มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งโบราณคดี
แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณนครศรีธรรมราช
อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นเมืองโบราณอยู่บนแนวสันทราย
มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วางตัวตามแนวทิศเหนือ - ใต้ มีคูเมือง กำแพงเมืองล้อมรอบอย่างละหนึ่งชั้น
มีความกว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๒๔๐ เมตร หน้าเมืองอยู่ทางทิศเหนือ
คูเมืองทางทิศเหนือและทิศใต้ใช้ลำน้ำธรรมชาติเป็นแนวคูเมือง ได้แก่ คลองนครน้อย
เป็นคูเมืองด้านทิศเหนือ และคลองปาเหล้า (คลองท่าดี) เป็นคูเมืองด้านทิศใต้
คูเมืองด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นคลองขุด ชักน้ำจากคลองธรรมชาติให้ไหลมาประจบกัน
โบราณสถานที่เก่าที่สุดที่สามารถกำหนดอายุจากรูปแบบศิลปกรรมได้คือ พระบรมธาตุเจดีย์ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
เป็นเจดีย์ทรงกลมศิลปะลังกาแบบที่พบในเมืองโปโลนนาลุวะ ประเทศศรีลังกา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๘
แหล่งโบราณคดีวัดมเหยงคณ์ (ร้าง)
อยู่ที่บ้านลุ่มโหนด ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา พบเนินโบราณขนาดกว้าง ๘ เมตร
ยาว ๑๒ เมตร เป็นแนวกองอิฐกระจัดกระจายอยู่ตลอดเนิน พบชิ้นส่วนธรรมจักรดินเผา
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓
แหล่งโบราณคดีหาดทวนไม้สูง อยู่ที่บ้านชุบโรง
ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา พบหลักฐานชุมชนโบราณนับถือพุทธศาสนา
ฝ่ายมหายาน
มีการสร้างสถูปตามแบบวัชรยาน สำหรับบรรจุวัดถุมงคลและพระพิมพ์ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๘
แหล่งโบราณคดีวัดพระนางตรา อยู่ในเขตตำบลไทรบุรี
อำเภอท่าศาลา พบซากอุโมงค์เก่าเหลือแต่ฐานเนินดิน ซากเจดีย์มีขนาด ๑๐ x ๑๐
เมตร พบพระพิมพ์ดินเผาศิลปะแบบลพบุรี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๗ - ๑๘ พระพุทธรูปสำริดปางแสดงธรรม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่
๑๙
แหล่งโบราณคดีบ้าน อยู่ในเขตตำบลถ้ำโลน
อำเภอลานสกา พบประติมากรรมรูปปั้นเทวสตรี มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘
- ๒๐
แหล่งโบราณคดีวัดหว้ายาน (ร้าง)
อยู่ในเขตตำบลมะม่วงสองต้น อำเภอเมือง ฯ พบพระพุทธรูปศิลปะทวาราวดี สูง ๑๐๕
เซนติเมตร พระเศียรและพระหัตถ์ทั้งสองข้างหักหายไป สันนิษฐานว่าเป็นปางแสดงธรรม
ห่มจีวรแบบคลุม จีวรบางแนบพระองค์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับชุมชนทวาราวดี
ในภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒
แหล่งโบราณคดีบ้านเทพราช อยู่ในเขตตำบลเทพราช
อำเภอสิชล เป็นเนินโบราณสถานรูปร่างเกือบกลม มีขนาดประมาณ ๒๐ x ๒๐ เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ
๑ เมตร มีสระน้ำโบราณอยู่สามสระตั้งอยู่ทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของเนินโบราณสถาน
แหล่งโบราณคดีบ้านนาเหรง อยู่ในเขตตำบลนากราย
อำเภอท่าศาลา พบเนินโบราณสถานขนาด ๓๐ x ๓๒ เมตร สระน้ำโบราณ บ่อน้ำโบราณ
และโบราณวัตถุได้แก่ฐานโยนี ธรณีประตู กรอบประตู
แหล่งโบราณคดีบ้านนูด อยู่ในเขตตำบลลาย
อำเภอท่าศาลา พบเนอนดินโบราณสถาน เป็นเนินดินรูปร่างเกือบกลม ขนาด ๒๐ x ๒๗
เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ ๑ เมตร พบสระน้ำโบราณสองสระ
แหล่งโบราณคดีวัดเกาะพระนารายณ์
อยู่ในเขตตำบลไทรบุรี อำเภอท่าศาลา พบเนินดินโบราณสถานและเทวรูปพระวิษณุสององค์
มีอายุอยู่ประมาณครึ่งแรกพุทธศตวรรษที่ ๑๓
แหล่งโบราณคดีโมคลาน อยู่ที่บ้านโมคลาน
ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา พบเนินดินโบราณสถานขนาดใหญ่ เป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ
นับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๖ พบซากโบราณสถาน
ซึ่งน่าจะเป็นทรากเทวาลัย ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมได้แก่ ฐาน เสาอาคาร ธรณีประตู
กรอบประตู หลักหิน บางหลักมีการแกะสลักลวดลาย ศิวลึงค์ศิลา ฐานโยนี และพบว่าชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมในศาสนาพราหมณ์ได้ถูกดัดแปลงเป็นพุทธสถาน
พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปปูนปั้น เม็ดพระศกพระพุทธรูป มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๙ - ๒๓ ในสมัยอยุธยา
แหล่งโบราณคดีทุ่งน้ำเค็ม อยู่ในเขตตำบลโมคคัลาน
อำเภอท่าศาลา ห่างจากแหล่งโบราณคดีโมคคัลลานไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือสองกิโลเมตร
สภาพเป็นที่ราบลุ่ม อยู่ระหว่างคลองโต๊ะเน็งและคลองอู่ตะเภา พบเหรียญกษาปณ์แบบทวารวดีบรรจุอยู่ในไหจำนวน
๑๕๐ เหรียญ มีลวดลายสัญลักษณ์เป็นรูปพระอาทิตย์และศรีวัตสะ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๔
แหล่งโบราณคดีบ้านตีน อยู่ในเขตตำบลฉลอง
อำเภอสิชล
แหล่งโบราณคดีบ้านสีสา อยู่ในเขตตำบลเปลี่ยน
อำเภอสิชล เป็นโบราณสถานรูแสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๒๕ x ๔๖ เมตร สูงประมาณ
๔ เมตร พบแผ่นธรณีประตูและสระน้ำโบราณ
แหล่งโบราณคดีบ้านหัวทอน อยู่ในเขตตำบลเสาเภา
อำเภอสิชล ลักษณะเป็นเนินดินรูปสี่เหลี่ยมคางหมู มุมมน ขนาด ๔๒ x ๕๘ เมตร
สูงประมาณ ๕ เมตร พบศิวลึงค์หนึ่งชิ้น มีลักษณะที่น่าจะแสดงพัฒนาการระหว่างกลุ่มศิวลึงค์แบบเหมือนจริงกับกลุ่มประเพณีนิยม
โดยมีสัดส่วนของพรหมภาค วิษณุภาค และรุทธภาค ไม่เท่ากัน ส่วนรุทธภาคมีขนาดใหญ่และสูงกว่า
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๒ พบสระน้ำโบราณและบ่อน้ำโบราณ
เป็นบ่อทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสามเมตร
แหล่งโบราณคดีวัดเบิก อยู่ที่บ้านดอนม่วง
ตำบลฉลอง อำเภอสิชล พบเนินโบราณสถานและสระน้ำโบราณ ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ได้แก่
กรอบประตู จำนวน ๓ ชิ้น
แหล่งโบราณคดีบ้านนาหัน อยู่ในเขตตำบลฉลอง
อำเภอสิชล มีลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณเจ็ดเมตร พบฐานเสาแผ่นธรณีประตูทำจากหินปูน
แหล่งโบราณคดีวัดจอมทอง อยู่ที่บ้านจอมมทอง
ตำบลสิชล อำเภอสิชล พบพระวิษณุศิลา อายุปประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๓ พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมได้แก่
ธรณีประตู มีอยู่ชิ้นหนึ่งมีจารึกอักษณปัลลวะ รุ่นเดียวกับที่พบในศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย
พบกรอบประตู พระพุทธรูปมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ และพระพิมพิ์เป็นจำนวนมาก
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๙
แหล่งโบราณคดีวัดนาขอม (ร้าง)
อยู่ที่บ้านนาขอบ ตำบลสิชล อำเภอสิชล พบเนินโบราณสถานขนาดใหญ่ กลางเนินพบศิวลึงค์ห้าชิ้น
แต่ละชิ้นมีขนาดต่างกัน ตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่มาก มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๓ พบพระพิมพิ์ดินเผาศิลปะเขมร เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วหกองค์
องค์ประธานนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วทรงปราสาทเขมร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๗ - ๑๘ พบเครื่องถ้วยจีนแบบลายครามสมัยราชวงศ์เหม็ง เครื่องถ้วยสุโขทัย ลักษณะเป็นกระปุกขนาดเล็ก
บรรจุเถ้าอิฐของคนตายแล้วนำไปบรรจุไว้ตามเจดีย์ พบพระพุทธรูปศิลปะท้องถิ่นนครศรีธรรมราช
สร้างเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๒ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เดิมคงเป็นเทวสถานพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายมาก่อน
จนประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ จึงได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นวัดในพระพุทธศาสนา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวณณาที่
๑๒ - ๒๒
แหล่งโบราณคดีบ้านไสสับ อยู่ในเขตตำบลฉลอง
อำเภอสิชล มีลักษณะเป็นเนินสูงเหมือนจอมปลวก พบอิฐจำนวนมาก เมื่อขุดลงไปในเนินนั้น
เมื่อรื้ออิฐออกพบหิน เมื่อขุดลึกลงไปจากผิวดินลึกหนึ่งเมตรได้พบฐานโยนิ ฐานเสาและธรณีประตู
แหล่งโบราณคดีวัดพระโอน (ร้าง)
อยู่ในเขตตำบลฉลอง อำเภอสิชล พบเนินโบราณ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๒๕ x ๓๖
เมตร สูงประมาณ ๒ เมตร พบบ่อน้ำโบราณรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสหนึ่งบ่อ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตววรรษที่
๑๑ - ๑๔
แหล่งโบราณคดีเขาคา อยู่ในเขตตำบลเสาเภา
อำเภอสิชล พบเทวสถานพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย บนยอดเขาคาคงเป็นที่ประดิษฐานเทวาลัย
ที่สำคัญที่สุดในละแวกนี้ โดยมีแหล่งเทวาลัยเล็ก ๆ ที่พบกระจายอยู่รอบเขาคาเป็นบริวาร
สิ่งสำคัญที่พบบนเขาคาคือ เทวสถานสี่หลัง สระน้ำโบราณสามสระ ศาสนาสถานที่ตั้งศิวลึงค์หนึ่งแห่ง
พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมได้แก่ ฐานเสา ธรณีประตู กรอบประตู เศษอิฐ ประดับอาคาร
โบราณวัตถุได้แก่ ฐานโยนี พระวิษณุศิลา ท่อโสมสูตร มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๔
แหล่งโบราณคดีบ้านต่อเรือ (วัดเทพราช - ร้าง)
อยู่ในเขตตำบลเทพราช อำเภอสิชล ลักษณะเป็นเนินรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสมุมมน ขนาดประมาณ
๔๕ - ๔๕ เมตร พบสระน้ำหนึ่งสระและศิวลึงค์ขนาดใหญ่ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๒ - ๑๓
แหล่งโบราณคดีบ้านไสหิน อยู่ในเขตตำบลเสาภา
อำเภอสิชล พบเนินโบราณสถานรูปสี่ดหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๕๓ x ๙๐ เมตร สูงประมาณ
๒ เมตร พบชิ้นส่วนสวถาปัตยกรรมได้แก่ ฐานเสา อาคาร และสระน้ำโบราณสองสระ
แหล่งโบราณคดีบ้านพรหมโลก อยู่ในเขตตำบลพรหมโลก
อำเภอพรหมคีรี ตั้งอยู่ระหว่างคลองปลายอวนกับคลองนอกท่า พบศิวลึงค์ขนาดใหญ่
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔
แหล่งโบราณคดีวัดคันนาราม อยู่ที่บ้านนาสาร
กิ่งอำเภอพระพรหม พบเศียรพระพุทธรูปศิลา สูง ๓๐ เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปศิลปอินเดียและชวา
พระพักตร์อิ่มรูปสี่เหลี่ยม เม็ดพระศกรูปหอยใหญ่ อุษณีษะเป็นรูปกรวย พระเนตรเหลือบมองต่ำ
พระโอษฐ์เล็ก อันเป็นลักษณะพระพุทธรูปแบบภาคใต้ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๔
แหล่งโบราณคดีวัดพระเพรง อยู่ใกล้วัดพระเพรง
ในเขตตำบลนาสาร กิ่งอำเภอพระพรหม มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ พบเทวรูปพระวิษณุศิลา
ประทับยืนบนปัทมอาสน์ ทำด้วยสำริด สูง ๑๙ เซนติเมตร มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาแสดงปางประทานพร
พระหัตถ์หน้าซ้ายถือนิโลตบล (ดอกบัวสีน้ำเงิน) พระหัตถ์หลังขวาถือลูกประคำ
พระหัตถ์หลังซ้ายถือหนังสือ เกล้าพระเกศาเป็นมวยทรงสูง เรียกชฎามงกุฎ มีรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ
ปางสมาธิประดับบนมวยผม คล้องสายยัชโญปวีด เฉียงบนพระอังสะซ้าย ทรงผ้ายาวกรอบพระบาทคาดทับด้วยหนังสือที่บริเวณพระโสณี
จะเห็นหัวเสือที่พระโสณีเบื้องขวา มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔
แหล่งโบราณคดีวัดโพธิ์ท่าเรือ (ร้าง)
อยู่ในเขตตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง ฯ เดิมมีซากเจดีย์อยู่เก้าองค์ มีพระพุทธรูปหินทรายแดงสามองค์
เมื่อมีการขุดเจดีย์ไเด้พบพระพิมพ์ทั้งที่เป็นดินเผาและเนื้อชินเงิน ศิลปะลพบุรี
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมได้แก่ เสาหิน แกะสลักลวดลาย
คล้ายกับเสาหินที่พบที่แหล่งโบราณคดีโมคลาน แต่ที่โคนเสาแกะสลักลวดลายดอกไม้
พบแผ่นหินขนาดกว้างประมาณ ๓๖ - ๔๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๒๕ - ๑๘๐ เซนติเมตร
หนาประมาณ ๒๑ - ๓๐ เซนติเมตร จำนวนเจ็ดแผ่น แกะสลักตรงกลางเป็นลายดอกไม้ห้ากลีบ
ที่บริเวณทั้งสองข้างของแวผ่นหินแกะสลักเป็นรูปคล้ายบัวหัวเสา คล้ายกับศิลปะโจฬะตอนปลาย
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙
แหล่งโบราณคดีบ้านท่าเรือ อยู่ในเขตตำบลท่าเรือ
อำเภอเมือง ฯ ในคลองท่าเรือ พบเครื่องถ้วยชามจีนจำนวนมากจมอยู่ในคลอง เป็นเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง
เป็นไหเคลือบสีเขียวมะกอก มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ เครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง
เช่น ตลับเคลลือบสีเขียว ชามเซลาดอนเคลือบสีเขียว มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๘ - ๑๙
แหล่งโบราณคดีกลุ่มชุมชนโบราณคลองท่าเรือ
น่าจะเป็นแหล่งเมืองเก่าค้าขายกับดินแดนโพ้นทะเลมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์
โดยใช้คลองท่าเรือเป็นเส้นทางคมนาคม ค้าขายแลกเปลี่ยนต่อ ๆ กันมาเป็นเวลากว่าพันปี
แหล่งโบราณคดีเมืองโบราณพระเวียง
อยู่ในเขตตำบลเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่บนแนวสันทราย อยู่ถัดจากเมืองโบราณนครศรีธรรมราช
ลงมาทางทิศใต้ประมาณ ๖๐๐ เมตร ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามแนวทิศเหนือ
- ทิศใต้ มีคูเมืองล้อมรอบหนึ่งชั้น ตัวเมืองกว้างประมาณ ๔๕๐ เมตร ยาวประมาณ
๑,๑๐๐ เมตร คูเมืองวด้านวทิศเหนือและทิศใต้ ลำน้ำธรรมชาติเป็นแนวคูเมืองได้แก่
คลองสวนหลวงและคลองคูพาย ด้านทิศตะวันตกเป็นคลองหัวหว่อง และด้านทิศตะวันออกเป็นคลองขุดเชื่อมชักน้ำจากคลองธรรมชาติ
ทำให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ภายในเมืองมีวัดโบราณ๊อยู่หลายแห่งได้แก่ วัดสวนหลวงตะวันออก (ร้าง) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งพิพิทธภัณฑ์สถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช
เคยขุดพบภาชนะดินเผาลักษณะเป็นหม้อปากผายมีเชิง บริเวณลำตัวและไหล่ภาชนะ ตกแต่งด้วยลายก้านขดเครือเถา
ลักษณะคล้ายกับลวดลายในศิลปะชวาภาคกลาง ที่มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๔ นอกจากนี้ยังพบกุณทีทรงกลมคอกว้าง มีพวยคล้ายกับกุณทีของจีน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๙ - ๒๐
แหล่งโบราณคดีวัดสระเหรียงหรือวัดสระเนรมิต
อยู่ในเขตตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ พบเนินโบราณสถานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด
๕๒ - ๕๘ เมตร มีกำแพงแก้วก่ออิฐล้อมรอบทั้งสี่ด้าน เนินสูงประมาณ ๔ เมตร มีคูน้ำกว้างประมาณ
๑๐ เมตร ล้อมรอบ พบชิ้นส่วนอาคารสถาปัตยกรรมใต้ฐานเสาอาคารสี่เสา ธรณีประตูหินปูนหนึ่งชิ้น
และเศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากโบราณสถานประมาณ
๑๐๐ เมตร มีสระน้ำโบราณหนึ่งสระ ขนาดประมาณ ๖๐ - ๖๐ เมตร เนินดินแห่งนี้น่าจะเป็นเทวาลัยของพราหมณ์มาก่อน
มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔
แหล่งโบราณคดีทั้ง ๑๒ แห่งนี้ แสดงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนนแรกเริ่มประวัติศาสตร์
ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ เป็นต้นมา เว้นแต่กลุ่มชนโบราณคลองท่าเรือแห่งเดียวที่มีอายุเก่าไปถึงประมาณพุทธศตวรรษที่
๑๐ - ๑๑
|