พัฒนาการทางประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐาน
ที่มาของชื่อบ้านแม่กลอง
จังหวัดสมุทรสงครามเแต่เดิมเรียกเมืองแม่กลอง การตั้งถิ่นฐานบริเวณปากแม่น้ำแห่งนี้
สันนิษฐานว่าคนกลุ่มแรกเป็นชาวแม่กลอง (เดิม) จากจังหวัดอุทัยธานี อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในถิ่นนี้
ชาวแม่กลอง (เดิม) ในจังหวัดอุทัยธานีเป็นชาวแม่น้ำ เคยอยู่ริมแม่น้ำกำแพงเพชรมาก่อน
เรียกหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นใหม่ ว่าบ้านแม่กลอง ตามชื่อบ้านเดิมของตน
ที่มาของชื่อบ้านแม่กลอง ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าด้วยเรื่องกลองใหญ่
ที่วัดใหญ่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง ฯ โดยมีนัยอยู่สองทางคือ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลวงศรีสวัสดิ์ (ชื่น เทพสุวรรณ)
นายอำเภอเมืองศรีสุวรรณ จังหวัดกาญจนบุรี ย้ายมาเป็นนายอำเภอแม่กลอง
ได้นำซุงต้นใหญ่ที่ได้มาจากจังหวัดกาญจนบุรี มาขุดทำกลองใบใหญ่ขึ้นใบหนึ่งขึงด้วยหนังวัว
ครั้นสร้างเสร็จแล้วได้นำมาถวายที่วัดใหญ่ ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
ทางราชการจึงทำตราจังหวัดเป็นรูปกลองลอยน้ำ สองฟากฝั่งเป็นต้นมะพร้าวอันเป็นสัญลักษณ์อาชีพหลักของจังหวัด
เรื่องกลองใหญ่นี้ยังมีอีกนัยหนึ่งเป็นนิยายชาวบ้านเล่าขานต่อ ๆ กันมาว่า
มีกลองใบใหญ่ลอยมาติดหน้าวัดใหญ่ ชาวบ้านช่วยกันเก็บไว้ที่วัด กลองดังกล่าวยังปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน
และเนื่องจากกลองใบนี้เป็นกลองขนาดใหญ่มากจึงเรียกว่า แม่กลอง
ท้องถิ่นสมุทรสงคราม
ชื่อเดิมของจังหวัดนอกจากชื่อแม่กลองแล้ว ยังมีชื่ออื่นอีกคือ ในสมัยก่อนคนทั่วไปรู้จักอัมพวาในชื่อของ
บางช้าง
ควบคู่กันมากับ บางกอก ดังเช่นมีคำกล่าวที่ว่า บางช้างสวนนอก
บางกอกสวนใน ที่มาของคำกล่าวนี้อาจเป็นไปได้ว่า
ตำแหน่งที่ตั้งและสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของทั้งบางกอก และบางช้างคล้ายคลึงกัน
คือต่างอยู่ในที่ดอนอันเกิดจากการทับถมของตะกอนของลำน้ำที่คดเคี้ยวออกสู่ทะเล
เหมาะแก่การทำเรือกสวน และอยู่อาศัยกันมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา
เกิดชุมชนขึ้นที่อัมพวา
เส้นทางคมนาคมทางน้ำ ก่อนออกทะเลที่สำคัญคือ ลำน้ำอ้อม
ซึ่งเป็นลำน้ำแม่กลองเก่า
ถ้าเริ่มจากปากน้ำแม่กลอง ผ่านอำเภอเมือง ฯ ขึ้นไปตามลำน้ำ จากบ้านคลองผีหลอก
เข้าเขตอำเภออัมพวาซึ่งมีลำน้ำสองสายมาบรรจบกัน ทางฝั่งเหนือเป็นลำน้ำธรรมชาติ
ทางใต้เป็นคลองขุด เหนือขึ้นไปตามลำน้ำแม่น้ำแม่กลอง แยกออกเป็นสองสาย สายแรกขึ้นไปทางเหนือไปยังอำเภอบางคนที
เป็นลำน้ำสายใหญ่ของแม่น้ำแม่กลอง อีกสายหนึ่งเรียกแม่น้ำอ้อม แยกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ไปยังอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี
บริเวณชุมชนเก่า
จากร่องรอยความเป็นมา ทำให้สามารถกำหนดแหล่งการตั้งถิ่นฐานตามแนวแม่น้ำลำคลองในเขตอำเภออัมพวา
ได้ดังนี้
- ชุมชนบริเวณแม่น้ำอ้อม
ชุมชนเก่าแก่คือ บริเวณแม่น้ำอ้อม ตั้งแต่แยกแม่น้ำแม่กลอง บ้านลัดเกาะ บ้านบางกุ้ง
ไปจนเข้าเขตอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี พบร่องรอยวัดเก่าตั้งเรียงรายอยู่ตามสองฝั่งลำน้ำ
มีการขุดคลองซอยใหญ่น้อยแยกจากแม่น้ำออกไปทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะฝั่งใต้เกือบกล่าวได้ว่า
มีคลองซอยทุกระยะสิบเส้น (๔๐๐ เมตร)
- ชุมชนบริเวณฝั่งแม่น้ำแม่กลอง
ได้แก่ บริเวณตั้งแต่อำเภออัมพวาขึ้นไปจรดคลองบางน้อย ในเขตอำเภอบางคนที เป็นบริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนชาวสวนที่หนาแน่น
ส่วนมากอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำ ซึ่งนอกจากมีชุมชนเรียงรายตามริมฝั่งแล้ว
ยังขยายตัวไปตามลำคลองอัมพวา และคลองซอย ซึ่งมีเครือข่ายขยายตัวไปทางเหนือ
และทางตะวันออกจนถึงเขตติดต่อกับคลองบางน้อย แถวบ้านบางกระบือ
ทั้งสองบริเเวณดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวสวนที่เรียกว่า สวนนอก
ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานานและยังคงสภาพอยู่ ทำให้เห็นชุมชนลักษณะเรือกสวน
และวิถีชีวิต รวมทั้งวัฒนธรรมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยาได้ในระดับหนึ่ง
- ชุมชนบริเวณเขายี่สาร
เป็นบริเวณที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่ง อยู่ในเขตอำเภออัมพวา เป็นบริเวณที่ไม่มีการทำเรือกสวน
เพราะเป็นเขตน้ำกร่อยและป่าชายเลน เป็นบริเวณจากฝั่งใต้ของทางหลวงสายปากท่อ
- แม่กลอง ลงไปจนจดเขตอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี กับอำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม
จังหวัดเพชรบุรี พันธุ์ไม้ที่ปลูกได้ดีพอสมควรคือมะพร้าว มีการตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นหย่อม
ๆ มีการขุดคลองอย่างสลับซับซ้อนเพื่อการคมนาคมและทำนากุ้ง
- ชุมชนเขายี่สาร
เป็นชุมชนเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นแหล่งที่ผู้เดินทางทางทะเลสามารถเข้ามาจอดเรือพักสินค้า
เป็นบริเวณที่มีดอนและเขาเตี้ย ๆ มีเส้นทางน้ำใหญ่ไปออกทะเลได้สะดวก สามารถติดต่อกับชุมชนที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล
มีลำคลองธรรมชาติที่เรียกว่า คลองยี่สารเก่า
มีต้นน้ำจากบ้านบางเค็มทางตะวันตก ผ่านเข้าพื้นที่ป่าชายเลนมายังเขายี่สาร
ไปออกทะเลที่บ้านคลองช่อง
ในสมัยทวาราวดีบริเวณชายหาดเก่า คือแนวที่เดิน เป็นที่ตั้งของชุมชนตั้งแต่ราชบุรีถึงเพชรบุรี
การคมนาคมทางบก จากราชบุรีไปยังเพชรบุรีได้อาศัยแนวชายหาดเก่านี้ ในตำนานเรียกชายหาดนี้ว่า
ถนนท้าวอู่ทอง
กล่าวถึงการเดินทางของท้าวอู่ทองผ่านตำบลต่าง ๆ ไปยังเมืองราชบุรี
หลักฐานทางโบราณคดีคือ บรรดาวัดเก่าต่าง ๆ ที่เรียงรายกันอยู่ พบพระสถูปเจดีย์
เสมาหินทรายสีแดง และพระพุทธรูปหินทรายที่มีอายุสมัยอยุธยาตอนต้น
ที่เขายี่สารพบเนินดินที่มีการอยู่อาศัย และเศษภาชนะดินเผาทั้งแบบเผาแกร่ง
และเคลือบชนิดเผาแกร่งเป็นพวกไห โอ่ง ชาม ที่เป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้นลงมา
ส่วนเครื่องภาชนะเคลือบมีทั้งของญวน และจีน มีอายุอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้นขึ้นไป
เอกสารโบราณที่กล่าวถึงเขายี่สารมีหลายเรื่องเช่น นิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่
แต่งขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๒๓๘๘ - ๒๓๙๒ ได้ใช้เส้นทางคลองลัดทางอ่าวบางตะบูน
แทนการเดินทางเข้าปากแม่น้ำเพชรบุรี ที่อ่าวบ้านแหลม เพราะระยะทางใกล้กว่า
และปลอดภัยกว่า เส้นทางนี้มีใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา
นอกจากนี้ยังมีตำนานเรื่องบ้านเขายี่สาร
ซึ่งสอดคล้องกับสถานที่บริเวณที่เรียกว่า อู่ตะเภา
และมีตำนานกล่าวถึงเรื่องราวของ ปู่ศรีราชา
ปู่หัวละมาน จีนสองพี่น้องที่สำเภาล่มและมีศาลที่เคารพของชาวบ้าน
เขายี่สารตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน
จากหลักฐานต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงความเป็นปึกแผ่นของชุมชนแห่งนี้ว่า มีอายุเก่าแก่กว่าสมัยอยุธยาตอนปลาย
- ชุมชนบริเวณบ้านแหลม
มีหลักฐานปรากฎในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อปี พ.ศ.๒๓๐๗ ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร
เมื่อพม่ายกกองทัพมาตีได้เมืองเพชรบุรี และเมืองราชบุรีแล้ว ราษฎรที่มีภูมิลำเนาอยู่ปากน้ำบ้านแหลม
เมืองเพชรบุรี ได้อพยพครอบครัวลงเรือหนีพม่ามาขึ้นบกที่แม่กลอง อันเป็นที่มาของ
หมู่บ้านแหลม
ในปัจจุบัน
ลำดับการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
สมัยอยุธยา
ประวัติความเป็นมาของจังหวัดสมุทรสงคราม มีปรากฎหลักฐานเก่าที่สุดในกฎหมายตราสามดวง
พระอัยการนาหัวเมืองซึ่งตราไว้ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อปี พ.ศ.๑๙๙๘
ว่า "พระสมุทรสาคร เมืองท่าจีน พระสมุทรสงคราม
เมืองแม่กลอง พระสมุทรปราการ เมืองปากน้ำ พระชนบุรี
เมืองชน" แสดงว่าเมืองแม่กลองเป็นหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก ผู้ปกครองมีราชทินนาม
พระสมุทรสงคราม
ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ (พ.ศ.๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) เมื่อราชฑูตฝรั่งเศสมายังกรุงศรีอยุธยา
ได้กล่าวว่ามีป้อมอยู่ที่เมืองแม่กลองแล้ว
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากจดหมายเหตุของมองซิเออร์ เซเบเรต์ ในคณะฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่
๑๔ แห่งฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี
พ.ศ.๒๒๓๐ - ๒๒๓๑ ตอนขากลับ ม.เซเบเรต์ ได้แยกคณะเดินทางกลับโดยไปลงเรือกำปั่นฝรั่งเศสที่เมืองตะนาวศรี
ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่สำคัญของไทย ระหว่างเดินทางเมื่อผ่านเมืองแม่กลอง
ได้บันทึกไว้มีความตอนหนึ่งว่า "ในปี พ.ศ.๒๒๓๐ ได้ออกจากเมืองท่าจีน
เพื่อไปเมืองแม่กลอง...
เวลาเย็นไปถึงเมืองแม่กลอง ซึ่งไกลจากเมืองท่าจีนประมาณ ๑๐ ไมล์ครึ่ง เมืองแม่กลองเป็นเมืองใหญ่กว่าเมืองท่าจีน
และตั้งอยู่ริมน้ำที่เรียกว่า แม่น้ำแม่กลอง
อยู่ห่างทะเลประมาณ ๑ ไมล์... เมืองแม่กลองไม่มีกำแพงเมือง มีป้อมเล็ก ๆ สี่เหลี่ยมอยู่
๑ ป้อม มุมป้อมมีหอรบอยู่ ๔ แห่ง แต่เป็นหอรบเล็กมาก ก่อด้วยอิฐไม่มีคู
แต่น้ำท่วมอยู่รอบป้อม กำแพงหรือรั้วระหว่างหอรบทำด้วยเสาใหญ่ ๆ ปักลงในดินมีเคร่าขวางถึงกันเป็นระยะ
ๆ"
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ.๒๑๗๒ - ๒๑๙๙) เมืองแม่กลองจัดเป็นหัวเมืองตรี
ขึ้นกับเมืองราชบุรี เจ้าเมืองมีราชทินนาม พระแม่กลองบุรี
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.๒๓๑๐ ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ได้กล่าวถึงเมืองแม่กลองโดยใช้ชื่อเมืองสมุทรสงคราม
สันนิษฐานว่า การเปลี่ยนชื่อเมืองคงมีมาแล้วก่อนหน้านี้ ระหว่างปี พ.ศ.๒๒๖๕
- ๒๒๙๙
ในสมัยโบราณเมืองแม่กลองได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามน้อยมาก เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากเส้นทางเดินทัพของพม่าที่จะผ่านเข้ามีตีกรุงศรีอยุธยา
แต่การเกณฑ์คนไปร่วมรบกับกองทัพในกรุงนั้น ชาวเแม่กลองต้องร่วมอยู่ด้วยทุกสงคราม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพม่ายกทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ด่านสิงขร และจากทางปักษ์ใต้
ในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกกองทัพเรือมาตั้งค่ายที่ตำบลบางกุ้ง
เรียกว่า ค่ายบางกุ้ง
โดยสร้างกำแพงล้อมวัดบางกุ้ง ให้วัดอยู่กลางค่าย
สมัยกรุงธนบุรี
หลังจากพม่าตีกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๐ ค่ายบางกุ้งไม่มีทหารอยู่รักษาจนมาถึงสมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จีนจากชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี
และราชบุรี รวบรวมพลพรรคมาตั้งเป็นกองทหารรักษาค่าย จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า
ค่ายจีนบางกุ้ง
ค่ายนี้จึงเป็นค่ายบนเส้นทางยุทธศาสตร์ ใช้รับศึกในพื้นที่ห่างไกลพระนคร ค่ายบางกุ้งเป็นปราการด่านสุดท้ายที่ข้าศึกจะเข้าถึงกรุงธนบุรี
ค่ายบางกุ้ง ตั้งอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนมี จังหวัดสมุทรสงคราม ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองฝั่งขวา
อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่เศษ
ในสงครามค่ายบางกุ้ง
เมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๑ กองทัพพม่าโดยเจ้าเมืองทวายเดินทัพเข้ามาทางไทรโยค เข้าล้อมค่ายบางกุ้งไว้
ด้วยกำลังพลสองหมื่นเศษ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหามนตรี
(บุญมา) จัดกองเรือ ๒๐ ลำ พระองค์เสด็จมาเองโดยเรือพระที่นั่งสุพรรณพิชัยนาวา
เรือยาว ๑๘ วา ปากเรือกว้างสามศอกเศษ พลกรรเชียง ๒๘ คน มายังค่ายบางกุ้ง โดยลัดมาทางคลองบางบอน
ผ่านคลองสุนัขหอน มาออกแม่น้ำแม่กลอง
การรบครั้งนี้ตะลุมบอนกันด้วยอาวุธสั้น ทหารในค่ายจุดประทัด ตีฆ้อง เปิดประตูค่ายส่งกำลังตีกระทุ้งออกมา
ทำให้ทหารพม่าอยู่ในศึกกระหนาบ และแตกหนีไป กองทัพไทยได้เรือรบศัตรูทั้งหมด
ได้ศาตราวุธตลอดจนเสบียงอาหารเป็นอันมาก
บริเวณค่ายบางกุ้ง มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแห่งด้วยกันคือ
- วัดบางกุ้ง
เป็นวัดเก่าแก่สร้างสมัยอยุธยา เดิมมีสองวัดคือ วัดบางกุ้งใหญ่ และวัดบางกุ้งน้อย
วัดบางกุ้งใหญ่คงยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน ส่วนวัดบางกุ้งน้อยกลายเป็นวัดร้าง
คงเหลือแต่โบสถ์ตั้งอยู่บนเนินดินกลางค่ายบางกุ้ง ภายในโบสถ์มีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่
ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโบสถ์น้อย
และมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ปลายสมัยอยุธยาเป็นภาพพุทธประวัติ ประตูหน้าต่างโบสถ์เป็นแบบอยุธยาตอนต้น
เสมาเป็นหินทรายแดงมีขนาดเล็ก เรียกว่า เสมาในตระกูลอัมพวา
- วัดโบสถ์
สร้างสมัยอยุธยา มีเรื่องเล่าสืบต่อมาว่า เดิมกำแพงโบสถ์เป็นกำแพงสองชั้น
ต่อมาถูกพม่าทำลายแล้วเอาอิฐไปสร้างค่ายคราวศึกบางกุ้ง อิฐที่เหลือทางวัดรื้อมาสร้างเป็นกำแพงชั้นเดียว
ยังอยู่ถึงปัจจุบัน บริเวณโบสถ์หลังเก่าพบอิฐฝังอยู่ใต้ดินเป็นแนวกำแพง ชาวบ้านได้ขุดเอาไปสร้างวัดแต่บางส่วนยังฝังอยู่ใต้ดิน
นอกจากนี้ยังพบเสากลมอยู่ใต้ดินปักเป็นแนวเข้าใจว่า เป็นแนวค่าย
โบสถ์มีลักษณะโค้งคล้ายลำสำเภา เป็นเอกลักษณ์สมัยอยุธยา หัวเสาโบสถ์เป็นแบบบัวกลีบหลายชั้น
ลายปั้นปูนตำทุกเสาสวยงามมาก บริเวณหลังโบสถ์มีสุวรรณเจดีย์ และพระปรางค์รวมสามองค์
มีรูปแบบสมัยอยุธยา ใบเสมาคู่มีสังวาลล้อมใบเสมา รูปลักษณะสมัยลพบุรี
- วัดบางพลับ
สันนิษฐานว่า สร้างสมัยอยุธยา บริเวณวัดส่วนหนึ่งที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง
อยู่ตรงข้ามค่ายบางกุ้ง เดิมเรียกว่า บ้านพักทัพ
ต่อมากลายเป็น บางพลับ
บริเวณนี้นอกจากเป็นที่พักทัพแล้ว น่าจะเป็นสมรภูมิด้วยคือ เดิมเป็นที่ว่างเปล่าและอยู่ตรงข้ามคลองบ้านค่าย
ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของค่ายบางกุ้ง สันนิษฐานว่าพม่าตั้งทัพอยู่บริเวณวัดกลางใต้
ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดร้าง มีคลองวัดจินดาวัฒนารามกับคลองบ้านค่ายคั่นอยู่ บริเวณบางพลับซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามน่าจะเป็นที่ทั้งสองฝ่ายปะทะกัน
เพราะมีการขุดพบโครงกระดูกเป็นจำนวนมากในบริเวณบ้านพักทัพ
โบราณสถานและโบราณวัตถุ ที่เหลืออยู่คือ โบสถ์ พระพุทธรูป และตู้พระธรรม
โบสถ์มีฐานโค้งคล้ายสำเภา ลวดลายหน้าบัน บานประตูโบสถ์ขนาดเล็ก แสดงลักษณะว่าเป็นสมัยอยุธยา
พระประธานปางมารวิชัย สมัยอยุธยา
พระแก้วผลึก หน้าตักกว้าง ๕นิ้ว และพระยอดธงทองคำ พระะนาคปรกศิลาทรายแดง ล้วนเป็นของมีค่าสูง
ตู้พระธรรมลายรดน้ำปิดทองวิจิตรงดงาม จำนวนสี่หลัง บรรจุคัมภีร์ใบลาน สมุดไทยเป็นจำนวนมาก
เป็นเอกสารที่มีค่ายิ่งทางวิชาการ
- คลองบ้านค่าย
เป็นคลองขุดในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อให้ทหารใช้น้ำ และเป็นคูป้องกันข้าศึก
อยู่ทางเหนือของค่ายบางกุ้ง ปัจจุบันเป็นคลองเล็ก ๆ อยู่ระหว่างวัดจินดาวัฒนารามกับวัดบางกุ้ง
คลองนี้โอบล้อมค่ายไปจนจดเขตตำบลบางสะแก
- ป้อมที่เป็นเชิงเทินหอรบ
ตั้งอยู่บนปากคลองบ้านค่าย ตำบลบางกุ้ง อำเภอบางคนที เป็นป้อมที่ก่อด้วยอิฐ
ปัจจุบันหักพังไปหมดแล้ว คนสมัยก่อนเคยเห็นตัวป้อมอยู่ที่ปากคลองบ้านค่าย
แต่อยู่ในสภาพทรุดโทรมผุพัง ปัจจุบันน้ำเซาะอิฐทำให้ป้อมส่วนใหญ่ที่เหลือจมอยู่ใต้ผิวน้ำ
เห็นได้เมื่อน้ำลดลงมาก ๆ อิฐที่พบมีขนาดใหญ่กว่าอิฐธรรมดาและแข็งแกร่งมาก
- ศาลเจ้าไท้เพ่งอ๊วงกง
เป็นศาลเจ้าที่ชาวจีนพร้อมใจกันสร้างขึ้นที่บริเวณคลองแควอ้อม ทางด้านใต้วัดอมรเทพ
จากตราสารขออนุญาตตั้งศาลเจ้าแห่งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นประวัติการสร้างศาลเจ้าไท้เพ่งอ๊วงกง
กล่าวถึงค่ายบางกุ้ง และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความว่า ทหารพม่าล้อมค่ายจีนบางกุ้งอยู่นาน
๔๑ วัน เมื่อเดือนยี่ แรมหกค่ำ ชาวบ้านและทหารไทย - จีน ที่อยู่ในค่ายได้รับความลำบากมาก
เสบียงอาหารขาดแคลนชาวบ้านที่เป็นคนชรายอมอดอาหารเพื่อเอาอาหารให้ทหารกิน
ฝ่ายไต้กงเจียบ (ออกหลวงเสนาสมุทร) ซึ่งเป็นผู้ดูแลเมืองแม่กลองได้แจ้งไปยังกรุงธนบุรี
ขอกำลังมาช่วยรบกับพม่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ และนายบุญมา ยกทัพเรือผ่านคลองบางบอน
ไปออกคลองแม่กลองถึงค่ายจีนบางกุ้งในเวลากลางคืน จึงมีบัญชาให้จอดเรือพักอยู่ฝั่งตรงข้ามกับค่าย
(ที่บ้านพักทัพ ต่อมาเปลี่ยนเป็นบางพลับ) ครั้นถึงยามสามจึงยกทัพข้ามฝั่งมาขึ้นตรงค่ายบริเวณศาลเจ้าแห่งนี้
ทหารในค่ายรู้ว่ากองทัพกรุงยกมาช่วยก็มีใจฮึกเหิม เปิดประตูค่ายบุกเข้าโจมตีกองทัพพม่าแตกกลับไป
ต่อมาพสกนิกรชาวจีน จึงพร้อมใจกันสร้างศาลบูชาขึ้น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เสด็จลงจากเรือ ณ ท้ายค่ายจีนบางกุ้ง บริเวณแหลมเตยมีชื่อเป็นภาษาจีนว่า ไท้เพ่ง
อ๊วงกง แปลว่า เทพเจ้าแห่งสันติ
ตรงเหนือบานประตูด้านในศาลเจ้า มีง้าวแขวนอยู่หนึ่งเล่ม ภายในศาลมีพระประธานพร้อมทั้งพระโมคคัลลาน์
พระสารีบุตร และมีรูปปั้นพระจีน และเซียนอยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งมีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ตั้งอยู่บนที่บูชา
ณ ศาลเจ้าแห่งนี้มีพิธีถวายสักการะเป็นประจำทุกปี ในเดือนสิบสอง ขึ้นสิบสี่ค่ำ
ของจีน คือก่อนตรุษจีนหนึ่งสัปดาห์ มีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก
สมัยรัตนโกสินทร์
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระองค์ทรงตั้งผู้มีความชอบให้ออกไปเป็น พระยา พระ หลวง ครองหัวเมืองเอก โท
ตรี จัตวา ปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือ ทั้งปวงทุกเมือง สำหรับเมืองสมุทรสงครามทรงโปรดเกล้า
ฯ ให้ นายแสง เป็นที่พระยาสมุทรสงคราม
การจัดหัวเมือง ทรงพระราชดำริว่าเมื่อครั้งกรุงเก่า เมืองปักษ์ใต้ยกมาขึ้นแก่กรมท่านั้น
เพราะกลาโหมมีความผิด บัดนี้พระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม มีความชอบมาก จึงพระราชทานแบ่งหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกรวม
๒๐ หัวเมือง มาขึ้นกับกรมพระกลาโหม ส่วนเมืองสมุทรสงครามขณะนั้นขึ้นกรมมหาดไทย
ให้มาขึ้นกรมท่า
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระองค์ทรงทีความเกี่ยวข้องกับเมืองสมุทรสงครามมาตั้งแต่ต้นคือ สมเด็จพระบรมราชชนก
เคยประทับอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม ก่อนมาเป็นทหารเอกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
และกรมสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ ทรงเป็นชาวเมืองสมุทรสงครามโดยกำเนิด พระองค์ได้เป็นอัครมเหสี
หรือพระบรมราชินีองค์แรกในราชวงศ์จักรี
พระบามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชสมภพที่เมืองสมุทรสงคราม นับว่าพระองค์เป็นกษัตริย์มีเชื้อสายชาวเมืองสมุทรสงคราม
เนื่องจากพระะราชมารดาเป็นชาวเมืองนี้
ราชินิกูลบางช้าง ซึ่งเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระอัมรินทรามาตย์ เช่น ตระกูลบุนนาค
ตระกูลชูโต ตระกูลสวัสิดิชูโต ตระกูลแสงชูโต ตระกูลวงศาโรจน์ ตระกูล ณ บางช้าง
ตระกูลภมรบุตร ล้วนแต่เป็นตระกูลที่สืบเนื่องจากชาวบางช้าง ทั้งสิ้น
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ไทยเกิดกรณีพิพาทกับญวนถึงกับทำสงครามกันด้วยเรื่องเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันทร์
การสงครามในครั้งนั้นใช้ทั้งกองทัพบกและกองทัพเรือ เมื่อมีข่าวว่าญวนได้ขุดคลองลัดจากทะเลสาบมาออกอ่าวไทย
และมีท่าทีว่าจะยกกำลังทางเรือมารุกรานไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จึงโปรดให้สร้างป้อมขึ้นตามปากแม่น้ำสำคัญ
เริ่มแต่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเป็นปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง ปากแม่น้ำบางปะกง
และปากแม่น้ำจันทบุรี
สำหรับป้อมที่ปากแม่น้ำแม่กลองนั้น ได้โปรดเกล้า ฯ ให้กรมขุนอิศเรศรังสรรค์
(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างขึ้น ที่ฝั่งตะวันออกของปากคลองแม่กลอง
ต่อจากวัดบ้านแหลม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕ เสร็จแล้วพระราชทานนามว่า ป้อมพิฆาตข้าศึก
เจ้ากรมป้อม เป็นที่ หลวงละม้าย แม้นมือฝรั่ง ปลัดป้อมเป็นที่ ขุนฉมังแม่นปืน
ส่วนป้อมเก่าที่สร้างมาแต่สมัยอยุธยานั้น อาจถูกรื้อออกก่อนสร้างแห่งใหม่
ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้ขุดลอกคลองสุนัขหอน เพราะตื้นเขินมาก ชื่อคลองสุนัขหอนนี้มีปรากฎอยู่ในหนังสือเก่า
ๆ หลายเรื่องด้วยกัน เช่น นิราศท่าดินแดง นิราศพระแท่นดงรัง นิราศเมืองเพชร
และนิราศเกาะจาน เป็นต้น การขุดลอกคลองสุนัขหอนนี้ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) จ้างจีนขุดสิ้นเงิน ๘,๑๗๖ บาท (๑๐๒ ชั่ง
๔ ตำลึง ๑ สลึง ๑ เฟื้อง) โดยพิจารณาเห็นว่าน้ำชนกันที่ตรงนั้นคงตื้นทุกแห่ง
ถ้าขุดคลองแยกเข้าไปที่น้ำชนให้สายน้ำไหลเลยเข้าไปที่ตรงน้ำชนนั้นก็จะไม่ตื้น
จึงขุดที่น้ำชน แยกเข้าไปทุ่งริมบ้านโพธิ์หักสายหนึ่ง แล้วขอแรงกระบือราษฎรชาวบ้าน
ลงลุยในคลองนั้น น้ำขึ้นลงเชี่ยว ก็ลึกอยู่ไม่ตื้นจนทุกวันนี้
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในสมัยนั้นทางราชการเห็นว่าป้อมมีความสำคัญน้อยมาก ไม่เหมาะสมกับความก้าวหน้า
ทางอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ จึงได้รื้อป้อมพิฆาตข้าศึก และกำแพงลง แล้วตั้งกองโรงเรียนพลทหารเรือที่
๑ ขึ้นแทน โดยได้โปรดเกล้า ฯ ให้นายพลเรือเอกพระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต)
มาอำนวยการสร้างโรงเรียนดังกล่าว สำหรับฝึกอบรมทหารใหม่ที่เกณฑ์จากชายฉกรรจ์ในจังหวัดสมุทรสงครามจำนวนสองกองร้อย
ฝึกหัดหนึ่งปีแล้วส่งผลัดเปลี่ยนทหารเก่าในกรุงเทพ ฯ ตั้งมาจนถึงปี
พ.ศ.๒๔๖๕ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยุบกองโรงเรียนพลทหารเรือ
โดยกระทรวงทหารเรือได้ยกอาคาร และที่ดินให้กระทรวงมหาดไทย ใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม
ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.๒๔๖๘ จนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๙ จึงได้ทำการปลูกสร้างศาลากลางจังหวัดใหม่บริเวณที่อยู่ปัจจุบัน
แล้วโอนศาลากลางเดิมให้กระทรวงสาธารณสุขใช้ในกิจการโรงพยาบาลจังหวัด
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้รวมหัวเมืองราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี ปราณบุรี
ประจวบ ฯ และเมืองสมุทรสงครามเข้าเป็นมณฑลราชบุรี
ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ได้ยกแขวงบางช้างขึ้นเป็นอำเภอชื่ออำเภออัมพวา
ตามชื่อของบ้านอัมพวา ส่วนบ้านบางช้างเป็นตำบลหนึ่งในเขตปกครองของอำเภออัมพวา
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จังหวัดสมุทรสงครามได้รับการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่หลายประการ
ได้แก่ การขุดคลองดำเนินสะดวก จากแม่น้ำท่าจีนไปสู่แม่น้ำแม่กลอง โดยเริ่มต้นที่ประตูน้ำบางยาง
อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี และต่อไปถึงอำเภอบางคนที
จังหวัดสมุทรสงคราม ผ่านประตูน้ำบางนกแขวกไปสู่แม่น้ำแม่กลอง ระยะทางยาว ๓.๕
กิโลเมตร ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ได้สร้างประตูน้ำบางยางที่อำเภอบ้านแพ้ว และประตูน้ำบางนกแขวกที่ตำบลบางนกแขวก
อำเภอบางคนที ประตูน้ำสองแห่งนี้กั้นคลองดำเนินสะดวก สิ้นค่าก่อสร้าง
๑๔๙,๐๐๐ บาท เพื่ออำนวยประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคมและการเกษตร ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงคลองดำเนินสะดวกตลอดปี
เรือสัญจรไปมาได้ทั้งปี และมีน้ำเพื่อการเกษตรให้แก่ชาวนาชาวสวนได้ตลอดปีเช่นกัน
นอกจากนั้น การสร้างทางรถไฟสายมหาชัย - ท่าจีน - แม่กลอง ใช้หัวรถจักรไอน้ำแล่นจากสถานีแม่กลอง
ไปสุดทางที่สถานีบ้านแหลม และลงเรือข้ามฟากไปขึ้นที่ท่ามหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
เพื่อขึ้นรถไฟที่สถานีมหาชัย ไปสิ้นสุดที่สถานีปากคลองสาน กรุงเทพ ฯ
|