มรดกทางพระพุทธศาสนา
วัดธรรมาวุธสรณาราม
อยู่ที่บ้านคลองเสียด กิ่งอำเภอเหนือคลอง เป็นวัดเก่าแก่วันหนึ่งของเมืองกระบี่และของชุมชนที่อยู่บริเวณค่ายปกาไส
มาตั้งแต่สมัยพระปลัดเมืองนครศรีธรรมราช มาตั้งเพนียดจับช้าง เดิมชื่อวัดบ่อพอ
เป็นการตั้งชื่อตามสภาพของสิ่งแวดล้อมเดิม ภายในวัดมีบ่อน้ำบ่อหนึ่งอยู่ใกล้กับตอไม้หลุมพอ
จึงได้ชื่อว่าวัดบ่อพอ น้ำในบ่อนี้มีอยู่ตลอดปี เพียงพอกับการใช้ของชาวบ้านทุกฤดูกาล
วัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดธรรมาวุธสรณาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ที่วัดมีพระพุทธรูปหินอ่อนศิลปะพม่า
มีประวัติเล่าสืบกันมาว่า มีสองสามีภรรยาอยู่ที่บ้านเหนือคลอง เป็นคหบดีมีเรือสำเภา
เดินเรือค้าขายระหว่างเมืองกระบี่กับสิงคโปร์ พม่า เป็นสินค้าประเภท วัว ควาย
ถ่าน และพืชผลทางเกษตรกรรม ได้ซื้อพระพุทธรูปหินอ่อนมาจากพม่าสององค์
ขนาดหน้าตักกว้าง ๔๙ นิ้วองค์หนึ่ง และ ๓๐ นิ้วอีกองค์หนึ่ง บรรทุกเรือมาขึ้นที่บ้านท่าม่วง ในตัวเมืองกระบี่
แล้วใช้เรือแจวสองลำผูกไม้ขนานกัน บรรทุกพระพุทธรูปมาขึ้นที่ท่ากรวด
บ้านเหนือคลอง แล้วขอแรงชาวบ้าน ชักลากพระองค์ใหญ่อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดบ่อพอ
ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดท่านุ่น ต่อมาวัดท่านุ่นร้างลง
ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดโพธิเลื่อน อำเภอเขาพนม
วัดไสไทย
อยู่ที่บ้านไสไทย ตำบลไสไทย อำเภอเมือง ฯ ตัววัดตั้งอยู่บนที่ดอน มีภูเขาล้อมอยู่สามด้าน
อยู่ไม่ห่างจากทะเลมากนัก สภาพเดิมน้ำทะเลท่วมถึง วัดใช้โพรงถ้ำเป็นที่พำนักสงฆ์
และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ มีรอยพระพุทธบาทจำลองถูกทิ้งร้างอยู่หนึ่งรอย
โพรงถ้ำที่ตั้งวัดมีร่องรอยเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ
พระพุทธรูปปางโปรดสุรินทราหู เป็นพระนอนยาว ๑๖ เมตร เจ้าอาวาสรูปที่
๔ ได้สร้างขึ้นเพื่อสอนคนให้รู้จักการละทิฐิ ไม่หลงตัวเองดังเช่นอสุรินทราหู
ซึ่งคิดว่าตนเป็นผู้ที่มีฤทธิ์อำนาจมาก คิดว่าพระพุทธเจ้าคงต้องเกรงกลัวตน
พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของอสุรินทราหูด้วยพระญาณ จึงลงบรรทมนิมิตให้อสุรินทราหูได้เห็นพระองค์ว่ามีความใหญ่โตกว่าอสุรินทราหูเป็นอันมาก
ทำให้อสุรินทราหูได้สำนึกลดทิฐิลง และตั้งใจสดับพระธรรมเทศนาของพระองค์
ถ้ำพระ
|
อยู่ที่บ้านเขาพระ ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก เป็นถ้ำที่อยู่ในภูเขาซึ่งตั้งอยู่กลางที่ราบเพิงผาและโพรงถ้ำ
แบ่งออกเป็นสองตอน เป็นด้านนอกและด้านใน มีช่องทะลุออกไปทางด้านหลังได้
เดิมถ้ำนี้มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่องค์หนึ่ง ไม่ทราบว่าสร้างเมื่อใด
ต่อมาได้มีผู้สร้างพระพุทธรูปขนาดเท่ากันขนาบข้างไว้อีก ๒ องค์
จากประวัติที่เล่าสืบกันมาว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้สร้างขึ้นมาพร้อม
ๆ กับการสร้างพระบรมธาตุเมืองนคร ฯ ผู้มีจิตศรัทธาได้รวมรวมทรัพย์สินเงินทอง
จะไปสร้างพระบรมธาตุ ฯ แต่ไปไม่ทันพระบรมธาตุ ฯ ได้สร้างเสร็จแล้วจึงได้พร้อมใจกันสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น
พร้อมกับฝังทรัพย์สินเงินทองไว้อีกส่วนหนึ่งด้วย |
|