ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น
การทำมาหากิน
ชาวเลยเป็นเกษตรกรมาตั้งแต่สมัยโบราณ ภูมิปัญญาจึงมักเกี่ยวข้องกับการเกษตรและเครื่องใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
เครื่องจักสาน
เป็นงานหัตถกรรมที่ทำแทบทุกหมู่บ้าน เป็นการผลิตเพื่อใช้ในครัวเรือน และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีพ
โดยการนำวัตถุดิบ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นได้แก่ ไม้ไผ่ ใบลาน หวาย มาขัดเป็นลวดลายตามที่ต้องการสร้างสรรค์เป็นรูปทรงต่าง
ๆ เป็นภาชนะของใช้ในครัวเรือน เช่น แอ็บข้าว (กระติบข้าว) ซ้า
(กระบุง) กระจาด (ใส่ขนมจีน) กระด้ง ไซ ตุ้มดักปลา ข้อง สุ่มไก่
หับไก่ ต่อมาได้พัฒนารูปแบบมาเป็นของที่ระลึก ของชำร่วย และผลิตภัณฑ์ที่เน้นความสวยงาม
สำหรับเป็นของประดับตกแต่งบ้าน
การทอผ้า
สตรีส่วนใหญ่ในหมู่บ้านต่าง ๆ ของจังหวัดเลยสามารถทอผ้าฝ้ายเพื่อใช้ในครอบครัว
โดยใช้เวลาว่างจากการทำไร่นา ชาวไทเลยในอดีตถือว่า การทอผ้าเป็นงานพื้นฐานของผู้หญิงที่จะต้องเป็นแม่บ้าน
ปัจจุบันมีอยู่เพียงไม่กี่หมู่บ้าน ที่ยังคงสืบทอดวิธีดั้งเดิมในการทอผ้าพื้นเมือง
เช่น ซิ่นยก ซิ่นลายขิด ซิ่นด่าน ซิ่นหมี่ ของชาวบ้านก้างปลา บ้านนาอ้อ อำเภอเมือง
ฯ
เครื่องมือในการทอผ้าของชาวไทเลยประกอบด้วยอิ้วฝ้าย
สำหรับแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย หลา
สำหรับปั่นฝ้ายให้เป็นเส้นด้าย เบี้ย อุปกรณ์สำหรับพันเส้นด้ายที่ออกจากหลา
แป้นทำล่อฝ้าย สำหรับรองฝ้ายเพื่อล่อฝ้ายให้เป็นหางสำลี ก่อนนำไปปั่นเป็นเส้นด้าย
กวัก
เป็นอุปกรณ์ในการกรอเส้นด้าย
หางเห็น
สำหรับเสียบกวัก เพื่อกรอเส้นด้ายกง สำหรับกวักด้ายเพื่อนำไปเฝีย สำหรับคันหูกเพื่อนำไปเป็นผืนผ้า
พึม สำหรับเรียงเส้นด้ายเพื่อทดแทนเข้าพึม
สำหรับเรียงเส้นด้าย ที่จัดทำลวดลายสำเร็จ เป็นชุดกระสวยสำหรับใส่หลอดด้ายเล็ก
ๆ แล้วใช้ทอพุ่งเส้นด้าย และ กี่
สำหรับทอผ้าให้เป็นผืน
ขั้นตอนการทอผ้าโดยสังเขปดังนี้คือการย้อมเส้นด้าย การนำด้ายไปกรอเข้ากับหลอดด้าย
นำด้ายที่กรอแล้วไปด้น (เดินด้าย) สอดพึม การสึบหูก การเก็บเข้าพึม เก็บลาย
ทอผ้า
ผ้าหม้อนิล
เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเลย เป็นที่นิยมและรู้จักกันทั่วไป วัตถุดิบที่ใช้ในการทำผ้าหม้อนิลแบบโบราณได้แก่
ต้นคราม หรือต้นห้อม สำหรับหมักเป็นน้ำครามเพื่อสกัดให้ได้สีสำหรับย้อมผ้า
น้ำด่างจากขี้เถ้าสำหรับเป็นส่วนผสมของสีห้อมที่ได้จากต้นห้อม แป้งมันสำหรับลงผ้าหม้อนิลเพื่อให้รีดเรียบง่าย
ศาสนาและประเพณี
ชาวเลยใช้หลักคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าเหมาะสมต่อการดำเนินชีวิต
เช่น อาฮักหลักเมือง อันเป็นประเพณีที่ชาวไทเลยทำสืบต่อกันมาเพื่อขออภัยและขอความคุ้มครอง
ส่วนใหญ่จะมีพิธีเลี้ยงผีอาฮักหลักเมืองปีละครั้งในช่วงสงกรานต์ บางหมู่บ้านอาจมีการเลี้ยงหลายครั้ง
เช่น ก่อนเข้าพรรษา หลังออกพรรษา ก่อนลงมือทำไร่ทำนา หรือหลังการเก็บเกี่ยว
และเรียกอีกอย่างว่า เลี้ยงขึ้นเลี้ยงลง
การนับถืออาฮักหลักเมืองเป็นการทำความดีตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่สอนให้มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
กตัญญู เคารพในบรรพบุรุษ ปัจจุบันการเลี้ยงอาฮักหลักเมืองมีให้เห็นตามชนบทมากกว่าในเมือง
นอกจากนี้ไทเลยยังมีความเชื่อเรื่องเสนียดจัญไรมาแต่โบราณ คือมีความเชื่อเรื่องขะลำ
ซึ่งหมายถึงสิ่งต้องห้ามหรือนอกรีตประเพณี
ถ้าปฏิบัติแล้วไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกต้องมักจะถูกว่ากล่าวตำหนิจากผู้ใหญ่
ทำให้ลูกหลานเกรงกลัว และละอายต่อการทำผิด เพราะกลัวจะถูกตราหน้าว่าเป็นคนขะลำ
คนที่มีพฤติกรรมนอกรีตมักถูกสังคมรังเกียจเหยียดหยาม ทำให้ทุกคนไม่กล้าทำความผิด
ขะลำที่บรรพบุรุษไทเลยห้ามปฏิบัติมีดังนี้คือ ห้ามเหยียบธรณีประตู ห้ามเลี้ยงหมาตัวเมีย
ห้ามผู้หญิงตั้งครรภ์เย็บผ้า ห้ามสระผมวันพฤหัสบดี ห้ามผิวปากเวลากลางคืนห้ามนั่งขวางประตู
ห้ามลืมสากไว้ในครก ห้ามตากผ้าซิ่น (ผ้าถุง) ไว้หน้าบ้าน ห้ามผ่าฟืนวันพระ
ฯลฯ
เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
หัตถกรรม
เป็นงานศิลปะพื้นบ้านแขนงหนึ่ง ในส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทเลย มีดังนี้
ผ้านวม
เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีชื่อเสียงของอำเภอเชียงคาน วัสดุที่ใช้สามารถทำได้เองได้แก่กงหรือเฝียที่ทำจากไม้
หรือเหล็กเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ไม้สำหรับใช้แกว่งอัดฝ้ายที่หีบหรือดีดแล้ว
ขั้นตอนการทำเริ่มจากนำปุยฝ้ายหีบเม็ดออกแล้วและดีดจนฟูเป็นปุย มาแผ่เป็นแผ่นเรียงต่อกันหลาย
ๆ ผืนให้เสมอกันตามขนาด และน้ำหนักตามที่ต้องการ จะมีตั้งแต่ขนาดเล็กสุดจนถึงใหญ่สุดประมาณ
๑ - ๓ กิโลกรัม จากนั้นก็ใช้ด้ายตวัดไปมาทางขวางสองรอบ ทางตรงสามรอบ
และทางเฉียงสามรอบ จากนั้นนำตารางเล็ก ๆ ที่เกิดจากการตวัดด้าย ทาบลงบนผืนปุยฝ้ายเพื่อให้เส้นด้ายติดกับปุยฝ้ายแน่นสนิท
เสร็จแล้วจึงกลับอีกด้านหนึ่งทำอย่างเดียวกัน เมื่อนำมาใช้จะใช้ผ้าชั้นนอกหลากสี
หรือปลอกผ้านวมมาสวมซ้อนไว้เพื่อให้ใช้ห่มได้ตามสบาย
กุบไทเลย
เป็นหมวกที่เกษตรกรใช้สวมใส่ในไร่นา มีรูปแบบเฉพาะเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากงอบของภาคกลางอย่างชัดเจน
การสานกุบเริ่มขึ้นในเมืองเลย กว่า ๒๐๐ ปีมาแล้ว ที่หมู่บ้านก้างปลา ตำบลนาอ้อ
อำเภอเมือง ฯ ปัจจุบันการใช้กุบลดลงมาก เนื่องจากมีราคาสูงกว่างอบ มีน้ำมากเพราะสานด้วยไม้ไผ่
หาซื้อได้ยาก คนส่วนใหญ่จึงหันไปใช้งอบแทน
ขนบธรรมเนียมประเพณี
ชาวไทยเลย มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ยึดมั่นศรัทธาในศาสนา และปฎิบัติตามขนบธรรมเนียมอย่างเคร่งครัด
มีประเพณีที่ควรทราบคือ
ประเพณีบุญหลวง
เป็นงานบุญที่ชาวบ้านได้ปฎิบัติสืบทอดกันมา แต่สมัยโบราณ เป็นการรวมเอาบุญเผวส
และบุญบั้งไฟเป็นบุญเดียวกัน นิยมจัดในเดือนเจ็ด เพื่อบูชาอารักษ์หลักเมือง
เป็นประเพณีทำบุญขอฝน ส่วนมากนิยมจัดสองวัน
ก่อนถึงวันงาน จะมีการเตียมงานโดยบรรดาชาวบ้าน ผู้เฒ่า ผู้แก่ หนุ่มสาว พากันไปที่วัดเพื่อช่วยกันทำที่พัก
ตกแต่งประดับศาลาโรงธรรมด้วยดอกไม้ พวงมาลัย ธงทิว สำหรับคนแก่ก็มักจะทำหมากพันคำ
เมี่ยงพันคำ เทียนพัน ธูปพัน และข้าวตอกดอกไม้ เพื่อบูชาพระ ดอกไม้ที่จัดมีดอกบัวพันดอก
ดอกผักตบชวาพันดอก นิยมทำด้วยไม้เนื้ออ่อน กระดาษสี ใบลาน หรือใบตาล นำด้ายสายสิญจ์มาขึงรอบศาลาโรงธรรมทั้งแปดทิศ
เชื่อว่าป้องกันพญามาร
วันแรกของงานเรียก
วันโฮม
ชาวบ้านจะมารวมกันที่วัด โดยเริ่มพิธีตั้งแต่เช้ามืด ประมาณตีสี่ถึงตีห้า
มีพิธีแห่พระอุปคุด
รอบหมู่บ้าน โดยนำหินก้อนโตพอสมควรจำนวนสามก้อน ไปวางไว้ในวังน้ำ หรืออาจวางไว้ในที่ใดที่หนึ่งใกล้วัด
โดยได้รับสมมติให้เป็นพระอุปคุด เมื่อแห่ไปถึงจะมีผู้หยิบก้อนหินชูขึ้น แล้วถามว่าใช่พระอุปคุดหรือไม่
สำหรับสองก้อนแรกจะตอบว่า "ไม่ใช่" พอถึงก้อนที่สามชาวบ้านจะตอบว่า
"ใช่ " จึงกล่าวคำอาราธนาพระอุปคุด แล้วอัญเชิญก้อนหินก้อนที่สามใส่ลงในพาน
ที่เตรียมไว้ มีการจุดประทัด ยิงปืน พร้อมทั้งมีเครื่องดนตรีประกอบในขบวนแห่เข้าไปในวัด
เพื่อเป็นการประดิษฐานพระอุปคุดที่หอข้างศาลาโรงธรรม หลังจากนั้นชาวบ้านก็จะร่วมฟังธรรม
วันที่สองของงาน
เป็นพิธีอัญเชิญพระเวสสันดร
และพระนางมัทรีเข้าเมือง
จะเริ่มแห่เวลาประมาณ สามโมงถึงสี่โมงเย็น โดยอัญเชิญพระพุทธรูปหนึ่งองค์
และพระภิกษุสี่รูป ขึ้นนั่งบนเสลี่ยงก่อนเริ่มแห่พระเวสสันดรและพระนางมัทรี
เมื่อเสร็จพิธีแห่โดยมีรูปภาพเกี่ยวกับเรื่องพระเวสสันดร และมีขบวนบั้งไฟร่วมด้วย
โดยเจ้ากวน จะถูกเชิญขึ้นนั่งบนบั้งไฟ พอขบวนถึงวัดวนรอบศาลาโรงธรรมสามรอบ
จึงนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ที่เดิม ชาวบ้านร่วมฟังเทศน์มหาชาติ ทั้งสิบสามกัณฑ์จนจบ
จากนั้นนำด้ายสายสิญจ์ที่ขึงไว้รอบศาลาโรงธรรม มาผูกที่ข้อมือเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล
ประเพณีแห่ผีตาโขน
เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของภาคอีสาน นิยมเล่นในงานบุญพระเวส
หรือที่ทางภาคกลางเรียกว่า เทศน์มหาชาติ และงานบุญบั้งไฟ โดยการสวมหน้ากากที่ทำจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น
เช่น หวดนึ่งข้าวเหนียว ก้านมะพร้าว ตกแต่งระบายสี เขียนหน้าตาให้น่ากลัว
แต่กายโดยใช้เศษผ้ามาตัดเย็บ มีอุปกรณ์ต่าง ๆ กระป๋อง กระดึงแขวน แห่แหนกันอย่างสนุกสนาน
เมื่อจังหวัดเลย ได้จัดงานบุญหลวงขึ้นในเขตสุขาภิบาล อำเภอด่านซ้าย โดยจัดเป็นงานประจำปี
โดยมีผีตาโขนเป็นจุดเด่นของงาน จึงมักเรียกกันว่า ประเพณีแห่ผีตาโขน
จากความเชื่อที่ว่า ผีตาโขนมาจากผีป่า ผีเปรต และผีทั้งหลาย ที่ตามมาส่งเสด็จและคุ้มครองพระเวสสันดรถึงเมืองแล้ว
ยังมีความเกี่ยวโยงกับตำนานพระธาตุศรีสองรัก ซึ่งเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์
เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย - ลาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหมัน โดยเชื่อกันว่าพระธาตุศรีสองรัก
เป็นที่สถิตของดวงวิญญาณชายหญิงคู่หนึ่ง ซึ่งรักกันมาก และถูกผู้ใหญ่กีดกัน
จึงได้หลบหนีไปแอบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ และเสียชีวิตอยู่ในอุโมงค์นั้นทั้งคู่
ชาวบ้านเชื่อว่าดวงวิญญาณของคนทั้งสอง ยังคงเฝ้าดูและรักษาองค์พระธาตุศรีสองรัก
ปรากฎเป็นเจ้าพ่อกวน และเจ้าแม่เทียม ที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมาก ครั้นนานเข้ามีผู้ที่ตายภายหลัง
เป็นวิญญาณ ขอเป็นบริวารมากขึ้น เมื่อถึงงานบุญพระเวส ดวงวิญญาณเหล่านั้นก็ออกมาช่วยกันทำพิธีแห่แหน
เพื่อให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข และเป็นสิริมงคลแก่หมู่บ้าน
พิธีเข้ากรรม
นิยมทำกันในเดือนอ้าย เป็นพิธีทำบุญโดยให้พระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส
ซึ่งเป็นครุอาบัติ จะต้องทำพิธีเข้ากรรม โดยการจัดให้เข้าไปอยู่ในเขต หรือที่จำกัด
เพื่อให้หายจากกรรม หรือพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำไว้ และเป็นการชำระจิตให้หายจากความมัวหมอง
วิธีการเข้ากรรม จะต้องเลือกสถานที่สงบเงียบ ก่อนจะทำการเข้ากรรม ภิกษุรูปที่ต้องอาบัติ
จะต้องบอกกับภิกษุอีกสี่รูปให้รับทราบไว้ด้วย การเข้ากรรมจะอยู่เก้าราตรี
ราตรีแรก เรียกว่า อยู่ปริวาส
เมื่อจะเข้าปริวาสให้กล่าวคำสมาทานต่อสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่า
และสามารถสวดให้ปริวาสได้ ตอนหกราตรี เรียกว่า อยู่มานัตต์
ซึ่งจะกล่าวสวดคาถาเข้ามานัตต์ ต่อหน้าสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ผู้แก่พรรษากว่า และสามารถสวดให้มานัตต์ได้ จึงประพฤติให้ครบหกราตรี เมื่อเข้ากรรมครบกำหนดแล้ว
ก็ออกจากกรรม โดยจะต้องมีพระสงฆ์ ๒๐ รูป ให้อัพภาน
ภิกษุผู้ออกจากกรรมแล้วถือว่า เป็นผู้หมดมณฑล
ในวันที่พระภิกษุออกจากกรรม จะมีการทำบุญให้ทาน ฟังเทศน์ ฟังธรรม และถือว่าผู้ที่ได้ไปทำบุญแด่
พระภิกษุสงฆ์ในบุญเข้ากรรม จะได้ผลบุญกุศลมาก
บุญซำฮะ
นิยมทำในเดือนเจ็ด เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งเสนียดจัญไร อันทำให้เกิดเหตุเพทภัยต่าง
ๆ บางแห่งทำเมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
การทำบุญซำฮะ ชาวบ้านจะพากันตั้งผาม หรือปะรำขึ้นกลางหมู่บ้าน หรือที่อื่นที่เหมาะสม
ผูกต้นกล้วยไว้ที่เสาทั้งสี่ เตรียมอาสนะสงฆ์ กรวดทรายซึ่งนำไปจากบ้าน หลักไม้ไผ่แปดหลัก
พร้อมเครื่องไทยทาน น้ำพระพุทธมนต์ ฝ้ายผูกแขนและเทียนเวียนหัว (เทียนยาวขนาดวัดได้เท่ากับ
หนึ่งรอบศีรษะ) ครอบครัวละเล่ม แล้วนิมนต์พระสงฆ์ตั้งแต่สี่ถึงเก้ารูป
ขึ้นไป เพื่อมาเเจริญพระพุทธมนต์ในตอนเย็น พอวันรุ่งขึ้นถวายอาหารบิณฑบาต
และเครื่องไทยทานแด่พระสงฆ์ พระสงฆ์จะประพรมน้ำมนต์ให้ชาวบ้าน โดยใช้หญ้าคามัดเป็นกำแล้วจุ่มลงในน้ำพระพุทธมนต์
คนเฒ่าคนแก่จะผูกผ้าให้กับลูกหลาน แล้วหว่านกรวดทรายไปตามละแวกบ้าน เอาหลักแปดหลักที่เตรียมไว้ในทิศทั้งแปด
ขึงด้ายสายสิญจ์จนรอบหมู่บ้าน เชื่อว่าเป็นการป้องกันเสนียดจัญไร บางแห่งอาจใช้หญ้าคาควั่นเป็นเส้นยาว
ๆ แทนก็ได้ ถ้าเกิดสงสัยว่าชะตาบ้านชะตาเมือง จะขาด ให้ทำพิธีตอกหลักบ้านหลักเมือง
หรือสงสัยว่าอาจจะเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน อาจมีเทพยดา อารักษ์ เป็นบ่อน้ำ
ป่าช้า หรือเป็นวัดมาก่อน ให้ทำพิธีถอนหลักบ้านหลักเมืองก่อน แล้วจึงตอกหลัก
การทำบุญซำฮะจะทำกันสามวันสามคืน มีการฟังเทศน์ทุกเย็นและตักบาตรทุกเช้า
ส่วนในวันสุดท้าย ชาวบ้านจะนำสิ่งปฏิกูลของเสียต่าง ๆ ขนไปทิ้งนอกหมู่บ้าน
หรือทำการเผาฝังให้บริเวณบ้านสะอาดเรียบร้อย ถือว่าเป็นการนำเอาสิ่งที่เป็นอัปมงคลออกไปจากบ้าน
จะทำให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
บุญแจกข้าว
เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วประมาณไม่เกินหนึ่งปีหรือนานที่สุดไม่เกินสามปี
ซึ่งจะทำการอย่างใหญ่ ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนมากนิยมทำกันในเดือนสี่
การทำบุญแจกข้าวนี้จะเจาะจงลงไปเลยว่าจะอุทิศส่วนกุศลให้แก่ใคร และชาวอีสานยังถือว่า
คนที่ถึงแก่กรรมแล้ว ต้องได้กินข้าวแจก หากผู้ใดถึงแก่กรรมแล้วไม่มีใครทำบุญแจกข้าวให้
จะต้องได้รับความอดอยากและไม่ไปผุดไปเกิด และหากตระกูลใดมีญาติสนิทถึงแก่กรรมแล้ว
ไม่ทำบุญแจกข้าวไปให้จะเป็นที่ดูหมิ่นอย่างมาก
การทำบุญแจกข้าว ก่อนวันงานจะมีการบอกกล่าวต่อญาติพี่น้องทุกคนและเพื่อนบ้านใกล้เคียง
เมื่อถึงกำหนดวันงานในตอนกลางวัน จะมีการตกแต่งเครื่องไทยทาน ซึ่งเรียกว่า
"หออัฏฐะ" หมายถึงการจัดอัฐบริขารนั่นเอง
มีการจัดข้าวปลาอาหารเลี้ยงผู้คนที่มาร่วมงาน บางครั้งในงานนี้อาจจะมีการบวชนาคไปด้วย
ตอนเย็นจะมีการฟังเทศน์ ตอนกลางคืนจะมีมหรสพสมโภชไม่ว่าจะเป็นหมอลำ กลองยาว
ภาพยนต์ ฯลฯ
ในตอนเช้าจะถวายอาหารบิณฑบาตและเครื่องไทยทานแด่พระภิกษุสงฆ์ โดยนิมนต์มาที่บ้านของเจ้าภาพก็ได้หรือจะนำไปที่วัด
เพราะได้ถวายแด่พระภิกษุ สามเณรทั้งวัดโดยทั่วกัน มีการถวายผ้าบังสุกุล
เสร็จแล้วฟังเทศน์ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล และเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงาน
ในขณะถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์นั้น จะมีการแต่งสำรับกับข้าวไปตั้งไว้แห่งใดแห่งหนึ่ง
พร้อมกับจุดเทียนบอกกล่าวกับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้มากินอาหารและรับเอาส่วนกุศลที่อุทิศให้ด้วย
ประเพณีดอกฝ้ายบ้าน มะขามหวาน เมืองเลย
เป็นประเพณีที่ทำกันมาช้านาน แต่เดิมใช้ชื่อว่า งานดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย
จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ - ๗ กุมภาพันธ์ ของทุกปี ที่ศาลากลางจังหวัด เริ่มพิธีด้วยขบวนแห่ของแต่ละอำเภอ
ที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรมของชาวไทเลย มีการออกร้านกาชาด
ร้านศิลปวัฒนธรรม การประกวดผลิตผลทางการเกษตร การประกวดไทเลย การจัดงานพาข้าวแลง
ฯลฯ
บุคคลสำคัญของจังหวัดเลย
บุคคลสำคัญยุคสร้างบ้านแปงเมือง
ผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องเกียรติคุณ ได้แก่ เจ้าผู้ครองเมิงซายขาว (ทรายขาว)
เซไล เท่าที่ปรากฏตามตำนานมีตามลำดับดังนี้
พ่อเจ้าฟ้า
ได้นำผู้คนอพยพลงมาจากตอนเหนือทางหลวงพระบาง มาตั้งบ้านเมืองอยู่ริมแม่น้ำในเขตอิทธิพลขอม
เรียกว่า เมิงซายขาว ได้สร้างวัดคู่คำ เมื่อปี พ.ศ.๑๒๐๐ มีบุตรสืบเชื้อสายปกครองบ้านเมืองสืบต่อมาตามลำดับ
เจ้าฟ้าร่มขาว
ได้ปกครองบ้านเมืองสืบต่อมาจากองค์ก่อน ๆ ได้บูรณะหนองน้ำ ขุดลอกและนำบัวหลวงมาปลูก
เรียกว่า สระบัวหลวง ได้บูรณะวัดกู่คำที่พ่อเจ้าฟ้าสร้างไว้เมื่อปี
พ.ศ.๑๒๐๐
เจ้าหล่าน้ำ
ได้ปกครองเมืองสืบต่อจากเจ้าฟ้าร่มขาว ได้สร้างวัดเทิงขึ้นเป็นอนุสรณ์ ปัจจุบันเป็นวัดร้างเหลือเพียงซากโบราณสถานอยู่ใกล้กับโรงเรียนบ้านทรายขาว
เจ้าศิลา
ปกครองเมืองต่อจากเจ้าหล่าน้ำ ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๕๕ - ๒๐๙๐ ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยได้สร้างวัดทุ่งนาคันทุง
มีบุตรชายชื่อเจ้าสายเดือน
เจ้าสายเดือน
ปกครองบ้านเมืองระหว่างปี พ.ศ.๒๐๙๐ - ๒๑๖๒ ต่อจากเจ้าศิลา ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่ง
เช่น วัดกุคำ วัดเทิง วัดตาล ได้ไปร่วมสมโภชวัดพระธาตุศรีสองรัก และวัดห้วยห้าว
เจ้าเดือนสุข
ปกครองบ้านเมืองระหว่างปี พ.ศ.๒๑๖๒ - ๒๒๑๗ ต่อจากเจ้าสายเดือน ยุคนี้บ้านเมืองเกิดภาวะฝืดเคือง
ต่อมาเกิดอาเพท ชาวเมืองต่างพากันอพยพออกจากเมืองเพื่อหนีอาเพท เป็นเหตุให้เมืองร้างไม่มีผู้อยู่อาศัย
และผู้ปกครองสืบต่อมา เมืองทรายขาว ก็ถึงกาลล่มสลายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พระแก้วอาสา (ท้าวกองแสง)
เคยดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองด่านซ้าย เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๕ เป็นบุตรพระมหาณรงค์
ได้ศึกษาวิชาความรู้ด้านการปกครองจากบิดา และวิชาต่าง ๆ เช่น อักขระจากวัด
นอกจากนั้นยังได้เรียนวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวจากอาจารย์ที่มีความรู้ในสมัยนั้น
ปรากฏว่าท่านเป็นผู้มีความรู้เป็นเยี่ยมทั้งในด้านหนังสือ และวิชาการเกี่ยวกับการรบ
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๑๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้มีพวกฮ่อเข้ามายึดแคว้นหลวงพระบาง
ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในราชอาณาจักรไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้ นายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ซึ่งต่อมาได้เป็น จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
(เจิม แสงชูโต) เป็นแม่ทัพใหญ่ไปปราบฮ่อ มีนายร้อยเอก หลวงบรมราชวรานุรักษ์
เป็นผู้อำนวยการใหญ่ในการระดมพล ในเขตเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย
และเมืองพิชัย เข้าสมทบกัวบทหารทางกรุงเทพ ฯ ไปทำการปราบฮ่อ
ทหารเมืองด่านซ้าย ซึ่งเป็นเมืองจัตวาขึ้นกับเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นหัวเมืองเอก
ก็ได้ถูกเกณฑ์ไปในการปราบฮ่อครั้งนั้นด้วย พระแก้วอาสา เจ้าเมืองด่านซ้ายได้ทำหน้าที่เป็น
ผู้บังคับกองทหารเมืองด่านซ้าย จำนวนประมาณ ๑๐๐ คนเศษ โดยเลือกเอาแต่ผู้เก่งกล้าสามารถ
และอยู่ยงคงกระพันทั้งสิ้น
การปราบฮ่อครั้งนั้น ใช้เวลานานประมาณ สิบปี โดยได้ออกเดินทางจากเมืองด่านซ้ายประมาณปี
พ.ศ.๒๔๒๐ ได้ทำการรบกับฮ่ออย่างกล้าหาญหลายครั้ง จนการปราบฮ่อของไทยได้ชัยชนะเด็ดขาด
เมื่อปี พงศ.๒๔๓๐ เสร็จการปราบฮ่อแล้ว พระแก้วอาสา (ท้าวกองแสง) ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น
พระแก้วอาสา
|