จังหวัดลำปาง
จังหวัดลำปาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ตอนกลางของภาคเหนือ พื้นที่ของจังหวัดล้อมรอบด้วยภูเขา
บริเวณตอนกลางเป็นแอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือ จดกับจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา จุดเหนือสุดอยู่ที่ตำบลวังแก้ว
อำเภอวังเหนือ
ทิศตะวันออก จดกับจังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ และจังหวัดสุโขทัย จุดตะวันออกสุดอยู่ที่ตำบลบ้านแหง
อำเภองาว
ทิศใต้ จดกับจังหวัดตาก และจังหวัดสุโขทัย จุดใต้สุดที่ตำบลเวียงมอก
อำเภอเถิน
ทิศตะวันตก จดกับจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จุดตะวันตกสุดอยู่ที่ตำบลแม่พริก
อำเภอแม่พริก
จังหวัดลำปางมีรูปร่างเป็นรูปรียาวตามแนวเหนือใต้ เป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ปานกลาง
มีพื้นที่เป็นอันดับสามของภาคเหนือ รองลงมาจากจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน
และใหญ่เป็นอันดับสิบของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาที่ราบสูง และที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง สภาพพื้นที่เป็นแอ่งคล้ายกะทะ
มีทิวเขาผีปันน้ำกั้นขวางทิศทางลมมรสุม จึงทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดทั้งปี
ภูเขาที่สำคัญ
ภูเขาผีปันน้ำ
สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร ส่วนหนึ่งอยู่ในเขตอำเภอวังเหนือ เป็นแนวกั้นเขตแดนระหว่าง
จังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงราย
ภูเขาขุนตาล
เป็นทิวเขากั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดลำพูน มีอุโมงค์ทางรถไฟสายเหนือลอดภูเขาขุนตาล
เป็นระยะทางยาวประมาณ ๑,๓๕๒ เมตร
ภูผาจ้อ
สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒,๓๑๒ เมตร เป็นทิวเขากั้นเขตแดนระหว่างจังหวัดลำปางกับจังหวัดเชียงใหม่
แม่น้ำที่สำคัญ
แม่น้ำวัง
มีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และอำเภอวังเหนือ ไหลมาทางใต้ผ่านอำเภอวังเหนือ
อำเภอเมือง ฯ อำเภอเกาะคา อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน และอำเภอแม่พริก แล้วไหลเข้าจังหวัดตาก
ไปบรรจบกับแม่น้ำปิงที่เหนือบ้านปากวัง อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ช่วงที่แม่น้ำวังไหลผ่านเขตจังหวัดลำปาง
มีความยาวประมาณ ๓๘๒ กิโลเมตร
แม่น้ำตุ๋ย
มีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอเมืองปาน ไหลไปบรรจบแม่น้ำวังในเขตอำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ
๖๐ กิโลเมตร
แม่น้ำยาว
มีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอเมืองยาว ไหลผ่านอำเภอห้างฉัตร อำเภอเกาะคา ไหลไปบรรจบแม่น้ำวังในเขตอำเภอเกาะคา
มีความยาวประมาณ ๓๘ กิโลเมตร
แม่น้ำจาง
มีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภองาว ไหลผ่านอำเภอแม่ทะ แม่เมาะ และมาบรรจบแม่น้ำวังที่อำเภอเกาะคา
มีความยาวประมาณ ๑๒๗ กิโลเมตร
แม่น้ำงาว
มีต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภองาว ไหลไปบรรจบแม่น้ำยมในเขตจังหวัดแพร่ มีความยาวที่อยู่ในเขตจังหวัดลำปาง
๙๐ กิโลเมตร
ป่าไม้
จังหวัดลำปาง มีป่าสงวนแห่งชาติจำนวน ๓๓ ป่า เป็นพื้นที่ประมาณ ๔,๙๓๕,๐๐๐
ไร่ ประมาณร้อยละ ๖๓ ของพื้นที่จังหวัด มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อันเนื่องด้วยป่าไม้ประกอบด้วย
อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน อุทยานแห่งชาติดอยหลวง วนอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท วนอุทยานแห่งชาติวัดม่อนพระยาแช่
อุทยานแห่งชาติขุนตาล
ประชากร
ประชากรส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๙๘ เป็นคนพื้นเมือง มีชาวไทยภูเขาอยู่เล็กน้อย
ประมาณ ๑๓,๐๐๐ คน กระจายอยู่ในเขตเจ็ดอำเภอคือ อำเภองาว อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม
อำเภอแม่เมาะ อำเภอวังเหนือ อำเภอเสริมงาม และอำเภอเมือง ฯ ชาวไทยภูเขาในเขตจังหวัดลำปางมีอยู่แปดเผ่าด้วยกันคือ
เย้า กะเหรี่ยง ม้ง อีก้อ มูเซอ ลีซอ ขมุ และไทยใหญ่
กลุ่มชนที่สำคัญกลุ่มหนึ่งคือ ไทลื้อ พูดภาษาตระกูลไท ถิ่นเดิมอยู่ในเขตสิบสองปันนา
ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานตามหัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา สำหรับจังหวัดลำปางไทลื้อได้มาตั้งถิ่นฐาน
ที่ตำบลห้วยแพะ อำเภอเมือง เกือบทั้งตำบล
การปกครอง
ลำปาง เป็นเมืองที่มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน ตามที่ปรากฏหลักฐานตามตำนานโบราณต่าง
ๆ คือ กุกฤตตนคร ลัมพกัปปะนคร เขลางค์นคร ศรีนครชัย นคร เวียงคอกวัว เวียงดิน
นครลำปางคำ เขลางค์ ลัมพางค์ เมืองลคอร และเมืองนครลำปาง
ตามตำนานจามเทวีวงศ์ ได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์การสร้างเมืองลำปางไว้ว่า สุพรหมฤาษี
สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๒๒๓ เพื่อให้ เจ้าอนันตยศโอรสของ
พระนางจามเทวีครอง เป็นเมืองคู่กับเมืองหริภุญชัย
ในสมัยโยนกเชียงแสน นครลำปางตกอยู่ในอำนาจของขอมบ้าง เป็นเมืองประเทศราชของพม่าบ้าง
ของเมืองเชียงใหม่บ้าง จนถึงสมัยอยุธยา เจ้าทิพย์ช้างได้ขับไล่พม่าออกไปจากเมืองลำปางได้สำเร็จ
จึงได้รับสถาปนาเป็น พระยาสุลวะลือไชย ครองเมืองนครลำปาง เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๕
พ.ศ.๒๓๐๒ เจ้าแก้วฟ้าโอรสเจ้าทิพย์ช้างได้ขึ้นครองเมืองลำปาง
และเป็นต้นตระกูล เชื้อเจ็ดตน และได้สืบเชื้อสายไปครองเมืองต่าง ๆ ในภาคเหนือ
เป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง ณ ลำพูน ณ เชียงใหม่
ในเวลาต่อมาโดยมีเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เป็นเจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์สุดท้าย
พ.ศ.๒๔๓๕ ได้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค เมืองนครลำปางได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ
มณฑลลาวเฉียง ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น
มณฑลพายัพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ และต่อมาได้แยกมารวมกับเมืองแพร่
และเมืองน่านมาตั้งเป็น มณฑลมหาราษฎร์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘
ลำดับนามเจ้าผู้ครองนครลำปางรวมสิบสมัย ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๗ - ๒๔๖๕
๑. พระยากาวิละ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๑๗ เจ้าวงษ์เจ็ดตนผู้ถ้วนหนึ่งได้เป็นพระเจ้าเชียงใหม่
๒. พระยาคำโคม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๗ เจ้าวงษ์เจ็ดตน ผู้ถ้วนสอง
๓. พระยาดวงทิพย์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๓๗ เจ้าวงษ์เจ็ดตน ผู้ถ้วนสี่ เป็นพระยานครเก้าปี
เป็นเจ้าผู้ครองนครสามปี
๔. พระยาชัยวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๖๓ ราชบุตรพระยาคำโสม
๕. พระยาคันธิยะ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๐ ราชบุตรพระยาคำโสม
๖. พระยาน้อยอินทร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๘๑ ราชบุตรพระยาคำโสม
๗. พระยาวรญาณรังษี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๙๓ ราชบุตรพระยาคำโสม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า
ฯ พระราชทานยศเจ้าเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙
๘. เจ้าพรหมาธิพงษ์ธาดา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๖ ราชบุตรพระเจ้าดวงทิพย์
๙. เจ้าพรนันชัยชวลิต ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๐ ราชบุตรเจ้า วรญาณรังษี
๑๐. เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๐ ราชบุตรเจ้า นรนันชัยชวลิต
|