มรดกทางพระพุทธศาสนา
ศาสนสถาน
วัดศรีมงคลใต้
อยู่ในตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ สร้างสมัยกรุงธนบุรี
ภายในวิหารประดิษฐานพระเจ้าองค์หลวง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่
และศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองมุกดาหาร ประชาชนชาวไทยและลาวเลื่อมใสศรัทธามาหลายชั่วอายุคน
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ หลังจากที่เจ้าจันทรสุริยวงศ์ เจ้าเมืองโพนสิม
(คันธบุรี บริเวณพระธาตุอิงฮัง ในประเทศลาว) ถึงแก่กรรมแล้ว ท้าวกินรีได้เป็นเจ้าเมือง
และได้อพยพผู้คนมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ นายพรานจากเมืองโพนสิมได้พบต้นตาลต้นหนึ่งมีเจ็ดยอด
ตรงปากห้วยมุก และพบพระพุทธรูปสององค์ อยู่ใต้ต้นโพธิ์สองต้น องค์ใหญ่เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน
มีลักษณะสง่างาม องค์เล็กเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเหล็ก ท้าวกินรีจึงให้สร้างวิหารขึ้นครอบพระพุทธรูปองค์ใหญ่แล้วตั้งชื่อว่า
วัดศรีมงคล
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กค่อย ๆ จมลงไปในดินจนเหลือแต่ยอดพระเกตุมาลา
ท้าวกินรีจึงสร้างแท่นสักการะบูชาไว้ ณ ที่นั้น และถวายนามว่า พระหลุบเหล็ก
ส่วนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ยังคงประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดศรีมงคลใต้ และได้ถวายนามว่าพระเจ้าองค์หลวง
วิหารวัดศรีมงคลใต้
เป็นวิหารขนาดใหญ่ ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานไม่สูงนัก หลังคาเป็นหลังคาจั่วลดช้น
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๓ ด้านหน้าจั่วตกแต่งด้วยลายปูนปั้นสลักลายต่าง
ๆ ที่เสาและผนังด้านข้างมีคันทวยไม้แกะสลักเป็นลายดอกไม้สวยงาม มีบันไดทางขึ้นวิหารสามทาง
คือ ด้านหน้าเป็นประตูสำคัญ บานประตูเป็นไม้แกะสลัก เหนือประตูเป็นหน้าบันอยู่ภายใต้ซุ้มปูนขนาดใหญ่
เป็นรูปสัตว์ในเทพนิยาย ข้างบันไดหน้าวิหารมีรูปราชสีห์ สิงห์ ยักษ์
หน้าต่างเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีเฉพาะที่ผนังด้านข้างเท่านั้น
วัดศรีมงคลเหนือ
อยู่ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงปากห้วยมุก เป็นวัดแรกของเมืองมุกดาหาร
สิมห้วยมุกตั้งอยู่ตรงจุดที่ลำน้ำห้วยมุกไหลมาบรรจบลำน้ำโขง
วัดยอดแก้วศรีวิชัย
อยู่ในตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง วัดนี้สร้างพร้อมกับชุมชนเมืองมุกดาหาร ภายในบริเวณวัดมีอาคารเก่า
เป็นอาคารชั้นเดียว ก่ออิฐถือปูน มีหลังคาสองชั้นชักเป็นปีกรอบอาคาร แต่ถูกลูกระเบิดสมัยกรณีพิพาทอินโดจีน
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ หักพังไม่หมด บนผนังเหนือประตูหน้าต่างรอบ ๆ อาคารมีปูนปั้นลายใบไม้ดอกไม้ประดับ
ตอนบนของผนังมีช่องลมเป็นระยะ ๆ ภายในอาคารมีเสาหกต้น ยอดเสาเป็นลายใบไม้
เหนือขึ้นไปเป็นบัวหัวเสาทำเป็นลายกลีบบัว
ปัจจุบันอาคารดังกล่าว ทางวัดได้รื้อถอนออกไป และสร้างอาคารใหม่เป็นเรือนกระจก
มีพระประธานประดิษฐานอยู่ ข้าง ๆ อาคาร เป็นที่ตั้งของพระธาตุพนมจำลอง โดยคณะช่างชาวบ้านแบด
ตำบลบ้านเหล่า อำเภอคำชะอี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔
ด้านหลังวัด เดิมเป็นที่ตั้งพระธาตุเก่าองค์หนึ่ง แต่ได้หักพังไปหมดแล้ว และได้สร้างขึ้นมาใหม่คล้ายพระธาตุพนม
วัดศรีสมังค์
เป็นวัดที่เจ้าเมืองอุปถัมภ์ อยู่ในตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง ฯ ภายในวัดมีวิหารเก่า
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ ลักษณะอาคารได้รับอิทธิพลตะวันตก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
ประตูและหน้าต่างเป็นรูปโค้งทำจากปูนปั้นเลียนแบบการก่ออิฐ ด้านหน้าอาคารมีประตูเข้าสามประตู
มีหน้าต่างที่ผนังด้านซ้าย และด้านขวาด้านละสามบาน หลังคาเป็นหลังคาหน้าจั่วลดชั้น
เดิมมุงด้วยกระเบื้องไม้ โครงสร้างภายในของหลังคาเป็นไม้
พระประธานในวิหารเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก มีพุทธลักษณะแบบศิลปะลาว
วัดศรีบุญเรือง
อยู่ในตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่ มีพระพุทธรูปเรียกว่า
หลวงพ่อสิงห์สอง เป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่
เป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองมุกดาหาร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี ๑.๒๐
เมตร หลวงพ่อสิงห์สอง มีปรากฎพร้อมกับการสร้างวัดศรีบุญเรือง นับเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง
ในเดือนเมษายนของทุกปี จะอัญเชิญหลวงพ่อสิงห์สองมาให้ประชาชนทั่วไป ได้สรงน้ำพระพุทธรูป
วัดทุ่งเว้า (ทุ่งเว้า)
ปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีบริเวณเหลืออยู่ประมาณ ๔ ไร่ ตั้งอยู่ริมฝั่งโขงห่างจากที่ตั้งตัวจังหวัด
ไปทางทิศใต้ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร อยู่ที่บ้านท่าไคร้ ตำบลนาสีนวน อำเภอเมือง
ฯ
ตามประวัติกล่าวว่า คำว่า เว้า หมายถึง การพูดจาปราศัย เพราะเดิมเคยเป็นทุ่งกว้าง
ริมฝั่งโขง และมีศาลาตั้งอยู่กลางทุ่ง สำหรับว่าคดีความต่าง ๆ ในสองฝั่งโขงของแถบถิ่นนี้
ตามหลักฐานพบว่า วัดทุ่งเว้า สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๐ เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ได้สร้างวัดขึ้นในสองฝั่งโขง
เป็นจำนวนมาก หลายสิบวัดถวายเป็นพุทธบูชา
วัดทุ่งเว้า ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนทั้งสองฝั่งโขง จนถึงปี
พ.ศ.๒๓๘๘ ปัจจุบันเป็นวัดร้างแต่ยังมีเนินดิน กองอิฐกองหิน และพระพุทธรูปหินทรายให้เห็นว่า
เป็น โบสถ์ วิหาร
วัดลัฎฐิวัน
อยู่ที่บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ ท่านผู้สร้างวัดได้ปลูกต้นตาลไว้รอบ
ๆ วัด จึงมีชื่อว่า วัดลัฎฐิวัน แปลว่า สวนตาลหนุ่ม อันเป็นความหมายถึงสวนตาลที่พระเจ้าพิมพิสาร
ถวายแก่พระพุทธเจ้า ณ กรุงราชคฤห์ในสมัยพุทธกาลอีกด้วย แต่ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า
วัดป่าตาล
ในช่วงที่ พระครูบุ ผู้สร้างวัดนี้เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการสร้างถาวรวัตถุเป็นจำนวนมาก
เช่น สิม พระเจดีย์ กุฎิรูปจตุรมุข ศาลาการเปรียญ รอยพระพุทธบาทจำลอง สระโบกขรณีจำลอง
และสังเวชนียสถานจำลอง ได้แก่ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน
สิม เป็นอาคารเก่าขนาดเล็ก
ฐานเตี้ย ก่ออิฐถือปูน มีผนังด้านหลังพระประธานเพียงด้านเดียว อีกสามด้านเปิดโล่ง
หลังคาจั่วลดชั้นมุงด้วยกระเบื้องดินเผา ผนังด้านนอกมีประติมากรรมนูนต่ำ เป็นภาพนารายณ์ทรงครุฑอยู่ตรงกลาง
มีเทวดาและอสูรอยู่ข้าง พระประธานในสิมเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ลักษณะเป็นศิลปะแบบท้องถิ่นลาว
มีพระสาวกประกอบห้าองค์ ผนังด้านในประดับด้วยจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือช่างท้องถิ่น
เป็นเรื่องทศชาติ (พระเจ้าสิบชาติ) นอกจากนั้นยังมีภาพกินรี ยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณ
เป็นต้น
ด้านเหนือ และด้านใต้ของสิมมีอาคารเล็ก ๆ ลักษณะคล้ายมณฑป ภายในประดิษฐานพระพุทธจำลอง
เจดีย์
เป็นรูปทรงจำลองพระธาตุพนมองค์เดิม ขนาดกว้างด้านละ ๒ วาศอก สูง ๖ วา ๒ ศอก
ภายในเจดีย์บรรจุพระไตรปิฎก จากวัดมโนภิรมย์ ที่เหลือจากไฟไหม้พร้อมคัมภีร์ต่าง
ๆ เจดีย์องค์นี้มีชื่อว่า พระธรรมเจดีย์
ปัจจุบันยอดเจดีย์ได้หักพังลงมา จะเห็นว่าภาพสลักทั้งสี่ด้านแต่ละด้านมีภาพบุคคลยืนตรงกลาง
สองข้างสลักเป็นรูปเสาเรียงกัน ประดับดอกไม้ มีกำแพงขนาดเล็กรอบ และยังมีร่องรอยคล้ายฐานเสาอยู่โดยรอบ
วิหาร เดิมบริเวณที่เป็นวิหารมีเพียงพระพุทธรูปปางตรัสรู้
และปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ไม่มีหลังคา ต่อมาทางวัดได้สร้างวิหารคลุม
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐
|