|
พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐาน
มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ถ้ำและการฝังศพของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาเฒ่า
ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์บริเวณจังหวัดพังงา
ในช่วงสมัยที่ใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจากการศึกษาซากฟอสซิลของหอยบริเวณถ้ำและเพิงผาตามเกาะและหินโผล่ในอ่าวพังงา
พบว่าเมื่อประมาณ ๑๑,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลลดต่ำในช่วงยุคน้ำแข็ง เกาะแก่งในอ่าวพังงาในปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่บนที่ดอน
ต่อมาในราว ๘,๕๐๐ - ๗,๕๐๐ ปี มาแล้ว น้ำทะเลค่อย ๆ ขยับตัวสูงขึ้นกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยปานกลางในปัจจุบันถึง
๔๕ เมตร และต่อมาในช่วง ๕,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว น้ำทะเลขึ้น ๆ ลง ๆ สูงและต่ำกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางปัจจุบัน
จนในช่วง ๓,๗๐๐ - ๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลค่อนข้างจะคงตัวแต่ยังสูงกว่าปัจจุบัน
๑.๕ - ๒.๕ เมตร จนเมื่อประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ระดับน้ำทะเลยังสูงกว่าปัจจุบัน
๑.๕ เมตร
จากการค้นพบดังกล่าวทำให้ทราบว่ามีมนุษย์อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดกระบี่ และพังงา
เมื่อประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยได้อาศัยอยู่ตามเพิงผาและถ้ำของเกาะต่าง ๆ
ในเวิ้งอ่าวพังงา มีหลักฐานสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบคือ
- ภาพเขียนบนเพิงผาหินที่เกาะปันหยี
บ.เกาะปันหยี ตำบลเกาะปันหยี พบเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ บันทึกลายเส้นและรายงานโดยชาวฝรั่งเศษ
- ภาพเขียนบนเพิงผาหินเขาเขียน
ตำบลเกาะปันหยีค้นพบโดยชาวฝรั่งเศษคนเดียวกับภาพแรก ต่อมาได้มีผู้วินิจฉัยว่าเป็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์
- ภาพเขียนบนเพิงผาเขาระย้า
เขาเกาะทะลุ ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง กรมศิลปากรสำรวจไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
- ภาพเขียนสีบนเพิงเขาพระอาดเฒ่า
บ้านพระอาดเฒ่า อำเภอตะกั่วทุ่ง เป็นภาพเขียนสีลายเส้น มีการระบายสีและสะบัดสี
สีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีแดงและดำ มีสีอื่นบ้างแต่เป็นส่วนน้อยได้แก่ สีส้มเหลือง
สีเทา สีน้ำเงิน สีขาว และสีม่วง ภาพส่วนใหญ่จะเป็นภาพคนและสัตว์ ที่บ่งชี้ถึงเรื่องราวของกลุ่มชนชาวน้ำ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ของภาคใต้ ที่รู้จักใช้พาหนะในการสัญจรทางน้ำได้แก่
แพและเรือ และรู้จักใช้เครื่องมือในการจับสัตว์น้ำเป็นอาหาร
ภาพเขียนสีดังกล่าว มีลักษณะคล้ายกับภาพเขียนสี ที่พบในแหล่งชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์
ในแหล่งอื่นของประเทศไทย ซึ่งมีอายุหลายพันปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังพบแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นจำนวนมาก
ตามถ้ำเพิงผาโดยเฉพาะการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่เขาเฒ่า
ตำบลบางเตย อำเภอเมือง ฯ โครงกระดูกดังกล่าวฝังไว้โดยหันศีรษะไปทางทิศตะวันออก
บริเวณสะโพกด้านซ้ายพบเครื่องมือหินกระเทาะหนึ่งชิ้น ลักษณะการฝังมีการสับกระดูกให้ขาดเป็นท่อน
ๆ
ในมิลินทปัญหา กล่าวว่า ทางฝั่งทะเลตะวันตกมีเมืองท่าเมืองหนึ่งชื่อเมืองตะโกลา
ซึ่งนักประวัติศาสตร์บางท่านเชื่อว่า เป็นเมืองในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอคระบุรีในปัจจุบัน
เพราะได้พบลูกปัด เครื่องสังคโลก เครื่องปั้นดินเผา ที่มีลักษณะเดียวกับที่พบที่แหลมโพธิ์
อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี แหลมโพธิ์นี้นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่า
เคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัยมาก่อน
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
จากแผนที่ในช่วงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ ปรากฎชื่อเมืองพังงา กับเมืองนครศรีธรรมราช
จากแผนที่เก่าจะพบว่า บริเวณที่เป็นจังหวัดพังงาในปัจจุบัน เป็นเส้นทางการแผ่ขยายของพุทธศาสนาจากอินเดีย
เข้าสู่อาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรศรีวิชัย นอกจากนี้ยังปรากฎชื่อเมืองกระบุรี
ซึ่งปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดระนอง ตามประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๗๐๐
เศษ ที่ใช้ตราหมูเป็นตราประจำเมืองของสิบสองนักษัตร จึงตั้งสมมุติฐานได้ว่า
ในเขตจังหวัดพังงาในอดีต เคยเป็นที่ตั้งของเมืองเก่ามาก่อน ส่วนที่ตั้งจังหวัดพังงา
อาจตั้งเป็นเมืองมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ โดยมีพัฒนาการที่เกี่ยวกับสามเมืองคือ
เมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า และเมืองตะกั่วทุ่ง
เมืองพังงา
แต่เดิมน่าจะเรียกว่า เมืองภูงา
ตามชื่อภูเขา (หรือเขาพิงงา) ซึ่งตั้งอยู่ในตัวจังหวัดในปัจจุบัน เมืองนี้ขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้เานภาลัย มีชื่อเมืองภูงาปรากฎอยู่ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช
อาจจะตั้งชื่อให้คล้องจองเป็นคู่กับเมืองภูเก็ตมาแต่เดิมก็ได้
ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลาง เมืองตะกั่วป่า และเมืองตะกั่วทุ่ง
แตก ผู้คนจากเมืองดังกล่าวได้อพยพไปอยู่ที่ปากน้ำพังงา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ทรงเห็นความสำคัญของชัยภูมิที่ปากน้ำพังงา จึงโปรดเกล้า ฯ ให้รวบรวมผู้คนตั้งเป็นเมืองขึ้นมาเรียกว่า
เมืองถลางที่พังงา
โดยมีพระยาวิเชียรภักดี (เจิม) เป็นผู้ดูแล
พ.ศ.๒๓๖๗ ได้อพยพผู้คนกลับเมืองถลางตามเดิม ส่วนผู้คนที่เหลืออยู่ที่เมืองพังงานั้น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยาบริรักษ์ภูธร
(กลับ) เป็นเจ้าเมืองพังงา จนถึงปี พ.ศ. ๒๓๘๔
จึงทรงถอดออกจากเจ้าเมือง แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้ พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) บุตรชายของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช
(น้อย) อดีตเจ้าเมืองไทรบุรีเป็นเจ้าเมืองพังงา และพระยาเมืองพังงา และยกเมืองพังงาขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นโท
ให้เมืองถลาง เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ขึ้นตรงต่อเมืองพังงา
พ.ศ.๒๔๐๔ พระยาบริรักษ์ภูธร (แสง) ถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงแต่งตั้งพระยาเสนานุชิต (นุช) ไปเป็นเจ้าเมืองพังงาแทน แต่พระยาเสนานุชิต
(นุช) อ้างว่าตนมีความคุ้นเคยกับเมืองตะกั่วป่ามากกว่าจึงทรงแต่งตั้งพระยาภักดีนุชิต
(ขำ) ปลัดเมืองพังงาขึ้นเป็นเจ้าเมืองพังงาแทนบิดา ให้เป็นที่พระยาอนุรักษ์ภูธร
และทรงยกพระยาเสนานุชิต (นุช) เจ้าเมืองตะกั่วป่าให้มีบรรดาศักดิ์เท่าพระยาบริรักษ์ภูธร
(แสง) ผู้เป็นพี่ชาย ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ ไร่ ยกฐานะเมืองตะกั่วป่าขึ้นเป็นหัวเมืองโทปกครองเมืองตะกั่วทุ่ง
เมืองถลาง
พ.ศ.๒๔๓๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฎิรูปการปกครองโดยแบ่งส่วนราชการเป็นกระทรวง
และโอนหัวเมืองปักษ์ใต้ทั้งหมดจากเดิมที่อยู่ในความรับผิดชอบของสมุหกลาโหม
ไปขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.๒๔๓๗ ให้รวมเมืองใกล้เคียงเข้าเป็นมณฑล โดยรวมหัวเมืองตะวันตกทั้งหกเมืองเป็นมณฑลภูเก็ต
ประกอบด้วย เมืองภูเก็ต ตรัง พังงา กระบี่ ตระกั่วป่า และระนอง
พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ขยายเขตการปกครองของเมืองพังงาเพิ่มขึ้น โดยยุบเมืองตะกั่วทุ่งให้ขึ้นกับเมืองพังงา
และให้มีฐานะเป็นอำเภอ ยกเมืองหน้าด่านมะรุ่ยซึ่งอยู่ที่บ้านทับปุดขึ้นเป็นอำเภออทับปุด
ยกฐานะกลาง เมืองพังงา เป็นอำเภอเมือง ยกชุมชนเข่ากล้วยเป็นอำเภอทุ่งมะพร้าว
และต่อมาเมื่อชุมชนท้ายเหมืองได้ขยายตัวใหญ่ขึ้น จึงได้ยกฐานะเป็นกิ่างอำเภอท้ายเหมือง
ขึ้นกับอำเภอทุ่งมะพร้าว ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ จนนถึงปี ๒๔๕๘ จึงได้ยกกิ่งอำเภอท้ายเหมืองขึ้นเป็นอำเภอท้ายเหมืองและลดฐานะอำเภอทุ่งมะพร้าวเป็นกิ่งอำเภอ
และในที่สุดได้ลดฐานะลงเป็นตำบลทุ่งมะพร้าวขึ้นกับอำเภอท้ายเหมือง
พ.ศ. ๒๔๕๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงสถานะเมืองเป็นจังหวัด
เมืองพังงาจึงเปลี่ยนสถานะเป็นจังหวัดพังงา
เมืองตะกั่วป่า
จากหลักฐานในคัมภีร์มิลินทปัญหา ซึ่งแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ.๕๐๐ ชาวชมพูทวีปได้กล่าวถึงเมืองตกโกล
ซึ่งแปลว่า ตกล เป็นภาษาสิงหล แปลว่ากระวาน ซึ่งเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง ดังนั้นเมืองนี้จึงน่าจะเป็นเมืองที่มีเครื่องเทศประเภทนี้มาก
เพราะในสมัยโบราณพ่อค้าชาวอาหรับ จะค้าขายเครื่องเทศกับชาวชมพูทวีป เพื่อนำไปค้าขายยังประเทศในยุโรปอีกต่อหนึ่ง
ต่อมาคำว่า ตโกล ได้เปลี่ยนไปเป็น ตะโกลา
มีแนวความคิดเกี่ยวกับชื่อเมืองนี้อีกแนวหนึ่งว่า ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง
ฯ พระองค์ได้ขยายอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยลงมาทางใต้ และได้ผนวกดินแดนตั้งแต่เมืองตะโกลา
ตลอดไปถึงดินแดนแหลมมลายูเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย ทำให้เมืองตะโกลาถูกเรียกตามสำเนียงไทยว่าเมืองตะกั่วป่า
เพราะชนชาวไทยได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งทางใต้มากขึ้น
ชื่อเมืองตะกั่วป่าได้ปรากฎในประวัติศาสตร์อีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
(พ.ศ.๒๑๔๘ - ๒๑๖๓) โดยมีชื่ออยู่ในหนังสือกฎหมายเก่าว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายกลาโหม
พ.ศ.๒๑๙๙ - ๒๒๓๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดไปขึ้นกับฝ่ายกรมท่า
ดังนั้น เมืองตะกั่วป่าจึงเป็นหัวเมืองชั้นตรีจึงขึ้นกับกรมท่าตั้งแต่นั้นจนตลอดสมัยอยุธยา
พ.ศ.๒๓๑๐ - ๒๓๒๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองตะกั่วป่าไม่กระทบกระเทือนจากการสงครามมากนัก
และมีเจ้าเมืองหรือผู้รักษาราชการตลอดมา
พ.ศ.๒๓๒๘ ต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ครั้งสงครามเก้าทัพ พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายใต้
ทั้งเมืองตะกั่วป่า และตะกั่วทุ่งเสียแก่พม่า เมื่อสิ้นศึกแล้วจึงได้รับโปรดเกล้า
ฯ ให้เมืองตะกั่วป่าขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองถลาง
พ.ศ.๒๓๕๒ พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายใต้อีก ได้เผาผลาญทำลายเมืองตะกั่วป่า
เสียหายมากจนยากที่จะบูรณะให้กลับสู่สภาพเดิมได้ พระยาเสนานุชิต (นุช) จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งที่ใหม่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเก่า
เพราะมีชัยภูมิดีมีแม่น้ำตะกั่วป่ากั้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออก และมีคลองปีกไหลมาบรรจบกับแม่น้ำตะกั่วป่าจากด้านทิศตะวันตก
กั้นตัวเมืองไว้เกือบรอบด้าน ได้รวบรวมผู้คนที่หนีภัยจากกองทัพพม่าให้กลับมาอยู่บริเวณตัวเมืองใหม่
และในปี พ.ศ.๒๓๙๐ ได้สร้างวัดใหม่กำแพงแลงขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
ต่อมาได้ชื่อว่าวัดเสนานุรังสรรค์ (วัดใหม่)
พ.ศ.๒๓๘๔ ได้ย้ายตัวเมืองตะกั่วป่าไปอยู่บริเวณบ้านตลาดเก่า
พ.ศ.๒๔๐๔ เมืองตะกั่วป่าได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเมืองโทตามเดิม ระหว่างปี
พ.ศ.๒๔๐๔ - ๒๔๓๓ เมืองพังงาและเมืองถลาง เจ้าเมืองมีอำนาจมากเพราะเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองและมีหน้าที่ดูแลเมืองอื่น
ๆ ด้วย โดยเฉพาะเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองภูเก็ต และเมืองถลาง
พ.ศ.๒๔๓๗ มีการแก้ไขการปกครองมณฑลฝ่ายตะวันตก โดยรวมหัวเมืองแถบฝั่งทะเลตะวันตกไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
เมืองตะกั่วป่ากับเมืองอื่น ๆ มี ภูเก็ต พังงา ถลาง ตรัง และระนอง จึงไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ต
พ.ศ.๒๔๔๔ ย้ายเมืองตะกั่วป่าไปตั้งที่เมืองใหม่ ตำบลเกาะคอเขา
พ.ศ.๒๔๕๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ยกเลิกเมืองเปลี่ยนเป็นจังหวัด
เมืองตะกั่วป่าได้ยกฐานะเป็นจังหวัดตะกั่วป่า
พ.ศ.๒๔๗๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกรวมทั้งไทย
จังหวัดตะกั่วป่าจึงถูกยุบเป็นอำเภอขึ้นอยู่กับจังหวัดพังงา
เมืองตะกั่วทุ่ง
ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชเรียกดินแดนแถบนี้ว่า ตะกั่วกลาง
สันนิษฐานว่าหมายถึงทุกกลุ่มชุมชนที่มีการขุดแร่ดีบุกในแถบนี้ ซึ่งน่าจะประกอบด้วยเมืองตะกั่วป่า
เมืองตะกั่วทุ่ง เมืองกระบุรี เมืองเกาะระ เมืองถลาง ฯลฯ
บริเวณที่เรียกว่า เมืองตะกั่วทุ่งในสมัยโบราณคือ บริเวณตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง
และบริเวณอำเภอตะกั่วทุ่งในปัจจุบัน เดิมเมืองนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ราบริมทะเลด้านนอก
ภายหลังได้แยกไปตั้งเป็นเมืองบางคลี่ ที่ปากน้ำบางคลี เพื่อเป็นสถานีค้าขายกับต่างประเทศ
ต่อมาได้มีการย้ายเมืองหลายครั้งโดยย้ายเข้ามาตามคลองบางคลีถึงบ้านนาแฝกข้ามทุ่งหญ้า
โดยเอาแม่น้ำนาเตยเป็นเส้นทาง ส่วนเมืองบางคลียังคงตั้งอยู่ที่ปากน้ำบางคลี
เป็นเมืองท่าของเมืองตะกั่วทุ่ง
พ.ศ.๒๓๒๘ พม่าตีเมืองตะกั่วทุ่งแตก ผู้คนจึงอพยพย้ายเมืองที่อยู่ริมทะเลไปรวมกับเมืองที่บางคลี่เป็นเมืองเดียวกัน
พ.ศ.๒๓๕๒ หลังจากพม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ด้านนอก (ฝั่งทะเลตะวันตก)
ผู้คนจึงพากันอพยพหลบหนีไปอยู่ทะเลด้านในริมอ่าวพังงาที่บ้านกระโสม เมื่อศึกพม่าเสร็จสิ้นลง
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ฯ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองตะกั่วทุ่งที่บ้านกระโสมและ
พระยาโลหะภูมิพิสัย (เจ้าขุนดำ) เป็นเจ้าเมืองตะกั่วทุ่ง ส่วนราษฎรบางพวกก็กลับมาอยู่ทางบางคลีตามเดิม
เพราะเป็นทำเลที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์กว่า จึงปรากฎชื่อในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชทั้งเมืองตะกั่วทุ่งและเมืองบางคลี
พ.ศ.๒๓๘๓ เมื่อมีการจัดตั้งหัวเมืองขึ้นใหม่ เมืองตะกั่วทุ่งยังคงตั้งอยู่ที่บ้านกระโสมตามเดิม
และเมืองบางคลียังเป็นเมืองที่ขึ้นกับเมืองตะกั่วทุ่งที่กระโสม
พ.ศ.๒๔๔๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ทรงมีพระบรมราชโองการว่าเมืองพังงากับเมืองตะกั่วทุ่งต่างก็เป็นเมืองเล็ก
มีพลเมืองไม่มากทั้งสองเมืองทั้งยังอยู่ใกล้ชิดติดต่อกัน เพื่อให้เป็นการง่ายและสะดวกในการปกครอง
จึงให้ยกเมืองตะกั่วทุ่งไปรวมเข้ากับเมืองพังงา ดังนั้นเมืองตะกั่วทุ่งจึงมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของพังงาตั้งแต่นั้นมา
โดยมีหลวงโลหะภูมิพิทักษ์เป็นนายอำเภอคนแรก
จังหวัดพังงาปัจจุบัน
จากเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จะเห็นได้ว่าจังหวัดพังงามีพัฒนาการมาจากการรวมเมืองเก่าทั้งสามเมืองคือ
เมืองพังงา เมืองตะกั่วป่า และเมืองตะกั่วทุ่ง เข้าด้วยกัน
|
|