ย่านประวัติศาสตร์
อาคารย่านท่าหลวง
ย่านท่าหลวงเป็นชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำจันทบุรี อาคารส่วนใหญ่เป็นที่พักอาศัยและร้านค้า
ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอายุกว่าร้อยปี ลักษณะเป็นตึกแถวโบราณมีลวดลายไม้จำหลักงดงาม
อยู่ตามบานประตู หน้าต่าง และมุมอาคาร เพราะชาวจันทบุรีได้รับอิทธิพลจากการติดต่อค้าขายกับชาวต่างประเทศในสมัยนั้น
ลักษณะการฉลุลายของช่างฝีมือชาวจันทบุรี มีเอกลักษณณ์ไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะการจำหลักฉลุช่องลมเป็นภาพจำหลักนูนรูปหัวพยัคฆ์
สอดแทรกอยู่ตามกิ่งเครือเถา หรือความคมของลายที่แฝงไว้ด้วยความอ่อนช้อยของลายจำหลัก
รูปปั้นอนุสาวรีย์
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ชาวจันทบุรีมีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทรงกอบกู้อิสรภาพจากพม่า
และในระหว่างที่พระองค์ทรงรวบรวมกำลังเพื่อกอบกู้บ้านเมืองนั้น ทรงใช้เมืองจันทบุรีเป็นฐานที่มั่นสำคัญ
ชาวจันทบุรีจึงได้ร่วมก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสาวรีย์สองแห่งคือ
พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนสาธารณทุ่งนาเชย
อำเภอเมือง ฯ เป็นพระบรมรูปทรงม้าพระที่นั่งออกศึก ขนาดสองเท่าครึ่งของพระองค์จริง
รอบพระบรมรูปเป็นนายทหารคนสนิทสี่คนคอยอารักขาอยู่ทั้งสี่ด้าน
พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ ค่ายตากสินมหาราช
เป็นพระบรมรูปอยู่ในท่าทรงพระแสงดาบบัญชาการรบ
พระอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระอนุสาวรีย์เป็นรูปปิรามิดด้วยแผ่นอิฐ
เพื่อบรรจุพระอังคารสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เนื่องจากเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๑๗ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา ฯ เคยเสด็จมา ณ ที่ปิรามิดอนุสรณ์นี้
ต่อมาพระอนุสาวรีย์ทรุดโทรมมาก ทางจังหวัดจันทบุรีและกรมศิลปากรร่วมกันบูรณะขึ้นใหม่ตามแบบเดิม
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
แต่แผ่นหินอ่อนที่จารึกข้อความไว้ได้สูญหายไปแล้ว
สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
พระแสงราชศัสตราประจำเมือง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระแสงราชศัสตรา ประจำมณฑลจันทบุรี
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ และได้มีพระราชดำรัสดังนี้
"บัดนี้เมืองจันทบุรีได้เป็นเมืองใหญ่ในมณฑลภาคฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งรัฐบาลของเราได้คิดให้บำรุงให้เจริญดียิ่งขึ้น
เราขอเตือนเจ้าทั้งหลาย ให้ตั้งหน้าทำมาหากิน และประพฤติตนให้สมควรแก่ความชอบธรรมซึ่งควรปฎิบัติ
และขอให้มีความไว้วางใจในตัวเราว่า จะเป็นผู้ชื่นชมยินดี ในเวลาที่เจ้ามีความสุขสมบูรณ์มั่งคั่ง
และจะเป็นผู้เดือดร้อนกระวนกระวายในเวลาที่เจ้าทั้งหลายต้องภัยได้ทุกข์โดยอันใช่เหตุ
ในเวลานี้เราขอแสดงความไว้วางใจว่า ข้าราชการทั้งหลายคงจะได้ทำหน้าที่เพื่อจะทะนุบำรุงให้เจ้าทั้งหลายมีความสุขสมดังปรารถนาของเรา"
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษาถิ่นจันทบุรี
ภาษาที่ชาวจันทบุรีใช้พูดกันเป็นภาษาไทยที่ใช้พูดในภาคกลางทั่ว ๆ ไป แต่สำเนียงและหางเสียงผิดเพี้ยนกันไป
เป็นสำเนียงของชาวจันทบุรีโดยเฉพาะ นอกจากนั้นสำเนียงในแต่ละท้องถิ่นยังผิดเพี้ยนกันไปอีกมากน้อยต่างกัน
ภาษาชองชาวชองพูดภาษาของตนเอง ไม่มีภาษาเขียนไม่มีการจดบันทึกทางประวัติศาสตร์
จังหวัดจันทบุรีมีชาวชองอาศัยอยู่มากกว่าจังหวัดอื่น ส่วนมากอยู่ในอำเภอโป่งน้ำร้อน
และอำเภอมะขาม
ตำนานต่าง ๆ
ในเขตจังหวัดจันทบุรี มีตำนานอยู่หลายเรื่องด้วยกัน พอประมวลได้ดังนี้
ตำนานเมืองจันทบุรี
เป็นตำนานเรื่องเมืองกาไว และพระนางกาไว มีความว่า กษัตริย์ผู้ครองนครโบราณเป็นเมืองที่เชิงเขาสระบาป
(เมืองดั้งเดิมของจันทบุรี) องค์หนึ่งพระนาม พระเจ้าพรหมทัตมีโอรสกับมเหสีสององค์
องค์พี่พระนามว่า พระไวยทัต และองค์น้องพระนามว่า พระเกตุทัต ต่อมาพระมเหสีสิ้นพระชนม์
พระองค์ได้ทรงอภิเษกพระมเหสีองค์ใหม่พระนาม พระนางกาไว
มีโอรสด้วยกันอีกหนึ่งองค์
พระนางกาไว ประสงค์จะให้โอรสของพระนางได้ครองราชสมบัติ จึงได้ทูลขอให้พระเจ้าพรหมทัตส่งโอรสของมเหสีเดิม
ทั้งสององค์ออกไปสร้างเมืองอยู่ในท้องที่กันดารทางเหนือแดนต่อแดน (เขตอำเภอโป่งน้ำร้อน)
พระเจ้าพรหมทัตทรงยอมตาม ต่อมาเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต พระนางกาไวจึงสถาปนาโอรสของพระนางขึ้นเป็นกษัตริย์
และพระนางเป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะราชบุตรยังเยาว์วัยอยู่
ต่อมาพระไวยทัต และพระเกตุทัต โอรสมเหสีเก่ารู้เรื่องพระบิดาสวรรคต และพระนางกาไวขึ้นครองเมืองจึงยกกำลังมาเพื่อชิงเมืองคืน
แต่สู้ไม่ได้ต้องถอยกลับไปและขอกำลังจากกษัตริย์ขอม ซึ่งประทับอยู่ ณ นครธม
มาช่วยโดยสัญญาว่าเมื่อได้เมืองแล้วจะแบ่งเมืองให้ กษัตริย์ขอมก็ส่งกำลังกองทัพมาช่วย
กองทัพยกมาตั้งพลับพลาพักกำลังพลอยู่นอกเมือง ตำบลนี้จึงเรียกว่า ตำบลพลับพลา
จนถึงปัจจุบัน
กองทัพพระไวยทัต และขอมเข้าตีเมืองจันทบุรีได้ พระนางกาไวขนพระราชทรัพย์ขึ้นหลังช้างที่เพนียด
(ปัจจุบันเป็นวัดเพนียดร้าง) เปิดประตูเมืองด้านทิศใต้หนีไป พระไวยทัตส่งกำลังตามไป
พระนางกาไวเห็นว่าจวนตัวจึงเอาทองและเพชรพลอย ออกหว่านเพื่อล่อให้ทหารฝ่ายพระไวยทัตมัวพะวงเก็บสมบัติ
แล้วพระนางก็รีบลงเรือแล่นหนีไป สถานที่ที่พระนางกาไวหว่านทองคำ เรียกว่า
ทองทั่ว
ปัจจุบันมีชื่อ วัดทองทั่ว ตั้งอยู่
ตำนานอำเภอมะขาม
ตำนานอำเภอมะขาม มาจากคำที่กลายเสียงมาจากคำว่า มาขาม
คือ ในสมัยก่อนผู้คนที่ไปค้าขายกับเมืองไพลิน ประเทศเขมร ผ่านมาแถบนี้ซึ่งมีบ้านคนเพียงไม่กี่บ้าน
เป็นป่าไม้และมีไข้ป่าชุกชุม ทำให้น่ากลัว น่าเกรงขาม คำว่า ขาม แปลว่า กลัว
ชื่อมะขามก็มาจากมาขาม
เดิมอำเภอมะขาม ตั้งอยู่ที่บ้านท่าหลวง เพราะแต่ก่อนการเดินทางไปมาต้องอาศัยทางน้ำ
ซึ่งเปลี่ยนสภาพมาจากด่านเก็บภาษี เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๒ ได้เปลี่ยนแปลงจากด่านเป็นอำเภอท่าหลวง
แต่เนื่องจากความไม่สะดวกในการตรวจด่านเก็บภาษี จึงมีดำริให้ย้ายอำเภอไปตั้งที่มะขาม
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๔๓ แต่ยังเรียกอำเภอท่าหลวงอยู่เหมือนเดิม ต่อมาเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๖๐ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอมะขาม
ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง)
มีประวัติอยู่ว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๗ นายติ่งและคณะได้ขึ้นไปบนเขาเพื่อหาไม้กฤษณา
และไม้กะลำพัก มาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่บนเขาเป็นเวลาหลายวัน และได้ไปพักบนลานหินกว้างใหญ่
พบพื้นที่เป็นรูปก้นหอย ต่อมานายติ่งได้ไปปิดทองรอยพระพุทธบาท ที่วัดพลับแล้วพูดว่า
รอยพระพุทธบาทเช่นนี้ที่บ้านตนก็มีเหมือนกัน เจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร)
ทราบจึงเรียกนายติ่งมาสอบถาม แล้วพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ ก็เห็นเป็นจริง รอยพระพุทธบาทอยู่บนแผ่นหินใหญ่บนยอดเขาสูงสุด
กว้าง ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก
เรียกกันว่า หินลูกพระบาท
และยังมีหินอีกลูกหนึ่งใหญ่มากเหมือนกัน อยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ มีรอยพระหัตถ์ไปรับก้อนหินนี้
จากรอยพระพุทธบาทพบรอยพระหัตถ์นั้น ห่างกันประมาณ ๕ เมตร ตรงข้ามกับรอยพระหัตถ์ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่เรียกว่า
รอยเท้าพญามาร สูงประมาณ ๑๕ เมตร มีหินลูกข้างบนเป็นลาน และมองเห็นรอยรถ หรือรอยล้อเกวียน
เมื่อยืนบนหินลูกนั้นแล้วมองไปทางทิศเหนือ จะเห็นถ้ำหนึ่งบนหลังถ้ำมองเห็นเป็นรูปเต่า
จึงเรียกว่า ถ้ำเต่า เมื่อมองไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จะมองเห็นถ้ำช้าง
เพราะมีหินก้อนหนึ่งรูปลักษณะคล้ายช้าง มองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จะเห็นถ้ำสำเภา
เพราะมีหินก้อนหนึ่งบนถ้ำ มีรูปลักษณะคล้ายสำเภา และยังมีถ้ำตาฤาษีอยู่ใต้พระพุทธบาท
ตามเรื่องในพระพุทธศาสนาเขาคิชฌกูฏ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์
มีคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าอยู่บนยอดเขา ด้วยเหตุนี้พระครูธรรมสรคุณ
จึงได้เสนอใช้ชื่อพระบาทเขาคิชฌกูฏ
ตำนานแหล่งพลอยจันทบุรี (แม่พลอย)
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า แต่เดิมเมืองจันทบุรีไม่มีพลอย อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านเห็นแสงโชติช่วงเป็นดวงระยิบระยับ
ลอยพุ่งตกลงที่เขาพลอยแหวน เมื่อไปดูได้พบวัตถุมีรัศมีเป็นประกายสีเขียวอยู่ในหลุมซึ่งเชื่อกันว่าเป็นแม่พลอย
จึงทำการบูชากันอย่างเอิกเกริก แต่พอจะจับแม่พลอย แม่พลอยก็มีปาฏิหาริย์ลอยหนีไป
บรรดาลูกพลอยจำนวนมากก็ลอยไปด้วย เล่ากันว่าถ้าใครเอาหม้อ ไห กะละมัง ครอบไว้ได้ทันในตอนนั้น
ก็จะได้เม็ดพลอย ส่วนลูกพลอยที่หนีไม่ทันก็ตกหล่นจมดินไปทั่วบริเวณ กลายเป็นพลอยหลากสีที่จมอยู่ใต้ดินจนถึงปัจจุบัน
ตำนานเขาบายศรี มีเรื่องเล่าว่า
นานมาแล้ว ภูเขาบายศรียังไม่มีชื่อเรียก ชาวบ้านที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงยังมีอยู่ไม่กี่หลังคาเรือน
ในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เวลากลางคืน มักได้ยินเสียงคล้ายเสียงดนตรีลอยมาจากภูเขาลูกนี้
จนคืนหนึ่ง เทวดาที่สิงสถิตอยู่บนเขาลูกนี้ได้มาเข้าฝันชาวบ้านคนหนึ่ง ซึ่งต้องการทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระธุดงค์
แต่ขาดถ้วยชามภาชนะที่สวยงาม ว่าให้ไปที่ภูเขาลูกนี้แล้วจุดธูปอธิษฐานที่หน้าถ้ำเพื่อขอยืมถ้วยชามที่สวยงามจากเทวดา
ปากถ้ำก็จะเปิดออก เมื่อเสร็จงานแล้วให้เอาไปคืนที่เดิม ชาวบ้านผู้นั้นก็ทำตามในฝัน
ก็ได้ผลตามที่ฝันทุกประการ เพื่อนบ้านคนหนึ่งรู้เรื่องเข้าก็เกิดความโลภอยากได้บ้าง
จึงไปทำตามวิธีดังกล่าว เมื่อได้ถ้วยชามเป็นจำนวนมากมาแล้วไม่ยอมส่งคืน พอถึงคืนเพ็ญสิบห้าค่ำ
ก็มีเสียงดนตรีดังมาจากภูเขาลูกนี้อีก เพื่อนบ้านคนที่ไม่ยอมคืนถ้วยชาม ได้ยินแล้วเหมือนเสียงเรียกร้องให้เอาของไปคืน
วันรุ่งขึ้น ชาวบ้านคนดังกล่าวก็ทำบายศรีและเครื่องเซ่นสรวงบูชาอื่น ๆ แล้วนำถ้วยชามไปที่ปากถ้ำบนเขา
ตั้งบายศรี จุดธูปขอสมาลาโทษ และขอคืนถ้วยชามที่ยืมไป ปากถ้ำก็เปิดออก เมื่อคืนถ้วยชามเสร็จก็พากันกลับบ้านด้วยความเรียบร้อย
ยังมีชาวบ้านอีกคนหนึ่งทราบเรื่องนี้จึงไปจุดธูปอธิษฐานขอยืมถ้วยชามบ้าง แต่ประตูปากถ้ำก็ไม่เปิดออกมาอีกเลย
คงเห็นแต่บายศรีตั้งเด่นอยู่ จึงพากันเรียกภูเขาลูกนี้ว่า เขาบายศรี ต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันสร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นก็๋ตั้งชื่อว่า
วัดเขาบายศรี
ต่อมาเมื่อมีพลเมืองเพิ่มมากขึ้นก็ได้รับการตั้งเป็นตำบลชื่อ ตำบลเขาบายศรี
ตำนานเขาตาหม่อน
เขาตาหม่อนเป็นภูเขาลูกเล็ก ๆ อยู่ที่บ้านทะเล ติดต่อกับบ้านวังกระแพร ตำบลทับไทร
อำเภอโป่งน้ำร้อน มีเรื่องเล่ากันว่า ถ้ำบนเขาตาหม่อนมีถ้วยชามเก่า
ๆ สวยงามอยู่เป็นจำนวนมาก คนในหมู่บ้านทะเลเคยไปขอยืมจากเจ้าที่เจ้าทางมาใช้สอย
เมื่อใช้เสร็จก็นำไปคืน
ในคืนเดือนเพ็ญขึ้นสิบห้าค่ำ บางครั้งจะได้ยินเสียงคล้ายดนตรีไพเราะดังมาจากถ้ำจนเป็นที่เล่าลือกันว่าในถ้ำดังกล่าวมีเมืองลับแลอยู่ด้วย
และในวันตรุษสงกรานต์จะมีหนุ่มสาวแต่งตัวสวยงามผิดจากชาวบ้าน ออกจากถ้ำมาเล่นสงกรานต์และเล่นสะบ้ากับชาวบ้าน
เป็นที่รู้กันในหมู่ชาวบ้านว่า ห้ามซักถามหนุ่มสาวเหล่านั้นว่ามาจากที่ใดหรือถามเรื่องอื่นใด
ถ้ามีใครพูดเล่นโกหกแบบทีเล่นทีจริง หนุ่มสาวเหล่านั้นจะกลายเป็นเสือโคร่งลายพาดกลอนกระโดดหนีไป
เพราะเขาเหล่านั้นไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นเสือสมิงอีกประการหนึ่ง นิสัยของคนเมืองลับแลจะไม่พูดโกหกกัน
ต่อมาคนในหมู่บ้านทะลุเหลือน้อยลงมาก เพราะพากันย้ายไปอยู่บ้านอื่น
ส่วนถ้วยชามภายในถ้ำ ภายหลังได้เสื่อมสูญไป เพราะมีผู้ยืมไปแล้วไม่นำมาคืน
ยังคงเหลือเศษถ้วยชามแตกอยู่บ้าง
ตำนานสระแก้ว
สระแก้วเป็นชื่อหมู่บ้านในตำบลเขาพลอยแหวน อำเภอท่าใหม่ มีวัดประจำหมู่บ้านชื่อวัดสระแก้ว
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาคือ
มีภูเขาเตี้ย ๆ อยู่ลูกหนึ่ง บนยอดเขามีสระน้ำมีน้ำใสสะอาดเย็นดื่มแล้วชื่นใจ
มีสองตายายปลูกเรือนอาศัยอยู่ที่ตีนเขาเป็นคนยากจน อาศัยเก็บผักฟืนขายหรือแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารจากชาวบ้าน
สองตายายเป็นโรคเรื้อน
อยู่มาวันหนึ่ง ตาไปล่ากระต่าย ได้ติดตามรอยเลือดไปจนถึงยอดเขา พบว่ากระต่ายกระโดดลงไปในสระน้ำดังกล่าว
เมื่อขึ้นจากสระ บาดแผลก็หายแล้ววิ่งหนีไปอย่างรวดเร็ว เหมือนไม่ได้รับบาดเจ็บมาก่อน
ตาเห็นแปลกจึงลงไปแช่น้ำในสระ เมื่อขึ้นมาจากสระ บรรดาแผลที่เกิดจากโรคเรื้อนได้หายไปหมด
ก็ดีใจรีบกลับมาบอกยาย เมื่อยายไปอาบน้ำในสระ แผลจากโรคเรื้อนก็หายไปสิ้น
เมื่อข่าวการหายจากโรคเรื้อนของตายาย จากการได้อาบน้ำในสระดังกล่าว แพร่กระจายออกไป
เมื่อเจ้าเมืองรู้ข่าวก็มาดู และพิสูจน์เห็นจริง จึงได้รายงานไปยังเมืองหลวงว่า
ได้พบสระน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ต่อมาทางราชสำนักได้กำหนดให้น้ำจากสระแห่งนี้
เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์สำหรับทำเป็นน้ำเทพมนตร์
ร่วมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแห่งอื่น ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อใช้ในพระราชพิธีมุรธาภิเษก
หรือพิธีอื่นที่เกี่ยวกับน้ำ เช่น น้ำที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นต้น
สระน้ำแห่งนี้ยังมีน้ำอยู่ มีชื่อว่าสระแก้ว บางคนกล่าวว่าเพราะมีน้ำใสประดุจแก้ว
บางคนก็ว่าในสระเคยมีแก้วรัตนชาติอยู่ แต่ปัจจุบันสูญสิ้นไปแล้ว
วรรณกรรม
วรรณกรรมที่เกี่ยวกับเมืองจันทบุรี พอประมวลได้ดังนี้
พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่องเสด็จประพาสต้นจันทบุรี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองจันทบุรีหลายแห่ง เช่น น้ำตกพลิ้ว น้ำตกสระบาป
เขาพลอยแหวน เนินวง ฯลฯ พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสจันทบุรีไว้
ทำให้ทราบว่า จันทบุรีในอดีตนั้นเป็นอย่างไร การเสด็จประพาสสถานที่ต่าง ๆ
ค่อนข้างลำบากมาก เช่น การเสด็จประพาสน้ำตกพลิ้ว เรือพระที่นั่งต้องจอดอยู่ที่ปากน้ำแหลมสิงห์
และทรงลงเรือโบตมาตามลำน้ำจันทบุรี แยกเข้าคลองพลิ้วแล้วเข้าคลองยายดำ จนถึงวัดท่าเรือ
จากนั้นได้ทรงม้าผ่านไร่นาจนเข้าเขตบ้านชากชะอม แล้วเข้าป่าจนถึงเชิงเขาสระบาปไปจนถึงน้ำตกพลิ้ว
พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำประพันธ์ชมน้ำตกพลิ้วไว้บางตอนดังนี้
น้ำพุดุดั้นยอด
บรรพต |
กระทบเหลี่ยมศิลาลด
ล่มพื้น |
ขาวดังกษิรรศ
รินร่วง โรยแฮ |
พร่างพร่างละอองชื้น
เช่นน้ำสุคนธ์โปรย |
ฯลฯ
|
ชลธารปานน้ำทิพย์
มาโปรย สรงฤา |
เสียวแต่นามชวนโหย
ละห้อย |
เรียกพลิ้วโอ๊ยอกโอย
ฉวยบิด เบียนนา |
แม้ว่าบิดพลิ้วน้อย
หนึ่งแล้วจำตาย |
วสันตดิลกฉันท์
|
ปางเสด็จประพาสสิขรแนว
นวาพฤกษราวไพร |
นานาคณารุกขประไพ
ก็คะครึกคะครื้นเย็น |
ธารพลิ้วก็ดั่งสลิละคลา
ปะทะผากระโจนเป็น |
หวังหวังนทีก็พุกระเซ็น
กลเหมอุทกโรย |
ฯลฯ
|
งามธารชโลทกะประเทศ
วนะใดจะเจาะจง |
มาเปรียบเทียบก็บ่มิคง
บมิ คู่จะควรเคียง |
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๙ พระองค์ได้เสด็จประพาสน้ำตกสระบาป (น้ำตกคลองนารายณ์) การเดินทางค่อนข้างลำบาก
จากเรือพระที่นั่ง ทรงลงเรือโบตเข้าปากคลองพลิ้ว ขึ้นมาตามแม่น้ำจันทบุรี
ถึงพลับพลาที่บ้านวังหินแล้วประทับม้าผ่านท้องทุ่ง เรือกสวนไร่นา ผ่านบ้านเพนียด
วัดเนินสูง บ้านสระบาปหรือบ้านคลองนารายณ์มาถึงพลับพลาเชิงเขาแล้วขึ้นเขาชัน
พระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำประพันธ์เกี่ยวกับน้ำตกสระบาปไว้บางตอนคือ
สระบาปแต่ก่อนสร้าง ปางใด |
สระบ่สระทรวงใน
สร่างสร้อย |
สระสนานยิ่งอาลัย
นุชนาฎ |
สระชวยสระบาปน้อย
หนึ่งให้สบนาง |
นิราศหลวงบุรุษประชาภิรมย์
หลวงบุรุษ ฯ ได้เขียนนิราศระยะทางตั้งแต่เมืองจันทบุรีถึงกรุงเทพ ฯ ไว้เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๑๘ นับว่าเป็นวรรณกรรมเก่าแก่ ที่เกี่ยวกับจันทบุรี มีความบางตอนดังนี้
นิราศร้างทางจรนครหลวง
|
พิงสู่สมชมชิดสนินทรวง
จะเลยล่วงลับนาฎสวาทนาง |
เพราะจมจิตบิดรสุทรใช้
ครั้นแก้ไขผ่อนผัดก็ขัดขวาง |
ด้วยกำเนิดเกิดเกล้าใช่เบาบาง
ต้องถือทางเที่ยงธรรมกตัญญู |
เดือนสี่เช้าเสาร์เพ็งมะเสงศก
ห้าโมงหกบาทคลาเคลื่อนราหู |
เข้าสูญสองต้องตำรับฉบับครู
กำหนดสู่กรุงเทพมหานคร |
เรือเข้าเทียบเพียบสินค้าแลอาหาร ชักใบก้านธงทิวปลิวสลอน |
เสียงม้าฬ่อรอเวลาจะคลาจร
สั่งสมรเสด็จสรรพรับกลับมา |
ฯลฯ
|
คอยกล้ำกลืนผืนเผือดูเรือล่อง จะออกช่องเกาะจุฬาแก่แสยง |
คลื่นกำเริบเติบโตชะโลแรง
สายน้ำแทงทวนเชี่ยวแลบ่เลี้ยวมา |
ถึงแหลมสิงห์สิงขรชะง่อนงอก
ที่โตรกตรอกเขาเขินเป็นเนินผา |
มีหินขาวยาวใหญ่ใกล้ชะลา
ทัศนาเพริดพริ้วเหมือนสิงโต |
ฯลฯ
|
เลียบออกอ่าวดาวเคลื่อนเดือนสว่าง
ถึงแถวทางท้ายจำเปรียวเลียวเสม็ด |
พอฝนหยุดสุดสาดลงขาดเม็ด
วิ่งระเห็ดปล่อยปร๋อไม่รอรา |
ฯลฯ
|
เขาพลอยแหวนเดินระยะเขาสระบาป
แหลมสิงห์ราบแลกะบ่มดังตุ่มไห |
เกาะนมสาวอ่าวสุกรข้างดอนใน
แลออกไปนอกจรัญจันทบุรี |
เห็นเกาะช้างกลางชลาอาณาเขตร์
แถวนิเวศตราษแถวกระแสศรี |
เป็นจังหวัดจัตวาฝ่ายธานี
ละเมาะมีนอกมหาชลาไลย |
ฯลฯ
|
|