|
อุดรธานี
จังหวัดอุดรธานีตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพ
ฯ ตามทางหลวงหมายเลข ๒ ประมาณ ๕๖๐ กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดต่าง
ๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดหนองคาย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสกลนคร
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดเลยและจังหวัดหนองบัวลำภู
แต่เดิมจังหวัดอุดรธานีมีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๕๙๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๙,๗๔๓,๐๐๐
ไร่ มากเป็นอันดับสามของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖
ได้แยกพื้นที่อำเภอหนองบัวลำภู อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง อำเภอศรีบุญเรือง
และอำเภอโนนสัง ออกไปเป็นจังหวัดหนองบัวลำภู ดังนั้น ปัจจุบันจังหวัดอุดรธานี
จึงมีพื้นที่ประมาณ ๑๑,๗๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗,๓๓๒,๐๐๐ ไร่ มีพื้นที่มากเป็นอันดับสี่ของภาคอีสาน
และเป็นอันดับ ๑๑ ของประเทศไทย ปัจจุบันมีอยู่ ๑๘ อำเภอ๒ กิ่งอำเภอ
๑๕๕ ตำบล ๑,๖๗๑ หมู่บ้าน
สภาพภูมิประเทศ
ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบ และค่อนข้างราบในตอนกลางของจังหวัด บริเวณที่ตั้งจังหวัดเป็นที่ราบก้นกระทะเรียกว่า
แอ่งสกลนคร สำหรับบริเวณอื่น
จะเป็นบริเวณเทือกเขา และเป็นลูกคลื่นลอนตื้นสลับลอนชัน มีรายละเอียดดังนี้
บริเวณที่สูงทางทิศตะวันตกและทางทิศใต้
ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภูเขา บางส่วนเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนตื้นถึงลอนลึกสูงประมาณ
๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่อำเภอน้ำโสม อำเภอหนองวังซอ อำเภอโนนสะอาด
อำเภอศรีธาตุ อำเภอวังสามหมอ และด้านทิศตะวันตกของอำเภอกุดจับ และอำเภอบ้านผือ
มีเทือกเขาสูงสลับเนินเตี้ย บางส่วนเป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนเตี้ยสลับพื้นที่นามีที่ราบลุ่มอยู่บริเวณริมแม่น้ำ
เช่น ลำน้ำโขง ลำน้ำปาว
บริเวณพื้นที่ลูกคลื่นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออก
ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลูกคลื่นลอนเตี้ย มีที่ดอนสลับที่นา บางส่วนเป็นเนินเขาเตี้ย
ๆ สูงประมาณ ๒๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ครอบคลุมพื้นที่อำเภอบ้านผือ อำเภอกุดจับ
อำเภอเมือง ฯ อำเภอกุมภวาปี อำเภอหนองแสง อำเภอไชยงาม อำเภอเพ็ญ อำเภอทุ่งฝน
อำเภอสร้างคอน และอำเภอบ้านดง มีที่ราบลุ่มบริเวณแม่น้ำต่าง ๆ เช่น
ห้วยน้ำสวย ห้วยหลวง ห้วยน้ำเพ็ญ ห้วยดาน ห้วยไพจานใหญ่
ห้วยทวน และแม่น้ำสงคราม เป็นต้น
จังหวัดอุดร ฯ มีเทือกเขาล้อมรอบอยู่เกือบทุกด้าน โดยทางทิศตะวันตก และทิศใต้มีเทือกเขาเพชรบูรณ์
ด้านทิศตะวันออกมีเทือกเขาดงพญาเย็น นอกจากนี้ยังมึเทือกเขาสันกำแพง และเทือกเขาพนมดงรักอยู่ทางทิศใต้
ลักษณะทางธรณีวิทยา
ส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มหินโคราช
ซึ่งแผ่กระจายอยู่ตามบริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางจรดตอนเหนือ ทิศตะวันออก และตลอดแนวด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาภูพานน้อย
นอกจากนี้ก็มีกลุ่มหินราชบุรี
และกลุ่มหินตะนาวศรี
ซึ่งพบทางทิศตะวันตกบริเวณอำเภอน้ำโสม เขตติดต่อกับจังหวัดเลย ลักษณะทางธรณีวิทยาเรียงลำดับจากชั้นกลุ่มหินที่มีอายุน้อยกว่าไปหาชั้นกลุ่มหินที่มีอายุมากกว่าได้ดังนี้
ตะกอนลำน้ำและหินกรวด
เป็นบริเวณที่ตะกอนดิน และหินกรวดถูกพัดพามาทับถม โดยตะกอนลำน้ำเกิดในยุคควาเทอร์นารี
ถึงปัจจุบัน มีอายุประมาณ ๒ - ๓ ล้านปีมาแล้ว บริเวณที่พบคืออำเภอหนองหานและอำเภอกุมภวาปี
หินอัคคีพวกแกรนิตและแกรโนไดออไรต์
เกิดในยุคครีเทเซียส มีอายุประมาณ ๑๓๕ ล้านปีมาแล้ว จะพบเป็นหย่อม ๆ อยู่ทางตอนเหนือของอำเภอน้ำโสม
กลุ่มหินโคราช
มีอายุประมาณ ๑๓๕ - ๒๓๐ ล้านปีมาแล้ว ประกอบด้วยหน่วยหินสามหน่วยด้วยกัน โดยเรียงจากชั้นหินที่มีอายุมากกว่า
ดังนี้
หน่วยหินเกลือ และหน่วยหินโคกกรวด
หน่วยหินเกลือจะอยู่ชั้นบนสุดของกลุ่มหินโคราช ประกอบด้วยหินทราย หินซิลท์
และหินชนวน โดยจะมีชั้นหินเกลือแทรกอยู่ ส่วนหน่วยหินโคกกรวดจะอยู่ถัดลงไป
ประกอบด้วยหินทรายและหินซิลท์สีน้ำตาลแดง บริเวณที่พบคือ ที่ราบลุ่มตอนกลางของจังหวัด
ตอนเหนือติดต่อกับจังหวัดหนองคาย และทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดนครพนม
หน่วยหินภูพาน หรือหน่วยหินพระวิหาร
ประกอบด้วยหินทราย หินกรวดมนและหินซิลท์ โดยหน่วยหินภูพานจะอยู่บนชั้นของหน่วยหินพระวิหาร
บริเวณที่เกิดคือเทือกเขาภูพานน้อย ภูเก้าและเทือกเขาสวนกวาง
หน่วยหินภูกระดึง
เป็นหน่วยชั้นหินที่เรียงตัวอยู่ล่างสุดของกลุ่มหินโคราช ซึ่งจะมีอายุมากที่สุด
ประกอบด้วย หินชนวน หินซิลท์ปนไนก้า โดยมีหินทราย และหินกรวดปะปนอยู่ด้วย
พบบริเวณอำเภอน้ำโสม
กลุ่มหินราชบุรี
พบกระจายเป็นหย่อม ๆ ในเขตอำเภอน้ำโสม ประกอบด้วยผลึกหินปูนสีเทาอ่อนเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ยังพบหินทราย หินดินดาน และหินกรวดปนอยู่ด้วย
กลุ่มหินตะนาวศรี
มีอายุประมาณ ๓๔๕ - ๔๒๕ ล้านปีมาแล้ว หน่วยหินที่พบคือ หน่วยหินแก่งกระจานประกอบด้วยหินดินดานสีเทาเข้ม
หรือหินชนวน นอกจากนี้ยังมีหินทราย หินควอตไซต์
ลักษณะดิน ส่วนใหญ่มีความลาดชันน้อย มีความสมบูรณ์ของดินต่ำ จัดเป็นกลุ่มดินไร่
กระจายอยู่ทุกอำเภอ มีอยู่ประมาณร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่จังหวัด เป็นกลุ่มดินนา
กระจายอยู่ทั่วไปประมาณร้อยละ ๒๕ ของพื้นทีจังหวัด บางพื้นที่เป็นดินคละระหว่างดินไร่กับดินนา
จังหวัดอุดร ฯ มีปัญหาดินเค็มปกคลุมพื้นที่ประมาณ ๕,๕๖๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ
๓,๔๗๕,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๔๗ ของพื้นที่จังหวัด อำเภอที่ไม่มีดินเค็ม
มีอยู่เพียงสามอำเภอคืออำเภอวังสามหมอ อำเภอน้ำโสมและอำเภอนายูง นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ
๒๐ ของพื้นที่จังหวัดมีหน้าดินตื้น (๕๐ - ๑๕๐ เซนติเมตร)
ลักษณะดินของจังหวัดอุดร ฯ จึงเหมาะกับการตั้งเป็นชุมชนเมืองมากกว่าชุมชนเกษตรกรรม
แหล่งน้ำธรรมชาติ
พื้นที่จังหวัดอุดร ฯ อยู่ในเขตลุ่มน้ำใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่สองลุ่มน้ำคือ
ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำโขง โดยมีลำห้วยสาขาหลายสายไหลลงสู่ลุ่มน้ำทั้งสอง สามารถแบ่งลุ่มน้ำได้ดังนี้
เขตลุ่มน้ำชี
ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอกุมภวาปี อำเภอหนองแสง อำเภอโนนสะอาด อำเภอศรีธาตุ
และอำเภอวังสามหอม บริเวณนี้สำหรับสาขาของลำน้ำปาว ลำน้ำพองที่สำคัญได้แก่
ห้วยสามพาด ห้วยน้ำฆ้อง ห้วยกองสี ห้วยไพฐาน ลำพันชาด
เขตลุ่มน้ำโขง
ได้แก่ พื้นที่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอหนองวัวซอ อำเภอกุดจับ อำเภอน้ำโสม
อำเภอบ้านผือ อำเภอนกยูง อำเภอเพ็ญ อำเภอสร้างกอบ อำเภอบ้านดง อำเภอหนองหาน
อำเภอพิบูลย์รักษ์ อำเภอไชยวาน และอำเภอทุ่งฝน มีห้วยสำคัญคือ ห้วยหลวง ห้วยโมง
ห้วยน้ำสวย ห้วยทวน และแม่น้ำสงคราม
ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ จังหวัดอุดร ฯ มีแม่น้ำ ห้วย ลำธาร และคลอง จำนวน ๑,๘๖๙ สาย
ทรัพยากร
ป่าไม้
มีพื้นที่ป่าประมาณ ๓,๑๒๐,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๔๒ ของพื้นที่จังหวัด สภาพป่าโดยทั่วไปเป็นชนิดป่าเต็งรัง
ลักษณะป่าโปร่ง มีต้นไม้ขึ้นอยู่ไม่หนาแน่น ประกอบด้วยไม้เนื้อแข็ง เช่น
ไม้มะค่าโมง ตะเคียนทอง ประดู่ เต็งรัง แดง
ตะแบก เป็นต้น
จังหวัดอุดร ฯ มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดประมาณ ๖๔๘,๐๐๐ ไร่ และพื้นที่ป่าที่จะปฏิรูปทั้งหมดประมาณ
๒,๒๔๒,๐๐๐ ไร่
ในเขตอำเภอหนองวัวซอ อำเภอหนองแสง อำเภอโนนสะอาด มีพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิดและนกชนิดต่าง
ๆ นอกจากนี้พื้นที่ป่าในเขตอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม และอำเภอนายูง มีสัตว์ป่าคือ
เลียงผา อีเก้ง หมูป่า หมี เสือ ลิง ค่าง กระรอก พังพอน งู และนกนานาชนิดอาศัยอยู่
ประชากร
จังหวัดอุดร ฯ จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ชาวอุดร ฯ ส่วนใหญ่จึงเป็นประชากรที่อพยพมาจากถิ่นอื่น
เข้ามาตั้งหลักแหล่ง ชนชาวพื้นเมืองจึงแทบไม่มี จะมีอยู่บ้างคือ ชาวไทย้อ
ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอวังสามหมอ และอำเภอศรีธาตุ ซึ่งก็มีอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ประชากรของจังหวัดอุดร ฯ ร้อยละ ๙๕ เป็นคนไทย มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่ เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๔๗๐ มีการผสมผสานกลมกลืนเป็นคนไทยทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และความเชื่อ
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ ได้มีชาวเวียดนาม จำนวนหนึ่งเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายในตัวจังหวัด
ประชากรร้อยละ ๙๐ พูดภาษาไทย อีสาน ส่วนที่เหลือจะพูดภาษาหลากหลาย ตามถิ่นกำเนิดที่อพยพเข้ามาเช่น
พวน ภูไท เลย เวียดนาม
ด้านการนับถือศาสนา เป็นพุทธศาสนิกชนประมาณร้อยละ ๙๑ มีวัด ๑,๒๘๘ แห่ง มีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ
๗๕๐ คน มีมัสยิดหนึ่งแห่ง มีผู้นับถือคริสตศาสนา ประมาณ ๑๐๖,๓๐๐ คน ประมาณร้อยละ
๗ มีโบสถ์ ๑๒ แห่ง และอีกประมาณ ๓๒,๗๐๐ คน ประมาณร้อยละ ๒ นับถือศาสนาพราหมณ์
ฮินดู ซิกซ์และอื่น ๆ
|
|