ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ชาวเลยได้ประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านานจนเป็นวิถีชีวิตในเรื่องความเป็นอยู่
การทำมาหากิน กิริยามารยาท การแต่งกาย การกินอยู่ ฯลฯ
การแต่งกายชุดประจำถิ่น
ได้นำเอาการแต่งกายที่ปรากฏในจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถวัดโพธิชัย บ้านนาพึง อำเภอนาแห้ว
มาเป็นต้นแบบ และได้ประยุกต์เป็นชุดแต่งกายชุดต่าง ๆ คือ
สำหรับสตรี
เป็นชุดไทยเลย แบบแขนสั้นสามส่วน เอว ชุดไทเลยแบบผ้าคาดอก ชุดเซไลชายขาว ซึ่งประยุกต์จากชุดไทยลาว
ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
รูปแบบ เป็นเสื้อคอกลมผ่าอกตลอด
ติดกระดุม ปล่อยชายอยู่นอกผ้าซิ่น แขนสั้นหรือแขนสามส่วนหรือมีลายเดียวกับผ้าซิ่น
ผ้าซิ่นใช้ผ้าฝ้ายที่ทอในจังหวัดเลย และมีลวดลายพื้นเมืองโบราณของเมืองเลย
นุ่งเป็นผ้าซิ่น หรือตัดเป็นผ้าซิ่นสำเร็จรูป ด้านหน้าจับจีบหุบไปด้านซ้าย
ความยาวคลุมเข่า ผ้าซิ่นที่มีเชิงในตัว เช่น ผ้ามุกเขาเดียว มุกลายชิด มุกลายราชวัติ
ผ้าซิ่นที่ไม่มีเชิงในตัวต้องตัดตีนซิ่นและหัวซิ่นที่มีลายพื้นเมืองโบราณของเมืองเลยมาทำเป็นเชิง
เช่น ผ้ามัดหมี่ มัดหมี่แซมดิ้นทองหรือเงิน หรือผ้าไหมยกแซมด้วยดิ้นทอง หรือเงินผ้าสไบ
ผ้าสีล้วนหรือลายเดียวกันกับผ้าซิ่น หรือใช้ผ้าหัวซิ่นหรือตีนซิ่นที่มีลายพื้นเมืองโบราณของเมืองเลย
ใช้ผ้าเบี่ยงกับเสื้อแขนสามส่วน
โอกาสที่ใช้
แบบแขนสั้นใช้สำหรับชุดทำงาน ไปวัด แบบแขนสามส่วนใช้สำหรับชุดทำงาน
ไปวัด งานบวชนาค งานแต่งงาน งานทำบุญบ้าน แบบชุดมีผ้าเบี่ยง ใช้สำหรับงานบุญประเพณี
เช่น งานปีใหม่ สงกรานต์ งานดอกฝ้ายบาน งานแต่งงาน งานทำบุญบ้าน งานพิธีการ
หรืองานราชพิธี งานรัฐพิธี
สำหรับบุรุษ
เป็นชุดไทเลย แขนสั้น และชุดไทยเลย แขนยาว
การกินอยู่
ในจังหวัดเลยมีขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับการกินอยู่ที่นิยมประพฤติปฏิบัติสองลักษณะคือ
ธรรมเนียมเกี่ยวกับน้ำกินน้ำใช้
ไทเลยในอดีตแบ่งน้ำออกเป็นสามประเภทคือน้ำล้างเท้า น้ำอาบและน้ำดื่ม แต่ละหมู่บ้านจะมีการขุดบ่อน้ำเป็นบ่อสาธารณะ
ที่ทุกคนในหมู่บ้านมีสิทธิ์ใช้ร่วมกัน ส่วนบ้านใดมีฐานะดีมักขุดบ่อน้ำส่วนตัวไว้ในเขตบ้านของตน
โดยมักจะขุดห่างจากบ้านมากที่สุด แล้วก่ออิฐถือปูนเป็นรูปวงกลม ปากบ่อก่อขึ้นสูงจากพื้นดินสูงประมาณระดับเอว
และมักใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะทึบ เป็นรูปสี่เหลี่ยมปิดปากบ่อกันสิ่งสกปรกตกลงไปในบ่อน้ำ
การตักน้ำจากบ่อ เดิมนิยมใช้ภาชนะที่เรียกว่า ป่อม
(กระชุ) สานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยชันกันน้ำรั่ว ผูกด้วยเชือกยาวเกินกว่าความลึกของระดับน้ำในบ่อเล็กน้อย
ใช้ตักน้ำขึ้นจากบ่อ บางบ้าน ระดับน้ำในบ่ออยู่ลึกมาก ต้องใช้เครื่องทุ่นแรงที่เรียกว่า
คันธง
เป็นเครื่องมือตักน้ำ โดยทำคล้ายครกกระเดื่อง แต่ทำด้วยไม้ไผ่ยาว ถ่วงด้านที่กระดกติดดินให้หนักด้วยไม้ท่อนขนาดย่อม
ปลายไม้ไผ่ชี้สูง ผูกด้วยเชือกที่มีป่อมผูกติดเชือกยาว เมื่อจะตักน้ำจะใช้วิธีดึงเชือกผูกป่อมลงในบ่อ
เมื่อป่อมตักน้ำจนเต็มแล้วก็สาวเชือก ดึงป่อมขึ้นมา จะเบาแรงกว่าการสาวเชือกโดยตรง
การทำความสะอาดบ่อน้ำนั้น ในแต่ละปีจะมีการล้างบ่อน้ำ เรียกว่าการขะน้ำสร้าง
โดยชาวบ้านจะช่วยกันใช้ไม้ไผ่ยาวคนตะกอนที่ตกอยู่ก้นบ่อ แล้วตักน้ำออกจนบ่อแห้ง
นิยมทำในช่วงสงกรานต์ เป็นการเตรียมน้ำสะอาดไว้เล่นในช่วงสงกรานต์ บ่อน้ำใดเลิกใช้แล้วจะเปิดปากบ่อน้ำทิ้งไว้ให้บ่อตื้นเขิน
ผุพังไปตามกาลเวลา จะไม่ถมบ่อน้ำเพราะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล
การใช้น้ำของไทเลย มีธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวอีสานทั่วไป โดยน้ำที่ใช้ล้างเท้า
ไม่ต้องสะอาดมากนัก แต่ละบ้านจะมีตุ่มใส่น้ำที่เรียกว่า ไหน้ำ
อยู่ที่เชิงบันได ใช้ล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน ส่วนน้ำสำหรับอาบจะตักจากบ่อน้ำมาใส่ตุ่มในห้องน้ำ
นิยมห้องน้ำแยกจากตัวบ้านและห่างจากบ่อน้ำพอประมาณ สำหรับน้ำดื่ม หรือน้ำสำหรับปรุงอาหาร
เป็นน้ำสะอาดที่สุด อาจเป็นน้ำฝน หรือน้ำที่ตักจากบ่อน้ำที่น้ำใสสะอาดน้ำอยู่ลึก
เมื่อตักมาแล้วจะนำมาใส่ในตุ่มน้ำดื่มที่ทำด้วยดินเผา ตั้งไว้สูงบนฮ้านตุ่มน้ำซึ่งเป็นร้านน้ำมีหลังคา
มักตั้งอยู่ปลายชานบ้าน ใช้กระบวยที่ทำจากกะลามะพร้าวตักน้ำดื่ม น้ำใช้ใส่ไว้ในไหดินเผาขนาดใหญ่
ตั้งไว้ปลายสุดชานบ้านใกล้กับครัวใน (ห้องครัว) ที่แยกออกไปต่างหาก
ธรรมเนียมเกี่ยวกับอาหารและการบริโภคอาหาร
เนื่องจากไทเลยส่วนใหญ่นิยมบริโภคข้าวเหนียวเป็นหลัก จึงต้องมีภาชนะสำหรับนึ่งข้าวคือ
หม้อนึ่ง ซึ่งเดิมเป็นหม้อดิน และหวดซึ่งทำจากไม้ไผ่ เมื่อนึ่งข้าวเหนียวสุกแล้วจะนำข้าวเหนียวที่สุกดีแล้วใส่ในกระติ๊บข้าว
หรือแอ๊บข้าว ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่พร้อมนำไปบริโภค
อาหารพื้นเมืองที่ไทเลยนิยมบริโภคมีทั้งที่เป็นอาหารคาว ขนม ของขบเคี้ยวและผลไม้
อาหารส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจาก
วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นหลัก
อาหารคาว
ใช้กินกับข้าวเหนียว ในแต่ละมื้อมักมีอาหารเพียงอย่างเดียว หรือสองอย่าง แบ่งออกได้เป็น
แกง ซุบ (ยำ) ลาบ ส้า แจ่ว (น้ำพริก) อาหารนึ่ง อาหารที่ห่อแล้วปิ้งย่าง
ขนม เป็นอาหารที่ทำในโอกาสพิเศษ
ที่นิยมทำกันได้แก่ ข้าวปาด ข้าวเหนียวแดง ข้าวมัน ข้าวต้ม หัวหงอก ข้าวสินเม็ด
(ข้าวนาวเล็ก) เป็นต้น ในอดีต ไทเลยส่วนใหญ่ไม่นิยมกินขนม หรือของหวาน หลังอาหาร
ของขบเคี้ยว
เป็นอาหารว่าง ใช้กินเพื่อความเพลิดเพลิน ที่นิยมได้แก่ เมล็ดมะขามคั่ว มะค่าจี่
ลูกก่อคั่ว เป็นต้น
ผลไม้
นิยมกินผลไม้ตามฤดูกาล เช่น ฝรั่ง มะม่วง มะขาม ลำใย มะละกอ มะปราง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีผลไม้ป่าอีกหลายชนิด เช่น หมากตูม (มะตูม) หมากหวด (มะหวด)
หมากมอนไข่ (ท่อก) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ทำในเทศกาลต่าง ๆ ส่วนใหญ่เพื่อทำบุญและเลี้ยงญาติพี่น้อง
ที่มาชุมนุมในเทศกาลต่าง ๆ เช่น สงกรานต์ เข้าพรรษา ออกพรรษา ทำบุญเดือนยี่
เป็นต้น อาหารที่นิยมทำได้แก่ เมี่ยงทุน และขนมต่าง ๆ เช่น ข้าวต้มมัด
ขนมแหนบ (ขนมเทียน) ขนมกล้วย ข้าวตอก ข้าวเหนียวแดง และข้าวมัน เป็นต้น
อาหารพิเศษ
ที่บริโภคเฉพาะฤดูกาล คือ ฤดูแล้ง
ได้แก่ ไข่มดแดง ผักหวานป่า ผักสร้าง ผักเสี้ยว หน่อไม้ บอน อีลอก เป็นต้น
ฤดูฝน
มีหน่อไม้ชนิดต่าง ๆ เห็ดเผาะ และเห็ดป่าชนิดอื่น ๆ แมงมัน แมงเม่า แมงกระชอน
จิดนาย (จิ้งหรีด)
ฤดูหนาว
ได้แก่ ผักกาดต่าง ๆ สะเดา เป็นต้น
คติเกี่ยวกับการกิน
ในอดีตมีทั้งข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติในการกินคือ อาหารในงานศพ ห้ามแกงหยวกกล้วย
ขนมจีบ แกงฟัก แกงวุ้นเส้น อาหารที่ห้ามนำมาเลี้ยงแขกที่มาเยือนคือ
อาหารที่ทำจากเป็ดและหอย โดยเชื่อว่าอาหารที่ทำจากเป็ด จะทำให้เกิดการแตกแยก
และอาหารที่ทำจากหอยจะทำให้ความรักจืดจาง
นอกจากนี้ยังห้ามหญิงสาวกินผลไม้แฝด ห้ามคนท้องกินอาหารหวานจัดและของหมักดอง
ห้ามกินผักลิ้นไม้ (เพกา)
ห้ามเด็กกินตับไก่ตีนไก่เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กเขียนหนังสือไม่สวย
ห้ามคนป่วยกินของแสลงได้แก่ฝรั่ง ขนุน แตงกวา แตงโม เชื่อว่าจะทำให้ไข้ขึ้นสูงจนอาจถึงตายได้
ห้ามคนมีบาดแผลกินไข่และเนื้อไก่เพราะจะทำให้แผลหายยาก และในการคดข้าวเหนียวจากติ๊บข้าวหรือก่องข้าวเพื่อนำมากิน
ห้ามคดข้าวเฉพาะตรงกลาง โดยเหลือข้าวซึ่งเย็นและแข็ง เป็นการเอาเปรียบผู้มาคดทีหลัง
แม่ลูกอ่อนที่ให้ลูกดื่มนมต้องกินหัวปลีต้ม เพื่อเร่งน้ำนมให้มากขึ้น และเมื่อคลอดลูกใหม่
ๆ ขณะอยู่ไฟให้กินข้าวจี่ กับเกลือและเนื้อปิ้ง ให้กินน้ำต้มบูเลย (ไพล) เพื่อให้มดลูกแห้งเร็ว
ในอดีต ชาวไทเลยนิยมนั่งล้อมวงบนเสื่อรอบนาข้าว กินอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัว
โดยให้เกียรติผู้สูงอายุในบ้าน หรือหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้เริ่มกินอาหารก่อน
แล้วคนอื่นจึงกินตาม
กิริยามารยาท
ชาวไทเลยมีกิริยาวาจาในการแสดงออกค่อนข้างเปิดเผย ไม่มีการเสแสร้ง การพูดจาใช้ภาษาถิ่นเลย
เสียงพูดไพเราะนุ่มนวล พูดจาสุภาพ ไม่พูดเสียงดัง รักษากิริยามารยาทในการพูดการฟังเป็นอย่างดี
มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจ
โดยปกติไทเลยจะทักทายกันด้วยวลีที่ว่า "ไปได๋มา" (ไปไหนมา) "ไปหยังมา"
(ไปไหนมา) ผู้ถูกทักก็จะตอบว่า "ไป...มา" หรือถ้าพบกันในช่วงกินอาหารอยู่
ก็จะทักทายว่า "กินข้าวกินปลาแล้วบ่" "กินข้าวกับหยัง" ผู้ชายจะตอบรับว่า
"ครับ" ผู้หญิงจะตอบรับว่า "เจ้า" หรือ "โดยคะน้อย" ใช้กับผู้อาวุโสกว่าหรือกับพระภิกษุ
การเรียกขานโดยการนับญาติ ชาวเลยนิยมให้เกียรติและเคารพผู้อาวุโสด้วยการนับญาติ
ถ้าเป็นชายที่มีอาวุโส จะนิยมเรียกว่า "อ้าย"
(พี่) ถ้าเป็นหญิงที่มีอาวุโส จะเรียกว่า "เอื้อย"
(พี่) ถ้าเป็นผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า เป็นชาย เรียกว่า น้อง หรือ บักหำ
ถ้าเป็นหญิง เรียกว่า น้อง หรือ อี่น้อง อี่ติ่ง อี่นาง พ่อของแม่ เรียก
พ่อตู้ แม่ของแม่ เรียก แม่ตู้ พ่อแม่ของพ่อ เรียก ปู่ย่า
พี่ชายพี่สาวของพ่อ เรียก ลุงหรือพ่อใหญ่ แม่ใหญ่ น้องชายน้องสาวของพ่อ
เรียก อาว และ อา
มารยาทในการนั่ง ผู้หญิงจะได้รับการสั่งสอนว่าไม่ควรนั่งชันเข่า นั่งไขว่ห้าง
เวลานั่งกินอาารที่นั่งกับพื้นต้องไม่นั่งขัดสมาธิ (นอกจากผู้ชาย) และไม่นั่งท้าวแขน
ควรนั่งพับเพียบ ไม่ควรกินอาหารก่อนพ่อแม่หรือผู้ใหญ่
มารยาทในการเดิน ต้องไม่เดินลงซ้นเท้าบนบ้าน ผู้หญิงเมื่อนุ่งผ้าถุงหรือผ้าซิ่นเวลาเดินต้องไม่ให้ผ้าเกิดเสียงดัง
การนอนต้องนอนในที่มิดชิดไม่ประเจิดประเจ้อ การพูดต้องไม่พูดไปหัวเราะไป
ประเพณีที่คนในท้องถิ่นถือปฏิบัติ
เป็นประเพณีที่คนในสังคมปฏิบัติร่วมกันตลอดปี พอประมวลได้ดังนี้
ประเพณีการเกิด
ผู้หญิงที่ท้องแก่ใกล้กำหนดคลอด ต้องเตรียมเครื่องใช้สำหรับตนเองและเด็กอ่อนไว้ล่วงหน้า
ผู้เป็นสามีจะเตรียมฟืนไม้เปล้า ฟืนไม้ค้อ เตรียมทำแม่เตาไฟ ขุดหัวไพลล้างน้ำให้สะอาดตากแห้งไว้
เตรียมจัดทำแคร่ไม้ไผ่ และเตาไฟสำหรับให้หญิงที่คลอดบุตรใหม่ ๆ ใช้ผิงไฟอยู่กรรม
ส่วนด้านหลัง หรือด้านข้างของตัวบ้านก็จัดเตรียมที่อบตัว หรืออบความร้อนไว้
หลังการคลอด ผู้เป็นแม่จะต้องอยู่ไฟ อยู่ในกรรม คือ นั่งนอนพักผ่อนอยู่แต่บนแคร่ไม้ไผ่
ผิงไฟที่ก่อด้วยฟืนไม้เปล้า ไม้ค้อ เท่านั้น น้ำที่ใช้ดื่มส่วนใหญ่เป็นน้ำต้มหัวไพล
ในหม้อดินใส่เกลือให้เค็มปะแล่ม ๆ เพราะเชื่อว่าน้ำต้มหัวไพลและสมุนไพรต่าง
ๆ จะทำให้มีน้ำนมมาก และทำให้ทารกไม่ท้องอืดหรือแน่นท้อง อาหารที่กินต้องระวังเป็นพิเศษ
เพราะเกรงว่าจะแสลงกับตัวแม่เองและทารก
สำหรับเด็กที่คลอดแล้ว หมอตำแยจะใช้ผิวไม้ไผ่ตัดสายรกแล้วใช้ด้ายดิบผูกให้แน่น
ชำระร่างกายทารกด้วยน้ำอุ่นที่ต้มสุกแล้ว เช็ดตัวให้แห้ง ห่อตัวทารกด้วยผ้าอ้อม
นำทารกไปนอนในกระด้งที่มีเบาะรองรับ ใช้ผ้าห่มผืนเล็ก ๆ วงรอบตัวเด็กให้สูงจากระดับตัวเด็ก
ใช้ผ้าขาวโปร่งบางคือผ้ามุ้งคลุมกันยุง
สะดือเด็กจะต้องนำไปฝังโดยใส่กระบอกไม้ไผ่ฝังไว้ใต้บันไดหรือใต้ต้นไม้ใหญ่บริเวณบ้าน
เชื่อว่าจะทำให้เด็กผู้นั้นเป็นคนว่านอนสอนง่าย และรักบ้านเกิดเมืองนอนของตน
ประเพณีขึ้นเฮือนใหม่ (บ้านใหม่)
เมื่อปลูกบ้านใหม่เสร็จ ก่อนที่เจ้าของบ้านจะเข้าไปอยู่อาศัย มักปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม
ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งเจ้าของบ้านจะไปหาฤกษ์ยาม เพื่อกำหนดวันทำบุญขึ้นบ้านใหม่
เดือนที่นิยมทำกันคือ เดือนคู่ เช่น เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหก เดือนแปด เป็นต้น
เมื่อได้ฤกษ์ยามแล้วก็จะเชิญญาติมิตรมาร่วมงาน โดยเฉพาะคนที่มีชื่อเสียงเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีความงาม
ความร่ำรวย หรือชื่อเป็นมงคลนาม จะได้รับการติดต่อเชื้อเชิญเป็นกรณีพิเศษ
เช่น ชื่อแก้วคำ ทองดี ทองคำ เพชร พลอย ดี เพื่อความเป็นสิริมงคล
ผู้ร่วมพิธีจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายตั้งรับ และฝ่ายที่จะต้องนำข้าวของขึ้นบ้าน
ซึ่งฝ่ายนี้มักจะต้องเป็นผู้มีนามเป็นมงคลดังกล่าวข้างต้น แบกหาม หยิบ ถือสิ่งของเครื่องใช้ดังกล่าวขึ้นบนบ้านใหม่
บางท้องถิ่นจะมีการโห่เอาฤกษ์เอาชัยด้วย
ก่อนจะนำของขึ้นบ้านใหม่ จะต้องมีการทักทายปราศัยกันก่อน หลังจากนั้นจะเข้าสู่พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่คือ
การทำบญตักบาตร หากฤกษ์การขึ้นบ้านใหม่อยู่ในช่วงเช้า พอตักบาตรเสร็จเจ้าภาพก็จะถวายภัตตาหารเช้า
และจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์เลย แต่หากได้ฤกษ์ตอนสาย เจ้าภาพมักจะนิมนต์พระสงฆ์
มาเจริญพระพุทธมนต์ และถวายภัตตาหารเพล พร้อมจตุปัจจัยไทยธรรมเช่นกัน หลังจากนั้นเจ้าภาพจะเชิญแขกมากินอาหารร่วมกัน
แขกที่มาร่วมงานสมัยก่อน ไม่นิยมมอบสิ่งของต่าง ๆ เป็นของขวัญ หรือของที่ระลึกให้แก่เจ้าภาพ
ประเพณีสรงน้ำขอพร
เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ไทเลย ได้รับการสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ กำหนดให้มีขึ้นในเดือนห้า
ตรงกับวันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นปีใหม่
มีกำหนดการปฎิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
เริ่มต้นวันที่ ๑๒ เมษายน ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนครั้งใหญ่ในรอบปี
เช้าวันที่ ๑๓ เมษายน ชาวบ้านเรียกว่า วันสังขารล่อง
ในสมัยก่อนจะมีการเผาขยะ ตอนเช้ามืดของวันที่ ๑๓ เมษายน ชาวบ้านจะนำเครื่องนุ่งห่ม
เครื่องนอน เครื่องใช้ในครัวเรือน ทำความสะอาด เพื่อต้อนรับปีใหม่ วันที่
๑๔ เมษายน คือ วันเนา เป็นวันทำขนม ส่วนใหญ่นิยมทำขนมต้ม ในตอนบ่ายจะขนทรายนำมาก่อเป็นพระเจดีย์ทรายในวัด
ตอนเย็นทุกบ้านจะมีการเตรียมอาหารคาวหวานสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น
วันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันพญาวัน
เป็นวันสำคัญที่สุด ตอนเช้าชาวบ้านจะนำอาหารคาวหวานไปถวายพระเป็นการทำบุญ
อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
และจะมีพิธีทำบุญตักบาตรในวันขึ้นปีใหม่ เสร็จพิธีตักบาตรแล้วก็ถวายพระเจดีย์ทราย
การสรงน้ำขอพรจะเริ่มในช่วงบ่าย โดยชาวบ้านจะนำน้ำอบน้ำหอม น้ำขมิ้นส้มป่อย
ดอกไม้ธูปเทียน และสิ่งของเพื่อมาขอขมาผู้เป็นบิดามารดา ปู่ย่าตายาย และอัฐิของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
ผู้อาวุโสจะรับและกล่าวอโหสิกรรม พร้อมทั้งให้ศีลให้พรแก่ลูกหลานหรือผู้ที่ไปร่วมพิธี
ด้วยถ้อยคำที่ปราชญ์ไทเลย ได้แต่งไว้เป็นภาษาสละสลวย มีคำคล้องจองที่ง่ายแก่การจดจำ
เมื่อท่านกล่าวจบก็จะนำน้ำอบน้ำหอม น้ำส้มป่อยลูบศีรษะ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสรงน้ำขอพร
เมื่อเสร็จพิธีสรงน้ำขอพรผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวแล้วก็จะพากันไปสรงน้ำขอพรตามบ้านญาติผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถืออื่น
ๆ ซึ่งจะมีการรดน้ำกันทั้งวัน มีการร้องรำทำเพลง ซึ่งมักใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านประเภทกลอง
ฉิ่ง ฆ้อง บรรเลงไปด้วยบรรยากาศที่สนุกสนาน
|