ส่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ตั้งอยู่ในบริเวณวัดลุ่ม (มหาชัยชุมพล) อำเภอเมือง ฯ เป็นศาลไม้ลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว
สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้มีการสร้างศาลหลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม
เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทรงจตุรมุข ภายในประดิษฐานพระบรมรูปจำลองของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอยู่สององค์
องค์แรกหล่อ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ เป็นโลหะผสม ขนาดเท่าพระองค์จริงในพระอริยาบทประทับยืนเช่นกัน
ด้านข้างของศาลมีต้นสะตือใหญ่ อายุประมาณ ๓๐๐ ปี เล่าสืบต่อกันมาว่า สะตือต้นนี้พระเจ้าตากสิน
ฯ ทรงใช้เป็นที่ผูกช้างพระที่นั่ง และทรงใช้เป็นที่เสด็จออกว่าราชการในยามคับขัน
และบัญชางานสำคัญของชาติในช่วงเวลาอันคับขัน ในครั้งนั้น
ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นที่เคารพสักการะด้วยความเลื่อมใสศรัทธาของชาวระยอง
และประชาชนทั่วไปจากต่างจังหวัด
พระพุทธไสยาสน์ (พระนอนวัดป่าประดู่)
รายละเอียดมีอยู่ในหัวข้อมรดกทางพระพุทธศาสนา
พระป่าเลไลย์
รายละเอียดมีอยู่ในหัวข้อมรดกทางพระพุทธศาสนา
เจดีย์กลางน้ำ
รายละเอียดมีอยู่ในหัวข้อมรดกทางพระพุทธศาสนา
พระพุทธอังคีรส
รายละเอียดมีอยู่ในหัวข้อมรดกทางพระพุทธศาสนา
หลักเมืองระยอง
ไม่พบหลักฐานว่าได้มีการสร้างหลักเมืองไว้ในสมัยก่อนหรือไม่ จึงได้มีการสร้างหลักเมืองระยองขึ้น
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ
ถนนหลักเมือง ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง ฯ ในเขตเทศบาลเมืองระยอง
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖ ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เสาหลักเมืองเกิดชำรุดหักขาดลง
ชาวบ้านได้ช่วยกันนำไปฝังไว้ในที่เดิมโดยไม่มีอาคารคลุม ต้องกรำแดด กรำฝน
ผุกร่อนไปตามกาลเวลา
ต่อมาชาวระยองได้ช่วยกันสร้างศาลหลักเมืองด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเสร็จ เมื่อปี
พ.ศ.๒๕๑๐ แต่เนื่องจากบริเวณที่ตั้งศาลหลักเมืองเดิมมีพื้นที่คับแคบ ชาวจังหวัดระยองจึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่
โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์
สร้างมณฑป เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๔ และสร้างเสร็จ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นมณฑปจตุรมุข
และได้นำเสาหลักเมืองที่ทำขึ้นใหม่ด้วยไม้สักทอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระสุหร่าย และพระราชทานกลับมาสวมหลักเมืองเก่าให้สูง และสง่างามยิ่งขึ้น
เป็นมิ่งขวัญแก่ชาวระยองตลอดไป
ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
ภาษาถิ่นของชาวจังหวัดระยองมีเสียงพูด และความหมายของคำพูดที่ผิดแปลกไปจากจังหวัดอื่นอยู่มาก
เป็นเอกลักษณ์ของชาวระยอง ยากที่จะเรียน และศึกษาอยู่พอสมควร โดยทั่วไปแล้วสำเนียงเสียงแต่ละท้องถิ่นในจังหวัดระยองแตกต่างกันออกไป
เช่นหมู้บ้านซากกอไผ่ ห้วงหิน ซากทองหลาง บางบุตร อำเภอบ้านค่าย ก็แตกต่างจากหมู่บ้านคลองปูน
ปากน้ำประแสร์ บ้านไร่ บ้านกร่ำ อำเภอแกลง แต่คำพูดที่เป็นของชาวระยองก็ยังเข้าใจกันได้ทั่วจังหวัด
วรรณกรรม
วรรณกรรมพื้นบ้านเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นเรื่องเก่าแก่
คู่กันมากับกลุ่มชนซึ่งอาจจะตกทอดกันมาทั้งภายในกลุ่มชนเดียวกัน และที่ได้รับจากชนต่างกลุ่ม
นิทานชาวบ้านหรือนิทานพื้นบ้านของชาวระยอง ที่เกี่ยวพันกับสถานที่ในจังหวัดระยอง
พอประมวลได้ดังนี้
ตาม่องล่าย
นิทานเรื่องตาม่องล่าย เป็นนิทานที่ชาวบ้านแถบชายทะเลภาคตะวันออก เช่น ชาวสัตหีบ
จังหวัดชลบุรี ชาวบ้านเพ ชาวบ้านเก่า จังหวัดระยอง และชาวจังหวัดจันทบุรี
รวมทั้งจังหวัดตราด ก็มีเรื่องนี้เล่าสู่กันฟังโดยทั่วไป พร้อมทั้งมีสถานที่ที่สามารถอ้างได้ว่าเป็นสถานที่ที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับนิทานเรื่องนี้
พอสรุปความได้ดังนี้
ตาม่องล่ายเป็นชาวพม่า มีเมียชื่อ นางรำพึง
มีลูกสาวชื่อ นางยมโดย
เมื่อนางยมโดยโตเป็นสาว เจ้ากรุงจีนได้มาสู่ขอนางจากตาม่องล่าย
ตาม่องล่ายก็ยกให้ โดยไม่ได้บอกเล่าหรือปรึกษาหารือกับนางรำพึง พร้อมกับได้นัดวันแต่งงานไว้เรียบร้อย
ยังมีชายหนุ่มผู้หนึ่งชื่อ เจ้าลาย
เป็นคนจนแต่นิสัยดี มีความรักใคร่ชอบพอกับนางยมโดย จึงไปสู่ขอนาวจากนางรำพึงผู้เป็นแม่
นางรำพึงก็ยกให้พร้อมทั้งนัดวันแต่งงานไว้ด้วย โดยไม่ได้บอกตาม่องล่ายเช่นเดียวกัน
ครั้นถึงวันแต่งงาน ทั้งตาม่องล่ายและยายรำพึงต่างก็เตรียมงาน ตาม่องล่ายไปหาปลามาทำกับข้าวเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน
ไปพบปลากระเบนใหญ่เข้าตัวหนึ่ง จึงเอาหอกพุ่งไปยังปลากระเบน หอกเลยไปถูกเกาะกลายเป็นเกาะทะลุ
อยู่ที่หน้าอ่าวบ้านเพ ส่วนปลากระเบนตกใจว่ายน้ำหนีจนเกยขึ้นไปบนหาด เลยได้ชื่อว่าคุ้งกระเบน
นอกจากนี้ยังมีการจับหมูในเล้ามาต้ม เล้าหมูนั้นกลายเป็นเกาะเล้า
ขณะที่ต้มหมูอยู่
หมูก็ดิ้นรนจนกะทะคว่ำกลายเป็นเกาะกะทะ พระและเณรที่นิมนต์มาในงานแต่งงานก็เป็น
เกาะพระ
และเกาะเณร
พวกผู้หญิงที่มาในงานนั้นก็สนุกลุกขึ้นมาร้องรำเป็นเกาะนางรำ
โรงหนังโรงโขนที่มาแสดงฉลองในงานก็เป็นเกาะหนังโรงโขน
ยายจันกับยายจวงสองคนพี่น้องที่มาในงานก็เป็นเกาะยายจันยายจวง
บรรดาเกาะทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นเกาะที่อยู่หน้าสัตหีบทั้งสิ้น
ในวันงาน ขบวนขันหมากของพระเจ้ากรุงจีน กับขบวนขันหมากของเจ้าลายก็มาพบกันเข้า
ตาม่องล่ายพอรู้เรื่องก็โกรธยายรำพึง ว่าทำอะไรลงไปโดยไม่ปรึกษา และบอกกล่าว
จึงคว้ากระบุงขว้างยายรำพึง กระบุงลอยไปตกเป็นเขากระบุงในจังหวัดตราด
แล้วคว้าหมวกขว้างซ้ำไปอีก หมวกลอยไปตกเป็นคุ้งหมวกอยู่หน้าสัตหีบ
ฝ่ายยายรำพึงก็โกรธเช่นกัน จึงคว้างอบขว้างตาม่องล่าย งอบลอยไปตกเป็นแหลมงอบ
ในจังหวัดตราด ตาม่องล่ายโกรธคว้าครกกับสากขว้างยายรำพึง ครกกับสากลอยไปตกเป็นเกาะครก
เกาะสาก อยู่ใกล้ ๆ เกาะล้าน ยายรำพึงหนีไปครุ่นคิดถึงเหตุการณ์
ณ ชายหาดแห่งหนึ่งเลยได้ชื่อว่า หาดแม่รำพึง
หลังจากนั้น ตาม่องล่ายก็ได้ฉีกร่างนางยมโดย ออกเป็นสองซีก ซีกหนึ่งให้เจ้าลายโดยขว้างไปทางทิศตะวันตก
ตกลงมาเป็นเขานมสาว
ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกซีกหนึ่งให้พระเจ้ากรุงจีนโดยขว้างไปทางทิศตะวันออก
ตกลงมาเป็นเกาะนมสาว
อยู่บริเวณแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
เกาะสะเก็ด
นิทานเรื่องเกาะสะเก็ดมีว่า ในกาลครั้งหนึ่งมีผัวเมียคู่หนึ่งชื่อ ตาเพชรกับยายอ้าย
อยู่กินกันมาหลายสิบปี แต่ไม่มีลูก ต่อมายายอ้ายก็บอกกับตาเพชรว่า อยากมีลูกสักคนหนึ่ง
ตาเพชรก็บอกว่าจนปัญญาไม่รู้จะทำอย่างไร และเมื่อไม่มีลูกเราก็อยู่กันสองคนอย่างนี้
ต่อมาไม่นานยายอ้ายเกิดท้องขึ้นมา มีความดีใจจึงไปบอกตาเพชร อยู่ต่อมาเมื่อครบกำหนดก็คลอดลูกเป็นชายแข็งแรงน่ารัก
สองตายายก็ช่วยกันเลี้ยงด้วยความทะนุถนอมและให้ชื่อว่า ไอ้แลง
เมื่อเจ้าแลงยังเล็กอยู่ก็กินข้าวมื้อละหนึ่งทะนาน (ประมาณหนึ่งลิตร)
พอโตขึ้นอีกหน่อยก็กินข้าวมื้อละห้าทะนาน เมื่อโตขึ้นตามลำดับก็กินข้าวถึงวันละสามสัด
(ประมาณหนึ่งถัง) สองตายายเห็นว่าจะเลี้ยงไม่ไหวจึงหาอุบายกำจัด โดยให้เจ้าแลงไปตัดไม้ในป่าเอามาสร้างบ้าน
หวังจะให้ต้นไม้ล้มทับตาย เมื่อเจ้าลายเข้าไปป่าพักใหญ่ สองตายายก็เห็นสะเก็ดไม้ยางที่เจ้าแลงกำลังฟันต้นยางอยู่ปลิวว่อนไปในท้องฟ้าเหมือนกับนกนางนวลโฉบทะเลเล่น
สักพักหนึ่งก็มีเสียงตั้นไม้ล้มลงมา สองตายายดีใจคิดว่าเจ้าแลง คงถูกต้นไม้โค่นทับตายไปแล้ว
จึงพากันเดินไปดูพบเจ้าแลงแบกไม้ยางมาทั้งต้น พอมาถึงบ้านก็ทุ่มลงบนดินแล้วเอาขวานฟันต้นไม้
นั้น
เกิดสะเก็ดชิ้นน้อยใหญ่กระเด็นตกลงไปในทะเลเป็นกองโต สะเก็ดไม้ดังกล่าวก็กลายเป็นหินเป็นผาอยู่ตรงหน้าอ่าวระยองทางด้านทิศตะวันตก
จึงเรียกกันว่าเกาะสะเก็ดมาถึงทุกวันนี้
บ้านฉาง
เรื่องบ้านฉางมีอยู่ว่า สมัยก่อนบ้านฉางเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ แถบชายฝั่งทะเลตะวันออก
มีต้นฉางขึ้นอยู่เต็มไปหมด
จึงตั้งชื่อว่าบ้านฉาง แต่ก่อนเป็นกิ่งอำเภอ แต่ปัจจุบันได้ยกฐานะเป็นอำเภอแล้ว
ต่อมามีสองตายายคู่หนึ่งเดินทางไปทางทิศตะวันออกจนถึงบ้านฉาง
แล้วเดินทางต่อไปทางทิศเหนือของบ้านฉางซึ่งมีหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ยังไม่มีชื่อ
เมื่อสองตายายเดินไป ยายเกิดความเหนื่อยล้าจึงบอกตาให้พักก่อน จึงเกิดหมู่บ้านที่ชื่อว่า
บ้านยายล้า
ต่อมาเพี้ยนเป็นบ้านยายรา
ต่อมาเมื่อยายลงนอนหลับ แต่ตาไม่หลับ ไม่รู้จะคุยกับใครจึงไปกวนยาย เกิดบ้านตากวน
หลังจากนั้นสองตายายก็ได้เดินมาตามชายทะเล ยายรู้สึกขาชาจนเดินต่อไปไม่ไหว
จึงเกิดบ้านกรอกยายชาขึ้น
วัดเขาสาป
มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งนั้นมี ฤาษีรูปหนึ่งได้มานั่งจำศีลทำสมาธิที่ภูเขาเนื้อเนี้ย
ซึ่งมีถ้ำอยู่ในถ้ำสว่างมาก ท่านเข้าไปนั่งจำศีล ทำสมาธิเห็นว่าถ้ำสว่างมาก
จึงเดินตรวจดูพบว่า ในถ้ามีทองคำกองอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้กล่าวว่าเพราะทองคำดังกล่าวจึงทำให้สว่าง
ต่อมาวันหนึ่ง มีชายคนหนึ่งหลงเข้าไปในถ้ำได้ถามว่า ทำไมถ้ำจึงสว่างนัก ท่านก็บอกว่าในถ้ำนั้นมีสมบัติเป็นทองคำอยู่มาก
ชายคนนั้นมีความโลภ จึงได้ขโมยของนั้นไปทีละชิ้นทุกวัน ท่านสังเกตเห็นว่าความสว่างในถ้ำลดน้อยลงทุกวัน
จึงเดินไปดูกองสมบัติเห็นว่าเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย ก็คิดได้ว่าชายคนนั้นต้องเป็นผู้ขโมยไป
นึกโกรธจึงลั่นวาจาว่า ถ้าผู้ใดมาขโมยเอาสมบัติไปอีก ขอให้ผู้นั้นออกจากที่นี่ไปไม่ได้
มีทางออกก็ขอให้ไม่มี มีทางเข้าก็ขอให้มองไม่เห็น หลังจากนั้นเมื่อชายคนนั้นเข้ามาขโมยอีก
ก็หาทางออกไม่ได้จนตายอยู่ในนั้น ต่อมาเมื่อได้ตั้งวัดขึ้นจึงให้ชื่อว่า วัดเขาสาป
ตำบลทับมา
อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อหลายร้อยปีก่อน ณ
ที่แห่งหนึ่งเป็นทุ่งนา มีถ้าอยู่ถ้าหนึ่งเป็นที่อาศัยของพาชี (ม้าสีขาว)
พาชีตัวนี้ออกไปหากินที่หนองน้ำแห่งหนึ่งชื่อ หนองยายเสน ในถ้ำดังกล่าวมีภาชนะถ้วยโถโอชามไว้สำหรับชาวบ้านได้หยิบยืมไปใช้เวลามีงานต่าง
ๆ ไม่มีใครรู้ว่าผู้ใดเป็นคนจัดหามาไว้ ต่อมามีพวกทุจริตยืมของดังกล่าวไปใช้แล้วไม่ยอมส่งคืน
ถ้ำก็เลยปิดนับแต่นั้นมา ทั้งม้าและภาชนะที่เคยยืมไปใช้ก็หายไปหมด ในวันดีคืนดีจะมีเสียงปี่พาทย์บรรเลงอยู่บ้าง
แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
เมื่อทางราชการจัดตั้งตำบลขึ้นก็ให้ชื่อว่า
ตำบลถ้ำม้า ต่อมาเพี้ยนเป็นทับมา ในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงสถานที่นี้โดยใช้ชื่อว่า
ทับม้า ดังนี้
เป็นทุ่งแถวมีแนวแม่น้ำอ้อม ระยะหย่อนเคหานำสนาน |
เป็นเนินสวนล้วนเหล่ามะพร้าวตาล
เข้าลับบ้านทับม้าลีลาไป |
ตำนานเขาตะเภาคว่ำ
ในอดีตกาลมีเมืองหนึ่งที่เจริญรุ่งเรืองมาก แต่ไม่ได้บอกว่า ณ ที่แห่งใดและไม่รู้ว่าชื่อเมืองอะไร
ต่อมาเกิดความวิบัติห่าลง (อหิวาตกโรค) อันเนื่องจากฝนแล้ง เกิดข้าวยากหมากแพง
ผู้คนใจคออำมหิตโหดร้ายไม่มีศีลไม่มีสัตย์ คนดีถูกเหยียบย่ำ คนชั่วเฟื่องฟูขึ้นครองเมือง
บรรดาสมณพราหมณ์ออกไปอยู่ป่า พวกคนต่ำช้าขับไล่บรรดานักปราชญ์ผู้ทรงคุณธรรม
ต่อมาได้เกิดฝนตกหนักจนเมืองล่ม บรรดาคนชั่วไม่สามารถหนีน้ำได้ แต่บรรดาคนดีมีศีลธรรมสามารถปีนเขาหนีน้ำท่วมได้
แล้วได้ร่วมมือร่วมใจกันต่อเรือสำเภา ลอยเหนือน้ำที่ท่วมสูงขึ้น จนมิดยอดเขารอดตายมาได้
จากนั้นได้เกิดฝนโบกขรพรรษเป็นที่น่าอัศจรรย์ตกลงมาในเรือเป็นเพชรนิลจินดา
ผู้ใดหวังได้สิ่งใดก็ได้ดังหวัง ทุกคนในเรืออิ่มทิพย์อยู่เป็นสุขบนเรือโดยปลอดภัย
เรือลอยมาพบสองตายายอยู่ที่ชายเกาะจึงช่วยเหลือให้ขึ้นมาในเรือ โดยให้ตั้งสัจจะประจำใจไว้ก่อน
ต่อมาสองตายายได้ล่วงละเมิดข้อมุสา อันเป็นนิสัยติดตัวโดยที่ไม่ได้เจตนาคือ
พอยายด่า ตาก็ด่าตอบ ทันใดนั้นก็เกิดภัยภิบัติเรือลำนั้นได้สลัดยายกระเด็นออกไป
แล้วสำเภาก็คว่ำจมลงกลางน้ำวน แต่ว่าคนในเรือไม่ตาย เกิดเป็นเขายายด่าต่อมาเพี้ยนเป็นเขายายดา
ส่วนตาเห็นเมียหายไปก็ไปหาช้าง เป็นเขาช้าง
แล้วไปหาหวายเพื่อจะนำไปฉุดเกิดเป็น เขาหวาย
เมื่อเข้าเทียบท่าเพื่อฉุดเรือแต่ฉุดไม่ไหวกลายเป็น เขาท่าฉุด
เขายายดานั้นจะมองเห็นเป็นรูปเรือสำเภาคว่ำอยู่กลางป่า ส่วนตานั้นกลายเป็นหลวงเตี่ยคอยพิทักษ์รักษาป่า
โดยสถิตอยู่ตามภูเขาทั่วไป
|