มรดกทางธรรมชาติ
พื้นที่ป่า
พื้นที่ป่าที่ยังคงสภาพป่าที่สมบูรณ์มีอยู่ประมาณ ๗๒ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ
๔๕๐,๐๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๘ ของพื้นที่จังหวัด แบ่งออกเป็นป่าสงวนแห่งชาติ
ป่าบุ่ง ป่าทาม ป่าหัวไร่ปลายนา และยังมีป่าที่ถือเป็นมรดกทางธรรมชาติที่สมควร
ฟื้นฟูอนุรักษ์ไว้สามประเภทคือ
ป่าอนุรักษ์
มีพื้นที่ประมาณ ๗๕๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๗๒,๐๐๐ ไร่ มีอยู่สามเแห่งคือ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพนมดงรัก
ตามประกาศ ฯ ให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๒๑ ในเขตอำเภอกันทรลักษ์
อำเภอขุนหาญ มีพื้นที่ประมาณ ๓๑๕ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๑๙๗,๐๐๐ ไร่
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหัวยศาลา
ตามประกาศ ฯ กำหนดให้เขตพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๓๓ ในเขตอำเภอขุนหาญ อำเภอขุขันธ์
และอำเภอภูสิงห์ มีพื้นที่ประมาณ ๓๘๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๒๓๘,๐๐๐ ไร่
อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร
ตามประกาศ ฯ กำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๑ ในเขตอำเภอกันทรลักษ์
มีพื้นที่ประมาณ ๖๐ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๓๗,๐๐๐ ไร่
ป่าดอนปู่ตาและป่าช้า
มีกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัด ถือว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ เป็นหย่อมป่าขนาดเล็ก
มีต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ประชาชนไม่กล้าตัดฟัน เนื่องจากยำเกรงสิ่งศักดิ์สิทธิ์
อันได้แก่ ผีปู่ตาที่เชื่อว่าอยู่บริเวณนั้น
บริเวณป่าอีกประเภทหนึ่ง ที่มีอยู่ทั่วไปคือ ป่าของวัด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ป่าได้ดี
ป่าขนาดเล็กและหย่อมป่าหลายผืน ยังคงเหลืออยู่เพราะการดูแลรักษาของพระสงฆ์
ป่าสน
เรียกโดยทั่วไป ไม้สนเขา มีถิ่นกำเนิดตามเทือกเขาและที่ราบในแถบอบอุ่น และแถบหนาวของดลก
เป็นต้นไม้ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ในประเทศไทยมีอยู่เพียงสองชนิด ที่เรียกว่าสนสองใบ
และสนสามใบ
ไม้สนทั้งสองชนิดดังกล่าวไม้ขนาดใหญ่สูง ๒๐ - ๔๐ เมตร วัดรอบต้นได้ ๒๐๐ -
๓๐๐ เซนติเมตร เปลือกแตกเป็นสะเก็ดหยาบ ๆ สีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำ ไม้สนสามใบพบขึ้นในบริเวณป่าดิบเขา
และพื้นที่ราบ ที่มีความสูง ๓๐๐ - ๑,๘๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ส่วนไม้สนสองใบขึ้นอยู่
ณ ที่ความสูงตั้งแต่ ๑๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเลขึ้นไป บางท้องที่ขึ้นปะปนกับไม้ก่อ
ไม้เหียว บางแห่งก็เป็นป่าสนล้วน ๆ
ประโยชน์ของต้นสนคือ ใช้เลื่อยทำไม้กระดานได้ นอกจากจะมีความแข็งแกร่งแล้ว
ยังมีลายไม้ที่สวยงาม แต่ประโยชน์ที่ได้จากต้นสนส่วนใหญ่คือ การเจาะเอาน้ำมันสนดิบ
นำมาต้มกลั่นแล้วแยกเป็นวัตถุสองชนิดคือ น้ำมันสน และชันสน นอกจากนี้ชาวบ้านยังนิยมใช้ไม้สนที่สับฟันเป็นชิ้นเล็ก
ๆ ใช้ก่อไฟใช้จุดแทนไต้ และใช้เป็นเชื้อเพลิง
พรรณไม้
ในอดีตจังหวัดศรีสะเกษ อุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้ และได้ชื่อว่ามีไม้ตะเคียนซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง
คุณภาพดีมากที่สุดแห่งหนึ่ง ของประเทศไทย ชาวบ้านเรียกว่า ไม้แคบ แต่ปัจจุบันป่าไม้ถูกทำลายไปอย่างรวดเร็ว
พรรณไม้ต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลือ เช่น ต้นยาง ต้นพลวง ต้นชาด ต้นสะแบง ต้นพยอม
ต้นแดง ต้นประดู่ ต้นพยุง ต้นตะเคียน ต้นตะแบก ต้นสะเดา ต้นหว้า ต้นพิมาน
ต้นข่อย ต้นแต้ ต้นตีนเป็ด ต้นอะลาง เป็นต้น ขึ้นอยู่ตามป่าทั่ว ๆ ไป ไม้พื้นเมืองที่คงหลงเหลืออยู่มากคือ
ต้นชาด เป็นต้นไม้ที่โตเร็ว มักขึ้นในที่ลุ่มป่าทาม
ดอกลำดวนพรรณไม้ประจำจังหวัด
เป็นพืชออกดอกในฤดูแล้ง มีกลิ่นหอม ผลสุกมีรสหอมหวาน บางต้นอาจหวานอมเปรี้ยว
ปัจจุบันต้นลำดวนได้หมดสิ้นไป คงเหลือมีในเแหล่งที่มีการอนุรักษ์ บางส่วนนำมาปลูกในบ้านเรือน
ต้นลำดวนขนาดเล็กเท่านิ้วมือที่เรียกว่า นางลำดวน
เป็นไม้ที่เรียบตรง ชาวบ้านนิยมตัดมาทำต้นหญ้าคา ที่เรียกว่า ไพหญ้า ทำค้างแตงค้างถั่ว
ทำรั้วบ้านหรือรั้วสวน
ลำดวนเป็นพรรณไม้ประจำเขตร้อนในประเทศไทย มีขึ้นแทบทุกภาคของประเทศ ชื่อของดอกลำดวนมีปรากฏอยู่ในวรรณคดี
ตั้งแต่สมัยอยุธยา ตลอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เช่น ในลิลิตพระลอ สมุทรโฆษคำฉันท์
ลิลิตเพชรมงกุฎ รามเกียรติ์ และขุนช้างขุนแผน เป็นต้น ต้นลำดวนมีหนาแน่นในแถบอีสานตอนใต้
ดังปรากฏในจารึกเขาพระวิหารกล่าวถึงชุมชนดงลำดวน
ต้นลำดวนเป็นไม้ทรงพุ่มขนาดใหญ่ เนื้อแข็ง ทนแล้ง ใบเขียวชะอุ่มตลอดปี ชอบขึ้นในที่ดอน
แต่จะงอกงามในที่ที่มีน้ำล้อมรอบ และเนินดินปลวก (ชาวอีสานเรียกโพน) ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดจะดีกว่าตอนกิ่งหรือวิธีอื่น
ๆ ลำดวนมีลำต้นตรง เปลือกผิวเรียบ แตกกิ่งก้านเป็นพุ่ม มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวออกสลับซ้ายขวา
ใบยาวรีสีเขียวเป็นมัน ปลายใบม้วนเข้าหากันเล็กน้อย
ดอกลำดวนจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนมกราคมและเริ่มบานในเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงเดือนเมษายน
ดอกเป็นดอกเดี่ยว ออกดอกตรงซอกใบปลายกิ่ง ห้อยไปด้านหลังใบ ดอกสีเหลืองนวล
มีกลีบเลี้ยงสามกลีบ โค้งงุ้มเข้า ผิวเกลี้ยงมีขนสั้น ๆ ประปราย กลีบดอกมีสามกลีบมีขนาดเล็กแต่หนา
ผลดิบมีสีเขียวเข้ม เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง หรือสีดำ มีรสหวานอมเปรี้ยวกินได้
ดอกลำดวนมีกลิ่นหอม กลีบไม่โรยง่าย
ดอกลำดวนมีสรรพคุณทางสมุนไพร เกสรดอกลำดวนเมื่อนำไปผสมกับสมุนไพรตัวอื่นจะเป็นยาบำรุงกำลัง
บำรุงโลหิต และบำรุงหัวใจ
สัตว์ป่าชนิดต่าง
ๆ
จังหวัดศรีสะเกษได้ชื่อว่าเคยเป็นดินแดนที่เป็นป่าเสือดงช้างมาก่อน
ชาวศรีสะเกษเคยประกอบอาชีพในการจับช้างส่งไปขาย เพื่อชักลากไม้ในภาคเหนือ
ป่าเขาพนมดงรักในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ได้ชื่อว่ามีสัตว์ป่าที่ชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่ง
แม้แต่กูปรี สัตว์ที่สูญพันธุ์ ไปแล้วก็เชื่อว่ามีอยู่ในป่าแถบนี้
ปัจจุบันสัตว์ป่าทุกชนิดหายากเนื่องจากสาเหตุหลายประการได้แก่การล่าของคน
ผลจากการสู้รบในกัมพูชา ค่ายผู้อพยพตามแนวชายแดนที่รุกล้ำเข้าไปในเขตป่าซึ่งมีอยู่ทั่วไป
นกเป็ดน้ำ
ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ เนื่องจากในอดีตมีนกเป็ดน้ำอยู่เป็นจำนวนมาก
แหล่งที่เห็นได้ชัดเจนอยู่กลางตัวเมือง คือบึงศรีนครลำดวน (หนองเม็ก)
หนองน้ำหน้าปรางค์กู่ บึงใหญ่ไพรบึง เป็นต้น ในช่วงฤดูหนาวตอนเช้ามีฝูงนกเป็ดน้ำเป็นจำนวนมากจะออกหากินตามแหล่งน้ำและบินกลับรังในเวลาเย็น
ส่งเสียงร้องทั่วท้องฟ้า
นกเป็ดน้ำที่มีอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษเป็นนกเป็ดแดง ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน
ชอบหากินเป็นฝูง ผสมพันธุ์ในฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ทำรังอยู่ตามโพรงไม้
วางไข่ครั้งละ ๖ - ๗ ฟอง จะอพยพหนีอากาศหนาวมาจากประเทศจีนทุกปี เป็นนกที่ว่ายน้ำ
ดำน้ำและบินเก่ง ขณะที่บินจะส่งเสียงร้องไปด้วย เมื่อหนองน้ำต่าง ๆ
ถูกบุกรุก รวมทั้งนกเป็ดน้ำถูกล่าว เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นอาหาร ทำให้ปริมาณนกเป็ดน้ำลดลงทุกปี
ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำสำคัญ
แหล่งน้ำธรรมชาติ
มีลำห้วยสายหลักสำคัญอยู่สี่สายคือ ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ ห้วยทา และห้วยขะยุง
นอกนั้นเป็นลำน้ำที่มีขนาด และความสำคัญรองลงไป ได้แก่ ห้วยศาลา ห้วยติ้กชู
ห้วยเหนือ ห้วยจันทน์ ห้วยตาว ห้วยด่านไอ ห้วยขนุน ห้วยตาเงิด ห้วยตามาย ห้วยปูน
ห้วยน้ำดำ ห้วยซัน ห้วยคล้า ห้วยแฮด ห้วยกะเดิน ห้วยครก ลำน้ำเสียว ห้วยน้ำเค็ม
ห้วยก้ากวาก เป็นต้น
หนองน้ำและกุดที่มีขนาดใหญ่ เช่น หนองสิ กุดเตอะ กุดหวาย กุดโง้ง บึงบูรณ์
สระกำแพง กุดชมพู หนองบัวดง หนองบัวไชยวาน เป็นต้น
เอกลักษณ์ทางธรรมชาติ
ผามออีแดง
เป็นหน้าผาที่อยู่บริเวณเดียวกันกับปราสาทเขาพระวิหาร เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
ที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของผิวโลก จากลักษณะทางธรรมชาติ บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก
แถบชายแดนตอนใต้ของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเนินเขาสูง และภูผาหัก เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศไทย
กับประเทศกัมพูชา ซึ่งมีความสูงแตกต่างกันระหว่าง ๓๐๐ - ๖๗๐ เมตร แนวภูผาหักจึงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ
ตำนานผามออีแดงมีอยู่หลายตำนาน การเดินทางไปยังผามออีแดงทำได้สะดวก เมื่อเดินทางผ่านตัวอำเภอกันทรลักษณ์
มุ่งสู่ทิศใต้ตามเส้นทางสู่เขาพระวิหาร จนถึงบ้านภูมิซรอล หมู่บ้านสุดท้ายชายแดนไทย
เลี้ยวขวาไปตามถนนราดยางที่คดเคี้ยวขึ้นสู่ภูเขา สองข้างทางเป็นเนินหินและป่าโปร่ง
จนถึงยอดเนินผามออีแดง มีจุดชมวิวหลายจุด ในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว จะมีปุยละอองเมฆ
และอากาศเย็นลอยมากระทบร่างกาย
ดงดินแดงหรือภูดินแดง
สภาพดินโดยทั่วไปของจังหวัดศรีสะเกษ จัดเป็นดินร่วนปนทรายซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
ไม่อุ้มน้ำ แต่ในหลายพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญได้
พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งคือ ดงดินแดง หรือภูดินแดง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่บางส่วน
ของอำเภอกันทรลักษณ์ ศรีรัตนะ เบญจลักษณ์และขุนหาญ
ภูดินแดงเป็นภูเขาเก่าที่มีพื้นที่กว้างขวาง อยู่ลึกเข้ามาจากแนวเทือกเขาพนมดงรัก
ชายเขตแดนไทยกับกัมพูชา เป็นรอยต่อของอำเภอเบญจลักษณ์ อำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอศรีรัตนะ
อำเภอขุนหาญและอำเภอกันทรลักษณ์
ภูดินแดงเป็นเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณสองแสนไร่
เนื้อดินมีสีน้ำตาลเข้มออกแดง บางแห่งเป็นดินเนื้อละเอียด มีกำเนิดมาจากการสลายตัวอยู่กับที่ของหินบะซอลต์
และการทับถมของฝุ่นละอองลาวาภูเขาไฟ
ป่าบุ่งป่าทาม
จังหวัดศรีสะเกษมีแม่น้ำ และลำห้วยสำคัญหลายสาย บริเวณสองฝั่งลำน้ำเกิดสภาพป่าที่มีความพิเศษไปจากป่าธรรมดา
เรียกว่าป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งเป็นป่าในที่ลุ่มริมฝั่งน้ำ มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน
เป็นระบบนิเวศที่มีความสลับซับซ้อน มีความหลากหลายทางด้านชีวภาพสูง มีประโยชน์ต่อการรักษาดุลยภาพ
ของระบบนิเวศลำน้ำ และเป็นแหล่งเอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชุมชน ต้นไม้ที่เกิดในป่าบุ่งป่าทาม
เป็นต้นไม้ที่ทนทานต่อการถูกน้ำท่วม เช่น ต้นหัวลิง ต้นกล้วยน้อย ต้นเดือยไก่
ต้นโดยลิง ต้นมะดัน ต้นเสียว ต้นนบวัง ต้นฝักแสง ต้นตะเคียน ต้นกระเบา ต้นหว้า
ต้นกระโดนน้ำ ต้นกระโดนโคก ต้นกระโดนทุ่ง หรือกระโดนเตี้ย หญ้าแฝก มันแซง
มันนก เถาวัลย์ เครือซูด เครือตาปลา ต้นมะยาง ฝักกูด รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตเห็ดด้วย
ป่าทามในอดีต จะมีบวกควายนอน (แอ่งน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากควายไปจมปลักนอน)
หนองน้ำ บึง และกุด (หนองน้ำขนาดยาวอันเกิดจากลำน้ำเก่าที่เปลี่ยนทางเดิน)
กระจายอยู่ทั่วไปในลุ่มน้ำริมฝั่งแม่น้ำ เป็นแหล่งกำเนิดสัตว์น้ำ และพืชพรรณที่เป็นอาหารของสัตว์
ป่าทาม ใช้เป็นทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้จัดเข้าเป็นป่าสงวน แต่จัดให้เป็นสาธารณประโยชน์
พบทั่วไปตามสองฝั่งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ห้วยสำราญ ห้วยขะยุง ห้วยทับทัน เป็นต้น
เป็นแหล่งน้ำซับที่สะอาด เรียงรายไปตลอดลำน้ำ
ปัจจุบันป่าดังกล่าว ถูกตัดทำลายทำให้ขาดแหล่งน้ำซับต่าง ๆ ไปหล่อเลี้ยงลำน้ำ
ทำให้ลำน้ำขาดน้ำในฤดูแล้ง
เขตดงลำดวนสวนสมเด็จ
ศรีสะเกษเป็นที่รู้จักกันดีในนามเขตดงลำดวน เป็นที่ตั้งของสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์แห่งแรกของประเทศไทย
ที่มีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศน์ และทิวทัศน์ที่สวยงามร่มรื่น อบอวลด้วยกลิ่นดอกลำดวน
จำนวนมากในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม
สวนสมเด็จ มีพื้นที่ประมาณ ๒๔๐ ไร่ เป็นที่รายสูงต่ำตามธรรมชาติ มีลำห้วยสองสายคือ
ห้วยปูนใหญ่ และห้วยปูนน้อย มาบรรจบกันทางด้านเหนือสุด เป็นป่าทึบหนาแน่นด้วยต้นไม้พรรณไม้หลายชนิด
เช่น ลำดวน ประดู่ พยุง ตะแบก มังคุดป่า ฯลฯ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
มีต้นลำดวนมากกว่า ๔๐,๐๐๐ ต้น
|