นาฏศิลป์
หนังตะลุง
เป็นการเล่นพื้นบ้านภาคใต้ที่พัฒนามาจากละครเงา ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ
เดิมหนังตะลุงเป็นเรื่องของพราหมณ์ จะเห็นได้จากที่หนังตะลุงออกพระอิศวร อันเป็นเครื่องชี้ถึงกลุ่มลัทธิ
ที่นำหนังตะลุงเข้ามาว่า น่าจะเป็นพวกที่นับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย คือ
บูชาพระอิศวรเป็นใหญ่ ถ้าดูจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในภาคใต้แล้ว
น่าจะอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ และคงไม่เลยพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เพราะตามตำนานบอกเล่าในบทไหว้ครู
กล่าวตรงกันว่ามีมาแต่ครั้งศรีวิชีย
เดิมหนังเล่นบนพื้นดินในลานเตียนโล่ง ไม่ยกโรงไม้ขึงจออย่างปัจจุบัน เล่นทั้งกลางวันและกลางคืน
หนังที่เล่นเวลากลางคืนจะใช้วิธีสุมไฟหรือไต้ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า
ไต้ต้นช้าง
สำหรับให้แสงสว่างรูปหนังแกะด้วยหนังวัว หนังควาย ขนาดใหญ่ สูงแค่อก ไม่ใช้ไม้ตีบหนังสำหรับจับเชิด
แต่จะใช้เชือกร้อย ต่างส่วนหัวของตัวหนังสำหรับจับถือ รูปตัวหนึ่งเวลาออกเชิด
ใช้คนถือออกเชิดเต้นคนหนึ่ง การเล่นแบบนี้เรียกว่า
รำหนัง
ปัจจุบันบางถิ่นก็ยังเรียกเช่นนั้น ทั้งที่หนังเลิกเต้นเชิดกันแล้ว การเล่นดังกล่าวใช้คนมาก
ตัวหนังก็มากและหนัก จนถึงขนาดเวลาเล่นต้องใส่เกวียนชักลาก
ต่อมาหนังแขก (หนังชวา) เข้ามาเล่นในภาคใต้และเลยขึ้นไปถึงกรุงเทพ ฯ หนังแขกนั้นเป็นหนังตัวเล็ก
เล่นบนโรง ไม่ลำบากยุ่งยากเหมือนเดิม จึงมีผู้คิดประยุกต์ประสมประสานเข้ากับหนังแบบเดิมโดยปลูกยกโรงพื้นสูงใช้เสาสี่เสา
หลังคาแบบเพิงหมาแหงน ใช้ผ้าขาวเป็นจอสำหรับเชิดรูป ผู้ดูก็ดูเงาของรูป ซึ่งเกิดจากไฟส่องด้านหลังและฟังคำพากษ์ไม่ต้องดูลีลาท่าทางของผู้เชิด
คนเชิดก็ลดเหลือสองคนนั่งอยู่คนละซีกจอ เรียกว่า หัวหยวก
- ปลายหยวก ทำหน้าที่ขับร้องกลอนมุขตลกอีกคนหนึ่ง
ถ้ามากกว่านี้ก็อาจมีคนชักรูปอีกคนหนึ่ง ตำนานระบุว่าผู้เป็นคนต้นคิดหนังแบบนี้คือนายนุ้ย
บ้างก็ว่าเป็นคนบ้านควนมะพร้าว อำเภอเมืองพัทลุง บ้างก็ว่าเป็นคนบ้านดอนควน
อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง หนังที่คิดขึ้นจึงได้ชื่อว่า
หนังควน
ตามถิ่นกำเนิด แต่มีคำอธิบายอีกอย่างหนึ่งว่า ที่เรียกว่าหนังควนเพราะ สถานที่เล่นต้องเลือกที่เนินซึ่งทางภาคใต้เรียกว่า
ควน
ส่วนคำว่าหนังตะลุง เกิดขึ้นประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นแถวนางเลิ้ง หนังที่นำ - ไปครั้งนั้นไปจากจังหวัดพัทลุง
คนกรุงเทพ ฯ จึงเรียกว่า หนังพัทลุง ต่อมาได้เพื้ยนไปเป็น หนังตะลุง
ตามตำนานหนังตะลุงอีกตำนานหนึ่งระบุว่า ครูต้น ...หนังตะลุงคือ
ครูหนักทอง
และครูก้อนทอง
เป็นทหารประจำกองช้างศึก ของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นผู้นำแบบอย่างการเล่นวายัง
จากชวามาเล่นที่เมืองนครศรีธรรมราชเป็นครั้งแรก ต่อมาการเล่นตามแบบอย่างดังกล่าวได้กลายมาเป็นหนังตะลุงแบบภาคใต้
บรรดาหนังตะลุงยุคหลังถือว่า หนักทองกับก้อนทอง เป็นครูหนังตะลุงคนแรก ซซึ่งปรากฎอยู่ในบทไหว้ครูหนังตะลุงหลายคณะ
เดิมหนังตะลุงนิยมเล่นในงานสมโภชหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ส่วนงานมงคลเช่นงานแต่งงาน
จะไม่นิยมเล่น หนังตะลุงนิยมเล่นในงานรื่นเริงต่าง ๆ มีการประชันขันแข่งขัน
ถ้าเป็นงานศพสดไม่นิยมเล่น แต่ถ้าเป็นงานศพแห้ง หรือทำบุญกระดูก ก็สามารถเล่นได้
องค์ประกอบในการเล่น
- คณะหนัง
ประกอบด้วยบุคคล ๘ - ๙ คน แต่เดิมใช้คนพากษ์เรียกว่า นายหนัง ทำหน้าที่ในการร้อยกรอง
บรรยาย เจรจา และเชิดรูปเบ็ดเสร็จ แต่บางคณะคนเชิดรูปจัดไว้ต่างหากเรียกว่า
คนชักรูป
นอกจากนี้หมอกบโรง
หนึ่งคน ทำหน้าที่เป็นหมอไสยศาสตร์ประจำคณะ ที่เหลืออีกห้าคนเป็นลูกคู่ ถ้าพิเศษอาจมีคนแบกแผงรูปอีกหนึ่งคน
ปัจจุบันนายหนังมีคนเดียว ทำหน้าที่ทั้งเชิดรูปและพากษ์เองเบ็ดเสร็จ หมอกบโรงและคนแบกแผงก็ไม่ต้องมี
แต่จำนวนคนในคณะหนังยังคงเท่าเดิม เพราะเพิ่มเครื่องดนตรีและของใช้ต่าง ๆ
มากขึ้น
- เครื่องดนตรี
เดิมใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น ที่สำคัญมีกับหนึ่งคู่ เป็นตัวคุมจังหวะและทำนอง
โหม่งหนึ่งคู่ สำหรับประกอบเสียงร้องกลอน กลองตุ๊กหนึ่งใบ สำหรับขัดจังหวะทับ
ฉิ่งหนึ่งคู่สำหรับขัดจังหวะโหม่ง และปี่หนึ่งเลาสำหรับเดินทำนอง แต่ในระยะหลังมีเครื่องดนตรีอื่น
ๆ เข้าไปประสมประสานหรือใช้แทนเครื่องดนตรีดั้งเดิม เช่นใช้กลองชุดและกลองทอมบ้าแทนกลองตุ๊ก
ใช้ไวโอลิน ออร์แกน กีตาร์ ซอ หรือจระเข้ เข้าไปผสมกับปี่ บางคณะก็เลิกใช้ปี่
- โรงหนังและอุปกรณ์ในโรงหนัง
โรงหนังตะลุงปลูกเป็นเรือนชั่วคราว ยกเสาสี่เสา ยกพื้นเลยศีรษะเล็กน้อย หลังคาแบบเพิงหมาแหงน
ขนาดของโรงประมาณ ๒.๕ x ๓.๐ เมตร ด้านหน้าขึงจอผ้าขาว ด้านข้างกั้นอย่างหยาย
ๆ ด้วยทางมะพร้าวหรือจาก ภายในโรงมีหยวกวางชิดจอสำหรับปักรูปหนึ่งต้น มีเครื่องให้แสงสว่าง
สมัยก่อนใช้ไต้ แล้วพัฒนามาเป็นตะเกียงไขวัว ตะเกียงเจ้าพายุและไฟฟ้าตามลำดับ
โดยแขวนไว้ตรงกลาง ห่างจากจอประมาณหนึ่งศอก สูงจากพื้นโรงประมาณหนึ่งศอกเช่นกัน
- รูปหนัง
โดยเฉลี่ยมีคณะละประมาณ ๑๕๐ - ๒๐๐ ตัว รูปที่หนังต้องมีได้แก่ ฤาษี
พระอิศวร ปรายหน้าบท เจ้าเมือง พระ นาง ยักษ์ ตัวตลก รูปหนังจะเก็บไว้ในแผงอย่างมีระเบียบ
คือจับรูปประกอบที่ไม่สำคัญที่เรียกว่า รูปกา ไว้ล่าง ส่วนรูปสำคัญและรูปศักดิ์สิทธิ์ไว้บนและจัดไว้เป็นพวก
ๆ ไม่ปนกันเช่น พระพวกหนึ่ง นางพวกหนึ่งและยักษ์อีกพวกหนึ่ง ส่วนฤาษีและรูปศักดิ์สิทธิ์ต้องไว้บนสุดของแผง
ขนบนิยมในการเล่น
- ตั้งเครื่องเบิกโรง เป็นการทำพิธีเอาฤกษ์ ขอที่ตั้งโรงและปัดเป่าเสนียดจัญไร
เมื่อคณะหนังขึ้นโรงแล้ว นายหนังจะตีกลองเอาฤกษ์ ลูกคู่บรรเลงเพลงเชิดเรียกว่า
ตั้งเครื่อง
จากนั้นนายแผงจะแก้แผงออกปักวางรูปให้เป็นระเบียบ นายหนังจะทำพิธีเบิกโรง
โดยเอาเครื่องเบิกโรงที่เจ้าภาพจัดให้ได้แก่ หมากพลูเก้าคำ เทียนหนึ่งเล่ม
ถ้าเป็นงานอัปมงคลเพิ่มเสื่อหนึ่งผืน หมอนหนึ่งใบ หม้อน้ำมนต์หนึ่งใบ
ถ้าเป็นงานแก้บนใช้เทียนเก้าเล่มและเพิ่มดอกไม้ ข้าวสาร และด้ายดิบ ทุกงานต้องมีเงินค่าเบิกโรงจำนวนหนึ่ง
แล้วแต่หนังจะกำหนดเช่น สามบาทบ้าง สิบสองบาทบ้าง มาวางไว้หน้าหยวก ร้องชุมนุมคนเสร็จแล้ว
เอารูปฤาษี รูปปลายหน้าบท รูปเจ้าเมือง ปักหยวก ร้องเชิญครูหมอหนังให้มาคุ้มครอง
ขอที่ตั้งโรงจากพระภูมิและนางธรณี แล้วเสกหมากสามคำซัดกับหนึ่งคำเหน็บไว้ที่ตะเกียงหรือดวงไฟหนึ่งคำ
และเหน็บไว้บนหลังคาโรง เหนือศีรษะหนึ่งคำ เป็นการกันเสนียดจัญไร จบแล้วลูกคู่บรรเลงเพลงโหมโรง
- โหมโรง
เป็นการบรรเลงดนตรีล้วน เพื่อเรียกคนดูและให้นายหนังเตรียมพร้อม เพลงโหมโรงเดิมใช้เพลงทับ
เป็นตัวยืนและเติมจังหวะต่าง ๆ ดนตรีชิ้นอื่น ๆ บรรเลงตามทับทั้งสิ้น เพลงที่บรรเลงมีสิบสองเพลงคือ
เพลงเดิน เพลงถอยหลังเข้าคลอง เพลงยักษ์ เพลงนาคกรายเข้าวัง เพลงนางเดินป่า
เพลงสรงน้ำ เพลงเจ้าเมืองออกสั่งการ เพลงชุมพล เพลงยกพล เพลงยักษ์จับสัตว์
และเพลงกลับวัง ต่อมานายหนังหันมานิยมโหมโรงด้วยเพลงปี่ เพลงที่ใช้เป็นเพลงไทยเดิมมีสิบสองเพลง
ได้แก่ เพลงพัดชา เพลงลาวสมเด็จ เพลงเขมรปี่แก้ว เพลงเขมรปากท่อ เพลงจีนแส
เพลงลาวดวงเดือน เพลงชายคลั่ง เพลงสุดสงวน เพลงนางครวญ เพลงสะบัดสะบิ้ง เพลงเขมรพวง
และเพลงชะนีร้องไห้ หนังบางคณะอาจเล่นต่อไปจากนี้บ้างแต่ต้องครบสิบสองเพลง
ปัจจุบันการโหมโรงนิยมเริ่มด้วยเพลงปี่ โดยบรรเลงเพลงพัดชา ซึ่งถือว่าเป็นเพลงครู
ครั้นจบแล้วก็มักเล่นเพลงลูกทุ่งเป็นพื้น
- ออกลิงหัวค่ำ
เป็นธรรมเนียมการเล่นหนังตะลุงสมัยก่อน ปัจจุบันเลิกเล่นแล้ว เข้าใจว่าจะได้รับอิทธิพลจากหนังใหญ่
เพราะรูปที่ใช้เชิดส่วนใหญ่เป็นรูปจับ มีฤาษีอยู่กลาง ลิงขาวกับลิงดำอยู่คนละข้างแต่รูปที่แยกเป็นรูปเดี่ยว
ๆ สามรูปแบบเดียวกับหนังตะลุงก็มี
- ออกฤาษี
เป็นการเล่นเพื่อคารวะครู และปัดเป่าเสีนดจัญไร โดยขออำนาจพระพรหม พระอิศวร
พระนารายณ์ เทวดาอื่น และพระรัตนตรัย
- ออกรูปฉะหรือรูปจับ
คำว่า ฉะ คือการสู้รบ ออกรูปฉะเป็นการออกรูปพระรามกับทศกัณฐ์ให้ต่อสู้กัน
วิธีการเล่นใช้ทำนองพากย์คล้ายหนังใหญ่ การเล่นชุดนี้หนังตะลุงเลิกเล่นแล้ว
- ออกรูปปรายหน้าบท
เป็นรูปผู้ชายถือดอกบัวบ้าง ธงชาติบ้าง ถือเป็นตัวแทนของนายหนัง ใช้เล่นเพื่อไหว้ครู
ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และผู้ที่นายหนังเคารพนับถือ ตลอดทั้ง ใช้ร้องก่อนปรารภฝากเนื้อฝากตัวกับผู้ชม
- เกี้ยวจอ
เป็นการร้องกลอนสั้น ๆ ก่อนตั้งนามเมือง เพื่อให้เป็นคติสอนใจแก่ผู้ชม หรือเป็นกลอนพรรณาธรรมชาติ
และความในใจ
- ตั้งนามเมืองหรือตั้งเมือง
เป็นการออกรูปกษัตริย์ โดยสมมุติขึ้นเป็นเมือง ๆ หนึ่ง จากนั้นจึงดำเนินเหตุการณ์ไปตามเนื้อเรื่อง
เรื่องที่หนังตะลุงใช้เล่น แรกเริ่มเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมาเล่นเรื่องจักร
ๆ วงศ์ ๆ เรื่องหนังที่นิยมเล่นเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้วได้แก่ สุวรรณราช แก้วหน้าม้า
ลักษณวงศ์ โคบุตร สังข์ทอง หลวิชัยคาวี นางสิบสอง พระสุธน และเฒ่าทองเป็นต้น
ต่อมาหนังบางคณะนำนวนิยายมาดัดแปลงเล่นก็มี
การเล่นหนังตะลุงที่ให้ความสนุกสนานที่สุดคือ ตอนประชันกัน ที่เรียกว่า
แข่งหนัง
การเล่นหนังแข่งขัน มีกติกาที่คู่แข่งขันจะต้องปฎิบัติคือ เมื่อตีโพนลาแรกประมาณสองทุ่มครึ่ง
หรือสามทุ่ม หนังเริ่มลงโรง ลาที่สอง ออกฤาษี ลาที่สามออกหยุดพักเที่ยงคืน
ลาที่สี่เล่นต่อ และลาสุดท้ายจะตีราวตีห้าครึ่ง เป็นการบอกสัณญาณจะเริ่มการตัดสินของกรรมการ
การตัดสินจะใช้จำนวนคนดูเป็นเกณฑ์ จึงต้องเล่นกันอย่างสุดฝีมือเพื่อเรียกคนดู
เรียกว่า ขะโรง
กลอนและลีลากลอน
การเล่นหนังตะลุงคล้ายกับละครมีบทร้อง บทเจรจา และออกท่าทางประกอบผิดกันแต่การออกท่าใช้ตัวหนังแทนคนจริง
ๆ บทกลอนที่หนังตะลุงใช้ร้องส่วนใหญ่นิยมกลอนสด เรียกว่า มุตโต
ใช้กลอนแปดเป็นพื้น เว้นแต่ตอนที่ต้องการเดินทางทำนองลีลาให้สอดคล้องกับลักษณ์ตัวละคร
และเหตุการณ์ของเรื่องจึงใช้รูปแบบอื่น ๆ แทรกเข้ามาเป็นช่วง ๆ เช่น กลอนสี่
กลอนห้า กลอนลอดโหม่ง กลอนหก กาพย์ฉบัง กลอนกลบท
ในการขับร้องกลอนจะมีทำนองร้องต่าง ๆ หลายทำนอง สำหรับกลอนแปดจะใช้ทำนองสงขลา
ซึ่งมีลีลาเนิบช้า ส่วนทำนองสงขลากลายซึ่งมีลีลาเร่งเร็ว นิยมในหมู่หนังตะลุงทางนครศรีธรรมราช
ส่วนกลอนอื่น ๆ ก็เรียกตามทำนองกลอนสี่และกลอนห้าที่นิยมกันมากในจังหวัดนครศรีธรรมราชจะเรียกชื่อเฉพาะว่า
ทำนองคอน
หรือคำคอน หรือคำนคร
ในการร้องกลอนหนังตะลุงนั้น นายหนังจะขึ้นเสียงให้ได้ระดับเสียงโหม่ง และทอดใยเสียงให้กลมกลืนกับเสียงโหม่ง
เรียกว่า เสียงเข้าโหม่ง
ทำให้ไพเราะยิ่งขึ้น
โนรา โนรา (มโนรา มโนห์รา โนราห์)
เป็นศิลปะการแสดงที่มีทั้งการรำและการร้อง หรือว่าบทและการแสดงเรื่องอย่างละคร
บางโอกาสก็มีการแสดงคติความเชื่อ ที่เป็นพิธีกรรม
ตามตำนานและวรรณกรรมท้องถิ่นบางเรื่องได้กล่าวถึง การแสดงของโนราว่าเป็นชาตรี
หรือละครชาตรี หรือ มโนราห์ (พระสุธน) มาแสดงกัน เช่น ตอนพรานบุญจับกินรีได้นางมโนราห์
ชาวบ้านจึงเรียกการแสดงชาตรีว่า มโนราห์ ในที่สุดคำว่า ชาตรี ก็มีคนเรียกน้อยลง
การแสดงโนราในสมัยก่อนและปัจจุบัน มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ยังรักษาของเก่าเอาไว้
เช่น ท่ารำแบบโบราณ การแต่งกาย การเบิกโรง การโหมโรง ส่วนที่เปลี่ยนไปคือเครื่องดนตรี
และแสดงเรื่องนิยายสมัยใหม่ มีการขับกลอนสลับการพูด ลักษณะคล้ายลิเก มีการจัดฉาก
เปลี่ยนฉากประกอบการแสดงจนผิด ๆ ไปจากโนราสมัยก่อน
ยังไม่พบหลักฐานปรากฎชัดว่าโนรา เกิดขึ้นที่ใดเป็นครั้งแรก บางตำรากล่าวว่าโนราได้ต้นเค้า
บางตำรากล่าวว่า โนราได้แพร่หลายจากกรุงศรีอยุธยา ไปยังเมืองนครศรีธรรมราช
และบางตำราก็กล่าวว่า โนราเป็นนาฎศิลป์ที่ขึ้นชื่อของคนไทยภาคใต้ที่ไม่ซ้ำแบบใคร
เป็นต้นแบบของละครชาตรีในกรุงศรีอยุธยา สืบทอดมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์
การแสดงโนราจะต้องรวมตัวเป็นคณะ มีโรงหรือเวทีในการแสดง มีเครื่องแต่งกายเฉพาะ
มีเครื่องดนตรีประกอบ แบ่งออกเป็นสี่ส่วนใหญ่ ๆ คือ
- คณะโนรา
แต่เดิมมีอยู่ประมาณ ๑๔ - ๒๐ คน ปัจจุบันบางคณะมีถึง ๘๐ - ๖๐ คน รวมทั้งวงดนตรีประจำคณะด้วย
แต่เดิมตัวแสดงสำคัญอาจมีเพียงสามตัว คือ นายโรงหรือโนราใหญ่ นางหรือนางรำ
และตัวตลกหรือพราน ต่อมาเพิ่มนางรำเข้าไปอีก ๓ - ๗ คน ลูกคู่ ๓ - ๗
คน และมีพวกติดตามที่เรียกว่า พวกตาเสือ อีกจำนวนหนึ่งบางคณะอาจมีหมอประจำคณะที่เรียกว่า
หมอเฒ่า และบางคณะก็มีนางรำรุ่นเด็ก ๆ เรียกว่า หัวจุกโนรา เพิ่มเข้ามา
การเรียกชื่อคณะโนรามักเรียกชื่อตามชื่อนายโรงไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เช่น
โนราวัน โนราหนูเขียน ฯลฯ
- โรงหรือเวทีแสดง
เดิมนิยมปลูกเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด ๔ x ๕ เมตร ไม่ยกพื้น เปิดโล่งทั้งสี่ด้านหลังคาหน้าจั่วมุงจาก
มีเสาอยู่กลางหลังคาเรียก เสามหาชัย เชื่อกันว่าเป็นที่ประทับของพระเวสสุวรรณ
หรือพระวิษณุกรรม โรงโนราสมัยปัจจุบันมักทำเป็นโรงใหญ่สี่เหลี่ยม ยกพื้นสูง
๑ - ๒ เมตร กันข้าง หลังคาทำด้วยใบมะพร้าวสานหรือไม้กระดาน หลังคาทรงหมาแหงน
มุงด้วยสังกะสีหรือผ้าเต็นท์ มีม่านกั้นเพื่อแบ่งสัดส่วนของที่แสดงกับที่แต่งตัว
- เครื่องแต่งกาย
ในยุคแรก ๆ แต่งกายอย่างง่าย ๆ โดยเอาของพื้นบ้านมาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับ
เช่น เอาเปลือกหอยมาร้อยเป็นลูกปัด สมัยต่อมาได้เปลี่ยนเป็นเครื่องทรงกษัตริย์
ซึ่งประกอบด้วยสิ่งสำคัญคือ
เทริด เป็นเครื่องประดับศีรษะ ทำเป็นรูปมงกุฎอย่างเตี้ย มีกรอบหน้า มีด้ายมงคล
เครื่องลูกปัด จะร้อยด้วยลูกปัดสีเป็นลายดอกดวง ใช้สวมท่อนบนลำตัวแทนเสื้อ
ประกอบด้วยบ่าสองชิ้น ปิ้งคอสองชิ้น และพานอกหนึ่งชิ้น
ปีกนกแอ่นหรือปั้นเหน่ง มักทำด้วยแผ่นเงินเป็นรูปคล้ายนกนางแอ่นกางปีก ใช้สวมเหนือระดับเอวซ้าย
- ขวา
ทับทรวง หรือซับทรวง ใช้สวมห้อยทรวงอก เป็นรูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน
ปีกหรือหางหงส์ นิยมทำด้วยเขาควายหรือโลหะเป็นรูปคล้ายปีกนกหนึ่งคู่ ใช้สวมคาดทับผ้านุ่งคล้ายหางกินรี
เล็บ นิยมทำด้วยโลหะ ส่วนใหญ่เป็นเงิน มีลักษณะเรียวแหลมโค้งงอน เวลาร่ายรำทำให้ดูเหมือนเล็บกินรี
ส่วนใหญ่ใช้แปดเล็บ ไม่นิยมใช้สวมนิ้วหัวแม่มือ
นอกจากนี้ก็มีผ้านุ่ง ผ้าห้อยหน้า ผ้าห้อยข้าง หน้าพราน กำไลมือ และกำไลปลายแขน
- เครื่องดนตรี
เดิมมีหกชิ้นคือทับสองลูก กลองหนึ่งใบ ปี่หนึ่งเลา โหน่งหนึ่งคู่
ฉิ่งหนึ่งคู่ และแกละหนึ่งคู่
ทับสองลูก ลูกหนึ่งเสียงทุ้มเรียกลูกเทิง ลูกหนึ่งเสียงแหลมเรียกลูกฉับ
ตามตำนานโนรามีชื่อเรียกว่าน้ำตาตกกับนกเขาขัน ลักษณะคล้ายกลองยาว ใช้กำกับจังหวะ
เปลี่ยนจังหวะ
กลอง ตามตำนานโบราณโนราเรียกว่า กลองสุวรรณเภรีโลก หรือเรียกอีกอย่างว่า กลองชาตรี
มีลักษณะคล้ายกลองทัด แต่มีขนาดเล็กกว่า
ปี่ เป็นพวกปี่ไฉน ตัวปี่ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง หัวปี่หรือทรวกปี่ทำด้วยใบโตนด
โหม่งหนึ่งคู่ โนรารุ่มเก่งใช้โหม่งฟาก รูปร่างคล้ายฆ้อง แขวนตรีงภายในรางไม้สี่เหลี่ยม
ลูกหนึ่งเสียงแหลม ลูกหนึ่งเสียงทุ้ม มีไม้ตีหนึ่งอัน นิยมหุ้มปลายด้วยยางหรือด้ายดิบ
ฉิ่ง ใช้ฉิ่งขนาดใหญ่
แกระหรือแตระหรือกรับ โนรารุ่นเก่าใช้กรับพวง ไม้มีขนาดไล่เลี่ยกัน มีเชือกผูกร้อยและมีแกนกลางควบคุม
ปัจจุบัน
เปลี่ยนมาเป็นแผ่นไม้สองแผ่น
- องค์ประกอบของการแสดงโนรา
ที่นับว่าเป็นองค์ประกอบหลัก มีดังนี้
การรำ โนราแต่ละตัวต้องรำผสมท่าต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างต่อเนื่องและชำนาญ
แต่ละท่าต้องถูกต้องตามแบบฉบับ
การร้อง โนราแต่ละตัวต้องร้องให้ไพเราะชัดเจน เร้าใจและมีปฏิภาณในการคิดกลอนอย่างรวดเร็ว
สามารถร้องโต้ตอบได้อย่างฉับพลัน
การทำบท คือการตีความบทร้องเป็นท่ารำ ให้คำร้องกับท่ารำสัมพันธ์กันและเข้าจังหวะดนตรี
การทำบทถือว่าเป็นศิลปะชั้นยอดของโนรา
การรำเฉพาะอย่าง การแสดงโนราบางครั้งอาจแสดงเฉพาะโอกาส เช่น รำในพิธีไหว้ครู
รำในการประชันโรงรำแก้บน เป็นต้น จึงต้องฝึกรำเฉพาะอย่างไว้
การเล่นเป็นเรื่อง มักแสดงเรื่องที่รู้จักกันดี เช่น พระสุธน พระรถ
ใช้ผู้แสดง ๒ - ๔ คน ไม่เน้นการแต่งตัวตามเรื่อง แต่เน้นที่การขับบทกลอนแบบโนรา
ให้ได้เนื้อความตามท้องเรื่อง และเน้นการตลก ต่อมานิยมแสดงโดยผูกเรื่องให้เข้ากับเหตุการณ์ในสังคมปัจจุบัน
เป็นแบบนิยายสมัยใหม่ มีลักษณะคล้ายลิเกหรือละครพูด มีการขับบทกลอนสลับการพูดบ้าง
การแต่งกายเป็นแบบทันสมัย มีการจัดฉาก เปลี่ยนฉาก ใช้แสงสีประกอบการแสดง
- ลำดับการแสดง
ที่ถือปฏิบัติเป็นขนบนิยม ดังนี้
ตั้งเครื่อง คือการบรรเลงดนตรีเมื่อเข้ามาประโรงแสดงเรียบร้อยแล้ว
เบิกโรง คือหมอประจำคณะหรือนายโรงกระทำพิธีอย่างขอที่ขอทาง (เจ้าที่)
โหมโรงหรือลงโรง คือการบรรเลงดนตรีเพื่อเรียกคนดู
กาดครู พอโหมโรงเสร็จก็๋จะว่า กาดครูหรือเชิญครู
กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของโนรา
สดุดีครูต้นและผู้มีอุปการคุณ
ปล่อยตัวนางรำ แต่ละตัวจะมีขั้นตอนคือขับร้องบทกลอนอยู่ในม่านเรียกว่า
เกี้ยวม่าน
ออกร่ายรำสี่หน้า
รำสิบสองท่านั่งพนัก ว่ากลอน รำอวดมือก่อนเข้าโรง
ออกพรานหรือออกตัวตลก มีการแสดงท่าเดินพราน นายพราน ขับบทพราน พูดตลก เกริ่นให้ชมนายโรง
ออกตัวนายโรง จะอวดท่ารำและขับบทกลอนเป็นพิเศษให้สมฐานะโนราใหญ่
ออกพรานอีกครั้ง เพื่อบอกเรื่องที่จะแสดง
- เรื่องที่นิยมแสดง
เดิมนิยมแสดงเพียงสองเรื่องคือพระสุธนและพระรถ ต่อมาเพิ่มเรื่องสังข์ทอง
ไกรทอง สินนุราช เป็นต้น ปัจจุบันนิยมนำนวนิยายสมัยใหม่มาแสดง
- การร้องและการรับ
เมื่อโนราร้องหรือขับกล่อม จะมีลูกคู่รับไปตามจังหวะลีลาที่แตกต่างตามลักษณะของบทร้อง
และจังหวะดนตรี เช่น เพลงหน้าแตระ เพลงทับ เพลงโทน เพลงประกอบกลอนสี่
กลอนหก กลอนแปด กลอนทอย เป็นต้น
- การประชันโรง
จะจัดให้มีตั้งแต่สองคณะขึ้นไป
โนราที่จะประชันจะต้องเดินทางไปถึงที่ประชันก่อนหนึ่งวันหรือหนึ่งคืน เพื่อจับสลากเลือกโรง
ตกลงข้อสัญญาการแสดง การตัดสิน การแพ้ชนะ เป็นต้น
ลิเกป่า
มีชื่อเรียกหลายชื่อด้วยกัน เช่น ลิเกรำมะนา ลิเกแขกแดง ลิเกบก ลิเกลูกบท
เป็นการแสดงพื้นเมืองของภาคใต้ แพร่หลายและนิยมกันในแถบจังหวัดตรัง จังหวัดกระบี่
และจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีมาแต่เมื่อใด แต่เดิมมีลิเกป่าแสดงเกือบทุกหมู่บ้าน
ปัจจุบันมีน้อยลงและหาดูได้ยาก
คำว่าลิเกหรือยี่เกนั้น กล่าวกันว่าเลือนมาจากคำว่า ดิเก ซึ่งเป็นภาษามลายู
แปลว่า ขับร้อง เพราะแต่เดิมนั้นลิเกใช้สวดบูชาพระในทางศาสนา
การแสดงลิเกป่า ต้องมีคณะผู้แสดงมีโรงหรือเวที มีเครื่องแต่งกาย และมีเครื่องดนตรีเฉพาะ
ส่วนประกอบใหญ่ของลิเกป่า แบ่งออกได้เป็นสี่ส่วน คือ
- คณะลิเกป่า
คณะหนึ่งจะมีผู้แสดงประมาณ ๘ คน ลูกคู่ดนตรีอีกประมาณ ๕-๖ คน รวมแล้วคณะหนึ่งมีไม่เกิน
๒๐ คน ตัวแสดงที่สำคัญมีสามตัวคือ แขกแดง ยาหยี และเสนา อาจจะมีตัวประกอบอื่น
ๆ บ้าง เช่น เจ้าเมือง นายด่าน และแม่ของยาหยี
การเรียกชื่อคณะลิเกป่าจะเรียกชื่อตามที่เห็นว่าไพเราะ เช่น คณะนายเขียว สกุลสวน
บ้านถ้ำโกบ อำเภอเขาพนม คณะรวมมิตรบรรเทิงศิลป์ บ้านโคกยาง อำเภอเมือง ฯ
ฯลฯ
- โรงหรือเวทีแสดง
มีลักษณะเหมือนโรงโนรา คือปลูกเป็นโรงสี่เหลี่ยม ยกพื้นหรือไม่ยกพื้นก็ได้
หลังคาเพลิงหมาแหงน พื้นโรงใช้เสื่อปู มีบานกั้นกลาง เดิมอาจแสดงบนพื้นดิน
ฉากหรือม่านก็เป็นแบบง่าย ๆ แต่ต่อมาได้พัฒนามาใช้ฉากที่สวยงามเหมือนฉากลิเก
หรือฉากโนราที่แสดงกันอยู่ปัจจุบัน
- เครื่องแต่งกาย
มีอยู่สองชุด ชุดแรกเป็นการแสดงเรื่องแขกแดง ใช้ตัวแสดงสี่ตัวคือ
แขกแดง แต่งตัวแบบแขกอินเดีย นุ่งกางเกงขายาว สวมโสร่งทับถึงเข่า สวมเสื้อแขนยาว
สวมนอกทับอีกชั้นหนึ่ง สวมหมวกแขก ใส่หนวดหรือแต้มหนวดให้มีเครารุงรัง เสริมจมูกให้โตแบบแขกส่วนมากทำด้วยไม้ทาสีแดง
ยาหยี แต่งกายอย่างหญิงไทยอิสลาม นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมเสื้อแขนยาว ตัวเสื้อลึกถึงครึ่งขาเรียกว่า
เสื้อหยอหยา สวมสร้อยมือ ตุ้มหู ใช้ผ้าโปร่งคลุมหัวให้โผล่แต่เฉพาะหน้า
เสนา แต่งตัวตามสะดวก แต่ให้ดูขบขันอาจจะนุ่งโสร่งหรือกางเกง หรือนุ่งโจงกระเบน
ไม่นิยมสวมเสื้อ
เจ้าเมือง แต่งตามสมัยนิยม หรือแบบธรรมดา แต่ดูออกว่าเป็นผู้มียศศักดิ์ และฐานะ
ชุดที่สอง เป็นการแสดงเรื่องราวตามนิยายพื้นบ้าน เรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ การแต่งกายจึงเป็นไปตามบทบาท
และฐานะตามเนื้อเรื่องนั้น ๆ
- เครื่องดนตรี
ที่สำคัญมีอยู่สี่ชิ้น คือ
รำมะนา มีอยู่ ๒ - ๓ ใบ เป็นกลองหน้าเดียวเหมือนรองเง็ง เป็นเครื่องดนตรีหลัก
โหม่งหนึ่งคู่ คล้ายของโนรา ฉิ่งหนึ่งคู่ กลองหนึ่งใบ
นอกจากนี้บางคณะอาจมี ซอ กรับ ปี่ และฆ้องด้วย
เพลงที่ใช้บรรเลงมักใช้ทำนองเพลงไทยเดิม เช่น ตะลุ่มโปง เถาะถิ้น พม่ารำขวาน
เป็ฯต้น ปัจจุบันมีการประยุกต์กับเพลงสมัยใหม่
- ลำดับการแสดง
มีขนบนิยมเป็นสำคัญดังนี้
เบิกโรง ก่อนการแสดงจะมีการตั้งพิธีเบิกโรงโดยมีหัวหน้าคณะเป็นผู้ทำพิธี มีหมากสามคำ
เทียนหนึ่งเล่ม เงินสามบาท เมื่อจุดเทียนแล้วจะตั้ง สัคเค หรือชุมนุมเทวดา
เชิญครูลิเกป่าอันประกอบด้วย แขกแดง แขกดำ โต๊ะนาบี นางยวน สร้อยระย้า ตลอดจนบรรพบุรุษของแขกแดงทั้งหลาย
โยกล่าวคาถาเชิญครูลิเกป่าเป็นภาษมลายู
โหมโรง หรือ ลงโรง เป็นการบรรเลงดนตรีเพื่อเรียกคนดู
ว่าดอก ผลัดกันร้องที่ละคน และรับพร้อม ๆ กันเวียนเป็นวงกลม เนื้อร้องเป็นการชมความงามของผู้หญิง
หรือการพรรณนาถึงความรัก
ไหว้ครู บางคณะว่าพร้อมกับการว่าดอก เป็นการคารวะครู และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
บอกชุด เป็นการร้องเล่าเรื่องจากนิยาย ที่จะเล่นอย่างสั้น ๆ
ออกแขก ในลิเกประเภทอื่นจะออกแขกพอเป็นพิธี แต่ลิเกป่าออกแขกจมีบทบาทตลอดเรื่อง
เพราะจะต้องแสดงชุดแขกแดงไปจนจบเรื่องก่อน จึงจะแสดงเรื่องอื่น ๆ อีกได้ ลีลาการออกแขกแดงอยู่ที่การเต้น
นับตั้งแต่เริ่มออกจะต้องเต้นตามจังหวะรำมะนาเรียกว่า
เต้นกระตุกม่าน
ขณะที่เต้นลูกคู่จะร้องรับจังหวะไปด้วย การร้องตอนแรกเป็นภาษาแขก ต่อจากนั้นจะต้องเป็นภาษาไทย
แต่สำเนียงยังออกอย่างแขก บทร้องและรับขึ้นอยู่กับแต่ละคณะจะแต่งขึ้น ส่วนทำนองนั้นเหมือนกัน
ส่วนบทของยาหยี เสนา และเจ้าเมือง คำร้องเป็นไทยล้วน คำรับอาจมีแขกปน
บอกเรื่อง เมื่อแสดงเรื่องแขกแดงจบแล้ว ตัวตลก จะออกมาบอกเรื่องว่าลำดับต่อไปจะแสดงเรื่องอะไร
เรื่องที่ใช้แสดงอาจแต่งขึ้นเองหรือเอามาจากวรรณคดีเก่า ๆ เช่น จันทโครพ ลักษณวงศ์
สุวรรณหงส์ เป็๋นต้น
เล่นเรื่อง การแสดงเรื่องของลิเกป่าทำนองเดียวกับละคร คือมีบทบรรยาย บทเจรจา
และบทร้อง ประกอบกัน ภาษาที่ใช้จะมีลักษณะแบบ พูดทองแดงสำหรับบทร้องนั้นจะมีลักษณะเฉพาะแบบหนึ่ง
เรียกว่า เพลงและเพลงใช้เฉพาะแต่ละบทบาทของเรื่อง เช่น เดินป่าด้วยความร่าเริง
ใช้เพลงลมพัดชายเขา เดินทางด้วยความรีบร้อน ใช้เพลงดำเนิน เกี้ยวพาราสีใช้เพลงดอกดิน
ฯลฯ
|