จังหวัดเลย
จังหวัดเลยตั้งอยู่เหนือสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์
มีพื้นที่ประมาณ ๑๑,๔๒๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗,๑๔๐,๐๐๐ ไร่ จัดว่าเป็นจังหวัดขนาดกลาง
ลักษณะรูปร่างของพื้นที่จังหวัดคล้ายกับกะทะใบบัว ปัจจุบันที่ตั้งของจังหวัด
นับเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กับภาคเหนือ เรียกได้ว่าเป็นประตูสู่ล้านนา
และในอนาคตจะเป็นประตูสู่ล้านช้างด้วย
จังหวัดเลยอยู่ห่างจากกรุงเทพ ฯ ตามทางรถยนต์ประมาณ ๕๒๐ กิโลเมตร มีชายแดนติดต่อกับประเทศลาวและจังหวัดใกล้เคียง
หกจังหวัดดังนี้
ทิศเหนือ
ติดต่อกับประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงและแม่น้ำเหืองเป็นแนวพรมแดน
ทิศตะวันออก
ติดต่ออำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย อำเภอนายูง และอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี
อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนาวัง และอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
ทิศใต้
ติดต่อกับอำเภอภูผาม่านและอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น อำเภอน้ำหนาวและอำเภอหล่มเก่า
จังหวัดเพชรบูรณ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอชาติตระการและอำเภอนคร
จังหวัดพิษณุโลก
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูเขาสูง และล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ลดหลั่นเรียงรายกันมีลักษณะคล้ายคลื่นทะเล
ตัวจังหวัดมีภูเขาล้อมรอบคล้ายกะทะใบบัว มีความสูงประมาณ ๔๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล
แบ่งภูมิประเทศออกเป็นสามเขตคือ
เขตภูเขาสูง
อยู่บริเวณด้านทิศตะวันตก ได้แก่บริเวณอำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอนาแห้วและอำเภอท่าลี่
มีพื้นที่การเพาะปลูกน้อย มีประชากรอาศัยอยู่น้อย
เขตที่ราบเชิงเขา
อยู่บริเวณทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออก ได้แก่อำเภอภูกระดึง กิ่งอำเภอราวัณ
อำเภอนาด้วง อำเภอนาขาว อำเภอภูหลวง อำเภอปากชม และกิ่งอำเภอหนองหิน เป็นเขตที่มีภูเขาไม่สูงมากนัก
มีที่ราบเชิงเขาพอที่จะทำการเพาะปลูกได้บ้าง มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าเขตภูเขาสูง
เขตที่ราบลุ่ม
อยู่บริเวณลำน้ำเลยและลำน้ำโขง ได้แก่บริเวณอำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง ฯ และอำเภอเชียงคาน
มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมาก ดินอุดมสมบูรณ์ มีประชากรอยู่หนาแน่นมากกว่าเขตอื่น
ทรัพยากรธรรมชาติ
ทรัพยากรดิน
โดยธรรมชาติแล้วดินในจังหวัดเลยมีความอุดมสมบูรณ์ดีทั้งดินนา และดินไร่
ปัญหาการชะล้าง และการพังทลายของหน้าดินมักเกิดขึ้นกับดินในบริเวณที่มีความลาดชันสูง
เช่น บริเวณเชิงเขาหรือเนินเขา ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์
มีต้นไม้ช่วยปกคลุมหน้าดินเอาไว้ แต่เมื่อมีการแผ้วถางป่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่ทำการเพาะปลูก
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการชะล้างและพังทลายของหน้าดิน ทำให้เกษตรกรต้องบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าออกไปอีก
ปัญหาหน้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำคือ ผิวดินตื้น ทำให้เกิดปัญหาในการนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
เป็นอุปสรรคการเจริญเติบโตของรากพืช และมีปัญหาในการไถพรวนดิน แต่หน้าดินที่ตื้นดังกล่าวเหมาะในการใช้เป็นทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์
ทรัพยากรน้ำ
จังหวัดเลยมีแหล่งน้ำที่เป็นแม่น้ำธรรมชาติพอที่จะให้ประชาชนได้ใช้อุปโภคและบริโภคหลายสายด้วยกัน
กระจายกันอยู่ในเขตอำเภอต่าง ๆ เช่น อำเภอเมือง
ฯ มีลำน้ำหมาน ลำน้ำอาย ลำน้ำเลย อำเภอวังสะพุง
มีลำน้ำม่วน ลำน้ำฮอย ลำน้ำสาย อำเภอด่านซ้าย
มีลำน้ำหมัน ลำน้ำพุง ลำน้ำป่าสัก อำเภอภูเรือ
มีลำน้ำสาม ลำน้ำข้าวมัน อำเภอนาแห้ว มีลำน้ำพึง ลำน้ำแพร่ ลำน้ำหู อำเภอท่าลี่
มีลำน้ำคาน อำเภอปากชม
มีลำน้ำชม ลำน้ำสงาว ลำน้ำมั่ง อำเภอภูกระดึง
มีลำน้ำพอง ลำน้ำพองโก
แม่น้ำสายหลัก
ที่สำคัญของจังหวัดเลย มีอยู่ห้าสายคือ
แม่น้ำโขง
มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในที่ราบสูงธิเบต เป็นแม่น้ำนานาชาติที่กั้นเส้นพรมแดนระหว่างจังหวัดเลยกับประเทศลาว
ตรงบริเวณอำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม มีความยาวประมาณ ๑๕๐ กิโลเมตร
แม่น้ำเหือง
ต้นน้ำเกิดจากภูเมี่ยงในประเทศลาว แล้วไหลลงมาเป็นแนวแบ่งเขตประเทศไทยกับประเทศลาว
ผ่านอำเภอนาแห้ว อำเภอด่านซ้าย และอำเภอท่าลี่ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำโขงที่บ้านท่าดีหมี
อำเภอเชียงคาน มีความยาวประมาณ ๑๔๐ กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาที่สำคัญคือ ลำน้ำหมัน
ลำน้ำสาน และลำน้ำคาน
แม่น้ำพอง
มีต้นกำเนิดจากภูกระดึง ไหลผ่านอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์
อำเภอภูผาม่าน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น และอีกหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
แม่น้ำเลย
ต้นน้ำเกิดจากภูหลวง ทางด้านทิศตะวันตกของเทือกเขา ในตอนต้นน้ำ ชาวบ้านเรียกว่าเลยวังไสย
เพราะน้ำใสสะอาดมาก จากนั้นไหลผ่านอำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง อำเภอเชียงคาน
มีความยาวประมาณ ๑๒๐ กิโลเมตร มีลำน้ำสาขาคือ ลำน้ำสวย ลำน้ำหมาน และลำน้ำสาย
แม่น้ำป่าสัก
มีต้นกำเนิดจากกลุ่มเทือกเขาภูหลวงทางทิศตะวันตก บริเวณอำเภอด่านซ้าย
แล้วไหลผ่านเขตอำเภอหล่มเก่า อำเภอหล่มสัก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และไหลผ่านพื้นที่ภาคกลางของหลายจังหวัด
ก่อนไหลไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
แม่น้ำหมาน
มีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาภูสวรรค์ ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ แล้วไหลไปบรรจบแม่น้ำเลยที่บ้านกกม่วงชี
อำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ ๓๕ กิโลบเมตร
ทรัพยากรป่าไม้
จังหวัดเลยมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ ๗,๘๙๕ ตารางกิโลบเมตร ๔,๙๓๔,๐๐๐ ไร่
สภาพป่าเป็นป่าดงดิบค่อนข้างสมบูรณ์ ณ ความสูงตั้งแต่ ๖๐๐ - ๑,๓๓ เมตร จากระดับน้ำทะเล
และเป็นป่าเบญจพรรณและป่าไม้เต็งรัง ณ ความสูง ๓๐๐ - ๖๐๐ เมตร จากระดับนำทะเล
ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจได้แก่ไม้ยาง ไม้มะค่าโมง ไม้ตะเคียนทอง ไม้ประดู่
ไม้แดง ไม้เต็งรัง ไม้ตะแบก และอื่น ๆ
ปัจจุบันพื้นที่ป่าถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรกรรม จากที่เคยกำหนดไว้ประมาณร้อยละ
๗๐ ของพื้นที่จังหวัด เหลือพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์เพียงประมาณร้อยละ ๒๙ ของพื้นที่จังหวัด
หรือประมาณ ๑,๐๓๔,๐๐๐ ไร่
การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ ได้มีกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์
ในจังหวัดเลย มีป่าสงวนแห่งชาติอยู่ ๒๐ แห่ง พื้นที่ประมาณ ๔,๓๕๒,๐๐๐ ไร่
และพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ ๖ แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติภูเรือ อุทยาน
ฯ ภูกระดึง อุทยาน ฯ ภูหินร่องกล้า อุทยาน ฯ ภูผาม่าน อุทยาน ฯ นาแห้ว
และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
ประชากร
จังหวัดเลย มีคนพื้นเมืองที่มีเชื้อชาติไทย ซึ่งเรียกตัวเองว่า ไทเลย
เป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ก็มีคนเชื้อชาติจีน ชาวเขา ไทดำ ไทพวน
วิถีชีวิตของคนเมืองเลย จะมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ยึดถือประเพณีแบบชาวไทยภาคอีสาน
และหลวงพระบาง ประชากรส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา รองลงมาคือ คริสตศาสนา และศาสนาอิสลาม
ตามลำดับ
คริสตศาสนา
ได้แพร่เข้าสู่จังหวัดเลย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ เป็นคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิก
มีผู้ศรัทธาอยู่ ณ บ้านหนองผักก้าม บ้านบุโฮม และบ้านศรีฐาน เป็นต้น มีการเปิดโรงเรียนของศาสนาคริสต์
ขึ้นสองแห่งคือ โรงเรียนมหาไถ่ศึกษาเลย เปิดสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษา และโรงเรียนมหาไถ่ท่าบน
เปิดสอนในระดับเดียวกัน
ศาสนาอิสลาม
เข้าสู่จังหวัดเลย ในช่วงหลังปี พ.ศ.๒๔๙๖ ชาวอิสลามคนแรกที่เข้ามาอยู่ในจังหวัดเลยชื่อ
คาน ได้เข้ามาค้าขาย เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๘๐ ชาวอิสลามในจังหวัดเลย
ส่วนใหญ่มาจากศรีลังกา และปากีสถาน ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงวัว ควาย
แพะ ทำสวนและขายของหาบเร่ ได้แต่งงานกับคนในท้องถิ่น และค่อย ๆ ซึมซับวิถีชีวิตของชาวไทย
แต่ก็ยังคงมีวิถีปฎิบัติในชีวิตประจำวันที่ศรัทธา ยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม
ดำรงเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของตนไว้อย่างเหนียวแน่น ยึดหลักปฎิบัติห้าประการ
เช่นเดียวกับชาวอิสลามกลุ่มอื่น ๆ ปัจจุบันชาวอิสลามในจังหวัดเลย มีอยู่ประมาณ
๒๐ หลังคาเรือน ส่วนใหญ่อยู่ที่อำเภอเมือง ฯ และอำเภอปากชม แต่ทุกวันศุกร์ชาวอิสลามที่อาศัยอยู่ประปรายในอำเภออื่น
ๆ จะต้องไปชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา ตามประเพณีที่มัสยิดในอำเภอเมือง
ฯ
นอกจากจะนับถือศาสนาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ชาวเลยยังมีความเชื่อในเรื่องภูติผีปีศาจ
ซึ่งสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทำให้เกิดพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวไทเลย
เช่น การเล่นผีตาโขน การเล่นผีชมน้ำ และการเล่นแซปางไทดำนาป่าหนาด เป็นต้น
ภาษาพูด ที่ชาวเลยใช้เป็นภาษาถิ่น ที่เรียกว่า ภาษาเลย
ส่วนภาษาเขียนในอดีตใช้อักษรไทย อักษรไทยน้อย และอักษรธรรม ซึ่งในปัจจุบันมีผู้อ่าน
และเขียนได้ไม่มากนัก
กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเลย
นอกจากชาวไทยเลย แล้วยังมีชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาศัยอยู่ ที่สำคัญคือ
กลุ่มชนเชื้อสายไทย
เป็นชนกลุ่มหนึ่งที่มีความสัมพันธุ์ใกล้ชิดกับคนพื้นเมืองเลย โดยตั้งถิ่นฐานอยู่ปะปนกัน
เข้ามาอยู่ในเขตจังหวัดเลยนานมาแล้ว มีอยู่สามกลุ่มคือ กลุ่มไทดำ ไทพวน และไทใต้
ชาวไทดำ
ชาวไทดำอพยพมาจากแคว้นพวน
ในประเทศลาวปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ เมื่อพวกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองเชียงขวาง
ซึ่งเป็นหัวเมืองสำคัญในแคว้นพวน จึงได้ขอความช่วยเหลือมายังไทย ทางไทยได้ส่งกำลังไปปราบฮ่อ
โดยมีพระยาภูธราภัยเป็นแม่ทัพ เมื่อปราบฮ่อเสร็จแล้ว ไทยได้ใช้นโยบายอพยพผู้คนจากแคว้นพวน
เข้ามายังประเทศไทย โดยนำมายังกรุงเทพ ฯ ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านหมี่ คลองสนามแจง จังหวัดลพบุรี ต่อมาเจ้าเมืองบริขันธ์มากราบทูลของราษฎรกลับไปเมืองขวางตามเดิม
โดยเริ่มอพยพลงมาตามเส้นทางเรื่อย ๆ จนได้มาพักที่บ้านน้ำกอใหญ่ อำเภอหล่มเก่า
จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อมามีชาวไทยดำกลุ่มหนึ่ง ได้เดินทางข้ามแม่น้ำโขง ไปยังบ้านน้ำกุ่ม
แขวงเวียงจันทน์ แต่ในขณะนั้นเขตเวียงจันทน์มีปัญหาการเจรจากับฝรั่งเศส ไทดำจึงข้ามแม่น้ำโขงกลัวมาตั้งหมู่บ้านที่ตาดซ้อ
ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน อยู่ได้ระยะหนึ่ง ต่อมาจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านนาเบน
และได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานถาวรที่หมู่บ้านนาป่าหนาด ตำบลเขาแก้ว อำเภอเชียงคาน
เมื่อปี พ.ศ..๒๔๓๘ มี ๑๕ ครัวเรือน ปัจจุบันชาวไทดำ มีจำนวน ๘๒๕ ครัวเรือน
มีอาชีพส่วนใหญ่ทางการเกษตรกรรม
- บ้านเรือน ชาวไทดำ
มีลักษณะแตกต่างจากบ้านโดยทั่ว ๆ ไป ตัวบ้านยกพื้นสูง นิยมทำห้องเดียว มีระเบียงหรือชานยื่นออกมา
ไว้สำหรับนั่งเล่น หลังคาเป็นหน้าจั่ว อยู่ด้านบนแต่มีชายคาเป็นวงกลมรอบตัวบ้าน
มุงด้วยหญ้าคา ตัวบ้านสร้างด้วยไม้ไผ่ทั้งหลัง ไม่มีหน้าต่าง มีเพียงประตูทางเข้าด้านหน้า
และด้านหลัง ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่ทั้งสี่ด้าน พื้นบ้านปูด้วยลำไม้ไผ่
ใต้ถุนบ้านปูด้วยฟากที่ทำจากไม้ทุบ เสาใช้ไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น บันไดทำด้วยลำไม้ไผ่
โดยพาดไว้บริเวณด้านหน้า และด้านหลังของตัวบ้าน
- วิถีชีวิตของชาวไทดำ
จะมีระเบียบแบบแผนเป็นของตนเอง ซึ่งอยู่บนบรรทัดฐานของความเชื่อ และพิธีกรรมต่าง
ๆ เช่น ความเชื่อ เรื่องผีเรือน
ความเชื่อเกี่ยวกับหมอรักษา หรือเจ้าบ้าน (พระเสื้อเมือง)
เมื่อมีคนตายทุกบ้าน จะหยุดทำงานจนกว่าจะนำคนตายไปป่าช้าเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มทำงานใหม่
ในงานศพจะไม่มีพระสงฆ์มาเกี่ยวข้อง เพราะถือว่าพระกับผีไม่ถูกกัน นิยมฝังศพมากกว่าเผา
- พิธีเสนเรือน
คือ การเซ่นผีบ้าน ผีเรือน ผีบรรพบุรุษ เชื่อว่าทำให้ผีไม่อดอยาก อันจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ลูกหลาน
- พิธีแต่งงาน
เมื่อฝ่ายชายชอบพอฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะทำการสู่ขอ โดยใช้เพียงหมาก พลู เท่านั้น
ถ้าพ่อแม่ฝ่ายหญิงรับไว้ ก็เป็นอันว่ายกลูกสาวให้
ปีใหม่ของชาวไทดำ จะจัดขึ้นในเดือนสิบ เรียกประเพณีปาตดง
นอกจากนั้น ไทดำยังมีการเล่นที่สืบืทอดกันมาช้านาน เป็นการแสดงความเคารพต่อหมอมด
ประจำหมู่บ้าน ซึ่งจะมีเครื่องดนตรี ประกอบด้วย ปี่บั้วบู ฟางฮาด เรียกการเล่นนี้ว่า
แซปาง มักมีการแสดงในวันแรม หนึ่งคำ และเดือนหก
ภาษาของชาวไทดำ ใช้อักษรไทยดำ ซึ่งเป็นภาษาเฉพาะกลุ่ม
การแต่งกาย ผู้ชายสวมเสื้อที่ทอด้วยผ้าสีดำ
แขนกระบอก ผ่าหน้าอก ติดกระดุมเงิน ๑๑ เม็ด ลักษณะกระดุมเป็นรูปผักบุ้ง ตัวเสื้อผู้ชายยาวกว่าเสื้อผู้หญิง
มีกระเป๋าตรงชายล่างด้านหน้าทั้งสองข้าง กางเกงขายาว คล้ายกางเกงจีน ใช้ผ้าสีดำเข้ม
ผู้หญิงจะใส่เสื้อสีดำคอกลม ผ่าหน้า แขนกระบอก ติดกระดุมเป็นรูปผีเสื้อ นุ่งผ้าซิ่นที่ทอเป็นลายพื้นเมือง
นิยมโพกศีรษะด้วยผ้าที่ทอด้วยฝ้าย ย้อมมีสีดำ กว้างประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ
๑๒๐ เซนติเมตร ชายผ้าปักด้วยด้ายสีเป็นลวดลายต่าง ๆ รองเท้า ทั้งชายและหญิงใช้รองเท้าไม้ยกพื้นสูง
แบบคีบ
- อาหารของชาวไทดำประกอบด้วยผักและน้ำพริกคือ
แจ่วอดทำจากใบบอนคัน ไม่ค่อยนิยมกินเนื้อสัตว์ ชาวไทดำจึงคงมีวิถีชีวิตแบบเดิม
แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ชาวไทพวน
ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านบุฮมและบ้านกลาง อำเภอเชียงคาน จากถิ่นฐานเดิมที่เมืองเตาไห
หลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อครั้งพวกจีนฮ่อ กลา เวียง รุกรานเมืองเตาไห
ชาวไทพวนมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายแบบสังคมชนบททั่วไป มีอาชีพเกษตรกรรม การทอผ้า
การตีเหล็ก การทำเครื่องเงิน เครื่องทอง ภาษาทีใช้คล้ายกับชาวอีสานทั่วไป
- บ้านเรือนไทพวนจะยกพื้นสูง
มีใต้ถุนบ้าน ใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่างเช่น ทำคอกวัว คอกควาย ฯลฯ นิยมปลูกเรือนที่มีห้องตั้งแต่สามห้องขึ้นไป
มีหลังคาทรงมนิลา หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ใช้หวายผูกมัดแทนการตอกตะปู ถ้าเป็นบ้านผู้มีฐานะดีหลังคาจะมุงด้วยกระเบื้องไม้เรียกว่าไม้แป้นเกล็ด
หรือกระเบื้องดินเผา พื้นและฝาเรือนใช้ไม้กระดานหรือไม้ไผ่สับออกเป็นแผ่น
แล้วมีเสื่อสานด้วยหวายปูทับอีกชั้นหนึ่ง ห้องครัวอยู่บนเรือน มีฐานยื่นออกมาจากตัวเรือน
มีบันไดขึ้นลงพาดที่นอกชานด้านทิศเหนือ เสาเรือนอาจใช้ไม้ทั้งต้น หรือใช้อิฐก่อเป็นเสาขนาดใหญ่
- การแต่งกาย
ผู้ชายจะนุ่งกางเกงหรือผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อม่อฮ่อม มีผ้าขาวม้าพาดบ่า หรือคาดเอว
ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น มีผ้าขาวม้ารัดอกหรือใส่เสื้อแขนกระบอกสีดำ สีครามหรือสีทึบ
เด็กผู้ชายใส่กำไลเท้า เด็กู้หญิงใส่กำไลมือและกำไลเท้า ทรงผมของไทพวนจะเป็นสิ่งบอกถึงสถานภาพของแต่ละคน
เช่นผู้หญิงที่เป็นสาวรุ่น จะไว้ผมทรงผูกผมคือ รวบผมมารวมไว้กลางศีรษะแล้วใช้เชือกผูกมัดผมไว้
ปล่อยให้ผมยาวไปตามลำตัว เอาหนามเม่นแข็งกลัดไว้ เมื่ออายุ ๑๗ - ๑๙ ปี อาจทำทรงผมแบบโค้งมน
คล้ายกับผูกผม แต่เอาปลายผมขึ้นมาไว้ข้างบน แล้วจัดให้เป็นรูปโค้งหรือวงกลม
ปลายผมที่ชี้ออกมาใช้น้ำมันทาให้ติดกันเป็นเรียวแหลม พาอายุ ๒๐ ปีขึ้นไปจัดว่าเป็นสาวเต็มตัวแล้ว
จะเอาผมทั้งหมดไปขมวดเป็นกระจุกไว้กลางศีรษะ สำหรับู้ชายเมื่อโกนผมไฟแล้วก็โกนต่อไปเรื่อย
ๆ เมื่อโตเป็นหนุมถึงจะไว้ทรงผมได้
ชาวไทพวนมีความเชื่อเรื่องผี เรื่องการเข้าทรง ประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมาคือ
งานบุญกำฟ้า
มีการทำข้าวหลาม ข้าวจี่ เพื่อนำไปถวายพระ และแจกจ่ายแก่ญาติมิตร ในรอบปีจะมีสามครั้งคือ
ขึ้นสามค่ำ ขึ้นสิบค่ำ และขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสาม ในช่วงเวลาดังกล่าวชาวไทพวนจะไม่ทำงานโดยจะพักผ่อนอยู่กับบ้านและมีการเล่นต่าง
ๆ เช่น เล่นต่อไม้ เล่นลูกช่วง ฯลฯ
ปัจจุบันชาวไทยพวนรับเอาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีของชาวอีสานมาปฎิบัติ
การใช้ภาาา การแต่งกาย การนับถือสาสนา ฯลฯ อย่างเต้มตัว
ชาวไทใต้
อพยพมาจากภาคอีสานเข้ามาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดเลย ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดกาฬสินธิ์
อุบลราชธานี และยโสธร เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ จะพบชาวไทใต้จำนวนมากที่อำเภอเอราวัณ
และอำเภอนาด้วง
ชาวไทใต้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม สภาพบ้านเรือนจะเป็นกระต๊อบ นิยมสร้างบนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง
หลังคามุงด้วยหญ้าคา อกไก่ จั่ว ดั้ง และระแนง ทำจากไม้ ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่สับที่เรียกว่า
ฟาก เอามาสานเข้าด้วยกันเป็นลวดลาย แล้วติดเข้ากับตัวบ้าน โดยใช้ไม้ไผ่ขัดเอาไว้
พื้นบ้านปูด้วยฟาก ชานบ้านและเรือนครัวสร้างยื่นออกมาจากส่วนหน้า โดยมีระดับต่ำกว่าตัวบ้าน
เสาบ้านใช้ไม้เนื้อแข็ง บันไดทำจากไม้ไผ่หรือไม้เนื้อแข็ง โดยทั่วไปบ้านชาวไทใต้ในอดีตจะมีห้องเดียวคือห้องนอน
ใต้ถุนยกสูงเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และใช้เป็นที่เก็บอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง
ๆ
- การแต่งกาย
ผู้ชายจะใส่เสื้อผ้าฝ้ายคอกลมสีขาวผ่าหน้าตลอด และนุ่งโสร่งตาหมากรุก มีผ้าขาวม้าคาดเอวและคล้องคอ
ผู้หญิงจะใส่เสื้อคอกลม แขนกระบอก นุ่งผ้าถุงฝ้ายมัดหมี่ ผู้สูงอายุที่เป็นผู้ชายจะใส่เสื้อม่อฮ่อมหรือใส่เสื้อผ้าฝ้ายสีขาว
ผ่าหน้าตลอดและนุ่งโสร่ง ผู้หญิงจะใส่เสื้อหมากกะแหล่งหรือเสื้อแขนกระบอก
คอกลมสีขาว ติดกระดุมที่ทำจากผ้าฝ้ายและนุ่งผ้าถุง และถ้าเป็นงานบุญหรือการเล่นพื้นเมือง
ผู้ชายจะมีผ้าสไบ หรือผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าขาวม้า พาดที่บ่า ผู้หญิงจะใส่เป็นสไบเฉียง
ส่วนคนเฒ่าคนแก่ จะมีผ้าเบียง (ผ้าสไบ) พาดบ่า
- ภาษาพูด
แตกต่างจากภาษาไทเลย เพราะได้สืบทอดมาจากถิ่นเดิมของตน เช่น ภาษาไทอีสาน ภาษาลาวจากจังหวัดอุบล
ฯ ภาษาไทโคราช
ขนบธรรมเนียมประเพณีไม่ค่อยแตกต่างจากคนอีสานทั่วไป วิถีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายชาวไทเลย
การปกครอง
การปกครองหัวเมือง แต่เดิมเป็นการปกครองแบบกินเมือง
เจ้าเมืองได้รับมอบหมายให้ใช้พระราขอำนาจแทน พระมหากษัตริย์ ในการปกครองชุมชนขนาดเล็กมี
ท้าวฝ่าย เป็นผู้ปกครองในระดับอำเภอ ตาแสง
เป็นผู้ปกครองในระดับตำบล และพ่อบ้าน
หรือนายบ้าน ในระดับหมู่บ้าน
ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พอประมวลได้ดังนี้
- หลวงศรีสงคราม (ท้าวคำแสน) พ.ศ.๒๓๙๖
- หลวงศรีสงคราม ( เหว้า)
- หลวงราชภักดี (สนธิ์ พ.ศ.๒๔๑๖
- หลวงวิเศษจางวาง
- พระศรีสงคราม (มณี เหมาภา) พ.ศ.๒๔๔๖ - ๒๔๕๐
- พระรามฤทธิ์ (สอน วิวัฒนปทุม) พ.ศ.๒๔๕๐ - ๒๔๕๒
- พระภักดีสงคราม (ดิษฐ โกมลบุตร) พ.ศ.๒๔๕๔ - ๒๔๕๖
- พระยาประเสริฐ สุนทราศัย (กระจ่าง สิงหเสนีย์)
พ.ศ.๒๔๕๖ - ๒๔๖๓
- พระยาบรมราชบรรหาร (เย็น อมาตยกุล) พ.ศ.๒๔๖๔ -
๒๔๖๖
- พระยาศรีนคร (ประสงค์ อมาตยกุล) พ.ศ.๒๔๖๖ - ๒๔๗๕
- หลวงวิวิธสุรการ (ถวิล เจียรมานพ) พ.ศ.๒๔๗๖
- ๒๔๘๒
|