สิ่งสำคัญคู่บ้านเมือง
พระแสงราชศัสตราประจำเมือง
มีมณฑลเมืองและจังหวัด ได้รับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง รวม ๓๒ แห่ง
มณฑลกรุงเก่าเป็นแห่งแรก ที่ได้รับพระราชทาน เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๔๔
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองพังงา ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๗๑ เมื่อครั้งพระองค์เสด็จ ฯ ประพาสมณฑลภูเก็ต
นับเป็นพระแสงองค์ที่ ๖ ในรัชสมัยของพระองค์และเป็นองค์สุดท้าย ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
ไม่มีการพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองอีก
พระแสงราชศัสตราประจำเมือง มีลักษณะเป็นดาบไทยฝีมือช่างทองหลวง มีความประณีตบรรจง
สมกับที่เป็นเครื่องราชูปโภค ที่พระราชทานไว้เป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ ทุกองค์จะตีจากเหล็กกล้าอย่างดีสีขาวเป็นมัน
ประกอบด้วยด้ามทองและฝักทอง
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองพังงา ทอดบนหมอนวางอยู่บนพานแว่นฟ้า ปลอกด้ามซ้ายจารึกว่า
๓๑/๔๐ มีความยาว ๑๐๓ เซนติเมตร ด้ามยาว ๓๑ เซนติเมตร ฝักยาว ๗๒ เซนติเมตร
ใบมีดยาว ๕๕ เซนติเมตร กว้าง ๒.๕ เซนติเมตร
วัดสุวรรณคูหา
เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพังงา มีประวัติความเป็นมายาวนาน พบโบราณวัตถุต่าง
ๆ ภายในวัด เช่น ขวานหิน เครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ ๓ -
๔ พันปี มีการใช้ถ้ำต่าง ๆ เป็นวิหาร สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป มีถ้ำสี่ถ้ำติดต่อกันเป็นเชิงชั้นงดงามมาก
วัดสุวรรณคูหา อยู่ในเขตตำบลกระโสม อำเภอตะกั่วทุ่ง ชาวบ้านเรียกว่า
วัดถ้ำ มีถ้ำหลายถ้ำที่สำคัญคือ ถ้ำใหญ่ ถ้ำมืด และถ้ำแก้ว
- ถ้ำใหญ่
อยู่ทางตอนล่างสุด เวลาจะเข้าถ้ำอื่น ๆ จะต้องผ่านถ้ำนี้เสมอ มีขนาดกว้างใหญ่กว่าถ้ำอื่น
คือกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๔๐ เมตร พื้นถ้ำเรียบเสมอกัน เพดานมีลักษณะโค้งครึ่งวงกลม
เหมือนประทุนเรือตลอดความยาวของถ้ำ ประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องถ้วยฐานเชิง
ลายครามและเบญจรงค์ชนิดต่าง ๆ ประหนึ่งเป็นดอกไม้ ดวงดาว บ้างก็เป็นดาวล้อมเดือนอย่างสวยงาม
ถ้ำใหญ่ใช้เป็นวิหาร มีพระพุทธรูปปูนปั้นต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่หลายองค์ ที่สำคัญและมีลักษณะสวยงามคือ
พระพุทธไสยาสน์ ขนาดองค์พระยาว ๗ วา ๒ ศอก พระนาคปรก และพระปรางค์บรรจุอัฐิ
โบราณสถานและโบราณวัตถุดังกล่าว พระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน)
เจ้าเมืองตะกั่วทุ่งได้สร้างขึ้นใหม่บ้าง บูรณะซ่อมแซมของเดิมบ้าง เสร็จแล้วฉลองสมโภชน์
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๑
- ถ้ำแจ้ง
เป็นถ้ำตอนบน มีลักษณะเป็นลานกว้างสว่างโล่ง ที่ผนังถ้ำด้านหนึ่งมีจารึกพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์
และพระบรมวงศานุวงศ์ ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์
- ถ้ำมืด
อยู่ถัดออกไปจากถ้ำแจ้ง มีหินงอกหินย้อยเหมาะสำหรับการท่องเที่ยว
- ถ้ำแก้ว
อยู่ทางด้านขวามือของถ้ำแจ้ง เป็นถ้ำขนาดเล็กมีพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ประดิษฐาน
อยู่บนอาสนะสูง ฝีมือช่างรุ่นเดียวกับถ้ำใหญ่
ศิลปกรรมและงานช่างท้องถิ่น
ประติมากรรม
เป็นงานที่เกี่ยวกับงานปั้นงานแกะสลัก งานหล่อโลหะ อันเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นมีลักษณะเฉพาะตัว
เป็นศิลปฝีมือสกุลช่างโบราณที่ยังเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบัน งานประติมากรรมที่สำคัญของจังหวัดพังงาคือ
- พระพุทธรูปปูนปั้นปางป่าเลไลย์
ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดประชุมโยธี อำเภอเมือง ฯ
- พระพุทธรูปทองเหลือง
พระยาบริรักษ์ภูธร (ขำ) อดีตเจ้าเมืองพังงาเป็นผู้สร้าง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถวัดประพาสประเจิมเขต
อำเภอเมือง ฯ
- พระพุทธรูปในวัดสุวรรณคูหา
มีอยู่สี่องค์ด้วยกันคือ พระพุทธไสยาสน์ที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดพังงา
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นพระประธานในเขตสีมาเก่าในถ้ำ
และพระพุทธรูปปางรำพึงถวายเนตร ก่อด้วยอิฐถือปูนจำนวนสององค์
- พระพุทธรูปพระประธานห้าองค์
ประดิษฐานในอุโบสถวัดสราภิมุข อำเภอเมือง ฯ สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- พระประธานในอุโบสถวัดมงคลสุทธาวาส
อำเภอเมือง ฯ ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรัทธาราม ตำบลมะรุ่ย
- พระพุทธรูปยืนวัดศรัทธาราม
(หลวงพ่อด้วน) อำเภอทับปุด สูง ๓๙ นิ้ว วัดรอบองค์พระได้ ๑๗ นิ้ว
น้ำหนักประมาณ ๕๐ กิโลกรัม สันนิษฐานว่า หล่อด้วยเงินยวง
- พระพุทธรูปหล่อด้วยดีบุกวัดหาดทรายสมบูรณ์
อำเภอท้ายเหมือง มีตำนานกล่าวว่าเป็นพระพุทธรูปที่สร้างโดยหญิงสองพี่น้องในตระกูล
ณ ตะกั่วทุ่ง โดยทั้งสองได้สะสมแร่ดีบุกไว้คราวละเล็กละน้อย จนพอที่จะหล่อพระพุทธรูปได้
ผู้เป็นพี่ได้หล่อพระพุทธรูปปางอ้มบาตรในเดือนสิบเอ็ด จึงได้ชื่อว่าพระพุทธรูปเดือนสิบเอ็ด
ส่วนผู้น้องได้หล่อพระพุทธรูปปางห้ามมารในเดือนห้า จึงได้ชื่อว่า พระพุทธรูปเดือนห้า
- เทวรูปพระนารายณ์สมัยศรีวิชัย
อยู่ที่วัดนารายณิการาม อำเภอกะปง
- ประติมากรรมรูปนางสีดา
อยู่ที่วัดนารายณิการาม อำเภอกะปง
จิตรกรรม
กลุ่มชนที่เคยอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดพังงา ได้สร้างงานจิตรกรรมไว้ตามสถานที่ต่าง
ๆ เป็นงานจิตรกรรมท้องถิ่น นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นสำคัญยิ่งของชาวพังงา
งานจิตรกรรมที่สำคัญในบริเวณอ่าวพังงาได้แก่
- ภาพเขียนสีเพิงผาเขาพัง
เขาพังอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ที่หน้าผามีภาพเขียนรูปคนลงสีน้ำตาลแดง
เส้นสีแดงเป็นเค้าโครงร่างภายนอก และภาพลายเส้นเรขาคณิต เป็นเส้นคู่คล้ายรูปสามเหลี่ยมและลายเส้นนามธรรมอื่น
ๆ ซึ่งเป็นเส้นคู่
- ภาพเขียนสีที่เพิงผาเขาเขียน
เขาเขียนอยู่ในอ่าวพังงา ที่เพิงผามี ภาพเขียนสีรูปคนในลักษณะเคลื่อนไหว ภาพสัตว์เลื้อยคลาน
ภาพลายเส้นเรขาคณิต ภาพปลา และสัตว์น้ำอื่น ๆ
- ภาพเขียนสีที่เพิงผาถ้ำนาค
ถ้ำนาคอยู่ในเขตอำเภอตะกั่วทุ่ง ที่เพิงผามีภาพเขียนสีลายเส้นรูปร่างคล้ายนก
และภาพสัตว์อื่นที่คล้ายนกหรือปลา ภาพลายเส้นคล้ายสิ่งของหรือเครื่องมือเครื่องใช้อย่างหนึ่ง
ภาพส่วนบนของคนครึ่งตัว แสดงโครงร่างเป็นเส้นโค้งสวยงาม แต้มด้วยอิฐสีแดง
ภาพสัตว์เลื้อยคลานวาดด้วยสีทึบ
- ภาพเขียนสีที่ถ้ำสำ
ถ้ำสำอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ในถ้ำมีภาพเขียนสมัยประวัติศาสตร์เป็นภาพคน นก
ผีเสื้อ สัตว์สี่เท้า ดอกไม้และกิ่งไม้ ภาพพระพุทธรูป ยักษ์ กระถางดอกไม้
บัลลังก์ เขียนด้วยหมึกสีแดง ดำ ขาว และสีส้ม
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษาพังงา
ได้แก่สำเนียงพื้นบ้านของชาวจังหวัดพังงา ซึ่งจัดเป็นภาษาถิ่นภาคใต้ที่มีความแตกต่าง
จากภาษากลางและภาษาใต้กลุ่มอื่น ๆ ในด้านระบบหน่วยเสียง หน่วยคำ และกลุ่มคำอยู่บ้าง
แต่โครงสร้างหลักหรือลักษณะส่วนใหญ่ ยังคล้ายคลึงกัน สำเนียงภาษาถิ่นพังงามีลักษณะเฉพาะสรุปได้ดังนี้
- เรียงตำแหน่งคำสลับกับภาษาภาคกลาง เช่น บ่อน้ำ เป็นน้ำบ่อ
- ออกเสียงวรรณยุกต์สลับกับภาษากลางในบางคำ ทำให้คำบางคำมีความหมายต่างกัน
ภาษาถิ่นพังงาใช้กันอยู่ทั่วไปในทุกท้องที่ของจังหวัดพังงา โดยใช้เฉพาะภาษาพูดเท่านั้น
ปัจจุบัน ภาษาถิ่นพังงา
เริ่มสูญหายไปเป็นจำนวนมาก
จารึก
จารึกที่เก่าแก่ที่สุดของพังงาที่พบเป็นจารึกโบราณภาษาทมิฬ พบที่อำเภอตะกั่วป่า
นอกจากนั้นยังมีจารึกที่เกี่ยวข้อง กับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองพังงา
ที่สำคัญได้แก่
- จารึกเขาพระนารายณ์
พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๕ เป็นตัวอักษรทมิฬโบราณ เป็นภาษาทมิฬประเภทร้อยแก้ว อาจสลักขึ้นในพุทธศตวรรษที่
๑๒ หรือ ๑๔ รูปลักษณะเป็นแผ่นจารึกทำจากหิน กว้าง ๕๕ เซนติเมตร สูง
๕๐ เซนติเมตร อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกลาง
จังหวัดภูเก็ต
- จารึกวัดสุวรรณคูหา
พบที่วัดสุวรรณคูหา อำเภอตะกั่วทุ่ง เก็บรักษาไว้ที่ถ้ำใหญ่ โดยได้หล่อต่อไว้กับแท่นซีเมนต์สี่เหลี่ยม
อีกสามด้านทำคำแปลเป็นภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ลักษณะตัวอักษรเป็นตัวอักษรไทยโบราณ
สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นภาษาไทยประเภทร้อยแก้ว
รูปลักษณะเป็นรูปใบเสมาทำจากหินชนวนกว้างประมาณ ๘๕ เซนติเมตร สูงประมาณ ๑
เมตร สภาพสมบูรณ์ เป็นบันทึกของพระยาบริสุทธิโลหะภูมินทราธิบดี (ถิน) ผู้สำเร็จราชการเมืองตะกั่วทุ่ง
จารึกไว้เมื่อคราวที่ได้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒
- จารึกวัดประพาสประจิมเขต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จารึกไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดประพาสประจิมเขต
ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประพาสเมื่อครั้งเสด็จประพาสแหลมมลายู จารึกด้วยอักษรไทยโบราณ
เป็นภาษาไทยประเภทร้อยแก้ว รูปลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำจากหินชนวน
อยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นจารึกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสวัดประพาสประจิมเขต
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๔
ตำนาน
จังหวัดพังงามีตำนานอันเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันต่อ ๆ มา มักเป็นเรื่องของภูมินามท้องถิ่นซึ่งมีพื้นฐานจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีต
บางเรื่องอาจมาจากจินตนาการโดยอาศัยข้อมูลรอบตัวที่ปรากฏอยู่เป็นองค์ประกอบ
- ตำนานเขาช้าง
เขาช้างตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ ปัจจุบันมีศาลากลางจังหวัดตั้งอยู่ด้านหน้า
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมามีความว่า ตายมดึง ชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางมาอาศัยอยู่กับตาโจงโดง
ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และได้ลูกสาวตาโจงโดงเป็นภรรยา วันหนึ่งมีโขลงช้างป่าเข้ามาทำลายไร่อ้อยที่ปลูกไว้
ตายมดึงโกรธมากจึงเอาหอกไล่แทงช้างป่า ขณะนั้นตางุ้ม พ่อค้าชาวไชยา ได้นำช้างบรรทุกสินค้าเพื่อนำไปขายที่ตะกั่วป่า
และขณะที่หยุดพักอยู่ระหว่างทาง เป็นเวลาเดียวกันกับที่ตายมดึงไล่ช้างป่ามา
ทำให้ช้างของตางุ้มตกใจวิ่งปะปนไปกับฝูงช้างป่าด้วย ตายมดึงไล่ช้างป่าผ่านบ้านต่าง
ๆ มาหลายแห่ง ในที่สุดก็ไล่ทันช้างป่า
ตัวหนึ่ง
จึงได้เอาหอกแทงจนช้างตายกลายเป็นภูเขาช้าง
รอยที่ถูกแทงกลายเป็นถ้ำคือ ถ้ำพุงช้าง
แกได้ตัดงาช้างไปพิงไว้ที่เขาลูกหนึ่งคือ เขาพิงงา
ฝ่ายตางุ้มได้ตามหาช้างของตนมาพบช้างของตนตายก็เสียใจมาก นั่งลงข้างศพช้างแล้วกลั้นใจตายกลายเป็นเขางุ้ม
ทั้งหมดอยู่ในเขตอำเภอเมือง
ฯ
- ตำนานเขาตาปู
เขาตาปูเป็นชื่อเกาะเล็ก ๆ ในอ่าวพังงาเป็นภูเขาหินปูนที่มีลักษณะพิเศษคือ
มีฐานเล็ก แต่ตัวภุเขามีขนาดใหญ่และสูง เป็นรูปคล้ายทรงกระบอก มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีชายหาปลาคนหนึ่ง
ออกไปทอดแหจับปลาได้ปลามาตัวเดียว ครั้งสุดท้ายทอดแหไปได้ตาปูมาตัวหนึ่ง แกจึงหยิบขึ้นมาแล้วเหวี่ยงทิ้งลงในน้ำ
และทอดแหต่อไปกี่ครั้งก็ติดตาปูตัวเดิมแกโมโหมาก ใช้มีดฟันตาปูขาดกระเด็นไปปักที่กลางทะเล
กลายเป็นเขาตาปูมาตั้งแต่นั้น
- ตำนานทุ่งตาโงก
ทุ่งตาโงกเป็นชื่ออำเภอเมือง ฯ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อตายมดึง ในตำนานเรื่องเขาช้าง
ได้ตามช้างมาถึงบริเวณที่เป็นทุ่งตาโงกในปัจจุบัน ครั้งนั้นบริเวณดังกล่าวรกมาก
และเกิดฝนตกหนัก ทำให้รอยเท้าช้างที่ตามมาหายไป ตายมดึงจึงขึ้นไปบนภูเขาลูกหนึ่งเป็นภูเขาที่ไม่มีต้นไม้
มีแต่หญ้าคาปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ตายมดึงได้ยืนชะโงกดูจากบนเขาลูกนั้นว่า ช้างเดินไปในทิศทางใด
ต่อมาบริเวณนั้จึงได้ชื่อว่า ทุ่งตาโงก
- ตำนานเขานางหงส์
เขานางหงส์เป็นชื่อเขาลูกหนึ่งที่กั้นอยู่ระหว่างอำเภอเมือง ฯ กับอำเภอทับปุด
มีเรื่องเล่าสืบกันมาว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีชายสองคนเป็นเพื่อนกัน คนหนึ่งชื่อ
เต่า บ้านอยู่ทางฝั่งพังงา อีกคนหนึ่งชื่อ เฒ่า บ้านอยู่ทางฝั่งทับปุด
มีอายุมากกว่าคนแรกหลายปี นายเต่ามีลูกสาวคนหนึ่งชื่อ นางหงส์ เป็นสาวสวย
เป็นที่หมายปองของคนหนุ่มทั่วไป แต่นางหงส์ก็ไม่ได้รักผู้ใด นายเฒ่าเห็นว่าลูกสาวเพื่อน
สวยงามก็ชอบใจจึงออกปากขอต่อนายเต่า นายเต่าก็ยกให้ พอถึงวันฤกษ์ดีนายเฒ่าก็ยกขบวนขันหมากมายังบ้านนายเต่า
ฝ่ายนางหงส์เมื่อได้ยินว่ามีคนยกขบวนขันหมากมาสู่ขอตน จึงสืบถามได้ความว่าชื่อนายเฒ่า
เข้าใจว่าเป็นคนแก่ ก็เกิดความอับอายและโกรธมาก จึงขว้างขันหมากทิ้งไปกลายเป็น
เขาขันหมาก
ฝ่ายนายเฒ่าเห็นเหตุการณ์เช่นนั้นก็เกิดความโกรธเช่นกัน จึงเตะกะทะขนมคว่ำลงกลายเป็น
เขากะทะคว่ำ
หลายวันต่อมานางหงส์ได้ไปเที่ยวงานแห่งหนึ่ง ได้เห็นนายเฒ่ายังเป็นหนุ่มอยู่ไม่ได้เป็นคนแก่ดังที่ตนเข้าใจ
ก็เกิดความเสียใจ จึงได้จัดพานข้าวตอกดอกไม้ ไปขอขมานายเฒ่า แต่นายเฒ่าไม่ใยดี
จึงทิ้งพานดังกล่าวต่อหน้านางหงส์ ทำให้นางหงส์รู้สึกอับอายเป็นอย่างยิ่ง
จึงวิ่งกลับบ้านไปร้องไห้จนเหนื่อยอ่อน ล้มลงขาดใจตายในทันทีในที่แห่งหนึ่ง
กลายเป็นเขานางหงส์
ส่วนนายเฒ่าเองเมื่อทราบว่านางหงส์ตาย ก็รู้สึกเสียใจมาก ในที่สุดก็ตรอมใจตายไปด้วยกลายเป็น
เขาเฒ่า
- ตำนานเขาเขียน
เขาเขียนเป็นภูเขาลูกหนึ่งในอ่าวพังงา ใกล้กับเกาะปันหยีเป็นภูเขาที่มีเพิงผาเล็ก
ๆ อยู่แห่งหนึ่ง ที่หน้าผามีภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ ภาพเขียนนี้เป็นที่มาของตำนานเขาเขียน
ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าเงาะคือ พระสังข์ได้หนีพันธุรัตน์ มาถึงเขาแห่งนี้เมื่อนางพันธุรัตน์ตามมาทันจึงร้องเรียก
ให้เจ้าเงาะลงมาแต่เจ้าเงาะไม่ยอมลงมา
การละเล่นพื้นบ้านและนาฎศิลป์
เพลงพื้นบ้าน
หมายถึงเพลงของชาวบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นต่างก็ประดิษฐ์แบบแผน
การร้องเพลงของตนไปตามความนิยม และสำเนียงภาษาที่เพี้ยนแปร่งแตกต่างกัน เพลงเหล่านี้ได้ฝังตัวติดอยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน
ติดต่อกันมาเป็นชั้น ๆ อย่างแน่นแฟ้นตามถิ่นที่อยู่นั้น ๆ เป็นเพลงที่ชาวบ้านทั่วไป
โดยวิธีถ่ายทอดแบบปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่รู้ที่มาของเพลงและเป็นเพลงที่ชาวบ้าน
ในแต่ละท้องถิ่นใช้ร้องเล่นกันเฉพาะในถิ่นนั้น ๆ
เพลงพื้นบ้านของไทยเริ่มมีมาแต่สมัยใดยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่เชื่อว่าเพลงพื้นบ้านของไทย
ได้มีมาคู่กับสังคมไทยเป็นเวลานานมาแล้ว หลักฐานเกี่ยวกับการเล่นเพลงพื้นบ้านมีปรากฎในสมัยอยุธยา
พบชื่อเพลงเรือ เพลงเทพทอง ในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์ ซึ่งพระมหานาควัดท่าทรายแต่งขึ้น
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์
ในสมัยรัตนโกสินทร์ เพลงพื้นบ้านปรากฎในจารึกวัดโพธิ และในวรรณคดีต่าง ๆ ในสมัยรัตนโกสินทรเพลงที่ปรากฎคือ
เพลงปรบไก่ เพลงเรือ สักวา แอ่วลาว ไก่ปลา และเพลงเกี่ยวข้าว ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา
มีการเล่นเพลงเรือ สักวา ในเทศกาลทอดกฐิน มีเพลงฉ่อย ลิเล ลำตัด ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นต้นมา จึงมีการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับเพลงพื้นบ้านไว้เป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบัน
เพลงพื้นบ้านภาคกลาง มีเพลงอีแซว ปรบไก่ เพลงพวงมาลัย ฯลฯ เพลงพื้นบ้านภาคใต้มี
เพลงบอก เพลงเรือ เพลงรองเง็ง ฯลฯ เพลงพื้นบ้านภาคอีสาณมี เพลงโคราช
เซิ้งหมอลำ ฯลฯ เพลงพื้นบ้านภาคเหนือมี เพลงซอ เพลงจ้อย ฯลฯ
เพลงพื้นบ้านจะรวมตลอดไปถึงเพลงกล่อมเด็กของภาคต่าง ๆ ด้วย
เพลงพื้นบ้านมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรัก ความเศร้าโศก ความพลัดพราก ความผิดหวัง
เรื่องเพศ สังคมและการเมือง เป็นต้น เพลงพื้นบ้านโดยทั่วไปมีที่มาสามทางด้วยกันคือ
- จากพิธีกรรมและความเชื่อต่าง ๆ ของมนุษย์
- จากการรวมกลุ่มกันในการประกอบกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การประกอบอาชีพการงาน
เป็นต้น
- จากแรงดันภายในจิตใจของมนุษย์เช่น ดีใจ เสียใจ และปรารถนาทางเพศ
เพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันอยู่ในจังหวัดพังงา มีอยู่เป็นจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่น
เพลงพื้นบ้านของจังหวัดพังงาคือ ร็องเง็ง
เป็นเพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันในหมู่ชาวไทยอิสลาม ในจังหวัดภาคใต้ เดิมที่ร้องเป็นภาษามลายูพื้นเมือง
ต่อมาได้มีการแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาไทย แต่ทำนองยังเป็นมลายูพื้นเมือง แถบจังหวัดพังงา
ภูเก็ตเรียกว่า เพลงตันหยง
การร้องและเล่น จะจัดเป็นคณะเช่นเดียวกับคณะรำวง มีเครื่องดนตรีประกอบคือ
ไวโอลิน และกลองรำมะนา
ตัวอย่างเพลงร็องเง็ง
ตันหยงตันหยง |
กำปงแลน้องยังดอกกาบลาว |
ยกขึ้นแต่งตัวแต่หัวเชา |
นกบินหลาเล่าข่าวน่าสงสาร |
ใครไปบางกอกมั่ง |
บอกให้ร้อยชั่งน้องอย่าอยู่นาน |
นกบินหลาเล่าข่าวน่าสงสาร |
ทำให้บังนี้รำคาญใจ |
ยามค่ำแลยามค่ำ |
เสียงหริ่งเรไรมันร่ำอยู่หริ่ง
ๆ หริ่ง |
ข้องใจถึงน้องของบังจริง
ๆ |
บังเอาหลังไปพิงที่ปากตู |
กระบี่ต้องเป็นสอง |
ถ้าไม่ได้ด้วยน้องบังก็ไม่อยู่ |
บังเอาหลังไปพิงที่ปากตุ |
น้องสาวไม่รู้หัวใจบัง |
บุงาตันโย้ง |
กำปงแลน้องโย้งต้นแหม |
บังไปไม่รอดเสียแล้วเด้ |
ถูกเหนน้ำตาปลาดุยง |
ตันหยงตันหยง |
กำปงแลน้องโย้งต้นผักกาด |
บังนี้เดินอยู่ริมหาด |
เห็นน้องคิ้ววาดนั่งต่อยหอย |
ฯลฯ
เพลงจังหวะร็องเง็งที่มีผู้รู้จักและนิยมเต้นส่วนใหญ่ มีอยู่เจ็ดเพลงคือ เพลงลาฆูดูวอ
เพลงลานัง เพลงปูโจ๊ะบีซัง เพลงจินตาซายัง เพลงอาเนาะดีดี้
เพลมะอีนังซาวา และเพลงมะอีนังลามา ทำนองเพลงร็องเง็งเรียกว่า
ลาฆู ทำนองเพลงที่นิยมเล่นในจังหวัดพังงา และจังหวัดอื่น ๆ ในแถบฝั่งทะเลตะวันตก
ได้แก่บุหงา ตันหยง ซีนาโดง ยาโงง สัมปันหยา ปารีหาดยาว ปรีสตูล
ลาฆูตัว ฯลฯ เนื้อร้องเพลงร็องเง็งในทุกท้องที่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
|