ขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น
ขนบธรรมเนียมประเพณีชาวรามัญพระประแดง การแต่งกายของชาวรามัญคล้ายชาวพม่าคือ
ชอบนุ่งผ้าที่เป็นลายตาหมากรุก
ผ้านุ่งของผู้ชายมอญเรียกว่า สะส่ง หรือสม่วง เสื้อก็คล้ายพม่า เป็นเสื้อคอกลมฝ่าอกตลอดแขนทรงกระบอก
ตัวเสื้อสั้นสวมทับอยู่ข้างบนอก ในชั้นต้นนิยมโพกผ้าด้วย ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้ากานิน
ซึ่งคล้ายสะส่งของชาย แต่เล็กกว่า และมักเป็นสีพื้นตาเล็ก ๆ บางทีเรียกผ้าตาโถ่ง
นิยมนุ่งกรอมส้น
บ้านชาวมอญปากลัด มีลักษณะทรงเตี้ย มีเพิงยื่นออกไปหน้าบ้าน ฝาเป็นไม้ขัดแตะ
ต่อมาปลูกเป็นบ้านทรงไทย ชอบปลูกบ้านริมแม่น้ำลำคลอง และจะหันหน้าไปทางทิศเหนือ
ซึ่งบางครั้งจะขวางลำน้ำจึงมีคำว่า มอญขวาง
ชาวมอญปากลยัดเดิมมีอาชีพทำนา แต่เนื่องจากพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการทำนาจึงย้ายไปอยู่แถบอำเภอบางพลี
อาชีพเสริมคือการสานเสื่อกก ซึ่งมักทำหลังเก็บเกี่ยวข้าว
คนมอญมีความเชื่อในเรื่องผี ในทุกบ้านจะมีผีบ้านผีเรือนซึ่งเป็นผีประจำตระกูล
ผู้ที่รับการถ่ายทอดผีคือบุตรชายคนโตของบครอบครัว ถ้าครอบครัวใดไม่มีบุตรชายก็ถือเป็นอันสิ้นสุด
ผีที่พวกมอญนับถือมีอยู่เป็นจำนวนมากเช่น ผีมะพร้าว ผีบ้า ผีกระบอกไม้ไผ่
ผีงู ผีเต่า ผีไก่ ผีข้าวเหนียว เป็นต้น
ประเพณีส่วนใหญ่ของชาวมอญ แสดงงถึงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง
บางประเพณีก็ไม่แตกต่างจากไทย
ประเพณีทำบุญน้ำผึ้ง
มีในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนสิบ มีการนำอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัดใกล้บ้าน
หรือที่สมาคมไทยรามัญ บ้านบางกระดี่แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพ ฯ มีชาวมอญจากหลายจังหวัดมารวมกันทำบุญ
มีการนำน้ำผึ้งใส่ภาชนะไปรินลงในบาตร เพื่อให้พระภิกษุนำน้ำผึ้งไปทำน้ำกระสายยาสมุนไพร
หรือคลุกปั้นเข้ากับยาผงทำเป็นยาลูกกลอน ซึ่งเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ
อานิสงส์การถวายน้ำผึ้งมีตำนานกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอโศกเมื่อครั้งเกิดเป็นพ่อค้าน้ำผึ้ง
ได้ถวายน้ำผึ้งแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่ง และอธิษฐานว่า ขอให้ได้เป็นกษัตริย์ในชาติต่อมา
ในครั้งนั้นมีหญิงเข็ญใจชื่อนางกุมภทาสี เห็นบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าเปื้อนน้ำผึ้งที่ล้นออกมา
จึงได้ถวายผ้าเพื่อรองก้นบาตรกันเปื้อน พร้อมอธิษฐานขอให้ได้เป็นมเหสีของพ่อค้าน้ำผึ้ง
ในชาติต่อมาพ่อค้าน้ำผึ้ง และนางกุมภทาสีก็ได้ไปเกิดตามที่ได้อธิษฐานไว้ทุกประการ
ประเพณีส่งข้าวสงกรานต์
กระทำในวันที่ ๑๓, ๑๔, ๑๕ เมษายนเท่านั้น เมื่อถึงกำหนด บ้านที่รับหน้าที่ทำจะปลูกศาลเพียงตาประกอบด้วยทางมะพร้าวกับธง
การหุงข้าวสงกรานต์แต่เดิมจะต้องนำข้าวสารมาซ้อมให้ขาว นำไปซาวเจ็ดครั้ง แล้วนำไปหุงเป็นข้าวสวย
แต่แข็งกว่าเล็กน้อย แล้วนำไปแช่น้ำเย็น จากนั้นต้มน้ำทิ้งไว้ให้เย็นโรยดอกมะลิ
เอาน้ำดอกมะลิใส่ลงในข้าวที่หุงไว้ แล้วนำไปใส่หม้อดิน กับข้าวมักเป็นไข่เค็ม
ปลาเค็ม เนื้อเค็ม ผักกาดเค็ม หรือยำชนิดต่าง ๆ ของหวานได้แก่ถั่วดำต้มน้ำตาล
ผลไม้ที่นิยมได้แก่กล้วยหักมุก แตงโม
เมื่อจัดอาหารเสร็จแล้วจัดลงในกระทงวางในถาดเท่ากับจำนวนวัดที่จะไปถวาย วัดมอญในเขตอำเภอพระประแดงมีอยู่สิบวัด
เวลาประมาณตีห้าพวกสาว ๆ ในหมู่บ้านจะมารับข้าวสารสงกรานต์ เพื่อนำไปส่งตามวัดต่าง
ๆ เจ้าของบ้านจะกำหนดว่าใครจะไปวัดไหน
ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน
แต่เดิมชาวจีนเข้ามาค้าขายทางเรือสำเภามาเป็นเจ้าของเตาเผา เครื่องสังคโลกที่กรุงสุโขทัย
มาในสมัยอยุธยา ชาวจีนเข้ามามีบทบาทในการค้าขายคุมเรือสำเภา รับราชการและเป็นกุลี
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวจีนได้เป็นขุนนางหลายคน โดยเฉพาะในงานเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษี
และการค้าขายทางเรือสำเภา เมื่อมีการสร้างเมืองใหม่ที่ปากน้ำ กำลังคนในการสร้างป้อมปราการส่วนใหญ่เป็นกลีชาวจีน
ปากน้ำสมุทรปราการ เป็นเมืองหนึ่งที่ชาวจีนใช้เป็นที่ก่อร่างสร้างตัว โดยประกอบอาชีพเป็นกุลีตามท่าเรือเป็นพ่อค้าแม่ค้า
ทำสวนผัก โรงฝิ่นและอื่น ๆ ด้วยความขยันและมีทักษะในการค้าขายทำให้ชาวจีนเหล่านี้มีความร่ำรวยอย่างรวดเร็ว
เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจขนาดใหญ่ และกิจการด้านพาณิชยกรรม
ความเชื่อ
ชาวจีนส่วนใหญ่ในจังหวัดสมุทรปราการนับถือศาสนาพุทธปนกับความเชื่ออย่างขงจื้อและเต๋า
จึงสร้างศาลเจ้าเป็นที่สถิตของวิญญาณเจ้า วีรบุรุษและบรรพบุรุษไว้เคารพบูชาในถิ่นที่อยู่ของตน
มีการเซ่นไหว้เจ้าในโอกาสต่าง ๆ เช่นในวันตรุษจีน วันสารทจีน วันเชงเม้ง วันไหว้พระจันทร์
ฯลฯ
ชาวจีนเป็นชนที่เคารพนับถือดวงวิญญาณของบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก เมื่อเสียชีวิตจะนำไปฝังที่สุสาน
ทุกปีลูกหลานจะเดินทางไปเซ่นไหว้ยังสุสาน ส่วนในวันสารทจีน และวันตรุษจีนจะเซ่นไหว้กันที่บ้าน
ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวลาว
ชาวลาวเข้ามาอยู่ในเมืองสมุทรปราการ ตั้งแต่ครั้งมีการสร้างพระสมุทรเจดีย์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า
ฯ เดิมอยู่ในบริเวณมหาวงษ์แล้วจึงกระจายไปอยู่ในที่อื่น ๆ ในจังหวัด
ชาวลาวมีประเพณีวัฒนธรรมเหมือนกับชาวไทยภาคอีสาน สภาพความเป็นอยู่จึงไม่แปลกแยกไปจากคนไทยโดยทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็นคติความเชื่อ การนับถือพระพุทธศาสนา การแต่งกาย การประกอบอาชีพ
อาหารการกิน กิริยามารยาท
ประเพณีท้องถิ่น
เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อทางศาสนา และสภาพทางธรรมชาติของท้องถิ่น โดยจัดเป็นงานประจำปีที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม
งานประเพณีแห่หงส์ธงตะขาบ
เป็นงานประเพณีประจำท้องถิ่นของอำเภอพระประแดง ในตำบลตลาด ตำบลบางพึ่ง ตำบลทรงคะนอง
ตำบลหญ้าแพรก ถ้าวัดใดเป็นวัดมอญต้องมีเสาสูงไว้ข้างหน้าอุโบสถหรือใกล้พระเจดีย์
เสาหงส์ ลักษณะเหมือนเสาธงชาติ แต่มีขนาดใหญ่กว่า บนยอดเสามีหงส์แกะสลักติดไว้ตัวหนึ่ง
ทำด้วยไม้ หรือโลหะ
ประเพณีนี้ทำเมื่อใกล้ถึงวันสงกรานต์ ชาวบ้านจะช่วยกันทำธงตะขาบ
ตกแต่งธงให้สวยงามด้วย ผ้าสีสวยสดสำหรับนำไปถวายวัด เพื่อติดตั้งบนเสาหงส์
ตัวธงตะขาบทำเป็นรูปตัวตะขาบขนาดยักษ์ เย็บด้วยผ้าพื้นสีแดง กว้างประมาณ ๑
เมตร ความยาวให้ใช้ความสูงของเสาหงส์ของแต่ละวัดเป็นหลัก เมื่อแขวนแล้วธงไม่หย่อนติดพื้นดิน
เมื่อเวลาถูกลมพัดจะพริ้วพองาม
ตัวผืนธงแบ่งออกเป็นเก้าช่อง ส่วนหัวและส่วนหางของธง แต่เดิมทำด้วยไม้ไผ่สานแล้วหุ้มด้วยผ้าแดง
ปัจจุบันทำด้วยไม้อัด ส่วนปลายของไม้ที่คันทุกช่อง ทำเป็นธงสามเหลี่ยมเล็ก
ๆ ๔๐ ผืน ติดไว้เป็นส่วนขาของตะขาบ ส่วนลำตัวตะขาบเจาะผ้าเป็นช่อง ๆ
ช่องละห้าช่องให้ลมผ่านช่วยให้ธงพริ้วเวลาลมพัด
วันแห่หงส์ธงตะขาบของชาวพระประแดง จัดในวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งเป็นวันก่อนสงกรานต์จัดช้ากว่าจังหวัดอื่น
ประมาณเจ็ดวัน บริเวณที่ตั้งขบวนแห่อยู่ในโรงเรียนอำนวยวิทย์ และบนถนนหน้าบ้านพักนายอำเภอพระประแดง
ธงตะขาบของทุกวัด จะมารวมกัน ณ ที่นี้ เพื่อทำพิธีเปิดงาน มีการแสดงรำตำนานหงสาวดีและอื่น
ๆ จากนั้นเริ่มเคลื่อนขบวนแห่ไปตามถนนในตลาดพระประแดง ในขบวนประกอบด้วยรถบุบผชาติของแต่ละวัด
มีสาวงามถือหงส์นั่งบนรถ บางส่วนเดินถือขวดโหลใส่ปลา และถือกรงนกเพื่อนำไปปล่อย
ส่วนธงตะขาบแต่ละผืนต้องจัดคนมาช่วยกันแบกหาม จับถือชายธงว่าได้บุญกุศล เป็นขบวนยาวนำหน้าด้วยขบวนกลองยาว
หรืออื่น ๆ ของแต่ละวัด แต่ละคนแต่งกายสวยงาม ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อแขนกระบอกสามส่วนสีสวยสด
เกล้าผมมวยประดับแวมด้วยดอกไม้ ผู้ชายประแป้งแต่งหน้าเป็นจุด ๆ สวมเสื้อคอกลมกว้างสีฉูดฉาด
มีผ้าผืนยาวจีบเป็นริ้วพาดสองไหล่ นุ่งผ้าลอยชาย คาดเข็มขัดเงิน หรือเข็มขัดนาก
หรือเข็มขัดทอง สวมสร้อยคอทอง
เมื่อแห่ไปรอบตลาดแล้ว ก็จะแยกย้ายกันแห่เข้าวัดของตนเอง ซึ่งมีพระภิกษุสงฆ์นั่งรอในศาลา
ที่สร้างเตรียมไว้รับประเคนถวายธงตะขาบ ชาวบ้านทั้งหมดที่ร่วมขบวนแห่ช่วยกันประคองธงตะขาบ
ผูกด้ายสายสิญจ์ประเคนถวายพระภิกษุสงฆ์ ให้ท่านรับผูกด้ายนั้น เมื่ออาราธนาศีลด้วยภาษามอญ
พระภิกษุสงฆ์สวดมนต์ให้พระเป็นภาษามอญ จบแล้วโห่สามลา จากนั้นก็จะชักรอกธงตะขาบสู่ยอดเสาหงส์
ให้อยู่ไปตลอดทั้งปี จากนั้นมีการประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ผู้มาช่วยงาน
ถวายผ้าไตรแก่พระภิกษุสงฆ์ให้ท่านครองผ้าที่ถวายใหม่ และสรงน้ำพระสงฆ์อาวุโส
รับศีลขอพรเนื่องในวันสงกรานต์ เป็นอันเสร็จพิธี
งานประเพณีรับบัว
เป็นงานประเพณีทองถิ่นของอำเภอบางพลี ซึ่งมีบึงใหญ่และมีต้นบัวขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
ดอกบัวเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ชาวพุทธใช้ดอกบัวบูชาพระรัตนตรัย
จึงเกิดประเพณีรับบัวขึ้นที่บางพลี มีความเกี่ยวเนื่องกับความผูกพันระหว่างชาวไทย
มอญ และลาว
ก่อนปี พ.ศ.๒๔๗๘ พอถึงวันขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสิบเอ็ด ของทุกปี
ชาวอำเภอเมือง ฯ และอำเภอพระประแดง ขณะชักชวนญาติมิตรพากันลงเรือ นำเครื่องดนตรีไปร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกครึกครื้นทั้งคืน
เรือบางลำ พายมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา บางลำก็เข้าคลองต่าง ๆ จนเข้าสู่ คลองสำโรง
แล้วมุ่งไปยังบ้านบางพลีใหญ่
ชาวบางพลีใหญ่จะเตรียมข้าวปลาอาหารไว้ต้อนรับแขกผู้มาเยือน พอรุ่งขึ้นสิบสี่ค่ำ
เดือนสิบเอ็ด ชาวบางพลีจะเตรียมหาดอกบัวหลวงไว้ให้ผู้มาเยือน และนำดอกบัวส่วนหนึ่งไปนมัสการหลวงพ่อโต
วัดบางพลีใน และนำดอกบัวอีกส่วนหนึ่งเตรียมไว้ให้ชาวมอญ นำกลับไปบูชา พระคาถาพัน
ที่ปากลัด
ในเช้าวันขึ้นสิบสี่ค่ำ ชาวต่างถิ่นจะพายเรือแยกย้ายกันไปขอรับบัวจากชาวบางพลี
ทั้งสองฝั่งคลองสำโรง การให้และการรับบัวกระทำกันอย่างสุภาพคือ รับส่งกันมือต่อมือ
ก่อนจะให้ต้องมีการอธิษฐานก่อน ผู้รับก็ต้องพนมมือไหว้ขอบคุณ ส่วนผู้ที่คุ้นเคยกันก็จะโยนดอกบัวให้กัน
โดยไม่มีพิธีรีตอง ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นความนิยมกัน กลายเป็น การโยนบัว
แทนการรับบัว
การรับบัวของคนต่างถิ่น จะเริ่มตั้งแต่เช้าไปถึงสาย แล้วทยอยกันกลับไป ตอนขากลับจะมีการพายเรือแข่งกัน
โดยไม่ต้องมีกรรมการตัดสิน และไม่เจาะจงว่าต้องเป็นเรือชนิดใด
ประมาณปี พ.ศ.๒๔๗๘ - ๒๔๘๑ นายอำเภอบางพลีเห็นว่า ประเพณีรับบัวมีทีท่าว่าจะจางหายไป
จึงคิดฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ มีการประกวดเรือสวยงาม มีผู้เอาไม้ไผ่มาสานเป็นโครงพระพุทธรูป
ปิดหุ้มด้วยกระดาษทอง นำมาตั้งบนเรือสังเค็ด สมมติว่าเป็นหลวงพ่อโตวัดบางพลี
มีการแจกข้าวต้มมัดแก่แขกต่างถิ่น
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๙๐ นายอำเภอบางพลีได้เพิ่มกิจกรรมโดยจัดให้มีมหรสพกลางแจ้ง
ที่บริเวณวัดบางพลีใน หรือวัดหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่กลาง และหน้าที่ว่าการอำเภอบางพลี
ตลอดคืน และจัดให้มีตลาดนัดประกวดพืชผักและประกวดนางงามเพิ่มขึ้น
งานนมัสการพระสมุทรเจดีย์
เป็นงานประจำปีของจังหวัด ในวันแรมห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด มีการเฉลิมฉลองกันเก้าวันเก้าคืน
ก่อนวันเริ่มงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด จะทำพิธีสักการะบูชา พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร
พระประธานในพระวิหาร หน้าพระสมุทรเจดีย์ บวงสรวงพระวิญญาณและดวงวิญญาณของท่านผู้เกี่ยวข้อง
ในการสร้างพระสมุทรเจดีย์ ผู้สร้างเมืองสมุทรปราการ และผู้มีพระคุณต่อเมืองสมุทรปราการ
โดยพราหมณ์จากสำนักพระราชวังมาทำพิธี
ในวันแรมสองค่ำ เดือนสิบเอ็ด มีการช่วยกันเย็บผ้าแดงผืนใหญ่ สำหรับแห่และห่มองค์พระสมุทรเจดีย์
ใช้เวลาเย็บสองวัน ในวันแรมห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด จะเชิญผ้าแดงดังกล่าวขึ้นตั้งบนบุษบก
แห่ทางบกไปรอบตัวเมือง
เวลา ๑๑.๐๐ น. เชิญผ้าแดงลงสู่เรือ แห่ไปตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นไปพระประแดง
แต่เดิมใช้เรือพายประมาณ ๑๐๐ ลำ เมื่อส่งผ้าแดงขึ้นบกแล้ว จะเป็นเรือที่ใช้แข่งเรือพายประจำปีที่พระประแดง
ปัจจุบันใช้เรือยนต์ลากจูงแทน มีวงดุริยางค์บรรเลงตลอดทาง เมื่อถึงท่าน้ำพระประแดง
ทำพิธีรับผ้าแดงแห่รอบเมืองพระประแดง แล้วจึงยกขบวนมาที่พระสมุทรเจดีย์ ผู้ว่าราชการพร้อมด้วยข้าราชการประชาชนประกอบพิธีทำทักษิณาวรรตรอบองค์
พระสมุทรเจดีย์สามรอบ แล้วมอบผ้าแดงให้ผู้มีความชำนาญในการห่มผ้า ช่วยกันนำผ้าแดงขึ้นมาชั้นที่สอง
ไปจนถึงองค์ระฆัง แล้วคลี่ออกห่มองค์พระเจดีย์
งานนมัสการพระสมุทรเจดีย์ จัดที่บริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ และรอบ
ๆ พระสมุทรเจดีย์ มีการออกร้านกาชาด ร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง มีการแสดงและการละเล่น
เมื่อถึงวันแรม แปดค่ำ เดือนสิบเอ็ด จะมีการเวียนเทียนรอบองค์พระสมุทรเจดีย์
รุ่งขึ้นมีการแข่งเรือ
การแข่งเรือพายประเพณีจังหวัดสมุทรปราการ
มักเป็นส่วนหนึ่งของงานต่าง ๆ ที่จัดเป็นประเพณีในจังหวัด เช่น งานนมัสการพระสมุทรเจดีย์
งานรับบัว งานนมัสการหลวงพ่อปาน งานแข่งเรือพระประแดง
ในวันแรม ห้าค่ำ เดือนสิบเอ็ด เป็นวันเริ่มต้นงานนมัสการพระสมุทรเจดีย์
มีการแห่ผ้าแดงที่จะใช้ห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ การแห่มีทั้งทางบกและทางเรือ
เมื่อผ้าแดงขึ้นบกที่พระประแดงไปแล้ว ฝีพายประจำเรือขบวนแห่ผ้าแดง ยังอยู่ในเรือจึงเกิดมีการประลองกำลังกัน
ด้วยการแข่งเรือ จึงเกิดเป็นประเพณีการแข่งเรือพายขึ้น ที่พระประแดงในตอนบ่าย
ปัจจุบันเรือที่แข่งไม่ใช่เรือลากจูงผ้าแดง แต่เป็นเรือยาวที่ใช้ในการแข่งโดยเฉพาะ
อีกสองวันจะไปแข่งกันอีกที่แม่น้ำเจ้าพระยา หน้าศาลากลางจังหวัด และสนามแข่งเรือของพระประแดง
ปัจจุบันอยู่บริเวณท่าน้ำพระประแดง ตั้งแต่ท่าน้ำบ้านนายอำเภอ มาสุดทางเส้นชัยที่ท่าน้ำหน้าที่ว่าการอำเภอ
วันรุ่งขึ้นเป็นวันแรมหกค่ำ เดือนสิบเอ็ด ขบวนเรือแห่ผ้าแดง ยกขบวนพายกลับมาที่พระสมุทรเจดีย์
แล้วพายรอบเกาะ จากนั้นทำพิธีเชิญผ้าแดงขึ้นห่มองค์พระสมุทรเจดีย์
ในเช้าวันแรม แปดค่ำ มีการแข่งเรือพายที่ท่าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเขื่อนริมแม่น้ำใกล้ศาลากลางจังหวัด
ในสมัยก่อนเรือที่พายแข่งขันเป็นเรือพื้นบ้าน ส่วนใหญ่เป็นเรือมาด มีฝีพายไม่เกิน
๑๐ คน ถ้าจะแข่งกับเรือเล็ก เวลาเปรียบเรือต้องมีการต่อฝีพายกัน ในสมัยต่อมาได้มีการจัดหาเรือยาว
ที่มีฝีพายลำละประมาณ ๓๐ คน แล้วแบ่งให้ทั้งสี่อำเภอ
การเข้าร่วมแข่งขัน เรือทุกลำต้องมาเปรียบเรือกันก่อน เริ่มแข่งคู่แรกประมาณเก้าโมงเช้า
โดยกรรมการจะให้สัญญาณปล่อยเรือคู่แรก ออกจากทุ่นเทียบเรือ จากนั้นคู่แข่งจ้ำพายมุ่งสู่เส้นชัย
ที่ทำเป็นธงปักไว้ต้นเดียวกลางลำน้ำ เรือที่เข้าแข่งต้องสลับสายน้ำแข่งกันสองเที่ยว
ผู้แพ้ถูกคัดออก เอาผู้ชนะแต่ละคู่มาแข่งกัน จนเหลือผู้ชนะเลิศเพียงลำเดียว
รองลงไปเป็นรองชนะเลิศ
งานแห่เจ้าพ่อทัพ สำโรง
ศาลเจ้าพ่อทัพ อยู่ที่สุดซอยวัดมหาวงษ์ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทุกปีจะมีการแห่เจ้าพ่อทัพขึ้นมา
ประมาณปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ผู้มาร่วมพิธีส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน
ขบวนแห่เดินไปตามถนนสุขุมวิท เพื่อให้ร้านค้าเซ่นไหว้
ขบวนแห่ประกอบด้วย วงดุริยางค์ ตามด้วยขบวนธงทิว ขบวนโคมไฟ ขบวนป้ายต่าง ๆ
ขบวนเอ็งกอ ขบวนสิงห์โต ขบวนทรงเจ้า และบรรดาลูกศิษย์ มีชาวไทยเชื้อสายจีนจากจังหวัดอื่น
ส่งขบวนเข้าร่วมหลายสิบขบวน ตามด้วยรถกระถางธูปเจ้าพ่อทัพ รถแห่เจ้าพ่อ
รถกระถางธูป จากศาลปุนเถ้ากง และอาม้า
ขบวนแห่เหล่านี้ เมื่อผ่านร้านค้าจะหยุดให้สิงห์โตเข้าไปในร้าน เจ้าของร้านจุดประทัดรับ
และร่วมทำบุญ
ขบวนแห่ไปจนถึงตลาดปู้เจ้าสมิงพราย แล้ววกกลับที่เดิม มีการจัดงานเฉลิมฉลองสามวัน
สามคืน ในงานมีการเล่นงิ้ว ภาพยนตร์กลางแปลง การประมูลผลไม้ และเครื่องเซ่น
กลับไปบูชา
งานประเพณีสงกรานต์พระประแดง
ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี มีการทำบุญใส่บาตร บังสุกุลกระดูก
อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
โดยทำกันที่วัด
งานสงกรานต์พระประแดง ขึ้นชื่อที่สุดของจังหวัด เป็นการผสมระหว่างวัฒนธรรมไทยกับมอญ
เริ่มตั้งแต่พอใกล้วันสรงกรานต์ แต่ละบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือน
ช่วยกันกวนกะละแม หุงข้าวเหนียวแดง เพื่อเตรียมไว้ทำบุญ แจกญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน
เตรียมหาเสื้อผ้าชุดใหม่ พร้อมเครื่องประดับร่างกาย บ้านใดหุงข้าวสงกรานต์
จะเตรียมสร้างบ้านสงกรานต์ไว้หน้าบ้าน
วันสงกรานต์ตอนเช้าบรรดาหญิงสาวที่รับเชิญ จะนำข้าวปลาอาหารและข้าวสงกรานต์ไปถวายพระภิกษุตามวัด
ขากลับมีการรดน้ำกัน ส่วนเจ้าของบ้านนำอาหารใส่กระทง พร้อมข้าวสงกรานต์มาบวงสรวงท้าวมหาสงกรานต์
ที่บ้านสงกรานต์ การบวงสรวงทำกันสามวัน ตั้งแต่วันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน
หลังจากนั้นประมาณเจ็ดวัน จะเป็นการแห่นางสงกรานต์ ประกวดนางสงกรานต์
จัดที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอ กลางคืนมีการละเล่นสะบ้ามอญ ตามบ่อนต่าง ๆ
รุ่งเช้ามีการสาดน้ำ ปล่อยนำ ปล่อยปลา สรงน้ำพระ ตอนบ่ายตำบลต่าง ๆ จัดขบวนแห่
|