แหล่งประวัติศาสตร์
เขาวัง อยู่ในเขตอำเภอลานสกา เป็นเมืองยุคแรกเมืองหนึ่งของนครศรีธรรมราช
เมืองท่าเรือ เป็นเมืองนครศรีธรรมราช
ยุคที่ ๒
เมืองพระเวียง เป็นเมืองนครศรีธรรมราช
ยุคที่ ๓
วัดควนสูง อยู่ในเขตอำเภอฉวาง
เป็นที่ฝังมหาสมบัติของเจ้าสามจอม ผู้นำสมบัติมาร่วมบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ
เมื่อปี พ.ศ.๑๗๙๐ และได้สร้างพระวิหารสามจอม ไว้ถวายองค์พระบรมธาตุ ต่อมาพระวิหารนี้ได้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
จึงเรียกว่า
วิหารธรรมโศกราช
ทับเจ้าพระยา เป็นที่ตั้งกองทัพเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
(พัฒน์) เมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๙ ที่หนีพม่าจากสงครามเก้าทัพ ได้อพยพผุ้คนพร้อมทหาร
และมหาสมบัติในท้องพระคลังไปอยู่บริเวณนอกเขา มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๐๐
ไร่ ในเขตอำเภอพอปูน ฉวางและกิ่งอำเภอช้างกลางในปัจจุบัน
โบราณสถาน
เขาคา
เป็นโบราณสถานทางพุทธศาสนาพราหมร์ อยู่ในเขตอำเภอสิชล สันนิษฐานว่า ส้รางขึ้นในราชวงศ์ไศเลนทร์
อาณาจักรศรีวิชัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๔ ได้มีการขุดแต่งแล้ว
หอพระศิวะ อยู่ในตัวเมืองปัจจุบัน
เป็นศาสนาสถานในศาสนาพราหมณ์นิกายไศวะ ภาพในหอมีศิวลึงค์บนแท่นโยนิโทรณะ ภายนอกด้านใต้ของหอ
มีเสาชิงช้าจำลองแทนของเดิม ซึ่งมีขนาดใหญ่มากทำด้วยไม้ตะเคียนทอง สำหรับประกอบพิธีโล้ชิงช้า
เชิญเสด็จพระอิศวรลงมายังโลกมนุษย์
หอพระนารายณ์ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับหอพระศิวะ
เป็นที่ตั้งพระวิษณุศิลา ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระนารายณ์ เป็นศาสนสถานของศาสนาพราหมณ์นิกายไวษยณพ
หรือผู้นับถือพระวิษณุ
กำแพงเมือง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ ยาว ๕๕ เส้น ๕ วา กว้าง ๑๑ เส้น ๑๐ วา ล้อมรอบเมืองคามพรลิงค์
นายช่างและคนงานเป็นชาวอินเดียฝ่ายใต้ มีประตูเมืองสำคัญอยู่สองประตูคือ ด้านทิศเหนือชื่อ
ประตูไชยศักดิ์
ด้านทิศใต้ชื่อประตูไชยสิทธิ์
ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดให้นายทหารชาวฝรั่งเศสชื่อ
เดอลาร์มา มาสร้างขึ้นใหม่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๓๐ - ๒๒๓๕ ในสมัยที่พระยารามเดโชเป็นเจ้าเมือง
ปัจจุบันเหลือกำแพงทางด้านทิศเหนืออยู่ประมาณ ๑๐๐ เมตร ส่วนด้านอื่นถูกรื้อไปสร้างถนนราชดำเนิน
โบราณวัตถุ
ศิลาจารึก ศิลาจารึกหลักสำคัญของนครศรีธรรมราชคือศิลาจารึกหลักที่
๒๔ วัดเสนาเมือง กล่าวถึงการประกาศอิสระภาพของพระเจ้าจันทรภาณุราชา ผู้ครองนครศรีธรรมราช
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๗๓ ซึ่งในยุคนี้ เมืองนครศรีธรรมราชมีเมืองบริวาร เป็นเมืองขนาดใหญ่ถึง
๑๒ เมือง แต่ละเมืองใช้รูปนักษัตรเป็นสัญญลักษณ์ประจำเมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
ศิวลึงค์ เป็นรูปเคารพแทนองค์พระศิวหรือพระอิศวร
ผู้สถิตย์อยู่บนเขาไกรลาส เป็นเทพสูงสุด หนึ่งในสามองค์ของพราหมณ์ พบอยู่ทั่วไปในชุมชนพราหมณ์นิกายไศวะยุคแรก
ที่โมคลาน อำเภอท่าศาลา และที่โบราณสถานเขาคา อำเภอสิชล กับที่ในอำเภอเมือง
ฯ สันนิษฐานว่า ศิวลึงค์คือที่มาของชื่ออาณาจักรตามพรลิงค์ของนครศรีธรรมราช
หัวนะโม เป็นวัตถุทรงกลม มีตัวอักษร
กล่าวกันว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช สร้างหัวนะโมไว้ด้วยพิธีกรรมอันสูงส่งของพราหมณ์
โดยอัญเชิญเทพเจ้าทั้งสามคือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม
เพื่อเอาไปฝังหว่านรอบเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันโรคห่าระบาด ปัจจุบันหัวนะโม
ถือเป็นเครื่องรางของขลัง หรือวัตถุมงคลชื้นเอกของนครศรีธรรมราช
ย่านประวัติศาสตร์
ท่าวังวรสินธู เรียกกันว่า ท่าวัง
มีอาคารที่สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงรัชสมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นอาคารกึ่งยุโรปกึ่งจีน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในสิงคโปร์ มลายู และในภาคใต้
ของไทยในสมัยนั้น
วัดท่าโพธิ์ เป็นแหล่งการศึกษาสำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชและเป็นท่าเรือสำคัญ
ท่าแพ เป็นที่ตั้งกองทัพภาคที่
๔ และเป็นสมรภูมิสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่น ในสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อวันที่
๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
บริเวณบ้านท่าเรือ
เคยเป็นท่าเรือโบราณและเป็นที่ตั้งชุมชนโบราณของเมืองนครศรีธรรมราช
ศิลปกรรม
ประติมากรรม มีประติมากรรมหลายรูปแบบ
ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันคือ
- เทวรูปในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระศิวะ พระนารายณ์ พระพิฆเนศวร์
- พระพุทธรูปแกะสลักไม้สมัยอยุธยาตอนปลาย สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์
- พระพุทธรูปประธาน ในพระวิหารหลวง และพระพุทธรูปในห้องมหาสมบัติ พระบรมราชา
หรือพระเจ้าแตงโม เป็นต้น
- งานประติมากรรม ทับเกษตรด้านในทางขึ้นพระบรมธาตุเจดีย์
- การแกะสลักไม้หน้าจั่วพระอุโบสถวัดสะเรียง ฝีมือช่างสมัยอยุธยาตอนปลาย
- งานแกะสลักรูปหนังตะลุง
จิตรกรรม ได้แก่ จิตรกรรมภายในอุโบสถวัดชายนา
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ เป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์
- จิตรกรรมบนไม้กระดานคอสองระหว่างเสาในพระอุโบสถเก่า วัดท้าวโคตร ตำบลในเมือง
อำเภอเมือง ฯ
- จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถลายดอกไม้ร่วง ที่วัดวิหารสูง ตำบลคลัง อำเภอเมือง
ฯ
- จิตรกรรมที่วิหารเขียน วัดพระมหาธาตุ ฯ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ
- จิตรกรรมในหนังสือบุด ภาพพระบฎ ตู้พระธรรมอีกเป็นจำนวนมาก
เครื่องถม เป็นศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงมากของนครศรีธรรมราช
ทำโดยใช้ผงยาถมผสมน้ำประสานทอง ถมลงบนลวดลายที่แกะสลักบนภาชนะ หรือเครื่องประดับ
แล้วขัดผิวให้เงางาม
เครื่องถมนครมีกำเนิดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา การทำเครื่องถมนครมีสองแบบคือ ลงยาถมเรียกว่า
ถมเงิน
แบบหนึ่ง เป็นแบบที่ทำสืบทอดมาแต่โบราณและลงยาสีเรียกว่า
ถมทอง
หรือถมตะทอง อีกอย่างหนึ่งเป็นแบบที่มีขึ้นชั้นหลัง
เครื่องถมนครได้ทำเป็นภาชนะเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น แหวน กำไล ปิด เชี่ยนหมาก
ขันน้ำพานรอง หีบทองลงยา ดาบฝักทอง
ด้วยเหตุที่เครื่องถมนครเป็นงานที่มีฝีมือดีมาก จึงได้ใช้เป็นเครื่องบรรณาการครั้งสำคัญ
ทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายครั้ง กล่าวคือ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระองค์ทรงมีรับสั่งให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชส่งช่างถมฝีมือดีไปยังกรุงศรีอยุธยา
เพื่อทำไม้กางเขนถมส่งไปพระราชทานสันตปาปาที่กรุงวาติกัน ทำเครื่องถมถวายพระเจ้าหลุยส์ที่
๑๔ แห่งฝั่งเศส ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) นำพระเสลี่ยงหรือพระราชยานถมและพระแท่นถม น้อมเกล้า
ฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง)
ได้นำเรือพระที่นั่งกราบถม กับพระเก้าอี้ถมซึ่งใช้เป็นพระที่นั่งภัทรบิฐถวายสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และพระองค์ได้ทรงรับสั่งให้เมืองนครศรีธรรมราช ทำเครื่องถมหลายชิ้นส่งไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย
แห่งประเทศอังกฤษ และส่งไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ แห่งฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดให้เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม) ทำพระแท่นพุดตานถม เพื่อตั้งในท้องพระโรงกลาง
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงนำชุดน้ำชาถมทองไปพระราชทานประธานาธิบดีไอเซนฮาวน์
แห่งสหรัฐอเมริกา
การสืบทอดวิธีทำเครื่องถม เดิมสืบทอดกันแบบพ่อสอนลูก ครูสอนศิษย์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระรัตนธัชมุนี (ม่วง) เจ้าคณะมณฑลนครศรีธรรมราชในเวลานั้น ได้ตั้งโรงเรียนช่างถมขึ้น
และได้พัฒนาต่อมาเป็นวิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช สืบทอดความรู้ในการทำเครื่องถมต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษาและวรรณกรรมของนครศรีธรรมราชมีหลักฐานเริ่มจากการทำศิลาจารึกในพุทธศตวรรษที่
๙-๑๐ จารึกอักษรปัลลวะ หรืออินเดียใต้ เช่น ศิลาจารึกหุบเขาชองคอย ในระยะต่อมาพบจารึกและบันทึกภาษาขอม
ภาษาบาลี ภาษาสันสฤกต ภาษาไทยภาคกลาง ภาษายาวีของชาวไทยอิสลาม ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ
นอกจากนั้นยังมีภาษาปักษ์ใต้ที่มีอิทธิพลต่อสำนวนภาษาในศิลาจารึกสุโขทัย พงศาวดารอยุธยา
วรรณคดีสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์
ภาษานครศรีธรรมราช
เป็นภาษาที่ใช้คำสั้น ๆ ตรงกับลักษณ์การใช้สอย ความต้องการและความรู้สึกจึงมักตัดพยางค์หน้า
หรือพยางค์หลังออก บางครั้งมีความจำเป็นต้องใช้คำควบกล้ำ ด้วยตรีอักษรหลายตัวเช่น
เหล็กขูด ขึ้นพร้าว (ขึ้นมะพร้าว) จอกอ (มะละกอ)
ได้มีผู้เสนอผลการศึกษาประวัติความเป็นมาของภาษาไทยถิ่นนี้ไว้ว่า ภาษานครศรีธรรมราชเป็นภาษาที่มีวิวัฒนาการมาจากภาษาไทยสาขาสุโขทัย
ซึ่งเป็นภาษาถิ่นที่ใช้พูดกันในนครศรีธรรมราชและสงขลา ภาษานครศรีธรรมราชได้วิวัฒนาการเป็นภาษาไทยปัจจุบัน
หกถิ่นคือ กระบี่ นครศรีธรรมราช ทุ่งสง ตรัง ควนขนุน (พัทลุง) และหัวไทร แต่บางท่านแย้งว่า
นครศรีธรรมราชทำศิลาจารึกหลักแรก เมื่อประมาณพุทธศตววรษที่ ๙ ก่อนศิลาจารึกของสุโขทัยที่ทำขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตววรษที่
๑๙ ห่างกันประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ดังนั้นสุโขทัยน่าจะได้รับวัฒนธรรมจากนครศรีธรรมราช
ซึ่งรวมทั้งภาษาด้วย ภาษาสุโขทัยจึงน่าจะเป็นภาษาที่พัฒนาการมาจากภาษานครศรีธรรมราช
ด้วยเหตุนี้คำบางคำในศิลาจารึกที่ชาวกรุงเทพ ฯ อ่านแล้วไม่เข้าใจแต่ชาวนครศรีธรรมราชเข้าใจเช่น
ตีน (ปละตีน) หัวนอน (ปละหัวนอน) โอย รอด ป่าหมาก ป่าพลู จะแจ ค้า หลาย
ฯลฯ
- ภาษาถิ่น
จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นภาษาย่อยของภาษาไทย ที่ใช้พูดกันมั่วไปในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช
เนื่องจากนครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดใหญ่ มีประชาการจำนวนมาก จึงทำให้ภาษาถิ่นนครศรีธรรมราช
มีความแตกต่างกันสามารถแบ่งเป็นภาษาถิ่นย่อย ๆ ได้อีก โดยถ้าใช้เสียงวรรณยุกต์เป็นตัวแบ่ง
ก็จะได้เป็นกลุ่มที่มีวรรณยุกต์หกเสียง และกลุ่มที่มีวรรณยุกตเจ็ดเสียง ถ้าใช้พยัญชนะควบกล้ำ
มร, มล เป็นตัวแบ่งก็จะได้เป็นกลุ่มที่มีพยัญชนะควบกล้ำ มร, มล กับกลุ่มที่ไม่มีพยัญชนะควบกล้ำ
มร, มล และการใช้พยัญชนะตัวสะกด ก เป็นตัวแบ่ง ก็จะได้กลุ่มที่ไม่มี ก สะกด
และกลุ่มที่มี ก สะกด
- ระบบคำ
มีทั้งคำพยางค์เดียว และหลสยพยางค์ แต่ส่วนใหญ่ถ้าคำในภาษาไทยมาตรฐานเป็นคำหลายพยางค์
ภาษาถิ่นนครศรีธรรมราช มักจะตัดพยางค์ให้เหลือพยางค์เดียว เช่น คลาด เป็น
หลาด สบาย เป็น บาย ขนม เป็น หนม
- การเรียงคำและประโยค
ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากภาษาไทยมาตรฐาน แต่มี่บางคำที่เรียงสลับที่กัน เช่น
ข้าวตัก - ตักข้าว
หลวงตา
- ตาหลวง เลือดออก-ออกเลือด
การเรียงคำ มีลักษณะการเรียงคำในภาษาไทยโบราณเหลืออยู่คือ การเรียงคำนับจำนวนนำหน้านาม
และคำนามมีลักษณะนามนำหน้า คือ คำนับจำนวน - ลักษณะนาม - นาม เช่น
สองบาททอง - ทองสองบาท สามคันแรก - รถสามคัน สองตัวหมู
- หมูสองตัว
สิบลำเรือ - เรือสิบลำ เงินร้อยหนึ่ง - เงินหนึ่งร้อย
วรรณกรรม
วรรณกรรมนครศรีธรรมราชแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้สองประเภทคือ วรรณกรรมมุขปาฐะ
และวรรณกรรมลายลักษณ์
วรรณกรรมมุขปาฐะ เป็นวรรณกรรมที่ถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่งด้วยวิธีจดจำและเล่าสืบต่อกันมา
ไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ นิทานพื้นบ้าน ภาษิต ปริศนาคำทาย
เพลงบอก โนรา หนังตะลุง เพลงกล่อมเด็ก เพลงพื้นบ้าน เพลงเรือ คำร้อยกรองที่ใช้ในพิธีกรรม
คำร้อยกรองประกอบการเล่นของเด็ก
วรรณกรรมลายลักษณ์ เป็นวรรณกรรมที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
แบ่งออกเป็นวรรณกรรมคำสอน วรรณกรรม ศาสนา วรรณกรรมตำนาน และประวัติศาสตร์
วรรณกรรมตำรา วรรณกรรมนิทาน และวรรณกรรมแบบเรียน
จารึก
จารึกที่พบมีอยู่หลายหลัก ศิลาจารึกที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดนครศรีธรรมราชมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่
๙ อักษรที่ใช้บันทึกคือ อักษรปัลลวะ บาลีและสันสกฤต เช่น ศิลาจารึกหุบเขาช่องคอย
และศิลาจารึกวัดมเหยงคณ์ นอกจากนี้ยังมีศิลาจารึกหลักสำคัญคือ ศิลาจารึกหลักที่
๒๓ และศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ เนื่องจากเป็นศิลาจารึก ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาในระยะแรกของนครศรีธรรมราช
ดังนี้
ศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ
เป็นภาษาสันสกฤต มีอักษรจารึกสองด้าน ด้านที่หนึ่งมี ๒๔ บรรทัด ด้านที่สองมี
๔ บรรทัด ตัวศิลาจารึกทำด้วยหินทรายแดงเป็นแผ่นรูปใบเสมากว้าง ๕๐ เซนติเมตร
สูง ๑๐๔ เซนติเมตร หนา ๙ เซนติเมตร สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพบ เมื่อปี
พ.ศ.๒๔๕๐ ครั้งที่พระองค์ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงนำจารึกหลักนี้มาจากตำบลเวียงสระ
แขวงเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการหัวเมืองชายทะเลตะวันตก ได้ประทานไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
และได้นำมาตรวจอ่าน จารึกหลักนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าจารึกวัดเสมาเมือง เนื่องจากได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราชเห็นเข้า
และจำได้ว่าเคยอยู่ที่วัดเสมาเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
เนื้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ มีความสำคัญต่อการศึกษาประวัติความเป็นมาของเมืองนครศรีธรรมราช
กล่าวคือ ตามจารึกระบุ พ.ศ.๑๓๑๘ (มหาศักราช ๖๙๗) กล่าวถึงเรื่องบุญบารมีของพระราชาผู้ทรงคุณอันประเสริฐ
ศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ แปลว่า พระเจ้ากรุงศรีวิชัย ผู้เป็นเจ้าแห่งราชาทั้งหลายในโลก
ได้ทรงสร้างปราสาทอิฐสามหลังเป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์ผู้ถือดอกบัว (พระโพธิสัตว์ปทุมปาณี)
พระผู้ผจญพญามาร (พระพุทธเจ้า) และพระโพธิสัตว์ผู้ถือวชิระ (พระโพธิสัตว์วชิรปาณี)
ทรงเป็นหัวหน้าแห่งราชวงศ์ไศเลนทร นามว่าศรีมหาราช โปรดให้สร้างเรือนอิฐสามหลังเหนือวิมานของพระวิษณุ
พระศิวะ และพระอินทร์ พระราชาธิราชองค์นี้เปรียบเสมือนพระวิษณุ ได้รับถวายสมญาว่าพระวิษณุองค์ที่สอง
เป็นต้นกำเนิดแห่งไศเลนทรวงศ์ ทรงนามศรีมหาราชา
คำแปลในด้านที่สองของจารึก กล่าวถึงพระราชาธิราชผู้เป็นต้นกำเนิดของราชวงศ์ไศเลนทร
ผู้ทรงนามศรีมหาราชาและ ได้รับการขนานพระนามว่า พระวิษณุองค์ที่สอง
การพบศิลาจารึกหลักที่ ๒๓ อาจแปลความหมายได้หลายประการด้วยกันคือ
- เมื่อประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ กรุงศรีวิชัยหรืออาณาจักรศรีวิชัย
มีเมืองหลวงอยู่ที่นครศรีธรรมราช
- เมืองนครศรีธรรมราชในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
มีศาสนสถานและ
ประติมากรรมรูปเคารพเนื่องในศาสนาอยู่ไม่น้อย
- เมืองนครศรีธรรมราชหรืออาณาจักรตามพรลิงค์ ในต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔
ยังไม่มีพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช หรือยังไม่มีพระราชาพระองค์ใดอ้างตน เทียบเท่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
ยังไม่มีการกล่าวถึงการสร้างพระสถูป เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ มีแต่การสร้างที่ประดิษฐานให้พระโพธิสัตว์
- อาณาจักรตามพรลิงค์ที่เชื่อกันว่า เป็นอาณาจักรโบราณในนครศรีธรรมราช
อาจมีอายุไปถึงพุทธศตวรรษที่ ๘ และได้
กลายเป็นอาณาจักรศรีวิชัยในพุทธศตวรรษที่
๑๔ โดยมีราชวงศ์ไศเลนทรจากชวาภาคกลางเป็นผู้ปกครอง
- การพบศิลาจารึกที่วัดเสมาเมือง แสดงว่าเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย
มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๔
- การนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายานในเมืองนครศรีธรรมราช มีการนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายควบคู่ไปด้วย
- ดินแดนแถบนี้ยอมรับนับถือไวษณพนิกายมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ - ๑๑ แลัว
ตำนาน
- ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
เป็นตำนานอย่างนิทานท้องถิ่นเล่าเรื่อง ความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ ที่เสด็จมาสู่เมืองนครศรีธรรมราช
ตลอดจนการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ สันนิษฐานว่า แต่งเในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
แต่งเป็นกลอนสวด
ประกอบด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ กล่าวถึงการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์
- ตำนานนางเลือดขาว
เป็นตำนานที่เล่ากันแพร่หลายในหลายจังหวัดภาคใต้ คือพัทลุง สงขลา ตรัง และนครศรีธรรมราช
ที่เกิดของตำนานคือบ้านพะเกิด ตำบลปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เมื่อพระนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้ปกครองเมืองพัทลุงแล้ว
ได้ร่วมเดินทางไปกับคณะทูต ของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
และพระพุทธสิหิงค์จากลังกามายังนครศรีธรรมราช และได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้ในเมืองนครศรีธรรมราชหลายแห่ง
- ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
เรียบเรียงขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๗ เนื่องจากพิธีพราหมณ์และผู้ปฏิบัติศาสนาพราหมณ์
ในเมืองนครศรีธรรมราช เริ่มเสื่อมโทรมลง และกำลังจะหายสาบสูญ ขุนพรหมสุทธิชาติ
ขุนยศ และขุนสาสุเทพ จึงแต่งขึ้นเพื่อมอบแก่ปลัดเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อให้ช่วยทำนุบำรุงศาสนาพราหมณ์ตามจารีตสืบไป
ตำรา
นครศรีธรรมราชมีตำราต่าง ๆ อันรวบรวมจากสรรพวิชาความรู้ที่สร้างสมกันมาเป็นเวลานาน
เป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้งในด้านระเบียบแบบแผน การเมือง การปกครอง การทำมาหากิน
และพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อความสงบสุขของสังคม ได้แก่ ตำราไสยศาสตร์ ดาราศาตร์
ตำราหมอดู ตำราพิชัยสงคราม ตำราลิลิตโองการแช่งน้ำ ตำราพิธีพราหมณ์ ตำราดูช้างเผือก
ตำราคล้องช้างป่า ตำราสวดภานยักษ์ ตำราหนังสือเรียน ตำรายาแผนโบราณ
|