พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ลพบุรีเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ และมีความสำคัญยิ่งเมืองหนึ่งในภาคกลางของไทย
ที่ตั้งปัจจุบันได้ตั้งทับซ้อนเมืองโบราณเดิม จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ลพบุรีไม่เคยเป็นเมืองร้าง
กลุ่มชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ เป็นกลุ่มชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
อายุประมาณ 4500-3500 ปีมาแล้ว และได้พัฒนามาเป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมา
สมัยก่อนประวัติศาสตร์
ได้พบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า
45,000 ปี ไม่ต่ำกว่า 40 แห่ง กระจายอยู่เกือบทุกอำเภอ แบ่งออกได้เป็น
2 เขตใหญ่ ๆ ตามสภาพภูมิประเทศได้แก่ เขตเขาวงพระจันทร์ และเขตพื้นที่ลอนลูกคลื่นระหว่าง
อำเภอโคกสำโรงกับอำเภอตาคลี เช่น แหล่งโบราณคดีที่ท่าแค ศูนย์การทหารปืนใหญ่
โนนป่าหวาย โนนหมากลาและซับจำปา เป็นต้น
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ก่อนการใช้โลหะ
มีอายุประมาณ 4500 ถึง 3500 ปีมาแล้วพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ราบลุ่มริมทางน้ำใหญ่
และในพื้นที่ดอนใกล้ภูเขาบางตอนของภาคกลาง ได้แก่แหล่งโบราณคดีที่บ้านท่าแค
ห้วยใหญ่และโนนป่าหวาย เป็นต้น มีการทำภาชนะดินเผาแบบต่าง ๆ ส่วนเครื่องมือเครื่องใช้ยังคงใช้ขวานหินขัดอยู่
และมีการทำเครื่องประดับจากเปลือกหอยและหิน
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ใช้โลหะ
ระยะที่
1
มีอายุระหว่าง 3,800 ปี 2,700 ปีมาแล้ว พบที่แหล่งโบราณคดีที่บริเวณหุบเขาวงพระจันทร์
อ่างเก็บน้ำนิลกำแหง อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ ได้พบหลักฐานการถลุงแร่ทองแดง
แม่พิมพ์สำหรับหล่อทองแดงเป็นจำนวนมาก รูปแบบภาชนะดินเผา ยังคงเป็นแบบที่คล้ายกับแบบในสมัยแรก
ๆ
ระยะที่
2
มีอายุระหว่าง 2,100-2,300 ปี มาแล้ว ยังคงมีการผลิตทองแดงอย่างต่อเนื่อง
และพบเครื่องประดับสำริด มีการติดต่อกับวัฒนธรรมดองชอน
ซึ่งเป็นวัฒนธรรมยุคเหล็ก มีศูนย์กลางในประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ได้พบลูกปัดหินกึ่งรัตนชาติ
ในแหล่งโบราณคดีที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ แสดงว่าได้มีการติดต่อกับชุมชนในประเทศอินเดียแล้ว
มีการใช้ภาชนะดินเผารูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นได้แก่ ภาชนะสีน้ำตาลเข้ม
ด้านนอกขัดมันเป็นภาชนะประเภทหม้อ ไหก้นกลม ชามก้นกลม
ระยะที่
3 มีอยู่ระหว่าง
2,300-1,500 ปีมาแล้ว ชุมชนในระยะนี้เริ่มเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น
บางแห่งเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นใหม่ บางแห่งก็พัฒนาจากชุมชนเดิม
มักตั้งอยู่ใกล้ทางน้ำสายใหญ่ เช่น แหล่งโบราณคดีท่าแค ในระยะนี้มีการใช้เหล็ก
ทำเครื่องมือเครื่องใช้กันแพร่หลาย ได้พบเครื่องประดับทำจากแก้วและหินกึ่งรัตนชาติ
ซึ่งเป็นวัตถุที่มาจากอินเดีย การเปลี่ยนแปลงของชุมชนทำให้โครงสร้างทางสังคม
และวัฒนธรรมซับซ้อนขึ้น มีการรวมตัวเป็นบ้านเมืองสมัยประวัติศาสตร์
แรกเริ่มที่เรียกว่า
ทวาราวดี
ตัวอย่างชุมชนที่กลายมาเป็นเมืองโบราณได้แก่ เมืองซับจำปา เมืองดงมะรุมและตัวเมืองลพบุรี
เป็นต้น
สมัยประวัติศาสตร์
ชุมชนในยุคเริ่มในสมัยประวัติศาสตร์บางแห่ง มีการดัดแปลงพื้นที่โดยการขุดคู
และถมเป็นคันดินล้อมรอบชุมชน ที่ปรากฎร่องรอยชัดเจนมี 4 เมือง คือ
เมืองเก่าลพบุรี เมืองดงมะรุม บ้านเมืองใหม่ไพศาลี และเมืองซับจำปา
มีการค้าขายกับอินเดียมากกว่าแหล่งอื่น วัฒนธรรมอินเดียได้เข้ามาผสมกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
รูปแบบวัฒนธรรมร่วมจากอินเดีย ปรากฎเด่นชัดในพุทธศตวรรษที่ 12-14 และได้เรียกช่วงเวลาดังกล่าวนี้ว่า
สมัยทวาราวดี
อาณาจักรทวาราวดี เชื่อกันว่าอยู่ที่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองนครปฐม
เนื่องจากได้พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 อยู่เป็นจำนวนมาก
สมัยทวาราวดี
(พุทธศตวรรษที่ 12-14)
เมืองลพบุรีในยุคนี้รู้จักกันในชื่อว่า เมืองละโว้
หรือลวปุระ
ชื่อเมืองละโว้ปรากฎอยู่จนถึงสมัยอยุธยา ชื่อเมืองนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ลัวะ หรือ ละว้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเป็นเจ้าของดินแดน
ในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากชื่อเมืองลวปุระ ที่อยู่ในอินเดียและอาจผันมาเป็นลพบุรี
ซึ่งหมายความว่า เป็นเมืองของพระลวะหรือพระลพ ผู้เป็นโอรสของพระราม
เมืองลพบุรีมีความสำคัญที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
เรือสำเภาเดินทะเลที่เข้ามาตามแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถแล่นไปถึงแม่น้ำลพบุรีได้
ทำให้ลพบุรีเป็นเมืองท่าที่ค้าขายติดต่อต่างประเทศที่สำคัญในสมัยทวาราวดี
เช่นเดียวกับเมืองเก่าอีกหลายเมืองในภาคกลาง นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาอีกด้วย
มีร่องรอยหลักฐานอันเนื่องจากพุทธศาสนาอยู่เป็นจำนวนมาก
วัฒนธรรมทวาราวดีอาจกล่าวได้ว่า เป็นวัฒนธรรมที่เกิดจากพุทธศาสนา โบราณสถานอันได้แก่
สถูป เจดีย์ และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ สร้างด้วยอิฐและตกแต่งด้วยปูนปั้นหรือดินเผา
เช่น ที่วัดนครโกษา โบราณวัตถุได้แก่ เครื่องมือเครื่องใช้ที่สำคัญ
คือ เหรียญ ที่ส่วนใหญ่ทำด้วยเงินมีลายดุนเป็นรูปลักษณะต่าง ๆ ตามคตินิยมของอินเดีย
ได้พบเป็นจำนวนมากที่เมืองพรหมทิน
|
มีการใช้อักษรจารึกข้อความต่าง ๆ บนศิลา ฐานพระพุทธรูป ธรรมจักร
และพระพิมพ์ดินเผา บนพระพิมพ์ดินเผานิยมจารึกคาถา
เย
ธมฺมา..... เพื่อประสงค์ในการสืบอายุพระพุทธศาสนา
ตัวอักษรที่ใช้เป็นอักษรแบบอินเดียตอนใต้ สำหรับภาษามีทั้งภาษาบาลี
สันสกฤด และภาษามอญโบราณ เช่น จารึกบนเสาแปดเหลี่ยม พบที่ศาลพระกาฬ จารึกหลักที่
18 จารึกบนฐานพระพุทธรูปยืน พบที่วัดศรีมหาธาตุ และจารึกบนเสาแปดเหลี่ยม พบที่เมืองซับจำปา |
สมัยลพบุรี
(พุทธศตวรรษที่ 15-18)
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ลพบุรีกลายเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง
และเป็นศูนย์กลางทางการค้าแทนที่เมืองนครชัยศรี และในช่วงเวลาดังกล่าว อิทธิพลของวัฒนธรรมขอม
ได้เริ่มแพร่ขยายเข้ามาสู่ภาคกลาง บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำลพบุรี
ทำให้ศิลปกรรมที่เมืองลพบุรี มีรูปแบบคล้ายคลึงกับศิลปะขอมสมัยพระนครเป็นอันมาก
ได้พบโบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่ใกล้เคียงกับศิลปกรรมในวัฒนธรรมแบบขอมเป็นจำนวนมาก
ได้มีการนำชื่อลพบุรีมาใช้เป็นชื่อเรียกศิลปกรรมแบบขอม ที่พบในพื้นที่ภาคกลางและภาคอื่น
ๆ ว่า สมัยลพบุรี เป็นวัฒนธรรมที่มีพื้นฐานศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จนถึงปลายพุทธศตวรรษที่
18 พุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้กลายเป็นศาสนาหลัก ได้พบศิลาจารึกขอมได้แก่
จารึกหลักที่ 19 และหลักที่ 20 พบที่ศาลพระกาฬและจารึกหลักที่ 21 พบที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่ง
จารึกหลักที่ 116 ที่ปราสาทพระขรรค์ นครวัด ได้กล่าวถึง การสร้างพระชัยพุทธมหานาถ
ไปประดิษฐานไว้ในปราสาทหินต่าง ๆ ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีเมืองลโวทยปุระรวมอยู่ด้วย
จากภาพสลักที่ระเบียงปราสาทนครวัด มีภาพทหารม้าจากแคว้นละโว้ นอกเหนือจากภาพกองทหารจากสยาม
หลักฐานที่เป็นโบราณวัตถุ ได้แก่ ปรางค์แขก ปรางค์สามยอด
ศาลพระกาฬหรือศาลสูง และปรางค์นางผมหอม บรรดาประติมากรรมที่เป็นรูปเคารพทางศาสนา
เช่น พระโพธิสัตว์ และพระพุทธรูปปางนาคปรก ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ล้วนเป็นศิลปแบบเขมร
สมัยสุโขทัย
(พุทธศตวรรษ ที่ 19)
เมื่ออิทธิพลของเขมรเสื่อมลงไปจากดินแดนแถบนี้ เมืองลพบุรีก็ไม่ได้เป็นศูนย์กลางการค้าและความเจริญอีกต่อไป
ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ได้ไปอยู่ที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เมืองอโยธยา
ส่วนดินแดนทางเหนือได้รวมตัวกันเป็นปึกแผ่น
โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสุโขทัย
ศิลปกรรมเมืองลพบุรีในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นการสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาฝ่ายหินยาน
อันเป็นที่นับถือกันแพร่หลายในห้วงเวลานั้น ได้พบหลักฐานการสร้างพระสถูปเจดีย์
ที่เป็นแบบอย่างพุทธศาสนา
ฝ่ายเถรวาทอยู่เป็นจำนวนมาก
ได้แก่ เจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม มีองค์ระฆังอยู่ส่วนบน เช่น เจดีย์รายในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
มีการเปลี่ยนแปลงศาสนสถาน จากฝ่ายมหายานเป็นฝ่ายเถรวาท สร้างพระปรางค์เป็นแบบปรางค์ไทย
เช่น ปรางค์ทรงมะเฟืองและปรางค์ทรงฝักข้าวโพด เป็นต้น และมีการสร้างพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองอย่างแพร่หลาย
สมัยอยุธยา
เมืองลพบุรีได้เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เมื่อปี พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทอง ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระรามเมศวร ผู้เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่
ไปครองเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองลูกหลวง
พระองค์ได้ทรงสร้างป้อมคูเมือง และกำแพงเมือง บูรณะซ่อมแซมวัดต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2091 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ทำศึก กับพม่าทรงเห็นว่าเมืองลพบุรีกลายเป็นประโยชน์ต่อข้าศึก
มากกว่าเป็นเมืองหน้าด่าน จึงโปรดให้รื้อกำแพงป้อมปราการออกทั้งหมด
ในปี พ.ศ. 2208 สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีเป็นราชธานีแห่งที่
2 และพระองค์ได้เสด็จไปประทับปีละประมาณ
9 เดือน เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว ลพบุรีก็ถูกลดความสำคัญลง
เป็นเมืองในเขตราชธานีดังเดิม และถูกทอดทิ้งจนเกือบกลายเป็นเมืองร้าง
สมัยกรุงธนบุรี
ในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ เมืองศรีสัตนาคนหุตและเมืองหลวงพระบาง
ได้กวาดต้อนผู้คนชาวเมืองเหล่านั้นลงมาด้วยเป็นจำนวนมาก แล้วให้ไปตั้งถิ่นฐานตามเมืองต่าง
ๆ รวมทั้งเมืองลพบุรีด้วย
สมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองหลวงแห่งที่
2 เมื่อสร้างพระราชวังขึ้นที่เมืองลพบุรีแล้ว
จึงสถาปนาเป็นพระนารายณ์ราชนิเวศน์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2438 ได้ตั้งลพบุรีเป็นเมืองหนึ่งในมณฑลกรุงเก่า
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พัฒนาเมืองลพบุรีให้เป็นเมืองศูนย์กลางทางทหาร
รวมทั้งการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกมาก
|