มรดกทางพระพุทธศาสนา
รอยพระพุทธบาทบ้านเวินปลา
รอยพระพุทธบาทบ้านเวินปลา ตั้งอยู่ที่บ้านเวินปลา ตำบลเวินพระบาท อำเภอท่าอุเทน
รอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่บนโขดหินเล็ก ๆ ในแม่น้ำโขง ที่บนฝั่งแม่น้ำห่างกันประมาณ
๑๐๐ เมตร ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีเนินดินเล็ก ๆ ขนาดกว้างประมาณ ๓๐
เมตร ยาวประมาณ ๕๐ เมตร และสูงประมาณ ๑ เมตร เรียกว่า ดอนพระบาท
ศาสนสถานที่สำคัญในบริเวณนี้มีอยู่สองแห่งคือ รอยพระพุทธบาทเวินปลา และซากฐานเจดีย์บนดอนพระบาท
ซึ่งอยู่บนตลิ่งเยื้องกับรอยพระพุทธบาทเล็กน้อย
โขดหินอันเป็นที่ตั้งรอยพระพุทธบาท อยู่ในแนวตั้งเอน มีความยาวประมาณ ๒ -
๑๐ เมตร สูงพ้นน้ำขึ้นมาประมาณ ๒.๐๐ เมตร ด้านบนโขดหินมีลักษณะคล้ายรอยเท้ามนุษย์อยู่สองรอย
รอยบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๕๕ เซนติเมตร ยาว ๒.๐๕ เมตร ด้านล่างเป็นแผ่นแบบเรียบตรงกลางมีรูกลมหนึ่งรู
มีนิ้วห้านิ้ว นิ้วโป้งอยู่ด้านล่าง
รอยเท้ามาร เป็นรอยเท้าที่อยู่ทางด้านล่าง
ลักษณะเป็นรอยบุ๋มลงไปคล้ายรอยเท้ามนุษย์ กว้าง ๔๐ เซนติเมตร ยาว ๑.๒๐ เซนติเมตร
ใต้โขดหินมีเศษอิฐตกกระจายอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นซากอาคารเก่าที่ถูกน้ำกัดเซาะพังลง
ซากเจดีย์ก่อด้วยอิฐซึ่งเหลืออยู่แต่ฐานเจดีย์ มีขนาดกว้าง ๑๕๐ เซนติเมตร
ยาว ๑๘๐ เซนติเมตร สูง ๗๐ เซนติเมตร มีเศียรพระพุทธรูปสำริดอยู่หนึ่งเศียร
มีขนาดกว้าง ๓.๘ เซนติเมตร สูง ๕ - ๖ เซนติเมตร มีร่องรอยการลงรักปิดทอง สันนิษฐานว่า
มีอายุอยู่ในช่วงสมัยทวาราวดี
รอยพระพุทธบาทเวินปลา มีคำกล่าวอ้างอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ สันนิษฐานว่าเป็นที่เคารพนับถือ
สืบต่อกันมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๒
วัดพระธาตุศรีคูณ
วัดพระธาตุศรีคูณ ตั้งอยู่ที่บ้านนาแกน้อย ตำบลนาแก อำเภอนาแก สร้างเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๑ องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเดียวกับองค์พระธาตุพนม
หอแจก เป็นหอแจกแบบโปร่ง ยกพื้นสูง ผนังเปิดโล่งสามด้าน หลังคาซ้อนสองชั้น
เว้นช่องระบายอากาศ ระหว่างหลังคาจั่วกับปีกนก มีบันไดขึ้นสองด้าน เสารองรับหลังคาจั่วเป็นเสาเหลี่ยม
ประดับบัวหัวเสา โครงสร้างเสาและผนังเป็นการก่ออิฐถือปูน ซุ้มประตูและหน้าต่างก่อโค้งครึ่งวงกลม
สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒
ใบเสมา ปักอยู่รอบอุโบสถ การปักยึดคติตามทิศทั้งแปด มีอยู่สิบเอ็ดใบ ส่วนยอดของใบเสมาเป็นทรงเรียวแหลมคล้ายใบหอกป้าน
กว้างประมาณ ๗๕ เซนติเมตร สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๑๔ เซนติเมตร มีอยู่สองแบบคือ
แบบมีลวดลาย และแบบเรียบ ลวดลายที่สลักเป็นภาพสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา เช่นสถูป
หม้อปูรณฆฏะลายกลีบบัว ลายคั่นลูกประคำ ซึ่งจัดอยู่ในสมัยทวาราวดี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๔ - ๑๖
วัดแป้ม
(ร้าง)
วัดแป้ม (ร้าง) ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเก่า ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง ฯ ปรากฏซากเจดีย์
และอูบ ตัวอาคารโบราณสถานนั้นเหลือเพียงกองอิฐที่ถูกทับถมอยู่ใต้เนินดิน ห่างออกมาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้
ประมาณ ๔ เมตร มีเจดีย์ก่ออิฐถือปูน ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองหนึ่งองค์
อูบมุงอยู่ทางด้านทิศใต้ของเจดีย์ โบราณสถานแห่งนี้ สันนิษฐานว่า เป็นส่วนหนึ่งของมรุกขนคร
มีอายุอยู่ประมาณปลายสมัยอยุธยาถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์
วัดแก่งเมือง
วัดแก่งเมือง ตั้งอยู่ที่บ้านหมาด ตำบลกลองใหญ่ อำเภอเมือง ฯ มีเจดีย์และซากโบราณสถานสองหลัง
เจดีย์ก่ออิฐถือปูน ส่วนฐานพังทะลายจนไม่เห็นรูปร่างแล้ว เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้
๑๖ รองรับยอดทรงระฆังกลมลักษณะเพรียวสูง ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเจดีย์อีสาน
ซึ่งมีอิทธิพลศิลปะล้านนาผสมอยู่
ซากโบราณสถานสองหลัง หลังหนึ่งอยู่ห่างจากเจดีย์ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ
๘ เมตร ปัจจุบันเหลือแต่ส่วนฐาน เป็นฐานปัทม์ของอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า
หลังที่สองอยู่ทางด้านทิศใต้ของหลังที่หนึ่ง ห่างลงมาประมาณ ๒ เมตร ลักษณะเป็นซากสิมเก่า
มีอายุอยู่ประมาณต้นสมัยรัตนโกสินทร์
วัดมรุกขนคร
(ร้าง)
วัดมรุกขนคร (ร้าง) ตั้งอยู่ที่บ้านดงขวาง ตำบลดอนนางหงส์ อำเภอธาตุพนม
พระบรมราช (กู่แก้ว) ได้สร้างวัดนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๐ เมื่อย้ายเมืองจากท่าแขกมาตั้งอยู่ทางฝั่งแม่น้ำโขงตางปากห้วยปังฮวด
วัดนี้เป็นวัดใหญ่มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต และได้สร้างวัดขึ้นรอบ ๆ
เมืองอีกสี่วัด คือ วัดดอนกอง วัดดงขวางท่า วัดขอนแก่น และวัดนาถ่อนท่า
ตัวเมืองมรุกขนคร ถูกน้ำกัดเซาะตลิ่งพังมาโดยตลอด รวมทั้งเกิดโรคระบาด มีผู้คนล้มตายเป็นอันมาก
ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๓๒๐ จึงได้ย้ายตัวเมืองไปตั้งที่บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อ
ปรากฏชื่อว่าบ้านเมืองเก่ามาจนถึงปัจจุบัน
พบส่วนฐานของศาสนสถานรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ มีอายุอยู่ประมาณปลายสมัยอยุธยา
และต้นสมัยรัตนโกสินทร์
พระธาตเรณู
พระธาตุเรณู ประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุเรณู ตำบลเรณู อำเภอเรณูนคร สร้างขึ้นโดยพระอุปัชฌาย์อินทร์
เจ้าอาวาสและญาคูสงฆ์ รองเจ้าอาวาสพร้อมด้วยฆราวาส เพื่อให้เป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาวเรณู
ครั้งแรกได้ถูกฟ้าผ่าพังทลายลง จึงได้ร่วมกันสร้างขึ้นใหม่อีกโดยก่ออิฐให้หนาขึ้น
แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓
องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยม ซึ่งจำลองมาจากพระธาตุพนมองค์เดิม
คือองค์ก่อนที่กรมศิลปากรจะสร้างองค์ใหม่คร่อมทับ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ แต่มีขนาดเล็กกว่า
สูง ๓๕ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละประมาณ ๘.๔๐ เมตร ภายในบรรจุพระไตรปิฎก
พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปเงิน และของมีค่าต่าง ๆ ที่สำคัญคือ ภายในอุโบสถเป็นที่ประดิษฐาน
พระองค์แสน
ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครพนม
พระธาตุท่าอุเทน
พระธาตุท่าอุเทน ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุท่าอุเทน ตำบลท่าอุเทน อำเภอท่าอุเทน
ตามประวัติกล่าวว่า พระอาจารย์สีทัตถ์ ได้ชักชวนพระภิกษุสงฆ์ และชาวบ้าน ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๔ ใช้เวลาสร้างอยู่ ๖ ปี สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙
องค์พระธาตุมีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ซึ่งจำลองมาจากพระธาตุพนม
มีขนาดเล็กกว่า แต่มีความสูงมากกว่าพระธาตุพนม บริเวณฐานและชั้นเรือนธาตุมีลายปูนปั้นงดงาม
ภายในองค์พระธาตุมีสองชั้น ชั้นแรกก่อเป็นอุโมงค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระอาจารย์สีทัตถ์อัญเชิญมาจากเมืองย่างกุ้ง
รวมทั้งพระพุทธรูปและของมีค่าต่าง ๆ มาบรรจุไว้ด้วย ชั้นที่สอง ก่อครอบอุโมงค์สูงประมาณห้าวา
ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุองค์นอก
วัดกลางเมืองไชยบุรี
วัดกลางเมือง ฯ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน
ปัจจุบันเป็นวัดร้าง คงเหลือพระธาตุอยู่หนึ่งองค์ มีรูปแบบการก่อสร้างที่จำลองมาจากพระธาตุพนม
แต่มีขนาดเล็กกว่ามาก และมีโบสถ์อยู่หนึ่งหลัง สร้างเมื่อปี พ.ศ๒๔๗๙ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
ภายในประดิษฐาน พระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยหนึ่งองค์ ชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า
วัดไตรภูมิเก่า ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
วัดธาตุ
วัดธาตุ ตั้งอยู่ที่บ้านสำราญใต้ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง ฯ ไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้าง
สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘
วัดธาตุน้อยศรีบุญเรือง
วัดธาตุน้อย ฯ อยู่ที่บ้านศรีบุญเรือง ตำบลพระกลางทุ่ง อำเภอธาตุพนม ตามประวัติกล่าวว่า
พระเจ้าไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้างเป็นผู้สร้าง เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่
๒๒ ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง และได้สร้างวัดขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖
พระธาตุพนม
พระธาตุพนม ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม
ตามตำนานกล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระ และพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ พร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครในแคว้นต่าง
ๆ ได้แก่พญานันทเสนเมืองศรีโคตรบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทรปัตนคร และพญาคำแดง
เมืองหนองหานน้อย ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๘ เสร็จแล้วได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ
(กระดูกส่วนหน้าอก)ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ภายในอง์พระธาตุพร้อมด้วยของมีค่าเป็นจำนวนมาก
องค์พระธาตุพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน สลักลวดลายแบบโบราณคล้ายรูปแบบของศิลปะทวาราวดี
องค์พระธาตุแบ่งออกเป็นสามช่วงคือ
ช่วงที่หนึ่ง เป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๑๖ เมตร ฐานสูงจากพื้นดินถึงบัวล่าง
๘ เมตร ประดับด้วยแผ่นศิลาแดง จำหลักลวดลายวิจิตรงดงามทั้งสี่ด้าน เป็นรูปกษัตริย์สมัยโบราณ
รูปสัตว์และนกลายก้านขด ลายใบผักกูด ตรงกลางจำหลักเป็นประตู
ช่วงที่สอง นับแต่บัวล่างขึ้นไปถึงบัวบน ความสูง ๑๒ เมตร ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยชามเป็นดอกตรง
และมีร่องรอยลวดลายเดิมให้เห็นอยู่
ช่วงที่สาม นับแต่บัวบนขึ้นไปเป็นองค์ระฆังสี่เหลี่ยมขึ้นไปจนถึงยอด
สูง ๒๓ เมตร เป็นบัวคว่ำ และบัวปากระฆัง หัวบัวเป็นทรงขวดแก้ว องค์ระฆังเรียวรัดขึ้นไปตามลำดับ
รูปทรงสี่เหลี่ยมส่วนยอดใหม่ที่กรมศิลปากรเพิ่มเติมอีก ๑๐ เมตร เป็นทรงเรียวเหมือนขวดแก้วสวมอยู่ภายนอก
ประดับลวดลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นช่อลดหลั่นจึงถึงยอด ส่วนยอดหุ้มด้วยทองคำประดับพลอย
เหนือสุดเป็นฉัตรทองคำสวมยอดไว้ ความสูงของฉัตร ๔.๕ เมตร รวมความสูงตลอดองค์พระธาตุพนม
๕๗.๕๐ เมตร องค์พระธาตุพนมได้รับการบูรณะและก่อสร้างเพิ่มเติมให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงมาโดยตลอด จนกระทั่งมีลักษณะเป็นต้นแบบของพระธาตุในภาคอีสาน ที่สร้างขึ้นใหม่หลายองค์
จากการพังทลายขององค์พระธาตุพนม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ ได้สำรวจพบสิ่งของต่าง
ๆ ที่บรรจุอยู่ภายในองค์พระธาตุพนมเป็นจำนวนมาก ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ
ได้พบผอบที่บรรจุพระอุรังคธาตุ และเจดีย์ศิลาจำลองจากยอดภูเพ็ก และที่ส่วนยอดบัวของฐานชั้นที่สอง
พบผอบทองคำบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒๘๐ องค์ และมีผอบแก้วบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒๕ องค์ ผอบทองคำบรรจุพระธาตุอรหันต์ ๔ องค์ และผอบอีกใบหนึ่งบรรจุพระพุทธรูปทองคำปางมารวิชัยหนึ่งองค์
หน้าตักกว้างหนึ่งนิ้ว ในเครื่องบริขารมีช้างแก้ว ๔ เชือก และกวางแก้วหนึ่งตัว
เมื่อกรมศิลปากรบูรณะองค์พระธาตุพนม จนมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
และพระราชทานเทียนพรรษา ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง มาบูชาองค์พระธาตุพนมเป็นประจำทุกปี
สิ่งสำคัญอื่น ๆ ในวัดพระธาตุพนม ได้แก่ พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
มีพระนามว่า พระองค์แสนศาสดา
และพระประธานในพระวิหาร มีพระนามว่า พระพุทธมารวิชัยศาสดา
เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเช่นกัน เนินพระอรหันต์
ได้แก่หอพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุพนม
กระตึบ
อยู่บริเวณลานพระศรีมหาโพธิ ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกขององค์พระธาตุพนม วิหารหอพระแก้ว
สร้างสมัยพระเจ้าโพธิสารแห่งนครหลวงพระบาง เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๗๓ พระอุโบสถธาตุเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร
แห่งนครจำปาศักดิ์ สร้างขึ้นเมื่อ ประมาณปี พ.ศ.๒๒๖๓ บ่อน้ำพระอินทร์
ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุพนมใกล้กับหอพระนอน เป็นบ่อน้ำเก่าแก่ตั้งแต่สมัยโบราณ
หนองสระพังทอง
เป็นสระเก็บน้ำแต่โบราณ
อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ขององค์พระธาตุพนม ห่างออกไปประมาณ ๒๐๐ เมตร
งานนมัสการพระธาตุพนมมีในช่วงเดือนสาม เป็นประจำทุกปี
พระธาตุประสิทธิ์
|
พระธาตุประสิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่วัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า เดิมเป็นเจดีย์เก่าแก่
อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ภายในอุโมงค์ขององค์เจดีย์ มีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่หลายองค์
ชนเผ่าญ้อได้พบพระธาตุนี้เมื่อ ปี พ.ศ.๒๑๑๒ และได้มีการบูรณะครั้งแรก ถวายนามว่าพระธาตุประสิทธิ์
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๒๘๓ พระเจ้าขัติยวงศา ราชบุตร เจ้าผู้ครองนครศรีโคตรบูร ได้บูรณะเสริมยอดองค์พระธาตุ
สูงประมาณ ๓๐ เมตร
พระธาตุประสิทธิ์ ได้รับการบูรณะโดยเลียนแบบพระธาตุพนม องค์พระธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม
กว้างด้านละ ๗.๒๐ เมตร ความกว้างรวมเชิงบันไดด้านละ ๑๐ เมตร สูง ๒๘.๕๐ เมตร
มีประตูปิด - เปิดสองด้าน พระธาตุประสิทธิ์เป็นโบราณสถานเก่าแก่เป็นที่เคารพบูชา
ในวันขึ้น ๑๐ - ๑๕ ค่ำเดือนสี่ จะมีงานนมัสการพระธาตุประสิทธิ์เป็นประจำทุกปี |
พระธาตุอินทร์ปลง
พระธาตุอินปลง หรือพระธาตุหัวคู
หรือพระธาตุนาคู
ประดิษฐานอยู่ที่วัด พระธาตุอินทร์ปลง บ้านสร้างหิน ตำบลนาราชควาย อำเภอเมือง
ฯ องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินวัดเก่าข้างสระน้ำกลางทุ่งนา ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านสร้างหิน
ห่างจากหมู่บ้านออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร ปัจจุบันองค์พระธาตุมีสภาพหักพังคงเหลือแต่ส่วนฐาน
ซึ่งกว้างด้านละ ๑๕ เมตร สูงประมาณ ๔ เมตร สร้างด้วยอิฐ
จากบันทึกของพระครูสถิตเขมคุณ เจ้าอาวาสวัดศรีบัวบาน และเจ้าคณะตำบลนาราชควาย
มีความว่าพระธาตุนี้เป็นพระธาตุพระยาเจือง เป็นผู้ปกครองพื้นที่บริเวณนี้
ซึ่งเดิมเป็นเมืองเก่า ชื่อเมืองเสตพล มีเมืองน้อยใหญ่ขึ้นต่อเมืองนี้ พระยาเจืองมีอาวุธวิเศษคือง้าวเจือง
และเป็นผู้รักษาศีล เป็นที่พอใจของประชาชนและพระอินทร์ จนทำให้พระอินทร์เสด็จลงมาหาพระยาเจือง
แล้วให้พรจึงได้ขนานนามที่นั้นว่าที่ปลงใจของพระอินทร์ พระยาเจืองจึงได้สร้างพระธาตุขึ้นเป็นสัญลักษณ์
และบรรจุของมิ่งเมืองคือง้าวเจือง พร้อมทั้งทรัพย์สินจำนวนมาก มีการจารึกด้วยอักษรขอมไว้บนแผ่นศิลาปิดปากหลุมในองค์พระธาตุ
มีความว่า พระธาตุอินทร์ปลงนี้มีพระยาเจืองเป็นผู้สร้าง
พระธาตุนคร
พระธาตุนครประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ มีประวัติความเป็นมาคือในระยะแรกที่พระยามหาอำมาตย์
(ป้อม) สร้างเมืองนครพนมขึ้นนั้น มีเพียงวัดมหาธาตุวัดเดียวเท่านั้น จึงขนานนามว่า
วัดมิ่งเมือง
เป็นวัดใหญ่ประจำเมือง เป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒย์สัตยา สมัยต่อมาวัดมิ่งเมืองชาวบ้านทั่วไปเรียกกันติดปากว่า
วัดธาตุ เนื่องจากผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าให้ลูกหลานฟังต่อ ๆ กันมาว่า ที่วัดมิ่งเมือง
มีพระอรหันตธาตุบรรจุอยู่ในธาตุเจดีย์องค์หนึ่ง
ในปี พ.ศ.๒๔๖๒ พระครูพนมคณาจารย์เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ และเจ้าคณะจังหวัดนครพนมได้เชิญฝ่ายข้าราชการ
และฝ่ายประชาชนมาประชุมหารือ ที่จะรื้อถอนบรรดาธาตุเจดีย์เก่าออก แล้วสร้างพระธาตุพนมขึ้นมาใหม่
การสร้างพระธาตุนครในส่วนที่เป็นลวดลายวิจิตร ตลอดถึงขนาด ทรวดทรง และสัดส่วนขององค์พระธาตุเป็นฝีมือของ
ญาท่าวบุ บ้านหว้านใหญ่ อำเภอมุกดาหาร และญาท่าวม้าว บ้านเสาเล้า อำเภอท่าอุเทน
โดยองค์พระธาตุมีลักษณะสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละประมาณ ๖ เมตร สูง ๒๔ เมตร
มีรูปร่างตามแบบพระธาตุพนมองค์เดิม รูปทรงตั้งบนฐานใหญ่สองฐานต่อลดหลั่นกันตามลำดับ
แต่ละฐานมีรูปประตูอยู่ตรงกลาง บนประตูมีรูปคล้ายบัวบาน มีรูปและลายต่าง ๆ
ข้างประตูทำเป็นลายเครือไม้ดอกไม้ผล ต่อจากฐานใหญ่ทั้งสองขึ้นไปมีลักษณะแหลมเรียวขึ้นไปตามลำดับ
ตอนกลางในด้านทั้งสี่เป็นหมู่ดาวกระจาย (ดอกกระจับ) สูงขึ้นไปทำเป็นรูปตู้หนังสือ
พระไตรปิฎโบราณ ถัดขึ้นไปทำเป็นกลีบบัวซ้อนสองชั้น แล้วทำเป็นมุมเล็กเรียงขึ้นไป จากนั้นทำเป็นรูปคล้ายกลีบบัวอีก
ที่ยอดสุดคล้ายดอกบัวตูม ถัดขึ้นไปเป็นฉัตรทองแดงเหลืองเจ็ดชั้น บนยอดฉัตรมีลูกแก้วเจียรไน
หนึ่งดวงอยู่สูงสุด
ที่ฐานมีกำแพงล้อมรอบทั้งสี่ด้าน มีซุ้มประตูอยู่ตรงกลางทุกด้าน เหนือซุ้มประตูมีรูปเทพนมรักษาองค์พระธาตุ
ที่มุมกำแพงมีเสาสูงทำเป็นดอกบัวตูมบนยอดเสา ภายในกำแพงกว้างด้านละ ๑๓.๓๐
เมตร นอกกำแพงมีธาตุดูกล้อมอีกชั้นหนึ่ง บนธาตุเป็นที่สำหรับวางดอกไม้ธูปเทียน
เมื่อมีงานพิธีต่าง ๆ
วัดโพธิคำ
|
วัดโพธิคำ ตั้งอยู่ที่บ้านน้ำก่ำ ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม มีสิมทึบก่ออิฐถือปูน
ฐานไม่สูงหลังคาทรงจั่ว เดิมมุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ หน้าบันมีลายปูนปั้นเทพนม
ในซุ้มโค้งหลังคาประดับกระจก มีบันไดขึ้นด้านหน้าด้านเดียว ราวบันไดนาคปูนปั้น
กรอบประตูหน้าต่างทำเป็นซุ้มวงโค้ง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติ พระมาลัย
รามเกียรติ์ มีภาพคนขี่ม้าแต่งกายแบบตะวันตก สร้างโดยช่างชาวญวน พร้อมทั้งพระ
เณร และชาวบ้านน้ำก่ำ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ |
วัดโพธิชัย
วัดโพธิชัย ตั้งอยู่ที่บ้านนางัว ตำบลนางัว อำเภอนาหว้า มีสิมทึบก่ออิฐถือปูนฐานเตี้ย
หลังคาทรงจั่ว เดิมมุงด้วยกระเบื้องไม้ มีมุขยื่นด้านหน้า หน้าบันทั้งด้านหน้า
ด้านหลัง และผนังรอบนอกมีการตกแต่งลวดลายต่าง ๆ ซุ้มมุขเป็นรูปวงโค้ง มีชานยื่นออกเป็นบันไดขึ้นด้านหน้าสองข้าง
ราวบันไดเป็นปูนปั้นรูปพญานาค มีหน้าต่างด้านข้างด้านละสองช่อง สร้างเมื่อประมาณ
ปี พ.ศ.๒๔๘๐
วัดศรีบุญเรือง
|
วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองหอย อำเภอนาแก มีสิมรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐสอปูน
และฉาบด้วยปูนชะทายโบราณ บริเวณฐานเอวขันส่วนที่เป็นโบกคว่ำ - โบกหงาย ใช้ปาดอิฐให้ได้รูปตามที่ต้องการ
ขณะที่อิฐฝังดินอยู่ สัดส่วนของฐานมีความสมบูรณ์ครบถ้วน ในคุณค่าศิลปะ อีสานพื้นถิ่น
เหนือเอวขันตรงส่วนผนังหักมุมทั้งสี่มุม ปั้นปูนเป็นกระจังตาอ้อยหักฉากประดับไว้
โครงสร้างหลังคาใช้ไม้เนื้อแข็ง มุงด้วยแป้นเกร็ด บานประตูแกะไม้เป็นลายพญานาค
ลำตัวสะดุ้งโค้งออกหันหัวแตะกัน โดยหันหน้าออกเป็นคู่ ๆ ลักษณะประตูโค้งเป็นรูปไข่ทั้งสองบาน
ลายเป็นลายตื้น ๆ หยาบ ๆ หน้าต่างมีด้านละสองบาน แท่นที่ประดิษฐานพระประธานก่อยางตลอดความกว้างของสิม
สิมหลังนี้มีใบเสมาสามใบฝังไว้เรียงกัน ภายในสิมประดิษฐานพระพุทธรูปสำริด
สกุลพุทธศิลป์ล้านช้างอยู่สององค์ สิมสร้างเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๗๐ |
วัดหัวเวียงรังษี
วัดหัวเวียงรังษี ตั้งอยู่ที่บ้านพระกลางทุ่ง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม มีสิมที่สร้างทับฐานอาคารเดิม
โครงสร้างก่อด้วยอิฐเป็นส่วนใหญ่ ภายในสิมมีภาพแต้มปรากฏอยู่เป็นเรื่องพุทธประวัติ
และเรื่องรามเกียรติ์เขียนเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๔๖๔ โดยหลวงชาญอักษร อาจารย์คูณ
และอาจารย์ลี
วัดวุฒิวราราม
วัดวุฒิวราราม ตั้งอยู่ที่บ้านโพนสาวเอ้ อำเภอเรณูนคร เป็นวัดของชุมชนผู้ไทย
มีสิมที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ เป็นสิมทึบ ขนาดกว้าง ๔.๕ เมตร ยาว ๗.๑๕
เมตร มีมุขหน้าทำบันไดทางขึ้นสามทาง ซุ้มโค้งด้านหน้าแบ่งเป็นสามซุ้ม ลักษณะของบันไดที่ทำภายนอกน่าจะได้รับอิทธิพลจากรูปแบบของช่างญวน
หลังคาจั่วชั้นเดียวมุงด้วยกระเบื้องดิน ช่อฟ้าปูนปั้นมียอดประดับด้วยขวดแก้วสีขาวทรงลูกฟักทอง
มีโลหะดัดโค้งรองรับสี่ด้าน คล้ายนรศูล หน้าบันทั้งด้านหน้า และด้านหลังมีภาพปั้นปูนนูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนภายในซุ้มโค้งด้านละสามองค์
ตัวสิมก่ออิฐฉาบปูน บานประตูด้านหน้าสลักไม้มีอยู่สองบาน หน้าต่างเป็นบานไม้แกะสลัก
ด้านบนทำซุ้มโค้งมีข้างละสามบาน มีรูปปูนปั้นรามสูร เมขลา อยู่ด้านนอก ส่วนอีกสองช่องเสาทำซุ้มหลอก
มีพระพุทธรูปยืนปูนปั้นซุ้มละหนึ่งคู่ ตลอดไปจนถึงซุ้มผนังด้านหลังอีกสองซุ้ม
สิมหลังนี้ช่างพื้นบ้านได้ประยุกต์ฝีมือช่างผสมผสาน ระหว่างช่างญวนกับช่างพื้นบ้านได้อย่างลงตัว
วัดใต้เมืองไชยบุรี
วัดใต้ ฯ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน ปัจจุบันเป็นวัดร้าง
มีโบสถ์เหลืออยู่หนึ่งหลัง ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงสังกะสี มีลายปูนปั้นรูปช้างประดับอยู่ที่ผนังด้านข้างประตูทางเข้าข้างละหนึ่งรูป
ที่หน้าจั่วมีจารึกบอกปีที่สร้างคือ พ.ศ.๒๔๖๑
วัดกลาง
|
วัดกลาง ตั้งอยู่ในเขตอำเภอท่าอุเทน สิมของวัดสร้างขึ้นเมื่อ ประมาณปี
พ.ศ.๒๔๓๐ โดยช่างชาวญวนเป็นผู้ออกแบบ และทำลวดลายทั้งหมด ลวดลายจะหนักไปทางรูปกิเลน
มังกร และเครื่องหมายสวัสดิกะ ออกไปทางแนวจีน ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดเจ๊ก
ตัวสิมก่ออิฐถือปูนขนาดสี่ช่วงเสา กว้างประมาณ ๕.๕๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๑ เมตร
โดยแบ่งเป็นมุขหน้าหนึ่งช่วงเสา ด้านหน้าหันไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำโขง
มีราวบันไดยื่นออกนอกมุขหน้า ทำบันไดลงทางซ้าย และขวา มีลักษณะแคบแล้วผายออก
เสาเป็นเสาสี่เหลี่ยมปั้นหัวเสารับซุ้มโค้งครึ่งวงกลมแบบยุโรป หลังคาจั่วชั้นเดียวลดสองตับมุงกระเบื้อง
เครื่องบนหลังคาเป็นโครงไม้ทั้งหมด ฝ้าเพดานปิดทึบ หน้าบันปั้นปูนมุมสูงรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
เชิงบันไดมีซุ้มพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่สองซุ้ม ส่วนสามช่วงเสาที่เป็นเนื้อที่ของสิมที่ใช้ทำนสังฆกรรมนั้น
สองช่วงเสาแรกเจาะหน้าต่างทั้งสองด้าน ใส่ลูกกรงไม้ติดตาย เหนือซุ้มหน้าต่างด้านนอกทำซุ้มโค้งครึ่งวงกลม
ปั้นรูปราหูอมจันทร์อยู่ในพื้นที่ระหว่างวงกบหน้าต่างกับตัวเสา มีรูปปั้นเทวดาคู่กับยักษ์เฝ้าประจำอยู่ข้างหน้าต่างทั้งสองข้าง
ผนังภายนอกที่เหลือทั้งด้านข้าง และด้านสกัดใส่ลวดลายภาพนูนรูปเทพนมนั่งเหนือตัวกิเลนใส่ลายสวัสดิกะ
แบบพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของจีนจนเต็มพื้นที่ นับว่าผิดแผกไปจากช่างพื้นบ้านของอีสานโดยสิ้นเชิง
หอแจก หรือศาลาการเปรียญของวัด ตั้งอยู่ติดกับสิม สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี
พ.ศ.๒๔๕๗ หลังคามุงด้วยดินขอ (กระเบื้องดินเผา) ราวหน้าบัน และเพดานมีภาพแกะสลักไม้
เดิมภายในหอแจกมีรูปแต้มเรื่อง การะเกด และสินโซ สี่ที่ใช้เป็นดินขาว ดินแดง
ดินเหลือง จากบ้านตาลมาผสมกับแป้งข้าวเหนียวดำตำแล้วกรองผสมเป็นสีใช้เขียนภาพ
ซึ่งมีความทนทานมาก |
|