เมืองโบราณโนนเมือง
อ. ชุมแพ จ. ขอนแก่น
เมืองโบราณโนนเมือง
เล่าสืบต่อกันมาว่าที่เนินดินกว้างที่เรียกว่าโนนเมืองนั้นเป็นเมืองโบราณ
ลักษณะเป็นเนินดินรูปไข่ มีพื้นที่ประมาณ 216 ไร่ ล้อมรอบด้วยคูเมือง 2 ชั้น
เมื่อนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจพบใบเสมาหินทรายศิลปทวาราวดีปักอยู่ในเมืองและพื้นที่โดยรอบ
มีเศษภาชนะดินเผาชิ้นไม่ใหญ่นักกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนเนินดิน
เศษภาชนะดินเผาเหล่านี้มีทั้งชนิดเขียนสีแดง ชนิดลายขูดขีดและลายเชือกทาบ
ในชั้นดินสมัยทวาราวดี(พุทธศตวรรษที่ 12-16) ไม่พบหลักฐานของการฝังศพ
สันนิษฐานว่าเมื่อพุทธศาสนาเผยแพร่มาสู่โนนเมือง ประเพณีการฝังศพจึงเปลี่ยนไป
ยิ่งขุดชั้นดินลึกลงไปยิ่งพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ
เมืองโบราณแห่งนี้เคยมีชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ตอนปลาย)
พบโครงกระดูกมนุษย์อายุราว 2,500 ปี ผู้คนสมัยนี้มีพิธีฝังศพตามประเพณีโบราณ
มีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้ลงไปพร้อมศพด้วย เช่น หม้อและภาชนะดินเผา
มีทั้งลายเขียนสี ลายขูดขีด และลายเชือกทาบ รวมทั้งกำไลสำริด กำไลกระดูกสัตว์
เปลือกหอย ลูกปัดหินสี ฯลฯ นอกจากนั้นยังมีการค้นพบเครื่องมือเหล็กประเภท จอบ
เคียว และกระดูกของสัตว์ต่างๆ เช่น เก้ง กวาง และปลาหลายชนิด
ทำให้ทราบว่าผู้คนที่นี่ดำรงชีวิตด้วยการเกษตรกรรม
มีผู้คนอาศัยอยู่ที่นี่เรื่อยมาจนถึงสมัยลพบุรี(พุทธศตวรรษที่ 16-17)
และทิ้งร้างไปในที่สุด
เมืองโบราณโนนเมืองตั้งอยู่ในเขตบ้านนาโพธิ์ ห่างจากอำเภอเมือง ประมาณ 80
กิโลเมตร
Loading...
|