|
จังหวัดมุกดาหาร
จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดชายแดนในภาคอีสานของประเทศไทย ติดต่อกับประเทศลาว
โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน เป็นระยะทางประมาณ ๗๒ กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงเทพ
ฯ ประมาณ ๖๔๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๔,๓๔๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒,๗๑๒,๐๐๐
ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงคือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอธาตุพนม และอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม
ทิศตะวันออก ติดต่อกับแขวงสุวรรณเขต ประเทศลาว โดยมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดน
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ อำเภอเสิงนกทา จังหวัดยโสธร
อำเภอหนองพอกและอำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์ และอำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
พื้นที่ของจังหวัด ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศลาว มี ๓ อำเภอ ๙ ตำบล
๒๗ หมู่บ้าน คือ อำเภอหว้ามใหญ่ อำเภอเมือง ฯ และอำเภอดอนตาล
ลักษณะภูมิประเทศ
พื้นที่ของจังหวัดตั้งอยู่ทางตอนใต้ของแอ่งสกลนคร ประกอบด้วย เทือกเขาภูพาน ซึ่งมีแนวเนื่องเข้ามาจากจังหวัดสกลนครทางด้านทิศตะวันตก
เทือกเขานี้จะค่อย ๆ แผ่ออกเป็นสี่แถวไปทางทิศตะวันออก แบ่งพื้นที่ของจังหวัดออกเป็นลุ่มน้ำเล็ก
ๆ เอียงลาดลงสู่แม่น้ำโขง ที่ราบระหว่างหุบเขาของลุ่มน้ำเหล่านี้มีสภาพเป็นที่ราบลูกคลื่น
นอกจากบริเวณปากน้ำในช่วงที่ไหลไปบรรจบกับแม่น้ำโขง จะมีสภาพเป็นคันดินธรรมชาติแคบ
ๆ ที่เกิดจากการทับถมของดินตะกอนแม่น้ำขนานไปกับลำน้ำโขง มีลำน้ำสายสำคัญคือ
ห้วยมุก ห้วยบังอี่ ห้วยบางทราย ห้วยชะโมด ห้วยทราย เป็นต้น
ทรัพยากรธรรมชาติ
ป่าไม้
จังหวัดมุกดาหารมีพื้นที่ป่าไม้ประมาณ ๘๔๒,๐๐๐ ไร่ หรือประมาณร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ทั้งหมด
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ประกอบด้วยป่า และภูเขาประมาณร้อยละ ๓๐ ของพื้นที่ทั้งหมด
ด้านทิศใต้และทิศตะวันตกมีเทือกเขาภูพาน ป่าไม้ และดงทึบด้านทิศตะวันออก เป็นพื้นที่ราบสลับป่า
และมีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตพรมแดน มีป่าสงวนแห่งชาติจำนวน ๑๓ แห่ง อุทยานแห่งชาติ
๓ แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และห้ามล่าสัตว์ ๒ แห่ง สวนรุกขชาติ ๑ แห่ง
ป่าสงวนแห่งชาติ
มี ๑๓ ป่า มีพื้นที่ประมาณ ๑,๖๘๔,๐๐๐ ไร่ ได้แก่ป่าดงปังอี่ แปลงที่ ๑ - ๗
ป่าดงหมู แปลงที่ ๑ - ๓ ป่าดงภูสีฐาน และดงภูพาน
อุทยานแห่งชาติ
มี ๓ แห่งคืออุทยาน ฯ ห้วยหวด อุทยาน ฯ มุกดาหาร และอุทยาน ฯ ภูสระดอกบัว
เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า
มี ๒ แห่งคือเขตอนุรักษ์ ฯ ภูสีฐาน และเขตอนุรักษ์ ฯ ถ้ำผานาทิพย์
สวนรุกขชาติ
มี ๑ แห่งคือสวนรุกขชาติดงยังอี่
ทรัพยากรน้ำ
มีทั้งลำน้ำ แหล่งน้ำธรรมชาติ และโครงการชลประทาน
ลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติ
มีลำน้ำสำคัญอยู่ ๔ สายได้แก่ ลำน้ำโขง ห้วยบางทราย ห้วยบังอี่ และห้วยมุก
พื้นที่ของจังหวัดสามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มลุ่มน้ำ ได้แก่ กลุ่มลุ่มน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง
กลุ่มลุ่มน้ำที่ไหลไปลงน้ำยาง และกลุ่มลุ่มน้ำที่ไหลลงลำเซ
ลำน้ำที่ไหลลงลำน้ำโขง
ได้แก่ ห้ยชะโนด ห้วยบางทราย ห้วยมุก ห้วยบังอี่และลำน้ำบริเวณอำเภอดอนตาล
ลำน้ำที่ไหลลงน้ำยาง
ได้แก่ ลำน้ำสาขาลำน้ำยาง
ลำน้ำที่ไหลลงลำน้ำเซ
ได้แก่ ลำน้ำบริเวณอำเภอนิคมคำสร้อย
โครงการชลประทาน
โครงการชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลางจนถึงปี ๒๕๓๙ มี ๘ โครงการ ส่วนใหญ่จะเป็นอ่างเก็บน้ำมีความจุรวมประมาณ
๕๕ ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทานประมาณ ๓๔,๐๐๐ ไร่
สำหรับโครงการชลประทานขนาดเล็กมีอยู่ ๘๔ โครงการ มีความจุรวมประมาณ ๒๒ ล้านลูกบาศก์เมตร
และมีพื้นที่ชลประทานประมาณ ๔๕,๐๐๐ ไร่
อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง
ได้แก่ อ่าง ฯ ห้วยขี้เหล็ก อ่าง ฯ ห้วยมุก อ่าง ฯ ห้วยไร่
อ่าง ฯ ห้วยหินลับ อ่าง ฯ ห้วยทา อ่าง ฯ ห้วยขี้เหล็ก และอ่าว
ฯ ห้วยสิงห์
อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก
มีกระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ คือ อำเภอเมือง ฯ ๒๙ อ่าง อำเภอนิคมคำสร้อย
๙ อ่าง อำเภอทองหลวง ๑๓ อ่าง อำเภอดอนตาล ๑๖ อ่าง อำเภอหว้านใหญ่ ๕ อ่าง อำเภอคำชะอี
๕ อ่าง และอำเภอหนองสูง ๙ อ่าง
ประชากร
จังหวัดมุกดาหาร มีประชากรอยู่ ๘ กลุ่มชาติพันธุ์
ชาวไทยอีสาน
เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของจังหวัดเช่นเดียวกับชาวไทยอีสานในจังหวัดอื่น ๆ
ชาวไทยอีสานได้สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมานานตั้งแต่ ขุนบรมปฐมกษัตริย์ของเผ่าไทย
ตั้งแต่อาณาจักรน่านเจ้า อาณาจักรล้านช้างจนถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย ชาวไทยอีสานได้อพยพลงมาตามลำแม่น้ำโขง
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๓๑ แล้วแผ่ขยายไปตามลำน้ำมูล ลำน้ำชีและลำน้ำอื่น ๆ จนตั้งเป็นเมืองอุบล
ฯ ยโสธร สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และมหาสารคาม เป็นต้น เมืองมุกดาหารตั้งขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.๒๓๑๓
ชาวผู้ไทย
มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งอยู่ทางเหนือของลาวและเวียดนาม
ติดต่อกับภาคใต้ของจีน ไทยได้เสียดินแดนสิบสองจุไทยซึ่งอยู่ในเขตของลาวให้แก่ฝรั่งเศส
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑
ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐา ฯ ที่ ๒ (เจ้าองค์หล่อ) แห่งอาณาจักรเวียงจันทน์ มีหัวหน้าชาวไทยผู้หนึ่งชื่อพระศรีวรราช
มีความดีความชอบที่ได้ช่วยปราบกบฏในนครเวียงจันทน์ กษัตริย์เวียงจันทน์ได้พระราชทานธิดาชื่อเจ้านางช่อฟ้า
ให้เป็นภรรยา ต่อมาได้ตั้งบุตรของพระศรีวรราชกับนางช่อฟ้า รวม ๔ คน แยกย้ายกันไปปกครองหัวเมืองชาวผู้ไทย
คือเมืองสบแอก เมืองเชียงค้อ เมืองวัง และ
เมืองตะโปน
(เซโปน) พร้อมกับอพยพชาวผู้ไทยลงไปทางใต้ของอาณาจักรเวียงจันทน์ ต่อมาชาวผู้ไทยได้แยกย้ายออกไปตั้งเมืองพิน
เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน ฯลฯ ปัจจุบันอยู่ในแขวงสุวรรณเขตของประเทศลาว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าอนุวงษ์เวียงจันทน์เป็นกบฏต่อกรุงเทพ
ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อกองทัพไทยยกไปปราบกบฏแล้ว ทางกรุงเทพ ฯ ได้มีนโยบายอพยพพวกผู้ไทย
ข่า กะโซ่ กะเลิง ฯลฯ จากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้มาตั้งบ้านเมืองอยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง
เพื่อมิให้เป็นกำลังแก่ทางเวียงจันทน์และญวนอีก จึงได้กวาดต้อนชาวผู้ไทยจากเมืองวัง
เมืองเซโปน เมืองพิน เมืองนอง เมืองอ้อคำเขียว ฯลฯ ให้อพยพข้ามลำน้ำโขงมาตั้งบ้านเรือนในเขตเมืองกาฬสินธุ์
สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร คือ
เมืองเรณูนคร
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ชาวเมืองอพยพมาจากเมืองวัง มีนายไพร่รวม ๒,๖๔๘ คน ท้าวสายได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นพระแก้วโกมล
เจ้าเมืองเรณูนครคนแรก ยกบ้านบุ่งหวายเป็นเมืองเรณูนคร
ขึ้นเมืองนครพนม
เมืองพรรณานิคม
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยที่อพยพมาจากเมืองวัง จำนวน ๒,๐๐๓
คน ท้าวโฮงกลางได้รับโปรดเกล้า ฯ เป็นพระเสนาณรงค์
เจ้าเมืองพรรณานิคม ยกบ้านผ้าขาวพันนาขึ้นเป็นเมืองพรรณานิคม
ขึ้นกับเมืองสกลนคร ต่อมาได้ย้ายเมืองไปตั้งที่บ้านพานพร้าว
เมืองกุฉินารายณ์
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยจากเมืองวัง จำนวน ๓,๔๔๓ คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านกุดสิม
ตั้งขึ้นเป็นเมืองกุฉินารายณ์ ตั้งให้ราชวงศ์เมืองวัง เป็นพระธิเบศร์วงษา
เจ้าเมือง อยู่ในเขตอำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอเขาวง อำเภอ
นาดู
จังหวัดกาฬสินธุ์ปัจจุบัน
เมืองภูแล่นช้าง
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยจากเมืองวัง จำนวน ๓,๐๓๒ คน ไปตั้งอยู่ที่ภูแล่นช้าง
ตั้งเป็นเมืองภูแล่นช้าง
ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ หมื่นเดชอุดม ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระพิชัยอุดมเดช
เจ้าเมือง อยู่ในเขตอำเภอนาดู อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ปัจจุบัน
เมืองหนองสูง
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยจากเมืองคำอ้อคำเขียวและเมืองวัง
จำนวน ๒,๔๗๖ คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านหนองสูง
และบ้านคำสระอี
(คำชะอี) ในดังบังอี เขตเมืองมุกดาหาร ตั้งขึ้นเป็นเมืองหนองสูง ท้าวสีหนามได้รับโปรดเกล้า
ฯ เป็นพระไกรสรราช
เจ้าเมือง
เมืองเสนางคนิคม
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยจากเมืองเซโปน จำนวน ๙๔๘ คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านส่องนาง
ตั้งขึ้นเป็นเมืองเสนางคนิคม
ท้าวจันทร์ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระศรีสินธุสงคราม
เจ้าเมือง ต่อมาได้ย้ายไปตั้งที่บ้านห้วยปลาแดก อยู่ในเขตอำเภอเสนางคนิคม
จังหวัดอำนาจเจริญปัจจุบัน
เมืองคำเขื่อนแก้ว
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยจากเมืองวัง จำนวน ๑,๓๑๗ คน ไปตั้งอยู่ที่บ้านคำเมืองแก้ว
ตั้งขึ้นเป็นเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นกับเมืองเขมราฐ ท้าวสีหนาทได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นพระรามณรงค์ เจ้าเมือง
ต่อมาเมื่อยุบเมืองคำเขื่อนแก้ว ได้เอานามคำเขื่อนแก้วไปตั้งเป็นชื่ออำเภอ
ที่ตั้งขึ้นใหม่ที่ตำบลลุมพุก คือ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธรในปัจจุบัน
ส่วนที่ตั้งเมืองคำเขื่อนแก้วเดิมคือตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ
เมืองวาริชภูมิ
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยจากเมืองกะปอง ไปตั้งอยู่ที่บ้านปลาเป้า
เขตเมืองหนองหาร ตั้งขึ้นเป็นเมืองวาริชภูมิ ขึ้นกับเมืองหนองหาร ท้าวพรหมสุรินทร์ได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นพระสุรินทรบริรักษ์
เมืองจำปาชนบท
ตั้งเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๑ ชาวเมืองเป็นชาวผู้ไทยจากเมืองกะปอง มาตั้งอยู่ที่บ้านจำปาบำโพนทอง
ตั้งขึ้นเป็นเมืองจำปาชนบท ขึ้นกับเมืองสกลนคร ท้าวแก้วจากเมืองกะปองได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เป็นพระบำรุงนิคมเขต
เจ้าเมือง อยู่ในเขตอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
ชาวมุกดาหารมีหมู่บ้านเชื้อสายชาวผู้ไทยกว่าร้อยหมู่บ้าน ประชาชนเกือบ ๑ ใน
๔ เป็นชาวผู้ไทย
เอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยคือ เหล้าอุ อาจกล่าวได้ว่าชาวผู้ไทยอยู่ที่ใดต้องมีเหล้าไหอยู่ที่นั่น
ชาวข่า
เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในจังหวัดมุกดาหาร มีถิ่นเดิมอยู่ในแขวงสุวรรณเขต
แขวงสาลวัน และแขวงอัตบือ ของลาว ได้อพยพมาอยู่ในเขตจังหวัดมุกดาหาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ชาวข่า เป็นชนเผ่าดั้งเดิมในแถบลุ่มแม่น้ำโขง อาจจะสืบเชื้อสายมาจากขอมโบราณ
ซึ่งเคยอยู่ในดินแดนของอาณาจักรเจนละ ซึ่งต่อมาเป็นอาณาจักรของ และอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์
พวกข่าอยู่ในตระกูลเดียวกับขอม และมอญ เขมร ภาษาข่าเป็นภาษาในตระกูลออสโตรอาเซียติค
สาขามอญเขมร ชาวข่ายังแบ่งแยกกันอีกเป็นหลายเผ่าพันธุ์ เช่น ข่าย่าเหิน ข่าบริเวณ
ข่าสุ ข่าตะโวย ข่าสอก ข่าสปวน เป็นต้น
ชาวข่า เรียกตนเองว่า เป็นพวกบรู
แปลว่า ภูเขา คำว่า ข่าเป็นชื่อที่ชาวอีสานใช้เรียกพวกบรู คำว่าข่า อาจมาจากคำว่า
ข้าทาส ซึ่งชาวอีสานชอบเรียกพวกข้าทาส ว่า ข้า หรือข้อย แต่ชอบออกเสียงโท
เป็นเสียงเอก จากข้าจึงเป็นข่า เพราะในอดีตชาวไทยในลุ่มแม่น้ำโขงชอบไปจับเอาพวกข่า
ตามป่าดงมาเป็นข้าทาส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีประกาศห้ามมิให้ไปจับพวกข่ามาเป็นข้าทาสอีก
ส่วนในประเทศเวียดนามเรียกพวกข่าว่า พวกมอย
พวกข่าในสมัยโบราณเคยมีประวัติว่า มีศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สูงส่งมาก่อน
มีความรู้ในการประดิษฐของใช้ในการดำรงชีวิต เช่น การปั้นไหข่า การหล่อโลหะ
(กลองมโหระทึก) นำหินมากรอฟันให้ราบเรียบ สวยงาม อันเป็นเอกลักษณ์ของพวกข่า
ชาวข่าดั้งเดิมมักจะมีผิวกายดำคล้ำ ผมหยิกทั้งหญิงและชาย ผู้ชายนุ่งผ้าเตี่ยว
มีผมม้ายาวประบ่า นิยมใช้ผ้าแดงผูกคล้องคอ หรือโพกศีรษะ เป็นเอกลักษณ์ ตามประวัติเล่าว่า
เนื่องจากบรรพบุรุษชาวข่าได้ใช้ผ้าชุบเลือดสีแดง แนบติดกายไว้ก่อนสิ้นชีวิต
ในการต่อสู้แย่งชิงถิ่นที่อยู่กับชาวผู้ไทยในอดีต ในดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
พวกข่าจึงถือว่าผ้าแดงเป็นเอกลักษณ์ของพวกข่า ส่วนผู้หญิงนิยมแต่งกายด้วยการนุ่งผ้าซิ่นยาวถึงข้อเท้า
เปลือยท่อนบน ผู้ชายข่าเคยมีประวัติว่าเป็นนักรบที่ห้าวหาญ มีหน้าไม้ พร้อมลูกดอก
อาบยาพิษยางน่อง เป็นอาวุธประจำกาย
ปัจจุบันในแขวงสุวรรณเขต แขวงสาลวัน และแขวงอัตบือ ของลาว ก็ยังมีข้าราชการที่เป็นพวกข่า
รับราชการอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ อยู่ไม่น้อย
ในจังหวัดมุกดาหาร ในเขตอำเภอเมือง ฯ ยังคงมีชาวไทยเสื้อสายข่า ที่บ้านพังคอง
และบ้านนาเสือหลาย ในเขตอำเภอดอนตาล มีอยู่ที่บ้านบาท ในเขตอำเภอดงหลวง มีอยู่ที่ตำบลกกตูม
บ้านส่านแว้ บ้านคำผักกูด บ้านปากช่อง และบ้านหินกอง ซึ่งอยู่ในเขตภูพานต่อกับเขตจังหวัดกาฬสินธ์
และจังหวัดสกลนคร
จารีตประเพณีของชาวข่า ที่น่าสนใจ เช่น การสู่ขอเพื่อแต่งงาน ต้องมีล่ามสี่คน
(ชายสองหญิงสอง) เทียนสี่เล่ม และเงินหนักห้าบาท เมื่อแต่งงานต้องมีเหล้าอุ
๒ ไห ไก่ ๒ ตัว เงินหนัก ๒ บาท หมู ๑ ตัว และกำไล ๑ คู่ การทำผิดประเพณี
(ผิดผี) เช่น ห้ามลูกสะใภ้เข้าห้องนอนก่อนผัว และห้ามรับของจากพ่อผัว
ห้ามลูกเขยที่เข้าออกในบ้าน ออกจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง ห้ามพกมีดหรือสวมหมวก
เข้าบ้านพ่อตา หรือกินข้าวร่วมกับแม่ยาย การผิดผี เช่นนี้ ลูกเขยต้องใช้เงิน
๕ บาท หมู ๑ ตัว ดอกไม้ธูปเทียน ๒ คู่ บุหรี่พื้นบ้านมวนด้วยใบตอง ๒ มวน หมากพลู
๒ คำ นำไปคารวะผีของบรรพบุรุษที่มุมบ้าน ตามทิศตะวันออกหรือที่เตาไฟ หากเป็นลูกสะใภ้ต้องใช้ผ้าขาวม้า
๑ ผืน ผ้าซิ่น ๑ ตัว ดอกไม้ธูปเทียน ๒ คู่ หมากพลู ๒ คำ บุหรี่ใบตอง ๒ มวน
ไปคารวะผีเช่นเดียวกัน
ไทยกะโซ่
มาจากข่าโซ่
หมายถึง ข่าพวกหนึ่งในตระกูลมอญเขมร มีภาษาและวัฒนธรรมแตกต่างไปจากพวกข่าบ้างเล็กน้อย
ถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองมหาชัย แขวงคำม่วน และแขวงสุวรรณเขตของลาว ข่าอีกพวกหนึ่งอพยพจากแขวงอัตบือ
ของลาวไปอยู่ในเขตจังหวัดศรีษะเกษ จังหวัดสุรินทร เรียกว่า พวกส่วย
หรือกุย
พูดภาษาเดียวกัน พวกกะโซ่ ที่อพยพข้ามโขงมาในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งบ้านเมืองขึ้นหลายเมืองคือ
เมืองรามราช
เป็นชาวกะโซ่ จากเมืองเชียงฮ่ม ตั้งขึ้นเป็นเมืองรามราชขึ้นกับเมืองนครพนม
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ท้าวบัวได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระอุทัยประเทศ
เจ้าเมือง ปัจจุบันยุบเป็นตำบลรามราช อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม
เมืองสุมาลย์มณฑล
เป็นพวกที่อพยพมาจากเมืองมหาชัย มาตั้งอยู่ที่บ้านกุดสมาร
ตั้งขึ้นเป็นเมืองกุสุมาลย์มณฑล ขึ้นกับเมืองสกลนคร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗
เพี้ยเมืองสูง ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระอารัญอาสา
เจ้าเมือง ปัจจุบันคือ อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร
นอกจากนี้ยังมีชาวกหะโซ่ อยู่ในเขตอำเภอปลาปาก จังหวัดนครพนม เช่นที่ตำบลโคกสูง
และที่บ้านวังตาบัว อำเภอเมืองนครพนม ในจังหวัดมุกดาหาร มีอยู่ในเขตดงหลวง
เป็นส่วนมาก หัวหน้าได้เป็นกำนัน มีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวาโนไพรพฤกษ์
ส่วนใหญ่ใช้นามสกุล วงศ์กะโซ่
วัฒนธรรมของชาวกะโซ่ ที่เด่นชัดคือ พิธีกรรมโซ่ ถังบัง หรือสลา เป็นการบวงสรวงดวงวิญญาณของบรรพบุรุษประจำปี
หรือการเรียกขวัญ รักษาคนเจ็บไข้ และพิธีกรรมซางกระมูด ในงานศพ นอกจากนั้นยังมีพิธีเหย่า
ในการรักษาคนเจ็บป่วย หรือเรียกขวัญ
ชาวไทยกะโซ่ มักมีผิวกายดำคล้ำ เช่นเดียวกับพวกข่า ผู้หญิงไว้ผมสูง นุ่งซิ่น
สวมเสื้อกระบอก ย้อมคราม ห่มผ้าแถบ ผู้ชายแต่งกายอย่างคนเมือง แต่เดิมนุ่งผ้าเตี่ยวไว้ชายข้างหน้าข้างหนึ่ง
ไทยกะเลิง
มาจากคำว่า ข่าเลิง
เป็นข่าพวกหนึ่งในตระกูลมอญเขมร ภาษาพูดอยู่ในตระกูลออสโตร อาเซียติค
ถิ่นกำเนิดไทยกะเลิง อยู่ในแขวงคำม่วน และแขวงสุวรรณเขตของลาว ได้อพยพข้ามโขงเข้ามาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ หลังจาการปราบกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์แล้ว
ส่วนใหญ่อยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร
ในอดีตผู้ชายชาวกะเลิง ชอบสักรูปนกแก้วที่แก้ม และปล่อยผมยาวประบ่า ส่วนผู้หญิงเกล้ามวยผม
ปัจจุบันผู้ชายกะเลิงที่สักขาลาย ตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไปถึงบั้นเอว ยังมีหลงเหลืออยู่ในตำบลนาสะเน็ง
อำเภอดอนตาล บางหมู่บ้านในตำบลบ้านซ่ง ตำบลเหล่าสร้าง อำเภอคำชะอี
ชาวกะเลิง มีผิวกายดำคล้ำ ผมหยิกเช่นเดียวกับพวกข่า และกะโซ่ อยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอย
ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งขุนทั้งสามที่เป็นใหญ่คือ ขุนเค็ก ขุนคาน และปู่ลางเชิน
ได้ขอร้องต่อพญาแถน ขอกลับไปอยู่ในโลกมนุษย์ พญาแถนจึงให้ลงมาเกิดที่เมืองแถน
หรือเมืองน้ำน้อยอ้อยหนู อยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย พร้อมกับได้ส่งควายให้ลงมาเกิดในเมืองแถนด้วย
เพื่อจะได้ใช้ทำไร่ไถนา ต่อมาควายตายซากของควายเกิดเป็นน้ำเต้าปุง ในน้ำเต้าปุงเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นหลายเผ่าพันธุ์
มนุษย์เหล่านั้นร่ำร้องอยากออกมาสู่โลกมนุษย์ ขุนทั้งสามจึงเอาเหล็กซี่ (เหล็กปลายแหลมเผาไฟ)
เจาะรูน้ำเต้าปุง เพื่อให้มนุษย์นั้นออกมา มนุษย์พวกแรกที่ออกมาคือ พวกข่า
กะโซ่ และกะเลิง แต่เนื่องจากเหล็กเผาไฟที่ใช้เจาะรูน้ำเต้าปุง มีเขม่าไฟสีดำ
พวกข่า กะโซ่ กะเลิง ที่ออกมาจากน้ำเต้าก่อนพวกอื่น จึงมีผิวดำคล้ำ เมื่อขุนทั้งสามเจาะรูน้ำเต้าให้กว้างมากขึ้น
เผ่าอื่น ๆ รุ่นหลังที่ออกมา เช่น ไทยเลิง ไทยลอ ไทยกวาง ฯลฯ ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของไทย
ลาว ผู้ไทย ได้รีบไปอาบน้ำในหนองน้ำศักดิ์สิทธิ์ จึงมีผิวกายขาวผ่อง
ตามตำนานกล่าวว่า พวกข่า กะโซ่ และกะเลิง เคยมีตัวหนังสือมาตั้งแต่อดีต โดยจารึกตัวหนังสือไว้ในหนังควาย
แต่ว่าทั้งสามเผ่าดังกล่าว ได้ทำสงครามแย่งชิงถิ่นที่อยู่กับชาวผู้ไทยมาตลอด
ในระหว่างทำสงครามได้ถูกสุนัขลักลอบเข้าไปในวัง ของกษัตริย์แล้วคาบเอาหนังควายที่จารึกข่า
กะโซ่ และกะเลิงไปกินหมด ชนเหล่านี้จึงไม่มีตัวหนังสือของตนเองอีก
ไทยแสก
มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองแสก ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองร้างอยู่บริเวณบ้านหมาด
บ้านตอง ในแขวงคำม่วน ของลาว อยู่ห่างจากชายแดนเวียดนามประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
ภาษาแสกเป็นภาษาไทยลาวปนญวน มีขนบธรรมเนียมของญวนปนอยู่ด้วย เช่น ตรุษแสก
หรือตรุษญวน ในวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนสาม เพื่อบวงสรวงดวงวิญญาณของ เจ้าองค์มู
ซึ่งชาวแสกถือว่าเป็นบรรพบุรุษ ที่ช่วยคุ้มครองรักษาชาวแสก ให้ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง
ชาวแสก มีประวัติว่า เป็นนักรบที่ห้าวหาญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
ฯ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพไทยที่ยกไปตั้งอยู่ ณ
เมืองนครพนม เพื่อปราบปราเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ ได้แต่งตั้งให้ฆานบุดดี
หัวหน้าชาวแสกเป็นหัวหน้ากอง เรียกว่า กองอาทฆาต เป็นกองลาดตระเวณรักษาชายแดนที่ติดต่อกับยวน
ต่อมาจึงให้อพยพชาวแสกข้ามโขงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง อยู่ในเขตเมืองนครพนม
ฆานบุดดี ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นหลวงเอกอาสาเจ้าเมืองอาทมาต
ขึ้นกับเมืองนครพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ต่อมาเมืองอาทมาตถูกยุบเป็นอำเภออาจสามารถ
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ และยุบเป็นตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม
ไทยแสก อยู่กระจัดกระจายในจังหวัดนครพนม และจังหวัดมุกดาหาร หญิงแสกนิยมแต่งกายแปลกกว่าชาวอีสานทั่วไป
คือ การซิ่นสองชั้น และปล่อยให้ผ้าซิ่นชั้นใน แลบออกมาเป็นเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวแสก
คือ แสกเต้นสาก
หรือรำลาวกระทบไม้
นิยมเล่นในเทศกาลเดือนสาม (ตรุษแสก) ของทุกปี
ภาษาแสก บางคำแตกต่างไปจากภาษาอีสานทั่วไป
ไทยย้อ
มักเรียกตัวเองว่าชาวย้อ มีอาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร ที่ตำบลท่าขอบยาว อำเภอกันทรวิชัย
จังหวัดมหาสารคาม ในอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และที่ตำบลดงเย็น อำเภอเมือง
กับอำเภอนิคมคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
ภาษาและสำเนียงของชาวย้อจะผิดเพี้ยนไปจากชาวไทยอีสานทั่วไปบ้างเล็กน้อย
ถิ่นฐานเดิมของชาวย้ออยู่ในแคว้นสิบสองปันนา หรือยูนาน ต่อมาชาวย้อบางส่วนได้อพยพลงมาตามลำน้ำโขง
มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองหงสา
(ในแขวงไชยบุรีของลาว) ซึ่งเคยอยู่ในราชอาณาจักรไทยมาก่อน
ต่อมาชาวย้ออีกส่วนหนึ่งได้อพยพจากเมืองหงสา ลงมาตามลำแม่น้ำโขง มาที่ปากแม่น้ำสงคราม
ตั้งเป็นเมืองไชยบุรี
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์เป็นกบฏ
จึงได้กวาดต้อนผู้คนชาวย้อข้ามแม่น้ำโขงไปตั้งอยู่ที่เมืองปุงเลว และเมืองคำเกิดคำม่วน
ในแขวงคำม่วนของลาว ต่อมากองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี)
ได้กวาดต้อนชาวย้อ ให้ข้ามโขงกลับมาตั้งเป็นเมืองท่าอุเทน เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๗
ท้าวพระปทุมได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระศรีวรราช
เจ้าเมืองท่าอุเทน
นอกจากนั้นชาวย้อจากเมืองคำเกิดคำม่วน ยังได้อพยพข้ามแม่น้ำโขง มาตั้งเป็นเมืองท่าสองยาง
ขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ ท้าวคำก้อนได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นพระสุวรรณภักดี
เจ้าเมือง
ไทยย้อในจังหวัดสกลนคร อพยพข้ามโขงมาจากเมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วนของลาว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตั้งขึ้นเป็นเมืองสกลนครเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๑
ในจังหวัดมุกดาหารมีไทยย้ออยู่ที่ตำบลดงเย็น อำเภอเมือง ฯ และที่อำเภอนิคมคำสร้อย
อีกหลายหมู่บ้าน
ไทยกุลา
คำว่า กุลา มาจากภาษาพม่า แปลว่า คนต่างถิ่น กุลาคือพวกไทยใหญ่ หรือเงี้ยว
หรือตองซู่ ในรัฐไทยใหญ่ของพม่า เมื่อพวกนี้เดินทางมาค้าขายในภาคอีสาน จึงถูกชาวอีสานเรียกว่า
พวกกุลา
คำว่า กุลา หมายถึง ผู้ที่มาจากเมืองบังกล่า (บังคลาเทศ) ต่อมาเมื่อเห็นพวกไทยใหญ่หรือเงี้ยวรูปร่างสูงใหญ่โพกศีรษะ
นุ่งกางเกงขายาวปลายบาน เข้ามาค้าขายในภาคอีสาน เลยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพวกเดียวกับพวกแขกบังกลาเทศ
ชาวกุลาชอบเร่ร่อนค้าขายโดยนำเอาผ้าแพรพรรณหรือเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต
ตลอดทั้งเครื่องทองเหลือง เช่น ฆ้อง มีด ดาบ ฯลฯ มาเร่ขายแล้วซื้อวัวควายกลับไปพม่า
กุลาบางพวกแต่งงานแล้วตั้งรกรากอยู่ในอีสาน มักแต่งงานกับหญิงชาวผู้ไทย
ผู้ชายชาวกุลามักมีรูปร่างสูงใหญ่ ชอบนุ่งโสร่งแบบพม่าหรือนุ่งกางเกงขายาวปลายบาน
และโพกศีรษะทรงสูง
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ชาวกุลาที่มาตั้งรกรากค้าขายฝิ่นอยู่ที่เมืองหนองสูง เขตเมืองมุกดาหาร
ได้แต่งงานกับผู้หญิงชาวผู้ไทยเป็นจำนวนมาก และได้ตั้งรกรากอยู่ที่เมืองทุ่งหมากเฒ่า
เขตเมืองหนองสูง ก่อการจลาจลขึ้น ทางเมืองมุกดาหารได้ขอกำลังจากเมืองอุดรมาช่วยปราบปราม
การเมืองและการปกครอง
เมืองมุกดาหารตั้งขึ้นเป็นเมือง เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ มีอาณาเขตครอบคลุมทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง จนจดดินแดนญวน
ต่อมาได้มีกลุ่มชาติพันธุ์จำนวนมาก เช่น ผู้ไทย ข่า กะโซ่ กะเลิง แสก ย้อ
กุลา และไทยอีสาน อพยพข้ามโขงมาตั้งรกรากอยู่ในเขตเมืองมุกดาหารเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๑๓ ถึงปี พ.ศ.๒๔๔๐ เมืองมุกดาหารใช้การปกครองตามธรรมเนียมการปกครองอาณาจักรล้านช้าง เหมือนกับการปกครองของเมืองอื่น
ๆ ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง คือ มีเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร และผู้ช่วยราชการเมือง
กับกรมการเมืองอีก ๑๒ ตำแหน่ง คือ เมืองแสน เมืองจันทน์ เมืองซ้าย เมืองกลาง
เมืองขวา ชาเนตร ชานนท์ ชาบัณฑิต นาเหนือ นาใต้ เมืองคก และเมืองฮาม
เมืองมุกดาหารมีเจ้าเมืองปกครองต่อ ๆ กันมาถึง ๗ คน เจ้าเมืองต้องส่งส่วยให้กับกรุงเทพ
ฯ ตามจำนวนชายฉกรรจ์ที่มี และถวายราชบรรณาการเป็นต้นไม้ทอง สูงเก้าชั้น หนัก
๑ ตำลึง ๓ บาท และต้นไม้เงิน สูงเก้าชั้น หนัก ๑ ตำลึง ๓ บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๐๙
จนถึงปี พ.ศ.๒๔๓๔ จึงได้ยกเลิก
|
|