูปกวย ปลายกรวยแหลมปล่อยเป็นซี่ไม้ไว้ เรียกว่า
งาแซง ข้องใช้สำหรับใส่ปลา
ปู กุ้ง หอย กบ เขียด เป็นต้น มีหลายแบบคือ
ข้องยืน
รูปร่างคล้ายทรงของโอ่งน้ำ ปลายปากข้องบานออก ก้นข้องมักสานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
ตัวข้องกลมป้อม ป่องตรงกลางแล้วค่อย ๆ สอบเข้าตรงคอข้อง ก้นและตัวข้องสานด้วยลายขัดตาหลิ่ว
คอข้องถึงปากข้องสานด้วยขัดตาทะแยง เวลาจับปลาใส่ข้องไม่ต้องเปิดฝาข้อง เพราะมีช่องให้ปลาลอดลงไปได้
แต่ปลาจะกระโดดออกมาไม่ได้
ข้องนอน
เป็นข้องเปิด มีรูปทรงเป็นแนวนอน การข้องมีลักษณะเหมือนเป็ด
ข้องลอย
ใช้ลอยในน้ำได้ ในระหว่างจับปลาจะใช้ข้องยืนหรือข้องนอน มัดลูกบวบ ซึ่งทำด้วยกระบอกไม้ไผ่สองท่อน
มัดขนาบตัวข้องให้ลอยน้ำได้ แล้วผูกเชือกมัดติดเอว
ขุบ
เป็นเครื่องมือในการทำนาโดยใช้วัว หรือควายลาก เพื่อย่อยดินและบดทับวัชพืชให้จมในดิน
เรียกว่า ตีเทือกน้ำ เป็นการเตรียมดินก่อนปลูกต้นข้าว ชาวบ้านมักใช้ขุบ ในแปลงนาที่หักร้างถางพงใหม่
ๆ
ตัวขุบ ทำจากท่อนไม้ทั้งท่อน เป็นไม้เนื้อแข็งยาวประมาณ ๒ เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ
๒๕ เซนติเมตร ใช้ขวานถากไม้ให้เป็นเฟือง เจ็ดเฟือง เฟืองจะทำหน้าที่ย่อยดินเวลาขุบหมุน
ที่ปลายท่อนขุบทั้งสองด้าน ทำเป็นเดือยกลม ๆ ไว้ เพื่อเป็นเพลาสอดกับไม้ที่เจาะรูไว้สำหรับใส่เดือย
ตีไม้ยึดหรือทำเดือยใส่ไม้ตั้ง หรือลูกตั้งนั้น ทำไม้คานยาว ๆ สองท่อนยึดกับตัวขุบ
ใช้ควายหรือวัวลาก เพื่อใช้งานเรียกว่า ตีขุบ
ครกกระเดื่อง
ใช้สำหรับตำข้าว ตำถั่ว ตำข้าวโพด และตำแป้ง บางทีเรียกว่า ครกกระดก
หรือเรียกว่า มอง ก็มี ตัวครก ทำด้วยท่อนไม้ขนาดใหญ่ ตัดให้เป็นท่อนสูงประมาณ
๕๐ - ๖๐ เซนติเมตร ทำเป็นเบ้าลึกลงไปให้สามารถบรรจุเมล็ดข้าวเปลือกได้ครั้งละเกือบหนึ่งถัง
เพื่อใช้ตำข้าวหรือสิ่งอื่น ๆ ทำคานไม้ยาว ๓ - ๔ เซนติเมตร เพื่อให้สำหรับเจาะรูเส้า
หรือสากไว้ตำข้าว ตั้งเสาสองต้นฝังดินให้แน่นอยู่ในแนวเดียวกัน กลางเสาทั้งสองต้นใช้สิ่วเจาะรู
หรือบากไม้ให้เป็นร่อง แล้วสอดคานที่รูเสาทั้งสองต้น ให้ขนาดกับพื้นดิน วางคานเสาหรือสากให้ค่อนไปอยู่ปลายด้านตรงข้ามกับสาก
ใช้คานสากตอกยึดกับคานไม้ที่ยึดเสาสองต้น
การใช้งาน จะวางครกไว้ให้ตรงกับเสาหรือสาก เมื่อใส่ข้าวเปลือก หรือข้าวโพดที่เป็นฝักลงไปแล้ว
จะใช้แรงเหยียบที่ปลายคานด้านที่ยึดติดกับเสาสองต้น เมื่อใช้แรงเหยียบกดลงไป
สากจะยกขึ้น เมื่อยกแล้วสากก็จะตำลงไปในเบ้าครก
|