ข้อมูลทั่วไป
น้ำตกทรายขาว เดิมชาวบ้านเรียกว่า น้ำตกตะโกน มีต้นน้ำเกิดจากยอดเขานางจันทร์ในทิวเขาทรายขาว เทือกเขาสันกาลาคีรี ถูกค้นพบโดยพระครูศรีรัตนากร (ท่านสีแก้ว) เจ้าอาวาสวัดทรายขาว เมื่อปี 2475 อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวมีพื้นที่ครอบคลุมป่าสงวนแห่งชาติเขาใหญ่ ในท้องที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองยะลา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และป่าสงวนแห่งชาติป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ประกอบด้วยจุดเด่นตามธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงาม สภาพป่าอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่นไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิดที่ควรแก่การศึกษาหาความรู้เป็นอย่างยิ่ง ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 68,750 ไร่ หรือ 110 ตารางกิโลเมตร
เดิมกรมป่าไม้ได้จัดตั้งวนอุทยานน้ำตกทรายขาวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2497 และวนอุทยานโผงโผง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2527 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของสำนักงานป่าไม้เขตปัตตานี เนื่องจากวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง มีบริเวณอาณาเขตติดต่อกัน กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 1759/2528 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 ให้ นายตระกูล คุณาพัทธิ์ นักวิชาการป่าไม้ 7 หัวหน้าฝ่ายจัดการวนอุทยาน ไปสำรวจหาข้อมูลวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง และบริเวณใกล้เคียงเพื่อรวมพื้นที่วนอุทยานทั้ง 2 แห่ง จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ และต่อมา นายปรีชา บุญมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดปัตตานี และ นายเกรียงศักดิ์ ศักดิ์คเชนทร์ สมาชิกสภาจังหวัดปัตตานี ได้มีหนังสือลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2530 ถึง พลเอกหาญ ลีลานนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนให้รวบรวมวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง และขอให้สำรวจบริเวณน้ำตกอรัญวาริน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกันรวมจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย
ตามรายงานผลการสำรวจตามหนังสือที่ กษ 0713/005 ลงวันที่ 30 เมษายน 2530 สรุปได้ว่า เห็นสมควรผนวกพื้นที่วนอุทยานทั้ง 2 แห่ง เข้าด้วยกันเนื่องจากอยู่ใกล้กันและเป็นเทือกเขาเดียวกันเหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือที่ กษ.0713/508 ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530 เสนอกรมป่าไม้ โดย นายไพโรจน์ สุวรรณกร รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มีบันทึกสั่งการลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2530 ให้กองอุทยานแห่งชาติดำเนินการยกฐานะรวบรวมวนอุทยานทั้ง 2 แห่ง นี้เป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติจึงได้มีหนังสือด่วนมาก ที่ กษ 0713/950 ลงวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2530 เสนอโดยกรมป่าไม้มีคำสั่งที่ 1477/2530 ลง วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2530 ให้ นายอุดม ยกฉวี เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจและจัดตั้งป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ตำบลป่าบอน (ปัจจุบันแยกเป็นตำบลช้างให้ตก) ตำบลนาประดู่ ตำบลทรายขาว ตำบลทุ่งพลา ตำบลปากล่อ อำโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ตำบลพะยา อำเภอเมืองยะลา ตำบลตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และ ป่าเทือกเขาสันกาลาคีรี ในท้องที่ตำบลบ้านโหนด ตำบลเปียน ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ
ขณะนี้อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว อยู่ในระหว่างดำเนินการสำรวจและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ทั้งหมดอยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ซึ่งเป็นเทือกเขายาวที่สลับซับซ้อนติดต่อกันมียอดเขานางจันทร์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุด ส่วนใหญ่พื้นที่จะลาดลงไปทางทิศตะวันตก เป็นที่เนินเขา และเป็นที่ราบ ดินจะเป็นดินเหนียวปนทราย หินเป็นปูนและหินแกรนิต เป็นต้นกำเนิดของห้วยทรายขาว ห้วยโผงโผง ห้วยบอน ห้วยแกแดะ ห้วยลำหยัง ห้วยคลองเรือ ห้วยต้นตะเคียน ห้วยลำชิง ห้วยลำพะยา ฯลฯ
ซึ่งลำห้วยลำธารเหล่านี้จะไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเทพา
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศจะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน ฤดูฝนอยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคม-เดือนมกราคม จะมีฝนตกตลอด แต่จะตกชุกในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม และฤดูร้อนจะอยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เดือนเมษายน อากาศจะไม่ร้อนจัดนัก
พืชพรรณและสัตว์ป่า
สภาพพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาวปกคลุมด้วยป่าดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง สยา กระบาก กาลอ หลุมพอ ไข่เขียว สะตอ เหรียง ตะเคียนทอง ฯลฯ พืชพื้นล่างได้แก่ ระกำ หวาย เฟิน เถาวัลย์ และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ สัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา หมูป่า เก้ง เม่น กระจง ลิง ค่าง ชะนี อีเห็น กระรอก นกขุนทอง นกกางเขน นกปรอด เหยี่ยว นกดุเหว่า ตะพาบน้ำ งูเหลือม งูเห่า งูกะปะ ตะกวด กบ เขียด กง รวมทั้งกุ้ง ปู และปลาชนิดต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในลำห้วยลำธาร
น้ำตกทรายขาว
เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาสูงประมาณ 40 เมตร ไหลจากยอดเขานางจันทร์ สายน้ำไหลตามแนวหุบเขาลงสู่ที่ราบเบื้องล่าง คดเคี้ยวลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ ซึ่งบางตอนเกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ ลึก และเป็นหน้าผาสูงชันมองดูสวยงาม มีทางเท้าเดินขึ้นถึงตัวน้ำตกระยะทางประมาณ 400 เมตร สองข้างทางลำธารมีก้อนหินใหญ่น้อยและต้นไม้ขึ้นปกคลุมตลอดทางเดินให้ความร่มรื่นและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ตั้งอยู่บริเวณ หมู่ที่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
น้ำตกโผงโผง
เป็นน้ำตกที่เกิดจากเทือกเขานางจันทร์ มีความสูงประมาณ 80 เมตร เป็นน้ำตกที่ไหลตกลดหลั่นลงมาเป็นขั้นบันได มี 7 ชั้น จากที่ราบชั้นล่างสุดซึ่งมีแอ่งน้ำตกขนาดใหญ่ มองขึ้นไปยังผาน้ำตกชั้นบน จะมองเห็นน้ำตกไหลลงมาเป็นสายน้ำคดเคี้ยวตามหน้าผาและโขดหิน พื้นที่บริเวณสองข้างลำธารและบริเวณใกล้น้ำตกมีความร่มรื่นถูกปกคลุมด้วยกิ่งใบของพันธุ์ไม้นานาชนิดซึ่งขึ้นอยู่หนาแน่น อยู่บริเวณบ้านโผงโผงใน หมู่ที่ 8 ตำบลปากล่อ อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ใช้เส้นทางสายปัตตานี-ยะลา ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 มีทางแยกขวาที่บ้านปากล่ออีก 6 กิโลเมตร ถึงน้ำตกโผงโผง
กิจกรรม -เดินป่าศึกษาธรรมชาติ - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกพระไม้ไผ่
เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำยอดเขาใหญ่ ไหลลงสู่น้ำเทพา เป็นน้ำตกขนาดเล็ก ตกจากผาหินกว้างประมาณ 10 เมตร มีความสูงประมาณ 40 เมตร ซอกซอนไปตามโขดหินจนถึงลานหินแกรนิตขนาดใหญ่ จากนั้นสายน้ำจะแผ่กว้างออกแล้วไหลลงสู่ลำธารเบื้องล่างซึ่งจะไหลไปรวมกับแม่น้ำเทพา บริเวณน้ำตกมีพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านโหนดร่วมใจกันสร้างไว้ นามว่า พระเวฬุวัน น้ำตกพระไม้ไผ่อยู่ห่างจากน้ำตกทรายขาว 12 กิโลเมตร ตั้งอยู่ที่บ้านห้วยบอน หมู่ที่ 2 ตำบลบ้านโหนด อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ใช้เส้นทางสายทรายขาว-สะบ้าย้อย มีทางแยกซ้ายที่บ้านโหนดอีก 3 กิโลเมตร เข้าสู่น้ำตก
กิจกรรม -เดินป่าระยะไกล - เที่ยวน้ำตก
น้ำตกอรัญวารินทร์
เป็นน้ำตกที่ไหลลงมาจากเทือกเขานางจันทร์ อีกด้านหนึ่งของน้ำตกทรายขาว ลักษณะน้ำตกจะแบ่งออกเป็นชั้นๆ รวม 7 ชั้น แต่ละชั้นจะห่างกันประมาณ 300-500 เมตร ในแต่ละชั้นของน้ำตก จะมีลักษณะสวยงามแตกต่างกันออกไป มีลักษณะพิเศษโดดเด่นเป็นของตัวเอง น้ำตกทั้ง 7 ชั้น จะมีลำธารไหลคดเคี้ยวและมีแอ่งน้ำอยู่ด้านหน้าน้ำตก ขนาบด้วยกล้วยไม้ป่าเป็นแนวทั้งสองข้างทางเดิน ชั้นบนสุดเป็นผาหินสูง 20 เมตร สายน้ำตกลงมาตามโขดหินลดหลั่นกันลงสู่แอ่งน้ำตกเบื้องล่าง น้ำตกอรัญวารินอยู่ในอยู่ในท้องที่ หมู่ที่ 5 ตำบลทุ่งพลา อำเภอโคกโพธิ์ ทางเข้าอยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 33 ตรงวัดห้วยเงาะ เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
เส้นทางเดินป่าสู่ยอดเขาสันกาลาคีรี
นอกจากพืชพันธุ์และสัตว์ป่ามากมายแล้ว ระหว่างทางยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น ถ้ำวิปัสสนาเขาหินช้าง หินสลักพระนามาภิไธยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จุดชมทิวทัศน์เขาหินช้าง จุดรอยต่อของ 3 จังหวัด ฯลฯ
ผู้สนใจติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางได้ที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ แต่จะเปิดให้เดินป่าเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม โดยมีเจ้าหน้าที่นำทางคอยให้ความรู้ตลอดเส้นทาง การเดินทางสู่ยอดเขาใช้เวลา 2 วัน 1 คืน
น้ำตกพรุบอน
เป็นน้ำตกที่เกิดจากต้นน้ำของยอดเขาใหญ่ มีหลายชั้นตั้งอยู่ในท้องที่บ้านแกแดะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีสภาพป่าที่สมบูรณ์เหมาะในการเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาติ
กิจกรรม -เที่ยวน้ำตก
จุดชมทิวทัศน์ "ยอดเขาหินช้าง"
เป็นยอดเขาอีกยอดหนึ่งของเทือกเขานางจันทร์ มีความสูงประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล บนยอดเขามีลานกว้างประมาณ 2 ไร่ มีก้อนหินขนาดใหญ่ สามารถมองเห็นจากตีนเขารูปร่างลักษณะคล้ายช้าง หรือรูปสัตว์โบราณ สามารถมองเห็นทัศนียภาพของพื้นที่ราบตอนล่าง และที่ชายทะเลของจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นชุดชมทิวทัศน์ที่สวยงามมากจุดหนึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว หมู่ที่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
กิจกรรม -ชมทิวทัศน์
แก่งหินห้วยลำพะยา
เป็นแก่งหินที่สวยงามมีอยู่ตลอดแนว ลำธารห้วยลำพะยา เหมาะในการเดินทางไปชมธรรมชาติ และพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำเชื่อมกับเขื่อนลำพะยา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้อีกบริเวณหนึ่งด้วย ตั้งอยู่บริเวณป่าเหนือบ้านลำพะยา ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองพะยา จังหวัดยะลา
สถานที่ติดต่อ
อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว
ต.ทรายขาว อ. โคกโพธิ์ จ. ปัตตานี 94120
โทรศัพท์ 0 7333 9138
การเดินทาง
รถยนต์
ที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ตั้งบริเวณตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ใช้เส้นทางตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 (ปัตตานี-นราธิวาส) เมื่อถึงบ้านนาประดู่บริเวณ กม.ที่ 28 จะมีทางแยกขวาเข้าสู่น้ำตกทรายขาว เข้าไปอีก 7 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
ที่พักแรม/บ้านพัก
มีบ้านพักให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
สถานที่กางเต็นท์/เต็นท์
มีพื้นที่กางเต็นท์ พร้อมห้องน้ำ-ห้องสุขารวม ไว้ให้บริการ ท่านสามารถนำเต็นท์มากางเอง หรือติดต่อขอใช้บริการเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีค่าบริการอยู่หลายอัตราขึ้นอยู่กับชนิด ขนาดของเต็นท์ และอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ รายละเอียดเกี่ยวกับที่พักเต็นท์ขอให้ติดต่อสอบถามกับอุทยานแห่งชาติโดยตรง