ศาสนาต่างๆ ในประเทศไทย
คำนำ
ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติมาโดยตลอด นับตั้งแต่ได้ตั้งเป็นแว่นแคว้น และเป็นราชอาณาจักรแต่ก็ได้เอื้อเฟื้อต่อคนไทยผู้นับถือศาสนาอื่น และให้ความอุปถัมภ์ศาสนาอื่นตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงอุปถัมภ์ไว้แล้ว และมีนโยบายที่จะป้องกันมิให้คนไทยที่นับถือศาสนาแตกต่างกันเบียดเบียนกัน มีความสมานฉันท์ สามารถอยู่ร่วมกันด้วยความสุขสงบร่มเย็น โดยทุกคนมีเสรีภาพในการประกอบพิธีกรรมตามศาสนาของตน โดยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๐๖,๒๐๗ และ ๒๐๘ ในการดำเนินการด้านศาสนาต่าง ๆ ทางหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง บริหารงานโดยยึดหลักกฎหมาย ด้วยการหารือองค์การหลักของแต่ละศาสนาที่ทางราชการให้ความอุปถัมภ์ไว้แล้วเป็นสำคัญ เพื่อให้องค์การหลักของแต่ละศาสนาช่วยควบคุมดูแล และร่วมรับผิดชอบในแต่ละศาสนา เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยเป็นผลดีต่อประเทศชาติเป็นส่วนรวม
ทางด้านพระพุทธศาสนา มีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เป็นหลักในการบริหารงาน หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง สนองงานของคณะสงฆ์ และรัฐบาลตามตัวบทกฎหมายที่กำหนดไว้ ทั้งด้านบริหาร และด้านศาสนูปถัมภ์
การบริหารศาสนาอื่น อยู่ภายใต้การดูแลบริหารของกระทรวงมหาดไทย ส่วนกรมการศาสนาได้ให้ความอนุเคราะห์ด้านศาสนูปถัมภ์ดังนี้
ศาสนาอิสลาม มีพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.๒๔๘๘ และแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ.๒๔๙๑ และมัสยิดอิสลาม พ.ศ.๒๔๙๐ โดยจะหารือจุฬาราชมนตรี และกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการศาสนูปถัมภ์ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ พระมหากษัตริย์ ทรงให้ความอุปถัมภ์ นิกายคาทอลิก และนิกายโปรเตสแต้นท์มาช้านาน ต่อมาได้มีระเบียบของกรมการศาสนา ว่าด้วยการรับรองฐานะองค์การทางศาสนา และระเบียบอื่น ๆ กรมการศาสนาจะหารือด้านศาสนูปถัมภ์กับองค์การ คาทอลิก และโปรเตสแต้นท์ ที่ได้รับรองฐานะขึ้นเป็นองค์การทางศาสนาไว้แล้วคือ
๑. สภาประมุข แห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิก ๒. สภาคริสจักรในประเทศไทย
๓. สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย ๔. มูลนิธิคริสจักรคณะแบ๊บติสท์ ๕. มูลนิธิเซเวนเดย์ แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทย ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู กรมการศาสนา จะหารือด้านศาสนูปถัมภ์กับสามองค์การที่ได้รับรองฐานะเป็นองค์การศาสนาไว้แล้วคือ ๑. สำนักพราหมณ์พระราชครู ในสำนักพระราชวัง ๒. สมาคมฮินดู สมาช ๓. สมาคมฮินดู ธรรมสภา ศาสนาซิกข์ กรมการศาสนาจะหารือด้านศาสนูปถัมภ์กับสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา
ศาสนาอิสลาม
ศาสนาอิสลามเริ่มประกาศโดยนบีมูฮำมัด บุตรอับดุลเลาะห์ ที่เมืองมักกะฮ์ ซึ่งอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบียปัจจุบัน เมื่อปี
พ.ศ.๑๑๕๓ โดยนับจากปีที่นบีมูฮำมัดอพยพมาเมืองมักกะฮ์ ไปยังเมืองมะดินะห์
เป็นการเริ่มฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) ที่ ๑
เมืองมักกะฮ์ในครั้งนั้นมีผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ อยู่
ได้แก่
๑. ศาสนายิว (ยะฮู้ด)
๒. ศาสนาคริสต์ (นัศรอนีย์)
๓. ศาสนาบูชาเจว็ด (มุซรีกีน)
ความเป็นอยู่ของชาวเมืองมักกะฮ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการค้าขายและการเกษตร
ในด้านการค้าจะมีกองคาราวานนำสินค้าจากเมืองมักกะฮ์ไปขายที่เมืองอื่น ๆ
เช่น เมืองซาม
(ซีเรีย) เป็นต้น สำหรับการเกษตรมีการทำสวนอินทผลัม
สวนองุ่นและเลี้ยงปศุสัตว์ เป็นต้น
สภาพทางสังคมของชาวอาหรับเป็นสังคมที่ไร้อารยธรรม
เรียกว่า ยาอิลียะห์
ระเบียบวินัยทางสังคมในด้านต่าง ๆ ไม่มีการกำหนดขึ้นมา
และไม่มีวัฒนธรรมที่ตอเนื่องพอเป็นเกียรติประวัติแก่ชนชาติเลย
เป็นการดำรงชีวิตของคนล้าหลัง อำนาจรัฐก็ไม่มีเอกภาพ
ต่างกลุ่มต่างพวกต่างตระกูลอยู่กันเป็นเอกเทศ
ไม่มีการรวมกันเป็นแว่นแคว้นเดียวกัน ไม่มีการประกาศเขตแดนที่แน่ชัด
ไม่มีธรรมนูญใช้ปกครอง ดังนั้นปัญหาทางการเมืองจึงเกิดขึ้นเสมอ มีการรบพุ่งกันเป็นประจำ
ทางด้านเศรษฐกิจก็เป็นเพียงรักษาความอยู่รอดของตนเอง
และป้องกันการฉกชิงของคนอื่น
ไม่มีการจัดเศรษฐกิจาทางสังคมแต่ประการใด
จากสภาพการณ์ดังกล่าวซึ่งไม่มีการจัดระบบ ปัญหาต่าง ๆ
ก็เกิดตามมาคือปัญหาสังคมอันสืบเนื่องมาจากคนไร้ศีลธรรม ไร้วัฒนธรรม
และไร้หลักยึดถือที่มั่นคง
ชาวเมืองมักกะฮ์จึงมีความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมถึงที่สุด
มีการกดขี่ทางชนชั้น และทางเพศอย่างรุนแรง
สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนถูกจำกัดโดยผู้มีอำนาจในสังคม มีระบบทาสซึ่งได้รับการสืบทอดกันมาโดยตลอด
การปล้นสะดม การฉกชิงทรัพย์สมบัติ การฉุดคร่าอนาจาร
การประทุษร้ายฆ่าฟันกัน การสำมะเลเทเมา
เป็นกิจกรรมและปรากฏการณ์ทางสังคม
ที่ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่เข้มแข็งมีกำลังแรงกว่า
มีอำนาจสูงกว่า ส่วนผู้ที่อ่อนแอกว่าก็ต้องอยู่แบบหวาดกลัว
และไม่สามารถมีสิทธิหน้าที่ทางสังคม นบีมูฮำมัด
ในปี พ.ศ.๑๑๑๓ เดือนรอบิอุลเอาวัล ตกอยู่ประมาณเดือนสิงหาคมในปีนั้น
มีกองทัพช้างยกมาเพื่อทำลายเมืองมักกะฮ์ แต่ไม่สำเร็จ
จึงเรียกปีนั้นว่าปีช้าง นบีมูฮำมัดได้ถือกำเนิดขึ้นมา มีมารดาชื่ออามีนะฮ์
ส่วนบิดาได้ถึงแก่กรรมตั้งแต่ท่านนบียังอยู่ในครรภ์มารดาเพียงสองเดือน
เมื่อนบีมูฮำมัดอายุได้หกขวบ มารดาของท่านก็ถึงแก่กรรม
ท่านจึงตกเป็นเด็กกำพร้าผู้ยากไร้ ปู่ของท่านคือ อับดุลมุตตอลิบ
ได้เป็นผู้อุปการะท่านจนท่านอายุได้แปดขวบ
ปู่ของท่านก็ถึงแก่กรรมไปอีกคนหนึ่ง หลังจากนั้นลุงของท่านคือ อะบูตอลิบก็ได้อุปการะท่านต่อมา ลุงของท่านไม่ใช่คนร่ำรวย
เป็นเพียงคนดีคนหนึ่งของสังคม
มีอาชีพทำการค้าซึ่งมีทุนรอนไม่มากนัก
นบีมูฮำมัดในยามเยาว์วัยมีความเป็นอยู่และการดำรงชีพไม่เหมือนกับเด็กในวัยเดียวกัน
ท่านช่วยตัวเองโดยตลอด ด้วยการรับจ้างชาวเมืองมักกะฮ์เลี้ยงแพะ
เพื่อหารายได้และนำรายได้นั้นให้ลุงของท่านทั้งหมด
ท่านจึงเป็นที่รักใคร่ของอะบูตอลิบซึ่งแม้จะมีลูกหลายคน
แต่ก็รักหลานคนนี้มากกว่าลูกคนใดทั้งสิ้น
เมื่อนบีมูฮำมัดอายุได้ประมาณเก้าขวบ
ลุงของท่านก็นำท่านเดินทางไปยังเมืองซามเพื่อทำการค้า
การเดินทางในครั้งนั้น เป็นการเดินทางไปต่างเมืองครั้งแรกของท่าน
และวันหนึ่งขณะที่ลุงของท่านกำลังนั่งพักผ่อนอยู่
ได้มีนักบวชของชาวยิวคนหนึ่งชื่อบุฮัยรอ
ได้สังเกตเห็นบุคลิกลักษณะของท่านนบี
จึงได้เข้ามาสอบถามลุงของท่านด้วยความสนใจ
หลังจากได้สนทนากันแล้วนักบวชผู้นั้นก็บอกกับลุงของท่านว่า
เด็กคนนี้มีบุญ ต่อไปจะได้เป็นนบีสุดท้ายของโลก
ซึ่งมีปรากฏเรื่องนี้อยู่ในคัมภีร์เก่า
ๆ
ลักษณะของเด็กผู้นี้ตรงกับที่ระบุไว้ในคัมภีร์ดังกล่าวทุกประการ
พร้อมกันนั้นก็ได้ขอร้องให้ลุงของท่าน
นำตัวท่านเดินทางกลับเมืองมักกะฮ์เสีย
เพราะอาจถูกประทุษร้ายจากศัตรูได้
และกำชับให้ดูแลท่านนบีให้ดี
อุปนิสัยของท่านนบี
ตั้งแต่เยาว์วัยจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่
นบีมูฮำมัดมีอุปนิสัยดีในสังคมอาหรับในยุคนั้น
เป็นผู้หลีกพ้นจากความเสื่อมโทรมทางสังคมได้
จึงเป็นที่นับถือของคนทั่วไป ท่านไม่เคยพูดเท็จ
มีความจริงใจต่อทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ
มีจิตใจเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่นเสมอ จนถูกขนานนามว่า อัลละมีน แปลว่า
ผู้ซื่อสัตย์
เมื่อผู้อื่นจะกล่าวถึงท่าน หากไม่ระบุชื่อของท่าน
ก็จะเรียกด้วยนามที่ถูกขนานให้นี้จนเป็นที่รู้กันแพร่หลาย
คนอาหรับจึงรัก และนับถือท่านเป็นพิเศษ
ซึ่งไม่มีผู้ใดในหมู่ชนอาหรับจะได้รับเกียรติอย่างสูงจากสังคมเท่ากับท่าน
ท่านเป็นนักต่อสู้เพื่อความยุติธรรม และคุณธรรมของสังคมมาโดยตลอด
เมื่ออายุได้ประมาณ ๓๐ ปีเศษ ท่านกับญาติในตระกูลกุรอยซ์ ได้ร่วมกันก่อตั้งขบวนการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนขึ้นในสังคมอาหรับ
โดยสมาชิกที่เข้าร่วมขบวนการนี้จะต้องสัญญาที่จะผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม
ต้องช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม และบำเพ็ญประโยชน์โดยมีกิจกรรมคือ
คอยห้ามการวิวาทของสังคมอาหรับคอยประนีประนอมไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น
ขบวนการนี้ภาคอาหรับเรียกว่า ฮัลฟีลฟุดูล แปลว่า
สนธิสัญญาพิทักษ์สิทธิมนุษยชนสมาชิกของขบวนการได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัด
และกล้าหาญจนเป็นที่เกรงใจของคนอาหรับโดยทั่วไป
และเป็นกลุ่มพลังที่เป็นที่หวังของสังคมที่จะเข้ามากอบกู้ภัยสังคมที่มีอยู่อย่างกว้างขวาง
แต่ขบวนการนี้ก็เป็นเพียงขอบข่ายที่คับแคบเฉพาะในสังคมย่อย ๆ
เท่านั้น
นอกจากจะตั้งขบวนการดังกล่าวแล้ว
ท่านยังเคยทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการตัดสินกรณีพิพาทคือ
กรณีขัดแย้งอันสืบเนื่องมาจากการซ่อมแซมกะบะฮ์
ซึ่งชาวอาหรับถือเป็นมหาปูชนียวัตถุ
ซึ่งทุกคนจะต้องมาสักการะบูชาเป็นประจำทุกปี
และบริเวณรอบกะบะฮ์เต็มไปด้วยเจว็ดเป็นจำนวนมาก เมื่อการซ่อมแซมแล้วเสร็จ
ปัญหาที่พวกอาหรับตกลงกันไม่ได้คือการยกหินดำขึ้นไปวางไว้ที่เดิม
ซึ่งอยู่ที่มุมหนึ่งของกาบะฮ์นั้น เพราะทุกคนก็ต้องการจะยกหินดังกล่าว
เกิดการแก่งแย่งจนเกือบจะมีการรบราฆ่าฟันกัน
ท่านนบีได้เดินเข้ามาในช่วงนั้นพอดี
พวกอาหรับจึงมอบให้ท่านเป็นผู้ชี้ขาด ท่านจึงใช้ผ้าวางบนพื้น
แล้วนำหินก้อนนั้นมาวางไว้บนผ้า จากนั้นก็เรียกให้หัวหน้าเผ่าต่าง ๆ
มารวมกันจับผ้าคนละมุมจนนำหินดำมาวางไว้ ณ ที่เดิมได้
ด้วยความพอใจของทุก ๆ ฝ่าย การประกาศหลักธรรม
เมื่อท่านนบีอายุประมาณ ๔๐ ปี ได้รับวิวรณ์จากพระเจ้าเป็นบทบัญญัติต่าง
ๆ โดยที่ท่านเป็นผู้ไม่รู้หนังสือมาก่อน ไม่เคยยอ่าน
หรือทราบคัมภีร์เก่า ๆ ที่เคยมีมาแต่ยุคก่อน ๆ ไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์เตารอตหรืออินยีน
ก่อนที่ท่านจะได้รับวิวรณ์
ท่านได้เข้าไปบำเพ็ญภาวนาอยู่ถ้ำภูเขาลูกหนึ่งในเมืองมักกะฮ์
ตามแบบที่ตระกูลของท่านได้สอนสืบทอดกันมาจากนบีอิบรอฮิม
อันเป็นต้นตระกูลของท่าน และของพวกยะฮู๊ด (ยิว
ท่านใช้เวลาติดต่อกันครั้งละ ๑๕ วัน หรือหนึ่งเดือน
โดยเตรียมเสบียงอาหารเข้าไปด้วย
เมื่อเสบียงหมดก็จะออกจากถ้ำไปหาเสบียงใหม่แล้วกลับเข้าถ้ำต่อไป)
เมื่อท่านได้รับวิวรณ์เป็นข้อบัญญัติจากพระเจ้าให้ท่านได้รู้ต่อการประกาศหลักธรรมแล้ว
ท่านได้ใช้เวลา ๑๓ ปี ที่เมืองมักกะฮ์ เพื่อประกาศบทบัญญัติ
โดยเน้นปัญหาทางความเชื่อให้มนุษย์ทั้งหลายได้เลิกการกราบไหว้บูชาวัตถุเคารพทั้งปวง
ให้มีใจศรัทธาต่อพระเจ้าคือ อัลเลาะห์ ผู้มีเดชานุภาพและมีนิรันดรภาพ
แต่การประกาศดังกล่าว ได้รับการต่อต้านจากชาวอาหรับ
จนสุดท้ายท่านถูกวางแผนที่จะประหารชีวิตของท่านในคืนวันหนึ่ง
โดยมีมือดาบสิบคน จากสิบตระกูลมาล้อมบ้านท่านไว้
แต่ท่านนบีได้หลบออกจากบ้านไปได้ด้วยความปลอดภัย โดยไม่มีการปะทะกัน
จากนั้นท่านก็ได้มาพบกับอาบูมะภีร์ เพื่อนรักของท่าน ณ ถ้ำอีกแห่งหนึ่ง
พวกมือดาบทั้งสิบได้ออกติดตามท่านจนมาถึงหน้าถ้ำ
ที่ท่านกับอาบูมะภีร์หลบช่อนตัวอยู่ แต่ไม่พบร่องรอยใด ๆ
ว่ามีคนเข้าไปในถ้ำนั้นจึงพากันกลับไป
หลังจากนั้นท่านนบีกับอาบูมะภีร์ ก็ได้ออกเดินทางไปยังเมืองมะดีนะฮ์
และก็ได้อยู่ที่เมืองนั้นประมาณ ๑๐ ปี
โดยได้รับข้อบัญญัติจากพระเจ้าเป็นระยะ ๆ เช่นในด้านเศรษฐกิจ การปกครอง
วัฒนธรรม และด้านสังคม เป็นต้น ในห้วงเวลาดังกล่าว
ท่านได้ทำให้ประชาชาติอาหรับรวมตัวกันเป็นประชากรเดียวกัน
มีอธิปไตยเป็นของตนเอง มีคัมภีร์กุรอานเป็นธรรมนูญ
มีอาณาเขตและมีคณะรัฐบาลบริหารประเทศ โดยท่านเป็นผู้นำทั้งด้านอาณาจักร
และศานจักรพร้อมกัน
การบริหารรัฐอิสลาม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์
ท่านมิได้บริหารในฐานะพระราชาธิบดีแต่บริหารในฐานะทาสพระเจ้า
โดยให้ทุกคนตระหนักว่า ทุกคนเป็นของพระเจ้า
ประเทศเป็นของพระเจ้า และการงานทั้งมวลเป็นของพระเจ้า
ท่านและทุกคนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบร่วมกัน
และทุกคนมีสภาพเป็นพี่น้องไม่มีใครมีศักดิ์ศรีเหนือกว่า
เกียรติเหนือกว่า โดยชาติตระกูลหรือตำแหน่ง
แต่เกียรติของบุคคลขึ้นอยู่กับสำนึกนบน้อมต่อพระเจ้าเป็นสำคัญ
ตลอดชีวิตการบริหารบ้านเมืองท่านเสียสละเพื่อประชาชน
ไม่ได้สร้างฐานะของตนเองให้มั่งคั่งร่ำรวยแต่ประการใด
ดำรงชีวิตโดยสมถะ
สถานที่บริหารบ้านเมืองของท่านใช้มัสยิดเป็นแหล่งอเนกประสงค์ เป็นที่ทำการรัฐบาล สภาสถานศึกษา ศาล
และเป็นสถานที่นมัสการพร้อมกันไป โดยตัวท่านจะใช้มุมหนึ่งของมัสยิด
ทำเป็นที่อยู่อาศัย การแพร่หลายของศาสนาอิสลาม
ดินแดนตะวันออกกลาง เป็นแหล่งเกิดอารยธรรมโบราณ
ซึ่งประกอบด้วยศาสนาต่าง ๆ เช่นศาสนาบูชาธรรมชาติ ศาสนาบูชาเทวรูป
ศาสนายูดาย ศาสนาโซโรอาสเตอร์ และศาสนาคริสต์
ต่อมาเมื่อศาสนาอิสลามได้แพร่หลายจากแหล่งเกิดไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ
ก็ได้ลบล้างอารยธรรมดั้งเดิมเหล่านั้น
และทดแทนด้วยอารยธรรมอิสลาม
ภาษาอาหรับก็แพร่หลายครอบคลุมไปจนทั่วดินแดนดังกล่าว
ศาสนาอิสลามได้เปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิศาสตร์การเมืองของหลายจักรวรรดิ์เช่น
กรีก โรมัน และเปอร์เซีย ซึ่งสลายตัว มีวัฒนธรรมใหม่
และระบบการปกครองแบบใหม่
ผู้ที่รับหน้าที่สืบการปกครองต่อจากท่านนบีเรียกว่า คอลิฟะฮ์ (คนไทยเรียกว่า
กาหลิบ)
ได้ปกครองต่อมาเป็นระยะเวลาประมาณ ๓๐ ปี
มีคอลิฟะฮ์สี่คน
เมื่อศาสนาอิสลามแพร่หลายในตะวันออกกลางจนทั่วถึง
การแก่งแย่งอำนาจการปกครอง ความขัดแย้งทางการเมือง
ทำให้รูปแบบของวัฒนธรรมอิสลามในด้านการปกครองเปลี่ยนแปลงไป การปกครองระบบคอลิฟะฮ์
อันได้มาจากการเลือกตั้งเปลี่ยนมาเป็นราชวงศ์
ขึ้นมาสืบทอดอำนาจ
จีน
อิสลามได้แพร่เข้าสู่เมืองจีน
เนื่องจากคนอาหรับมีการติดต่อค้าขายกับจีนมาช้านานแล้ว
จนท่านนบีได้กล่าวถึงการแสวงหาความรู้ว่าแม้ว่าจะไกลถึงเมืองจีนก็ตาม
คนจีนรู้เรื่องของอิสลามอย่างดี ปรากฎในบันทึกพงศาวดารในราชวงศ์วถัง
(พ.ศ.๑๑๔๑ - ๑๔๕๐)
มาเลเซีย
พ่อค้าชาวอาหรับได้เดินทางมาค้าขาย และตั้งหลักแหล่งในแหลมมลายู
หลังจากที่ได้มาตั้งหลักแหล่งทางตะวันตกของอินเดีย
ในสมัยราชวงศ์อับบาซียะห์
พวกพ่อค้าได้นำสินค้าโดยทางเรือไปขายทางตะวันออกไกล ยุโรป และอัฟริกา
มีการขุดพบเหรียญตราต่าง ๆ ของอาหรับ รัสเซีย ฟินแลนด์ สวีเดน
และเยอรมันนี
ไทย
มีหลักฐานว่าคนไทยในสมัยน่านเจ้า
ก่อนที่คนไทยจะเสียอาณาจักรน่านเจ้าแก่จักรวรรดิ์มองโกล
ในสมัยกุบไลข่าน เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๙๗ นั้น
อิสลามได้แพร่หลายเข้าไปในอาณาจักรนี้
เราเรียกคนจีนยูนานที่เป็นมุสลิมว่า ฮ่อ
สมัยสุโขทัย พ่อขุนรามยคำแหง ฯ
ได้ทรงแผ่อาณาเขตของกรุงสุโขทัยจนตอนใต้จดแหลมมลายูตลอดไปจนสุดปลายแหลม
สมัยอยุธยา มีมุสลิมตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นปึกแผ่น
แต่เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าเป็นครั้งที่สอง หลักฐานต่าง ๆ
ถูกเผาทำลายไปมากเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยคือภาพรดน้ำบนบานประตูบานหนึ่งในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
เข้าใจว่าเขียนไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ
ที่คลองบางกอกใหญ่ได้มีมุสลิมตั้งภูมิลำเนาค้าขายอยู่บนบกก็มี
อยู่แพก็มี สมัยนั้นเรียกมัสยิดว่า
กุฎี
กล่าวกันว่ามีมาก่อนสมัยพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓ - ๒๑๗๑)
กระดานจารึกอักษรอาหรับซึ่งถูกไฟไหม้บางส่วนครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองลอยน้ำมา
ชาวคลองบางกอกใหญ่ได้เก็บรักษาไว้ที่มัสยิดต้นสนจนถึงปัจจุบัน
|