ทุ่งบัวตอง
อยู่บนดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๒๖ กิโลเมตร โดยเข้าไปตามทางหลวงหมายเลข
๑๒๖๓ (สายขุนยวม-แม่แจ่ม) และแยกซ้ายมือเข้าไปตามเส้นทางที่จะไปน้ำตกแม่สุริน
ดอกบัวตอง จะบานสะพรั่งเหลืองอร่ามเต็มภูเขา มีฉากหลังเป็นทิวเขาที่เรียงรายสลับซับซ้อนจนสุดสายตา
ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม พื้นที่อยู่บนเนินเขาหลายลูกมีพื้นที่ประมาณ
๓,๐๐๐ ไร่
ดอกบัวตอง เป็นวัชพืชวงศ์เดียวกับทานตะวัน ดาวเรือง และสาบเสือ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปอเมริกากลาง
และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก มีลักษณะคล้ายดอกทานตะวันมากที่สุด เพียงแต่ดอก
และกลีบเล็กกว่าเท่านั้น จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ดอกทานตะวันป่า
ปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เป็นเอกลักษณ์ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด
มีมากที่สุดในบริเวณบ้านแม่อูคอ เมื่อประมาณก่อนสงครามมหาเอเชียบุรพา ในพื้นที่สัมปทานการทำไม้
ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา โดยมิชชันนารีชาวต่างประเทศได้นำเมล็ดพันธุ์เข้ามาแพร่พันธุ์
ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ
มีหลายอย่างที่ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่น ๆ คือ
เมืองในหมอก หรือเมืองสามหมอก
จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีหมอกเมฆในฤดูฝน
หมอกน้ำค้าง
ในฤดูหนาว และหมอกควัน
ในฤดูร้อน หมอกควันเกิดจากไฟป่า
เมืองหน้าฝนน้ำแห้ง หน้าแล้งน้ำหลาก
ในฤดูฝนจะมีการทดน้ำเข้านาเพื่อทำนา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำแม่ฮ่องสอนลดระดับลงจนเกือบแห้ง
พอถึงฤดูร้อน (หน้าแล้ง) ระดับน้ำในแม่น้ำแม่ฮ่องสอนจะสูงกว่าในฤดูฝน
เป็นปรากฎการณ์ที่แปลกกว่าที่อื่น
พืชพันธุ์ไม้
มีอยู่หลายชนิดด้วยกัน พอประมวลได้ดังนี้
กระพี้จั่น
เป็นไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นไม้มงคล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗
ตามโครงการปลูกป่าเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองราชย์เป็นปีที่
๕๐ ในการนี้ได้พระราชทานกล้าไม้มงคลให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นำไปปลูกเป็นสิริมงคล
จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับพระราชทานต้นกระพี้จั่น เป็นต้นไม้ประจำจังหวัด
กระพี้จั่น มีถิ่นกำเนิดในเอเชียร้อน เป็นต้นไม้ผลัดใบสูง ๘ - ๒๐ เมตร
ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และปักชำ ใช้ทำเยื่อกระดาษ ด้ามเครื่องมือ ของเล่นเด็ก
และดอกไม้ประดิษฐ์
ดอกเอื้องแซะ
ชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน นิยมนำดอกเอื้องแซะมาบูชาพระ หรือประดับตามบ้านเรือน
โดยปักใส่กระถางที่บรรจุดินทราย รดน้ำพอให้ชื้น ดอกเอื้องแซะก็จะบาน ส่งกลิ่นหอมอยู่ได้นานหลายเดือน
นอกจากนี้ยังใช้ถวายพระและลอยน้ำในพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมอบให้ผู้ใหญ่ในวันสำคัญต่าง
ๆ
ตามตำนานเมืองแม่สะเรียง เมื่อครั้งยังชื่อเมืองยวม มีอยู่ว่า ในสมัยโบราณดอกเอื้องแซะ
เป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการที่ชาวลัวะ ในดินแดนแถบนี้ จะต้องนำส่งถวายแด่เจ้ามหาชีวิต
ผู้ครองนครเชียงใหม่
เอื้องแซะ เป็นกล้วยไม้ในตระกูลหวาย ที่ชอบขึ้นอยู่ตามคาคบไม้ในป่าลึก
ที่มีอากาศหนาวเย็น และอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑,๐๐๐ - ๒,๐๐๐
ฟุต ออกดอกในฤดูหนาว ช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมีนาคม ดอกมีกลิ่นหอม กลีบดอกสีขาว
เมื่อดอกบานนานวันจะเปลี่ยนเป็นสีแสดแกมเหลือง
คาหาน
พบเฉพาะในพื้นที่ป่าบริเวณชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งติดต่อกับประเทศพม่า
และบริเวณอำเภอขุนยวมเท่านั้น โดยจะพบขึ้นเป็นกลุ่ม ในที่ลุ่มริมห้วยที่ชื้นแฉะ
หรือมีธารน้ำไหลเอื่อย ๆ เป็นพืชที่มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ต้นแก่เท่านั้นที่ลำต้นจะสูงขึ้นมาเหนือผิวดิน
โดยทั่วไปจะไม่เกิน ๑ เมตร สามารถแตกหน่อเป็นกอใหญ่ มีหนามแหลมยาวปกคลุมทั่วไป
มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ตองหนาม
ผลออกเป็นทะลาย หนึ่งปี ๒๐ - ๒๐๐ ผล ขยายพันธุ์โดยเมล็ดและการแตกหน่อ ใบใช้มุงหลังคาบ้าน
และกั้นฝาห้อง ก้านที่มีเปลือกแข็งใช้ทำเป็นไม้กลัด เนื้อมีลักษณะคล้ายไม้ก็อก
ชาวบ้านใช้ทำจุกขวด ยอดอ่อนใช้บริโภคได้เช่นเดียวกับยอดมะพร้าวเรียกว่า หน่อคาหาน
และเมล็ดอ่อนนำมาบริโภคได้
รองเท้านารี
มีแหล่งกำเนิดในเขตอบอุ่นและเขตร้อน ตั้งแต่อินเดีย จีนตอนใต้ พม่า ไทย มาเลเซีย
บอร์เนียว และฟิลิปปินส์ โดยทั่วไปจะขึ้นตามต้นไม้ใหญ่ ตามดิน หรือซอกหินที่มีพืชที่ตายแล้วทับถมอยู่
เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกใบเช่นเดียวกับหวาย มีเหง้า กอหนึ่งประกอบด้วยต้นย่อยหลาย
ๆ ต้น เริ่มออกดอกประมาณเดิอนธันวาคม ขยายพันธุ์โดยการเลี้ยงเนื้อเยื่อและปล่อยเข้าป่า
จากการสำรวจพบว่ากล้วยไม้รองเท้านารีกระจายอยู่ในพื้นที่มากกว่า ๕๐ ตารางกิโลเมตร
เป็นไม้ดอกที่เป็นลักษณะเชิงเศรษฐกิจ ได้จัดให้ราษฎรชาวเขา เป็นนักเพาะเลี้ยงกล้วยไม้
จัดเป็นกระถางใช้เวลาเพาะเลี้ยง ๑ ปี เพื่อรอการจำหน่าย
ทรัพยากรอื่น ๆ
ได้แก่ สัตว์น้ำ และสะเทินน้ำสะเทินบก
ปลาถ้ำ
ปลาที่อาศัยอยู่ในถ้ำ มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมอันจำกัด ทำให้เกิดปลาพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า
ปลาถ้ำ ซึ่งจะมีมากในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ และจีนทางตอนใต้ สำหรับประเทศไทยพบในบริเวณถ้ำต่าง
ๆ ในเขตอำเภอปางมะผ้า ในระดับลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ ๒,๐๐๐ ขึ้นไป ที่พบมีสองชนิดคือ
ปลาที่อาศัยอยู่ในแอ่งน้ำบนทำนบหินปูนที่อยู่ลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ ๒,๓๕๐
เมตร ลำตัวสีขาว ยาวประมาณ ๗ เซนติเมตร ดวงตามีขนาาดเล็กมาก ในจุดนี้ไม่มีแสงสว่าง
ตาจึงไม่ได้ใช้งาน การปรับตัวใช้เวลา ๓๐,๐๐๐ - ๔๐,๐๐๐ ปี
ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณหินปูนฉาบและมีน้ำไหลแรง เป็นปลาชนิดใหม่ที่แตกต่างจากชนิดอื่น
ๆ ในลำน้ำปายคือตาหายไป ลำตัวไม่มีเกล็ด ไม่มีสี ยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร
ได้พัฒนาอวัยวะในการปืนน้ำตกที่มีกระแสน้ำไหลแรง โดยมีครีบขนาดใหญ่ และมีที่ยึดเกาะกับหิน
ส่วนหัวเรียวยาว ลดการต้านกระแสน้ำได้ดี ไม่มีตา และได้พัฒนาประสาทการรับกลิ่นแทน
ช่วงเวลาการปรับตัวอยู่ในช่วง ๔๐,๐๐๐ ปีขึ้นไป
หอยทากจิ๋ว
พบอยู่บริเวณถ้ำลอด ถ้ำแม่ละนา ถ้ำผามอบ และถ้ำปางคาม ซึ่งเป็นถ้ำหินปูน เป็นหอยขนาดเล็กมาก
ความสูงของเปลือกหอยเพียง ๑ - ๕ มิลลิเมตร หอยบางชนิดกินใบพืช เห็ด รา หรือแม้แต่ซากพืช
ซากสัตว์
ปลาละแงะ
เป็นปลาที่มีรสชาดอร่อย พบมากตามแม่น้ำลำธารจนถือเป็นเอกลักษณะของจังหวัด
ปลาลาแงะมีลำตัวกลมยาวแบบปลาไหล แต่ค่อนข้างป้อมกว่า หรือที่เรียกกันว่าปลาไหลมีหู
เป็นปลาชนิดเดียวกับที่ทางภาคใต้เรียกว่าปลาตูหนา
ปลาละแงะ เป็นปลาที่อยพยจากอ่าวเบงกอล ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ แล้วจะว่ายน้ำมาเจริญเติบโตตามแม่น้ำสายต่าง
ๆ ที่เชื่อมต่อกับอ่าวเบงกอล เมื่อโตเต็มที่จะว่ายกลับทะเลเพื่อวางไข่ เป็นวงจรเสมอมาในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ปลาละแงะอยพยเข้ามาทางแม่น้ำสาละวิน และอาศัยอยู่ตามแม่น้ำหลายสาย ที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำสาละวิน
ซึ่งนอกจากแม่น้ำปายแล้วยังพบที่แม่น้ำยวม แม่น้ำสุรินและแม่น้ำละมาด
ปลาละแงะมีการออกไปวางไข่ในทะเลลึก มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ชายฝั่งอินเดียถึงภาคใต้ฝั่งตะวันตก
พบในลุ่มแม่น้ำสาละวินและภาคใต้ของไทย เป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ช่วงที่จับปลาละแงะได้มากมีอยู่สองช่วงคือในห้วงน้ำลดที่ปลาขุดรูอยู่ ชาวบ้านจะใช้เบ็ดแหย่ลงในรู
ส่วนในช่วงน้ำหลาก ต้นฤดูฝนเป็นช่วงที่ปลาอพยพย้ายถิ่นมักจะจับได้มากบริเวณที่แม่น้ำปายไหลไปบรรจบแม่นำสาละวิน
ปลาละแงะที่พบมีขนาดใหญ่ถึง ๑๐ กิโลกรัม ก็มี
ปลามุง หรือปลาพลวงหรือปลาพลวงหิน
ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนถือว่าเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในวนอุทยานถ้ำปลา
แต่สำหรับปลามุงที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำทั่ว ๆ ไป ชาวบ้านจะนำมารับประทานเช่นเดียวกับปลาอื่น
ๆ
ปลาละมุง อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน มีรูปร่างคล้ายปลาเวียน เกล็ดมีขนาดใหญ่ ลำตัวสีเขียวมะกอกหรือเหลืองทอง
ขนาดที่พบมีความยาวถึง ๘๐ เซนติเมตร
เขียดแลว
ในอดีตเขียดแลวเคยเป็นอาหารที่มีชื่ออันดับหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้อนุรักษ์เขียดแลว
เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์
เขียดแลว เป็นกบภูเขาขนาดใหญ่ ผิวเรียบออกสีน้ำตาลและมีขายาวกว่ากบธรรมดามาก
เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักประมาณ ๑๐๐ - ๕๐๐ กรัม อาศัยอยู่ตามเขตรอยต่อพรมแดนไทย
- พม่า ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะพบเขียดแลวและทุกอำเภอโดยเฉพาะในบริเวณป่าชุ่มชื่นที่มีลำธารน้ำไหลเอื่อย
ๆ ในเวลากลางวันเขียดแลวมักจะหลบซ่อนตัวอยู่ตามโพรงดิน โพรงหิน ใต้ขอนไม้
หรือตามบริเวณที่มีใบไม้ใบหญ้าปกคลุม และจะออกหากินเวลากลางคืน
|