มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถาน
พระธาตุศรีสองรัก
อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของตัวอำเภอด่านซ้ายประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน
ฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๑๑ เมตร สูงประมาณ ๑๒ เมตร ตั้งอยู่ริมลำน้ำหมัน
สร้างระหว่างปี พ.ศ.๒๑๐๓ - ๒๑๐๖ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา
และพระเจ้าไชยเชษฐา แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) โดยยึดถือความศรัทธาในพระพุทธศาสนา
เป็นการสร้างมิตรภาพและสัมพันธภาพ ระหว่างสองอาณาจักร ดังสัตยาธิษฐานที่กระทำต่อกันมีความว่า
สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีสัตนาค สมเด็จพระมหากษัตริย์เจ้ากรุงศรีอยุธยามหาดิลก
จึงมีพระราชวงษาสองพระองค์ จึงจากันทางให้เป็นพระราชไมตรี โดยบุพประเวณี เพื่อจะสืบเชื้อคือ
สุริยวงษา และญาติวงษา พันธุมิตร อุตสาห์ รำมนา เพื่อจัดให้เป็นบรมสุขสวัสดิ์
เป็นประโยชน์แก่สมณพราหมณาจารย์เจ้า ชาวประชาราษฎรทั้งหลาย ตราบต่อเท่าถ้วนกัปป์อันนี้
เป็นเค้าเป็นประธานสารคดีในมหาปัตถพิคีรัต (คีรี) ในห้อมหว้อภูเขาสกลสีลวังก์
(เอกสิมังว) ขอจงเป็นเอกสีมา ปริมณฑลอันเดียวกัน เกลี้ยงกลมงานมณฑลเท่าพงษ์พันธุ์
ลูกหลานเหลน อย่าได้ชิงส่วยลางแดนแสนหญ้า อย่าได้กระทำโลภเสี้ยวแก่กัน จนเท่าเสี้ยงพระอาทิตย์
พระจันทรเจ้าตกลงมอยู่เหนือแผ่นดินอันนี้เทอญ
คำสัตยาธิษฐานนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเขตแดนระหว่างกัน โดยมีพระธาตุเจดีย์ศรีสองรัก
เป็นหลักกั้นเขตแดน ระหว่างกันซึ่งอยู่ระหว่างกลางของแม่น้ำน่าน กับแม่น้ำโขง
วัดกู่คำ
ตั้งอยู่ที่บ้านทรายขาว ตำบลทราย อำเภอวังสะพุง มีพระธาตุกุดเรือคำ สร้างเมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๐๐๐ มีพระประธานดินเผาสมัยสุโขทัย สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๑๗
นอกจากนั้นยังมี พระทองแก้วสัมฤทธิ์ สององค์ พระงาช้างหนึ่งองค์
ตามตำนานกล่าวว่า ในปี พ.ศ.๑๘๙๐ เจ้าฟ้าร่มขาวได้นำไพร่พลมาจากเมืองสุโขทัย
อพยพมาตามลำน้ำเลย มาสร้างบ้านเมืองอยู่ ณ ภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ แล้วได้สร้างวัดชื่อ
วัดกู่ ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๑๙๐๐ ลูกชายเจ้าฟ้าร่มขาว ได้สร้างสถูปให้ชื่อว่า
พระธาตุกุดเฮือคำ และเนื่องจากพระธาตุนี้อยู่ในวัด จึงเปลี่ยนชื่อวัดกู่ เป็นวัดกู่คำ
วัดธาตุดินแดน
ตั้งอยู่ที่บ้านหัวนา ตำบลแสงพา อำเภอนาแห้ว สร้างเมื่อปี พงศ.๒๔๖๒ ชาวบ้านเรียกวัดธาตุ
เดิมเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๑ มีพระธุดงค์รูปหนึ่งมาสอนประะชาชนในแถบนี้ ซึ่งแต่เดิมไม่ได้นับถือพระรัตนตรัย
ได้สร้างพระธาตุขึ้นเพื่อระลึกถึงพระคุณพระธุดงค์รูปนั้น ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ของทุกปี จะมีการขนเอาดินเผาไปเทไว้รอบ ๆ พระธาตุ จึงได้ชื่อว่า วัดธาตุดิน
แทน
วัดป่าสัมมานุสรณ์
ตั้งอยู่ที่บ้านโคกมน ตำบลผาน้อย อำเภอวังสะพุง เริ่มสร้างโดย หลวงปู่ชอบ
ฐานสโม ซึ่งกลับจากเชียงใหม่ มาเยี่ยมญาติที่บ้านโคกมน ผู้ใหญ่บ้านได้นิมนต์ให้ท่านเป็นผู้นำชาวบ้านสร้างวัดขึ้น
ชาวบ้านเรียกว่า วัดเหนือ หรือวัดใหญ่ ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๑๙ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๖ เมตร ยาว ๒๔ เมตร
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างอยู่กลางน้ำ
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ศาลาการเปรียญเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์สร้างด้วยไม้
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๔ มีพระเจดีย์ขนาด ๒๐ x ๒๐ เมตร สูง ๓๗ เมตร พระพุทธรูปพระประธานหน้าตักกว้าง
๔๐ นิ้ว สี่องค์ ๓๐ นิ้ว สององค์
ในด้านการศึกษา พระปริยัติธรรม มีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม เปิดสอบตั้งแต่ปี
พ.ศ.๒๕๒๙
วัดพระพุทธบาทภูควายเงิน
ตั้งอยู่ที่บ้านผาแบ่น ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ โดยชาวบ้านช่วยกันสร้างวัดขึ้นเพื่อรักษารอยพระพุทธบาท
ที่พรานล่าเนื้อไปพบบนก้อนหิน
อาคารเสนาสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ และกุฎิสงฆ์ ปูชนียวัตถุ มีรอยพระพุทธบาท
วัดโพธิชัย
ตั้งอยู่ที่บ้านนาพึง ตำบลนาพึง อำเภอนาแห้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕
ชาวบ้านเรียก วัดบ้านนาพึง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๐
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ กุฎิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ หอระฆัง
ปูชนียวัตถุ มีพระพุทธรูปแสนห่า วัตถุโบราณมี ฆ้อง ลูกแก้วสัมฤทธิ์
ในด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ โรงเรียนผู้ใหญ่วัด เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๙
วัดมหาธาตุ
ตั้งอยู่ที่บ้านเชียงคาน ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๗
พร้อมกับการสร้างเมืองเชียงคาน จึงเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ของชาวอำเภอเชียงคาน
ชาวบ้านเรียกวัดหลวงพ่อใหญ่
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๑๙ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง
๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๒ ศาลาการเปรียญ
สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก หอสวดมนต์ กุฎิสงฆ์ ศาลาเอนกประสงค์ ศาลาบำเพ็ญกุศล
ซุ้มประตู ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย (หลวงพ่อใหญ่) พระพุทธรูปไม้ศิลปะล้านช้าง
พระพุทธรูปปางประทานพร เก้าองค์ ตู้พระธรรมไม้ลงรัก ปิดทอง หีบพระธรรมไม้ลงรักปิดทอง
ในด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕
โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เปิดสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐ โรงเรียนพระปริยัติธรรม
แผนกสามัญ เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๑ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดเปิดสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๐
วัดศรีคูณเมือง
ตั้งอยู่ที่บ้านเชียงคาน ตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๙
โดยมีหัวครูบุตรดี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ร่วมกับพระยาอนุพินบาท เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
นำชาวบ้านสร้างวัดนี้ขึ้น พร้อมกับการตั้งบ้านเมือง จึงเป็นวัดเก่าแก่ ชาวบ้านเรียกว่า
วัดใหญ่
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๐
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐
ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ศาลาเอนกประสงค์เป็นอาคารไม้
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓
หน้าบันอุโบสถ เป็นลวดลายไม้ สวยงาม ฝาผนังอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังเขียนด้วยช่าง
สมัยโบราณเป็นศิลปะลาว พระพุทธรูปยืนไม้ทาน้ำทอง ธรรมาสน์แกะสลักลายประดับกระจกสี
พระพุทธรูปไม้ปางประทานพร หินศิลาจารึก พระพุทธรูปทองสำริด
ในด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕
วัดศรีโพธิชัย
ตั้งอยู่ที่บ้านแสงภา ตำบลแสงพา อำเภอนาแห้ว สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ โดยกลุ่มนายพรานจากเวียงจันทน์
มีหัวหน้าชื่อ นายภา (เชียงภา) ซึ่งอพยพครอบครัวและญาติพี่น้อง มาตั้งถิ่นฐานเป็นปึกแผ่นแล้วสร้างวัดขึ้น
ชาวบ้านเรียก วัดบ้านแสงภา
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๐ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๘ เมตร
ยาว ๑๐ เมตร
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๑๑๓ ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ หอสวดมนต์เป็นอาคารไม้ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ศาลาเอนกประสงค์
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐ ศาลาบำเพ็ญกุศล หอพระไตรปิฎกหอระฆัง ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะล้านช้าง พระพุทธรูปสำริดปางห้ามญาติสององค์ ลวดลายไม้แกะสลักต่าง
ๆ ศิลปะล้านช้าง
ในด้านการศึกษา มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐
ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์เปิดสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
วัดศรีภูมิ
ตั้งอยู่ที่บ้านแฮ่ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๐
ชาวบ้านเรียกว่า วัดบ้านแฮ่
เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน ที่มีแร่ธาตุจีงเรียก บ้านแฮ่
การสร้างวัดปรากฏในแผ่นป้ายจารึกบอกไว้ว่า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๐ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๗๐ เมตร
อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถกว้าง ๘ เมตร ศาลาการเปรียญสร้าง พ.ศ.๒๕๐๔
หอระฆัง และมณฑปรอยพระพุทธบาท ปูชนียวัตถุมีพระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนหน้าตักกว้าง
๒.๔๐ เมตร สูง ๓.๓๐ เมตร พระพุทธชินราชจำลองหล่อด้วยทองเหลืองหน้าตักกว้าง
๒.๓๐ เมตร พระโมคคัลลาน์ และพระสารีบุตร หล่อด้วยสำริด พระพุทธรูปทองสามองค์
และรอยพระพุทธบาทจำลองทองเหลือง
วัดศรีสัตตนาค
ตั้งอยู่ที่บ้านก้างปลา ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๒๐๖
ชาวบ้านเรียกว่า วัดใต้บ้านก้างปลาใหญ่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
เมื่อปี พ.ศ.๒๒๒๕
อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ กว้าง ๑๐ เมตร ยาว
๒๐ เมตร ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ หอสวดมนต์สร้างด้วยไม้ ศาลาบำเพ็ญกุศล
ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ พระพุทธรูปขนาดเล็กสององค์
วัดศรีสุทธาวาส
ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง ฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
วัดนี้ย้ายมาจากวัดศรีสะอาด ซึ่งอยู่ในตัวเมือง แต่มีพื้นที่คับแคบ จึงมาสร้างวัดขึ้นใหม่
ตั้งชื่อว่าวัดมหาวิสุทธิเทพทีปาราม ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีสุทธาวาส
ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดเลยหลง
เพราะตั้งวัดอยู่บนดอยเลยหลง
อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ วิหาร หอระฆัง ศาลาบำเพ็ญกุศล ศาลาการเปรียญ
ศาลาอเนกประสงค์ และมณฑป ปูชนียสถานมีพระบรมสารีริกธาตุเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปศิลาโบราณ
วัดศรีสุทธาวาสได้รับคัดเลือกให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙
ในด้านการศึกษามีโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม และบาลี เปิดสอน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๘๐ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนสามัญศึกษาเปิดสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘
โรงเรียนผู้ใหญ่วัด เปิดสอน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
เปิดสอนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ ตั้งมหาวิทยาลัยมหามงกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตศรีล้านช้าง
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
|