มรดกทางพระพุทธศาสนา
พระธาตุตาดทอง
หรือธาตุก่องข้าวน้อย
|
ตั้งอยู่นอกบ้านตาดทองไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ กิโลเมตร อำเภอยโสธร
ตามตำนานกล่าวว่า สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๑ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
ก่ออิฐถือปูน ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอีสาน ผสมเรือนธาตุอย่างล้านนา มีซุ้มจรนำทั้งสี่ทิศ
ฐานเป็นฐานเขียงซ้อนกัน ๔ ชั้น ต่อขึ้นไป เป็นฐานปัทม์ ลักษณะบัวหงาย
มีลูกแก้วอกไก่คั่นกลาง รองรับเรือนธาตุที่ก่อซุ้มจรนำทั้ง ๔ ทิศ เป็นซุ้มหลอก
มียอดซุ้มโค้งแบบหน้านาง สลักลายปูนปั้นพรรณพฤกษา ด้านข้างซุ้มทำลายตาเวนหรือดวงตะวันประดับด้วยกระจก
ส่วนบนของเรือนธาตุลักษณะคล้ายบัวหงาย ยื่นออกมารองรับกับฐานปัทม์ช่วงล่าง
ส่วนยอดทรงบัวเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ช่วง ที่ยอดธาตุส่วนล่างทั้ง ๔ มีกาบยื่นออกมาทำเป็นรูปจำลองอาคารซ้อนกันขึ้นไป
ส่วนยอดสุดมีแอวขันคั่นเพื่อลดความสูง เมื่อมองดูจึงเกิดความพอเหมาะพอดีในด้านทัศนศิลป์โดยรอบองค์เป็นกลุ่ม
ด้านหน้าขององค์ธาตุมีอุปมุง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส
แบบศิลปกรรมอีสานลาว หลังคาโค้งมน ประดับลายปูนปั้น สันมุมทั้งสี่เป็นรูปพญานาคผงกหัวขึ้นในส่วนปลาย
ลำตัวทอดยาวไปตามส่วนโค้งของสันหลังคา ส่วนยอดทำคล้ายธาตุจำลอง
ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป
ประวัติความเป็นมาของพระธาตุแห่งนี้มีอยู่สองนัย นัยหนึ่งมีที่มาจากตำนานก่องข้าวน้อย
อีกนัยหนึ่งมีที่มาจากการบูรณะพระธาตุพนม บรรดาผู้ที่จะไปร่วมนำของมีค่าไปบรรจุที่พระธาตุพนม
ได้เดินทางมาพักอยู่บริเวณใกล้บ้านตาดทอง ได้ข่าวว่าการบูรณะพระธาตุพนมเสร็จแล้ว
จึงได้พร้อมใจกันสร้างเจดีย์ครอบของมีค่าที่เตรียมมาดังกล่าวนั้น พร้อมกันนั้นชาวสะเดาตาดทอง
ก็ได้นำถาดทองที่ใช้เป็นพานอัญเชิญวัตถุมงคล ไปบรรจุในพระธาตุพนม มารองรับวัตถุมงคลที่ชาวบ้านตั้งใจนำไปบรรจุในพระธาตุพนม
แล้วช่วยกันก่อเจดีย์บรรจุไว้ |
ธาตุบ้านสะเดา
ตั้งอยู่ที่บ้านสะเดา อำเภอเมือง ฯ องค์พระธาตุก่อด้วยอิฐสององค์แรก
มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ เป็นรูปแบบของธาตุอีสานทรงแปดเหลี่ยม มีช่วงฐานต่ำ
เหนือขึ้นมาเป็นส่วนแอวขันรองรับองค์เรือนธาตุ ลักษณะคล้ายลาดบัวขนาดใหญ่ทรงแปดเหลี่ยม
และยอดบัวคล้ายบัวแปดเหลี่ยมทรงสูง เป็นยอดธาตุที่ซ้อนกับสองชั้น คั่นด้วยแอวขันขนาดเล็ก
ช่วงล่างมีลายปูนปั้นเป็นรูปกลีบบัว เหนือสุดขององค์ธาตุเป็นยอดฉัตร
ด้านหน้าของธาตุมีร่องรอยแท่นวางของบูชา
ธาตุองค์ที่สองตั้งอยู่ใกล้ธาตุองค์แรก แต่มีขนาดเล็กกว่า ปัจจุบันเหลือแต่เพียงส่วนฐาน
ตรงกลางมีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมคล้ายเป็นกรุ
โบราณวัตถุ ที่บรรจุในกรุกลางฐานได้แก่ พระพุทธรูปไม้แกะสลัก พระพุทธรูปบุเงิน
พระพุทธรูปสำริด พระพุทธรูปตะกั่ว พระพุทธรูปดินเผาสีแดงชาดปิดทอง
พระพิมพ์ กล้องยาสูบ และเครื่องถ้วยจีนจากโบราณวัตถุ และลักษณะของธาตุ
สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๓ - ๒๔ โดยฝีมือช่างพื้นเมือง
พระพุทธบาทบ้านหนองยาว
ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาว ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย
เป็นรอยพระพุทธบาทจำลองที่ทำขึ้นตามคตินิยมในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในบริเวณเดียวกันได้พบพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำด้วยหินทราย พร้อมศิลาจารึกอักษรไทยน้อย
ซึ่งเป็นอักษรที่ใช้กันแพร่หลายในกลุ่มไท - ลาวอีสาน เมื่อร้อยปีก่อน
ข้อความในจารึกมีว่า พระมหาอุดมปัญญา ได้อาราธนารอยพระพุทธบาทมาแต่กรุงศรีอยุธยา
วัดมหาธาตุ
|
ปูชนียสถานในวัดได้แก่ พระธาตุพระอานนท์ และหอไตรกลางน้ำ
พระธาตุพระอานนท์
ออกแบบอย่างประณีต มีรูปแบบต่างจากธาตุอีสานทั่วไป องค์พระธาตุก่ออิฐถือปูน
ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ยาวด้านละ ๘ เมตร สูง ๒๕.๓๐ เมตร ฐานสูง ประกอบด้วยฐานเขียว
๓ ชั้น แอวขันปากพานคอดกิ่ว รองรับฐานบัวคว่ำบัวหงายท้องไม้มีลวดบัวลูกแก้วอกไก่คั่นกลาง
เรือนธาตุค่อนข้างสูง แต่คั่นจังหวะให้ดูเล็กลงด้วยบัวคว่ำบัวหงาย หยักซ้อนกันขึ้นไปในช่วงล่าง
ซุ้มจรนำประดิษฐานรูปยืน (คือพระอานนท์) มียอดซุ้มโค้งแบบหน้านางตกแต่งลายปูนปั้นทางสีเหลือง
ส่วนยอดเป็นทรงดอกบัวเหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากทรวดทรงบัวเหลี่ยมของพระธาตุองค์อื่น
คือได้ยกกระเปาะยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน แต่ชั้นฐานถึงส่วนยอดช่วงล่าง ได้เสริมยอดปลีทำเป็นรูปแบบจำลองอาคารซ้อนกันขึ้นไป บนสุดเป็นยอดฉัตร
ตามตำนานพื้นบ้านกล่าวว่า พระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นโดยเสนาบดีเก่าจากกรุงศรีสัตนาคนหุต
ทั้งยังส่งอิทธิพลทางรูปแบบการก่อสร้างให้กับพระธาตุตาดทอง พระธาตุหนองสามหมื่น
ด้านหน้าองค์พระธาตุมีธาตุขนาดเล็ก เป็นธาตุบรรจุอัฐิพระวิชัยราชขัตติยวงศา
(อดีตเจ้าเมืองสิงห์ท่า) ลักษณะธาตุได้รับอิทธิพลศิลปะจากหลวงพระบาง |
หอไตรกลางน้ำ
เป็นอาคารไม้รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านยาวยาวกว่าด้านกว้างอยู่ ๑ ช่วงเสา
เป็นอาคารทรงเตี้ย หลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาหางหงส์
เป็นศิลปกรรมแบบลาว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย - ต้นสมัยรัตนโกสินทร์
ภายในหอไตรเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน เป็นจำนวนมาก
หอไตรวัดสระไตรนุรักษ์
อยู่ที่วัดสระไตรนุรักษ์บ้านนาเวียง ตำบลนาเวียง อำเภอทรายมูล
เมื่อครั้งท่านเจ้าชาพระเถระผู้แตกฉาน ในธรรมพร้อมด้วยประชาชนส่วนหนึ่ง
ได้อพยพหลบหนีพระเจ้าสิริบุญสาร โดยได้รวบรวมทรัพย์สมบัติ และคัมภีร์ต่างๆ
มาด้วย ท่านเจ้าชาได้สร้างวัดขึ้นทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน
พร้อมขุดสระน้ำเพื่อสร้างหอไตรไว้เก็บคัมภีร์ สิ่งก่อสร้างในวัดประกอบด้วย
หอไตร กุฎี ศาลาโรงธรรม สิมน้ำ เป็นต้น
หอไตร
มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบพม่า สร้างโดยช่างลาวที่อพยพมาครั้งตั้งหมู่บ้าน
ตัวอาคารสร้างด้วยไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก กว้าง ๘.๓๐ เมตร ยาว ๑๐.๕๐
เมตร หลังคามุงด้วยไม้ซ้อนลดหลั่นกัน ๔ ชั้น มีชายคายื่นออกมาทั้ง ๔
ด้าน บานประตูแกะสลักลวดลายสวยงาม รวมทั้งรายละเอียดต่างๆ ของช่อฟ้า
กระจกประดับ บัวเชิงชาย หางหงส์ (ตัวหงา) มีลวดลายกนกซ้อนกัน
๔ ชั้น ตรงกลางเป็นห้องทึบเป็นที่เก็บพรไตรปิฎก มีทางเดินรอบนอก
พระไตรปิฎกผูกเป็นเรื่องราวบันทึกลงใบลาน แยกเป็นหมวดหมู่ ทั้งภาษาไทยอีสาน ขอม บาลี ตัวหนังสือเป็นอักษรธรรม อักษรไทยน้อย และอักษรขอม
มีคัมภีร์ใบลานอยู่ทั้งหมด ๑๙๘ มัด ๑,๕๕๓ ผูก
พระพุทธรูปโบราณวัดสิงห์ท่า
|
ประดิษฐานอยู่ที่วัดสิงห์ท่า บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ก่ออิฐฉาบปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างประมาณ ๓ เมตร
พระพุทธรูปองค์นี้ตามตำนานกล่าวว่าได้ประดิษฐานอยู่ก่อนที่คนไท - ลาว เชื้อสายพระวอ
พระตา จะอพยพเข้ามาอยู่ ชาวยโสธรจัดให้มีพิธีสรงน้ำสงกรานต์เป็นประจำทุกปี |
พระพุทธรูปโบราณวัดศรีธาตุ
|
ประดิษฐาน อยู่ที่วัดศรีธาตุ บ้านสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอเมือง ฯ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ก่ออิฐฉาบปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓ เมตร สูง ๓.๕๐ เมตร มีศิลปะการสร้างคล้าย
พระพุทธรูปโบราณวัดสิงห์ท่า |
วัดพระธาตุคำบุ (พระธาตุเก่า)
|
อยู่ที่บ้านดอนกลาง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมือง ฯ มีเรียกกันหลายชื่อด้วยกัน
ได้แก่ พระธาตุเก่า พระธาตุหลักโลก พระธาตุโลกบาล มีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่พบดังนี้
เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม
มีลักษณะคล้ายส่วนบนของพระธาตุจอมศรี บนยอดเขาภูศรีเมืองหลวงพระบาง
และพระธาตุดำ ที่นครเวียงจันทน์ เป็นเจดีย์รูปแบบศิลปะลาว ชาวยโสธรเชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่ราชวงศ์ลาวรุ่นก่อนมาสร้างไว้
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐฉาบปูน ประดิษฐานอยู่ห่างจากเจดีย์ประมาณ
๓ เมตร ทุกปีจะมีพิธีสรงน้ำสงกรานต์พระเจดีย์องค์นี้ |
พระธาตุหลักคำ
ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุหลักดำ บ้านน้ำดำน้อย ตำบลน้ำดำน้อย อำเภอเมือง
ฯ เป็นเจดีย์สององค์ติดกัน มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า พระครูหลักคำ ซึ่งดำรงตำแหน่งสังฆปาโมกข์ประจำเมือง
จำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุในเมืองยโสธร ต่อมาท่านไม่พอใจเจ้าเมือง จึงขนเครื่องบริขาร
และคัมภีร์ใบลานลงเรือตามลำน้ำทวน มาสร้างวัดที่วัดบ้านน้ำดำน้อย ท่านได้สงวนป่าไม้ไว้เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่า
ซึ่งยังคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน ท่านได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่บรรจุเครื่องลางของขลัง
และคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาไว้ภายใน ส่วนเจดีย์องค์เล็กชาวบ้านได้สร้างขึ้นหลังจากท่านมรณภาพแล้ว
เพื่อบรรจุอัฐิของท่าน
พระธาตุบ้านเวิน
ประดิษฐานอยู่ที่วัดบ้านเวิน ตำบลผือฮี อำเภอมหาชนะชัย เป็นสถูปเก่าและชำรุดทรุดโทรมมาก
มีตำนานกล่าวว่า ในอดีตสมัยที่พระเรืองชัยชนะยกกำลังมาตั้งเมืองมหาชนะชัยที่บ้านเวินนั้น
ณ ตรงที่ตั้งเจดีย์แห่งนี้มีรูขนาดใหญ่ วันดีคืนดีจะมีนางนาคจากแม่น้ำชี
แปลงร่างเป็นหญิงสาวสวยมายืมฟืมจากชาวบ้านไปทอผ้า เมื่อชาวบ้านให้ยืมฟืมแล้วก็สะกดรอยตามหญิงสาวนั้นไป
เมื่อไปถึงรูดังกล่าวหญิงสาวนั้นก็หายตัวลงไปในรู ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า
หญิงสาวผู้นั้นอาจเป็นธิดาพญานาค จึงได้ช่วยกันสร้างสถูปเจดีย์ปิดทับช่องทางขึ้นลงของพญานาคเสีย
แล้วนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ภายในสถูป สมัยต่อมาได้มีการย้ายเมืองมหาชนะชัยไปอยู่ที่บ้านฟ้าหยาด
สถูปเจดีย์องค์นี้จึงถูกทิ้งร้างไว้ ในระยะต่อมาจึงได้มีชาวไท - ลาว
จากลุ่มน้ำมูล อพยพเข้ามาตั้งชุมชนใหม่ เป็นบ้านเวินในปัจจุบัน
พระธาตุฝุ่น
ตั้งอยู่กลางป่าห่างจากบ้านทรายมูลไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ กิโลเมตร
อยู่ในเขตอำเภอทรายมูล พระธาตุฝุ่นเป็นเจดีย์เก่าแก่ อยู่ในสภาพพังทลายไปมาก
ชาวบ้านได้สร้างอาคารมุงหลังคาคลุมเอาไว้ พร้อมทั้งได้สร้างพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง
๑ เมตรเศษ ประดิษฐานไว้ทางด้านตะวันตกขององค์พระธาตุ เพื่อเป็นที่สักการบูชา
ต่อมาได้มีการสร้างพระเจดีย์องค์ใหม่ขึ้นแทน ตั้งอยู่ห่างจากพระธาตุเก่าประมาณ
๙ เมตร
ประวัติความเป็นมาที่เล่าสืบกันมาประมวลได้ว่า เมื่อชาวบ้านทรายมูลอพยพมาจากเวียงจันทน์
ก่อนอพยพ หัวหน้าผู้นำชาวบ้านได้ให้ทุกคนขุดเอาดินตรงที่ฝังสายรก (ภาษาอีสานเรียก
สายแฮ) คือดินจากบ้านเกิดคนละ ๑ กำมือ เอาผ้าขาวห่อนำติดตัวมาด้วยทุกคน
เพื่อให้แม่พระธรณีจากบ้านเกิดช่วยคุ้มครอง ดูแลตลอดเวลาการเดินทาง
เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่เหมาะสมที่จะตั้งชุมชนแห่งใหม่ คือบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระธาตุแห่งนี้
จึงให้ทุกคนเอาดินที่นำติดตัวมา กองรวมกันแล้วสร้างเจดีย์ครอบไว้
เพื่อเป็นการรำลึกถึงแม่พระธรณีบ้านเกิด จัดให้มีการสักการบูชาเป็นประจำทุกปี
ดินที่ทุกคนนำมานั้นเรียกว่าดินฝุ่น พระเจดีย์ที่สร้างขึ้นจึงเรียกว่าพระธาตุดินฝุ่น
ต่อมาชื่อได้กร่อนไปเป็นพระธาตุฝุ่น ส่วนคำว่าดินฝุ่นนั้นรวมกันเรียกว่า
ทรายมูล คือเป็นดินทรายอันเป็นมรดกจากบ้านเดิม ตั้งชื่อว่า บ้านทรายมูล
วัดป่าดอนธาตุ
|
ตั้งอยู่ในแนวป่าระหว่างบ้านบ่อบึงกับบ้านน้อยโพนจาน ตำบลสงยาง อำเภอมหาชนะชัย
ตามลักษณะและสภาพโบราณสถานน่าจะเป็นวัดร้าง เพราะมีกองอิฐซึ่งน่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างประเภทพระอุโบสถ
หรือที่ทางอีสานเรียกว่าสิม และมีเจดีย์ที่ปรักหักพังลงมา เหลือแต่เพียงส่วนฐานขึ้นไปถึงส่วนแอวขัน
มีศิลปะปูนปั้นเป็นลายก้านขด มีก้นหอยอยู่ด้านบน มีกาบซ้อนหอยลงสู่เบื้องล่าง
ศิลปะคล้ายหรือเหมือนกันกับธาตุบรรจุอัฐิของเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศา
ทั้งรูปแบบและขนาด |
รอยพระพุทธบาทจำลองวัดป่าอัมพวัน
วัดป่าอัมพวันตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ฯ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยที่เมืองยโสธรมีเจ้าเมืองตามการปกครองหัวเมืองลาว
มีพระอุโบสถและมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท รอยพระพุทธบาทสร้างด้วยหินทรายแดง
กว้างประมาณ ๘๐ เซ็นติเมตร ยาวประมาณ ๓ เมตร ที่ขอบรอยมีลายแกะสลักเป็นลายก้านขด
ฐานด้านข้างเป็นรอยกลีบบัวซ้อนเหลื่อมกัน ตัวมณฑปเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
มียอดเรียวแหลมลดหลั่นจากเรือนมณฑปขึ้นไป
ประวัติความเป็นมา กล่าวว่า วัดป่าอัมพวันสร้างโดยพระสุนทรราชวงศา (ศรีสุพรหม)
กับอุปฮาดเงาะ อุปฮาดเงาะได้รับหน้าที่เป็นนายกอง คุมไพร่พลและเสบียงไปสมทบกับกองทัพของพระเจ้าน้องยาเธอ
กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม คราวไปปราบศึกฮ่อที่หนองคาย มีความชอบได้รับโปรดเกล้า
ฯ พระราชทานยศเป็นเจ้าอุปฮาด เจ้าอุปฮาดดีใจมากจึงได้พาญาติพี้น้อง และบ่าวไพร่ไปเลือกหินจากริมน้ำห้วยทวน
ข้างบ้านสิงห์โคก นำมาสร้างรอยพระพุทธบาทจำลอง แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนแท่นข้างโบสถ์
ชาวเมืองเรียกว่า หอพระบาท
รอยพระพุทธบาทจำลองวัดศรีธรรมาราม
เดิมรอยพระพุทธบาทจำลองชิ้นนี้ ได้เคยประดิษฐานอยู่ที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ
ต่อมาวัดดังกล่าวไม่มีสงฆ์อยู่ครอง ทางวัดศรีธรรมารามจึงได้ขอเคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่วัดจนถึงปัจจุบัน
รอยพระพุทธบาทจำลองวัดพระพุทธบาทบ้านหนองยาง
เป็นรอยพระพุทธบาทที่สลักจากหินทราย ด้านบนฝ่าพระบาทสลักลายมงคล ๑๐๘
ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในศาลาโถงวัดพระพุทธบาทยโสธร จึงเรียกว่า รอยพระพุทธบาทยโสธร
ตามประวัติกล่าวว่าพระมหาอุตตมปัญญา และลัทธิวิหาริกได้นำมาจากกรุงศรีอยุธยา
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยอิทธิพลวัฒนธรรมอีสาน (ล้านช้าง)
หรือล้านนา อายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย
และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
รอยพระพุทธบาทจำลองวัดภูกลอย
|
ประดิษฐานอยู่ที่วัดภูกลอย หรือวัดเทวัญคีรี อำเภอไทยเจริญ อยู่บนภูเตี้ย ๆ
ทางด้านทิศตะวันออกเป็นหน้าผาชัน ด้านทิศตะวันตกเป็นหินลาดต่ำลงไปจนจดลำธาร
ทิศเหนือ - ใต้เป็นหินแตก รอยพระพุทธบาทเป็นรอยที่ติดอยู่บนโขดหิน
ลักษณะของรอยเหมือนคนเหยียบลงไปบนดินเหนียว แล้วถอยเท้ายกขึ้นเหมือนรอยเท้าคนจริง ๆ
แต่มีขนาดใหญ่กว่าเท้าคนธรรมดาทั่วไป ทางวัดได้ก่อสถูปเจดีย์ครอบรอยพระพุทธบาทไว้
นับว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของอำเภอไทยเจริญ |
วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ
|
อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ จากพงศาวดารเมืองยโสธร ฉบับของพระยามหาอำมาตยาธิบดี
มีความว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๘ เจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทน์ได้สู้รบกับทางกรุงเทพ
ฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้พระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพ
ยกกำลังไปตั้งค่ายอยู่ที่เมืองพานพร้าว และเมื่อพระพิชัยสงครามซึ่งยกกำลังล่วงหน้าไปก่อน
เสียทีแก่ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ พระยาราชสุภาวดีจึงให้ถอยกำลังมาตั้งอยู่ที่เมืองยโสธร
แล้วทำพิธีปฐมกรรมตัดไม้ข่มนาม สถานที่ขุมนุมทำพิธีคือที่วัดทุ่งสว่างชัยภูมิแห่งนี้ ต่อมาอุปฮาดแพงรักษาการเจ้าเมืองยโสธร
ได้รับพระบัญชาให้จัดกองทัพไปช่วยรบทางเมือง เสียมราฐ ประทายเพชร และพระตะบอง
ก่อนนำทัพไปรบก็ได้ทำพิธีที่เนินตรงวัดทุ่งสว่างชัยภูมิ เช่นกัน เมื่อไปรบมีชัยชนะกลับมา
เห็นว่าพื้นที่โนนทุ่งนี้เป็นชัยภูมิดีเลิศ จึงได้สร้างธาตุเจดีย์ แล้วยกขึ้นเป็นวัด
ชื่อวัดชัยชนะสงคราม หรืออีกชื่อหนึ่งว่า วัดบูรพาทิศาราม แล้วอัญเชิญรอยพระพุทธบาท
จากวัดใต้ศรีมงคลมาประดิษฐานไว้ภายในพระเจดีย์ดังกล่าว แต่ต่อมารอยพระพุทธบาทจำลองนี้ได้ย้ายไปไว้ที่วัดศรีธรรมาราม
และองค์พระเจดีย์ได้มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ |
พระอุโบสถวัดใต้ศรีมงคล
|
วัดใต้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองยโสธร มีพระอุโบสถที่มีรูปแบบทางศิลปะล้านนาผสมล้านช้าง
กล่าวคือใต้หน้าบันลงมาระหว่างเสาสองต้น จะมีลวดลายไม้แกะสลักห้อยลามลงมาตามเสาทั้งสอง
แล้วห้อยย้อยลงตรงกลางเหมือนรวงผึ้ง ส่วนเสาไปหาระเบียงก็ประดับลวดลายระหว่างเสาเช่นเดียวกัน
เสาเป็นรูปเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีกลีบบัวสัตบุษย์หงายรองรับส่วนบน
ภายในวัดนี้ได้พบธรรมาสน์ และโฮงเทียนศิลปะลาวรุ่นเก่า พระอุโบสถแห่งนี้เป็นสถาปัตยกรรมดีเด่นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่ยังคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน |
หอไตรวัดศรีธาตุ
เป็นหอไตรตั้งอยู่กลางสระน้ำ มีระเบียงรอบยื่นมาติดเสาระเบียง
เดิมใช้เป็นที่เก็บหนังสือผูกใบลานต่าง ๆ รวมทั้งเอกสารพื้นเมืองที่เก่าแก่
ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมมาก แต่ยังคงคุณค่าสูงในทางสถาปัตยกรรม บานประตูเป็นลายเครือเถา
และสลักลวดลายสวยงาม
|