ภาษาและวรรณกรรม
ภาษา
ภาษาพูดและภาษาเขียน เหมือนกับคนภาคกลางทั่วไป
ภาษามอญ
ที่อำเภอพระประแดง มีคนไทยเชื้อสายมอญ อาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะที่อพยพมาจากจังหวัดปทุมธานี
ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ชาวมอญในไทยส่วนใหญ่พูดภาษามอญได้ แต่อ่านเขียนภาษามอญไม่ได้ ในอำเภอพระประแดงมีการเปิดโรงเรียนสอนภาษามอญขึ้น
ตำนาน
มีอยู่ไม่มากนัก
ตำนานหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน
หลวงพ่อโต ฯ เป็นพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง
๓ ศอก ๑ คืบ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๑๐
มีพระพุทธรูปสามองค์ ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างทางมีการแสดงอภินิหารให้ผู้คนได้เห็น
เช่น ฉุดจากน้ำไม่ขึ้น เมื่อทั้งสามองค์ลอยมาถึงเมืองฉะเชิงเทรา กลับลอยทวนน้ำขึ้นไป
แล้วจมหายไปอีกครั้ง จึงเรียกบริเวณนั้นว่า สามพระทวน
ต่อมาได้กลายเป็นสัมปทวน พระพุทธรูปทั้งสามองค์ลอยน้ำมาตามแม่น้ำบางปะกง
ตรงที่เรียกว่า ตำบลบางพระ
แล้วลอยน้ำต่อไปจนกระทั่งองค์หนึ่งไปฉุดขึ้นที่วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม
จึงเรียกหลวงพ่อวัดบ้านแหลม
องค์ที่สองมาฉุดขึ้นได้ที่ วัดหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา และองค์ที่สาม
ลอยน้ำมาถึงปากน้ำคลองสำโรง ชาวบ้านได้อาราธนาขึ้นจากน้ำได้ ที่หน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม
บางพลี
ตำนานการปล่อยปลา
การปล่อยปลาที่พระประแดง ในวันสงกรานต์ มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า
มีพระอาจารย์รูปหนึ่งมีความชำนาญในการเป็นหมอดู ต่อมาวันหนึ่งท่านได้ตรวจดวงชะตาของลูกศิษย์
ที่เป็นสามเณรรูปหนึ่งพบว่า ชะตาขาด จะต้องตายในไม่ช้า จึงแนะนำให้กลับบ้านไปเยี่ยมลาโยม
บิดามารดาก่อนตาย
ในระหว่างทางเดินกลับบ้าน ได้ผ่านหนองน้ำที่น้ำแห้งขอด เห็นปลาติดอยู่ในปลักก็เกิดสงสาร
จึงช้อนปลาไปปล่อยในหนองน้ำที่มีน้ำ แล้วเดินทางไปถึงบ้านพบปะโยม บิดามารดาจนได้เวลาอันสมควร
จึงเดินทางกลับวัด
ฝ่ายพระอาจารย์เห็นว่า สามเณรยังไม่ตาย จึงได้สอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ระหว่างเดินทางจึงทราบว่าสามเณรได้ช่วยชีวิตปลาไว้ เป็นการทำบุญต่อชะตาของสามเณร
ด้วยเหตุดังกล่าวที่พระประแดงจึงมีการทำบุญโดยการปล่อยปลาเป็นการสะเดาะเคราะห์
ถือเป็นประเพณีของท้องถิ่นในวันสงกรานต์มาจนถึงทุกวันนี้
การละเล่นพื้นบ้านนาฎศิลป์และดนตรี
การละเล่นของเด็ก
เนื่องจากจังหวัดสมุทรปราการมีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพ ฯ วิถีชีวิตของสังคมเมืองจึงคล้ายกัน
การละเล่นของเด็กในสมัยก่อนก็เป็นอย่างเดียวกันได้แก่ การเล่นจ้ำจี้ แมงมุมขยุ้มหลังคา
อีกาฟักไข่ ขายข้าวขายแกง วิ่งกะลา รถกาบหมาก เสือข้ามห้วย ตี๋จับ หมากเก็บ
อีตัก ล้อต๊อก เป่าหยิงชุบ ช่อนหา เป่ากบ ฯลฯ
การละเล่นของผู้ใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการมีการผสมผสานวัฒนธรรมไทย ลาว มอญ และอื่น
ๆ
สะบ้ามอญ
ชาวมอญที่พระประแดงได้นำเอาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมถึงการเล่นสะบ้ามอญในวันสงกรานต์มาด้วย
จุดประสงค์ของการเล่นสะบ้ามอญเพื่อให้หนุ่มสาวพบปะพูดคุยกัน โดยเลือกเล่นในวันนักขัตฤกษ์
บ่อนสะบ้า
ในตอนหัวค่ำบรรดาชายหนุ่มจากหมู่บ้านต่าง ๆ จะออกเดินทางมาหาหญิงสาวที่บ่อนสะบ้า
ลักษณะของบ่อนสะบ้ามีพื้นเรียบ มีแผ่นกระดานกั้นขอบเพื่อกันลูกสะบ้ากระเด็นออก
มีขนาด ๔ ๕ เมตร อยู่ใต้ถุนบ้านแต่ตกแต่งสวยงาม เก้าอี้นั่งแบ่งเป็นสองฝั่ง
ฝ่ายชายด้านหนึ่ง ฝ่ายหญิงอีกด้านหนึ่ง มีจำนวนเพียงพอกับผู้เล่นเช่นฝ่ายละแปดคน
อุปกรณ์การเล่น
ลูกสะบ้ารูปร่างเหมือนสะบ้าหัวเข่าคน ลักษณะกลมแบนเป็นของฝ่ายชาย ทำจากไม้กลึง
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ - ๑๗ เซนติเมตร หนา ๑.๒๕ เซนติเมตร ของฝ่ายหญิงเรียกว่าเบี้ย
หนา ๐.๖๐ เซนติเมตร ทำด้วยงาช้าง เขาควาย ทองเหลืองหรือโลหะกลึง คล้ายเหรียญกษาปณ์ขนาดใหญ่
เส้นผ่าศูนย์กลาง ๓.๕ - ๕.๐ เซนติเมตร
ผู้เล่น
มีสองฝ่าย ฝ่ายชายนุ่งผ้าลอยชายสวมเสื้อคอกว้างสีฉูดฉาด
มีผ้าสะไบสีสอพาดสองไหล่ คาดเข็มขัดเงิน สวมถุงเท้ารองเท้า ประแป้งที่ใบหน้า
หวีผมเรียบแปล้ ฝ่ายหญิงเกล้าผมมวยปักด้วยดอกไม้สีทอง
แต่งหน้าทาปาก สวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งผ้ากรอมเท้า มีสะไบพาดบ่า อย่างสาวมอญ
การเล่น
เริ่มจากการเข้าสู่ที่นั่งทั้งสองฝ่ายที่มีจำนวนเท่า ๆ กัน นั่งให้ตรงคู่ของตัว
ตรงหน้าแต่ละคน มีลูกสะบ้าวางไว้ ฝ่ายที่อยู่หัวบ่อนเป็นฝ่ายตั้งลูกสะบ้า
ฝ่ายที่อยู่ท้ายบ่อนเป็นฝ่ายเล่น ฝ่ายชายจะเริ่มเล่นด้วยท่าที่ตกลงกันไว้
เข้าไปยิงหรือตัดลูกสะบ้าให้ถูกลูกสะบ้าของฝ่ายหญิงที่ตรงคู่ของตน ถ้ายิงผิดจะต้องเข้าไปเจรจาต่อรองขอลูกสะบ้าคืน
ตอนนี้เป็นโอกาสให้ชายหนุ่มได้คุยกับหญิงสาว เมื่อเป็นที่พอใจฝ่ายหญิงก็คืนลูกสะบ้าให้ยิงใหม่
แล้วสลับให้ฝ่ายหญิงเล่นบ้างในลักษณะเดียวกันจนครบคน จนจบทุกท่าถือว่าเล่นได้หนึ่งเมือง
เล่นไปเรื่อย ๆ จนถึงเที่ยงคืนแล้วหยุดพัก บริโภคอาหารที่ฝ่ายหญิงเตรียมไว้
ส่วนจะเล่นต่อหรือไม่แล้วแต่ทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน ถ้าเลิกเล่นฝ่ายชายต้องเป็นฝ่ายเข้าไปลากลับพร้อมทั้งขอโทษฝ่ายหญิงถ้าได้ล่วงเกินอะไรไปบ้าง
สะบ้าทอย
เป็นการละเล่นของผู้ชายในวันสงกรานต์ที่พระประแดง มีให้ชมที่วัดทรงธรรมวรวิหาร
แตกต่างจากสะบ้ามอญตรงที่เป็นเรื่องของผู้ชาย เป็นการประลองความแข็งแรงและความแม่นยำของการทอยสะบ้า
สนามเล่นสะบ้าทอย เป็นลานดินเรียบแข็ง โดยรอบโล่ง ตัวสนามกว้าง ๓ - ๕ เมตร
ยาว ๓๐ - ๔๐ เมตร ขอบสนามกั้นด้วยไม้กระดาน เพื่อกันลูกสะบ้ากระเด็นไปถูกผู้ชม
ตัวสนามแบ่งออกเป็นสามระยะคือ ระยะ ๒๐ เมตร สำหรับรุ่นเล็ก ๒๔ เมตร สำหรับรุ่นกลาง
และ ๓๐ เมตรสำหรับรุ่นใหญ่ โดยโรยปูนขาวฝ่ากลางสนาม ๑ เส้น แบ่งครึ่งสนามอีก
๑ เส้น เส้นแบ่งระยะทั้งสามระยะและโรยบอกตำแหน่งวางลูกตั้งทั้งสองฝั่ง
ลูกสะบ้ามีสองชนิดคือลูกสะบ้าตั้ง ทำจากไม้กลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ เซนติเมตร
หนา ๓.๕ เซนติเมตร จำนวน ๑๐ ลูก กับลูกสะบ้าทอย ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ลักษณะเหมือนลูกสะบ้าตั้ง
แต่ต้องลบมุม ด้านบนกลึงให้มนพองาม ตรงกลางกลึงเป็นหลุมเพื่อให้หัวแม่มือกดลงพอดี
ลูกทอยมี ๖ ลูก
การเล่น
เริ่มจากผุ้เล่นสองฝ่าย ฝ่ายละคนตั้งลูก วางเรียงเป็นรูปขนมเปียกปูน ให้ตั้งสามลูกแรกตรงกลาง
ตามเส้นกลางตั้งเรียงกันแบบหัวต่อหาง ห่างกันลูกละ ๓๐ เซนติเมตร อีกสองลูกตั้งปีกซ้ายขวาของลูกกลางเรียกปีกขวา
ปีกซ้าย การตั้งลูกให้ตั้งทั้งสองฝ่าย ฝ่ายแรกจะทอยไปให้ถูกลูกของอีกฝ่ายหนึ่งให้ล้มจนหมด
ถ้าทอยลูกที่อยู่ในแนวล่าง จะได้ลูกละ ๑ คะแนน ถ้าลูกถูกปีกซ้ายปีกขวาได้ลูกละ
๒ คะแนน รวมแต่ละครั้งได้ ๗ คะแนน ผู้ทอยต้องทอยลูกในมือให้หมดทั้งหกลูก เมื่อครบแล้วให้อีกฝ่ายได้เล่นบ้าง
ถ้าฝ่ายใดทอยจนลูกตั้งล้มหมดทั้งห้าลูกก่อน อีกฝ่ายก็ไม่ต้องทอย แต่ถ้าล้มไม่หมด
ก็ต้องให้อีกฝ่ายทอยในลักษณะเดียวกันสลับกันทั้งสองครั้ง ๆ ละหกลูก รวมสิบสองลูก
แล้วเปลี่ยนข้างกัน รวมต้องทอย ๒๔ ลูก
สะบ้าไทย
มีการเล่นอยู่บางท้องที่ มีท่าเล่น การทอย และมีชื่อเรียกท่าเหมือนกัน แต่ต่างจากสะบ้ามอญ
ปัจจุบันเกือบหาไม่ได้แล้ว ที่อำเภอบางพลี กำลังเตรียมการรื้อฟื้นให้มีการเล่นกันอีกครั้ง
ทะแยมอญ
เป็นศิลปะแขนงหนึ่งของชาวมอญ เป็นการร้องเพลงที่มีวงดนตรีประกอบ
ลักษณะการแสดงคล้ายลำตัดของไทย มีผู้แสดงสองฝ่ายคือ ฝ่ายหญิงกับฝ่ายชาย มีผู้แสดงอย่างน้อยสองคู่
คำร้องมีเนื้อหาเชิงเกี้ยวพาราสีกันของหนุ่มสาว เมื่อถึงเวลาฝ่ายชายเป็นต้นเสียงในการร้องเพลงประจำวง
ในทำนองเพลงตามสมัยนิยม ต่อจากนั้นร้องเพลงไหว้ครู ผู้แสดงที่เหลือเป็นลูกคู่คอยร้องรับตบมือให้จังหวะจนจบ
จากนั้นเป็นการร้องเพลง เนื้อหาของเพลงมีลักษณะเกี้ยวกัน ฝ่ายชายเริ่มก่อน
จากนั้นฝ่ายหญิงจึงร้องโต้ จะต้องโต้ตอบกันทีละคู่จนครบทุกคู่ ในระหว่างที่ร้องจะมีการรำประกอบกันเป็นช่วง
ๆ ไปตลอดการแสดง
การแต่งกาย ฝ่ายชายแต่งกายอย่างชายมอญ
โดยสวมเสื้อคอกลมแขนสั้นลายดอก มีผ้าพาดไหล่ทิ้งชายไปข้างหลัง เข็มกลัดติดตรงกลาง
นุ่งผ้าลอยชายสีสด คาดเข็มขัด ทัดดอกไม้ มีอุบะสามขา ฝ่ายหญิง แต่งกายอย่างสาวมอญ
สวมเสื้อคอจีน หรือคอกลมแขนกระบอกหรือแขนสั้นก็ได้ ตัวเสื้อเสมอเอว นุ่งผ้าถุงสำเร็จยาวกรอมเท้า
มีสไบคล้องคอ ห้อยชายมาสด้านหน้าเสมอกัน หรือห่มแบบไทยภาคเหนือก็ได้ คาดเข็มขัด
ผมเกล้ามวยสูง ปล่อยปอยผมด้านซ้ายติดมวยผม
เครื่องดนตรี
ได้แก่ ซอด้วง ซอสามสาย จะเข้ กลองมอญ ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง
นาฎศิลป์
มีนาฎศิลป์พื้นบ้านอยู่ไม่กี่อย่าง ศิลปการแสดงจึงเหมือนกรุงเทพ ฯ
นาฎศิลป์มอญ หรือรำมอญ
ชาวมอญที่ปากลยัดได้ต้นแบบมาจากมอญที่ปากเกร็ด นนทบุรี มีการประยุกต์เนื้อร้องเป็นภาษาไทย
ใช้ทำนองเพลงไทย สำเนียงมอญยึดรูปแบบท่ารำแบบเดิม ประดิษฐ์เป็นท่ารำให้สอดคล้องกับประเพณี
เช่น ระบำปล่อยนกปล่อยปลา ระบำส่งข้าวสงวกรานต์ รำมอญร่อนสะบ้า รำมนต์รักหงสาวดี
เครื่องดนตรี
มีระนาดรอก ฆ้องวง กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง
การแต่งกาย
ฝ่ายชายนุ่งสนับเพลากรอมน่อง นุ่งผ้าทับสนับเพลา หยักรั้งขึ้นเหนือเข่า สวมเสื้อมีทับทรวง
สังวาล กรอมคอ เข็มขัด ห้อนหน้า เจียระบาด รัดสะเอว กำไลสวมพาหุรัด
แต่เดิมศีรษะสรวมเทริด ปัจจุบันใช้ชฎา ฝ่ายหญิง นุ่งผ้านุ่งขาว สวมเสื้อในนาง
ผ้าห่ม กรอมคอ ทับทรวง กำไลสวม ทองกร เข็มขัด รัดสะเอว สวมมงกุฎ
|