บุคคลสำคัญ
พญาสิงหนาทราชา
เดิมชื่อ ชานทะเล มีเชื้อสายเป็นคนไตหรือไทยใหญ่ เกิดประมาณปี พ.ศ.๒๓๖๙ ที่บ้านเมืองจ๋าม
รัฐฉาน ต่อมาได้อพยพเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านปางหมู กับพะก่าหมอง นายบ้านปางหมู
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ และได้บุตรสาวของพะก่าหม่อง ชื่อนางใส เป็นภรรยา
ต่อมา ชานทะเลได้อพยพครอบครัวไปอยู่ที่บ้านขุนยวม (อำเภอขุนยวม) ชาวบ้านเห็นว่าเป็นคนดีมีความสามารถ
และมีลักษณะเป็นผู้นำ จึงได้รับยกย่องให้เป็นนายบ้านขุนยวม และได้รับสถาปนาเป็นเจ้าเมืองขุนยวมคนแรก
เมื่อนางใส ภรรยา เสียชีวิต ก็ได้นางเมียะ หลานสาวเจ้าฟ้าโกหร่านแห่งเมืองหมอกใหม่
รัฐฉาน มาเป็นภรรยา ได้ปกครองเมืองขุนยวมเป็นเวลา ๘ ปี ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับ
ได้ค้าขายไม้สักกับบริษัทบริติช บอมเบย์ เบอร์มา ในประเทศพม่า ส่งรายได้ไปถวายเจ้าเมืองเชียงใหม่ตลอดมา
และถูกเรียกตัวให้ไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่
พญาสิงหนาทราชา ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนด้วยความสงบสุข สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่บ้านเมืองอย่างมาก
ได้สร้างวัดพระนอน และเจดีย์องค์เล็ก ประดิษฐานไว้ที่วัดพระธาตุดอยกองมู สร้างพระนอนวัดผาอ่าง
เจ้าแม่นางเมียะ
เป็นคนไต เกิดที่เมืองหมอกใหม่ ในรัฐฉาน เป็นหลานเจ้าฟ้าโกหร่าน เจ้าเมืองหมอกใหม่
ได้อพยพเข้ามาพร้อมเจ้าฟ้าโกหร่าน มาอยู่กับนายแสมโกมเหง นายบ้านแม่ฮ่องสอน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๙ ต่อมาได้แต่งงานกับชานทะเล และติดตามชานทะเลไปอยู่ที่เมืองขุนยวม
และกลับมาอยู่แม่ฮ่องสอนอีกครั้ง เมื่อชานทะเลได้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๑๗ มีบรรดาศักดิ์เป็นพญาสิงหนาทราชา ได้มีส่วนอย่างมากในการปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๒๗ พญาสิงหนาทราชาผู้เป็นสามีถึงแก่กรรม เจ้าอินทรวิชยานนท์จึงได้แต่งตั้งให้นางเมียะขึ้นปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน
มีบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าแม่นางเมียะ ได้ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอนเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ
จนถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔
แม่นางเมียะได้พัฒนาบ้านเมืองในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านพระพุทธศาสนา
ได้ทำนุบำรุงวัดพระนอน สร้างสิงห์คู่ใหญ่ ที่ทางขึ้นวัดพระธาตุดอยกองมู เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๓๐ และได้สร้างวัดม่วยต่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๗
พญาพิทักษ์สยามเขต
เดิมชื่อปู่ขุนโท้ะ เป็นคนไต มีศักดิ์เป็นญาติกับเจ้าฟ้าในรัฐฉาน ได้อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองแม่ฮ่องสอน
ในช่วงที่มีเหตุการณ์ไม่สงบในรัฐฉาน ได้ใกล้ชิดกับชานทะเล และได้ติดตามชานทะเลไปอยู่ที่เมืองขุนยวม
ต่อมาเมื่อชานทะเลได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพญาสิงหนาทราชา ปกครองเมืองแม่ฮ่องสอน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๗ เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงได้แต่งตั้งปู่ขุนโท้ะ เป็นผู้ปกครองเมืองขุนยวม
มีบรรดาศักดิ์เป็น พญาขันธะสมาราชานุรักษ์ เมื่อพญาสิงหนาทราชาถึงแก่กรรม
ได้สมรสกับเจ้าแม่นางเมียะ มีบุตรสองคนคือเจ้านางจันดำและขุนหลู่
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๔ เจ้านางเมียะถึงแก่กรรม ก็ได้รับแต่งตั้งให้ครองเมืองแม่ฮ่องสอน
มีบรรดาศักดิ์เป็นพญาพิทักษ์สยามเขต จนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๘
พญาพิศาลฮ่องสอนบุรี
เดิมชื่อขุนหลู่ เป็นบุตรพญาพิทักษ์สยามเขตและเจ้าแม่นางเมียะ เกิดที่เมืองแม่ฮ่องสอน
เมื่อบิดาถึงแก่กรรม ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนสืบต่อมา มีบรรดาศักดิ์เป็นพญาพิศาลฮ่องสอนบุรี
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘
เมื่อมีระเบียบการปกครองใหม่เป็นแบบมณฑล เจ้าเมืองไม่มีอำนาจในการบริหาร แต่ได้รนับยกย่องให้เป็นที่ปรึกษาราชการ
พญาพิศาล ฯ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
เทพสิงห์
เป็นชื่อนักรบชาวเมืองยวมใต้ เป็นผู้อาจหาญไม่ยอมให้เมืองเชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า
ได้รวบรวมผู้คนจำนวนไม่กี่ร้อยคนเข้าตีเอาเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า
ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๐๔ - ๒๒๑๕ เชียงใหม่ตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ครั้งนั้นพม่าโดยการนำของพระยาพุกาม ได้ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ และได้นำเอาศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ในเมืองเชียงใหม่
และเมืองใกล้เคียงได้แก่ลำพูน ลำปาง เชียงราย เชียงแสน ในเมืองดังกล่าวจะมีเสาหงส์และรูปสิงห์เต็มไปหมด
ไม่เหลือเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ ทำให้คนรุ่นหนุ่มในสมัยนั้นคบคิดกันชิงเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า
จนถึงปี พ.ศ.๒๒๕๐ เทพสิงห์นักรบหนุ่มจากเมืองยวมใต้ รวบรวมผู้คนตีเอาเชียงใหม่คืน
เทพสิงห์ได้เข้ารักษาเมืองเชียงใหม่โดยมีขุนนางผู้ใหญ่ที่เป็นคนไทยปกครองดูแลด้วย
ต่อมาพญาวังหาติ๋น ชาวเมืองเชียงใหม่ได้วางแผนกับพวกพม่าและหัวเมืองอื่น ๆ
รวมพลได้ ๔๐๐ คน เข้าตีเมืองเชียงใหม่คืนแล้ว เดินทางไปยกเมืองเชียงใหม่ให้พระยาอังวะแห่งพม่า
ฝ่ายเทพสิงห์ ไม่ละความพยายามได้เข้าชิงเมืองหลายครั้ง จนทางพม่าต้องยกทัพใหญ่เข้าปราบ
เทพสิงห์จึงได้ไปหารือกับเจ้านครน่านคือ เจ้าธรรมปัญโญ ได้ยกกำลังมาร่วมสมทบตีเมืองเชียงใหม่
แต่ถูกเมืองเชียงใหม่ยกกำลังออกซุ่มโจมตีที่เวียงป่าทง นครลำพูน กำลังฝ่ายเทพสิงห์พ่ายแพ้
ตั้งแต่นั้นมานามของเทพสิงห์ นักรบจากเมืองยวมใต้ก็หายสาบสูญไป
|