ดนตรีและนาฏศิลป์
จังหวัดสมุทรสงครามได้ชื่อว่าเมืองดนตรี จะเห็นได้จากเพลงไทยเดิมแขกมอญบางช้าง
จากอดีตถึงปัจจุบันได้ให้กำเนิดนักดนตรีที่มีชื่อเสียงระดับประเทศหลายท่าน
เช่น หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เอื้อ สุนทรสนาน
ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์
เพลงแขกมอญบางช้าง
เป็นเพลงไทยเดิม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครูหน่าย
บ้านอยู่ข้างวัดพระยาญาติ (ปากง่าม) ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา เป็นผู้มีฝีมือและชื่อเสียงทางด้านดนตรีไทย
ได้สอนทำนองเพลงสองชั้นให้ศิษย์ไว้ ชื่อเพลงบางช้าง
มีอยู่สองเพลงคือ
เพลงใบ้คลั่งบางช้าง
และเพลงแขกมอญบางช้าง
ส่วนทำนองเพลงแขกมอญบางช้างสามชั้นนั้นพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
เป็นผู้แต่ง มีความหมายคล้ายจะฝากความรักความอาลัยในอดีตไว้ข้างวัดพวงมาลัย
อำเภอเมือง ฯ เคยมีตำหนักภาโณทยานของสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช
ปลูกไว้เพื่อพักผ่อน มักโปรดให้นำวงปี่พาทย์วงบางแพของนายปน นิลวงศ์
มาบรรเลง
อีกตำหนักหนึ่งคือตำหนักอัมพวาของสมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
มักโปรดให้นำวงปี่พาทย์อัมพวาของนายลวด นิลวงศ์ มาบรรเลงประชัน
ปัจจุบัน จังหวัดสมุทรสงครามยังคงเอกลักษณ์ของศิลปะแขนงนี้อยู่ ด้วยวงปี่พาทย์อีกหลายวง
ยังคงสืบทอดมรดกมาถึงปัจจุบัน เช่น วงไพรบรรเลง มิตรบรรเลง ดาวดึงส์ศิลป์
ฯลฯ มีชมรมอนุรักษ์ดนตรีไทย แสดงให้เห็นว่าในอดีต ดนตรีไทยของจังหวัดสมุทรสงคราม
เคยมีชื่อเสียงโด่งดังมาก่อนแล้ว
มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยหรือมูลนิธิ ร.๒
ได้ดำเนินโครงการสืบทอดมรดกวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ คีตศิลป์และดุริยางคศิลป์
เป็นหลักสูตรพิเศษเพื่อปลูกฝังเยาวชนในท้องถิ่นให้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย
เปิดสอนวิชาโขน ละครไทย ขับร้องเพลงไทยเดิม ดนตรีไทย (เครื่องสายและปี่พาทย์)
โครงการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๓
ศาสนพิธี
พิธีกรรม ความเชื่อ
ชาวสมุทรสงครามเป็นพุทธศาสนิกชนประมาณร้อยละ ๙๖ เป็นคริสตศาสนิกชนประมาณร้อยละ
๓ และเป็นอิสลามิกชนประมาณร้อยละ ๑
จังหวัดสมุทรสงครามมีวัดอยู่ ๑๐๙ วัด เป็นฝ่ายมหานิกาย ๑๐๒ วัด ฝ่ายธรรมยุติ
๗ วัด มีศาสนสถานของคริสต์อยู่สองแห่งคือ วัดพระแม่บังเกิด (อาสนวิหารมารีสมภพ)
ที่บางนกแขวกและวัดนักบุญยาโกบที่แม่กลอง ส่วนศาสนสถานของศาสนาอิสลามมีอยู่เพียงแห่งเดียวคือ
มัสยิดดำรงอิสลาม ตำบลปลายโพงพาง
พิธีกรรมทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์
พิธีกรรมของไทยแต่โบราณจะมีการทำพิธีอยู่สองอย่างคือ ทำตามคติพระพุทธศาสนาเรียกว่า
พิธีสงฆ์
และทำตามคติของพราหมณ์เรียกว่า
พิธีพราหมณ์
พิธีกรรมส่วนใหญ่จะทำตามคติทางพระพุทธศาสนา และมีพิธีพราหมณ์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเช่น
การทำขวัญนาค งานมงคลสมรส การประกอบพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น
การตักบาตรเทโว การแห่เทียนพรรษาในวันเข้าพรรษา การถวายผ้าอาบน้ำฝน การถวายผ้าจำนำพรรษา
การถวายสังฆทาน ฯลฯ
พิธีกรรมความเชื่อของคนไทยเชื้อสายมอญ
ชาวมอญได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลองเพราะภัยสงคราม
และต้องหาแหล่งทำกินที่อุดมสมบูรณ์ มีการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญมีอยู่แปดครั้งคือ
สมัยอยุธยาห้าครั้ง สมัยรัตนธนบุรีหนึ่งครั้ง และสมัยรัตนโกสินทรตอนต้นสองครั้ง
ตามประวัติศาสตร์ มอญได้ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพม่าตั้งแต่ก่อนพุทธกาล และเคยสถาปนาอาณาจักรมอญในบริเวณพม่าตอนกลาง
ในที่ราบลุ่มแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและมีเมืองท่าออกสู่ทะเลทำการค้ากับต่างถิ่นได้
จึงมักถูกพม่าซึ่งอยู่ในพื้นที่ตอนบนเข้ามารุกรานอยู่บ่อย ๆ และผนวกไว้ในอาณาจักรพม่าได้หลายคราว
เช่นในช่วงปี พ.ศ.๑๖๐๐ - ๑๘๓๐ มอญตกอยู่ในอำนาจของอาณาจักรพุกาม พ.ศ.๒๐๒๘
- ๒๒๘๓ ตกอยู่ในการปกครองของพม่าและในปี พ.ศ.๒๓๐๐ มอญถูกพม่าผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของพม่าจนถึงปัจจุบัน
มีการอพยพของชาวมอญเข้าสู่ประเทศไทยในสมัยอยุธยาห้าครั้งคือ
ครั้งที่หนึ่ง ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๑๒
- ๒๑๓๓
ครั้งที่สอง ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๓๓
- ๒๑๔๘
ครั้งที่สาม ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๗๓
- ๒๑๙๘
ครั้งที่สี่ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๙
- ๒๒๓๑
ครั้งที่ห้า ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๗๕
- ๒๓๐๑
การอพยพที่อาจเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดสมุทรสงครามครั้งหนึ่งคือ สมัยธนบุรี
พระยาเจ่งพาครัวมอญเข้ามาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๗ และในสมัยรัตนโกสินทรสมิงสอดเบา
ได้อพยพครัวมอญจากเมืองเมาะตะมะ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๕๗ - ๒๓๕๘
เส้นทางอพยพเข้าสู่ประเทศไทยมีอยู่หลายเส้นทางด้วยกันคือ ทางด่านเจดีย์สามองค์
จังหวัดกาญจนบุรี ทางด่านแม่ละเมา จังหวัดตาก ทางจังหวัดเชียงใหม่ และทางจังหวัดอุทัยธานี
การตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่มักจะอยู่ตามริมน้ำ โดยเฉพาะสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือกรุงเทพ
ฯ ขึ้นไป และตามริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง
สำหรับในเขตจังหวัดสมุทรสงครามได้มาตั้งชุมชนอยู่ที่ตำบลบางจะเกร็ง และตำบลบางเรือหัก
เป็นพวกที่มาจากเมืองหงสาวดี โดยเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ แล้วล่องมาตามลำน้ำแม่กลอง
กระจายกันอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ เช่น บ้านโป่ง โพธาราม จังหวัดราชบุรี ต่อลงไปถึงอำเภออัมพวา
และปากอ่าวแม่กลอง ทางการได้กำหนดเขตที่อยู่ให้เพื่อความสะดวกในการควบคุมดูแล
ชาวมอญจึงแบ่งส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่อาศัย อีกส่วนหนึ่งสร้างวัดคือ วัดศรัทธารามในปัจจุบัน
วัดศรัทธารามยังมีการสวดอภิธรรมแบบมอญอยู่
ชาวมอญนับถือ ผี ปู่ ย่า ตา ยาย และผีเรือน การนับถือผีจะต้องรับกันเป็นทอด
ๆ จากบรรพบุรษ ผู้มีหน้าที่รับคือ บุตรชายคนหัวปีของตระกูล บุตรหญิงรับไม่ได้
เมื่อถึงคราวพิธีรำผีบุตรชายจะเป็นผู้เข้าพิธีเรียกว่า ต้นผี บุตรหญิงถ้ายังอยู่ในบ้านและยังไม่มีสามี
ก็มีสิทธิ์เข้าพิธีรำผีได้ ถ้าแต่งงานแล้วถือว่าต้องเป็นสมาชิกของผีใหม่ทางฝ่ายสามี
- ธรรมเนียมประเพณีมอญ
การทำบุญของมอญมีการทำบุญสงกรานต์ สามวัน วันพระปวรณา และวันออกพรรษา
การทำบุญสงกรานต์วันต้นมีการทำบุญข้าวสารสงกรานต์ คือข้าวแช่ มีการแห่แหนมีขบวนแห่ข้าวแช่ไปวัด
และการเล่นสนุกสนาน ครั้นถึงวันสงกรานต์ที่เรียกว่า วันเนานั้น มอญถือว่าเป็นวันกระหน
(วันปีเก่าก็ไม่ใช่ปีใหม่ก็ไม่ใช่) กิจกรรมในวันเนาคือ เป็นวันแห่ดินไปถมถนน
แห่ไม้ไปค้ำต้นโพธิตามวัด และแห่ปลาไปปล่อยในสระของวัด
ประเพณีมอญมักนอนหันหัวไปทางทิศตะวันออก และทิศใต้ถือว่าเป็นศิริมงคล
วันออกพรรษา มีการแห่พระภิกษุสงฆ์หลาย ๆ วัด โดยแต่งเรืออย่างสวยงาม แล้วชักจูงเรือพระภิกษุไปร่วมงานออกพรรษาในวัดเดียว
ซึ่งจะเลือกวัดที่นับถือมากวัดใดวัดหนึ่ง แล้วเล่นแข่งเรือเป็นที่สนุกสนานกันตลอดวันพระกลางเดือนสิบเอ็ด
เมื่อพระภิกษุเสร็จกิจปวารณาแล้ว ก็แห่พระไปส่งตามวัดที่รับมาจนครบทุกวัด
ภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีท้องถิ่น
การทำน้ำตาลบางช้าง
บางช้างขึ้นชื่อในเรื่องน้ำตาลมะพร้าว เนื่องจากมีรสหวานมันและมีกลิ่นหอม
วิธีทำน้ำตาลยังสืบทอดกันต่อมาถึงปัจจุบัน น้ำตาลบางช้างคือ น้ำตาลจากเมืองแม่กลองไม่ว่าจะทำจาก
บางนางลี่ บางขันแตก ท้ายหาด ปลายโพงดพาง ลาดใหญ่ บางตะเคียน ท่าคา บางกระบือ
บางใหญ่ บางน้อย ฯลฯ
- การคัดพันธุ์มะพร้าวน้ำตาล
ในสมัยก่อนมีการเก็บ อากรสวน
เกณฑ์ที่เก็บคือ เก็บผลไม้ที่ตกผลแล้ว มีการประเมินเป็นครั้งคราวเรียกว่า
การเดินสวน
ทำให้ชาวสวนต้องคัดเลือกพันธุ์ปลูกเฉพาะที่มีคุณภาพดีให้ผลมาก ถ้าต้นไหนไม่ดีก็ฟันทิ้งเสียเพราะได้ไม่คุ้มภาษี
การคัดพันธุ์มะพร้าวตาลจึงต้องกระทำอย่างต่อเนื่องกันมาเป็นร้อยปี ชาวสวนตาลจึงรู้ดีว่าต้นใดลักษณะใดจะให้น้ำตาลสดมาก
คือจะเลือกพันธุ์มะพร้าวที่คอใหญ่ ทางมะพร้าวใหญ่ ทางถี่ ทางใหญ่สั้น มีก้านใบถี่
มะพร้าวชนิดนี้หาอาหารเก่ง มีกำลังมาก ให้น้ำตาลสดมาก ยืนต้นได้นาน เริ่มมีงวงให้น้ำตาลเมื่ออายุได้
๕-๖ ปี ส่วนมะพร้างเล็กจะใช้เวลาประมาณสามปีเศษก็ทำน้ำตาลได้ แต่จะให้น้ำตาลน้อยหรือกำลังน้อย
พันธุ์มะพร้าวที่นิยมปลูกกันมากแถบตำบลลาดใหญ่ ตำบลนางตะเคียน มักจะเป็นมะพร้าวพันธุ์สายบัว
ลักษณะลูกเป็นเหลี่ยมหรือพันธุ์สินนรา ลักษณะลูกกลม สองพันธุ์นี้ให้น้ำตาลยืนต้นนานจึงให้ผลิตผลนานต่อเนื่อง
แถบตำบลลาดแป้งมีพันธุ์เทิ้งบ้อง ลูกเป็นเหลี่ยมออกงวงเร็วให้น้ำตาลดีในช่วงแรก
แต่ยืนต้นไม่นานเท่าพันธุ์แรก
- ระบบน้ำ
มะพร้าวน้ำตาลชอบน้ำลักจืดลักเค็มหรือสองน้ำ
คือ
หัวน้ำเป็นน้ำจืด น้ำทะเลจากปากอ่าวแม่กลองจะดันน้ำจืดจากต้นน้ำกลับไปสู่ลำคลอง
และลำประโดงต่าง ๆ เข้าสู่รองสวน ผู้ที่จะตักน้ำจืดไว้ใช้ต้องรีบตักตอนหัวน้ำขึ้นเรียกว่า
น้ำขึ้นให้รีบตัก
เพราะช่วงกลางหรือปลายน้ำจะเป็นน้ำเค็ม
เมื่อน้ำลงก็จะให้ลงจนแห้งขอดจากท้องร่องสวน จนไม่เหลือน้ำอยู่เลย มะพร้าวน้ำตาลไม่ชอบน้ำไม่ว่าน้ำจืดหรือน้ำเค็ม
ระบบน้ำจึงต้องเคลื่อนไหวดี ดังนั้นตำแหน่งที่ดีสำหรับสวนมะพร้าวน้ำตาล จะต้องสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของน้ำและต้องไม่ใช่ที่ดอน
- การทำดิน
ชาวสวนจะยกร่อง การขุดลำประโดง ร่องสวน การซอยร่อง ซอยคัน หรือถนน เพื่อให้ระบบน้ำไหลได้เชื่อมโยงกัน
ให้มีสภาพคล่องในการเคลื่อนไหวของน้ำ
สวนที่มีคันดินกั้นเป็นตอน ๆ เรียกว่า ขนัด
ขนาดความยาวของขนัดขึ้นอยู่กับความยาวของหลังร่องสวน ขนัดไม่มีขนาดที่แน่นอนมีทั้งใหญ่และเล็ก
สมัยก่อนที่แม่น้ำแม่กลองจะมีเขื่อนกั้นน้ำ จะมีน้ำเหนือหรือหน้าน้ำหลากทุกปี
ในช่วงหน้าฝนต่อหน้าหนาวจะมีช่วงเวลาที่น้ำจืดนาน ชาวสวนจะปลูกข้าวในท้องร่องสวนด้วย
ซึ่งลักษณะนี้ จะเว้นระยะหลังร่องสวน ให้มีระยะห่างกันประมาณร่องสี่วา ถ้าร่องสวนแคบกว่านี้ข้าวจะไม่งาม
เพราะมีร่มเงาของมะพร้าวมากเกินไป ถ้าไม่คิดทำนาในร่องสวนก็จะเว้นระยะห่างของท้องร่องประมาณสามวา
ซึ่งเป็นลักษณะของสวนในปัจจุบัน ที่ไม่มีการทำนาในร่องสวนแล้วหลังจากที่มีการสร้างเขื่อน
โดยท้องร่องสวนนั้นชาวสวนจะขุดลึกประมาณหนึ่งชั้นพลั่ว เอาดินไปทำหลังร่อง
- การปลูก
เมื่อชาวสวนพิจารณาแล้วว่า มะพร้าวน้ำตาลต้นใดจะเอาไว้ทำพันธุ์ ก็จะปล่อยให้ติดลูกในช่วงฤดูฝน
เมื่อผลมะพร้าวมีสีเหมือนก้ามปูทะเล และก้นเป็นสีน้ำตาลบ้างแล้ว ไม่อ่อนและไม่แก่เกินไป
ถ้าอ่อนเกินไปเมื่อนำไปเพาะหัวจุกและกะลาจะเน่า ถ้าแก่เกินไปหรือปล่อยให้ตกลงมาจากต้นเอง
จะกระเทือนมาก อัตราการออกเป็นต้นจะไม่ดี และจะกลายพันธุ์
ชาวสวนมะพร้าวจะต้องปีนขึ้นไปตัดทะลายมะพร้าวนั้นพร้อมกับนำเชือกติดตัวไปด้วย
เพื่อผูกทะลายมะพร้าวแล้วค่อย ๆ โรยเชือกลงสู่พื้นดิน จากนั้นจะใช้มีดคม ๆ
ปาดเปลือกใกล้หัวจุก แต่อย่าให้โดนส่วนที่เป็นจุก โดยปาดด้านบนเพื่อให้ออกได้ง่ายขึ้น
และปาดด้านล่างที่จะวางลงบนพื้นดิน แล้ววางไว้บนดินที่มีความชุ่มชื้น อย่าให้เปลือกแห้ง
ครั้นถึงฤดูฝนปีถัดไปมะพร้าวพันธุ์จะมีใบอ่อนสองสามใบ อันเป็นห้วงเวลาที่มะพร้าวได้กินอาหารที่สะสมอยู่ในรูปของจาวมะพร้าว
ที่อยู่ภายในกะลาหมดแล้ว รากเริ่มกินดินได้แล้วให้ใช้มีดคม ๆ มาตักรากแล้ว
นำไปลงหลังร่องสวนที่เตรียมดินไว้แล้ว
การปลูกมะพร้าวให้ถี่หรือห่างต้องคำนึงว่า ถ้าปลูกถี่จะออกงวงช้าและสูงเร็ว
ถ้าปลูกห่างจะออกงวงมากและสูงช้า ดังนั้นชาวสวนจะลงมะพร้าวหลังร่อง ให้มีระยะห่างกัน
ต้นละประมาณสี่วาหรือสี่วาเศษ จำนวนที่ลงอยู่ระหว่าง ๗ - ๑๒ ต้น ต่อความยาวของร่องสวน
หลังจากนั้นจะมีการทำดินเสริมหลังร่องหรือโกยดินทุก ๆ ๑ - ๓ ปีต่อครั้ง เพราะรากมะพร้าวจะขยายออกไปตาม
- การเหนี่ยวงวงปาดตาล
เมื่อมะพร้าวออกงวง (จั่นหรือดอกที่ยังตูมอยู่) ช่วงที่ดอกหรือจั่นกำลังจะเปลี่ยนดอกอ่อนสีเหลืองไปเป็นดอกแก่สีเขียว
งวงจะชี้ขึ้นไปบนฟ้า ถ้าไม่เหนี่ยวงวงตามกรรมวิธีก็จะทำให้เอากระบอกไปแขวนรองน้ำตาลไม่ได้
ดังนั้นเมื่อเริ่มทำน้ำตาลจึงต้องเหนี่ยวงวงเสียก่อน เพื่อเวลาที่ใช้มีดตาลปาดปลายงวงเพื่อทำน้ำตาล
น้ำตาลจะได้ไหลลงไปในกระบอกที่แขวนรองน้ำตาลอยู่
การเหนี่ยวงวงต้องทำค่อย ๆ ทำเมื่อออกงวงใหม่ ๆ หรือกะเปี้ยวยังตูมและนิ่มอยู่
การเหนี่ยวงวงถ้ารีบเกินไปคองวงจะพับน้ำตาลไม่ออก ต้องควรดูงวงที่กำลังดีไม่นิ่มไม่แข็งเกินไป
แล้วเอาเชือกผูกค่อนไปทางปลายงวง จากนั้นก็นำไปเหนี่ยวไว้กับทางมะพร้าวที่อยู่ต่ำลงไป
เพื่อให้งวงค่อยโน้มปลายลงที่ละน้อยด้วยการผูกร่นเชือกลงมาวันละน้อย หรือวันเว้นวัน
แล้วเริ่มปาดปลายงวงที่มีกะเปี้ยวหุ้มอยู่ปาดไปทุก ๆ วัน จะค่อยมีน้ำตาลไหลออกมา
แต่น้ำตาลยังเดินไม่ดี ปาดไปจนประมาณหนึ่งในสามของความยาวงวงก็จะให้น้ำตาลมากพอที่จะเอากระบอกมาแขวนรองน้ำตาลที่ไหลออกมาได้
เมื่อดอกที่อยู่ภายในกะเปี้ยวกำลังจะเปลี่ยนสีจากสีเหลืองหรือดอกอ่อนเป็นสีเขียว
หรือดอกแก่ กะเปี้ยวจะแตกลาย ก็จะเลาะเอากะเปี้ยวออกซึ่งจะทำให้ก้านดอกมากมายบานออก
เพื่อจะติดลูกก็จะใช้เชือกมัดจั่นหรือดอกให้รวมเป็นมัดเหมือนตอนที่ยังมีกะเปี้ยวหุ้มอยู่
โดยมัดเป็นเปลาะ ๆ แบบมัดข้าวต้ม ถ้างวงใหญ่ก็มัดถี่ งวงเล็กก็จะมัดห่าง
การปาดตาล ถ้าตาลออกดีปาดบางก็จะทำได้นาน และทำได้จนถึงโคนงวง ถ้าตาลไม่ดีออกน้อยปาดตาลหนาหน่อย
จะหมดงวงเร็ว
- การนวดงวง และรูดดอก ในระหว่างที่เริ่มปาดตาลเมื่อชาวสวนขึ้นตาลตอนเช้า
ชาวสวนจะเอามือแตะหน้างวงที่ปาดแล้วให้มีน้ำตาลติดมือ แล้วเอามือไปลูบไล้บีบนวดงวงมะพร้าว
ไปจนถึงโคนงวง ทำเฉพาะตาลเช้า ส่วนตาลเย็นไม่ต้องนวด จะทำให้น้ำตาลออกดี
เพื่อไม่ให้หนอนกินงวงที่เริ่มปาดตาลแล้ว ชาวสวนจะรูดดอกออกไปในระยะที่ดอกกำลังเปลี่ยนจากสีเหลืองไปเป็นสีเขียว
(ดอกอ่อนจะมีสีขาว แล้วจึงเป็นสีเหลืองและสีเขียวตามลำดับ) โดยจับปลายก้านดอกรูดทีละก้าน
ส่วนที่อยู่ในเข้าไปจะใช้ปลายมีดปาดตาลจิกลงไปที่ดอกหรืออลูกที่กำลังงอกออกมาเพื่อให้ลูกตาย
เพราะถ้าติดลูกน้ำตาลจะไม่ออก
ตอนที่กะเบี้ยวหุ้มจั่นแตกลายหรือเริ่มแก่ ชาวสวนจะเลากะเบี้ยวออก ในขณะเดียววกันจะมีงวงน้องที่งอกใหม่
ให้เริ่มท่าการเหนี่ยวงวงได้ มะพร้าวต้นหนึ่งอาจทำได้ถึงสองงวงหรือสามงวงพร้อม
ๆ กัน และต่อเนื่องกันไป ต้นที่ดีมาก ๆ อาจมีถึงสี่งวงแต่หายาก
- พะองและกระบอกไม้ไผ่ที่ใช้ทำพะองสำหรับปืนขึ้นไปปาดตาลนั้น
จะต้องเลือกให้เหมาะสมคือ ไม้ไผ่ท่อนแรกจากโคมที่เรียกว่า ไม้โคนซอนั้นไม่เหมาะที่จะทำพะอง
เพราะเนื้อหนาน้ำหนักมากและมีปล้องถี่เกินไป ไม่สอดคล้องกับจังหวะก้าวปีนลูกพะอง
(ต้องใส่เหนือข้อ) ไม้ไผ่ที่จะใช้ทำพะองคือ ท่อนที่อยู่ถัดจากโคนซอขึ้นไป
ซึ่งอาจยาวถึงเจ็ดวา เป็นท่อนที่มีปล้องห่างเหมาะที่จะนำมาเจาะรูเหนือข้อแล้วใส่ลูกพะองหรือลูกสลัก
เพื่อเป็นขั้นบันไดสำหรับใช้เหยีบปีนขึ้นไป ลูกพะองทำจากไม้ฝาด ซึ่งเปว็นไม้ขึ้นอยู่ชายเลน
มีเนื้อเหนียวและทนทาน ไม้พะองแต่ก่อนมีอายุใชฃ้งานได้ ๔ - ๕ ปี
- การพาดไม้พะอง กับต้นมะพร้าว
ถ้ามะพร้าวสูงสี่วาต้องใช้ไม้พะองยาวห้าวาคือ ไม้พะองจะต้องยาวเลยคอมะพร้าวไปประมาณหนึ่งวา
จะทำให้มั่นคงเวลาปีนขึ้นลง ไม้พะองยาวที่สุดที่ชาวสวนใช้คือไม้เจ็ด (เจ็ดวา)
ถ้ามะพร้าวสูงกว่านี้ต้องใช้วิธีปาดต้น
- กระบอกน้ำตาล มีหลายขนาดแล้วแต่ตาลต้นไหนออกมากออกน้อย
ต้องเลือกใช้ขนาดที่เหมาะสมกัน กระบอกน้ำตาลทำจากกระบอกไม้ไผ่ โดยเอามาลอกเปลือกออก
เพื่อป้องกันไม่ให้เปลือกซึ่งเมื่อแห้งแล้ว จะรัดตัวกระบอกให้แตกร้าวได้ง่าย
อีกประการหนึ่งเมื่อลอกเปลือกออกแล้วจะทำให้ภายในกระบอกเย็นขึ้น น้ำตาลไม่บูดง่ายหรือมีฟองมาก
- เตาตาล
ก่อนสงครามมหาเอเซียบูรพา ชาวสวนใช้เตาโดด
เคี่ยวน้ำตาล ซึ่งเคี่ยวได้ทีละกะทะ ต่อมาได้พัฒนาเป็นเตาตูน
มีสองกระทะ ต่อช่องไฟให้ถึงกัน และต่อช่องมีรูให้ควันออกได้หลายรู เพื่อนำกระบอกน้ำตาลที่ล้างเสร็จแล้วมาคว่ำลงบ
เพื่อรมควันให้แห้ง
หลังสงครามมหาเอเซียบูรพาส ไดเพัฒนามาเป็นเตาปล่อง
ซึ่งสามารถเพิ่มลูกเตาเป็นแถวเรียงต่อกัน สามารถเคี่ยวน้ำตาลได้ ตั้งแต่ ๒
- ๖ กะทะพร้อมกัน
อิฐก่อเตา จะมีรูปลักษณะและขนาดต่างจากอิฐที่ใช้งานทั่วไปมีอยู่หกแบบหลัก
ๆ มีชื่อเรียกว่า ลูกหมู อุโมงค์ ขื่อกลาง วางข้าง ขื่อหน้า อละอิฐปล่อง
เป็นการเรียกชื่อตามการใช้งานที่เป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของเตาตาลนั่นเอง อิฐทำเตาตาลทำจากดินผสมแกลบและขี้เถ้าแกลบ
ใช้ดินเหนียวปนทราย โดยนำดินดังกล่าวที่เรียกว่าดินนวล เอามาแช่น้ำไว้เจ็ดวันแล้วจึงนำมาโม่ตามส่วนผสมอัดเป็นก้อนแล้วผึ่งในที่ร่มประมาณหนึ่งเดือนให้แห้งสนิท
ถ้าไม่แห้งเวลาเผาจะร้าว จากนั้นนำไปเผาเจ็ดวัน ถ้าเผาทีละมาก ๆ อาจต้องเผาถึง
๑๕ วัน เมื่ออิฐสุก แล้วต้องปล่อยให้เย็นลงในเตาไฟอีกสี่ - ห้าวัน จึงนำออกจากเตา
ก็จะได้อิฐทนไฟทนฝน
เมื่อก่อเตาแล้วใช้ปูนขัดมันฉาบโดยผสมฝุ่นแดงหือดำให้เตาสวย ส่วนปล่องใช้ปูนขาวผสมซีเมนต์ในการเชื่อมอิฐหรือก่ออิฐโดยจะไม่ฉาบผิวนอก
- การขึ้นตาล
ก่อนขึ้นตาลชาวสวนจะเอาไม้พยอม ไม้เคี่ยม หรือไม้ตะเคียน สับเป็นชิ้นเล็ก
ๆ ใส่ไว้ในกระบอกน้ำตาลเพื่อกันน้ำตาลบูด เพราะต้องแขวนรอน้ำตาลไว้หลายชั่วโมง
ก่อนนำไปเคี่ยว ไม้ดังกล่าวยังทำให้น้ำตาลเป็นตัว เวลาเคี่ยวอีกด้วย มิฉะนั้นเวลาเคี่ยวน้ำตาล
ๆ จะไม่แห้งหรือไม่เป็นตัว หรือจะเยิ้มเป็นน้ำคืนตัวอย่างรวดเร็ว
ชาวสวนจะขึ้นตาลตอนเช้า ผู้ที่แข็งแรงเต็มที่จะขึ้นตาลได้รายละ ๑๐๐ - ๑๒๐
ต้น แล้วแต่ต้นสูงหรือเตี้ย คิดเป็นน้ำตาลแห้งประมาณสองปีบ เสร็จประมาณเที่ยงวัน
ตาลเวลาเช้าจะออกมากกว่าตาลเวลาเย็น ในการขึ้นตาลชาวสวนจะต้องนำกระบอกเปล่าลูกใหม่ไปเปลี่ยนกระบอกเดิม
เวลาปีนลงจะต้องนำกระบอกน้ำตาลใสหรือน้ำตาลสดลงมาด้วย
โดยทั่วไปชาวสวนจะพักตาลช่วงหน้าแล้ง ถ้าไม่พักจะออกงวงน้อยลง เล็กลง และสั้นลง
หรือออกวงห่างออกไปหรือหมดงวง แต่ถ้ามีที่ดินมากก็ใช้วิธีทำสลับต้นกัน ก็จะทำน้ำตาลได้ตลอดปี
- การเคี่ยวตาล
ชาวสวนจะเอากระบอกน้ำตาลใสมากองรวมกันแล้วเทน้ำตาลผ่านผ้าขาวบางในกะชอน เพื่อกรองเอาไม้พะยอม
ที่ใส่ไว้กับสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ กะทะหนึ่งจะใส่น้ำตาลใสได้ประมาณเกือบสามปีบ
ซึ่งจะเคี่ยวเป็นน้ำตาลแห้งได้ประมาณ ๑๐ กิโลกรัม ในฤดูฝนจะใช้เวลาเคี่ยวนานกว่าหน้าแล้ง
เพราะจะมีน้ำฝนปนอยู่ในน้ำตาลใส
เมื่อเริ่มเคี่ยว ขณะที่น้ำตาลยังไม่เดือดจะมีฟองมากก็ใช้กระชอนแบบมีด้ามถือช้อนฟองออก
เมื่อน้ำตาลเริ่มเดือดฟูขึ้นก็จะใช้กระจังหรือโคครอบลงไปในกระทะ กันไม่ให้น้ำตาลล้นออกนอกกระทะ
น้ำตาลจะข้นขึ้นตามลำดับ พอเป็นฟองเหนียวหรือเป็นสีดอกหมาก จากนั้นน้ำตาลจะปุดคือเอือดแต่เนื้อข้นมาก
ชาวสวนจะหมุนไปมาไม่ให้น้ำตาลไหม้ รอจนเนื้อข้นหมดฟองก็ยกกะทะลงจากเตาแล้วใช้เหล็กกะทุ้งน้ำตาลหมุนวีไปมา
เพื่อให้น้ำตาลละเอียดเสมอกัน และเย็นตัวลงเสร็จแล้วขอดใส่ปีบ หรือหยอดเป็นน้ำตาลปึก
เป็นอันเสร็จ
ลิ้นจี่สมุทรสงคราม
เป็นลิ้นจี่ที่มาจากเมืองจีน มีการปลูกกันมาตั้งประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๔๐ มีหลายพันธุ์ด้วยกัน
พันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากทำชื่อเสียงให้สมุทรสงครามคือ พันธุ์ค่อมลำเจียก นอกจากนั้นก็มีไทย
กะโหลกใบยาว จีน สำเภาแก้ว และสาแหรก หอม เป็นต้น
ดินที่เหมาะสมในการปลูกลิ้นจี่คือดินค่อนข้างเหนียวแต่ร่วนซุย หน้าดินมีผิวดินหนาอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองและระบายน้ำได้ดี
ไม่แฉะ เมื่อต้นลิ้นจี่เริ่มเจริญเติบโตแล้ว ควรตัดแต่งกิ่ง เพื่อรักษาสัดส่วน
ทรงพุ่ม ให้ได้รับแสงแดดและอากาศทั่วทั้งต้น มีลมถ่ายเทได้สะดวก
เมื่ออายุได้ห้าปี ลิ้นจี่จะเริ่มออกดอกให้ผล การออกดอกของลิ้นจี่ต้องอาศัยความพอเหมาะ
พอดีของสภาพแวดล้อมของธรรมชาติอันได้แก่น้ำ อุณหภูมิ ความชื้น และความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิกับปริมาาณน้ำฝน
การทำถ่านไม้โกงกาง
ไม้โกงกางเป็นพันธุ์ไม้ในป่าชายเลน เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ สูงประมาณ ๒๐ -
๓๐ เมตร ลำกิ่งแตกกิ่งก้านมาก มีรากค้ำจุน การขยายพันธุ์ใช้ฝักหรือผลปักลงในดิน
ประมาณ ๑๐ วัน รากจะงอก เมื่ออายุได้ ๑๒ - ๑๕ ปี ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยทั่วไปมักนำไม้โกงกางมาทำฟืนหรือถ่าน
ประชาชนในตำบลยี่สารมีอาชีพทำถ่านไม้โกงกางมานาน การทำถ่านไม้โกงกางมีดังนี้
- นำไม้โกงกางมาตัดเป็นท่อนยาวท่อนละประมาณ ๔ หลา ลอกเอาเปลือกออก
- โรงเผาถ่าน
โครงโรงเรือนทำด้วยไม้ไผ่และไม้โกงกางยึดติดกันด้วยตอกหรือเชือก หลังคามุงจากโดยทั่วไปสูงประมาณ
๑๒ เมตร กว้างประมาณ ๑๕ เมตร
- เตาเผาถ่าน มีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม
มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕ - ๖ เมตร สูงประมาณ ๓ เมตร มีทางระบายอากาศสามทาง
มีประตูทางเข้าหนึ่งทางตัวเตาทำด้วยอิฐมอญเชื่อมต่อกันด้วยดินน้ำจืด เป็นดินนำมาจากจังหวัดราชบุรี
วิธีการเผาถ่านไม้โกงกาง คือ ลำเลียงไม้เข้าเตาเผาถ่าน เลือกไม้โกงกางท่อนขนาดใหญ่บรรจุแนวตั้งก่อน
จากนั้นจะบรรจุไม้ที่มีขนาดเล็กซ้อนด้านบนจนได้ปริมาณที่ต้องการ ทั้งนี้ต้องเว้นพื้นที่บริเวณทางเข้าไว้
ปิดทางเข้าด้วยอิฐมอญ เชื่อมติดกันด้วยดินจืด เพื่อกันไม่ให้อากาศเข้าเว้นช่องตอนล่างสุดไว้ประมาณ
๑ x ๑ ฟุต เพื่อใช้ใส่เชื้อเพลิงเวลาเผาถ่าน
เชื้อเพลิง จะใช้ส่วนอื่นของต้นโกงกาง ได้แก่รากค้ำยัน หรือกิ่งส่วนยอดที่มีขนาดเล็ก
การเผาถ่านโกงกางแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ วัน จากนั้นให้หยุดความร้อนและปิดช่องระบายความร้อน
และช่องใส่เชื้อเพลิง ทิ้งไว้ประมาณเจ็ดวันจึงนำถ่านออกมา
|