มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดี
เมืองตะกัวป่า
ชุมชนโบราณในตะกั่วป่า หมายถึงชุมชนในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ลุ่มแม่น้ำตะกั่วป่า
เริ่มจากแหล่งโบราณคดีใกล้ต้นแม่น้ำตะกั่วป่า ในเขตอำเภอกะปง ไปจนถึงแหล่งโบราณคดีปากน้ำตะกั่วป่า
ในเขตอำเภอตะกั่วป่า และในเขตอำเภอคุระบุรี
เขตชุมชนโบราณตะกั่วป่า สันนิษฐานว่า อยู่บริเวณเขตอำเภอกะปง อำเภอคุระบุรี
และเขตอำเภอตะกั่วป่า รวมกันเรียกว่า ตะโกลา (ชื่อเมืองตะกั่วป่าในสมัยโบราณ)
มีแหล่งโบราณคดีสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่สำคัญ คือ
- แหล่งโบราณคดีเขาเวียง
(เขาพระนารายณ์) อยู่ในเขตตำบลเหล อำเภอกะปง
- แหล่งโบราณคดีควนพระเหนอ
อยู่ในเขตตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า
- แหล่งโบราณคดีเหมืองทอง
อยู่ที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า
แหล่งโบราณคดีทั้งสามแห่งตั้งอยู่ในชุมชนตะกั่วป่า ตั้งอยู่ในแนวลำน้ำตะกั่วป่า
โดยมีแหล่งโบราณคดีเขาเวียง
(เขาพระนารายณ์หรือที่บ้านพระนารายณ์) ตั้งอยู่ในบริเวณที่แม่น้ำตะกั่วป่ากับคลองปะกง
แม่น้ำตะกั่วป่าเกิดจากคลองเหลและคลองรมณีย์มาบรรจบกัน บริเวณคลองเหล เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกว่า
แหล่งโบราณคดีช้างเชื่อ
ส่วนคลองรมณีย์เกิดจากคลองหินลับและคลองหลังพม่า ไหลมาบรรจบกันที่บ้านท่าหัน
ซึ่งบริเวณนี้พบหลักฐานว่า เป็นเส้นทางในการล่องเรือมาตามลำน้ำตะกั่วป่า ขึ้นบกที่บ้านท่าหัน
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙ และในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ - ๒๕ ได้พบหลักฐานว่าคนพื้นเมืองชุมชนรมณีย์
ได้ใช้เส้นทางจากท่าหัน และคลองหินลับตัดข้ามเขาศกที่ช่องช้างอา
หรือจอมน้ำค้าง
เพื่อติดต่อกับชุมชนลุ่มน้ำคลองศก (ต้นแม่น้ำตาปี) ซึ่งอยู่อีกทางฟากหนึ่งของเขาศก
ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ชุมชนโบราณตะกั่วป่า ตั้งอยู่ในทำเลทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมต่อการเมืองท่าค้าขายกับชาวต่างชาติคืออินเดีย
จีน อาหรับ มาไม่น้อยกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๐ โดยก่อนหน้านี้ชนพื้นเมืองซึ่งพัฒนาการจากชุมชนเดิมสมัยอารยธรรมยุคหินตอนปลายในแถบเทือกเขาเขตติดต่อระหว่างจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจตังหวัดพังงา
ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปตามป่าเขาในเทือกเขาช้างเชื่อและเทือกเขาพ่อตา ได้อยพยลงมาอาศัยอยู่ตามพื้นราบในช่วงระยะเวลาก่อนพุทธศตวรรษที่
๑๐ ได้รวมตัววกันเป็นชุมชนเกษตรกรรมและชุมชนชาวน้ำ แต่ยังสืบทอดวัฒนธรรมการใช้เครื่องมือเครื่องใช้แบบสมัยดั้งเดิมที่ยังจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
มีการพบหินทุบเปลือกไม้ ขวานหินขัด มีดหิน ปะปนอยู่ในแหล่งโบราณคดีแหลมป้อม
ตำบลบางม่วง อำเอภตะปง
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๐๐ - ๓๐๐ พระเจ้าอโศก ฯ แห่งอินเดีย ได้ยกกองทัพออกปราบปรามพวกกลิงคราษฎร์
ซึ่งอยู่ทางอินเดียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้พวกกลิงคราษฎร์บางส่วน อพยพจากถิ่นฐานเดิมลงมาทางใต้
ผ่านดินแดนประเทศพม่า จนมาถึงบริเวณตะกั่วป่า และเมืองใกล้เคียง เช่น เมืองตะกั่วทุ่ง
และเมืองถลาง ได้ตั้งหลักแหล่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่รวมกับกลุ่มชนดั้งเดิม และได้นำเอาศิลปวิทยาการด้านต่าง
ๆ เข้ามาเพยแพร่ในดินแดนแถนนี้ด้วย หลักฐานที่พบคือเทวรูปแกะสลักจากหิน และศิลาจารึกที่แหล่งโบราณคดีเขาเวียง
และเทวรูปพระนารายณ์ที่ควนพระเหมอ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า
จากหลังสือมิลินทปัญหา ที่แต่งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๕๐๐ อินเดียเรียกชุมชนใหญ่นี้ว่า
เมืองตะโกลา
ต่อมาได้มีชาวจีน อาหรับ เปอร์เซีย เข้ามาติดต่อทำการค้าขายด้วย เมืองตะโกลาจึงเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่ชนชาติต่าง
ๆ ในยุคสมัยนั้นรู้จักกันดี
จากจดหมายเหตุของโตเลมี นักภูมิศาสตร์ชาวกรีก (ประมาณ พ.ศ.๘๐๐) ได้เรียกชื่อนี้ตามอย่างอินเดียว่า
ตะโกละ
ส่วนชนชาติอื่น ๆ ก็เรียกต่างกันไปตามสำเนียงของตน
ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๔ ชุมชนโบราณตะกั่วป่าได้พัฒนาเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางฝั่งทะเลอันดามัน
เป็นชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ที่ได้ผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียเข้ากับวัฒนธรรมพื้นเมือง
มีการสร้างศาสนสถานและรูปเคารพ ตามแบบอย่างศาสนาฮินดู โดยมีลัทธิไศวนิกาย
ไวษณพนิกาย หรือแม้กระทั่งลัทธิกาณขิตยะควบคู่กันไป ส่วนพุทธศาสนาได้เข้ามามีบทบาทบางช่วงและมีบางกลุ่มยอมรับนับถือ
หลักฐานที่แสดงว่าชุมชนโบราณตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าสำคัญคือ
- จดหมายเหตุของชาวอาหรับกล่าวว่า เมืองตะโกลา มีผู้คนชุมนุมทำการค้าขายกันวันหนึ่ง
ๆ เป็นหมื่นคน และมากชาติมากภาษา
- แผนที่ประวัติศาสตร์ของเฮมมอนด์กล่าวว่า เมืองตะโกลา อยู่ในการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช
ซึ่งเป็นเมืองเอกของอาณาจักรศรีวิชัย
- ยอร์ช เซเดส์ แถลงต่อสยามสมาคม เมื่อ ๒๘ ม.ค.๘๖ มีตอนหนึ่งว่า ตะกั่วป่า
(ตะโกลา) และไชยา มีหลักฐานทางโบราณคดีว่า เคยเป็นแหล่งชุมชนใหญ่แห่งหนึ่ง
สองแห่งนี้มีการติดต่อจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกเป็นเส้นทางใหญ่ ชาวอินเดียซึ่งเลือกเดินทางโดยตัดข้ามมหาสมุทรอินเดีย
ผ่านหมู่เกาะนิโคบาร์และทะเลอันดามัน จะต้องขึ้นบกที่เมืองตะกั่วป่า
- จากศิลาจารึกของเมืองดันชอร์ กล่าวไว้ว่า พวกโจฬะ ซึ่งเป็นแค้วนหนึ่งของอินเดียภาคใต้
ได้ยกทัพข้ามมหาสมุทรอินเดียมาโจมตีอาณาจักรศรีวิชัย และยึดดินแดนศรีวิชัยเป็นเมืองขึ้น
ตะโกลา (ตะกั่วป่า) นครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) ก็ตกเป็นเมืองขึ้นของโจฬะในครั้งนั้น
ส่วนเมืองตะโกลา (ที่บ้านทุ่งตึก ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า) ในครั้งนั้นถูกพวกโจฬะโจมตีจนต้องย้ายสถานที่ตั้งเมืองให้ลึกเข้าไปจากฝั่งทะเลที่เขาเวียง
เพื่อความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าข้าวจากเขาศก ไปยังต้นแม่น้ำตาปี โดยใช้ลำคลองศก
เมืองตะโกลา จึงกลายเป็นเมืองร้าง
เมืองพังงา
มีรายละเอียดอยู่ในลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เมืองตะกั่วป่า
มีรายละเอียดอยู่ในลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ทุ่งตึก
บ้านทุ่งตึกอยู่บนเกาะคอเขาตอนท้ายเกาะ ตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า อยู่ระหว่างปลายคลองเหมืองทองกับปลายยคลองทุ่งตึก
บริเวณนี้เป็นปากแม่น้ำตะกั่วป่า ลักษณะพื้นที่เป็นลานทราย มีต้นไม้ขึ้นห่าง
ๆ บางแห่งเป็นป่าละเมาะ การที่เรียกว่าทุ่งตึก เนื่องจากบนลานทรายเนื้อที่หลายสิบไร่นี้
มีซากอาคารโบราณสถานคล้ายกับเป็นตึก หรือวิหารอยู่ไม่น้อยกว่าสามแห่ง พบชิ้นส่วนของศาสนสถานและสัญลักษณ์ของรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์เช่น
แผ่นศิลาสลักเป็นแท่นเจาะรู คล้ายกับเป็นแท่นศิลารองฐานศิวะลึงค์ หรือเทวรูป
ยาว ๑๒๕ เซนติเมตร กว้าง ๗๕ เซนติเมตร แผ่นศิลาปักดินไม่น้อยกว่า ๕ แผ่น และก้อนศิลาอื่นอีกกระจายอยู่ล้วนเป็นหินชนวนทั้งหมด
ตามพื้นดินเต็มไปด้วยเศษกระเบื้อง ถ้วยชามเครื่องเคลือบของจีน เศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา
เศษภาชนะทำด้วยแก้วสีต่าง ๆ และลูกปัดชนิดและสีต่าง ๆ จำนวนมาก พร้อมทั้งเงินเหรียญอินเดีย
จากหลักฐานเหล่านี้ นักโบราณคดีส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ทุ่งตึกเป็นที่ตั้งเมืองท่าโบราณซึ่งชาวอินเดีย
ชาวจีน ชาวอาหรับ และชาวมลายู มาทำการค้าขาย เพราะตั้งอยู่ในทำเลและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่เหมาะสม
เป็นที่จอดเรือหลบคลื่นลม มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้ทะเลหลวงเข้าออกได้สะดวก
และอยู่ตรงปากแม่น้ำตะกั่วป่าซึ่งการคมนาคม
ทางน้ำทั้งขึ้นและล่องตามลำน้ำต้องผ่านเสมอ
ทุ่งตึกยังมีหลักฐานน่าเชื่อว่า เมื่อครั้งที่ชาวอินเดียอพยพหนีภัยลงเรือมายังดินแดนทางเอเชียอาคเนย์
ได้มาขึ้นบก และตั้งหลักแหล่งที่ทุ่งตึก หรือตะกั่วป่าก่อนระยะหนึ่ง ต่อมาเมื่อถูกข้าศึกศัตรูและโรคภัยไข้เจ็บตามมารบกวน
จึงได้อพยพเดินทางข้ามไปตั้งเมืองทางบริเวณริมฝั่งทะเลตะวันออก เพราะได้พบว่าตลอดเส้นทางอพยพ
ชาวอินเดียได้ก่อสร้างเทวสถานและรูปเคารพเอาไว้ เช่น รูปปั้นพระนารายณ์ซึ่งมีปรากฏอยู่หลายแห่ง
เป็นเครื่องแสดงถึงอารยธรรมอินเดียที่แพร่เข้าสู่ภูมิภาคนี้
เขาช้าง
เป็นภูเขาหินปูนลูกใหญ่ ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งหนึ่งของจังหวัดพังงา จุดสูงสุดสูง
๔๙๘ เมตร จากระดับน้ำทะเล วางตัวยาวตามแนวเหนือ - ใต้ กว่า ๓ กิโลเมตร
ทิศตะวันออกของภูเขาเป็นที่ตั้งของตัวเมืองพังงา ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเขาช้างกับเขาพังงา
มีคลองพังงาไหลผ่านกลาง พบร่องรอยหลักฐานมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ที่เพิงผาสามแห่งทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของภูเขา
ได้แก่เครื่องมือหินกะเทาะทำจากสะเก็ดหิน เครื่องมือกระดูกปลายแหลม ก้อนหิน
เศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเรียบ และแบบมีลายเชือกทาบ กระดูกสัตว์ กระดองเต่า ก้ามปู
และเปลือกหอยน้ำเค็ม
เขาเฒ่า
เป็นเขาหินปูนริมทางหลวงสายพังงาไปอำเภอทับปุด สำรวจพบหลักฐานทางโบราณคดีตามเพิงผาและถ้ำถึงเจ็ดแห่ง
จากเพิงผาแห่งแรกถึงแห่งสุดท้าย มีระยะห่างกันกว่า ๖๐๐ หลา สามารถคุ้มแดด
ฝนและพายุได้ดี จากการสำรวจพบว่า ชั้นดินที่เพิงผาเป็นชั้นวัฒนธรรม หรือชั้นดินทางโบราณคดีอย่างชัดเจน
โบราณวัตถุที่พบที่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเครื่องมือกะเทาะและเศษภาชนะดินเผาแบบต่าง
ๆ
เขาพังงา
เป็นเขาหินปูนที่ต่อเนื่องลงมาจากเทือกเขาปลายพนมทางตอนเหนือ มีความยาวประมาณ
๑๐ กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของคลองพังงา ส่วนใต้สุดของภูเขาทางด้านทิศตะวันออกมีเพิงผาอยู่สองแห่งที่สำรวจพบโบราณวัตถุ
เพิงผาแห่งหนึ่งมีขนาดใหญ่มาก ยาวประมาณ ๖๐ เมตร กว้างประมาณื ๒๐ เมตร ด้านหน้าของเพิงทั้งสองแห่งนี้เป็นป่าชายเลน
มีคลองขนาดเล็กไหลผ่านไปเชื่อมกับคลองบางเตย ซึ่งเป็นลำน้ำใหญ่อีกสายหนึ่งที่ไหลลงสู่อ่าวพังงา
พบเครื่องมือหินกะเทาะหลายชิ้น เป็นเครื่องมือที่ทำจากหินปูน ค้อนหินทำจากหินควอตไซต์และหินทราย
เขางุ้ม
เป็นเขาหินปูนลูกเล็ก ๆ อยู่กลางเมืองพังงา อยู่ระหว่างเขาช้างและเขาพังงา
พื้นที่บางด้านของภูเขายังเป็นป่าชายเลน ภายในเขางุ้มมีถ้ำสวยงาม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดพังงา
จุดที่สำรวจพบโบราณวัตถุนั้นเป็นเพิงผา อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของภูเขา เพิงผามีความยาว
๖๐ เมตร ด้านหน้าเพิงผาเป็นที่ทับถมของกองเปลือกหอยขนาดใหญ่ตามแนวยาว ถูกขุดทำลายไปมาก
บางจุดลึก ๒ - ๓ เมตร โบราณวัตถุที่พบกระจายอยู่ทั่วไปบนผิวดิน ได้แก่เครื่องมือหินกะเทาะรูปไข่
เครื่องมือหินกะเทาะทั้งสองหน้า ทำจากหินควอตไซต์ เครื่องมือสะเก็ดหินหลายชิ้น
ทำจากหินปูน หินทรายและหินเชิร์ต นอกจากนี้ยังพบ
ค้อนหิน
หินลับ เศษภาชนะดินเผามีทั้งแบบสีดำขัดมัน เคลือบน้ำดินสีแดง และที่มีลายเชือกทาบ
เครื่องมือกระดูกที่ด้านหนึ่งมีรอยตัดแต่ง หรือฝนให้มีความคมคล้ายใบมีด
ชิ้นส่วนกะโหลกศีรษะมนุษย์ เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ เปลือกหอย
เขาวังหม้อแกง
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเขาช้าง ห่างกันประมาณหนึ่งกิโลเมตร เป็นเขาหินปูนที่พบหลักฐานโบราณวัตถุ
สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นจำนวนมากอีกแห่งหนึ่ง มีป่าชายเลนล้อมรอบ
มีคลองขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออก ใช้เป็นเส้นทางออกสู่อ่าวพังงาทางทิศใต้โดยผ่านมาทางคลองปันหยี
พบเครื่องมือหินกะเทาะทำจากหินควอตไซต์ หินปูนและหินเชิร์ตหลายชิ้น มีลักษณะเป็นเครื่องมือขุด
เครื่องมือขุดที่มีลักษณะใช้งานได้โดยรอบ เครื่องมือขุดที่ใช้งานด้านข้างบางชิ้นมีร่องรอยการใช้งานพบเศษภาชนะดินเผาอยู่มาก
มีสองชิ้นที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ปากจนถึงก้นภาชนะ ลักษณะเป็นหม้อก้นกลม ตกแต่งผิวด้านนอกด้วยสายเชือกทาบปากผายออก
เส้นผ่าศูนย์กลางที่ขอบปาก ๑๐ - ๑๖ เซนติเมตร ขาภาชนะสามขา จำนวน ๓ ชิ้น ชิ้นที่เกือบสมบูรณ์
ยาว ๑๑ เซนติเมตร พบชิ้นส่วนกำไลทำจากเปลือกหอยสีขาว ขัดจนกลมมนต่อกันได้สมบูรณ์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง
๗ เซนติเมตร
เขาพัง
เป็นแหล่งโบราณคดีจะไปถึงได้โดยทางเรือเพราะอยู่ลึกเข้าไปในบริเวณป่าริมอ่าวพังงาซึ่งมีคลองต่าง
ๆ สภาพสองข้างมีป่าชายเลนมีต้นไม้ขึ้นอยู่เต็ม แหล่งโบราณคดีเขาพังเป็นเพิงผาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของภูเขา
ด้านหน้าเป็นคลองย่อยแยกไปจากคลองเกาะปันหยีอันเป็นคลองหลักในการออกไปสู่อ่าวพังงา
ลักษณะของเพิงผามีพื้นที่อาศัยกว้างประมาณ ๓๐ เมตร ลึกประมาณ ๒๐ เมตร พบเครื่องมือหินกะเทาะหลายชิ้น
ชิ้นหนึ่งทำจากแร่ควอตซ์ อีกชิ้นหนึ่งรูปร่างคล้ายใบหอก ทำจากหินควอตไซต์
ปลายค่อนข้างแหลมและด้านข้างมีคม
ส่วนที่ต่อจากด้านเป็นบ่า พบเศษภาชนะดินเผาแบบเรียบลายเชือกทาบ หินลับแกมหินและสะเก็ดหิน
มีร่องรอยการกะเทาะ แต่ไม่มีลักษณะเป็นเครื่องมือที่ชัดเจน อยู่เป็นจำนวนมาก
เขาบ่อ
เป็นกลุ่มแหล่งโบราณคดีที่อยู่ทางตอนเหนือสุดของแหล่งโบราณคดีทางทิศเหนือของอ่าวพังงา
มีพื้นที่ต่ำอยู่ในระดับความสูงใกล้เคียงกับแหล่งโบราณคดีอื่น ๆ คือส่วนใหญ่จะสูงไม่เกิน
๑๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล นอกจากแหล่งโบราณคดีถ้ำกลางซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่านี้
โบราณวัตถุที่พบอยู่บริเวณถ้ำสองแห่ง และเพิงผาอีกหนึ่งแห่งอยู่ใกล้กัน ทางด้านทิศใต้ของภูเขา
มีเครื่องมือหินกะเทาะ ๒๐ ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นหินปูนและหินควอตไซต์ ค้อนหิน
หินลับ เครื่องมือปลายแหลมทำจากกระดูก เศษภาชนะดินเผา เนื้อเครื่องดินตกแต่งผิวเรียบลายเชือกทาบ
เคลือบน้ำดินลายขูดขีด ลายประทับเป็นช่องกดเป็นจุดด้วยวัสดุปลายแหลม ต่อเนื่องกันสองแนว
นอกจากนี้ยังพบขวานหินขัด ๑ ชิ้น
เขาหนุ่ย
เป็นภูเขาหินปูนรูปร่างคล้ายเขางุ้ม แต่ขนาดเล็กกว่าอยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกของเขาเฒ่า
ประมาณ ๒๐๐ กว่าเมตร เพิงผาที่พบโบราณวัตถุอยุ่ทางทิศตะวันออกของภูเขา มีความยาว
๑๕ เมตร ลึก ๖ เมตร พบเศษภาชนะดินเผา ๓๕ ชิ้น มีผิวเรียบและตกแต่งแบบลายเชือกทาบ
ด้านนอกด้านในเคลือบน้ำดิน
เขาเขียน
เป็นเขาหินปูนอยู่ในอ่าวพังงา มีความยาวกว่า ๑ กิโลเมตร ทางด้านทิศตะวันออกของภูเขา
มีเพิงผาเป็นรอยบาก ตามแนวยาวของภูเขา รอยบากเหล่านี้เป็นแหล่งที่พบภาพศิลปถ้ำโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์
แบบลงสีตามผนังและเพดาน นักโบราณคดีแยกภาพเขียนสีออกเป็น ภาพเขียนเจ็ดกลุ่ม
โดยมีระยะห่างจากกลุ่มแรกถึงกลุ่มเจ็ดประมาณ ๑,๕๐๐ เมตร ภาพทั้งเจ็ดกลุ่มมีดังนี้
- กลุ่มที่ ๑ เป็นภาพเขียนทับซ้อนกันอย่างน้อย ๒ - ๓ ครั้ง
ใช้สีแดง สีส้ม และสีเหลือง เขียนเป็นภาพคน ปลา ปู ค่าง นก ฯลฯ
- กลุ่มที่ ๒ เป็นภาพเขียนสีแดง สามภาพไม่อาจบอกได้ว่าเป็นภาพอะไร
อีกด้านหนึ่งของเพิงผามีภาพเขียนด้วยสีเหลือง และมีรูปลูกศร
- กลุ่มที่ ๓ เป็นภาพเขียนด้วยสีแดง สามภาพ เป็นภาพโครงร่างคล้ายปลาหนึ่งภาพ
อีกสองภาพเป็นลายเส้น ลักษณะคล้ายยันต์ หรือตัวอักษร หรือเป็นสัญญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
- กลุ่มที่ ๔ ที่เพิงผามีภาพเขียนที่มีความยาวมากที่สุดคือประมาณ
๖๐ เมตร สามารถเดินติดต่อกันได้โดยตลอด ภาพเขียนกระจายกันอยู่ตามความยาว ส่วนใหญ่เขียนด้วยสีแดง
มีภาพคนถือปลาด้วยมือซ้าย ภาพคนแบกปลา ภาพคนแสดงอวัยวะเพศ (ชาย) ภาพคนระบายสีทึบเขียนด้วยสีส้มสองภาพ
และภาพโครงร่างช้างสีเหลือง
- กลุ่มที่ ๕ เป็นภาพเขียนสีแดง ส่วนใหญ่เลอะเลือน มีภาพเส้นคู่ขนาน
ภาพเส้นรอบนอกคล้ายหัวใจ
- กลุ่มที่ ๖ เป็นภาพเขียนสามภาพ มีภาพลายเส้นเป็นรูปห้าแฉกด้วยปลาดาวหนึ่งภาพ
ที่เหลือเป็นภาพคล้ายสัตว์น้ำ หรืออาจเป็นสัญญลักษณ์
- กลุ่มที่ ๗ ภาพส่วนใหญ่เลอะเลือน มีภาพลายเส้นคล้ายตัวอักษรในภาษาอังกฤษ
เขาพระอาดเฒ่า
เป็นภูเขาหินปูน เป็นเกาะที่อยู่ไม่ห่างไกลจากชายฝั่งมากนัก มีภาพเขียนที่เป็นศิลปะถ้ำ
เขียนด้วยสีแดง มีภาพคน ภาพปลา และภาพคล้ายกุ้ง บางภาพมีขนาดใหญ่มาก การเขียนภาพจะเขียนเป็นรูปโครงภายนอกก่อน
แล้วตกแต่งภายในแบบเงาทึบ นอกจากนี้ยังพบโบราณวัตถุได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบแบบเรียบ
แบบลายเชือก ชิ้นส่วนขวานหินขัด เครื่องมือสะเก็ดหิน กระดูกปลาที่มีรอยขัดฝน
เขาพระเหนอ
อยู่ในเขตอำเภอบางนายสี ต่อเขตอำเภอบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า ไม่ไกลจากทุ่งตึกนัก
บนยอดเขามีซากอาคาร ที่คงเป็นศาสนสถานขนาดเล็ก ก่อด้วยอิฐหลังหนึ่ง พบรูปพระนารายณ์ศิลารุ่นเก่าขนาดใหญ่อยู่องค์หนึ่ง
ที่เชิงเขามีสระน้ำโบราณปัจจุบันตื้นเขินมาก จากเทวรูปพระนารายณ์ที่พบแสดงว่าวัฒนธรรมอินเดีย
ได้เข้ามาเจริญรุ่งเรืองบริเวณชายฝั่งทะเลด้านนอกของแหลมมลายูตอนเหนือ บริเวณที่ตั้งเมืองตะกั่วป่า
ที่สันนิษฐานว่าเป็นเมืองตะโกลาโบราณเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ ปี
มาแล้ว
เขาพระนารายณ์
อยู่ในเขตตำบลเหล อำเภอกะปง เป็นภูเขาลูกย่อมตั้งอยู่กึ่งกลาง บริเวณหัวมุมด้านทิศใต้ที่คลองเหลกับคลองกะปงไหลมาบรรจบกัน
ก่อนที่จะไหลรวมกันกลายเป็นแม่น้ำตะกั่วป่า บนเขาพระนารายณ์เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์
จำนวนสามรูป มาแต่แรกเรียกกันว่า พระนารายณ์ พระลักษณ์ และนางสีดา นอกจากนี้ยังพบศิลาจารึกอีกแผ่นหนึ่งลักษณะของประติมากรรม
พระนารายณ์ประทับยืนอยู่กลาง พระลักษณ์อยู่ข้างซ้าย นางสีดาอยู่ข้างขวา ทั้งหมดแกะสลักจากหินชนวน
เทวรูปพระนารายณ์สูง ๒.๓๖ เมตร กว้าง ๘๕ เซนติเมตร นับเป็นเทวรูปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง
พระลักษณ์ และนางสีดาอยู่ในท่านั่งคล้ายคุกเข่าสูงประมาณ ๑.๒๕ เมตร กว้าง
๗๗ เซนติเมตร ลักษณะทางศิลปกรรมเป็นแบบปัลลวะของอินเดียใต้ สลักขึ้นประมาณปี
พ.ศ.๑,๒๐๐ - ๑,๔๐๐ พบพร้อมศิลาจารึกซึ่งเป็นภาษาและอักษรทมิฬโบราณ
ถ้ำฤาษีสวรรค์
ตรงข้ามเขาช้าง มีกลุ่มเขาหินปูนไม่สูงนัก พื้นที่ติดกับป่าชายเลน มีถ้ำฤาษีสวรรค์ซึ่งเป็นถ้ำหนึ่งในหลายถ้ำของกลุ่มเขานี้
พบเครื่องมือสะเก็ดหินทำจากหินตระกูลควอทซ์ เนื้อละเอียดเศษภาชนะดินเผาแบบเรียบ
แบบลายเชือกทาบ
ถ้ำผึ้ง
อยู่ในเขาถ้ำผึ้ง เป็นภูเขาหินปูนลูกเล็ก ๆ ในเขตอำเภอทับปุด ห่างจากเขาบ่อไปทางทิศตะวันออกประมาณ
๓ กม. พบแหล่งโบราณคดีสามแห่ง เป็นถ้ำสองแห่ง พบเครื่องมือหลายชิ้นที่สำคัญคือ
เครื่องมือเสก็ดหิน สองชิ้นทำจากตระกูลควอทซ์ เศษภาชนะดินเผา มีการตกแต่งผิวหลายแบบมีทั้งแบบเรียบ
สีดำขัดมัน ลายเชือกทาบเคลือบน้ำดินสีแดง
ถ้ำพระ
อยู่ในภูเขาหินปูนขนาดเล็กลูกหนึ่ง อยู่ห่างจากภูเขาถ้ำผึ้งไปทางทิศเหนือประมาณ
๕๐ เมตร ปากถ้ำกว้าง ๒๑ เมตร ลึก ๑๐ เมตร ลึกเข้าไปตอนในเป็นคูหาใหญ่
และมีช่องทางน้ำไหลไม่กว้างมากนัก พบเศษภาชนะดินเผาพอสมควร มีการตกแต่งผิวแบบลายขูดขีด
ในแบบที่แปลกออกไปอยู่หกแบบได้แก่
- ลายขีดเป็นเส้นขนานสองเส้น ห่างกันประมาณ ๑ เซนติเมตร ภายในขีดเป็นเส้นทะแยงสั้น
ๆ
- ขีดคล้ายเส้นรอบนอกของใบไม้ มีเส้นผ่าศูนย์กลางและมีลายกดเป็นจุดภายในความยาว
- ขีดตามเส้นรอบวงของภาชนะสองเส้นขนานกัน
- ขีดตามเส้นรอบวงของภาชนะ และขีดเป็นเส้นสั้น ๆ ทะแยงออกจากเส้นรอบวงคล้ายรูปสามเหลี่ยม
- ขีดเป็นวงกลมมีเส้นเชื่อมตามเส้นรอบวงของภาชนะ
- ขีดเป็นเส้นสั้น ๆ ติดกัน
|