มรดกทางพุทธศาสนา
วัดช้างไห้
(วัดราษฎร์บูรณะ)
วักช้างไห้ อยู่ที่ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแล้วกว่า
300 ปี ตามตำนานกล่าวว่า
พระยาแก้มดำเจ้าเมืองไทรบุรี
ต้องการหาชัยภูมิสำหรับสร้างเมืองใหม่ให้กับน้องสาว จึงได้เสี่ยงอธิฐาน
ปล่อยช้างให้ออกเดินทางไปในป่า โดยมีเจ้าเมืองและไพร่พลเดินติดตามไป
จนมาถึงวันหนึ่ง ช้างได้หยุดอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง แล้วร้องขึ้นสามครั้ง
พระยาแก้มดำจึงได้ถือเป็นนิมิตที่ดี จะใช้บริเวณนั้นสร้างเมือง แต่น้องสาวไม่ชอบ
พระยาแก้มคำจึงให้สร้างวัด ณ บริเวณดังกล่าวแทน แล้วให้ชื่อว่า
วัดช้างไห้
แล้วนิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า ท่านลังกา หรือ
สมเด็จพะโคะ
หรือ หลวงพ่อทวดเหยียบน้ำทะเลจืด
มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก
ท่านได้เดินธุดงค์ไปมา ระหว่างเมืองไทรบุรีกับวัดช้างไห้ และได้สั่งลูกศิษย์ไว้ว่า
ถ้าท่านมรณะภาพ ขอให้นำศพไปทำการฌาปนกิจ ณ วัดช้างไห้ ซึ่งเมื่อท่านมรณะภาพที่เมืองไทรบุรี
ลูกศิษย์ก็ได้นำศพท่านมา ทำการฌาปนกิจที่วัดช้างไห้ อัฐิของท่านส่วนหนึ่งฝังไว้ที่วัดช้างไห้
อีกส่วนหนึ่งนำกลับไปเมืองไทรบุรี ต่อมาได้สร้างสถูปบรรจุอัฐิของท่านไว้ที่วัดช้างไห้
เมื่อปี พ.ศ. 2480 พระครูมนูญเจ้าอาวาสวัดพลานุภาพ เจ้าคณะตำบลทุ่งพลา
ให้พระช่วงมาเป็นเจ้าอาวาสวัดช้างไห้ ท่านได้ชักชวนชาวบ้านมาแผ้วถางป่า
สร้างกุฎิ ศาลาการเปรียญ พร้อมเสนาสนะอื่น ๆ จึงได้ชื่อว่า
วัดราษฎร์บูรณะ
เจ้าอาวาสองค์ต่อ ๆ มาก็ได้บูรณะเพิ่มเติมวัดช้างไห้ มาตามลำดับจนถึงปัจจุบัน
วัดช้างไห้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2500 และผูกพันธสีมา
เมื่อปี พ.ศ. 2501
วัดสักขี
(วัดสุทธิกาวาส)
วัดสักขี อยู่ที่ตำบลละหาร อำเภอสายบุรี เดิมชาวบ้านเรียกวัดชี หรือวัดกักชี
เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองสายบุรี ประชาชนในบริเวณนั้นนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
ตามตำนานเมืองและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงการที่ขุนไชยสุริยา
เจ้าเมืองสายบุรีได้ไปช่วยสร้างเจดีย์มหาธาตุ
สมัยกรุงศรอยุธยาตอนต้น เมืองมะละกา เป็นศูนย์กลางการค้าขายทางทะเล
มีการติดต่อค้าขายระหว่างจีน อินเดีย เปอร์เซีย และอาหรับ
ต่อมาเจ้าเมืองมะละกาได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม และเจ้าเมืองเมืองปัตตานีก็ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามตามเมืองมะละกา
คงเหลือคนส่วนน้อยที่ยังคงนับถือพุทธศาสนา ชาวพุทธที่เหลือเหล่านี้ ได้ช่วยกันประคับประคองรักษาศาสนสถานดังเช่น
วัดสักขี แห่งนี้เอาไว้ วัดสักขีมีวิหารขนาดเล็กหลังหนึ่ง ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย
ๆ ภายในวิหารมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยอยู่ 3 องค์ ตัววิหารก่อสร้างด้วยรูปแบบโบราณทั่ว
ๆ ไป ก่อด้วยอิฐถือปูน
วัดมุจลินทวาปีวิหาร
เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ อยู่ที่ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก เป็นวัดโบราณสร้างสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ในปี พ.ศ. 2388 เป็นสถานที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
ของเจ้าเมืองหนองจิก สมัยโบราณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสแหลมมลายู ได้เสด็จมาประทับที่วัดนี้ เมื่อ
30 กรกฎาคม 2433 พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนชื่อวัดนี้จากวัดตุยง เป็นวัดมุจลินทวาปีวิหาร
และได้พระราชทานเงิน 20 ชั่ง ให้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ เป็นรูปทรงไทยสวยงาม
และได้พระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ประดับไว้ที่หน้าบันพระอุโบสถ ยังปรากฎอยู่ถึงทุกวันนี้
ต่อมาสมเด็จ ฯ พระกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ประทานพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน
(สิงห์หนึ่ง) เนื้อสำริด อายุประมาณ 800 ปี ให้เป็นพระประธานในพระอุโบสถนี้
นอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังมีพระเจดีย์ใหญ่ สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2449
เป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา พระจีนคนานุรักษ์คหบดี เมืองปัตตานี
สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับกุฎิเจ้าอาวาสซึ่งสร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน
เป็นกุฎิไม้ชั้นเดียวทรงไทย ปัจจุบันยังอยู่ในสภาพดี นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
ซึ่งพระยาวิเชียรภักดีศรีสงคราม เจ้าเมืองหนองจิก
(พ.ศ. 32388-2409)
ได้สร้างไว้สำหรับทำน้ำใช้ในการประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ซึ่งมีมาพร้อมกับการสร้างวัดแห่งนี้
|