สุพรรณบุรี
สุพรรณบุรี
สุพรรณบุรี เมืองหน้าด่านสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นดินแดนของนิยายอมตะเรื่อง
"ขุนช้าง ขุนแผน"
เป็นนิยายรักของ ๑ หญิง ๒ ชาย เป็นเมืองที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี
มีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชาแห่งพม่า ซึ่งเป็นผลให้กรุงศรีอยุธยาดำรงความเป็นเอกราชต่อมาอีกกว่าร้อยปี
และในปัจจุบันสุพรรณบุรี (อำเภอเมืองฯ) คือเมืองที่ถนนหนทาง สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย
งดงามน่าจะยิ่งกว่าอำเภอใด ๆ ของไทยเลยทีเดียว
ตามตำนานประวัติของเมืองสุพรรณบุรี เป็นเมืองเก่าแก่ มีชุมชน มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี
ตำนานกล่าวว่าผู้สร้างเมืองสุพรรณบุรี คือ "พระยาพาน"
ได้สร้างเมืองขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณบุรี (แม่น้ำเดียวกันแต่มีหลายชื่อ
แล้วแต่ว่าจะผ่านที่ใด) ได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณบ้านรั้วใหญ่ เมื่อประมาณปี
พ.ศ.๑๔๒๐ - ๑๔๒๕ (พระธาตุจอมกิติ ที่เชียงแสน พ.ศ.๑๔๘๓) ตั้งชื่อเมืองนี้ว่า
เมืองพันธุมบุรี
แล้วต่อมาจึงได้เพี้ยนไปเป็นเมืองสองพันบุรี
และมาเป็นสุพรรณบุรีในทุกวันนี้
ในพงศาวดารเหนือกล่าวว่า "พระเจ้ากาแต"
เชื้อสายไทยที่มาจากเมืองมอญ ได้มาเสวยราชย์อยู่ที่เมืองอู่ทอง
แล้วได้มาบูรณะเมืองพันธุมบุรี ซึ่งเมืองนี้เป็นเมืองร้างมากว่าสองร้อยปีแล้ว
(หลังพระยาพานครองเมือง) เมื่อบูรณะแล้วก็ได้บูรณะพระวัดป่าเลไลยก์ในปัจจุบัน
หรือเวลานั้นเรียกว่า วัดลานมะขวิด
เมื่อบูรณะแล้วก็มีข้าราชการและชาวเมืองมีจิตศรัทธาได้ออกบวชกันถึง ๒ พันคน
เป็นผลให้เมืองพันธุมบุรี ที่พระเจ้ากาแต บูรณะกลายชื่อมาเป็น "เมืองสองพันบุรี"
แล้วน่าจะเพี้ยนมาเป็นสุพรรณบุรี เป็นอีกเหตุผลหนึ่งของชื่อเมืองในปัจจุบัน
เมืองสุพรรณบุรีเป็นหัวเมืองใหญ่ เคยเป็นถึงเมืองลูกหลวง
เมื่อพระเจ้าอู่ทอง หรือพระรามาธิบดีที่
๑ ได้เป็นปฐมกษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ ได้โปรด ฯ ให้พี่ของพระมเหสีคือ
"ขุนหลวงพะงั่ว"
ไปครองเมืองสุพรรณบุรี (ท่านผู้นี้ต่อมากลับมาเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา
) เมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น
แต่เมื่อสงครามไทยกับพม่าเกิดขึ้น สุพรรณบุรีก็กลับเป็นเมืองหน้าด่านอีกครั้งหนึ่งและในปี
พ.ศ.๒๑๓๕ ก็เกิดสงครามยุทธหัตถีที่ยิ่งใหญ่
สมัยรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสุพรรณบุรี
รวมอยู่ในมณฑลนครชัยศรี อันมีเมือง นครชัยศรี สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร ต่อมาระหว่างปี
พ.ศ.๒๔๓๘ จนถึง พ.ศ.๒๔๕๖ ได้ทยอยเปลี่ยนชื่อเมืองมาเป็นจังหวัด สุพรรณบุรีจึงกลายเป็นจังหวัดสุพรรณบุรีตั้งแต่นั้นมา
ตัวเมืองสุพรรณบุรี ดั้งเดิมอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนตรงตำบลรั้วใหญ่
มีแนวกำแพงเมืองเก่าปรากฏอยู่ แต่มารื้อทิ้งเสียในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
ประสงค์มิให้กลายเป็นที่มั่นของข้าศึก ส่วนที่ตั้งเมืองในปัจจุบัน สันนิษฐานว่า
ย้ายมาตั้งที่ตำบลท่าพี่เลี้ยงในรัชสมัยของรัชกาลที่
๑ "จบตำนานฉบับย่อ"
ผมไปเที่ยวสุพรรณบุรีหลังจากที่ไม่ได้ไปมาหลายปี ไปแล้วก็ตกใจว่าทำไมเจริญมากขนาดนี้
นามผู้สร้างความเจริญให้แก่เมืองคือ นามท่านบรรหาร พบเห็นได้ทั่วไปว่าท่านเป็นผู้นำในการพัฒนา
หรือหางบประมาณมาให้ เห็นแล้วก็ชื่นใจแทนชาวเมืองสุพรรณบุรี ในวันที่ผมกลับมาหนนี้เจริญมาก
ข้อสำคัญคือความสะอาดของเทศบาลเมืองสุพรรณ ฯ ยกนิ้วให้ทั้งมือเลยทีเดียวว่าสะอาดจริง
ๆ ผมเดินทางรอบประเทศไทยมาหลายรอบ และเดินทางด้วยการขับรถเองด้วย จึงเห็นรายละเอียดต่าง
ๆ มาก ทุกจังหวัดไปมาแล้วแต่ไม่กล้ายืนยันว่าครบทุกอำเภอหรือเปล่า เพราะอำเภอเกิดใหม่มีมาก
และเกิดเร็วด้วย จึงพอกล้ายืนยันว่า อำเภอเมืองสุพรรณบุรี สะอาด เรียบร้อย
มีความเป็นระเบียบสูง เกาะกลางถนนปลูกหญ้าเอาไว้เขียวชะอุ่ม ตัดพื้นหญ้าเรียบปลูกไม้ดอก
ไม้ประดับสีสด ออกดอกสวย ขยะมูลฝอยตามท้องถนนหายาก มหาดไทย ไม่ลองประกวดในพื้นที่อำเภอเมืองทั่วประเทศสักที
หรือตั้งกรรมการไปตรวจให้คะแนนแต่อย่าไปแจ้งล่วงหน้า สงสัยว่าสุพรรณบุรีจะมาลำดับหนึ่ง
ผมไปจากบ้านลาดพร้าว ก็ตัดออกสี่แยกเกษตรที่เดี๋ยวนี้จากบ้านผมไปง่ายมาก เพราะสามแยกเกษตรศาสตร์นั้นกลายเป็นสี่แยกเพราะถนนนวมินทร์
วิ่งข้ามถนนงามวงศ์วานไปออกถนนบางบัวทอง - สุพรรณบุรี ระยะทางประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร
ไปผ่านอำเภอบางปลาม้า (มื้อกลางวันจะพามาชิมอาหารที่นี่) ประมาณหลักกิโลเมตร
๘๖.๕ เลยต่อไปประมาณหลักกิโลเมตร ๙๐ จะถึงสี่แยก ที่สี่แยกนี้หากมองทางขวาจะเห็น
"ชลอม" ยักษ์ ตั้งเด่นอยู่หน้าตลาดซึ่งเป็นศูนย์ของดีเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งการก่อสร้างยังไม่เรียบร้อยนัก
มีอาคารถาวรอยู่ ๒ หลัง นอกนั้นกางเต้นท์ขายของ ต้นไม้ใหญ่ยังไม่มี จึงยังขาดความร่มรื่น
แต่ของดีก็มีขายแยะเหมือนกัน ผมจะกลับมาแวะตอนกลับจากเที่ยวในเมืองแล้ว หากเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกนี้จะเข้าไปยังวัดโพธิ์คอย
ซึ่งที่วัดนี้ร่มรื่นดีแท้ น่าจะยกศูนย์ของดีมาไว้ในบริเวณวัด เพราะร่มดีเหลือเกิน
วัดนี้มีอุโบสถอยู่กลางน้ำ ในน้ำมีปลามากเป็นวังมัจฉา ปลาตัวโตยังกับเด็กอายุสัก
๓ เดือนมากมาย ซื้ออาหารปลาของวัดให้เป็นทานได้ ภายในโบสถ์วัดโพธิ์คอยมีวัตถุมงคลจำหน่าย
แต่ผมว่าแปลกหรือน่าชม ก็ไม่แน่ใจที่ทางวัดได้สร้างรูปเหมือนของพระสุพรรณกัลยา
พระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ขนาดเท่าคนจริง ๆ ประทับยืนอยู่ในโบสถ์
ทางด้านซ้ายของพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานของอุโบสถ รูปเหมือนสตรีอยู่ในอุโบสถ
ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด แต่ก็มีคนไปกราบไหว้บูชากัน
จากสี่แยกวัดโพธิ์คอย ต่อไปอีกไม่กี่กิโลเมตร ก็จะถึงทางแยกซ้ายเข้าตัวเมืองสุพรรณบุรี
หากวิ่งตรงเรื่อยไปจนถึงสี่แยกมีไฟสัญญาณ ถ้าเลี้ยวซ้ายจะเข้าเมือง หากตรงต่อไปจะข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน
พอลงสะพานวิ่งต่อไปตามถนนสายนี้คือสาย ๓๒๑ จะผ่านโบราณสถานมากมายหลายแห่ง
เรียกว่ามีเวลาครึ่งวันเที่ยวกันในถนนสายเดียวนี่แหละหมดเวลาพอดี ไม่หมดเปล่าหิวด้วย
เพราะมีหลายแห่งและผมต้องย้อนกลับมากินอาหารที่ร้านกุ่ยหมง ที่บางปลาม้า กินแล้วกลับบ้านเลย
จึงขอนำเที่ยวไว้บนถนนสายเดียวนี่แหละ จะให้ดีหากท่านกะเที่ยวสุพรรณบุรีให้ทั่ว
"พอสมควร" ต้องค้างสัก ๑ - ๒ คืน เดี๋ยวนี้มีโรงแรมดี ๆ หลายแห่งแต่ยังไม่เคยพักสักที
แล้วจะไปสำรวจใหม่เอามาเล่าให้ท่านฟัง รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภออื่น
ๆ ของสุพรรณบุรีด้วย ผมไปมาแล้วทุกอำเภอแต่ห่างไปนานกลัวจะพาท่านไปหลงทาง
หลงเพราะความเจริญของเมืองสุพรรณ ฯ
ผมเริ่มต้นที่ศาลากลางจังหวัด ตรงกันข้ามคือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติชาวนาไทย
ได้รวบรวมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้ทรงใช้ทำปุ๋ยหมัก
หว่าน เก็บเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง ณ แปลงสาธิต บึงไผ่แขก ตำบลดอนโพธิ์ทอง
เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ เมื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนมาแล้ว ถ้าเลี้ยวขวาจะมีโบราณสถานที่สำคัญคือ
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
แยกจากถนนไปประมาณ ๓๐๐ เมตร ในสมัยก่อนถือว่าวัดนี้คือ ศูนย์กลางของเมืองสุพรรณบุรี
เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมีอายุไม่ต่ำกว่า ๖๐๐ ปี ปรางค์องค์ประธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้
พระพิมพ์ที่ลือลั่นเป็นพระในชุดเบญจภาคี คือพระพิมพ์ผงสุพรรณบุรี
ที่โด่งดังก็ได้จากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุนี้
อนึ่งให้สังเกตว่า จังหวัดที่เคยเป็นเมืองใหญ่ เมืองสำคัญ หรือเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้นมักจะต้องมีวัดพระบรมธาตุ
หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เช่น ลพบุรี กำแพงเพชร นครศรีธรรมราช สุพรรณบุรี
และอีกหลายเมือง มีพระปรางค์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า
สุพรรณบุรีเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่อดีตกาล
วัดแค
เลยวัดพระธาตุเข้าไป เป็นวัดเก่าแก่ปรากฏชื่อในวรรณคดี ขุนช้าง ขุนปแผน ภายในวัดมีต้นมะขามยักษ์
โคนต้นวัดได้ประมาณ ๑๐ เมตร เชื่อกันว่า ขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามให้เป็น
ตัวต่อ ตัวแตน โดยเสกใบมะขามของต้นนี้และอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้คือ
พระอาจารย์คง และทางจังหวัดยังได้สร้างเรือนไทยโบราณ
เรียกว่า คุ้มขุนแผน
ไว้ใกล้กับต้นมะขามยักษ์ด้วย
วัดพระลอย
มีอุโบสถจัตุรมุขใหญ่ มีพระพุทธนวราชมงคล
และพระพุทธรูปเนื้อหินทรายปางต่าง ๆ ที่เก่าแก่มาก หน้าวัดเป็นอุทยานมัจฉา
ปลาตัวโต ๆ มากมายหลายชนิด
วัดหน่อพุทธางกูร
ในอุโบสถหลังเก่า มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เกี่ยวกับพุทธประวัติที่มีความงดงามยิ่ง
วัดพระนอน มีอุทยานมัจฉา
มีพระนอนเป็นพระพุทธรูปลักษณะแปลกคือ
ประทับนอนหงายขนาดองค์โตเท่าคนโบราณ มีลักษณะเหมือนกับพระพุทธรูปนอนที่เมืองกุสินารา
สถานที่ประนิพพานของพระพุทธองค์ในประเทศอินเดีย
วัดต่าง ๆ ที่เล่ามานี้ล้วนอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน ลงสะพานแล้วเลี้ยวขวาเรียงไปตามลำดับทั้งสิ้น
และหากเลี้ยวขวาก่อนขึ้นสะพาน เลาะริมน้ำไปเช่นกันจะมีอีกวัดหนึ่งคือ วัดสุวรรณภูมิ
มีพิพิธภัณฑ์ที่เก็บโบราณวัตถุและมีบาตร "สังคโลก" ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น
ทีนี้หากลงสะพานข้ามแม่น้ำแล้วเลี้ยวซ้ายมาตามถนนขุนช้างบ้าง ก็มีโบราณสถานที่สำคัญคือ
วัดประตูสาร
มีจิตรกรรมฝาผนัง พุทธประวัติ ฝีมือช่างหลวง และแปลกที่ยังมีจิตรกรรมที่เขียนไว้บนพื้นไม้เป็นแผ่น
ๆ เกี่ยวกับพุทธประวัติและมหาชาติ เหมือนลอกมาจากในโบสถ์ที่เป็นฝีมือช่างหลวงเก็บไว้ในวิหาร
วัดพระรูป
เกจิอาจารย์องค์สำคัญของสุพรรณบุรี ในปัจจุบันอยู่ที่วัดนี้ คือหลวงพ่อดี
วัดพระรูป วัดนี้มีพระพุทธรูปสำคัญปางไสยาสน์ ที่ชาวบ้านเรียกว่า เณรแก้ว
เป็นพระนอนที่ว่ากันกันว่าพระพักตร์งามที่สุด
กลับออกมายังถนนสาย ๓๒๑ หรือมาลัยแมนกันใหม่ เมื่อข้ามสะพานมาแล้ว หากตรงไปเลยจะผ่านศาลหลักเมือง
แยกขวาจากถนนเข้าไปหน่อยหนึ่ง ตรงต่อไปจะถึงวัดสำคัญคือ วัดป่าเลไลยก์
หรือวัดลานมะขวิด
ซึ่งในวิหารประดิษฐาน "พระป่าเลไลยก์"
องค์มหึมา พระพุทธรูปประทับนั่ง องค์ของท่านโตเกือบจะเต็มพระอุโบสถ ไปสุพรรณบุรีจะกี่ครั้งก็ตาม
หากเป็นชาวพุทธแล้วอย่าผ่านเลยไปเป็นอันขาด แวะกราบไหว้นมัสการหลวงพ่อโตวัดป่าองค์นี้ทุกครั้งจะเจริญ
ในตำนานพุทธเจดีย์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ว่า
"พระพุทธรูปป่าเลไลยก์องค์ใหญ่ที่เมืองสุพรรณบุรี เดิมก็สร้างแบบทวาราวดี
เป็นปางประทานปฐมเทศนา ครั้นนานมาหักพังมาปฏิสังขรณ์ในสมัยลังกาวงศ์ จึงแปลงเป็นพระป่าเลไลยก์..."
ในรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะวัดป่าเลไลยก์อีกครั้งหนึ่ง
จึงปรากฏเครื่องหมาย "พระมหามงกุฎอยู่ระหว่างฉัตรคู่"
ที่หน้าบันพระวิหารพระป่าเลไลยก์ องค์พระป่า ฯ สูงถึง ๒๓.๕ เมตร มีงานเทศกาลไหว้พระป่าปีละ
๒ ครั้ง คือวันขึ้น ๖ - ๘ ค่ำ เดือน ๑๒ และกลางเดือน ๕ ตอนสงกรานต์
วัดป่าในปัจจุบันได้รับการบูรณะงดงามไปหมดตั้งแต่หลังคาพระอุโบสถ หลังคาวิหารมาจนถึงพื้นดินเลยทีเดียว
เรียกว่าไม่ได้ไปมาหลายปี ไปเห็นแล้วแปลกตาแปลกใจจริง ๆ
แหล่งพาเที่ยวในอำเภอเมือง แหล่งสุดท้ายคงพาเที่ยวได้แค่นี้ เพราะเริ่มหิวข้าวแล้วจะต้องกลับไปกินที่ร้าน
กุ่ยหมง ที่บางปลาม้า ซึ่งตั้งใจเอาไว้ว่าวันนี้จะมากินกุ้งทอดเกลือ
แหล่งสุดท้ายคือไปสวนเฉลิมภัทรราชินี
ซึ่งมีหอบรรหาร - แจ่มใส อยู่ในสวนนี้ ทางไปสวนนั้นหาง่าย วนในเมืองฝั่งตะวันตก
(อย่าข้ามสะพาน) เดี๋ยวก็เจอป้ายบอกทางไปสวนเอง ป้ายมีแยะ เข้าไปในสวนเสีย
๑๐ บาท เรียกว่าค่าจอดรถก็แล้วกัน ภายในสวนงดงามด้วยไม้ดอก และไม้ประดับ หอบรรหาร
ตั้งอยู่กลางสวน มี ๔ ชั้น ค่าขึ้นหอกลางวัน ๓๐ บาท กลางคืนมองเห็นวิวสวยกว่า
ค่าขึ้น ๔๐ บาท ในหอคอยนี้ชั้นหนึ่งจำหน่ายของที่ระลึก และมีภาพวาดสีน้ำมันเล่าเรื่องในวรรณคดี
ขุนช้าง ขุนแผน ชั้นที่ ๒ ขายอาหาร ชั้นที่ ๓ ขายของที่ระลึก ชั้น ๔ ชมวิว
และสุดยอดของภาพจิตรกรรมที่เล่าประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชประดับไว้
เป็นภาพเขียนสีน้ำมันดูเหมือนจะมี ๘ ภาพ แต่ ๘ ภาพนี้เล่าพระราชประวัติได้เก่งมาก
เพียง ๘ ภาพก็ทราบถึงพระราชประวัติ ไม่ทราบว่าศิลปินใดเป็นผู้วาด ภาพวาดงดงามมาก
ไปเมืองสุพรรณบุรีในปัจจุบันต้องไปขึ้นหอ ท่านบรรหารให้จงได้ ไม่งั้นถือว่าไม่ถึงเมืองสุพรรณบุรีเอาเลยทีเดียว
จบแล้วนำเที่ยวอำเภอเมืองสุพรรณบุรี พาชมได้แค่นี้หมดแล้วค่อนวัน กลับมาตามเส้นทางเดิมพอถึงกิโลเมตร
๘๖.๕ โดยประมาณ ก็เลี้ยวขวากลับเข้าอำเภอบางปลาม้า (ผมไปกินก่อนแล้วย้อนกลับมาจ่าย
ของฝากที่ศูนย์ของดี ที่ตรงหลักกิโลเมตร ๙๐ และมาวัดโพธิ์คอย) พอแยกเข้าอำเภอบางปลาม้าได้สัก
๒๐๐ เมตร ทางขวามือมีตึกแถว ๓ ชั้น ร้านอาหารเก่าแก่น่าจะที่สุดในเมืองสุพรรณบุรี
(เปิดร้านมาตั้งแต่รุ่นปู่ ๗๙ ปีแล้ว) ร้านกุ่ยหมง ย้ายมาจากข้างใน เหมือนทางฝั่งซ้ายก็มีร้านแม่บ๊วย
ซึ่งผมเคยเขียนไว้สัก ๑๕ ปีมาแล้ว แต่เขียนเรื่องขนมสาลี่ สาลี่เมืองสุพรรณ
มีเอกชัย และแม่บ๊วย ร้านกุ่ยหมง กว้างขวางนั่งสบายสะอาด ไปร้านนี้ต้องตั้งใจไว้ก่อนว่าจะไปกินกุ้งแม่น้ำ
ซึ่งราคาของกุ้งแม่น้ำนั้นค่อนข้างสูง เป็นราคามาตรฐานเลยทีเดียวคือ ประมาณ
กก.ละ ๘๐๐ บาท แต่ร้านกุ่ยหมงไม่ขายเป็นกิโลกรัม คัดเอามาทำอาหารขายเป็นตัว
เขาจะบอกหรือถามว่าเอาขนาดตัวละเท่าใด กุ้งแม่น้ำตัวโตทั้งสิ้น มีราคา ๒๐๐
,๔๐๐ และ ๕๐๐ บาท ผมสู้ที่ราคาตัวละ ๔๐๐ บาท คนละหนึ่งตัว ตามด้วยต้มยำปลาม้า
อิ่มแปล้เลยทีเดียว อาหารอย่างอื่น อร่อย ถูก
ต้องสั่งคือ "กุ้งทอดเกลือ" เรียกว่าเป็นสูตรประจำตระกูลของเขา สูตรในการทอดเกลือเขาจะใช้น้ำมันน้อยมาก
ทอดด้วยไฟอ่อนจนมันกุ้งเริ่มไหลออกมาเป็นน้ำมัน เมื่อยกมานั้นยังร้อน ๆ กุ้งทอดจะลอยตัวมาบนมันกุ้งสีเหลืองอ่อน
จงเอามันกุ้งสีอ่อนนั้นมาคลุกข้าว กินกันแบบไทย ๆ ต้อง " คลุก " จึงจะเด็ด
มันกุ้งคลุกข้าวร้อน ๆ เติมด้วยน้ำปลาพริกเสียก่อนในคำแรก ต่อจากนั้นส่งเข้าปาก
ซดต้มยำ "ปลาม้า" ตามเข้าไปอร่อยเหลือ ร้านนี้มักจะมีอาหารที่แนมด้วยกระเทียมโทนด้วย
กินกุ้งแนมด้วยกระเทียมโทน ซดต้มยำ พอคำที่สอง ผมทำอย่างเก่า มันกุ้งคลุก
เนื้อกุ้งแน่น แต่เหยาะด้วยน้ำส้มรสพิเศษของร้านเข้าปากซดต้มยำ
----------------------------------
|