มรดกทางวัฒนธรรม
เมืองโบราณยะรัง
เมืองโบราณยะรัง เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำตาปี
อยู่ในเขตอำเภอยะรัง เชื่อกันว่าอาจจะเป็นอาณาจักรลังกาสุระ
ที่มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 เมืองโบราณแห่งนี้น่าจะมีผังเมืองเป็นรูปวงรีขนาดใหญ่
วางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ โดยใช้ทางน้ำธรรมชาติเป็นแนวคูเมืองทั้งสองด้าน
มีพื้นที่ประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร มีกลุ่มเมืองโบราณสร้างซ้อนทับและต่อเนื่องกันอยู่
3 เมืองคือ
เมืองโบราณบ้านวัด
เป็นบริเวณพื้นที่ที่มีร่องรอยคูน้ำล้อมรอบพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมขนาดต่าง ๆ
มีลักษณะคล้ายเกาะขนาดเล็กต่อเนื่องกันเป็นกลุ่ม คูน้ำเหล่านี้จะไปเชื่อมต่อกับคูน้ำธรรมชาติทางทิศตะวันตก
และที่ลุ่มรับน้ำทางทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศเหนือ มีศูนย์กลางเป็นลานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ขนาดประมาณ
150 x 170 เมตร ปูพื้นด้วยอิฐและกระเบื้องหยักฟันปลา พื้นที่ส่วนกลางของเกาะต่างๆ
มีซากโบราณสถานอยู่ มีกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตก
โบราณสถานในพื้นที่ของเมืองนี้มีอยู่ประมาณ 20 แห่ง
เมืองโบราณบ้านจาเละ
เป็นบริเวณที่มีร่องรอยคูน้ำและคันดินขนาดใหญ่ อยู่ทางเหนือของเมืองโบราณบ้านวัด
มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมทับซ้อนกัน มีคูเมืองด้านทิศตะวันออกผ่านกลางกลุ่มโบราณสถานบ้านจาเละ
แล้วหักเป็นมุมฉากเข้าสู่คูเมืองด้านใต้ ไปบรรจบทางน้ำธรรมชาติทางทิศตะวันตก
เมืองโบราณแห่งนี้มีศูนย์กลางอยู่ที่สระน้ำขนาดใหญ่ มีโบราณสถานกระจายห่าง
ๆ ในบริเวณพื้นที่ด้านเหนือของสระน้ำ และคูเมืองด้านทิศเหนือประมาณ
10 แห่ง
เมืองโบราณบ้านปะแว
มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน
ขนาด 500x500 เมตร ที่มุมทั้ง 4 ของคันดินล้อมรูปสี่เหลี่ยม โดยล้อมคูน้ำที่เชื่อมมาจากคูเมืองทั้ง
4 ด้าน ด้านทิศตะวันตกมีคลองส่งน้ำขนาดเล็ก ต่อเชื่อมกับทางน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากบ้านวัด
ด้านทิศใต้มีคลองส่งน้ำที่ขุดจากบริเวณป้อม ไปเชื่อมต่อกับคูเมืองบริเวณมุมเมืองด้านทิศเหนือของเมืองโบราณยะรัง
ภายในมีคูน้ำคันดิน โบราณสถาน 2 แห่ง และบ่อน้ำเก่าอีก 5 แห่ง
เมืองเก่ากรือเสาะ-บานา
เป็นชุมชนเก่าแก่และเป็นท่าเรือที่สำคัญของเมืองปัตตานีในอดีต ประมาณพุทธศตวรรษที่
22 เมืองปัตตานีประกอบด้วยชุมชนใหญ่ 2 บริเวณ บริเวณแรกเป็นเขตพระราชวังที่กรือเสาะ
เป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองและวงศานุวงศ์ ตลอดจนขุนนางและข้าราชการของสำนัก
บริเวณที่ 2 เป็นย่านการค้าและชุมชนที่บานา ซึ่งมีพ่อค้าชาวต่างประเทศอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
คำว่าบานาเป็นภาษาเปอร์เซีย
แปลว่าบริเวณของเมืองที่เป็นท่าเรือและแหล่งค้าขาย บริเวณท่าเรือของปัตตานีในสมัยนั้นคือแนวสันทรายชายฝั่งยาวประมาณ
3 กิโลเมตร
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21-22 เมืองท่าปัตตานีเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปของพวกพ่อค้าชาวตะวันตก
ชาวโปรตุเกสและชาวฮอลันดา ตั้งสถานีการค้าที่ปัตตานีก่อนที่จะติดต่อกับอยุธยา
เรือสินค้าจากจีนและญี่ปุ่นได้ขนถ่ายแลกเปลี่ยนรับสินค้าจากตะวันตกที่ปัตตานี
ไปจำหน่ายต่อที่อยุธยาและที่อื่น ๆ โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับปัตตานีในปี
พ.ศ. 2059
ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 23 จากเอกสารบันทึกการเดินทางของกัปตันชาวอังกฤษผู้หนึ่ง
เมื่อปี พ.ศ. 2261 ระบุว่า เมืองปัตตานีสมัยนั้นมี 43 แคว้น มีอาณาเขตรวมไปถึงกลันตันและตรังกานู
มีเมืองท่า 2 แห่งคือ กัวลาปตานี และกัวลาบือเกาะฮ์ พลเมืองของปัตตานีในขณะนั้น
เฉพาะที่เป็นชายที่อยู่ในวัย 16-60 ปี มีอยู่ถึง 150,000 คน มีบ้านเรือนอยู่แน่นหนามาก
เมืองท่าปัตตานีเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในย่านทะเลแถบนี้
ในกลางพุทธศตวรรษที่ 23 การค้าที่ปัตตานีซบเซาลงไป ด้วยสาเหตุหลายประการ
เช่น บริษัทการค้าของชาวดัชที่ช่องแคบมะละกา มีบทบาททางการค้ามากขึ้น
การศึกสงครามกับสยาม และการขัดแย้งภายในปัตตานีเอง ทำให้เมืองปัตตานีที่กรือเซะ-บานา
ถึงยุคเสื่อมและถูกทิ้งร้างไปในเวลาต่อมา
ปัจจุบันเมืองเก่ากรือเสาะ-บานา ยังไม่มีการขุดค้นทางโบราณคดี
ร่องรอยคูเมืองและกำแพงเมืองเก่ายังเหลืออยู่บ้าง โบราณสถานที่สำคัญที่ยังคงเหลืออยู่ได้แก่
มัสยิดกรือเสาะ
ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ ซาร์ (พ.ศ. 2073-2107)
มัสยิดกรือเซะ
ตั้งอยู่ที่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน
ขนาดประมาณ 15x30 เมตร สูง 6.50 เมตร เสาทรงกลมเลียนรูปแบบเสากอธิคของยุโรป
ช่วงประตูหน้าต่างมีทั้งแบบโค้งแหลม และมีที่คล้ายกับอิฐสมัยทวาราวดีปะปนอยู่บ้าง
ที่บริเวณฐานของมัสยิด จากหลักฐานที่ประมวลไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสร้างมัสยิดแห่งนี้
มีอยู่หลายกระแส บางกระแสกล่าวว่า สุลต่านลองยุนุสเป็นผู้สร้าง เมื่อปี
พ.ศ. 2265 เหตุที่สร้างไม่เสร็จเนื่องจากเกิดสงครามแย่งชิงราชสมบัติระหว่าง
สุลต่านกับอนุชา และต่อมาเมื่ออนุชาได้รับตำแหน่งสุลต่าน ก็ได้ย้ายเมืองปัตตานีไปอยู่
ณ บ้านบูยุด จึงไม่ได้สร้างต่อ อีกกระแสหนึ่ง มาจากตำนานเจ้าแม่ลิ่มกอเหนี่ยว
ซึ่งมีอยู่ว่าพี่ชายชื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยม เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม
ในสมัยรายาบีรู (พ.ศ. 2159-2167) แต่สร้างไม่สำเร็จ เมื่อสร้างถึงยอดโดมครั้งใด
ก็พังทลายลงมาทุกครั้ง เนื่องจากน้องสาวมาตามพี่ชาย ขอให้กลับเมืองจีน แต่พี่ชายไม่ยอม
จึงอธิษฐานขอให้สร้างมัสยิดกรือเซะไม่สำเร็จ และตนเองได้ผูกคอตายอยู่ใกล้มัสยิดนั้น
มัสยิดดาโต๊ะ
อยู่ที่ตำบลแหลมโพธิ อำเภอยะหริ่ง ตัวอาคารก่อด้วยอิฐฉาบปูน ขนาด 10x16
เมตร เป็นอาคารชั้นเดียว คาดว่าสร้างขึ้นสมัยเดียวกันกับมัสยิดกรือเซะ
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. 2478 พระยาพิพิธเสนามาตย์
อดีตผู้ว่าราชการเมืองยะหริ่ง ได้ให้ช่างชาวจีนทำการแก้ไข ดัดแปลงตัวอาคารมัสยิดให้มีสภาพแข็งแรง
โดยพยายามรักษารูปแบบตัวอาคารเดิมไว้ให้มากที่สุด และได้ขยายตัวอาคารทางด้านข้างให้กว้างขึ้นกว่าเดิม
โดยใช้คอนกรีตเสริมเหล็ก มีความสมบูรณ์มาถึงปัจจุบัน
ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ศาลนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า
ศาลเจ้าเล่งจูเกียง
อยู่ที่อำเภอเมือง ภายในศาลมีรูปแกะสลักของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว พระหมอ
เจ้าแม่ทับทิม เป็นที่เคารพสักการะของคนจีนโดยทั่วไป
จากบันทึกในราชวงศ์เหม็ง (พ.ศ. 2064-2109) กล่าวว่าลิ้มโต๊ะเคี่ยม และลิ้มกอเหนี่ยวเป็นชาวเมืองฮุยโล
แขวงเมืองแต้จิ๋ว ลิ้มโต๊ะเคี่ยมเดิมรับราชการ ต่อมาถูกใส่ร้าย จึงหนีไปยังที่ต่าง
ๆ จนในที่สุดได้เดินทางมาที่เมืองปัตตานี ได้ทำงานเป็นนายด่านเก็บภาษี
ภายหลังได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม มีภรรยาเป็นเชื้อพระวงศ์เจ้าเมืองปัตตานี
ลิ้มกอเหนี่ยวออกตามพี่ชายจนมาพบที่ปัตตานี ได้ขอร้องพี่ชายให้กลับเมืองจีน
แต่พี่ชายปฎิเสธ ลิ้มกอเหนี่ยวจึงอธิฐานให้การก่อสร้างมัสยิดกรือเซะไม่สำเร็จ
และผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ ใกล้มัสยิดกรือเซะ ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับมารดา
ก่อนออกเดินทางมาตามหาพี่ชาย ลิ้มโต๊ะเคี่ยมได้ปลงศพน้องสาว และทำฮวงซุ้ยบรรจุศพไว้
ยังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ อยู่ที่บ้านกรือเซะ ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ เมื่อลิ้มโต๊ะเคี่ยมสร้างมัสยิด
ถึงคานบน จะสร้างโดมก็ถูกฟ้าผ่าพังลงมาถึง 3 ครั้ง จึงเลิกสร้าง คนรุ่นหลังต่อมาพายามจะสร้างต่อ
ก็ไม่สำเร็จเช่นกัน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเพราะคำอธิฐานของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั่นเอง
เมื่อย้ายเมืองปัตตานีไปที่วังจะบังติกอ ชาวจีนในเมืองปัตตานี ก็ย้ายชุมชนจากกรือเซะ
ไปสร้างชุมชนชาวจีนที่ตำบลเนาะรู และสร้างศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว นำรูปสลักเจ้าแม่มาบูชา
ณ ศาลเจ้าแม่แห่งนี้ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีงานประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวไปตามถนนสายต่าง
ๆ ในตัวเมือง มีผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
วังเก่าสมัย
7 หัวเมือง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าเมืองสงขลา
ลงไปจัดการปกครองเมืองปัตตานี โดยแบ่งเมืองปัตตานีออกเป็น 7 เมือง
แต่ละเมืองมีเจ้าเมืองปกครอง จึงมีวังอยู่ที่เมืองทั้ง 7 นั้น เรียกกันว่า
วัง 7 หัวเมือง ได้แก่
วังจะบังติกอ สร้างในสมัยตนกูมูฮัมหมัด
(พ.ศ. 2388-2399) เชื้อสายราชวงศ์กลันตัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเจ้าเมืองปัตตานี วังแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี
ในตัวเมืองปัตตานี เป็นบ้านชั้นเดียวขนาดใหญ่ หลังคาทรงปั้นหยา ตัวอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
สร้างด้วยไม้ ภายในอาคารมีห้องโถงขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่ทำงานของเจ้าเมือง ส่วนด้านหลังของห้องโถงจะเป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวและบริวาร
ได้ใช้ต่อมาจนถึงสมัย ตนกูอับดุลกอร์เดร์ เจ้าเมืองคนสุดท้าย ก่อนที่จะมีการปฎิรูปการปกครองเป็นแบบเทศาภิบาล
และยุบเมืองต่าง ๆ ทั้ง 7 เมือง เป็นมณฑล
วังยะหริ่ง สร้างโดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม
ในปี พ.ศ. 2438 อยู่ที่ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง เป็นอาคารสองชั้น
ครึ่งบนปูนครึ่งไม้ แบบเรือนไทยมุสลิม ผสมกับแบบยุโรป อาคารเป็นรูปตัวยู
ชั้นบนจัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ ด้านข้างของตัวอาคารทั้ง 2 ด้าน เป็นห้องสำหรับพักผ่อนของเจ้าเมือง
และครอบครัวข้างละ 4 ห้อง ชั้นล่างเป็นลานโล่งแบบใต้ถุนสูง บันไดโค้งแบบยุโรป
ช่องแสงประดับด้วยกระจกสีเขียวแดงและน้ำเงิน ช่องระบายอากาศและจั่วทำด้วยไม้ฉลุลาดลายเป็นพรรณพฤกษาตามแบบศิลปะชวา
และศิลปะตะวันตก ทำให้ตัววังสง่ามาก ตัววังยังมีสภาพสมบูรณ์ดีถึงปัจจุบัน
วังสายบุรี อยู่ที่ตำบลตะลุบัน
อำเภอสายบุรี สร้างโดยสถาปนิกชาวชวาและช่างท้องถิ่นเมื่อปี พ.ศ. 2428
ในสมัยพระยาสุริยสุนทรบวรภักดี เจ้าเมืองสายบุรี เป็นอาคารไม้สองชั้น หลังคาทรงปั้นหยา
เป็นแบบเรือนไทยมุสลิม ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมชวา อาคารเป็นรูปตัวแอล
พื้นทำด้วยไม้ตะเคียนปูเป็นเส้นทะแยงมุม มีแกนกลางตีเป็นฟันปลา ช่องระบายอากาศฉลุไม้เป็นลวดลายพรรณพฤกษา
ตามศิลปะชวา เชิงชายใช้ทองเหลืองฉลุโปร่งด้วยลวดลายพรรณพฤกษา ตามแบบศิลปะชวา
วังพิพิธภักดี อยู่ตรงข้ามวังสายบุรี
พระยาพิพิธภักดีบุตรชายเจ้าเมืองยะหริ่งได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเรือนหอ
เป็นอาคารไม้สองชั้น ฝีมือช่างท้องถิ่นโดยนำแบบตะวันตก และศิลปะท้องถิ่นมาผสมผสานกัน
คือมีหน้ามุขแบบตะวันตก ลูกกรงบันไดเป็นลายปูนปั้นรูปดอกไม้ ผนังกั้นห้องภายในอาคารเป็นผนังโค้งศิลปะแบบตะวันตก
ช่องลมเป็นลวดลายพรรณพฤกษาศิลปชวา ปัจจุบันวังนี้ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์
วังหนองจิก อยู่ที่บ้านตุยง
ตำบลยง อำเภอหนองจิก เจ้าเมืองหนองจิกคนสุดท้ายคือ พระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์
ฯ
(พ่วง ณ
สงขลา ) ได้ใช้วังนี้อยู่ สันนิษฐานว่าวังนี้สร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2437
ตัววังนี้ที่เหลืออยู่ประกอบด้วยอาคารสองหลัง เป็นอาคารชั้นเดียวแต่ยกพื้นสูงประมาณ
1 เมตร อาคารที่เป็นตัววัง ถูกรื้อถอนไประหว่างสงครามมหาเอเซียบูรพา
อาคารที่เหลืออยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
|